เมื่อลมหนาวพัดมาให้สดชื่น ภาคเหนือดูเหมือนจะดึงดูดให้คนเมืองอย่างเราพาตัวเองไปใช้ชีวิตสักวันสองวัน ก่อนกลับเข้ามาทำงานต่อในเมืองหลวงที่สับสนและวุ่นวาย
เชียงใหม่และลำปางเป็นเมืองแรก ๆ ที่เรานึกถึง ทุกครั้งที่นั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปพักผ่อนที่เชียงใหม่ เราจะต้องแบ่งไว้ 1 วัน สำหรับการตีตั๋วรถไฟท้องถิ่นจากเชียงใหม่ออกมาเที่ยวจังหวัดใกล้เคียง ลำพูนบ้าง ขุนตานบ้าง ลำปางบ้าง เป็นการเที่ยวแบบวางแผนเอง เที่ยวตามใจตัวเอง แล้วก็ไปไหนมาไหนด้วยเท้าและใช้สายตามองสถานที่เหล่านั้นเอง แบบไม่มีใครเล่าเรื่องอะไร นอกจากเปิดหาอ่านในกูเกิลระหว่างเที่ยวไปพลาง ๆ
เมื่อช่วงต้น พ.ศ. 2564 เราได้ขึ้นไปทำงานที่เชียงใหม่เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ได้รู้มาว่ามีการหารือกันของหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษาในการพัฒนาการท่องเที่ยวกลุ่มภาคเหนือตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ผ่านเส้นทางรถไฟสายเหนือที่เรียกได้ว่ามีเสน่ห์สุด ๆ และเชื่อมโยงทั้ง 3 จังหวัดเอาไว้
การตั้งไข่ในตอนนั้นเริ่มจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางและหน่วยงานต่าง ๆ ในท้องถิ่น ที่อยากทำให้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ เกิดขึ้นจริง โดยใช้รถไฟซึ่งเป็นทรัพยากรการเดินทางสำคัญผ่านเรื่องเล่า ผ่านเส้นทางที่น่าสนใจ การกระตุ้นเศรษฐกิจจากชุมชน รวมถึงประวัติศาสตร์การถือกำเนิดระบบคมนาคม ที่ทำให้กรุงเทพฯ กับเชียงใหม่เดินทางถึงกันอย่างง่ายดายขึ้นมาเป็นจุดขาย
เวลาผ่านไปร่วมปี เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เราได้รับเชิญไปร่วมเดินทางกับขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษ ซึ่งเป็นผลผลิตมาจากงานวิจัยดังกล่าว
ทริปนี้ชื่อว่า ‘ล้านนา Modernization’
ขอบอกตรงนี้ก่อนว่า รถไฟขบวนนี้ยังไม่ให้บริการจริง ยังอยู่ในช่วงทดลอง และอยู่ในช่วงพัฒนา จึงมีความไม่ลงตัวในบางส่วน แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวลดลง

การเดินทางเริ่มต้นที่สถานีเชียงใหม่ ซึ่งเป็นปลายทางของทางรถไฟสายเหนือ รูปทรงของสถานีค่อนข้างโดดเด่นด้วยลักษณะไทยประยุกต์ มีหอนาฬิกา เดิมทีอาคารสถานีไม่ได้เป็นรูปแบบอย่างที่เห็น ยุคแรกที่มีการสร้างทางรถไฟมาถึงที่นี่ สถานีเชียงใหม่ถูกเรียกลำลองว่าสถานี ‘ป๋ายราง’ หมายความว่าสถานีปลายรางนั่นแหละ อาคารสถานีเป็นคอนกรีต มีความเป็นตะวันตกอย่างเด่นชัด ด้วยอิทธิพลจากการวางรากฐานของรถไฟจากเยอรมนี แสดงออกในรูปแบบของงานศิลปะและสถาปัตยกรรมต่าง ๆ เฉกเช่นเดียวกับสถานีรถไฟรายทาง เช่น อุตรดิตถ์ บ้านปิน และนครลำปาง
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานีรถไฟเชียงใหม่โดนระเบิดราบ จึงได้ย้ายสถานีรถไฟปลายทางไปอยู่ที่สถานีป่าเส้า จังหวัดลำพูน ทดแทนอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อสร้างอาคารหลังใหม่เสร็จ ก็ย้ายกลับมาใช้สถานีเชียงใหม่เป็นปลายทางดังเดิม


รถไฟดีเซลรางความยาว 2 ตู้ จอดอยู่ในชานชาลาของสถานีรถไฟเชียงใหม่ ภายนอกมันคือรถไฟปกติรุ่นแดวูที่ใช้งานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539 ในฐานะรถด่วนพิเศษนั่งปรับอากาศ เมื่อขึ้นไปบนรถ สิ่งแรกที่เห็นคือการประดับตู้รถไฟที่ไม่ชินตา ไม่คุ้นตา
มันตกแต่งโดยมีลักษณะเหมือนคานไม้แกะสลักพาดไปตามแนวเพดาน ซึ่งดูออกว่าเป็นลวดลายล้านนา มีไฟซ่อนฝ้าสีเหลืองทอง ขอบของที่วางสัมภาระถูกซีลด้วยสติกเกอร์สีน้ำตาลลายไม้แกะสลักล้านนา แต่ที่ดูโดดออกมามากที่สุดคงเป็นพื้นพรมสีแดงบนพื้น และผ้าคลุมเบาะสีสันบาดตาขลิบทอง
ทีมงานเล่าให้ฟังว่า ตู้รถไฟที่มีลักษณะการตกแต่งแตกต่างกัน คือ ตู้ลำปางและตู้ลำพูน
ตู้ลำพูน ลายสลักบนเพดานเป็นลายหงส์ทองจากวัดพระธาตุหริภุญชัย และตู้ลำปางลายสลักบนเพดานเป็นรูปหม้อปูรณฆฎะ จากวิหารวัดปงยางคก อำเภอห้างฉัตร ซึ่งเป็นระดับมาสเตอร์พีซ
ส่วนผ้าคลุมนั้นมีตราของโครงการเป็นตัวอักษรล้านนาอยู่ภายใต้ผ้าคลุม ได้แรงบันดาลใจมาจากความเป็นตะวันตกในยุคที่แผ่อิทธิพลเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาตั้งกงสุลในเชียงใหม่ จึงได้แรงบันดาลใจเป็นเหมือนเบาะนั่งหรูหราสไตล์ตะวันตก



ก่อนรถไฟจะออก เราได้รับถุงของที่ระลึกซึ่งด้านในมีสิ่งของน่ารักอยู่ในนั้น อย่างแรกคือตั๋วรถไฟ ตั๋วรถราง และตั๋วรถม้า ได้แรงบันดาลใจมาจากตั๋วรถไฟรุ่นเก่าที่เป็นการ์ดแข็ง มีภาพวาดรถไฟ รถราง และรถม้า ดูแล้วเป็นการวาดมือปรากฏอยู่ในตั๋วนั้น นอกจากนั้นแล้วยังมีสถานที่สำคัญที่ผูกเข้าด้วยกัน เช่น สะพานทาชมภูของจังหวัดลำพูน และสะพานรัษฎาภิเษกของจังหวัดลำปาง ซึ่งทั้งหมดเป็นสัญลักษณ์ของการเดินทาง
สิ่งที่สองคือ Attractive Guide หน้าตาน่ารัก เป็นภาพวาดของสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง พร้อม QR Code ให้เราได้สแกนดูประวัติและเรื่องราวไประหว่างการเดินทางได้ ถ้าลองมองดูดี ๆ ภาพวาดมือนั้นถือว่าประณีตเลยทีเดียว
8 โมงกว่า ๆ รถไฟก็เคลื่อนตัวออกจากสถานีเชียงใหม่ แดดวันนี้ดีมาก และอากาศก็เย็นเช่นกัน เรานั่งด้านทิศตะวันออกที่โดนแดดเต็ม ๆ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าร้อนอะไร เวลา 20 นาทีจากเชียงใหม่ไปลำพูนเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ที่คณะผู้จัดงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางได้ทักทายนักท่องเที่ยว
สักพักเจ้าหน้าที่บริการบนรถซึ่งเป็นเหล่าคณาจารย์และน้อง ๆ นักศึกษาที่อาจารย์พามาฝึกประสบการณ์จริงบนรถไฟก็นำอาหารเช้ามาเสิร์ฟ เป็น Snack Box ทำลวดลายกล่องเป็นรูปสถานีรถไฟนครลำปาง สถานีที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่สวยงามเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย และจะเป็นปลายทางของวันนี้ด้วย แซนด์วิชในกล่องรสชาติอร่อยดีทีเดียว และรู้สึกได้ว่ารสไม่ค่อยคุ้นเคย มันไม่ใช่แซนด์วิชรสชาติพิมพ์นิยม เนื้อสัตว์ที่เป็นไส้มีรสความเป็นท้องถิ่นแบบอาหารเหนือออกมาด้วย ซึ่งเราก็ไม่ได้คำตอบนะว่าคืออะไร แต่อร่อยจนพี่ที่ไปด้วยกันต้องแบ่งมาให้กินอีกชิ้นหนึ่งเลย ยิ่งกินคู่กับชาร้อนในวันที่อากาศเย็นสบายบนตู้รถไฟนี่มันที่สุดไปเลยล่ะ


ลำพูน
รถไฟถึงสถานีลำพูนในอีก 20 นาทีถัดมา ที่นี่เป็นสถานีรถไฟประจำจังหวัดขนาดเล็ก มีทางรถไฟในสถานี 4 ทาง สถานีเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวยาวขนานไปกับชานชาลาที่ไม่ได้ยาวมาก บรรยากาศถือว่าร่มรื่นด้วยต้นไม่ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ทั้งสองฝั่งสถานี และชานชาลากลางก็มีซุ้มไม้ประดับ บวกกับการเป็นอาคารไม้ที่เรียบง่าย ทำให้สถานีรถไฟลำพูนถือว่าเป็นมิตรและน่าใช้งานมากทีเดียว
เราขึ้นรถรางเพื่อเดินทางต่อ ระหว่างทางไกด์ท้องถิ่นก็ได้บรรยายเกี่ยวกับเมืองลำพูน เล่าถึงความเป็นมา ประวัติพระนางจามเทวี เรื่องเล่าของหริภุญชัยและเชียงใหม่ จนเราใกล้มาถึงวัดพระธาตุหริภุญไชยไกด์ก็ถามว่า “ใครรู้บ้างว่าพระธาตุประจำปีเกิดของเราคือที่ไหน” เราเซอร์ไพรส์เหมือนกันที่เรื่องพระธาตุประจำปีเกิดนั้นถือกำเนิดในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง (นึกว่ามีมาตั้งนานแล้ว) และวัดพระธาตุหริภุญชัยแห่งนี้ก็เป็นพระธาตุประจำปีระกา

วัดพระธาตุหริภุญชัยต้อนรับพวกเราด้วยซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนประดับลวดลาย มีสิงห์ไทยสีแดงยืนอยู่ด้านหน้า ประตูซุ้มเป็นยอดชั้น ๆ ถ้าสังเกตดี ๆ ทางเข้าประตูมีหม้อดอกไม้ที่เรียกว่า ‘หม้อปูรณฆฏะ’ ในไทยเรียกว่าหม้อดอก เป็นสัญลักษณ์ของความร่มเย็น ความสมบูรณ์ และพระเมตตาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม้เลื้อยที่แผ่ออกมาจากหม้อนั้น หมายถึงสัญลักษณ์แห่งความงอกงามและการสร้างสรรค์ ตามคติล้านนาจะมีการจัดหม้อดอกเป็นสิ่งบูชาพระพุทธรูปตามหิ้งพระ ซึ่งลวดลายของหม้อปูรณฆฎะก็ปรากฏให้เห็นเป็นลวดลายแล้วบนรถไฟตู้ที่เรานั่งนั่นเอง


ภายในพระบรมธาตุหริภุญชัยบรรจุพระเกศบรมธาตุบรรจุในโกศทองคำ ประดิษฐานในพระเจดีย์ ในทุกทิศมีฉัตรประจำ 4 มุม ซึ่งตรงนี้ไกด์บอกไว้ว่าฉัตรทั้ง 4 นั้น มีฉัตรดั้งเดิมเหลือแค่ฉัตรเดียว คือฉัตรที่อยู่บริเวณด้านหน้าวิหารพระพุทธบาทสี่รอย นอกนั้นเป็นของที่บูรณะในภายหลังทั้งหมด เราได้เดินไปดูแล้ว มีลักษณะที่แตกต่างจากฉัตรอื่นจริง ๆ



เรามีเวลาละเมียดละไมในวัดอยู่ประมาณเกือบชั่วโมง ก่อนจะขึ้นรถรางคันเดิมกลับไปสถานีรถไฟลำพูนเพื่อขึ้นรถไฟต่อไปลำปาง
อากาศเริ่มอุ่นขึ้น แอร์ในรถไฟยังเย็นเหมือนเดิม จนต้องเปิดผ้าม่านเพื่อรับแสงแดดให้รู้สึกอบอุ่นอยู่หน่อย ๆ
หลังจากรถไฟออกไปชั่วครู่ สองข้างทางก็เริ่มเปลี่ยนจากที่ราบกลายเป็นภูเขา รถไฟเริ่มลดความเร็ว และคดโค้งไปตามไหล่เขาที่เป็นปราการธรรมชาติกั้นลำพูนกับลำปาง ระหว่างนี้ไกด์บนรถเปลี่ยนมือมาเป็นอาจารย์ประจำคณะการท่องเที่ยว เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘อาหารเหนือ’ ที่หลากหลายมาก ๆ ตามแต่ท้องที่ รวมถึงความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ที่รังสรรค์ออกมาเป็นอาหารพื้นถิ่นชนิดต่าง ๆ รวมถึงอาหารพื้นเมืองล้านนาที่บางอย่างเคยลิ้มลองรส และบางอย่างยังไม่เคยลอง (รวมถึงไม่กล้าลอง)

อาหารเหนือเต็มไปด้วยขนบธรรมเนียม การผสมผสานวัฒนธรรมดั้งเดิมกับวัฒนธรรมของคนหลากหลายชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือที่เรียกกันว่า ‘คนเมือง’ ซึ่งอาหารก็เป็นตัวสะท้อนภูมิปัญญา ความเป็นอยู่ สะสมเป็นองค์ความรู้และถ่ายทอดมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
เรื่องราวของแกงฮังเล แกงโฮะ ลาบ หลู้ น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม ไส้อั่ว ถูกเล่าเรื่อย ๆ อย่างเพลิดเพลินและเรียกน้ำย่อยแบบสุด ๆ โดยเฉพาะเรื่องลาบที่ผูกโยงไปถึงเรื่องการแต่งงานเข้าเรือนของฝ่ายหญิง และในงานบุญต่าง ๆ จะต้องมีการหาเนื้อมาทำลาบ บ้านไหนก็มีสูตรของบ้านนั้น ทำให้ลาบเป็นอาหารที่มีคาแรกเตอร์เฉพาะถิ่นแตกต่างกันไป
เผลอแป๊บเดียวเมนูอาหารก็ปรากฏอยู่ตรงหน้าตัก วันนี้มีให้เลือกเป็นอาหารเบสิกของภาคเหนือที่ทุกคนน่าจะรับประทานกันได้ เราเลือกเมนูหมูไป ในกล่องนั้นอัดแน่นมาด้วยข้าวสวยร้อน ๆ ไส้อั่วหมู หมูยอ แกงฮังเล ลาบหมู สลัดผัก
มื้ออาหารกลางวันเป็นสิ่งที่เราประทับใจที่สุด มันคือ Lunch Box ธรรมดา ๆ ที่ไม่ธรรมดา เพราะนอกจากเป็นอาหารเมืองแล้ว ยังถูกเสิร์ฟในช่วงที่ดีที่สุดของการเดินทาง นั่นคือสถานีรถไฟขุนตาน
นอกหน้าต่างคือต้นไม้สูงใหญ่ของอุทยานแห่งชาติ ผ่านอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย (ในตอนนี้) การตักข้าวพร้อมกับข้าวเข้าปาก แล้วมองดูนอกหน้าต่างที่เต็มไปด้วยต้นไม้ผลัดใบ มีดอกไม้สีชมพูแซม ผ่านสะพานข้ามหุบเขาลึกเหมือนรถไฟลอยอยู่บนฟ้า เสียงดนตรีพื้นเมืองเปิดคลอเบา ๆ ให้บรรยากาศการกินข้าวบนรถไฟของแฟนรถไฟเติมเต็มแบบที่รถไฟนำเที่ยวขบวนอื่น ๆ ของการรถไฟไม่เคยมีให้มาก่อน บรรยากาศแบบนี้เราเพิ่งได้รับเป็นครั้งแรกจริง ๆ ในประเทศไทย บนรถไฟไทย

ลำปาง
รถไฟถึงลำปางในเวลาเที่ยง อากาศข้างนอกต้องบอกว่าต่างจากเมื่อเช้าอย่างสุดขีดเหมือนไม่ได้อยู่ภูมิภาคเดียวกัน
สถานีนครลำปางยืนต้อนรับพวกเราอย่างเป็นมิตร อาคารสถานีที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบยุโรปและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ที่เรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของเมืองลำปาง และเป็นหลักฐานความก้าวหน้าด้านการคมนาคมในยุคนั้น ทำให้ชุมชนต่าง ๆ ขึ้นอยู่รายรอบสถานีรถไฟ แม้ว่าสถานีนครลำปางจะอยู่ห่างจากใจกลางเมืองมาพอสมควร นั่นจึงทำให้เกิดระบบขนส่งมวลชนขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพื่อรับคนจากสถานีรถไฟไปชุมชน สิ่งนั้นคือ ‘รถม้า’
นี่คือครั้งแรกที่เราได้นั่งรถม้า ตื่นเต้นเป็นบ้า


เขาให้เลือกได้ 2 ทางเลือก คือรอบเล็กกับรอบใหญ่ รอบเล็กจะวิ่งแค่พื้นที่ชุมชนสบตุ๋ยย่านสถานีรถไฟ ส่วนรอบใหญ่จะได้ไปไกลถึงย่านเมืองเก่า แน่นอน คนอย่างเราต้องเลือกวงใหญ่อยู่แล้ว
ม้าที่พาเราเดินรอบเมืองวันนี้ชื่อ ‘วันชนะ’ เป็นม้าหนุ่มอายุ 4 ขวบ พี่คนคุมบังเหียนเล่าว่า ที่ชื่อวันชนะเพราะน้องเกิดในวันที่บอลไทยชนะเกาหลีพอดี เลยตั้งชื่อว่าวันชนะ เอ้อ มีที่มาดีแฮะ
รถม้าของลำปางเป็นแบบเปิดประทุน มีหลังคา นั่งได้ประมาณ 3 คน ม้าทุกตัวจะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันการมองเห็นด้านข้างเพื่อไม่ให้เขาตกใจ ม้าจะมีมุมมองแค่ด้านหน้า และต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้คุมบังเหียนในการลากรถม้าไปตามเส้นทาง ถ้าปกติแล้วเราอยากนั่งรถม้าที่ลำปางจะได้เฉพาะแค่การท่องเที่ยวเท่านั้น เพราะการมาถึงของรถยนต์ที่สะดวกกว่า ทำให้รถม้าซึ่งเคยเป็นระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดลดความสำคัญลง ราคาค่าบริการอยู่ที่ชั่วโมงละ 300 บาท
วันชนะพาเราเคลื่อนที่ไปตามถนน เสียงเกือกม้ากระทบกับถนนเป็นจังหวะ จะว่าไปก็เหมือนกับเสียงล้อรถไฟกระทบรางเหมือนกันนะ เส้นทางที่เริ่มต้นนั้นมุ่งตรงออกมาจากสถานีรถไฟไปทางวัดศรีรองเมือง ซึ่งเป็นวัดพม่าที่สวยงามมาก แล้วค่อย ๆ ไปตามถนนผ่านย่านเมืองเก่า ข้ามแม่น้ำวังที่แถวหลังจวนแล้วไปสุดที่วัดปงสนุก

วัดปงสนุก เป็นธรรมสถานที่ได้รับรางวัล Award of Merit จาก UNESCO ในปี 2008 ที่นี่มีเสาหลักเมืองเสาแรกของเมืองลำปาง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางอีกแห่งที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราว ๆ พ.ศ. 1223
เมื่อเดินขึ้นบันไดไปแล้วก็จะพบกับวิหารพระเจ้าพันองค์ เป็นวิหารไม้ทรงจตุรมุข การตกแต่งเป็นศิลปะผสมผสานกันระหว่างศิลปะจีน พม่า พื้นเมืองล้านนา และรัตนโกสินทร์ อายุกว่า 120 ปี หลังคามีการซ้อนลดหลั่นไปเป็นชั้นสวยงามมาก



รถม้าเดินทางต่อมาถึงบ้านหลุยส์ ที่นี่เป็นอีกหนึ่งที่ที่เราอยากมาเยี่ยมนานแล้ว ตอนนั่งรถไฟมาเที่ยวลำปาง เคยปั่นจักรยานจากที่พักตรงสถานีรถไฟเพื่อมาที่นี่ แต่ปรากฏว่ามาไม่ถึงเพราะไกลและปั่นจักรยานแม่บ้านต่อไปไม่ไหว โอกาสนี้เลยได้ลงมาดูใกล้ ๆ
บ้านหลุยส์เป็นคฤหาสน์เก่าแก่อายุนับร้อยปี เจ้าของคือ นายหลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ นายห้างค้าไม้ชาวอังกฤษ ลูกชายของ แอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักยุครัชกาลที่ 4 เมื่อเวลาผ่านไปบ้านก็ถูกทิ้งร้าง เป็นที่น่าเสียดายหากบ้านโบราณไม่ได้รับการอนุรักษ์และบำรุงรักษา เครือข่ายรักษ์ลำปางเมืองเก่าได้ชุบชีวิตบ้านหลุยส์ขึ้นมาด้วยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ และบำรุงรักษาสภาพให้สวยงามเหมือนเดิมมากที่สุด และทำให้บ้านเก่ากลับมาเปล่งประกายอีกครั้ง ซึ่งเราดูด้วยสายตาตัวเองแล้ว ต้องบอกว่าบ้านหลังนี้สวยมากจริง ๆ


ขุนตาน ทาชมภู
รถม้าพากลับมาถึงสถานีนครลำปางเพื่อเดินทางกลับเชียงใหม่
ระหว่างทางมีการเสิร์ฟของกินเล่นพื้นถิ่นที่เด่นดังของลำปาง นั่นคือข้าวแต๋นน้ำแตงโม และเครื่องดื่มที่ทั้งชื่อและรสชาติแปลกมาก นั่นคือชาผักเชียงดา สาบานว่าเพิ่งเคยได้ยินครั้งแรก ก่อนจะดื่มนั้นวิทยากรประจำรถบอกว่ารสชาติและกลิ่นมันเฉพาะตัวมาก คุณสมบัติของมันเป็นสมุนไพรปรับสมดุล ลดน้ำตาล และด้วยรสชาติที่ไม่เชิญชวนให้กินเลย จึงได้เพิ่มความหวานเข้าไปด้วยหญ้าหวาน
เขาพูดมาขนาดนี้แล้ว ไม่ลองก็คงไม่ได้
จิบแรก…. อื้ม ตามที่เขาว่าจริง ๆ กลิ่นและรสที่ค่อนข้างเขียวอย่างชัดเจนตีรวนอยู่ในปากและโพรงจมูก เจือความหวานจาง ๆ ของหญ้าหวานจนต้องรีบงับข้าวแต๋นเข้าปาก เอ้า ดันผสมกันแล้วอร่อยเฉย กินไปกินมา เอ้า หมดเฉย ถือว่าก็เป็นการทลายเซฟโซนด้านการกินของตัวเองไม่เบานะครับ

ขบวนรถไฟวิ่งเลาะตามสันเขามาเรื่อย ๆ แดดบ่ายสีทองทอดผ่านเงาไม้ลอดเข้าหน้าต่างมา จนกระทั่งความมืดสนิทเข้ามาเยือนอย่างฉับพลันเมื่อรถไฟเข้าอุโมงค์ขุนตาน ชั่วอึดใจที่วิทยากรเล่าเรื่องอุโมงค์ ความสว่างก็กลับมาเยือนอีกครั้ง พร้อมการจอดสนิทของรถไฟให้เราลงไปดูอุโมงค์รถไฟกันอย่างใกล้ชิด
ขุนตานก็ยังเป็นขุนตาน สถานีเล็ก ๆ ในโอบกอดของภูเขาที่เย็นฉ่ำตลอดเวลา คณะนักท่องเที่ยวเดินตามทางรถไฟไปที่หน้าอุโมงค์ บ้างก็ถ่ายรูป บ้างก็สักการะเจ้าพ่อขุนตาน
อีกไม่กี่ปีข้างหน้าอุโมงค์ขุนตานก็จะไม่ได้เป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในไทยอีกต่อไป เมื่ออุโมงค์ทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ถนนจิระ ที่มีความยาว 5.8 กิโลเมตร และ 1.4 กิโลเมตร สร้างเสร็จ ทำให้อุโมงค์ขุนตานตกลงไปอยู่อันดับที่ 3 และยิ่งกว่านั้น เมื่ออุโมงค์ของทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย ที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เสร็จปั๊บ ก็จะตกอันดับลงไปอีก
ยังไงแล้วแต่ ขุนตานก็เป็นตำนานของอุโมงค์ที่สร้างด้วยแรงงานในระยะเวลายาวนานกว่าทศวรรษ และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในการทะลุผ่านภูเขา เพื่อทำให้การคมนาคมทางรางจากกรุงเทพฯ มายังเชียงใหม่เดินทางได้โดยสะดวกอยู่ดี


เรามีเวลาที่ขุนตานไม่นานมาก เพราะต้องจบ Finale ที่สะพานทาชมภู ซึ่งที่ผ่านมาเป็นแค่ทางผ่านมาโดยตลอด และไม่ได้จอดลงไปชมความสวยงามของสะพาน รถไฟขบวนนี้จึงได้รับโอกาสพิเศษนั้นในการสัมผัสกับสะพานทาชมภูอย่างใกล้ชิด
สะพานทาชมภูคือสะพานโครงคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 ใน 2 แห่งของสะพานรถไฟในประเทศไทย ที่แรกอยู่ที่ทาชมภู ตีนดอยขุนตาลนี่แหละ ส่วนอีกที่คือสะพานข้ามคลองพระโขนงของเส้นทางรถไฟสายโรงกลั่นบางจากที่กรุงเทพฯ เดิมทีสะพานนี้จะถูกสร้างด้วยเหล็ก แต่ด้วยสภาวะสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้หาเหล็กมาสร้างไม่ได้ จึงต้องออกแบบใหม่ให้เป็นโครงคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งโดนปรามาสว่าถล่มแน่นอนเพราะคอนกรีตมีความอ่อนตัวไม่เหมือนเหล็ก แต่สุดท้ายใครเล่าจะคิดว่าสะพานนี้จะอยู่มาร้อยปีแล้ว และกลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของลำพูนในที่สุด คนออกแบบจะต้องภูมิใจ
รถไฟลงจากดอยขุนตาลและจอดสนิทที่ปลายสะพานฝั่งหนึ่งให้ตัวรถเข้าโค้งเล็กน้อย เพื่อที่จะได้ถ่ายภาพอย่างสวยงาม ในขณะที่คนอื่นกำลังชื่นชมความงามของสะพานนั้น เราผู้ซึ่งได้เล็งมาตั้งแต่เช้าแล้วว่าจะถ่ายรูปแบบไหน เลยเลือกเดินเลยไปทางหัวขบวนเป็นร้อยเมตร เพื่อจะได้รูปเสี้ยวหนึ่งอยู่ใต้ต้นแคแสดที่ออกดอกสีแสด ตัดกับสีฟ้าใสของท้องฟ้ายามบ่ายแก่ สีขาวของสะพาน สีเหลืองของหน้ารถไฟ และสีเขียวของต้นไม้


เราพอใจกับภาพที่ได้ ไม่ใช่โอกาสง่าย ๆ เลยที่จะได้เห็นรถดีเซลรางแดวูจอดสนิทตรงสะพานตอนบ่ายแก่ ๆ ที่แสงค่อนข้างออกส้ม พร้อมดอกแคแสดที่สดใสขนาดนี้ เป็นภาพส่งท้ายทริปที่เรารู้สึกว่าน่าจะเป็นภาพที่ดีที่สุดของวันนี้ที่เราถ่ายได้ จนเริ่มหมดเวลา ทุกคนก็ทยอยขึ้นรถไฟและพักผ่อนอีกชั่วโมงหนึ่งก่อนจะถึงสถานีเชียงใหม่
ด้วยความที่เราต้องกลับกรุงเทพฯ วันนั้นเลย ถ้านั่งต่อถึงเชียงใหม่ เราคงไม่ทันรถไฟเที่ยวสุดท้ายเข้ากรุงเทพแน่ ๆ เราจึงลงที่สถานีลำพูน เพื่อต่อรถด่วนพิเศษอุตราวิถีขบวนใหม่เอี่ยมเข้ากรุงเทพฯ
เราขอบคุณกับผู้ที่จัดงานนี้ขึ้นมา มันเป็นงานที่ดีมาก ๆ แม้ว่าจะมีบางอย่างที่ต้องปรับเพื่อให้เข้าที่เข้าทาง โดยเฉพาะการตกแต่งรถที่เรามองว่าอาจไม่จำเป็นมากขนาดนั้น เพราะเนื้อหาต่าง ๆ ดีอยู่แล้ว เพียงแค่อาจต้องทำให้รถไฟโมเดิร์นและลงตัวด้วยความเรียบง่ายมากกว่า แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้อรรถรสในการท่องเที่ยวในวันนี้ลดลงเลย
เราหวังว่าตลอด 1 วันนี้ที่เราได้เดินทางกับรถไฟขบวนพิเศษจะไม่ได้จบแค่นี้ มันสมควรได้รับการต่อยอด จนกลายเป็นรถไฟท่องเที่ยวประจำภาคเหนือ ที่ไม่ใช่ดึงดูดแค่คนจากกรุงเทพฯ แต่ยังดึงดูดคนในท้องถิ่น หรือคนที่มาท่องเที่ยวพักผ่อนที่เชียงใหม่และลำพูน ให้กลายเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เขาจะได้ทำ ได้นั่ง ได้สัมผัส และที่สำคัญ มันจะเป็นกิจกรรมที่ทำให้การถ่ายทอดเรื่องราวของล้านนา ไม่ว่าจะศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ ยังเดินทางต่อไปได้ด้วยรถไฟสายนี้
เป็นทริปที่ดีทีเดียว หวังว่าตัวเราและคนที่อ่านเรื่องนี้จะได้มีโอกาสได้นั่งรถไฟท่องเที่ยวสายนี้กัน

เกร็ดท้ายขบวน
ปกติแล้วรถไฟนำเที่ยวของการรถไฟ จะใช้ตู้รถไฟจากขบวนปกติแบ่งมา เพื่อให้บริการเป็นรถไฟนำเที่ยวในแต่ละสาย ซึ่งรถไฟนำเที่ยวนั้นไม่มีขบวนและตู้เป็นของตัวเอง รถไฟมือสองที่ได้รับจาก JR Hokkaido จะถูกพัฒนากลายเป็นรถไฟท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ไม่ต้องดึงจากรถไฟขบวนปกติ เล่นกับขบวนรถทั้งการตกแต่งและการใช้งานได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปดึงรถไฟขบวนปกติมาใช้งาน หวังว่าทริปนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของรถไฟท่องเที่ยวที่แท้จริงของรถไฟไทย