“เพิ่งรู้ว่าบ้านตัวเองไม่มีอะไรก็ตอนไปภูเก็ต (หัวเราะ)” ยิ้ม-ปราณีต จารุพันธุ์งาม เปิดบทสนทนากลั้วเสียงหัวเราะ โดยมี ปู-จงรัก จารุพันธุ์งาม ผู้เป็นพี่สาวที่นั่งข้างกันกล่าวสมทบเชิงติดตลกว่า “นั่นสิ ที่ผ่านมาเราขายอะไรไปนะ” ก่อนที่ยิ้มจะกล่าวย้ำอีกว่า “แต่เราภูมิใจนำเสนอวิถีชีวิตท้องถิ่นของขอนแก่นนะคะ”

ขอนแก่นมีอะไรให้เที่ยวด้วยหรือ

ด้วยคำถามนี้เอง กลายเป็นโจทย์สุดท้าทายให้ ปู และ ยิ้ม แห่ง มีกินฟาร์ม ใช้ทั้งความซน ความบ้า และอินเนอร์ในใจที่อยากอวดใครต่อใครให้รู้ว่า ขอนแก่นนั้นมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวไม่แพ้และไม่เหมือนที่ไหน จึงปั้นโปรเจกต์พาเที่ยวพาชมวิถีชีวิตของคนขอนแก่นแบบลึกซึ้งขึ้นในนาม ‘เที่ยวถึงแก่น’ ซึ่งพวกเธออาจเคยเปรย ๆ ออกสื่อไปบ้างแล้ว แต่ทั้งยิ้มและปูบอกกับเราว่า ที่ผ่านมายังไม่ลงเนื้อลงตัวสักเท่าไร ต่างจากวันนี้ที่มีเป้าหมายชัดเจน และพร้อมเหลือเกิน อยากจะเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาร่วมเปิดประสบการณ์สุดพิเศษแบบถึงแก่นของคนบ้านนี้เมืองนี้กัน

ว่าแต่ เที่ยวถึงแก่น คือการเที่ยวแบบไหน อะไรคือแก่นที่พูดถึง แล้วที่ว่า Deep นั้นมันเป็นอย่างไร รวมไปถึงคำถามที่ว่า อะไรคือตัวช่วยให้การทำธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดที่ไม่ได้มีฐานทรัพยากรธรรมชาติโดดเด่นเฉกเช่นเมืองท่องเที่ยวใหญ่ ๆ สำเร็จถึงเป้าหมายได้ พวกเธอพร้อมเล่าให้เราฟังใน อีสาน Lifehacker ครั้งนี้

กลับบ้าน เพื่อรู้จักบ้าน

ปู กับ ยิ้ม อายุห่างกัน 12 ปี ในช่วงชีวิตหนึ่งพวกเขาจึงไม่ได้พบเจอกันเลย ปู ในฐานะพี่สาวเรียนจบรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วไปเรียนภาษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ขณะที่ยิ้มค่อย ๆ เติบโตไล่หลังพี่ แล้วสอบเข้าเรียนที่คณะ ICT สาขานิเทศศาสตร์ เอกภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะฝันอยากเป็นนักเขียนบทภาพยนตร์ ชีวิตในช่วงเวลานั้นของทั้งสองต่างมีคนละเป้าหมาย แต่สุดท้าย บ้าน คือจุดร่วมที่พวกเธอตัดสินใจหวนกลับ ปักหลัก และเริ่มออกแบบชีวิตของตัวเอง

การกลับบ้านที่ไม่โรแมนติก คือจุดเริ่มต้นให้สองพี่น้องได้กลับมาพูดคุยเรียนรู้กันมากขึ้น กลับมาทำความรู้จักบ้านเกิดอย่างลึกซึ้ง และกลายเป็นดรีมทีมที่ช่วยกันผลักดันความฝันในใจ ให้บ้านของพวกเธอกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อิงกับวิถีชีวิต วิถีเกษตร และวิถีอาหาร เพื่อเชื่อมโยงผู้คนให้เข้ามาเรียนรู้ มาสัมผัสวิถีชีวิตบ้านนอกสไตล์คนขอนแก่น

จาก ‘สวนเกษตรมีกิน’ ในวันแรก ได้ปรับสู่ ‘มีกินฟาร์ม’ ในวันนี้ ที่นอกจากเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์เชื่อมโยงนักท่องเที่ยวและผู้คนในชุมชนได้ดังฝันของสองพี่น้องแล้ว มีกินฟาร์มยังได้รับรางวัลร้านอาหารมิชลินไกด์ มิชลิน บิบ กูร์มองด์ ปี 2023 กลายเป็นพิกัดอร่อยห้ามพลาดหากมาเยือนขอนแก่นที่มีรางวัลระดับโลกการันตี

ยิ้มเล่าว่า 8 ปีที่ห่างบ้าน เธอกลายเป็นคนต่างถิ่นในบ้านตัวเอง เพราะเวลาเปลี่ยนเมืองย่อมเปลี่ยน ยิ้มสมัครเข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการคาเฟ่แห่งหนึ่งซึ่งเจ้าของเป็นเพื่อนกับพี่สาวของเธอ ณ ที่นั่น ได้เกิดโปรเจกต์เชื่อมโยงระหว่างอาหารในร้านและพื้นที่สวนของปูกับยิ้ม ทำให้สวนของพวกเธอเริ่มเป็นที่รู้จัก ยิ้มบอกกับเราว่ากำไรที่ได้จากตำแหน่งงานนี้ คือการได้ไปรู้จักกับแหล่งวัตถุดิบต่าง ๆ ในขอนแก่น นั่นทำให้ได้กลับมารู้จักและเข้าใจบ้านเกิดของตัวเองมากขึ้น 

“หลังจากกิจการคาเฟ่ปิดตัวลง ยิ้มกับพี่ปูก็คิดกันว่า งั้นเรากลับมาทำอะไร ๆ ที่สวนของเราให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราพยายามจัดกิจกรรมให้เกิดภาพใหม่ ๆ ในขอนแก่น เช่น กิจกรรมที่อิงกับวิถีชีวิต วิถีเกษตร และวิถีอาหาร เริ่มตั้งแต่พาคนมาดำนา แล้วเริ่มสอดแทรกเรื่องอาหารพื้นถิ่น อย่างพี่ปูจัดกิจกรรมแรก ๆ ก็มีชื่อของกิจกรรมเก๋ไก๋ของเขา เช่น ‘ลงทุ่งดำนาปิ้งปลาข้างคันแท’ พอมีภาพออกไปก็เริ่มมีคนสนใจ 

“ทีนี้ก็ได้รับโอกาสจาก ททท. ให้ช่วยจัดประชุมกลางนา รับแขกที่เขามาประชุมสัมมนา เราเป็นสถานที่จัดกิจกรรมและขายกิจกรรมที่อิงเรื่องทั้งเกษตรและอาหาร ซึ่ง ททท. ก็พาสื่อมาเยี่ยมชมพื้นที่ของพวกเราด้วย พอเริ่มอยู่ในสื่อ เริ่มเป็นที่รู้จัก เริ่มมีลูกค้าเข้ามา พอถึงปี 2019 เลยตัดสินใจเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบวอล์กอิน โดยมีเมนูอาหารที่ออกแบบจากไอเดียว่า ถ้าคนมานาจะอยากกินอะไร เราคิดแบบนี้และเริ่มขึ้นต้นมาแบบนี้” ยิ้มกล่าวกับเรา

กว่าจะมาเป็นเที่ยวถึงแก่น

จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาเรื่อย ๆ บวกกับความพยายาม ถอดรหัสพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในยุคปัจจุบัน ทั้งปูและยิ้มจึงพบคำตอบว่า เที่ยวถึงแก่นจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรดี ปูเล่าถึงเส้นทางกว่าจะเป็นเที่ยวถึงแก่นให้ฟังว่า

“โจทย์ท้าทายมากที่สุด ณ เวลานั้น คือมาขอนแก่นแล้วจะมาเที่ยวอะไร เที่ยวตรงไหน แม้แต่คนขอนแก่นเองก็ยังไม่รู้เลย พวกเราเลยตีโจทย์เรื่อง Local Food, Local Journey ขึ้นมา ทริปแรก ๆ พานักท่องเที่ยวไปดูแหล่งวัตถุดิบกัน จะบอกว่านี่คือจุดเริ่มต้นของเที่ยวถึงแก่นเลยก็ว่าได้ เราทำการท่องเที่ยวแบบนี้มานานมากแต่ยังไม่ได้ลงลึกกันสักที ตอนนั้นมีเพียงเป้าหมายว่า ทำอย่างไรถึงจะดึงดูดนักท่องเที่ยวและทำให้พวกเขาอยากสำรวจขอนแก่นให้มากกว่านี้

“แรกเริ่มเดิมทีเรายังไม่ได้ใช้ชื่อว่าเที่ยวถึงแก่น แต่ใช้ชื่อ ‘มีกินฟาร์มแอนด์ทราเวล’ จุดเริ่มต้นประมาณกลาง พ.ศ. 2561 ค่ะ ททท. เริ่มเข้ามาหาเรา ทีนี้ย้อนกลับไป 4 – 5 ปีที่แล้ว ขอนแก่นไม่ได้เป็นหมุดหมายทางการท่องเที่ยว ในช่วงก่อนโควิด-19 ก็มาคิดว่า จะทำอย่างไรให้คนตัดสินใจมาเที่ยวที่นี่ คำตอบแรกเลยคือ จะขายตัวเราคนเดียวไม่ได้

“เราก็เลยเล่น คือเราเป็นคนชอบเล่น ตอนนั้นพยายามสร้างอะไรที่พิเศษขึ้นมา เลยนึกบ้าไปชวนเพื่อนซึ่งเป็นเชฟสิงคโปร์มาจัด Fine Dining ในสวน โดยโจทย์สำคัญคือใช้วัตถุดิบของขอนแก่น เช่น ขอนแก่นเป็นเมืองผ้าไหม สาวไหมก็จะได้ดักแด้มาเป็นวัตถุดิบ เราคิดถึงเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเขื่อนเป็นจุดหมายปลายทางแบบหนึ่งของการท่องเที่ยว ก็คิดว่าเขื่อนอุบลรัตน์มีอะไร มีปลา แต่ไม่ได้สนใจปลานะ เราสนใจหอยทราย เพราะชอบกิน (หัวเราะ) ตอนนั้นมี น้องฟิวส์ ที่เขาทำหมูไบโอไดนามิก ส่วนมีกินฟาร์มก็จะเป็นฟาร์มที่ปลูกผัก มีผักสมุนไพร มีผักพื้นบ้าน

“ตอนแรกด้วยความกลัวว่าใครจะมาซื้อ เชฟตั้งราคาตั๋วไว้ที่ 2,200 บาท ต่อคน ไม่รวมเครื่องดื่มนะ ก็เลยเอาโปรเจกต์นี้ไปเล่าให้ ททท. ฟัง พี่กล้วย-ชาญยุทธ เศวตสุวรรณ ซึ่งเป็น ผอ. ในตอนนั้นเลยสนับสนุนมาด้วยการซื้อที่นั่งในงาน 10 ที่นั่ง

“งานนั้นลงทุนเยอะมาก กำไรที่ได้ไม่ใช่ตัวเงิน แต่คือการได้เรียนรู้ว่าเอาอะไรมาทำอะไรได้บ้าง และมันก็เป็นภาพจำของมีกินฟาร์ม ผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานบอกว่าพวกเราบ้า มาทำอะไรกันก็ไม่รู้ ซึ่งด้วยความเอ็นดูเขาก็สนับสนุนเรา อีกส่วนก็ขายนักท่องเที่ยวได้ด้วยนะ เป็นนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่บังเอิญมาเที่ยวสวน แล้วก็มีคนที่เป็นฟู้ดดี้ รวม ๆ แล้วขายได้ 20 ที่นั่ง ถือว่าประสบความสำเร็จ โดยอาหารที่เสิร์ฟ เรานิยามว่าเป็น Rural Food คือเป็นอาหารบ้านนอก เราต้องการสื่อสารจุดนี้ออกไป

“จากงานครานั้น เราก็เริ่มได้รับจัดงานสำคัญ ๆ มาเรื่อย ๆ และเวลาทำงานอะไร เราจะชอบเชื่อมโยงไปสู่ชุมชน เราพูดถึงบ้าน พูดถึงของดีขอนแก่น เราชอบทำอะไรที่ไม่ใช่ตัวคนเดียว ทีนี้ท่าน ผอ. ททท. ที่เข้ามาใหม่เลยบอกเราว่า ไปจดทะเบียนเป็นธุรกิจนำเที่ยวสิ เป็นแบบนำเที่ยวเฉพาะพื้นที่ เพื่อที่จะได้ทำให้ถูกกฎหมาย เราเลยไปจดทะเบียนเป็นธุรกิจนำเที่ยว และใช้ชื่อว่า มีกินฟาร์มแอนด์ทราเวล”

พอจดทะเบียนมีกินฟาร์มแอนด์ทราเวลเป็นธุรกิจนำเที่ยวแบบถูกต้อง ทั้งสองคนก็เริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น จนถึงขั้นอาจหาญจัดแพ็กเกจทัวร์บ้านนอกของขอนแก่น แล้วเอาไปขายในเทศกาลท่องเที่ยวเมืองไทย

“ทีนี้ก็ทำแพ็กเกจไปขายที่งานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ซึ่งประหลาดกว่าคนอื่นเขา (หัวเราะ) คือพาไปเที่ยวแบบบ้าน ๆ แถมแพงมาก (ลากหางเสียง) คือเป็นแพ็กเกจที่ใช้คำว่า ‘ถึงแก่น’ นั่นแหละ คือเราจะออกแบบการเที่ยวเป็นกรุ๊ปเล็ก รถตู้ 1 คัน เที่ยวประมาณ 3 – 8 คน เพื่อดูแลลูกค้าได้แบบใกล้ชิด ทีนี้ก็เอาแพ็กเกจนี้ไปขาย พูดแบบตรงไปตรงมาคือเวลาจะทำ Business Matching แบบนี้ น้อยมากนะที่จะขายได้จริง แต่พวกเราขายได้ และคนที่มาซื้อเขาไม่ได้เป็นคนที่รู้จักเรามาก่อน

“ทริปแรกเราขายได้ 3 คน เป็นผู้ใหญ่วัยเกือบเกษียณ เป็น Business Women จู่ ๆ เขาก็มานั่งฟังเราเล่าว่าขอนแก่นมีอะไร ตอนนั้นทำเป็นแพ็กเกจ ‘ขอนแก่นสองวิถี’ คือเที่ยวเมืองขอนแก่นด้วย และเที่ยวบ้านนอกขอนแก่นด้วย คือเที่ยวเมืองขอนแก่นก็เป็นแบบเที่ยวคาเฟ่ พาไปไหว้พระ เป็นแบบเมืองเลยนะ ซึ่งตอนนั้นคาเฟ่ไม่เยอะแบบนี้ แล้วอีกส่วนหนึ่งคือมานอนบ้านเรา ซึ่งเป็นเถียงนาศาลาไม้ไผ่กลางน้ำแล้วนอนกางมุ้งเลย

“ส่วนอีกวิถีก็พาไปชุมชนทอผ้าไหมที่เมืองพล ไปชมฮูปแต้มวัดสนวนวารีฯ อะไรแบบนี้ คือให้ได้สัมผัสฟีลบ้านนอก ทริปครั้งนั้นลูกค้าเขาฟีดแบ็กตรงไปตรงมามาก เช่น ตอนไปดูผ้าไหมที่ อ.เมืองพล ซึ่งไกลจาก อ.เมือง เขาบอกว่าไกลเกินไปและไม่ได้รู้สึกอินกับผ้าไหม เราเลยพากลับเข้าเมืองไปปลอบใจที่ร้านมะลิ​ Cakery เป็นร้านเค้กลับพรีเมียมในตัวเมืองขอนแก่น ลูกค้าพอใจมาก บอกเราว่า นี่สิ มันต้องอย่างนี้ ทำให้เราเริ่มจับสังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภคในครั้งนั้นว่า กลุ่มซิลเวอร์ เน้นกินอร่อย นอนสบาย

“หลังจากนั้นก็มีกรุ๊ปหนึ่งเป็นครอบครัว เขาสนใจเรื่องผ้าไหมมาก เราให้ลูกค้าใช้เวลาอยู่กับชุมชนเลย เขาประทับใจจนทิปเราตั้ง 3,000 แล้วเราก็ขายแพ็กเกจนี้ได้อีก 2 – 3 กรุ๊ป ไม่ได้มาก พอจบการขายก็ต้องกลับมาโฟกัสที่บ้านเรา”

ปูยังเล่าเสริมว่า ที่ช่วงแรก ๆ โปรเจกต์เที่ยวถึงแก่นยังไปไม่ถึงไหน เพราะปัญหาเรื่องเวลา เนื่องจากมีหลายส่วนที่พวกเธอต้องดูแล จึงนำไปสู่การปรับตัวของเที่ยวถึงแก่น คือเลือกขายเป็นกิจกรรมแทนแบบแพ็กเกจทัวร์ จะได้ตอบโจทย์ทั้งด้านเวลาและความเชี่ยวชาญของทีมงาน โดยให้ยิ้มได้ใช้ความถนัดด้านการสร้างคอนเทนต์อย่างเต็มที่ หากอยากเล่าเรื่องอะไรก็จะเล่าเรื่องเป็นเรื่อง ๆ เพราะเทรนด์นักท่องเที่ยวทุกวันนี้เป็นแบบ FIT (Free Independent Traveler) พวกเขาต้องการเที่ยวเอง จัดทริปเอง เมื่อเข้ามาในฐานข้อมูลของเที่ยวถึงแก่น ถ้าเขาสนใจกิจกรรมไหน ก็ให้ลูกค้าเลือกจิ้มไปในกิจกรรมนั้น ๆ ได้เลย 

Connectors & Creators คือ ‘แก่น’ ของเที่ยวถึงแก่น

ถึงตรงนี้คงอยากรู้กันแล้วว่า เที่ยวถึงแก่น แก่นที่ว่านั้นคืออะไรกันแน่ ทั้งสองคนค่อย ๆ เฉลยให้เรารู้คำตอบว่า

“อย่างที่พี่ปูเล่าไปว่า ณ ศักยภาพของมีกินฟาร์ม ไม่พอที่จะตัดสินใจซื้อ ถ้าเราไปขายว่า มาเที่ยวมีกินฟาร์มสิ คงไม่มีใครมาซื้อ แต่พอเราขายว่า เราจะพาคุณไปสัมผัสกับวิถีชีวิตท้องถิ่นที่ขอนแก่นมีแบบนี้นะคะ เราภูมิใจนำเสนออย่างนี้นะคะ ซึ่งเราภูมิใจกับมันจริง ๆ และเพิ่งรู้ว่าบ้านตัวเองไม่มีอะไรก็ตอนไปภูเก็ต (หัวเราะ)”

“นั่นสิ ที่ผ่านมาเราขายอะไรไปนะ” ปูย้ำกลัวเสียงหัวเราะกับสิ่งที่น้องสาวพูด ก่อนที่ยิ้มจะเล่าต่อไปว่า

“แต่เราภูมิใจนำเสนอวิถีชีวิตท้องถิ่นของขอนแก่นค่ะ ภูมิใจจริง ๆ ที่นี่อาจไม่มีภูเขาสวยอลังการแบบภาคเหนือ อาจไม่มีทะเล แต่เรามีแก่นของขอนแก่นที่รอให้ทุกคนเข้ามาสัมผัสกับประสบการณ์แบบลึกซึ้ง บ้านเราอาหารอร่อย ฤดูแล้งก็สวยในแบบเรา อย่างเช่นจุดที่เราจะพาคนไปสาวเส้นไหมตรงบ้าน แม่นาง เป็นบ้านที่เป็นเถียงนาใต้ถุนสูงแบบบ้านอีสานโบราณ รั้วปลูกหม่อน มีต้นมะม่วงที่เป็นที่ตั้งแคร่กับหม้อต้มดักแด้ มันคลาสสิก เนี่ย บ้านเราสวยแบบนี้ ก็เอาแบบนี้ไปขายในโอกาสที่เรามี

“อินเนอร์มาจากความเชื่อจริง ๆ ว่าอันนี้คือสวยของเรา ตอนไปเที่ยวภูเก็ต เราเห็นว่าบ้านเมืองเขาสวยกว่า ก็รู้ตัวนะว่าบ้านเราไม่มีจุดเด่นทางทรัพยากรธรรมชาติแบบนั้น แต่ก็ยังมั่นใจว่ามีบางอย่างที่โดดเด่น เราไม่มีทะเล แต่มีท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ที่มีวิวน้ำ ไม่มีภูเขาสูง แต่ก็มีเทรลเดินป่าแบบ อ.สีชมพู ทำให้เรามองเห็นเป้าหมาย มองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ

“วิธีการทำงานของเรา เราจะทำงานแบบแชร์บอล คือลูกค้าในตลาดการท่องเที่ยวไม่ได้เยอะ ยิ้มกับพี่ปูเลยวิเคราะห์กันว่า งั้นเที่ยวถึงแก่นจะเป็นฐานข้อมูลและจุดเชื่อมโยงกับนักท่องเที่ยว ให้เขาได้เข้าไปสัมผัสกับสิ่งที่ลูกค้ากำลังมองหา ให้ความต้องการของลูกค้าเป็นโจทย์ใหญ่ แล้วท้าทายตัวเองว่าจะคิดสร้างสรรค์กิจกรรมตามความต้องการของลูกค้าได้ไหม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มาจากความเชื่อจริง ๆ เลยนะว่าขอนแก่นมีดี และเราตอบโจทย์ลูกค้าได้แน่ ๆ”

ปูเล่าเสริมถึงเป้าหมายใหญ่ของเที่ยวถึงแก่น นั่นคือพวกเธอตั้งใจจะเป็นแหล่งข้อมูลและกิจกรรมทางการท่องเที่ยวแบบลึกซึ้ง

“เที่ยวถึงแก่นก็จะทำหน้าที่เป็น Connectors กับ Creators คือทำงานอยู่ 2 เรื่อง เราจะคอนเนกต์ผู้คนไปสู่ผู้คนและชุมชนต่าง ๆ ส่วนครีเอเตอร์คือจะเป็นคนคิดสร้างสรรค์กิจกรรมทางการท่องเที่ยว แล้วหยิบออกมาเพื่อให้คนเข้าถึงแก่นของจังหวัดขอนแก่น เราจะมีเว็บไซต์ที่มีคอนเทนต์ของชุมชน สถานที่ท่องเที่ยวในเชิงวิถีชีวิตของจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาชมแล้วเลือกจุดท่องเที่ยวที่สนใจจากตรงนั้น ก่อนส่งต่อให้พวกเราจัดทริปให้ตามที่พวกเขาต้องการ และอาจเป็นโมเดลขยายไปทำในพื้นที่อื่นที่จะพาคนไปถึงแก่นของพื้นที่นั้น ๆ ได้

“ปูมองภาพทีมเราว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคนพานักท่องเที่ยวไปเสมอ แต่เราเป็นคนบริหารจัดการเวลานักให้นักท่องเที่ยว แรก ๆ อาจพาคนไปเพื่อดูว่าชุมชนเขารับลูกค้าแบบไหน มีอะไรเพิ่มเติมไหม มีอะไรขาดเหลือ ทีนี้ถ้าชุมชนจัดการได้ เราก็ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มให้ลูกค้ามาจิ้มว่าต้องการไปที่ไหนบ้าง แล้วเราก็ทำหน้าที่ประสานงานกับชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ลูกค้า มีกินฟาร์มอาจเป็นจุดตรงกลางที่คนมาพัก หรือปักหมุดไว้ตรงกลางก็ได้ หรืออาจไม่จำเป็น ลูกค้าที่เขาเป็น FIT โดยมากเขาเช่ารถค่ะ เขาก็ขับไปเอง เขาก็ไม่ต้องรอเรา”

ยิ้มเสริมสิ่งที่พี่สาวเล่าต่ออีกว่า “จุดที่เราจะคอนเนกต์ ครีเอต และพาไปมันจะค่อนข้างใหญ่มาก ๆ เป็นจุดที่หากไม่ได้เป็นคนในพื้นที่ หรือเป็นคนที่ได้เข้าไปทำงานแบบลึก ๆ จะเข้าไม่ถึง คำว่า ‘ถึงแก่น’ คือคนที่มาจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ คือวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ คอนเนกต์ไปสู่คนในพื้นที่นั้น ๆ ครีเอตกิจกรรมจากวิถีชีวิตของเขา นี่คือแก่นของเรา

How to Empathize ไทบ้าน

เป้าหมายของแพลตฟอร์มเที่ยวถึงแก่นนั้นช่างดีงามและดูน่าสนุก แต่เมื่อถามคนที่ปลุกปั้นอยู่กับมันว่าอะไรคือสิ่งที่ยากที่สุด และใช้วิธีไหนแก้ไขความยากนั้น ปูตอบทันทีว่า “การดีลกับชุมชนนี่แหละค่ะคือจุดยากที่สุด”

“เราเรียนรัฐศาสตร์มา ได้นำหลักรัฐศาสตร์มาใช้ เราว่าเราเป็นคนประนีประนอมสูง แต่ไม่เคยหลงลืมแก่นหลัก และเวลาดีลกับคน เราก็ต้องเข้าใจความเป็นตัวตนของพวกเขา ไม่ได้เอางานเป็นตัวตั้งเป็นหลักที่ต้องเป๊ะ แต่ว่าจะพยายามเข้าใจบริบทชีวิตของคนที่อยู่ตรงนั้น ยกตัวอย่างเช่น แม่ ๆ ที่อยู่นอกเมือง หากอยากให้เขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว สิ่งที่เราต้องดีล คือเขามีภาระในชีวิตเยอะมาก เกษตรกรรม ลูกหลาน งานบุญ ถ้าไม่ได้เราก็ไม่เร่งเร้า อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจสูงมาก และต้องบอกความจริงกับลูกค้าให้เขาเข้าใจว่า นี่แหละวิถีบ้านเรา”

ยิ้มเสริมว่า “อีกเรื่องหนึ่งคือการปันประโยชน์สำหรับเขา การที่เชิญเขามา ไม่ใช่ให้เขามานั่งเป็นพร็อปให้เรา แต่เขาคือพาร์ตเนอร์ของเรา ต้องมีค่าเสียเวลาที่เขาต้องจัดงานเตรียมของโน่นนี่นั่นให้อย่างเป็นธรรม ตรงไปตรงมา ยิ้มคิดเสมอว่า ‘เราต้องให้คุณค่ากับงานที่เขาทำ’ 

“อย่างเช่นตอนดีลกับโรงบีบขนมจีนว่าจะพาคนมาเรียนทำขนมจีนด้วย ยายบอกว่า ถ้าให้คนมาทำแล้วจะได้ขายของเหรอ เราก็อธิบายให้ฟังว่า นักท่องเที่ยวมาเรียนบีบขนมจีนแค่คนละ 1 กิโลกรัม ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายให้ 500 บาทต่อคนเลยนะ แต่ถ้าคุณยายขายขนมจีนตามปกติ 1 กิโลกรัม ได้แค่ 25 บาทเอง พอพูดถึงตรงนี้ ยายแกก็ถามเราเลยว่า แล้วจะมาเมื่อไรดี (หัวเราะ) นี่ค่ะมันคือผลของการดีลกับเขาแบบชัดเจน ให้เห็นประโยชน์ที่เขาจะได้รับจากสิ่งที่เราทำ”

ปูยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า “ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือตอนงาน APEC เราได้เงินมาก้อนหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นของมีกินฟาร์มเยอะนะ ได้แค่ประมาณ 30% ส่วนที่เหลือแจกจ่ายไปที่ชุมชน และถ้าเขามีของที่เตรียมมาขาย ถ้าขายได้ก็เป็นส่วนของเขาไปเลย คือเราต้องคำนวณว่าเขามากี่คน มาเท่าไร มีรถมาไหม ต้องไปรับไหม ถ้าไม่ได้ไปรับก็ต้องมีค่าน้ำมัน แล้วไม่ได้ดูแลแค่นั้น คือในครัวต้องมีข้าวหม้อแกงหม้อให้ทีมที่มาเขาด้วยนะ ปูดูแลเขาเต็มที่ เวลาที่เขามาหาหรือมาร่วมงานกับเรา เขาจะรู้ว่าเราดูแลเขาอย่างดี เหมือนเขาก็ทำงานของเขาอย่างดีเหมือนกัน ต่างตอบแทนกัน และเราก็รู้สึกว่านี่คือการแบ่งปัน คือระบบคุณธรรมและความสามารถ นี่แหละค่ะคือแนวทางที่เราใช้ดีลกับชาวบ้าน”

ด้วยวิธีเอาใจเขามาใส่ใจเราที่ทั้งสองคนเลือกใช้ จึงได้ใจไทบ้าน ทำให้ชุมชนที่มาร่วมงานด้วยรู้สึกสบายใจ

ประเดิมเที่ยวถึงแก่นด้วย ‘อีสานมีดี อีสานมีกิน และอีสานมาสเตอร์คลาส’

ครานี้มาดูกันว่า หากตัดสินใจปักหมุดใช้แพลตฟอร์มเที่ยวถึงแก่น เราจะเที่ยวเจาะลึกเมืองขอนแก่นในแง่มุมไหนบ้าง

ปูและยิ้มบอกว่า ขอเล่าแบบเป็นน้ำจิ้มพอยั่วความอยากเที่ยวกันก่อน ดังนี้

“อีสานมีจุดเด่นคือเรื่องอาหาร จึงอยากพาคนไปสัมผัสรากของอาหาร เช่น ขนมจีน จริง ๆ แล้วเป็นวัฒนธรรมร่วม แต่ขาดไม่ได้ในงานบุญอีสาน อีพีแรกคือ ‘อีสานมีกิน’ นี่แหละ ตรง ๆ เลย คืออีสานมีของกินเยอะนะ เราจะพาไปเรียนรู้วิธีนวดแป้ง บีบเส้นขนมจีน ได้ขนมจีนกลับมาด้วย แล้วก็ไปตกปลาที่ชุมชนชาวประมงท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ และนำปลามาทำกับข้าว

“อีกที่คือแก่งละว้า อ.บ้านไผ่ เขามีแหล่งทำปลาร้า คือปลาร้าแม่ละเอียด ปลาร้าเป็นอะไรที่ขายได้ กิจกรรมทำปลาร้าก็ขายได้ แต่เราขายตั้งแต่พาไปดูเขาจับปลา พาไปทำปลาร้า จะได้เห็นกระบวนการครบถ้วน

“Next Step ก็จะพาไปที่ ‘อีสาน Master Class’ ไปเรียนรู้การทำกระติ๊บข้าว ซึ่งเป็นของใช้ในวิถีชีวิตคนอีสาน ไปเรียนสานกระติ๊บกับครูช่างในชุมชนที่เป็น OTOP 4 ดาว ชื่อ ‘กลุ่มจักสานกระติบข้าวไผ่ตะวัน’ อันนี้ต้องใช้เวลา เหมาะกับคนที่สนใจงานหัตกรรมเชิงลึก หรือกลุ่มคนที่ทำงานคราฟต์แล้วอยากได้ทักษะอื่นเพื่อไปต่อยอดงานก็มาเรียนรู้ได้

“เรียนย้อมผ้าสีธรรมชาติกับ พี่เพ็ญ จะพาไปปั่นฝ้าย ไปย้อมฝ้ายจากสีธรรมชาติ ฝางบ้าง ฝักคูนบ้าง ซึ่งอันนี้เราคุยกับพี่เพ็ญไว้แล้วว่าจะขายของร่วมกัน เหมือนกับอีสานมีกิน อีสานมาสเตอร์คลาส คำว่า มาสเตอร์คลาส คือคนที่เป็นระดับปรมาจารย์ จึงไม่ใช่แค่กิจกรรมแบบพักผ่อน แต่ทำกิจกรรมเชิงลึก

“แม้กระทั่ง เชฟไพศาล และ เชฟจิ๊บ แห่งร้านแก่น ก็คุยอยู่ว่าเขาก็อาจเปิดคลาสอีสานมาสเตอร์คลาสที่ทำอาหาร อาจเป็นอาหารสุขภาพ เพราะเขาทั้งสองคนมาจากสายอาหารสุขภาพ อันนี้แค่น้ำจิ้มนะ”

นี่ขนาดน้ำจิ้มยังยั่วยวนชวนมาเที่ยวขอนแก่นขนาดนี้ เชื่อว่าหากใครได้เข้ามาสัมผัสทริปแบบเที่ยวถึงแก่น ต้องอินและฟินมาก ๆ จนหลงรักเมืองนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้นเป็นแน่

นิทานก้อม ปลาค่อใหญ่ ปลาค่อน้อย กับทักษะการบืนให้รอด

สิ่งสำคัญที่คอลัมน์อีสาน Lifehacker ต้องไม่พลาดจากบุคคลต้นเรื่องก็คือ อะไรคือเครื่องมือที่จะพาพวกเขาไปสู่เป้าหมาย

“ตอนนี้เครื่องมือที่จะทำให้เที่ยวถึงแก่นสำเร็จเป็นนามธรรมล้วน ๆ เลย คือความตั้งใจที่เราอยากขายบ้านขายเมืองในแบบของเรา จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็คือความตั้งใจ ความสม่ำเสมอ ประกอบกับการที่เราอยากทำเว็บไซต์ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุน แต่สิ่งสำคัญที่สุดว่าจะไปถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ได้หรือไม่อยู่ที่เราสองคนเท่านั้น มันคือความจริงใจกับบ้านกับเมือง และความภาคภูมิใจที่เรากล้าจะนำเสนอสิ่งธรรมดา แต่เราทำให้มันพิเศษขึ้นมาได้” ปูตอบคำถาม

ขณะที่ยิ้มบอกว่า ในความรู้สึกของเธอ Key of Success คือความจริงใจ

“เราทำทุกกิจกรรมด้วยความจริงใจ เราคิดจากความเข้าใจชาวบ้าน จากวิถีชีวิตของเขาจริง ๆ แล้วการจะเลือกอะไรให้นักท่องเที่ยว เราก็พยายามจินตนาการว่า ถ้าเราเป็นนักท่องเที่ยว เขาจะรู้สึกอย่างไร”

“ลักษณะของการทำงานของเรา เราไม่เคยพูดถึงตัวเองคนเดียวเลยนะ เราจะพูดว่าบ้านฉันมีอะไร เราขายเพื่อน ๆ ที่มีความสามารถด้วย ไม่ใช่ชวนแต่ให้คนมาในพื้นที่เรา ถ้าคุณไม่ได้ชอบเที่ยวธรรมชาติ คุณเที่ยวในเมืองไปเลย แต่เราจะเลือกแนะนำผู้ประกอบการที่เป็นคนแบบเดียวกัน เราเชื่อว่ามันจะทำให้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน เราอยากสนับสนุนให้คนแบบเราที่กลับบ้านอยู่ได้ นี่คืออีกสิ่งที่ตั้งใจ” ปูเสริม

เที่ยวถึงแก่น โปรเจกต์นำเที่ยวท้องถิ่นแบบลึกซึ้งของสองพี่น้อง ‘มีกินฟาร์ม’ ที่พิสูจน์ว่าขอนแก่นมีศักยภาพไม่แพ้และไม่เหมือนที่ไหน
เที่ยวถึงแก่น โปรเจกต์นำเที่ยวท้องถิ่นแบบลึกซึ้งของสองพี่น้อง ‘มีกินฟาร์ม’ ที่พิสูจน์ว่าขอนแก่นมีศักยภาพไม่แพ้และไม่เหมือนที่ไหน

เราถามทั้งสองคนเป็นคำถามสุดท้ายว่า จะแนะนำอยางไร หากมีคนได้รับแรงบันดาลและอยากกลับบ้านมาทำตาม

ปูบอกว่า สิ่งที่เธอพูดเสมอกับคนที่อยากกลับบ้านมาทำบางสิ่งเหมือนเธอ คือ

“ให้คิดเยอะ ๆ ค่ะ การกลับบ้านมาทำอะไรพวกนี้ไม่ได้ง่าย ปูบอกกับผู้คนเสมอว่า เฮ้ย! วางแผนก่อนนะ แล้วก็ถามใจตัวเองก่อนว่าพร้อมหรือเปล่า เพราะมันคือการเปลี่ยนวิถีชีวิตเลยนะ อีกปัจจัยสำคัญของการกลับบ้าน คือการเงินต้องพร้อมนะ อย่ามาตายเอาดาบหน้าเหมือนเรา เพราะมันจำเป็นมากในการจะมานั่งหาอะไรทำที่บ้านซึ่งต้องใช้เวลา”

เมื่อพี่สาวกล่าวจบ เราถามคำถามเดียวกันกับยิ้มผู้เป็นน้องสาว คำตอบของเธอเริ่มต้นด้วยคำถามติดตลกว่า “ต้องถามว่าถ้าจะกลับบ้าน เขามาคนเดียวหรือมีพี่สาวเก่ง ๆ มาด้วยคะ” (หัวเราะ) ก่อนที่เธอจะเล่ามุมความคิดของเธอให้ฟังว่า

“ต้องถามว่าคุณมีสกิลล์การเอาตัวรอดไหม มนุษย์เรามีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด ยิ้มใช้ตรงนั้น คือต้องทำทุกอย่างให้รอด อย่างพี่ปูเขาเป็นสายนโยบาย เหมือนเขารับรู้กระแสลมว่าตรงนี้มีโอกาสแบบนี้

“อย่าง Key of Success ของพี่ปู คือดูนโยบาย ดูเรื่องการผลักดัน ตอนที่ขอนแก่นทำเรื่อง MICE City พี่ปูหูกระดิกตอนที่ได้ยินคำนั้น แล้วเขาก็ตั้งใจทำโปรดักต์เรื่องของ Local Experience เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่งไม่ได้มีเยอะ จำนวนความถี่ไม่สูง แต่เวลาได้มาทีหนึ่งมันได้เงินเยอะ อันนี้คือตัวอย่างหนึ่งที่เหมือนเราก็ต้องรอบรู้

“ยิ้มกับพี่ปูเคยเอาเรื่องราวของพวกเราสองคนมาแต่งเป็นนิทานก้อม เรื่อง ปลาค่อ (ปลาช่อน) สองพี่น้อง ว่า

(สำเนียงอีสาน) … พวกเฮาคือปลาค่อโตน้อยกับปลาค่อโตใหญ่อยู่ในบวก (หนองน้ำเล็ก ๆ ที่มักมีปลักโคลน )

อยู่ในนาตอนน้ำกำลังลด ต้องท่า (รอ) ฟังเสียงว่าตอนได๋ฝนสิตก แล้วมันอาจจะเป็นฝนครั้งสุดท้ายที่พอจะทำให้เราสามารถบืน (กริยาของปลาที่กระเสือกกระสนขึ้นจากบ่อบึงไปยังแหล่งน้ำที่ใหญ่กว่า) ไปบ่อน้ำข้างหน้าได้

ทีนี้ พอปลาค่อใหญ่ได้กลิ่นฝน ฮึ! ฝนสิมาแล้ว ปลาค่อน้อยบอกว่าเมื่อยแล้ว บ่บืนแล้ว

ปลาค่อใหญ่ก็บอกว่า มาแหมะ ๆ ได้กลิ่นฝนแล้ว บ่อน้ำใหญ่กำลังอยู่ทางหน้า มาแหม่ะ ๆ ได้กลิ่นแล้ว

สองปลาค่อพี่น้อง ก็พากันบืนไป ก็บืนไปเรื่อย ๆ ตามลม ตามฝน ตามกลิ่นน้ำในคลองใหญ่

พากันบืนหนีจากแผ่นดินที่แห้งแล้ง จากบวกน้อยไปบวกใหญ่ จากบวกใหญ่มาโจนลงสระใหญ่

ก็เป็นสัญชาตญาณของคนเอาตัวรอด ตอนนั้นมันเป็นแบบนั้นเลย…

เที่ยวถึงแก่น โปรเจกต์นำเที่ยวท้องถิ่นแบบลึกซึ้งของสองพี่น้อง ‘มีกินฟาร์ม’ ที่พิสูจน์ว่าขอนแก่นมีศักยภาพไม่แพ้และไม่เหมือนที่ไหน

จากเรื่องที่พวกเธอเล่ามาทั้งหมด เราได้เห็นการ ‘บืน’ เพื่อที่จะอยู่ให้รอดอย่างมีความหมายในบ้านของตัวเอง ทั้งยังสร้างโอกาสการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดขอนแก่น จุดประกายความหวังและสร้างรายได้ให้ชุมชนคนขอนแก่น นี่แหละคือหนทางการดำรงอยู่ของสังคมให้รอดอย่างยั่งยืนที่แท้จริง 

เราเชื่อเหลือเกินว่าจากประสบการณ์การบืนหาโอกาสและทำความรู้จักกับขอนแก่นอย่างลงลึกของพวกเธอ วันนี้ถึงเวลาแล้วที่จะพาผู้คนไปสัมผัสกับวิถีชีวิตงาม ๆ ตามสไตล์คนขอนแก่น ว่าแต่คุณล่ะ พร้อมจะมาร่วมบืนแบบม่วน ๆ ไปกับแพลตฟอร์มท่องเที่ยวที่ลึกซึ้งถึงแก่นนี้แล้วหรือยัง

ติดตามความเคลื่อนไหวของเที่ยวถึงแก่น​ได้ที่ Facebook : เที่ยวถึงแก่น

Writer

สิทธิโชค ศรีโช

สิทธิโชค ศรีโช

มนุษย์ผู้ตกหลุมรักอาหารการกินมาตั้งแต่จำความได้ เคยโลดแล่นอยู่ในวงการสื่อสารด้านอาหารกว่าสิบปี ก่อนกลับบ้านนอกมาใช้ชีวิตติดกลิ่นปลาร้าที่อีสาน และยังคงมุ่งมั่นส่งต่อเรื่องราววัฒนธรรมอาหาร สุขภาพ และการดำรงชีวิตของผู้คนบนที่ราบสูง ให้โลกได้รับรู้

Photographer

Avatar

พิชิต ชัยสิทธิ์

เรียนจบนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่เป็นนักดนตรีกลางคืน ที่ชอบเขียนพลง ขายหนังสือตอนกลางวัน ที่แอบไปรับงานถ่ายรูป หลัง ๆ หลงรักการฉายหนัง ตั้งแคมป์ จัดคอนเสิร์ตเล็ก ๆ เล่นกับแมว INSTAGRAM : somjing2121