“เหี้ย!!”

ผมเชื่อว่านี่เป็นหนึ่งในคำอุทาน (ที่อาจจะหยาบสักหน่อย) ซึ่งทุกคนน่าจะต้องเคยพูดสักครั้งแน่ ๆ โดยเฉพาะเวลาตกใจมาก ๆ ซึ่ง ‘เหี้ย’ หรือ ‘ตัวเงินตัวทอง’ ถือเป็นสัตว์ที่เรารู้จักกันดีกับเจ้าสิ่งมีชีวิตตระกูลตะกวดนี้ แต่ทราบไหมครับว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ปรากฏในเรื่องราวทางพุทธศาสนาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพระชาติของพระพุทธเจ้าในอดีต หรือแม้แต่มีบทบาทในชาดก และชาดกที่มีเจ้าตัวเงินตัวทองนี้ที่ถูกเขียนมากที่สุดในประเทศไทยก็คือชาดกเรื่อง จุลปทุมชาดก และวัดที่เขียนชาดกเรื่องนี้แบบจัดเต็มที่สุดก็คือ ‘วัดหน้าพระธาตุ’ ครับ

วัดโบราณของชาวปักธงชัย

วัดหน้าพระธาตุแห่งนี้ตั้งอยู่ที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2330 ในสมัยรัชกาลที่ 1 เดิมมีชื่อว่า ‘วัดตะคุ’ ซึ่งมีที่มาจากที่ตั้งวัดที่อยู่ที่บ้านตะคุ

วัดหน้าพระธาตุ โคราช วัดสไตล์ภาคกลางในอีสานที่มาพร้อมจุลปทุมชาดกที่มีเหี้ยเป็นพระเอก

เคยได้ยินคำว่า ‘ตะคุ’ ไหมครับ ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะไม่คุ้นหูกับชื่อนี้มาก่อน ผมก็เหมือนกัน เพราะคำว่า ตะคุ เป็นภาษาเก่าของชาวนครราชสีมา หมายถึงหญ้าชนิดหนึ่ง คล้ายกับต้นอ้อหรือหญ้าพง ก่อนที่ต่อมาตั้งชื่อวัดแห่งนี้ใหม่เป็น วัดหน้าพระธาตุ โดยเหตุผลที่ได้ชื่อนี้เพราะว่าข้างหน้าสิม (หมายถึงโบสถ์ของชาวอีสานหรือลาว) ก็มีพระธาตุเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยมสไตล์ล้านช้างอยู่ด้วยนั่นเอง

วัดหน้าพระธาตุ โคราช วัดสไตล์ภาคกลางในอีสานที่มาพร้อมจุลปทุมชาดกที่มีเหี้ยเป็นพระเอก

โบสถ์สไตล์ภาคกลางพบกับภาพวาดแบบล้านช้าง

อาคารหลังที่เด่นที่สุดของวัดก็คือสิม ดูหน้าตาจากข้างนอกแล้วนึกว่าอยู่แถวภาคกลางเลยเพราะหน้าตาคล้ายมาก เป็นสิมหลังไม่ใหญ่ มีมุขยื่นออกมาข้างหน้า มาพร้อมหน้าบันลายดอกโบตั๋นพันธุ์พฤกษา แสดงว่าสิมหลังนี้น่าจะไม่ใช่หลังที่มาพร้อมกับการสร้างวัดใน พ.ศ. 2330 เพราะหน้าบันแบบนี้นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว

วัดหน้าพระธาตุ โคราช วัดสไตล์ภาคกลางในอีสานที่มาพร้อมจุลปทุมชาดกที่มีเหี้ยเป็นพระเอก

ที่น่าสนใจก็คือ พอเราเดินขึ้นบันไดกำลังเข้าไปภายในสิมจะพบกับจิตรกรรมฝาผนังหรือที่ในอีสานเรียกว่า ‘ฮูปแต้ม’ ด้วย ซึ่งการเขียนฮูปแต้มบนฝาผนังด้านนอกเป็นอะไรที่จะไม่เจอในสิมภาคกลาง แต่นิยมมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในประเทศลาว

ไม่ว่าจะอยู่ข้างนอกหรือข้างใน เนื้อเรื่องที่เขียนก็ยังเป็นเนื้อเรื่องสไตล์เดิม คือยังเป็นเนื้อเรื่องเนื่องในพุทธศาสนา ซึ่งบนผนังด้านนอกของสิมหลังนี้เขียนเรื่อง พระมาลัย พระภิกษุที่มีความสามารถเหาะเหินเดินอากาศ ลงนรกได้ ขึ้นสวรรค์ได้ โดยฉากที่เล่าเอาไว้ตรงนี้เป็นฉากที่พระมาลัยขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้วสนทนาธรรมกับพระอินทร์ เพื่อถามหาเทพบุตรว่าองค์ไหนคือพระศรีอริยเมตไตรย ซึ่งเหาะมาพร้อมกับรัศมี พร้อมกันนั้น ช่างเขียนยังได้เพิ่มฉากสุทัสสนเทพนคร เมืองของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อความอลังการด้วย

วัดหน้าพระธาตุ โคราช วัดสไตล์ภาคกลางในอีสานที่มาพร้อมจุลปทุมชาดกที่มีเหี้ยเป็นพระเอก

พระประธาน พระบาท และพระฉาย

พอเข้ามาข้างในก็จะพบกับบรรยากาศเย็น ๆ จากสีน้ำเงินภายใน ทำให้เรารู้ว่าจิตรกรรมฝาผนังชุดนี้น่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับสิมหลังปัจจุบันในสมัยรัชกาลที่ 3 – 4 มาพร้อมกับกลุ่มพระประธานซึ่งมีทั้งของเก่าและของใหม่ โดยพระประธานดั้งเดิมเป็นพระประธานขนาดเล็ก

วัดหน้าพระธาตุ โคราช วัดสไตล์ภาคกลางในอีสานที่มาพร้อมจุลปทุมชาดกที่มีเหี้ยเป็นพระเอก

แต่ส่วนที่น่าสนใจก็คือจิตรกรรมฝาผนังที่อยู่ภายในอาคารหลังนี้ครับ ถึงแม้จะเขียนขึ้นบนแผ่นดินอีสาน แต่เนื่องจากนครราชสีมาเป็นจังหวัดใหญ่ มีการติดต่อกับส่วนกลางที่กรุงเทพฯ บ่อย ดังนั้น ไม่ใช่แค่สิมที่เป็นสไตล์ภาคกลาง แม้แต่ฮูปแต้มก็เป็นสไตล์ภาคกลางเหมือนกัน ทั้งหน้าตาตัวละคร รวมถึงเนื้อเรื่องบนฝาผนังก็เป็นแบบที่นิยมในภาคกลางมากกว่าเป็นเรื่องเล่านิทานพื้นบ้านแบบที่นิยมในภาคอีสาน

อย่างที่ผนังสกัดหลังพระประธานเขียนเนื้อเรื่องที่หาชมได้ยากอย่างรอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์ สำหรับคนไทย เราเชื่อว่าในบรรดารอยพระพุทธบาทที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ประทับด้วยพระองค์เองมีอยู่ 5 แห่งที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษ โดย 2 จาก 5 แห่งนั้นเชื่อว่าอยู่ในประเทศไทย นั่นคือรอยพระพุทธบาทบนเขาสุวรรณบรรพต (เชื่อว่าอยู่ที่วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ที่ผมเคยเขียนถึงไปแล้ว) และรอยพระพุทธบาท 4 รอยที่เมืองโยนก (ซึ่งเชื่อว่าอยู่ที่วัดพระพุทธบาท 4 รอย จังหวัดเชียงใหม่)

แต่ความยากจะอยู่ตรงนี้ละครับ ถ้าดูเผิน ๆ แล้ว แทบแยกแต่ละที่ไม่ออก แต่ก็ยังมีบางแห่งที่พอดูออก เช่น รอยพระพุทธบาทที่เมืองโยนก ที่แม้จะไม่ได้ทำเป็นรอยพระพุทธบาท 4 รอย แต่มีข้อความเขียนว่า ‘เมืองโยนก’ เอาไว้ การันตีว่าใช่แน่นอน หรืออย่างรอยพระพุทธบาทริมแม่น้ำนัมมทาที่ตามตำนานบอกว่าบูชาโดยพญานาคก็มีการวาดพญานาคกำกับไว้ด้วย

วัดหน้าพระธาตุ โคราช วัดสไตล์ภาคกลางในอีสานที่มาพร้อมจุลปทุมชาดกที่มีเหี้ยเป็นพระเอก

ส่วนตรงกลางมีพระพุทธเจ้ายืนอยู่พร้อมจารึกข้อความเรียกว่า ‘พระโบด’ หรือ ‘พระบฏ’ ผืนผ้าเขียนภาพเล่าเรื่องในพุทธศาสนาและภาพที่นิยมก็คือ พระพุทธเจ้ายืน ซึ่งน่าจะหมายถึงพระพุทธฉาย อีกหนึ่งพุทธสถานศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองสระบุรี ซึ่งคนไทยสมัยก่อนจะไปนมัสการพร้อมกันกับรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีครับ

วัดหน้าพระธาตุ โคราช วัดสไตล์ภาคกลางในอีสานที่มาพร้อมจุลปทุมชาดกที่มีเหี้ยเป็นพระเอก

พญาเหี้ยช่วยพระโพธิสัตว์

ส่วนผนังด้านอื่น ๆ นอกจากพระอดีตพุทธเจ้านั่งเรียงแถว พระสงฆ์เพ่งอสุภกรรมฐาน ยังมีเรื่องชาดกด้วย มีทั้งชาดกมาตรฐานที่นิยมในภาคกลางอย่าง ทศชาติชาดก หรือชาดกที่อาจไม่เป็นที่นิยมในภาคกลางเท่าไหร่อย่าง จุลปทุมชาดก ผมเชื่อว่าชื่อของ จุลปทุมชาดก น่าจะเป็นชาดกที่ไม่ค่อยคุ้นหูกันเท่าไหร่ ดังนั้นเรามารู้จักชาดกเรื่องนี้กันสักนิดหนึ่งครับ

จุลปทุมชาดก เป็นหนึ่งในชาดก 550 พระชาติของพระพุทธเจ้า เป็นเรื่องราวของในพระชาติที่พระพุทธเจ้าประสูติเป็นพระจุลปทุม เจ้าชายในเมืองแห่งหนึ่ง มีพี่น้อง 6 พระองค์ อยู่มาวันหนึ่ง ทั้ง 7 พระองค์เสด็จประพาสป่าพร้อมกับพระมเหสี แต่โชคร้ายที่เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารขึ้น เมื่อไม่มีอะไรจะเสวย จะให้เสวยกันเองก็คงไม่ได้ หวยเลยไปออกที่พระมเหสีของแต่ละพระองค์แทน แต่พอจะถึงคิวพระมเหสีของพระจุลปทุม พระองค์ได้นำเอาเนื้อที่ได้รับแบ่งมาก่อนนี้ให้พวกพระเชษฐาไปเสวย

และด้วยความรักพระมเหสี คืนนั้นเลยพากันหนี ระหว่างทาง พอพระมเหสีหิวน้ำก็กรีดเลือดให้เสวยประทังชีวิตไป ระหว่างนั้นได้ไปช่วยเหลือโจรไว้ ปรากฏว่าพระมเหสีไปคบชู้กับโจรป่าและวางแผนสังหารพระจุลปทุมโดยการผลักให้ตกหน้าผา แต่สุดท้ายก็ได้มีพญาเหี้ยมาช่วยชีวิตพระจุลปทุมเอาไว้พร้อมกับพาพระองค์กลับเมืองและได้ครองราชสมบัติ

ชาดกเรื่องนี้ ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในทศชาติชาดก แต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 – 4 ถือเป็นชาดกยอดฮิตประมาณหนึ่งเหมือนกัน อย่างในกรุงเทพมหานครก็มีที่วัดบางขุนเทียนใน ใกล้ ๆ กรุงเทพฯ ก็มีวัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี แม้แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเองก็มีที่วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี เหมือนกัน

วัดหน้าพระธาตุ วัดโบราณของชาวปักธงชัย โคราช ที่มีฮูปแต้มสายภาคกลาง พระพุทธฉาย และเล่าชาดกที่มีตัวเหี้ยเป็นพระเอก

แล้วทำไมชาดกเรื่องนี้ถึงได้รับความนิยมขึ้นมา ทั้งที่มีชาดกอื่น ๆ อีกเป็นร้อยเรื่อง สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะเนื้อเรื่องของชาดกเรื่องนี้ที่พูดถึงความไม่ซื่อสัตย์ของภรรยาที่มีต่อสามี และพอมองไปดูเหตุการณ์สังคมในช่วงนั้นก็จะพบว่า มีคดีความเกี่ยวกับการนอกใจ เล่นชู้กันเยอะ และนี่อาจเป็นสาเหตุให้ชาดกเรื่องนี้ถูกเลือกมาเขียนก็เป็นได้

แต่สิ่งที่ทำให้ฮูปแต้มเรื่อง จุลปทุมชาดก ที่วัดหน้าพระธาตุแห่งนี้พิเศษ ก็คือความยาวของเนื้อเรื่องครับ เพราะที่อื่นเขียนชาดกเรื่องนี้แค่ผนังช่องเดียว แต่ที่นี่ใช้ผนังด้านขวามือของพระประธานทั้งหมดเลย ดังนั้น เนื้อหาบนฝาผนังวัดนี้จึงเขียนเอาไว้เพียบเลย แต่ฉากหลัก ๆ ก็ยังอยู่นะครับ อย่างฉากที่บรรดาเจ้าชายฆ่าภรรยาตัวเองด้วยการเชือด ซึ่งฉากนี้ไม่ค่อยเจอเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่ที่อื่นเป็นฉากที่ย่างพระมเหสี อย่างเช่นที่วัดบางขุนเทียนใน ซึ่งฉากนี้นี่แหละที่ทำให้ผมชอบเรียกชาดกเรื่องนี้ว่า ‘บาร์บีคิวพลาซ่าชาดก’ แต่ฉากเด็ดที่วัดนี้เขียนก็คือฉากที่เจ้าตัวเงินตัวทองที่มาช่วยพระจุลปทุมที่มาพร้อมกับคำบรรยายภาพว่า ‘พระโพธิสัตว์ขี้เหี้ย’ การันตีว่าตัวที่ขี่อยู่เป็นเจ้าตัวนั้นจริง ๆ

วัดหน้าพระธาตุ วัดโบราณของชาวปักธงชัย โคราช ที่มีฮูปแต้มสายภาคกลาง พระพุทธฉาย และเล่าชาดกที่มีตัวเหี้ยเป็นพระเอก
วัดหน้าพระธาตุ วัดโบราณของชาวปักธงชัย โคราช ที่มีฮูปแต้มสายภาคกลาง พระพุทธฉาย และเล่าชาดกที่มีตัวเหี้ยเป็นพระเอก

ความงามในหอไตร

นอกจากภายในสิมแล้ว วัดหน้าพระธาตุยังมีฮูปแต้มอยู่อีกที่หนึ่ง นั่นก็คือภายในหอไตรของวัด แม้ว่าในปัจจุบัน หอไตรกลางน้ำขนาดเล็กหลังนี้จะไม่ได้ใช้งานเป็นที่เก็บตู้ลายทองสำหรับไว้คัมภีร์ใบลานต่าง ๆ แล้ว แต่ในหอไตรยังเป็นสถานที่ที่น่าไปชมเพราะข้างในมีฮูปแต้มอยู่

วัดหน้าพระธาตุ วัดโบราณของชาวปักธงชัย โคราช ที่มีฮูปแต้มสายภาคกลาง พระพุทธฉาย และเล่าชาดกที่มีตัวเหี้ยเป็นพระเอก

แต่เนื่องจากขนาดของหอไตรหลังนี้ที่ค่อนข้างเล็ก ฉากที่เขียนเลยมีไม่มากนักและไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการเท่ากับในสิม ก็จะมีภาพที่เหมาะกับพื้นที่เล็ก ๆ เช่น ภาพเทพชุมนุมหรือลวดลายกระหนกทั่ว ๆ ไป แต่ขนาดที่น้อยก็ยังแอบเอาภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติมาเขียนไว้หน่อย เช่น ตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ตัดพระเมาลี แต่น่าเสียดาย ผนังส่วนที่เขียนพุทธประวัติลบเลือนไปพอสมควร ก็เลยเหลือฉากให้ได้ชมน้อยไปหน่อย

วัดหน้าพระธาตุ วัดโบราณของชาวปักธงชัย โคราช ที่มีฮูปแต้มสายภาคกลาง พระพุทธฉาย และเล่าชาดกที่มีตัวเหี้ยเป็นพระเอก
วัดหน้าพระธาตุ วัดโบราณของชาวปักธงชัย โคราช ที่มีฮูปแต้มสายภาคกลาง พระพุทธฉาย และเล่าชาดกที่มีตัวเหี้ยเป็นพระเอก

นอกจากบนผนังหอไตรแล้ว บนบานประตูก็สวยนะครับ เป็นลายทองที่ไม่เพียงแต่สวยงาม ยังแฝงเอาไว้ด้วยภาพเล่าเรื่องนิทานเรื่อง กากี พร้อมกับฉากเด็ดอย่างพญาครุฑลักพาตัวนางกากี แต่ลายทองไม่ได้มีแค่บนบานประตูนะครับ บนฝาผนังก็มีเหมือนกัน แถมยังมีภาพเด็ดอย่างพระแม่ธรณีบีบมวยผมด้วย

วัดหน้าพระธาตุ วัดโบราณของชาวปักธงชัย โคราช ที่มีฮูปแต้มสายภาคกลาง พระพุทธฉาย และเล่าชาดกที่มีตัวเหี้ยเป็นพระเอก

ความวิจิตรพิสดารที่หาชมได้ยาก

วัดหน้าพระธาตุนี้ แม้จะเป็นวัดเล็ก ๆ แต่อย่าได้ดูถูกนะครับ เห็นไหมครับว่าวัดแห่งนี้มีภาพเขียนที่หาชมได้ยาก ละเอียดลออ และงดงามไม่แพ้วัดไหนเลย และไม่เพียงแค่ฮูปแต้มนะครับ ทั้งสิม ทั้งพระธาตุ ทั้งหอไตร หรือแม้แต่ของอื่น ๆ อย่างทับหลังในศิลปะขอมที่นี่ก็มี หอแจกหรือศาลาการเปรียญไม้ที่แม้จะโทรมไปมาก แต่รูปทรงก็ยังงามอยู่ ถือเป็นอีกหนึ่งมณีของเมืองโคราชที่อยากให้ได้ลองมาสัมผัสสักครั้งครับ ไม่แน่นะ วัดนี้อาจกลายเป็นวัดโปรดไปเลยก็ได้ ใครจะรู้

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ