3 กุมภาพันธ์ 2024
2 K

มีใครบางคนเคยบอกไว้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะรักษาธรรมชาติไว้ได้ ไม่ใช่การเฝ้ามองอยู่ห่าง ๆ ผ่านทางโลกโซเชียลมีเดียหรืออินเทอร์เน็ต แต่คือการเข้าไปสัมผัส รู้จัก และเข้าใจ

และการเดินทางในครั้งนี้เองที่เราจะพาตัวเองออกไปสัมผัส เพื่อรู้จักและเข้าใจธรรมชาติให้มากขึ้น

“ไปดูต้นน้ำแม่เงาไหม เดี๋ยวพาเดินป่า 101 กิโลเมตรไปดู” งบ-ธัชรวี หาริกุล ผู้คลุกคลีกับแม่น้ำแม่เงามามากกว่า 20 ปี เอ่ยชวน

ขณะนั้นได้เพียงแต่คิดในใจ ไปดูต้นน้ำ ทำไมต้องเดินตั้งร้อยกว่าโล 

ถึงอย่างนั้น อีก 4 วันต่อมาฉันก็เก็บกระเป๋าเดินทางมารอขึ้นรถ ไปเดินป่าระยะไกล๊ไกลที่สุดในชีวิต เพื่อไปดูแหล่งกำเนิดแม่น้ำแม่เงาตามคำเชื้อเชิญ

การเดินทางครั้งนี้น่าตื่นเต้นเป็นพิเศษ เพราะนอกจากมีระยะทางไกลมากแล้ว การเตรียมตัวก็ต้องพร้อมทุกสถานการณ์ด้วย ระยะเวลา 9 วัน 8 คืนหลังจากนี้ ทุกคนต้องแบกของเอง และต้องเตรียมของของตัวเองไปให้พร้อม ทั้งเสื้อผ้า เครื่องนอน อาหาร และของใช้จำเป็น รวมทั้งรับผิดชอบและจัดการกับขยะที่ตัวเองนำเข้ามา ตามคอนเซปต์ว่า พึ่งพาตัวเอง เคารพธรรมชาติ ให้เกียรติเพื่อนร่วมทาง 

ที่พิเศษขึ้นมากกว่านั้น คือการเดินป่าครั้งนี้เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้คนในชุมชน เพราะก่อนที่จะรักษาป่าไว้ได้นั้น คนที่อยู่ร่วมกับป่าก็ต้องอยู่ได้เสียก่อน 

เดิมทีเส้นทางเดินป่าระยะไกล 50 กิโลเมตร (50 กิโลเมตรแรก) นั้นเปิดให้เดินมาแล้วราว ๆ 6 ปี เป็นเส้นทางเดินที่ไม่ย้อนกลับมายังจุดเริ่มต้น ใช้เวลา 4 วัน 3 คืน พักค้างคืนที่บ้านสบโขง ซึ่งเป็นปลายทางอีก 1 คืน และใช้เวลานั่งรถกลับออกมาครึ่งวันในวันที่ 5 

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเดินป่าเส้นทางนี้คือราว ๆ เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ จะไม่ร้อนและแล้งจนเกินไป ส่วนฤดูฝนนั้นไม่ควรมา เพราะเส้นทางจะลำบากมาก และมีบางส่วนที่ต้องเดินผ่านไร่นาของชาวบ้าน

ที่ผ่านมามีผู้สนใจศึกษาธรรมชาติมาเดินป่าในเส้นทางนี้อย่างต่อเนื่อง โดยการติดต่อผ่าน Facebook : เส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา ผู้ดูแลเพจนี้และจัดการเรื่องการเดินทางเป็นชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ ที่มารวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน รายได้ทั้งหมดจึงเป็นของผู้นำทางและชุมชนโดยไม่ผ่านคนกลางใด ๆ 

หากใครได้มาเดินป่าที่นี่ จึงเหมือนได้ร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติให้ยั่งยืนไปด้วย

สำหรับที่มาของเส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา เริ่มต้นจากกลุ่มคนที่มีโอกาสไปสัมผัสประสบการณ์เดินป่าในงาน Fjällräven Classic Sweden ระยะทาง 110 กิโลเมตร ณ ประเทศสวีเดน แล้วเกิดความประทับใจ ทั้งความสวยงามของเส้นทาง การได้ซึมซับกับธรรมชาติอย่างยาวนานขึ้น ไม่รีบร้อน ฉาบฉวย และได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น 

เมื่อกลับมาจึงมีแนวคิดว่า ประเทศไทยน่าจะมีเส้นทางเดินป่าระยะไกลให้คนไทยได้เดินบ้าง จึงชวนมิตรสหายซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นร่วมกันออกสำรวจเส้นทางที่น่าจะมีศักยภาพในการท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ และเกิดเป็นเส้นทางที่เรียกว่า ‘แม่เงา 50 กิโลเมตร’ ขึ้นมา 

เป้าหมายของการมีเส้นทางการเดินป่าแห่งนี้มีอยู่ 3 ข้อ นั่นคือหนึ่ง มีเส้นทางเดินป่าระยะไกลให้คนไทยได้เดิน สอง สร้างรายได้ให้คนในชุมชน ให้คนอยู่กับป่าได้โดยไม่รุกป่า และสาม สร้างวัฒนธรรมการเดินป่าที่แข็งแรงให้เกิดในเมืองไทย

เมื่อปลาย พ.ศ. ​2566 มีการสำรวจและเปิดเส้นทางช่วงที่ 2 จากบ้านสบโขง อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปถึงบ้านห้วยยาว อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 51 กิโลเมตร เดิมชาวบ้านใช้เส้นทางนี้ไปมาหาสู่กันระหว่างหมู่บ้าน ผ่านผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแม่เงา

ทริปนี้จึงเป็นครั้งแรกที่รวมทั้ง 2 เส้นทางมาไว้ด้วยกันในคราวเดียว เป็นระยะทางทั้งสิ้น 101 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่เรียกได้ว่าครบครันทุกรูปแบบ ผู้ที่ชื่นชอบการใช้ชีวิตกลางแจ้งไม่ควรพลาด และในอนาคต ‘เส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา ระยะทาง 101 กิโลเมตร’ นี้ อาจจะใช้ในการจัดงาน Fjällräven Thailand Trail อีกด้วย 

เดินป่า 101 กิโลเมตร ต้องเจออะไรบ้าง 

ต่อไปนี้จะเป็นการบอกเล่าถึงสภาพเส้นทางและสิ่งที่ต้องพบเจอระหว่างทาง เพื่อประกอบการตัดสินใจและเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการเตรียมตัว สำหรับผู้ที่สนใจเส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา ทั้งระยะทาง 50, 51 และ 101 กิโลเมตร

เส้นทางช่วงแรกเป็นการไต่ระดับความสูงขึ้นลงไปเรื่อย ๆ ตลอดทาง วันแรกระยะทางไม่ไกลนัก (หลอกให้ตายใจ) เดินเพียง 8 กิโลเมตร แล้วพักที่แคมป์แรก คือม่อนกองข้าวหรือจอลือคี เป็นจุดพักที่บรรยากาศดีมาก เหมาะกับการชมพระอาทิตย์ขึ้น-ตกที่สุดแห่งหนึ่ง 

วันที่ 2 ของการเดินทางเป็นการเดินบนแนวสันเขา มีช่วงที่สูงชันบ้างนิดหน่อย ระยะทางเดินราว ๆ 14 กิโลเมตร ไปที่แคมป์ดอยธง มีความสูง 1,700 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นจุดชมวิวและกางเต็นท์ที่สวยมาก ๆ แห่งหนึ่ง 

ทั้ง 2 แคมป์ที่ผ่านมาไม่มีแหล่งน้ำ การหาน้ำดื่มต้องลงไปตามหุบเขา ซึ่งชาวบ้านคนนำทางจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ แต่ระยะทางที่ต้องเดินลงไปเอาน้ำนั้นค่อนข้างไกลและชัน ทุกคนจึงใช้น้ำกันอย่างประหยัดและเท่าที่จำเป็น สิ่งจำเป็นอีกอย่างที่ควรนำมาด้วย คือเครื่องกรองน้ำแบบพกพา เพื่อกรองน้ำสะอาดไว้ดื่ม ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เป็นอุปกรณ์ที่รับรองว่าจะได้ใช้อย่างเต็มที่ตลอดทั้ง 9 วันแน่นอน

อีกอย่างคือพลั่ว สำหรับขุดหลุมตอนเข้าห้องน้ำ เนื่องจากทุกแคมป์ที่ไปไม่มีห้องน้ำ การทำธุระส่วนตัวไม่ว่าจะถ่ายหนัก ถ่ายเบา จึงควรขุดหลุมแล้วกลบให้เรียบร้อย

แคมป์แรก จอลือคี
แคมป์ที่ 2 ดอยธง
ชาวคณะกับมุมพระอาทิตย์ตก
เห็นจุดหมายของวันพรุ่งนี้อยู่ไกล ๆ

วันที่ 3 เป็นวันที่ต้องเตรียมพร้อมขั้นสุด ก่อนเข้านอนมีคนมาบอกว่า “หลังจากนี้กินให้อิ่ม ๆ นอนให้หลับ ผูกเชือกรองเท้าแน่น ๆ แล้วก็ออกเดินทางเช้า ๆ หน่อย”

แล้วก็จริงดังนั้น วันนั้นเราเดินทางออกจากแคมป์ดอยธงประมาณ 8 โมงเช้า ช่วงแรกเป็นการเดินตามไหล่เขา ช่วงกลาง ๆ เป็นการเดินขึ้นเขาที่บางจุดอาจเรียกได้ว่าปีนขึ้นไป บางช่วงก็ลงดิ่งแบบดิ่งขั้นสุด นอกจากจะเดินยากแล้วยังมีระยะทางไกลที่สุดในทริป คือประมาณ 19 กิโลเมตร ไปจบยังบ้านแม่หาดหรือหมื่อฮะคี ซึ่งกว่าจะมาถึงพระอาทิตย์ก็ใกล้ตกเต็มที

สมดังกับชื่อหมู่บ้าน หมื่อฮะคี ที่แปลว่า ดินแดนอาทิตย์ลับไป อย่างไม่มีอะไรผิดเพี้ยน

คืนที่ 3 นี้เรานอนกันที่โรงเรียนบ้านแม่หาด มีห้องน้ำให้ใช้ เราจะได้อาบน้ำกัน กินอาหารที่ซื้อได้จากชุมชน และมีเครื่องดื่มเย็น ๆ ให้กินกันหนำใจ

วันที่ 4 เดินทางออกจากบ้านแม่หาด ตามห้วยแม่แฮดมาเรื่อย ๆ จนมาบรรจบกับห้วยแม่โขงแล้วลงสู่แม่เงา ระยะการเดินทางวันนี้อยู่ที่ราว ๆ 16 กิโลเมตร เส้นทางไม่ถึงกับหฤโหดเหมือนวันก่อน แต่สิ่งที่มีมากกว่าคือความร้อนที่แผดเผาลงมาจากดวงอาทิตย์อันแรงกล้า ตามเส้นทางที่เป็นถนนดินฝุ่น เป็นคลื่นขึ้นลงเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ก่อนจะตัดเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งได้รับสมญานามว่า ‘ทุ่งสังหาร’ แล้วโซซัดโซเซต่อไปอีกหน่อย ก่อนไปจบที่บ้านสบโขง 

ที่บ้านสบโขงมีร้านค้า ร้านอาหารให้ได้เติมพลังกันอย่างหนำใจ ที่สำคัญคือก๋วยเตี๋ยวที่นี่อร่อยสุด ๆ สำหรับใครที่ต้องการเติมเสบียงในอีก 4 วันที่เหลือก็หาซื้อจากหมู่บ้านนี้ได้

วันที่ 5 เป็นวันเริ่มต้นช่วงครึ่งหลังของการเดินทาง เริ่มออกเดินจากสบโขง เริ่มต้นเพียง 200 เมตร ก็เป็นการข้ามน้ำเลย เปียกกันตั้งแต่เริ่มออกตัว ลืมบอกไปอย่างหนึ่งว่าก่อนออกเดินทางในเช้าวันนี้พวกเราทุกคนรื้อข้าวของในเป้ออกมาแพ็กกันใหม่ โดยแบ่งของลงในกระเป๋ากันน้ำหรือถุงพลาสติกสำหรับกันน้ำอีกชั้นหนึ่งก่อนใส่เป้ เพื่อให้แน่ใจว่าของทุกอย่างจะไม่เปียกระหว่างเดินทาง

เส้นทางนี้เป็นการเดินทวนแม่น้ำแม่เงาขึ้นไปเรื่อย ๆ บางช่วงตัดข้ามน้ำไปมา มีขึ้นเขา-ลงเขาเป็นเรื่องปกติ ช่วงครึ่งหลังของวันเดินผ่านโตรกเขา ภาพเบื้องหน้าสวยงามราวกับหลุดเข้าไปในเทพนิยาย

ส่วนระยะทางในการเดินนั้นก็ไม่ได้น้อยเลยทีเดียว นั่นคือ 18 กิโลเมตร ข้ามน้ำจนขาเปลี้ย ข้ามหลายครั้งเข้าก็เริ่มคิดว่า ทำไมหินมันถึงลื่นขึ้นเรื่อย ๆ กันนะ 

จบวันนี้ที่บ้านทีผะแหล่ แคมป์ของเราเลยหมู่บ้านออกไป เป็นแคมป์ริมน้ำในพื้นที่ทุ่งนา เราว่าแคมป์ที่นี่สวยที่สุดในหลาย ๆ วันที่ผ่านมา ยิ่งบรรยากาศตอนเช้านั้นสวยจับใจจนอธิบายไม่ถูก 

วันที่ 6 เป็นการเดินทางสู่ขุนน้ำเงา หมู่บ้านสุดท้ายที่เราเฉียดเข้าไปคือหมู่บ้านบาเด เดินผ่านถนนดินแดง ๆ ฝุ่น ๆ มีเนินไม่รู้จบ และแดดจ้าฟ้าใสอีกเช่นเคย วันนี้ทั้งวันต้องเดินไต่เขาชัน ๆ ขึ้นไปด้วยระยะทางประมาณ 11.5 กิโลเมตร แคมป์วันนี้เป็นแคมป์กลางป่า ไม่มีแหล่งน้ำ และเป็นคืนที่มีอากาศหนาวเย็นมาก ๆ คืนหนึ่ง

ช่วงเดินป่าครึ่งหลัง ๆ ของวันนี้ พวกเราผ่านป่าที่ค่อนข้างรกทึบ เมื่อก่อนบริเวณนี้เป็นเส้นทางที่ชาวบ้านใช้สัญจรกันระหว่างหมู่บ้าน แต่ระยะหลังไม่ได้ใช้งานแล้ว ทางบางช่วงจึงปิดใช้งานไป และเปิดให้ใช้แค่ตอนที่พวกเราเข้ามา

และด้วยความที่บริเวณนี้เป็นป่าอันอุดมสมบูรณ์ เราจึงได้พบพืชสมุนไพรต่าง ๆ ระหว่างทาง ส่วนพี่ ๆ คนนำทางก็ไม่พลาดที่จะเก็บมาทำเป็นอาหารเย็นเผื่อผู้ร่วมเดินทางที่ต้องการลิ้มรสอาหารพื้นบ้านด้วย

วันที่ 7 เส้นทางที่เดินก็ยังคงมุดป่า มุดดง และเดินตามสันเขาขึ้นลงไม่รู้กี่ลูกต่อกี่ลูก แม้ทางจะรกและเดินยาก ต้องใช้ทักษะทุกอย่าง ทั้งเดิน คลาน ปีน มุด แต่การได้เดินในป่าเย็น ๆ นั้นก็ช่วยถนอมแรงกาย แรงใจเราได้เป็นอย่างดี

วันนี้เราผ่านยอดเขาหนึ่งชื่อ ปอคุโจ แปลว่า ต้นไม้ใหญ่ ซึ่งตามแผนที่ทหารระบุไว้ว่าเป็น ‘ขุนน้ำเงา’ แต่ในความจริงแล้วจุดนั้นคือต้นห้วยขุนน้ำสอง ส่วนที่เป็นขุนน้ำเงาจริง ๆ ต้องเดินไปอีกดอยหนึ่ง ซึ่งในไม่มีดอยนี้ระบุอยู่ในแผนที่ เนื่องจากอยู่บนรอยต่อของแผนที่ 2 แผ่นพอดี

วันนี้เราตั้งแคมป์กันในจุดที่เรียกว่าดอยงง พี่คนนำทางบอกว่ามากี่ครั้ง ๆ ก็หลงอยู่บนดอยนี้ แถมแคมป์คืนนี้ยังลมแรงและหนาวจับใจ

วันที่ 8 ก็ยังคงออกเดินทางกันแต่เช้าเหมือนเดิม สภาพเส้นทางวันนี้คล้ายหลายวันที่ผ่านมา เป็นการเดินในป่าใหญ่ ต้นไม้เยอะแบบอลังการ ขึ้นลงดอยแบบไม่ต้องนับ และไม่ต้องพยายามนับด้วย เพราะมันจะขึ้น ๆ ลง ๆ แบบนี้ไปจนถึงช่วง 5 โมงเย็น เหมือนอย่างเช่นทุกวัน

วันนี้พวกเราพักกลางวันกันในบริเวณที่เรียกว่าขุนน้ำเงา ห่างจากจุดที่เป็นตาน้ำไม่มากนัก ในที่สุดก็มาถึงกันสักที จากจุดเริ่มต้นมาถึงจุดนี้ระยะทางเดินน่าจะราว ๆ 95 กิโลเมตร เป็นการเดินจากปลายน้ำมาถึงต้นน้ำ ผ่านภูมิประเทศอันหลากหลาย พร้อมกับเรื่องราวที่ผ่านเข้ามามากมาย ก่อนไปจบที่จุดหมายปลายทางที่บ้านห้วยยาว อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ 

แคมป์ในคืนที่ 8 อยู่ที่บ้านห้วยยาว เป็นคืนที่เราฉลองกันด้วยอาหารธรรมดาที่สุดอย่างปลากระป๋องที่ไม่ผ่านการปรุงใด ๆ ไข่เจียวแบบหนาที่ทอดในหม้อสนาม น้ำพริกหลากชนิดที่เหลืออยู่ และแกงแพะที่พี่ ๆ คนนำทางแบ่งมาให้ แต่น่าแปลกที่อาหารมื้อนั้นกลับอร่อยสุด ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ 

วันที่ 9 วันสุดท้ายของการเดินทาง หลังจบจากอาหารเช้า เรามีเวลาอ้อยอิ่งกันอีกเล็กน้อย ก่อนที่จะเก็บข้าวของเตรียมออกเดินทางอีก 2 กิโลเมตรเข้าหมู่บ้านห้วยยาว เพื่อขึ้นรถกลับไปที่บ้านสบโขง แล้วต่อรถไปยังแม่สะเรียง

บริการรถรับส่งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดการทริปเดินป่าที่วิสาหกิจชุมชนขุนน้ำเงาเตรียมไว้บริการ ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ นั้นตกลงกันได้

ทิ้งท้ายเอาไว้สักหน่อยสำหรับใครที่สนใจมาเดินป่าระยะไกลในชุมชนขุนน้ำเงา นอกจากจองให้เรียบร้อยแล้ว ยังต้องวางแผนและจัดการชีวิตตัวเองดี ๆ เช่น 

เตรียมอาหารและขนม คำนวณว่าเราต้องกินกี่มื้อ เตรียมไปให้เพียงพอแต่อย่าเยอะเกินไป เพราะของทุกอย่างมีน้ำหนัก เมื่อรวมอยู่ในเป้บนหลัง พอเดินไปสักพัก แค่ขนมสักกล่องก็อยากโยนทิ้งแล้ว 

เสื้อผ้าที่ใช้ อาจเอาไปแค่ชุดสำหรับเปลี่ยนตอนเข้านอน ส่วนชุดเดินป่านั้นใส่ซ้ำได้ ควรเลือกชุดที่น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี เวลาเปียกเหงื่อหรือเปียกน้ำจะได้แห้งไวและไม่มีกลิ่น 

รองเท้าก็เป็นอีกสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมาก ๆ นอกจากใส่สบายแล้ว ยังต้องเลือกให้เหมาะกับการเดินทางด้วย เพราะเราจะต้องแบกของหนัก รองเท้าจึงควรต้องรับน้ำหนักได้ดี

อุปกรณ์การนอนก็ควรเลือกที่น้ำหนักเบา กันลม กันฝนได้ดี 

อุปกรณ์ประกอบอาหาร ใช้ชุดหม้อและเตาชุดเล็กก็เพียงพอ (แก๊สกระป๋องขนาด 210 กรัมนั้นเพียงพอตลอดทริป) 

อุปกรณ์อื่น ๆ ที่ควรมี เช่น ชุดยา พลั่ว (สำหรับขุดหลุมถ่ายหนัก) ถุงกันน้ำ ถุงขยะขนาดพอดีและไม่บางจนเกินไป เครื่องกรองน้ำแบบพกพา Trekking Pole ไฟฉาย ทิชชู (เผื่อสำหรับเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ประกอบอาหารด้วย) หมวกปีกรอบ (ถ้าไม่มีแย่เลยนะ เพราะแดดร้อนมาก) ขวดน้ำ (สำหรับเติมน้ำดื่มเพื่อใช้ระหว่างทางและเติมน้ำในแคมป์) ฯลฯ

เตรียมของทุกอย่างให้พร้อม จัดลำดับในเป้ดี ๆ ดูแลเท้าดี ๆ อย่าให้บอบช้ำหรือบาดเจ็บ เพียงเท่านี้การเดินป่าศึกษาธรรมชาติในเส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงาก็จะเป็นการเติมพลังธรรมชาติที่เต็มอิ่มและน่าประทับใจที่สุดทริปหนึ่ง

และที่สำคัญ การเดินป่าในครั้งนี้จะมีส่วนสร้างกำลังใจ สร้างรายได้หล่อเลี้ยงคนในชุมชน เพื่อที่พวกเขาจะได้ดูแลผืนป่าอันเป็นเสมือนบ้าน และแม่น้ำแม่เงาอันเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนได้อย่างยั่งยืน

ติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ที่ Facebook : เส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

เกศรินทร์ เจริญรักษ์

เกศรินทร์ เจริญรักษ์

ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแมกไม้