Why Netherland?

ยุโรปเป็นภูมิภาคที่โดดเด่นเรื่องการพัฒนาเมือง และถ้าให้เจาะลงไปอีกว่าเป็นประเทศไหน ก็ต้องมีชื่อของ ‘เนเธอร์แลนด์’ ติดอยู่ในอันดับต้น ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย

เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ต้องเผชิญกับน้ำท่วมมาตั้งแต่โบราณกาล ทำให้ต้องอยู่กับการจัดการน้ำจนพัฒนานวัตกรรม Delta Works เป็นระบบป้องกันน้ำท่วมที่ดีที่สุดในโลกได้ 

“คุณคงเห็นความเชื่อมโยงกับประเทศไทยและกรุงเทพฯ ที่ต้องเผชิญน้ำท่วมเหมือนกับประเทศเรา” Ms.Miriam Otto อัครราชทูตแห่งสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจําประเทศไทย เล่าถึงความเชี่ยวชาญของบ้านเกิด 

Summer Course ห้องเรียนพิเศษที่ชาวเนเธอร์แลนด์ถ่ายทอด DNA นักพัฒนาเมืองให้คนไทยรุ่นใหม่
Summer Course ห้องเรียนพิเศษที่ชาวเนเธอร์แลนด์ถ่ายทอด DNA นักพัฒนาเมืองให้คนไทยรุ่นใหม่
Ms.Miriam Otto 
อัครราชทูตแห่งสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจําประเทศไทย

นอกจากเรื่องการจัดการน้ำ การพัฒนาเมืองในด้านอื่น ๆ ก็ถูกคิดมาอย่างเป็นระบบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะด้านการเกษตรยั่งยืน Biodiversity และ Circular Energy ซึ่งอย่างหลังนี้ Miriam เน้นไปที่การเปลี่ยน ‘ขยะ’ เป็นพลังงาน เธอบอกว่าสำหรับประเทศไทย ขยะจะมีศักยภาพอีกมากมาย

ความดีงามคือเมื่อปลายปี 2023 Healthy Space Alliance (HSA) ได้จัด ‘Summer Course: Future’s City System for Resilient and Healthy City’ ขึ้น เพื่อเปิดให้คนรุ่นใหม่ได้มาเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญชาวดัตช์ไปพร้อม ๆ กับพัฒนาโปรเจกต์อย่างมืออาชีพ

“เราเคยร่วมงานกับสถานทูตเนเธอร์แลนด์มาแล้ว” ยศพล บุญสม ตัวตั้งตัวตีของ Healthy Space Alliance (HSA) กล่าว “เคยทำเรื่องเมืองที่อยู่กับ Climate Change และเรื่องการจัดการน้ำด้วยกัน เราก็อยากทำไปให้ต่อเนื่อง เลยคุยกันว่าจะนำผู้เชี่ยวชาญจากไทยและดัตช์มาร่วมกันทำ Summer Course จัดเวิร์กช็อปให้คนรุ่นใหม่ทำโปรเจกต์ในพื้นที่จริง” 

พวกเขาตั้งใจให้โครงการ Summer Course เป็นพื้นที่สำรวจองค์ความรู้ใหม่ ๆ โดยมีพาร์ตเนอร์เป็นต่างประเทศ ครั้งแรกนี้พาร์ตเนอร์เป็นเนเธอร์แลนด์ ครั้งต่อ ๆ ไปก็ไปสู่ประเทศอื่น ภูมิภาคอื่น 

นับเป็นโอกาสอันดีสำหรับนัก (อยาก) พัฒนาเมืองหน้าใหม่ทุกคน

Summer Course ห้องเรียนพิเศษที่ชาวเนเธอร์แลนด์ถ่ายทอด DNA นักพัฒนาเมืองให้คนไทยรุ่นใหม่

อย่างที่เล่ามาตั้งแต่ต้น โปรเจกต์นี้ว้าวตั้งแต่ความเป็นเนเธอร์แลนด์แล้ว ยศพลมองว่าประเทศเขาอยู่ในความเปราะบาง ‘การเอาชีวิตรอด’ จึงฝังลึกอยู่ใน DNA ของพวกเขา และการจะรอดได้ก็ไม่ได้มาจากโชค พวกเขาต้องพัฒนานวัตกรรมจนใช้ได้ดี 

รัฐบาลต้องคิดนโยบายที่ตอบโจทย์ ออกแบบให้ทุกหน่วยงานต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ เก็บภาษีอย่างเหมาะสม มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกื้อหนุนกัน รวมไปถึงสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน ซึ่งพวกเขาก็ทำสำเร็จเป็นอย่างดีมาตั้งนานแล้ว

“ที่ไทยในปัจจุบันนี้ ถ้าเราพูดถึงน้ำท่วมเราจะนึกถึงใคร – วิศวกร แต่ที่ดัตช์เขาไม่ได้นึกถึงแค่วิศวกร แต่นึกถึงภูมิสถาปนิก สถาปนิก นักสังคมที่ต้องมานั่งคุยกัน” ยศพลเล่า “แล้วเขาก็ไม่ต้องพยายามมากที่จะชวนคนว่า เฮ้ย มาทำนี่กันเหอะ เพราะคนรู้อยู่แล้วว่าจำเป็น เขาเรียนรู้กันมาเป็นร้อยปีแล้ว

Summer Course ห้องเรียนพิเศษที่ชาวเนเธอร์แลนด์ถ่ายทอด DNA นักพัฒนาเมืองให้คนไทยรุ่นใหม่
Summer Course ห้องเรียนพิเศษที่ชาวเนเธอร์แลนด์ถ่ายทอด DNA นักพัฒนาเมืองให้คนไทยรุ่นใหม่

ด้วยความที่ Sustainability เป็นประเด็นใหญ่ของประเทศ สถาปนิกชาวดัตช์ต่างก็พากันออกหนังสือเรื่องการอยู่กับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตให้โลกได้เห็น และสถานทูตเนเธอร์แลนด์ในที่ต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยก็เป็นสถานทูตที่แอคทีฟในการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาเมืองมาก ๆ 

ไม่ว่าจะจัดกิจกรรมเดินดูเมือง จัดวงเสวนาให้คนในวงการมาคุยกัน เขาทำหมด

Miriam บอกว่า กิจกรรมที่โดดเด่นของสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย คือการเปิดประเด็นสิ่งแวดล้อมและส่งต่อองค์ความรู้ใน Orange Green Days ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวันทำความสะอาดโลก (World Cleanup Day) โดยสีส้มคือสีประจำชาติเนเธอร์แลนด์ และสีเขียวแทนการมุ่งพัฒนาให้ ‘กรุงเทพฯ สีเขียว’ ตามทิศทางของ กทม.

แทนที่จะส่งต่อนวัตกรรมล้ำสมัยอย่างเดียว ชาวดัตช์ต้องการจะสร้างไดอะล็อกและรากฐานภาพลักษณ์ด้าน Sustainability ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ในฐานะผู้อาบน้ำร้อนมาก่อนได้แล้ว เนเธอร์แลนด์ยังขยายโอกาสทางเศรษฐกิจในด้านที่เกี่ยวข้องได้ด้วย

“พี่เองก็อยู่ในกลไกสร้างไดอะล็อกกับเขา พี่รับรู้ผ่านกิจกรรมที่เขาจัด สมัยเรียนพี่ยังเคยร่วมเวิร์กช็อปน้ำท่วม กทม. กับสถานทูตเนเธอร์แลนด์อยู่เลย 

“นี่คือการสร้าง Influence”

Summer Course ห้องเรียนพิเศษที่ชาวเนเธอร์แลนด์ถ่ายทอด DNA นักพัฒนาเมืองให้คนไทยรุ่นใหม่

Why Summer Course?

Summer Course ครั้งแรกนี้ HSA เปิดรับคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 35 ปีเข้าร่วม ซึ่งคนที่เข้ามาสมัครก็มีทั้งนิสิต-นักศึกษา คนทำงานวัยต้นในสายงานที่หลากหลาย ตามความตั้งใจแรกของ HSA และหลักการทำงานเมืองอย่างชาวดัตช์

ผู้เข้าร่วมได้ฟังเลกเชอร์จากเหล่าผู้เชี่ยวชาญชาวดัตช์อย่าง MVRDV, Delft University of Technology, OKRA ได้ฟังเรื่องการอยู่ร่วมกับ Climate Change น้ำท่วม และภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งมีวิธีการตั้งแต่การยกอาคารขึ้นสูง การสร้างเขื่อน และการทำแพลนนิงต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจว่ามีเครื่องมือมากมายที่นำมาปรับใช้ในการอยู่ร่วมกับภัยพิบัติได้ ไม่ใช่แค่เครื่องมือในเชิงวิศวกรรมเท่านั้น มีหลากมาตรการที่ต้องคิดร่วมกันตั้งแต่แรก และแต่ละมาตรการก็มีผลทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน

ทั้งยังมีเลกเชอร์หัวข้อน่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญฝั่งไทย อย่าง ธเนศ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการอาวุโส MQDC, วสุธา เชน สถาปนิกวิจัยอาวุโส RISC, ดร.สริน พินิจ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ภาคภูมิ โกเมศโสภา ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนอิสระ และ ดร.นาอีม แลนิ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ช่วยเติมเต็มความรู้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจบริบทในประเทศ แล้วนำไปพัฒนาโปรเจกต์ได้

โจทย์ที่ HSA ให้ คือ ‘Park as a Future City System’ หรือการคิดว่าพื้นที่ร้างเป็น New System เมืองยังไงได้บ้าง ถ้าไม่ใช่แค่พื้นที่สีเขียว แต่เป็นการลดภัยพิบัติ จัดการน้ำท่วม แก้ปัญหาขยะ หรือบำบัดน้ำเสีย ซึ่งแต่ละกลุ่มก็กำหนดพื้นที่ในการทำงานต่างกัน และมีวิธีการออกแบบระบบที่ต่างกันด้วย

กลุ่มที่ 1 – พื้นที่เอกชน : เพราะมองว่าขาดตัวเชื่อมที่จะนำที่ดินเอกชนมาหาโอกาสพัฒนาใหม่ ๆ จึงสร้างแพลตฟอร์มที่ช่วยคิดว่าพื้นที่นี้จะเป็นอะไรได้บ้าง เชื่อมโยงกับ Insentive ของรัฐให้ว่าจะลดภาษีได้เท่าไหร่ และมีการช่วยคำนวณต้นทุน

กลุ่มที่ 2 – พื้นที่ใต้ทางด่วน : มีการแบ่งพื้นที่ใต้ทางด่วนเป็นประเภทต่าง ๆ ตามบริบท เช่น พื้นที่ที่อยู่กับย่านคอมเมอร์เชียล พื้นที่ที่อยู่กับชุมชน พื้นที่ใกล้น้ำ เพื่อให้การทางเห็นว่าควรพัฒนาไปในทางไหน และ Insentive ของแต่ละพื้นที่ก็ควรจะต่างกัน

กลุ่มที่ 3 – พื้นที่คลอง : สิ่งที่กลุ่มนี้ทำคือการเชื่อมโยงข้อมูล ตั้งแต่เรื่องที่ว่าแต่ละคลองมีปัญหาแบบไหน และมีศักยภาพไปในทางไหนบ้าง เช่น ทางสิ่งแวดล้อม ทางชุมชน ทางธุรกิจ สุดท้ายแล้วก็ออกมาเป็นบอร์ดเกมที่เข้าถึงชาวบ้านได้ง่าย

กลุ่มที่ 4 – พื้นที่ชุมชน : เมื่อสำรวจว่าชุมชนต่าง ๆ มักมีปัญหาคล้าย ๆ กัน พวกเขาก็พัฒนาแพลตฟอร์ม Green Click ขึ้นมา เพื่อหา Business Model ให้กับพื้นที่รกร้างในชุมชน เช่น การสร้างสนามเด็กเล่น การทำฟาร์ม หรือการท่องเที่ยว

ภาพวันนำเสนอผลงาน ณ สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์

จริง ๆ แล้ว เป้าหมายของ Summer Course คืออะไร HSA มองว่าจะพัฒนาระบบให้เกิดขึ้นจริง หรือเป็นการส่งต่อความรู้ สร้างคนทำงานเมืองที่มีคุณภาพ – เราถาม

“ตัวโปรดักต์อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ” ยศพลตอบทันที

“แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เราได้เชื่อมองค์ความรู้นอกกรอบที่เราเข้าใจ มีโอกาสได้รู้จักดัตช์กับความเชี่ยวชาญของเขา แล้วเกิดการแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ”

ในส่วนของเลกเชอร์เอง ทาง HSA ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาฟังทางออนไลน์ด้วย แปลว่าใครที่สนใจด้านการพัฒนาเมืองก็มาเติมเต็มความรู้ได้ ไม่ว่าจะทำงานสายไหน ซึ่งยศพลมองว่าดัตช์เองก็ใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้กระบวนการพัฒนาเมืองของไทยเช่นกัน โครงการนี้คือการเรียนรู้ทั้ง 2 ฝั่ง

“บ้านเราไม่ค่อยคุยเรื่องอนาคตกันยาว ๆ เลยอยากให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนอกชวนคิดเรื่องนี้บ้าง บางทีเสียงจากข้างนอกอาจมีพลังพอจะชวนคนในสังคมเราฉุกคิดและตั้งคำถามในสิ่งที่เราเป็นอยู่ได้” ยศพลว่า 

ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญอีกอย่างก็คือการสร้างเครือข่ายกับคนทำงานเมืองในต่างประเทศ ซึ่งอาจชี้โอกาสทางทุน ความรู้ และความร่วมมือต่าง ๆ ในอนาคต

ทั้งนี้ ในฝั่งของสถานทูตเนเธอร์แลนด์เองก็มีเป้าหมายด้านเยาวชนเป็นพิเศษด้วย Miriam มองว่าเยาวชนเป็น Future Generation ที่จะได้รับผลกระทบกับความเป็นไปของโลกที่สุด ทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่สร้างสรรค์ที่สุด มีไอเดียสดใหม่ที่สุดด้วย 

สิ่งที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ตั้งใจอย่างมากจึงเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้นำเสนอความเห็นของตัวเอง

What’s in the future?

เปิดมาครั้งแรกก็ยิ่งใหญ่แล้ว Summer Course ครั้งหน้าจะยังเหลืออะไรให้ว้าวอีก

ยศพล HSA แอบคิดไว้แล้วว่าอยากเชื่อมโยงกับประเทศในเอเชียและอาเซียน แม้ทางยุโรปจะเป็นแนวหน้าด้านการพัฒนาเมือง ความยั่งยืน นวัตกรรม แต่ประเทศเพื่อนบ้านนั้นมีบริบทใกล้กัน แชร์ Pain Point กัน การนำวิธีแก้ไขปัญหามาคุยกันจะมีประโยชน์อย่างมาก

เราถามยศพลว่า ทำไมเขาถึงชอบจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปแบบนี้ เขาก็ตอบว่า สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเขาเองก็ชอบเข้าร่วม เพราะรู้สึกยังไม่เต็มอิ่มกับการเรียนในระบบ ยิ่งได้ไปทำงานที่ต่างประเทศก็พบว่าเลกเชอร์และเวิร์กช็อปต่าง ๆ นั้นมีพลังงานที่ดีมาก ทำให้สังคมได้ถกเถียงกัน เขาจึงอยากสร้าง Ecosystem แบบนั้นให้เกิดขึ้นกับบ้านเราบ้าง

“ไม่อย่างนั้นเราจะยอมกับโซลูชันเดิม ๆ ซึ่งมันไม่เคยเวิร์ก” ยศพลปิดท้าย

ภาพ : Healthy Space Alliance (HSA)

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)