หากพูดถึงฟาร์มหมู เราคงนึกถึงภาพโรงเรือนที่มีหมูนับร้อยยืนเรียงรายในคอกพอดีตัว มีรางอาหารแนวยาว กลิ่นขี้หมูคละคลุ้ง

แต่สำหรับฟาร์มหมูที่ชื่อ ว. ทวีฟาร์ม แห่งจังหวัดขอนแก่นนี้ ลืมภาพจำแบบนั้นไปได้เลย เพราะที่นี่น้องหมูวิ่งเล่นได้อย่างอิสระ บางตัวอาจกำลังชุบตัวในบ่อโคลนสบายใจ บางตัวอาจวิ่งเข้ามาเล่นกับคนเป็นที่น่ารักน่าเอ็นดู แถมยังเป็นฟาร์มที่ดูเขียวชอุ่ม มีต้นไม้หลากหลาย

ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มหมูไบโอไดนามิกแห่งขอนแก่น ที่การผลิตเป็นมิตรต่อโลกและคนกิน

ยิ่งถ้าใครได้ลิ้มลองเนื้อหมูจากฟาร์มแห่งนี้ จะพบว่ารสชาติมีความพิเศษ ชั้นไขมันไม่หนา อีกทั้งยังมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งมาจากพืชอาหารท้องถิ่นที่หมูได้กินแบบเดียวกับวัวโกเบ มีกลิ่นเบียร์จากการที่วัวได้กินเบียร์ หรือหมูจากสเปนที่หอมกลิ่นเบอร์รีจากเบอร์รีที่หมูกิน 

ส่วนในด้านสุขภาพ ก็มั่นใจได้ว่าปราศจากสารเคมี ไม่มีฮอร์โมนเร่ง ไร้ยาปฏิชีวนะร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือหากมองในแง่สิ่งแวดล้อม ก็ไม่ต้องรู้สึกผิดว่าการกินหมูจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายป่าต้นน้ำ เพราะที่นี่ไม่ได้ใช้อาหารสัตว์ที่ทำจากข้าวโพดที่ปลูกบนเขาหัวโล้น แต่มาจากพืชท้องถิ่นหลายชนิดที่เขาปลูกเองในฟาร์ม หรือไม่ก็ซื้อจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่ไว้ใจได้

แต่ความพิเศษของรสชาติเนื้อหมูไม่ใช่ประเด็นที่เราจะเล่าในวันนี้

ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มหมูไบโอไดนามิกแห่งขอนแก่น ที่การผลิตเป็นมิตรต่อโลกและคนกิน

สิ่งที่เราจะชวน ฟิวส์-วานิชย์ วันทวี ผู้ก่อตั้ง ว. ทวีฟาร์ม มาพูดคุยกัน ก็คือเส้นทางชีวิตอันพลิกผันของเขาราวกับหนังไตรภาค – จากชายหนุ่มที่ตัดสินใจหันหลังให้อาชีพสัตวบาลเพื่อมาทำฟาร์มหมู สู่วันที่ความฝันพังไม่เป็นท่าจนเกือบยอมแพ้กับชีวิต จนกระทั่งมาพบทางสว่างในสิ่งที่เคยเกลียดอย่างเกษตรอินทรีย์ และต่อยอดจนมาเป็นฟาร์มไบโอไดนามิกแห่งแรกของเมืองไทยที่ไม่เพียงแต่ผลิตเนื้อหมูคุณภาพระดับห้าดาว แต่ยังดูแลโลกใบนี้ไปพร้อม ๆ กัน

ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มหมูไบโอไดนามิกแห่งขอนแก่น ที่การผลิตเป็นมิตรต่อโลกและคนกิน

ภาค 1 : ฝันสลาย

“มันเป็นความเชื่อที่ว่าตัวเองเก่ง ตัวเองรู้ทั้งหมด แต่พอทำจริงแล้วคนละเรื่อง”

หากชีวิตของเขาถูกเขียนเป็นบทหนัง เรื่องทั้งหมดก็น่าจะเปิดฉากที่ชายหนุ่มคนหนึ่งกำลังถือขวานบุกเบิกที่ดินท่ามกลางแสงอาทิตย์แผดจ้า เหงื่อไคลไหลย้อยท่วมตัว แล้วทันใดนั้นก็มีเสียงเรียกจากด้านหลัง

หมอ ๆ หมอจะมาทำฟาร์มทำไมเนี่ย ทำเกษตรมันลำบากนะ หมอทำไม่ได้หรอก หมอไปรักษาสัตว์น่ะดีแล้ว”

นั่นคือเสียงของเพื่อนบ้านที่เข้ามาเตือนด้วยความหวังดี ชายหนุ่มได้แต่ยิ้มแห้ง ๆ กลับไป… นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคนพูดกับเขาแบบนี้

“ตอนนั้นผมทำงานรักษาสัตว์มาแปดปี พอกลับมาบ้านเกิดก็ยังเห็นว่าเกษตรกรมีชีวิตที่ลำบากเหมือนเดิม ผมเองก็เป็นลูกเกษตรกร ก็ตั้งคำถามว่ามันจะมีระบบอื่นอีกไหมในการทำเกษตรที่จะให้เขามีอำนาจต่อรองหรือมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ผมรู้สึกว่าการรักษาสัตว์มันเป็นแค่การแก้ปัญหาปลายทางเมื่อสัตว์ป่วย แต่ไม่ได้แก้ปัญหาความยากจน หรือการมีตัวตนของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง พอเราอยู่ในสังคมเกษตรกรก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำยังไม่ตอบโจทย์ผู้คน ผมน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม” วานิชย์เล่าย้อนถึงคำถามที่เป็นเบื้องหลังการตัดสินใจในวันนั้น

ด้วยความที่เขาเคยฝึกงานในบริษัทฟาร์มขนาดใหญ่ในระบบอุตสาหกรรมมาก่อน แถมยังเรียนจบด้านปศุสัตว์ มีความรู้ในการรักษาสัตว์ป่วย รู้จักยาและวัคซีนสารพัด เขาจึงคิดว่าการลงมือทำฟาร์มด้วยตัวเองน่าจะเป็นหนทางพาไปพบคำตอบที่จะช่วยเกษตรกรได้

ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มหมูไบโอไดนามิกแห่งขอนแก่น ที่การผลิตเป็นมิตรต่อโลกและคนกิน

“ความหวังตอนนั้นคือเราอยากทำเป็นโมเดล ที่เราจะเป็นเกษตรกรจริง ๆ ทำขายจริง ๆ และอยู่ได้จริง ๆ แล้วเราจะพาเกษตรกรมาดูว่า ต้องทำแบบนี้แล้วจะรอด ต้องเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่แบบนี้ถึงรอด”

แม้จะเป็นความฝันที่มาจากความตั้งใจที่ดี แต่มันก็เหมือนความฝันที่ตั้งอยู่บนปุยเมฆซึ่งไม่ได้มีฐานอันมั่นคง

“พอได้ลงมือทำจริง ๆ โอ้โห ปัญหานี่แบบมหาศาล ยอมรับเลยว่าตัวเองเป็นมือใหม่มาก ต่อให้เราเคยเรียน เคยรักษาสัตว์ในฟาร์มโน่นนี่ ทำจนคิดว่าตัวเองเชี่ยวชาญ แต่พอทำจริงแล้วคนละเรื่อง เราต้องรู้มากกว่าการเลี้ยง ต้องรู้การจัดการ รู้ระบบการก่อสร้าง รู้ทิศทางลม รู้พันธุ์สัตว์ รู้ว่าอาหารสัตว์มาจากไหน จะซื้อยังไง มันจิปาถะไปหมด”

แม้ตอนนั้น เขาได้พยายามทำในสิ่งที่ฟาร์มขนาดใหญ่ทำ ไม่ว่าจะเป็นซื้อวัตถุดิบมาผสมอาหารเอง คำนวณสูตรอาหารเอง วัคซีนหรือยาปฏิชีวนะตัวไหนที่ว่าดีก็หาซื้อมาใช้ ซึ่งช่วงแรก ๆ ก็ได้ผลผลิตและน้ำหนักหมูตามที่ต้องการเป๊ะ ๆ ทุกอย่างดูสวยงามอยู่แค่ไม่กี่ปี แล้วพายุลูกใหญ่ก็โหมกระหน่ำ นั่นก็คือ… โรคระบาด

“เวลาเป็นโรค มันไม่ได้มีแค่โรคเดียว มันมีหลายโรคเข้ามา ความยากคือพอเชื้อเข้ามาแล้วมันไม่ได้แสดงอาการทันที กว่าจะแสดงอาการก็แปลว่าเชื้อโรคเข้ามาตั้งแต่เจ็ดวันที่แล้ว ทำให้เวลาเจอหมูเป็นโรคหนึ่งตัว เราต้องฉีดยาหมูทุกตัวในฟาร์มเลย”

แน่นอนว่าค่ายาไม่ใช่ถูก ๆ และเขาก็มีหมูถึง 700 ตัว! แล้วต่อให้รักษาโรคหนึ่งจนหายขาดได้ ก็มีโรคใหม่เข้ามาไม่จบสิ้น ซึ่งเขาแก้ปัญหาแบบฟาร์มขนาดใหญ่ที่ใช้วิธีเชือดทิ้งทั้งเล้าแล้วพักฟาร์ม 3 เดือนไม่ได้

ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มหมูไบโอไดนามิกแห่งขอนแก่น ที่การผลิตเป็นมิตรต่อโลกและคนกิน

“มันเป็นความเชื่อที่ว่าตัวเองเก่ง ตัวเองรู้เคมีทั้งหมด รู้จักยาปฏิชีวนะ เคยฝึกงานในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เคยจัดการให้เขาได้ แต่พอมาทำเองเรากลับจัดการอะไรไม่ได้เลย แก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย ปัญหาโน้นนี้มะรุมมะตุ้มไปหมด”

ว่ากันว่าสิ่งที่ทำให้คนเรารู้สึกตกต่ำที่สุด ก็คือความรู้สึกล้มเหลว ผิดหวังในตัวเอง สูญเสียความเชื่อมั่น สูญเสียความศรัทธา และนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา

“ตอนนั้นนี่เห็นต้นไม้ต้นไหนสูง ๆ เรารู้สึกเลยว่า มันน่าผูกคอตายมาก คิดขนาดนี้เลย นอนไม่หลับสามคืน ยุงกัดไม่รู้สึกตัว เป็นภาวะเครียดสูงสุดในชีวิตแล้ว ทำไมเราจัดการไม่ได้ ในหัวมันคิดวนเวียนแบบนี้ตลอด”

ท่ามกลางความมืดมนของชีวิตและความผิดหวังที่ประดังประเดเข้ามา บุคคลหนึ่งที่ยังคงยืนเคียงข้างและคอยให้กำลังใจก็คือภรรยาของเขา ที่เป็นผู้ผลักดันจนเขาได้ก้าวไปสู่บทใหม่ของชีวิต

ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มหมูไบโอไดนามิกแห่งขอนแก่น ที่การผลิตเป็นมิตรต่อโลกและคนกิน

ภาค 2 : ทางออกในสิ่งที่เคยเกลียด

“ถึงแม้การเปลี่ยนครั้งนี้จะทำให้มีหมูตาย 400 ตัวก็จริง แต่มีหมูตัวเดียวที่ทำให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดได้”

“ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยชอบเกษตรอินทรีย์เลย เรียกว่าเกลียดด้วยซ้ำ เพราะระบบอินทรีย์ที่ผมเคยเจอ มันไม่มีใครทำเป็นระบบฟาร์มแบบจริงจัง มีแต่เลี้ยงหกเจ็ดเดือนแล้วขาย ผมก็รู้สึกว่าถ้าทำแบบนี้แล้วตลาดที่มั่นคงมันอยู่ไหน มันดูไม่มีความน่าเชื่อถือ ดูสกปรก แล้วก็ไม่มีหลักการตลาด มีแต่หน่วยงานไปปักป้าย เช่น มีหน่วยงานหนึ่งไปหลอกให้ชาวบ้านปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์เยอะ ๆ แต่สุดท้ายก็ไม่รับซื้อของเขา ทำให้ผมไม่อยากไปเกี่ยวข้องกับระบบนั้น คือตอนนั้นผมไม่เห็นปลายทางที่มันสดใสเลย” ฟิวส์อธิบายถึงเหตุผลที่เขาเคยปฏิเสธระบบเกษตรอินทรีย์มาตลอด

แต่ด้วยความที่สถานการณ์เรียกว่าวิกฤตขีดสุด โรคระบาดเข้ามาไม่หยุดยั้ง แถมค่ายา ค่าวัคซีน ค่าอาหารสัตว์ ก็มีแต่จะพุ่งสูงขึ้น ขณะที่ราคาขายหมูกลับมีแต่จะตกต่ำลงเรื่อย ๆ โดยที่เขาควบคุมราคาอะไรไม่ได้เลย หนทางเดียวที่เหลืออยู่ในเวลานั้นก็อาจเป็นทางเดียวกับสิ่งที่เขาเคยเกลียด

“ภรรยาผมรู้ว่าผมไม่ชอบเกษตรอินทรีย์ แต่เขาก็บอกว่าลองดูก่อนดีไหม ลองเปิดใจก่อน เพราะนี่คือวิธีสุดท้ายของระบบเกษตรแล้ว แน่นอนว่าถ้าไม่สุดจริง เราก็ไม่เปลี่ยน สุดท้ายก็เลยยอมลองดู”

ชายหนุ่มจึงเริ่มต้นศึกษาการเลี้ยงหมูแบบอินทรีย์จากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งผู้รู้หลายคนพูดตรงกันว่า สิ่งที่ยากที่สุดในการเปลี่ยน ก็คือการเปลี่ยนนิสัยและความเคยชินของตัวเอง เพราะระบบอินทรีย์คือสิ่งที่คุณเพิ่งมาเรียนรู้ แต่ระบบเคมีคือสิ่งที่คุณรู้จักมันมาเป็นสิบ ๆ ปี ดังนั้น หากอยากเปลี่ยนจริง ๆ ก็ต้องเริ่มจากเตรียมอนุบาล ซึ่งหมายถึงการหักดิบจากเคมีโดยทันที

แน่นอนว่าเมื่อตัดสินใจแล้วก็ต้องไปให้สุด แม้ผลลัพธ์คือหมูตายไปราว 400 ตัว – เกินกว่าครึ่งของที่มี แต่เขาก็ทำใจยอมรับและถือว่าเป็นราคาของการเริ่มต้นใหม่ โดยระหว่างนั้นก็พยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งในเรื่องพืชพรรณท้องถิ่น พืชสมุนไพร ไปจนถึงจุลินทรีย์

ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มหมูไบโอไดนามิกแห่งขอนแก่น ที่การผลิตเป็นมิตรต่อโลกและคนกิน
ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มหมูไบโอไดนามิกแห่งขอนแก่น ที่การผลิตเป็นมิตรต่อโลกและคนกิน

“จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผมเชื่อว่ามาถูกทางแล้ว ก็คือมีหมูแม่พันธุ์ตัวหนึ่งที่เป็นแผลกดทับทางไหล่ซ้าย เดินไม่ได้หนึ่งเดือนเต็ม แล้วก็มีหนอนชอนไชเข้าไปในแผล ซึ่งผมเนี่ยโคตรเกลียดหนอนเลย เห็นไม่ได้ มันยี้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราคงอัดยาอย่างเดียว อย่างน้อยต้องมียาฆ่าหนอน ยาปฏิชีวนะแบบฉีด ยาแก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ถ้าลุกไม่ขึ้นก็สอดเข็มให้น้ำเกลือ ใส่ยาทางน้ำเกลือ หรือถ้ารักษาไม่ไหวก็คงเอาเข้ากรงแล้วเข้าโรงเชือด แต่คราวนี้ผมไม่ให้ยาอะไรเลย ผมจะลองวิธีใหม่ดู”

วิธีใหม่นี้ก็คือการรักษาแบบประคองอาการและให้หมูฟื้นตัวตามธรรมชาติ โดยเขาและน้องผู้ช่วยก็ช่วยกันป้อนอาหารอย่างทุลักทุเล เช็ดทำความสะอาดมูลที่หมูถ่ายออกมา คอยสังเกตความเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งที่เขาพบก็คือ หนอนจะไปกินเนื้อตายจนหมดแล้วกลายเป็นแมลงวัน ขณะที่หมูก็ค่อย ๆ สร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมา แผลก็ค่อย ๆ สมาน และเมื่อหมูเริ่มมีแรง เขาก็เริ่มทำกายภาพบำบัดให้ จากที่เดินไม่ได้ก็เริ่มนั่งได้ จากนั้นก็เริ่มเดินแบบเซ ๆ ได้ และเมื่อเวลาผ่านไป ก็เริ่มเดินแบบปกติได้ จนในที่สุดก็วิ่งไปขวิดหมูตัวอื่น ไปเล่นกับหมูตัวอื่นได้ ทั้งหมดนั้นใช้เวลาดูแลร่วม 3 เดือน

“การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์สำหรับผมมาก และเปลี่ยนชีวิตผมไปตลอดกาลเลย มันทำให้เราเชื่อหมดหัวใจเลยว่าธรรมชาติดีที่สุด จากสิ่งที่ไม่เคยเชื่อมาก่อน วันนี้เรากลับศรัทธาสุดๆ ถึงการเปลี่ยนมาเป็นระบบนี้จะทำให้มีหมูตายสี่ร้อยตัวก็จริง แต่มีหมูตัวเดียวที่ทำให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดได้”

หัวใจของการเลี้ยงหมูในวิถีใหม่นี้ เขาเล่าว่าไม่ใช่แค่การบอกลายาเคมีเท่านั้น แต่คือการวางตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เรียนรู้จากธรรมชาติ แทนที่จะเป็นผู้ควบคุมมัน

ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มไบโอไดนามิกแห่งแรกของเมืองไทยที่ไม่เพียงแต่ผลิตเนื้อหมูคุณภาพระดับห้าดาว แต่ยังดูแลโลกใบนี้ไปพร้อม ๆ กัน

“ผมไม่ได้เอาตัวเองไปเป็นเจ้าของฟาร์มที่จะสั่งหมูให้ลุก ผมไม่ได้วางตัวเองเป็นผู้ควบคุมสัตว์ แต่ผมแค่ไปช่วยพยุงเขา เขาไหวแค่ไหนก็เอาแค่นั้น ไม่ทำเกินกำลังตัวเอง ไม่เกินกำลังหมู เคสนี้เป็นหนังสือเล่มใหญ่สำหรับผมในการเรียนรู้ธรรมชาติ ผมรู้สึกว่าถ้าเราเปิดใจ ธรรมชาติจะค่อย ๆ สอนเรา และเราก็จะได้ความรู้ใหม่จากธรรมชาติทุกวัน” เขาเล่าพร้อมรอยยิ้ม

“ผมจำได้เลย มีวันหนึ่งผมกำลังนั่งมองพระอาทิตย์ตกดินใต้ต้นมะขามใหญ่ที่ฟาร์ม ตอนนั้นเลี้ยงหมูแบบอินทรีย์มาได้สองปีแล้ว ผมรู้สึกตัวว่าชีวิตเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่กำลังเกิดใหม่ และพร้อมจะแตกกิ่งก้านสาขาออกไปไม่รู้จบ กิ่งก้านสาขาเหล่านี้ก็คือความรู้ที่เราได้เรียนรู้ใหม่ทุกวัน จากการที่เราเปิดโอกาสให้ตัวเอง เปิดใจให้ยอมรับสิ่งใหม่ เรากลับพบว่า นี่คือแนวเราเลย”

ด้วยความที่เป็นคนชอบคิดและศึกษาหาความรู้ใหม่เสมอ ทำให้เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ระบบเกษตรอินทรีย์จะไปต่อได้มากกว่านี้อีกไหม หรือมีแนวทางไหนที่จะพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้อีกบ้าง

จากการค้นคว้าหาข้อมูลก็นำพาเขาไปพบกับแนวทางหนึ่งที่เรียกว่า ไบโอไดนามิก (Biodynamic) ซึ่งผู้คิดค้นคือคนเดียวกับผู้ก่อตั้งแนวทางการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf) ที่เน้นการเรียนรู้แบบธรรมชาติ และนั่นก็คือจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในชีวิตของเขา

ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มไบโอไดนามิกแห่งแรกของเมืองไทยที่ไม่เพียงแต่ผลิตเนื้อหมูคุณภาพระดับห้าดาว แต่ยังดูแลโลกใบนี้ไปพร้อม ๆ กัน

ภาค 3: ไบโอไดนามิก – ระบบการผลิตที่เกื้อกูลธรรมชาติ

“ทุกครั้งที่ผมผลิตอาหารที่โคตรมีคุณภาพให้กับผู้คน ผมได้ผลิตอาหารแบบนั้นให้กับตัวเองด้วย”

หากพูดแบบภาษาบ้าน ๆ การเลี้ยงหมูแบบไบโอไดนามิก ก็คือขั้นกว่าของระบบเกษตรอินทรีย์ ที่ไม่เพียงแต่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเท่านั้น แต่ในกระบวนการผลิตยังส่งคืนและตอบแทนสู่ธรรมชาติด้วย โดยฟาร์มที่ทำระบบนี้ไม่ได้มองตัวเองเป็นแค่สถานที่ผลิตหมู แต่มองว่าฟาร์มตนเองคือส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่มีความหลากหลายและเกื้อกูลกัน

“คำว่าไบโอไดนามิกคือการหมุนเวียนเป็นวัฏจักร คือความสัมพันธุ์ระหว่าง คน สัตว์ พืช รวมถึงจุลินทรีย์ ทุกอย่างคือฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่เกื้อกูลกัน เวลาสัตว์กินอาหาร สัตว์ก็ต้องตอบแทนพืชเหล่านั้นโดยการพรวนดิน ถ่ายมูลเป็นปุ๋ยให้พืช และพอหมูกินพืชนั้น สารอาหารก็จะหมุนเวียนไปสู่หมูอีกรอบ” เจ้าของ ว. ทวีฟาร์ม อธิบาย

แม้ช่วงเริ่มต้นจะมีหลายคนเตือนเขาว่า ระบบนี้ไม่สามารถทำในเชิงพาณิชย์ได้ แต่ชายหนุ่มก็ยืนยันที่จะลองทำดู เพราะเชื่อว่านี่คือระบบที่ดีที่สุดของการผลิตอาหาร

ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มไบโอไดนามิกแห่งแรกของเมืองไทยที่ไม่เพียงแต่ผลิตเนื้อหมูคุณภาพระดับห้าดาว แต่ยังดูแลโลกใบนี้ไปพร้อม ๆ กัน

“การเกษตรแบบนี้มันไม่ใช่แค่ว่าได้ผลิตภัณฑ์ที่ดี แต่มันยังได้ป่า ได้ออกซิเจน ได้ดินที่ดีขึ้น เพราะดินที่ดีคือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง ถ้าเราไม่มีดินที่ดี เราก็จะมีอาหารที่ดีไม่ได้ มีการเลี้ยงสัตว์ที่ดีไม่ได้ มีพืชพรรณที่ดีไม่ได้ มีอากาศที่ดีไม่ได้ แล้วเราก็มีสุขภาพที่ดีไม่ได้”

หัวใจในการสร้างดินที่ดี ก็คือการทำให้ฟาร์มมีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด มีความหลากหลายของสัตว์ มีความหลากหลายของพืช จนเป็นเหมือนระบบนิเวศขนาดย่อม ๆ การจะทำแบบนี้ ความเปลี่ยนแปลงอย่างแรกที่ต้องเกิดขึ้นคือ จะเป็นโรงเรือนที่ตั้งอยู่บนผืนดินโล้น ๆ โล่ง ๆ ไม่ได้ แต่ต้องมีต้นไม้หลากหลาย ทั้งไม้ยืนต้นสร้างร่มเงา ไม้ใช้สอย พืชสมุนไพร พืชอาหาร พืชท้องถิ่น ส่วนใบไม้หรือหญ้าแห้งต่าง ๆ ก็ต้องไม่เผา แต่ใช้คลุมหน้าดิน สร้างความชุ่มชื้น คืนธาตุอาหารกลับคืนสู่ธรรมชาติ

“ที่ฟาร์มเรามีต้นไม้หลากหลาย เช่น เราปลูกสนเป็นกำแพงกันลม กันโรค เพราะสนมีรากลึก ไม่ล้มง่าย หรือไผ่ก็มีประโยชน์หลายอย่าง เป็นอาหารก็ได้ เอามาทำโรงเรือนก็ได้ แถมยังช่วยดูดคาร์บอน ไผ่นี่ดูดคาร์บอนได้มากกว่าพืชอื่น ๆ มาก ผลิตออกซิเจนได้มากกว่าด้วย หลายคนมีภาพจำว่าโรงเรือนของฟาร์มใหญ่ๆ ต้องเป็นเหล็ก ทั้งที่จริงแล้วสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ราคาไม่แพง และดีต่อธรรมชาติมันก็มีนะ ส่วนกล้วยเราก็ปลูกใช้ทำอาหารสัตว์ สัตว์ป่วย ๆ แค่ให้กินกล้วย เขาก็สดชื่นแล้ว”

ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มไบโอไดนามิกแห่งแรกของเมืองไทยที่ไม่เพียงแต่ผลิตเนื้อหมูคุณภาพระดับห้าดาว แต่ยังดูแลโลกใบนี้ไปพร้อม ๆ กัน

จากความหลากหลายของพืชก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นถัดมา – ความหลากหลายของอาหารสัตว์

“พอทำแบบนี้แล้ว ผมก็ตั้งคำถามว่าทำไมสัตว์ต้องได้กินอาหารซ้ำ ๆ ทุกวัน ทำไมเขาไม่ได้กินของดี ๆ หวาน ๆ อร่อย ๆ บ้าง เราเคยได้ยินคำพูดที่ว่า เรากินอะไร เราก็เป็นแบบนั้น ผมก็เลยคิดว่า ถ้าสัตว์ได้กินของดี ๆ ของอร่อย ๆ ที่ทำให้เขามีความสุข มันก็น่าจะส่งต่อสิ่งดี ๆ ส่งต่อพลังชีวิตให้ผู้บริโภคเช่นกัน”

นั่นทำให้หมูในฟาร์มแห่งนี้มีอาหารสุดหลากหลาย ตั้งแต่ข้าวโพด หญ้าเนเปีย มันเทศญี่ปุ่น มันห้านาที มันสำปะหลัง ข้าวฟ่าง รวมถึงถั่วเหลืองอินทรีย์ที่เขาไปรับซื้อจากกลุ่มเกษตรกรที่ถูกหน่วยงานหลอกให้ปลูกแต่ไม่รับซื้อ ไปจนถึงการคิดค้นสูตรอาหารจากพืชสมุนไพรในป่า นำจุลินทรีย์ท้องถิ่นมาหมักแล้วผสมอาหารเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน

แต่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดของฟาร์มก็ต้องยกให้เรื่องนี้ – การปล่อยหมูออกจากคอก

ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มไบโอไดนามิกแห่งแรกของเมืองไทยที่ไม่เพียงแต่ผลิตเนื้อหมูคุณภาพระดับห้าดาว แต่ยังดูแลโลกใบนี้ไปพร้อม ๆ กัน

“แต่ก่อนเราจะไม่เคยปล่อยหมูออกจากคอกเลย เพราะเราคิดว่าหมูจะไปทำลาย ทำลาย แล้วก็ทำลาย แต่พอมาทำแบบนี้ถึงรู้ว่า ไก่กับหมูคือรถแทรกเตอร์ชั้นดี เขาพรวนดินแบบรถไถยังยอมเลย โอ้โห ละเอียดมาก แล้วเขาก็ถ่ายมูล ถ่ายเสร็จเขาก็คลุกให้เราโดยอัตโนมัติ เราไม่ต้องทำอะไรเลย เราอยู่เฉย ๆ ครับ แล้วจากนั้นก็มีไส้เดือนมากินขี้หมู ดินก็ร่วนซุย แล้วผมก็จะพาหมูไปอีกแปลง แปลงนี้ก็ปลูกพืช”

นอกจากจะได้ดินดีแล้ว ประโยชน์อีกอย่างของการพรวนดินของหมูก็คือ ทำให้ดินเป็นหลุมเป็นบ่อ เวลาฝนตกน้ำก็ขังในหลุม เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดิน ทำให้ดินเก็บน้ำได้ดีขึ้น ซึ่งเขาใช้เวลา 5 ปี ในการทดสอบสิ่งนี้จนเห็นผล จากแปลงที่เคยเป็นดินทรายปนร่วน เก็บน้ำไม่อยู่ ช่วงหน้าแล้งก็แล้งจัด ปลูกอะไรไม่ขึ้น เพียงแค่หนึ่งปีที่หมูลงไปคุ้ยเขี่ยหากินในแปลง แล้วใช้ฟางใช้หญ้าแห้งคลุมดิน วันนี้ผืนดินแห่งนี้ก็เริ่มอุดมสมบูรณ์และเก็บน้ำได้ เป็นหลักฐานมีชีวิตที่เขาเห็นกับตาตนเอง

แม้การเลี้ยงหมูในวิถีใหม่นี้จะไม่มีการใช้ยาเคมี ปราศจากยาปฏิชีวนะ แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า สุขภาพของหมูกลับดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หมูป่วยน้อยกว่า แถมโรคระบาดก็ไม่มี

ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มไบโอไดนามิกแห่งแรกของเมืองไทยที่ไม่เพียงแต่ผลิตเนื้อหมูคุณภาพระดับห้าดาว แต่ยังดูแลโลกใบนี้ไปพร้อม ๆ กัน

“จากที่ผมอยู่กับเขามาสี่ห้าปี ผมมีข้อสรุปว่าเวลาสัตว์อยู่ในคอก เขาเกิดความเครียด เพราะทั้งต้องดมขี้ตัวเอง อาหารเน่าบ้าง อากาศร้อนบ้าง เย็นบ้าง ฝนสาดบ้าง แล้วเขาไปไหนไม่ได้เลย เขาต้องทนอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ถ้าเจ้าของฟาร์มที่ละเอียดหน่อยก็จะรู้ว่าตอนนี้หมูร้อน ก็อาบน้ำให้ แต่หมูเขาไม่มีสิทธิ์เลือกเลย ทั้งยุงกัดด้วย เพราะเขาอยู่เฉย ๆ แถมคนยังไปตัดหางเขาอีก เพราะในอุตสาหกรรมจะเชื่อว่าหมูจะกัดหางกัน ซึ่งทำให้เป็นแผลอักเสบ ทั้งที่จริงแล้วหมูมีหางไว้ไล่แมลง”

ฟิวส์เล่าถึงสวัสดิภาพของหมูในอดีตที่ถูกดูแลเหมือนเครื่องจักรผลิตอาหารมากกว่าสิ่งมีชีวิต ซึ่งในวันนี้ทุกอย่างกลับกัน หมูได้ใช้ชีวิตอย่างที่หมูควรจะเป็น ซึ่งนอกจากจะทั้งกินดีและอยู่ดีแล้ว หมูที่นี่ยังเข้าถึงบริการพิเศษอย่างสปาโคลน ที่หากมองในสายตามนุษย์อาจมองว่าสกปรก แต่ความจริงแล้วนั่นคือเคล็ดลับสุขภาพชั้นดีของเหล่าน้องหมู

“การนอนโคลนของหมูเป็นการรักษาผิวหนัง ป้องกันปรสิต ทุกวันตอนสาย ๆ เขาจะวิ่งไปที่บ่อโคลน ไปชุบตัว แล้วขึ้นมาตากตัวเองให้แห้ง พอช่วงค่ำ ๆ ก่อนนอน เขาก็จะไปชุบโคลนอีก พวกแมลงก็จะไม่ตอม เพราะตัวแมลงจะติดโคลน สมัยก่อนผมเคยต้องพ่นยาฆ่ายุงให้เขา แต่พอเลี้ยงแบบนี้ไม่ต้องเลย แล้วพอให้เขาได้อาบโคลนแบบนี้ เขาก็ไม่มีโรคผิวหนังอีกเลย”

ส่วนเรื่องพยาธิในทางเดินอาหารหมู ปัจจุบันก็หายไปเช่นกัน แม้ว่าเขาจะไม่ได้ให้หมูกินยาถ่ายพยาธิเลย ซึ่งช่วงแรก ๆ เขาก็งงว่าเป็นเพราะอะไร แต่ในที่สุดก็ได้ค้นพบว่าความลับอยู่ที่… ไก่

“ปกติแล้วในระบบอุตสาหกรรม เขาจะไม่ให้เลี้ยงไก่กับหมูรวมกัน เพราะเชื่อว่าจะเป็นโรคนั่นนี่ แต่จริง ๆ แล้ว ไก่จะช่วยจิกเหลือบไรในหมู เวลาหมูถ่ายมูลมา ถ้าตัวไหนมีพยาธิ เป็ดไก่ก็จะจิกกิน พยาธิก็ตาย หรือพวกนกต่าง ๆ ก็จะมาช่วยกินเหลือบ กินเห็บ กินไร ทั้งในหมูและวัว จะเห็นว่าทุกอย่างเกื้อกูลกันหมดเลย มันต้องคลุกคลีถึงจะดูออก” เขาเล่าถึงอีกหนึ่งความรู้ที่ตรงข้ามกับสิ่งที่เคยเรียนในตำรา

“แล้วความเชื่อที่ว่าถ้าหมูชุบโคลนแล้วมาให้ลูกดูดนม ลูกจะท้องเสีย ทำให้เราต้องเช็ดเต้านมจนขาว แต่ทุกวันนี้ปล่อยเลย ผมก็ยังไม่เห็นว่ามีลูกหมูตัวไหนท้องเสีย”

ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มไบโอไดนามิกแห่งแรกของเมืองไทยที่ไม่เพียงแต่ผลิตเนื้อหมูคุณภาพระดับห้าดาว แต่ยังดูแลโลกใบนี้ไปพร้อม ๆ กัน
ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มไบโอไดนามิกแห่งแรกของเมืองไทยที่ไม่เพียงแต่ผลิตเนื้อหมูคุณภาพระดับห้าดาว แต่ยังดูแลโลกใบนี้ไปพร้อม ๆ กัน

นอกจากนั้น ความรู้ที่เคยถูกสอนต่อมาว่า คนทำฟาร์มไม่ควรเลี้ยงหมูและวัวรวมกัน เพราะทั้งคู่เป็นสัตว์เท้ากีบ สามารถเป็นโรคปากเท้าเปื่อยที่ติดต่อกันได้ ซึ่งเขาก็ใช้เวลา 5 ปีในการพิสูจน์ว่า หมูและวัวก็เป็นโรคนี้จริง แต่มันหายเองได้โดยไม่ต้องใช้ยา เพียงแต่เคล็ดลับคือต้องปล่อยอิสระ อย่าเลี้ยงแบบขังคอก

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เปลี่ยนไปก็คือแนวคิดการทำฟาร์ม ที่เขาไม่ได้วางตัวเองเป็นผู้ควบคุมธรรมชาติ แต่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่งที่จะเข้าไปช่วยอะไรสักอย่างในจังหวะนั้น

“พอหมูใกล้คลอด เรารู้ว่าเขาจะไปขุดหลุมแล้วคลอดลูกในนั้นเพื่อให้ลูกอุ่น เราก็อาจไปช่วยปูหญ้าแห้ง เพื่อให้เขามีทางเลือกว่าอาจจะมาก็ได้ หรือจะไม่มาก็ได้นะ คือเราไม่ได้บังคับยัดเยียดให้เขาต้องมานอนตรงนี้ ซึ่งถ้าเป็นแต่ก่อนต้องพาไปอยู่ในกรงคลอดแคบ ๆ เพราะเราถูกสอนมาว่า หมูจะกัดลูกตัวเอง หมูจะทับลูกตัวเอง สอนกันมาไม่รู้กี่ปี จนผมได้พิสูจน์ด้วยตัวเองแล้วว่า ถ้าหมูได้อยู่ในพื้นที่กว้างตามธรรมชาติ เขาแทบจะไม่ทับลูกตัวเองเลย เพราะลูกมันก็มีพื้นที่ออกไปเช่นกัน”

นอกจากนั้น หากที่ฟาร์มมีสัตว์ป่วย เขาก็จะไม่แยกออกมา แต่จะให้อยู่ร่วมกับสัตว์ปกติ ซึ่งกลับกลายเป็นว่า การทำแบบนั้นสัตว์จะฟื้นตัวเร็วกว่า แถมยังถ่ายภูมิให้ตัวอื่นด้วย

“มันเริ่มจากที่เราไปเห็นคนป่วย แล้วรู้สึกว่าพอเราแยกคนป่วยออกมาอยู่ด้วยกัน ความรู้สึกเขาจะห่อเหี่ยว เพราะป่วยจึงต้องมาอยู่บนเตียงแบบนี้ ได้กลิ่นเคมีแบบนี้ เราเลยให้สัตว์ป่วยอยู่กับสัตว์ปกติเลย เรานึกถึงสัตว์ป่าว่า เวลามีสัตว์ป่วยก็ไม่มีใครไปแยก มันยังอยู่ได้ไม่สูญพันธุ์ อย่างในอุตสาหกรรม เวลามีสัตว์ป่วยที่หายเองได้ตามธรรมชาติ เขาก็จะให้สัตว์ตัวนั้นวิ่งตรงทางเดินหน้าคอกตัวอื่น เพื่อให้หายใจรดตัวอื่น สร้างภูมิคุ้มกัน”

จากอดีตคนที่เคยล้มเหลวกับการทำฟาร์มแบบเคมีจนไม่อยากมีชีวิต มาวันนี้เขาพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า วิถีไบโอไดนามิกได้ทำให้เขากลายเป็นคนที่มีความสุขเปี่ยมล้น

ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มไบโอไดนามิกแห่งแรกของเมืองไทยที่ไม่เพียงแต่ผลิตเนื้อหมูคุณภาพระดับห้าดาว แต่ยังดูแลโลกใบนี้ไปพร้อม ๆ กัน
ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มไบโอไดนามิกแห่งแรกของเมืองไทยที่ไม่เพียงแต่ผลิตเนื้อหมูคุณภาพระดับห้าดาว แต่ยังดูแลโลกใบนี้ไปพร้อม ๆ กัน

“ผมพูดได้เต็มปากว่าวันนี้ผมมีความสุขและภูมิใจมาก ที่ได้ผลิตอาหารที่โคตรมีคุณภาพให้กับผู้คน ซึ่งทุกครั้งที่ผมผลิตอาหารแบบนี้ ก็เท่ากับผมได้ผลิตอาหารแบบนั้นให้กับตัวเองด้วย และมันก็จะหมุนวนมาหาคนที่ผมรัก ผมหัวใจพองโตทุกครั้งเวลาส่งมอบ เพราะนี่คือผมได้มอบชีวิตหนึ่งให้กับผู้คน ได้มอบสุขภาพที่ผมเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ธรรมชาติจะมอบได้ เราเอาใจของเราผลิต เราเอาเจตนาดีของเราผลิต ต่อให้เราไม่ได้มีเงินมหาศาล แต่เรามีความภูมิใจ”

แม้ฟาร์มแห่งนี้จะได้ชื่อว่าเป็นฟาร์มหมูไบโอไดนามิกแห่งแรก ๆ ในเมืองไทย แต่เขาก็ไม่ได้สงวนความรู้ไว้เพียงลำพัง แต่ยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้ให้ทุกคนที่สนใจ ฟาร์มของเขาเปิดประตูต้อนรับทุกผู้คนที่อยากเข้ามาเรียนรู้ และหากใครอยากนำแนวทางนี้ไปใช้ เขาก็เต็มใจและไม่ได้มองว่าเป็นคู่แข่ง แต่มองเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่จะช่วยกันผลิตอาหารที่มีคุณภาพให้กับเมืองไทยและสร้างธรรมชาติที่ดีไปพร้อมกัน

“เราพยายามรวบรวมผู้คนที่อยากทำแบบนี้ กลุ่มพวกผมเชื่อว่า เราไม่ได้มีความรู้มากมาย แต่เรามีความรู้ในการผลิตอาหารที่มันโคตรดี ผลิตพืชผักที่โคตรดี แล้วเราก็อยากพัฒนาประเทศในสาขานี้ให้มันสวยงาม ให้ผู้ผลิตเกิดความภาคภูมิใจ ก่อนที่จะไปถึงความภูมิใจของผู้บริโภคที่ว่า ดีจังที่เราเกิดในประเทศไทยและมีอาหารที่โคตรดีแบบนี้กิน แล้วอยากให้เขามีความภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนกลุ่มนี้ เพราะนอกจากกลุ่มนี้จะผลิตอาหารที่ดีมีคุณภาพแล้ว กลุ่มนี้ยังช่วยดูแลโลกใบนี้ด้วย 

“เงินทุกบาทหรือแรงสนับสนุนทุกอย่างที่เขาสนับสนุนมา มันคือการเพิ่มป่า เพิ่มออกซิเจน เพราะการทำระบบนี้ต้องมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ ซึ่งการปลูกกป่าแบบนี้มันต่างจากการปลูกแบบ CSR ที่ปลูกวันเดียวเป็นพันต้นแต่ไม่มีใครดูแล แต่ของเราอาจปลูกแค่ร้อยต้น แต่มีคนดูแล และไม่ใช่ร้อยต้นในที่เดียวกัน อาจเป็นของนายเอสองต้น นางบีสี่ต้น แต่รวมแล้วเป็นร้อยต้นต่อปี”

ว. ทวีฟาร์ม ฟาร์มไบโอไดนามิกแห่งแรกของเมืองไทยที่ไม่เพียงแต่ผลิตเนื้อหมูคุณภาพระดับห้าดาว แต่ยังดูแลโลกใบนี้ไปพร้อม ๆ กัน

ภาพ : www.facebook.com/Fusewanich

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’