ถึงจะมีดราม่าเกิดขึ้นอยู่บ้าง แต่ผมว่าเสาไฟยุคนี้มีความครีเอตมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ แต่ละที่ แต่ละจังหวัดพยายามออกแบบให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง อย่างที่ขอนแก่นก็มีเสาไฟรูปสินไซ สีโห และสังข์ ซึ่งเป็นตัวละครจากวรรณกรรมเรื่อง สินไซ หนึ่งในวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงของภาคอีสาน ซึ่งไม่รู้คิดไปเองรึเปล่า แต่แอบรู้สึกว่าเสาไฟของที่นี่ดูคุ้น ๆ เหมือนเคยเห็นจากจิตรกรรมวัดหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นมาก่อน และวัดนั้นมีชื่อว่า ‘วัดสนวนวารีพัฒนาราม’

ก่อนจะไปกันต่อ คิดว่าเราคงต้องมาเริ่มจากการทำความรู้จักวัดเล็ก ๆ แห่งนี้กันสักหน่อยครับ

วัดสนวนวารี วัดร้อยปีที่สร้างจากงบ 200 กับจิตรกรรมสินไซที่กลายเป็นศิลปะบนเสาไฟทั่วขอนแก่น
ภาพ : pantip.com/topic/40122716
วัดสนวนวารี วัดร้อยปีที่สร้างจากงบ 200 กับจิตรกรรมสินไซที่กลายเป็นศิลปะบนเสาไฟทั่วขอนแก่น
ภาพ : www.facebook.com/KhonKaen.th

วัดเล็กราคา 200 บาท

เรื่องน่าสนใจเรื่องแรกของวัดนี้ก็คือชื่อเดิมของวัดครับ บ้างก็ว่าเดิมมีชื่อว่า ‘วัดหัวหนอง’ ซึ่งมาจากชื่อของหมู่บ้านที่วัดนี้ตั้งอยู่ คือบ้านหัวหนอง บ้างก็ว่าเดิมมีชื่อว่า ‘วัดโนนงิ้ว’ ที่มาจากภูมิศาสตร์ของวัดที่มีลักษณะเป็นโนนและเคยเป็นป่างิ้วขาวมาก่อน แต่อีกแนวคิดหนึ่งก็บอกว่าเดิมวัดนี้ชื่อ ‘วัดขนวน’ ที่มาจากชื่อต้นขนวน ก่อนที่ชื่อจะเพี้ยนไปจนมาสุดที่ ‘วัดสนวน’ และกลายเป็น ‘วัดสนวนวารีพัฒนาราม’ ในที่สุด 

เรื่องน่าสนใจถัดมาก็คือปีที่สร้างวัดครับ เพราะจากที่ไปค้นมา ปรากฏว่าปีที่สร้างวัดมีความสับสนกันอยู่ประมาณหนึ่ง บ้างก็ว่า พ.ศ. 2460 บ้างก็ว่า พ.ศ. 2465 แต่บ้างก็ว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2474 เอาเป็นว่า ช่วงเวลาที่วัดแห่งนี้สร้างขึ้นน่าจะอยู่ในราว ๆ นี้แหละครับ แต่ที่ให้ข้อมูลตรงกันคือมูลค่าในการสร้างวัด คือ 200 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ชาวบ้านรวบรวมกันเพื่อสร้างสิมของวัด ซึ่ง 200 บาทในยุคนี้อาจจะดูเป็นเงินจำนวนไม่เยอะ แต่เรากำลังพูดถึงเงิน 200 บาทเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้วนะครับ มูลค่าผิดกันเยอะเลยว่าไหมครับ

ถึงแม้ว่าปีที่สร้างวัดจะไม่ชัวร์ แต่ชื่อคนออกแบบสิมเนี่ยชัวร์ว่าเป็น ช่างแกว หรือช่างชาวญวนชื่อ นายแกว ทองผา หรือ องทองผา ครับ (คำว่า ‘อง’ จริง ๆ แล้วในเวียดนามใช้เรียกผู้สูงอายุ แต่ในอีสานเอามาใช้เรียกคนเวียดนามที่เป็นผู้ชายครับ) ซึ่งกลุ่มคนญวนกลุ่มนี้เข้ามาในไทยผ่านจังหวัดนครพนม โดยมีจุดหมายปลายทางที่จังหวัดใหญ่ในภาคอีสานอย่างนครราชสีมา แต่เกิดหลงทางขึ้นมาเลยย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดขอนแก่นแทน โดยองทองผาคนนี้อาศัยอยู่ที่อำเภอพล จังหวัดขอนแก่นนี่เอง

อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือเรื่องช่างแต้มครับ เพราะวัดนี้มีจิตรกรรมฝาผนังหรือที่ภาษาอีสานเรียกว่า ‘ฮูปแต้ม’ ด้วย ที่วัดสนวนวารีพัฒนารามมีช่างแต้ม 2 คน คือ นายยวก (หรือ นายหยวก) และ นายแดง ซึ่งนายยวกอาศัยอยู่ที่บ้านป่าปอ ห่างจากวัดหัวหนอง 30 กิโลเมตร แต่ปัญหาก็คือ เราไม่รู้ว่าภาพชุดนี้วาดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะขนาดปีที่สร้างสิมเสร็จยังไม่นิ่งเลย แต่ก็ต้องเป็นหลังจากที่สิมสร้างเสร็จแล้วนั่นแหละครับ

 สิมญวนหลังน้อย

ถึงแม้ในปัจจุบันวัดสนวนวารีฯ จะมีสิมหลังใหม่ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2540 แต่สิ่งที่ดีงามก็คือ สิมหลังน้อยหลังเดิมของวัดยังถูกรักษาเอาไว้พร้อมกับสีมาเล็ก ๆ และด้วยความที่คนออกแบบสิมหลังนี้เป็นช่างญวน ดังนั้นรูปแบบจึงเป็นสิมแบบญวนด้วยเหมือนกัน ซึ่งมีอยู่เยอะพอสมควรในภาคอีสานของไทย

วัดสนวนวารี วัดร้อยปีที่สร้างจากงบ 200 กับจิตรกรรมสินไซที่กลายเป็นศิลปะบนเสาไฟทั่วขอนแก่น

เอกลักษณ์สำคัญของสิมสายญวนคือซุ้มโค้ง ทำหน้าที่เป็นทั้งซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง และซุ้มตกแต่ง ซึ่งมีทั้งซุ้มจริงและซุ้มหลอกเลยครับ ส่วนหลังคาอาจดูแปลก ๆ สักหน่อย เพราะเป็นหลังคามุงสังกะสี แถมยังมีชายคาออกมาโดยรอบ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนที่เพิ่มเติมในสมัยหลัง โดยชายคาปีกนกรอบ ๆ นี้เป็นส่วนที่กรมศิลปากรทำเพิ่มเติมขึ้นมา อาจจะทำขึ้นเพื่อปกป้องฮูปแต้มของวัดครับ

พอเดินผ่านบันไดทางขึ้นรูปนาคน่ารักแบบช่างท้องถิ่นเข้าไปข้างในสิม ก็จะพบกับพระพุทธรูปประธานองค์เล็กสมกับขนาดของสิม แม้จะไม่สวยงามเท่าไหร่ แต่ก็ซื่อตรงตามฝีมือช่างพื้นบ้าน และยังคงเป็นที่เคารพจากชาวบ้านรอบ ๆ อยู่ สังเกตได้จากการถวายผ้าจีวรจริงให้กับพระประธาน

วัดสนวนวารี วัดร้อยปีที่สร้างจากงบ 200 กับจิตรกรรมสินไซที่กลายเป็นศิลปะบนเสาไฟทั่วขอนแก่น
วัดสนวนวารี วัดร้อยปีที่สร้างจากงบ 200 กับจิตรกรรมสินไซที่กลายเป็นศิลปะบนเสาไฟทั่วขอนแก่น

ฮูปแต้ม มีทั้งนอก มีทั้งใน

เอกลักษณ์สำคัญของฮูปแต้มสไตล์อีสานจริง ๆ คือการมีภาพทั้งข้างนอกและข้างใน ซึ่งอาจจะไม่ได้เจอทุกที่ แต่ก็เจอได้บ่อยมาก ๆ อย่างวัดหน้าพระธาตุ จังหวัดนครราชสีมาก็มีเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่างกันอย่างชัดเจนระหว่าง 2 วัดนี้คือสไตล์ครับ เพราะถ้าวัดหน้าพระธาตุจะเป็นงานสไตล์ภาคกลางจ๋า ๆ แต่ของวัดสนวนวารีฯ คืองานแบบพื้นบ้านอย่างแท้จริง ทั้งหน้าตาที่ดูเรียบง่ายแต่ซื่อตรง หรือโทนสีที่ใช้คู่สีครามและเหลืองเป็นโทนสีหลัก แถมข้างในกับข้างนอกก็เขียนกันคนละเรื่องด้วย

  เนื้อหาหลักที่เขียนไว้ข้างในคือหนึ่งในเรื่องยอดฮิตที่พบได้ในแทบทุกภูมิภาค นั่นก็คือ มหาเวสสันดรชาดก โดยเขียนแบบครบทุกกัณฑ์เลยครับ แต่ละฉากแบ่งแถว แบ่งช่อง เป็นสัดส่วนมาก ๆ ถ้าดูไม่ออก บางช่องก็มีคำบรรยายภาพเป็นทั้งอักษรไทยแบบที่เราใช้ในปัจจุบันและอักษรธรรมอีสาน และด้วยความซื่อตรงของภาพ นอกจากเนื้อเรื่องหลักแล้ว เรายังได้เห็นภาพวิถีชาวบ้านที่แอบแทรกไว้ตรงโน้นที ตรงนี้ที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์อย่าง ‘แคน’ ก็มีบนฝาผนังด้วยเช่นกัน

วัดสนวนวารี วัดร้อยปีที่สร้างจากงบ 200 กับจิตรกรรมสินไซที่กลายเป็นศิลปะบนเสาไฟทั่วขอนแก่น
วัดสนวนวารี วัดร้อยปีที่สร้างจากงบ 200 กับจิตรกรรมสินไซที่กลายเป็นศิลปะบนเสาไฟทั่วขอนแก่น

ทีนี้พอเขียนเรื่อง มหาเวสสันดรชาดก แล้ว ปรากฏว่ายังมีที่เหลืออยู่นิดหน่อยบริเวณส่วนโค้งของซุ้ม ช่างแต้มทั้งสองต้องหาอะไรมาใส่ หวยก็เลยไปออกที่บรรดารูปประกอบต่าง ๆ ทั้งลายพรรณพฤกษา ทั้งรูปสัตว์อย่างนาคหรือคชสีห์ ทั้งรูปราหูอมจันทร์ หรือแม้กระทั่งตัวละครสำคัญจากเรื่อง สินไซ ที่เขียนไว้ข้างนอกก็ยังเอามาใส่ไว้หน่อยด้วย 

ที่เด็ดไปกว่านั้น ใกล้ ๆ รูปราหูอมจันทร์มีข้อความภาษาไทยอยู่ประโยคหนึ่ง เขียนว่า

นายย่วกเป็นผู้เรียบเรียงตามที่ความประสงค์

ตรงนี้เหมือนเป็นเครื่องการันตีเลยครับว่านายหยวกเป็นคนเขียนฮูปแต้มพวกนี้จริง ๆ แถมยังเป็นผู้เรียบเรียงเนื้อเรื่องที่ใช้เขียนอีกด้วย 

วัดสนวนวารี วัดร้อยปีที่สร้างจากงบ 200 กับจิตรกรรมสินไซที่กลายเป็นศิลปะบนเสาไฟทั่วขอนแก่น

พอออกมาข้างนอก เทคนิคการเขียนก็จะเป็นแบบเดียวกับข้างใน ถ้าที่เยอะก็เขียนเนื้อเรื่อง ที่น้อยเขียนภาพประกอบอื่น ๆ แต่เนื้อหาจะเปลี่ยนเป็นเรื่อง สินไซ (หรือที่ภาคกลางเรียกว่า สังข์ศิลป์ชัย) วรรณกรรมพื้นบ้านอีกเรื่องที่ได้รับความนิยมนำมาเขียนเป็นฮูปแต้มไม่แพ้ มหาเวสสันดรชาดก เลย

วัดสนวนวารี วัดร้อยปีที่สร้างจากงบ 200 กับจิตรกรรมสินไซที่กลายเป็นศิลปะบนเสาไฟทั่วขอนแก่น

สินไซ เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่มีความแฟนตาซีสูงมาก มีการผจญภัย มีการต่อสู้ มีอาวุธวิเศษ และถ้ารู้สึกว่าการที่กวนอูฝ่า 5 ด่าน สังหาร 6 ขุนพลของโจโฉนั้นยากแล้ว สินไซต้องฝ่า 6 ย่านน้ำ 9 ด่านมหาประลัย เรียกว่าหนักหนากว่ากันเยอะ แต่ในความสนุกสนานของเนื้อเรื่องก็สอดแทรกแง่คิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้กำลังใจหรือแม้แต่มิตรภาพ ซึ่งในอดีต สินไซ มักนำมาเล่าในช่วงงานบุญใหญ่ของภาคอีสานอย่างงาน ‘บุญผะเหวด’ แถมไม่ได้เล่าปากเปล่าด้วย เพราะจะมาพร้อมกับการเล่นหนังประโมทัยหรือหนังตะลุงอีสานที่ทุกวันนี้หาชมได้ยากมากครับ

ทีนี้ตัวละครหลักของเรื่องนี้มี 3 ตัว ก็คือ สินไซ เด็กที่เกิดมาพร้อมกับศรศิลป์และพระแสงขรรค์ชัยศรี สังข์ น้องชายของสินไซ และสีโห พี่น้องต่างมารดาที่หัวเป็นช้าง ตัวเป็นสิงห์ จะออกไปผจญภัยฝ่าด่าน ทั้งนาค ช้าง หรือระดับบอสอย่างยักษ์กุมภัณฑ์ หรือแม้แต่กับพี่น้องด้วยกันเองก็ตาม ซึ่งจากที่ผมลองสังเกตดี ๆ ผมเห็นหลายรูปที่ดูแล้วคลับคล้ายคลับคลากับหัวเสาในตัวเมืองขอนแก่นจริง ๆ นะ

วัดสนวนวารี วัดร้อยปีที่สร้างจากงบ 200 กับจิตรกรรมสินไซที่กลายเป็นศิลปะบนเสาไฟทั่วขอนแก่น
วัดสนวนวารี วัดร้อยปีที่สร้างจากงบ 200 กับจิตรกรรมสินไซที่กลายเป็นศิลปะบนเสาไฟทั่วขอนแก่น

ทีนี้ แล้วภาพที่ไม่เล่าเรื่องล่ะ มีอะไรน่าสนุกให้ได้ดูบ้างไหม บอกเลยว่า มีครับ

เริ่มต้นกันด้วยทวารบาลผู้รักษาสิมหลังนี้ แต่ทั้งสองไม่ได้ยืนอยู่ตรงประตูอย่างที่เราคุ้นเคย เพราะสิมหลังนี้ไม่มีประตู ทั้งสองคนเลยไปยืนอยู่บนเสาที่อยู่ขนาบประตูทางเข้าแทน แต่สังเกตไหมครับว่าผมใช้คำว่า ‘คน’ ไม่ใช่ ‘ตน’ หรือ ‘องค์’ เพราะทวารบาลที่เฝ้าประตูที่นี่เป็นทหารถือปืน (แต่ไม่ได้แบกปูนไปโบกตึก) ครับ เป็นทหารสวมยูนิฟอร์มมาพร้อมปืนยาวคู่ใจ 

วัดสนวนวารีพัฒนาราม วัดร้อยปีที่สร้างจากเงินบริจาค 200 บาท กับจิตรกรรมสินไซที่กลายไปเป็นศิลปะบนเสาไฟทั่วขอนแก่น

ว่ากันว่ามูลเหตุสำคัญที่ทำให้ทวารบาล ณ วัดแห่งนี้และอีกหลายวัดในภาคอีสานเลือกทหารมายืนแทนที่รูปยักษ์หรือเทวดาตามปกติ มาจากการที่ชาวบ้านในสมัยก่อนเห็นบรรดาทหารและตำรวจที่มาประจำการตรวจตราอยู่ในพื้นที่ แล้วอาจเห็นว่าคนเหล่านี้ดูเข้มแข็ง เหมาะกับบทบาทหน้าที่ทวารบาลมาก ก็เลยหยิบจับมาทำเป็นทวารบาลซะเลย เรียกได้ว่าล้ำสมัยกันแบบสุด ๆ

นอกจากรูปทหารแล้ว ข้างนอกยังมีพระพุทธเจ้าอยู่ด้วย ซึ่งนายยวกประกาศเอาไว้ด้วยข้อความข้าง ๆ รูปเลยว่าแกเป็นคนวาดเอง พร้อมกับคำอธิษฐานขอให้ได้บุญมาก ๆ ด้วย แต่ที่ผมสะดุดตากว่ารูปนี้เห็นจะเป็นผู้ชายไว้หนวดแบบนายจันหนวดเขี้ยว สวมหมวกปีก ยืนเท้าเอวอยู่ ข้าง ๆ รูปนี้มีข้อความเลือน ๆ เขียนว่า 

นา….หา ยังไม่มีภรรยาเลย

ไม่รู้ว่านายคนนี้เป็นคนสั่งให้วาด หรือช่างวาดนึกหวังดีอยากให้มีภรรยารึเปล่า เลยแอบวาดรูปประกาศหาคู่กันบนฝาผนังสิมซะเลย แต่ก็เป็นอะไรที่ดูแล้วขำ ๆ ดีนะครับ

จินตนาการโบราณสู่งานร่วมสมัย

มีคำพูดว่า ‘อดีตเป็นรากฐานของปัจจุบัน’ ผมคิดว่าประโยคนี้จริงมาก ๆ เลยครับ เพราะทุกสิ่งที่มีทั้งปรากฏกันอยู่ในปัจจุบัน ล้วนเป็นสิ่งที่คนโบราณสั่งสม สร้างสรรค์ พัฒนากันมายาวนาน และฝากทิ้งเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็น เป็นหน้าที่ของคนรุ่นเราแล้วล่ะที่จะรับมา ส่งต่อ และพัฒนาให้ก้าวหน้าไป ไม่ว่าจะเป็นวงการศิลปะหรือวงการไหนก็ตาม

 เพราะถ้าขนาดฮูปแต้มฝีมือช่างพื้นบ้านยังให้แรงบันดาลใจแก่คนรุ่นปัจจุบันให้เอาไปต่อยอดสร้างงานศิลปะได้ ใครจะรู้ว่าเราจะหยิบจับอะไรออกมาต่อยอดได้อีกบ้าง น่าสนใจดีจริง ๆ ว่าไหมครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ