Bangkok Design Week 2024 เริ่มขึ้นแล้ว!

หากย้อนกลับไปปีก่อน ประปาแม้นศรีแห่งย่านบำรุงเมืองเป็นแลนด์มาร์กใหม่ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่ความเก่าแก่ของอาคารน้ำประปาแห่งแรกในประเทศไทย แต่รวมถึงแสงสีเสียงตระการตาในโปรเจกต์ ‘Love the World, Preserve the Ice รักโลก…รักษ์น้ำแข็ง’ โดย DecideKit

วันนั้นเราเห็นภาพ Projection Mapping ถ่ายทอดวิกฤตโลกร้อน โดยใช้น้ำแข็งเป็นสัญลักษณ์ 

ปีนี้ DecideKit กลับมาเนรมิตประปาแม้นศรีอีกครั้ง ตื่นตากว่าเดิมกับการฉาย Mapping ขึ้น 2 แทงก์ เล่นซิงโครไนซ์กัน เพื่อสื่อสารเรื่องฝุ่นควันและมลภาวะของเมือง โดยใช้ปลาตะเพียนและนกจักสานเป็นตัวกลางในการสื่อความหมาย

ใครจะรู้ เบื้องหลังเส้นสายตระการตาเป็นฝีมือของ จิ๊บ-จันทร์เพ็ญ กูลแก้ว หัวเรือใหญ่แห่ง DecideKit ผู้หญิงท่าทางใจดีที่ออกมาต้อนรับเราด้วยน้ำเสียงอ่อนหวาน พร้อมทีมมากฝีมือในออฟฟิศที่คล้ายเป็นบ้านมากกว่าบริษัท 

คุยไปคุยมา เราพบว่าคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ตอน “MULTIBIRD จักรวาลธงไชย” ครั้งล่าสุดที่เราไปดูเป็นฝีมือเธอ รวมถึงงานโฆษณาเสมือนจริงหลากหลายแบรนด์บนจอสกรีนใหญ่ยักษ์ของสยามพารากอน ก็เป็นฝีมือของเธอและทีมเช่นกัน แม้กระทั่งงานเปิดตัวสินค้าของรถยนต์ที่เราขับยันไตเติลละครหลังข่าวที่เราดู

ชื่อเสียงของ DecideKit อาจไม่เป็นที่รู้จักในไทย แม้จะคร่ำหวอดในวงการมานับ 20 ปี แต่พวกเขาเหล่านี้ไม่เป็นสองรองใครในเวที Projection Mapping ระดับโลก

วันนี้มีโอกาสดี ได้แวะมาพูดคุยกับจิ๊บถึงห้องทำงานส่วนตัว

ชีวิตของผู้หญิงคนนี้สนุก คาดเดาไม่ได้ และน่าประทับใจไม่แพ้ผลงานที่เธอทำ

Learn to Earn

สิ่งแรกที่เราทำหลังเรียนจบคือการสมัครงาน แต่สิ่งแรกที่จิ๊บทำหลังจบจากรั้วสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือกลับไปดูวิชาเรียนตั้งแต่ปี 1

จิ๊บรู้ตัวว่าไม่อยากเป็นสถาปนิก วิชาที่เธอชื่นชอบและทำได้ดีที่สุด คือการจัดวางองค์ประกอบศิลป์ 

เธอทำงานประจำแรกในชีวิตกับบริษัท Axis Graphic ในตำแหน่ง Graphic Designer โดยมีงานในความทรงจำคือการออกแบบหน้าตาเว็บไซต์ Teen Talk รายการไลฟ์สไตล์วัยรุ่นสุดมันที่สร้างชื่อให้ เรย์ แมคโดนัลด์ และ ชาคริต แย้มนาม

สมัยนั้นจิ๊บทำงานด้วยโปรแกรม Adobe Flash Player ทำแอนิเมชันและภาพเคลื่อนไหวได้พอสนุก เธอมีเป้าหมายใหม่ อยากทำงานที่ท้าทายกว่าเดิม แต่วงการ Motion Graphic ไทยยุคเริ่มต้นยังไม่พร้อมให้เธอข้ามขั้น ต่างจากงานต่างประเทศที่ไม่ว่าจะรายการทีวีหรือภาพยนตร์ก็มี Motion Graphic ในไตเติลรายการแทบทั้งนั้น

บัณฑิตสาวตัดสินใจเดินทางตามความฝันด้วยการสมัครเรียนปริญญาโทที่ Savannah College of Art and Design ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 2 ปี 

เราถามต่อว่า พอไปเรียนปริญญาโทแล้ว ยังมีคำถามกับตัวเองเหมือนตอนอยู่ไทยรึเปล่า

“ไม่มี เหมือนตกหลุมลงไปเลย เราอยากทำงานตลอดเวลา” เธอตอบทันควัน “เพราะเขาไม่ได้สอนวิธีทำ แต่สอนวิธีคิด 

“ที่นั่นคือเราได้โจทย์มาทั้ง ๆ ที่ใช้โปรแกรมไม่เป็นเลย เหมือนคนถูกผลักตกน้ำทั้งที่ว่ายน้ำไม่เป็น แต่เราต้องว่ายไปให้ได้ คนอื่นอาจจะเรียนมากันหมดแล้วเพราะเป็นปริญญาโท แต่เราต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่แรก ยิ่งเห็นงานเพื่อนสวย ยิ่งอยากทำได้บ้าง เราเลยกล้าคิด กล้าทำ เริ่มมั่นใจในการทำสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด”

ในทุก ๆ ปิดเทอม จิ๊บใช้คำว่า หาเรื่องฝึกงาน เพราะเธอตระเวนทดลองงาน Motion Graphic ไปทั่ว ระหว่างทำธีสิส เธอมีโอกาสได้ฝึกงานกับสตูดิโอเล็ก ๆ ชื่อ TWINS ART ที่นิวยอร์ก นับเป็นบันไดขั้นแรกสู่บริษัท Curious Pictures สตูดิโอแอนิเมชันอันดับต้น ๆ ของสหรัฐฯ ที่เธอใฝ่ฝัน

“เราเข้าไปฝึกงานแล้วก็บอกเจ้าของชัดเจนว่าจริง ๆ เราอยากเข้าบริษัทอื่น ไม่รู้ตอนนั้นคิดอะไรอยู่”

แม้ใจจะไม่อยู่ที่นี่ แต่จิ๊บก็เป็นดีไซเนอร์ผลงานดีและขยันขันแข็งมาก ส่งผลให้ TWINS ART ยินดีเขียนแนะนำให้เธอในจดหมายสมัครงานที่ Curious Pictures จนเธอกลายเป็นผู้ถูกเลือกจากผู้สมัครกว่า 2,000 คน

เมื่อใช้ชีวิตดังฝันได้ราว ๆ 2 ปีก็มีเรื่องให้ตัดสินใจครั้งใหญ่ เพราะบริษัทกำลังจะออกใบอนุญาตทำงานให้อีก 5 ปี แต่นั่นแปลว่าลูกสาวคนเดียวของครอบครัวจะต้องจากบ้านไปอีกนาน

สุดท้ายจิ๊บเลือกลาออกจากงานและเก็บกระเป๋ากลับไทย

(E)motion Graphic

“กลับมานอนร้องไห้เป็นเดือน” จิ๊บเล่า

แม้จะผิดหวังกับการเริ่มต้นใหม่ แต่โชคยังดีที่เธอมีเพื่อน

“เพื่อนเราเป็นคนเขียนซิตคอมเรื่อง เป็นต่อ” ถึงตรงนี้แล้วก็พอเดาได้ว่าจ๊อบแรกที่ไทยของเธอคืออะไร “เขาชวนเราไปทำไตเติล”

สาวไฟแรงดีกรีดีไซเนอร์จากสตูดิโอชั้นนำ พกความมั่นใจไปนำเสนอผลงานกับ บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ อย่างเต็มเปี่ยม 

“ทำให้ใครดู คนไทย 60 ล้านคนไม่มีใครชอบแบบนี้” คือคอมเมนต์ที่เธอจำได้ดีจนถึงปัจจุบัน

นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตที่ทำให้เข้าใจว่าการทำงานต้องคำนึงถึงผู้รับสาร ไม่ใช่เอาความต้องการของตัวเองเป็นที่ตั้ง จิ๊บนึกขอบคุณพี่บอย และบอกว่าเขาคือครูคนแรกในเมืองไทยของเธอ

เมื่องานแรกผ่านพ้นไปอย่างทุลักทุเล จิ๊บเก็บเล็กผสมน้อยด้วยการรับทำ Graphic Background ประกอบโชว์ในคอนเสิร์ตอย่างยาวนาน พร้อมเริ่มต้นไปกับพาร์ตเนอร์ที่เต็มไปด้วยแพสชันในงานที่ทำอย่าง 4NOLOGUE บริษัทที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการเป็นผู้จัดคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีเจ้าแรก ๆ ในเมืองไทย ทำให้เธอได้จับงานใหญ่ขึ้น จนต้องขยับขยายทีมเป็นบริษัท DecideKit ในที่สุด

Paint and Gain

จาก Graphic Background ในงานคอนเสิร์ต จิ๊บเริ่มมีงานอีเวนต์จากลูกค้าห้างดัง ทั้งเซ็นทรัลเวิลด์ เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ เดอะมอลล์ คิง เพาเวอร์ ฯลฯ รวมถึงห้างสรรพสินค้ามากมายที่อยากมีโฆษณาหรืองานเปิดตัวสุดล้ำ 

และระหว่างนั้น เธอก็สนใจการทำ Projection Mapping มานานนับสิบปี

“ตอนที่เห็นฝรั่งคนแรก ๆ ทำ จำได้ว่าเป็นภาพนกสีขาวดำบินบนอาคาร เราอีเมลไปหาเขาด้วยว่าทำยังไง ใช้โปรเจกเตอร์อะไร แล้วเขาตอบว่าใช้โปรเจกเตอร์ 5000 ANSI Lumens ซึ่งน้อยมากถ้าเทียบกับสมัยนี้”

DecideKit เองก็ชิมลางการฉาย Mapping มาบ้าง เช่นงานที่ SCG Experience CDC ไปถึงงานเปิดตัวศูนย์การค้าที่เป็น Talk of the Town อย่างเอ็มควอเทียร์

จนกระทั่งทีมออกปากชวนให้เธอพาบริษัทลงประกวดงาน 1minute Projection Mapping Competition 2018 ที่สวนสนุก Huis Ten Bosch ประเทศญี่ปุ่น

“เราเรียกตัวเองเป็น Commercial Art มาตลอด ถ้าเป็นศิลปินจริง ๆ เขาคงถ่ายทอดตัวเองออกมาให้คนอื่นเข้าใจ แต่เราไม่ค่อยได้บอกในสิ่งที่อยากบอก พอถึงจุดที่อิ่มตัวกับการทำ Commercial Art เราก็อยากเป็นฝ่ายพูดออกไปบ้าง พอมีงาน 1minute Projection Mapping ที่ทำแค่นาทีเดียวเลยเห็นด้วยกับน้อง ๆ” จิ๊บเล่าย้อนถึงวันที่พวกเขาก้าวขาเข้ามาในวงการ Mapping อย่างเต็มตัว

โจทย์แรกของงานประกวดแรกในชีวิต คือดอกไม้ เหล่าดีไซเนอร์พร้อมใจกันระเบิดความคิดและแสดงฝีมือจัดเต็มอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน

“เราเป็นคนไทย เลยเล่าเรื่องดอกไม้ไทยอย่างกล้วยไม้ กำลังขึ้นรถไฟไปเที่ยวญี่ปุ่น โดยใช้เทคนิคพับกระดาษโอริกามิของญี่ปุ่นเป็นซีนเชื่อมเรื่องทั้งหมด 

“น้อง ๆ ทุกคนมีความสุขทุกครั้งเวลาไปดูงาน ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต อีเวนต์ หรืออะไรตาม แค่ได้เห็นงานตัวเองฉายขึ้นตึกก็หายเหนื่อยแล้ว ไม่ต้องได้รางวัลอะไรก็ได้ แต่งานนี้เราได้รางวัล Audience Prize มาครอง มันเปลี่ยน DeciteKit ไปเลย”

ถามว่าเปลี่ยนขนาดไหน ก็ขนาดที่ว่าพวกเขาเดินหน้าประกวดจนได้รับรางวัลจากทั่วทุกมุมโลก

4 ผลงานที่ดีไซน์ + คิด

ปัจจุบันไม่ว่าจะเทศกาลไหน ๆ ก็มีการฉาย Projection Mapping เต็มไปหมด แล้วจะรู้ได้ยังไงว่างานไหนเป็นของ DecideKit

“เฮ้ย คนต่างชาติยังรู้เลย เราประทับใจมาก” เธอเล่าอย่างตื่นเต้น

“เราคิดว่าตัวเองทำตามโจทย์มาตลอดแล้วคนจะไปจำได้ยังไง แต่เขาบอกว่าเอกลักษณ์ของเราคือวิธีเล่าเรื่อง ซึ่งจริง

“ปกติการฉาย Mapping จะอยู่ที่ 1 – 5 นาที เราจะเล่าโดยมีลำดับเหตุการณ์ มีอินโทร เนื้อเรื่อง สรุป มีจุดไคลแมกซ์ที่คิดไว้ตั้งแต่แรก ไม่ใช่แค่ภาพสวยไปเรื่อย ๆ จนจบ ต่อมาคือ Art Direction เรามีวิธีการขยับแบบ Freeform เป็นธรรมชาติ ไม่แข็งทื่อ ไม่ใช่แค่ใบไม้กิ่งไม้ แต่รวมถึงลายเส้นทุกอย่างเลย เราก็เพิ่งจะรู้ตัวว่าชอบแบบนั้น”

นี่คือเบื้องหลัง 4 ผลงานคัดสรรที่จิ๊บประทับใจและอยากชวนให้คุณดู

1. IN(TER)DEPENDENCE : Audience Award of Zsolnay Light Art Mapping Competition 2023, Hungary

งานแรกที่จิ๊บภูมิใจนำเสนอคือ IN(TER)DEPENDENCE ที่คว้ารางวัลขวัญใจมหาชนจากฮังการีมาได้ เธอเล่าว่าส่วนมากงาน Light Festival ทั่วโลกจะมีโจทย์มาให้ว่าต้องการอะไร โจทย์ของปีนั้นคือ Coexistance หรือการดำรงอยู่ร่วมกัน

จิ๊บเริ่มคิดว่าอะไรจะเป็นตัวแทนของความแตกต่างหลากหลายได้ดีที่สุด แน่นอน หนังสือคือเครื่องมือที่เธอใช้บ่อย จิ๊บศึกษาความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในโลกมากมาย ทั้งความสัมพันธ์ของพญาผึ้งกับผึ้งงาน กิ่งไม้และใบหญ้า จนพบแสงสว่างที่ ไลเคน พืชโบราณที่ดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกันระหว่างราและสาหร่าย เป็นเครื่องหมายของสภาพอากาศสะอาด เพราะไม่อาจเติบโตได้ในมลภาวะเป็นพิษ

ที่สำคัญ รูปร่างของมันแปลกประหลาด เหมาะแก่การทำกราฟิกเป็นที่สุด

จากช่วยกันคิดเท่าไรก็ไม่ออก ไอเดียของทุกคนก็พรั่งพรู แตกเป็นต้นไม้ พวกเขาหยิบชีวิตของไลเคนมาเปรียบเทียบกับสังคมมนุษย์ แปรเปลี่ยนเป็นภาพการพึ่งพาอาศัยของผู้คนที่หลากหลาย แต่ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข 

“แม้ไลเคนจะเป็นสิ่งเล็กน้อยที่ไม่มีคนสนใจ แต่มันสำคัญมากในระบบนิเวศและมีเสน่ห์สำหรับเรา” จิ๊บเล่า

2. HATSUYUME (First Dream) : 2nd Prize of 1minute Projection Mapping Competition 2019, Odawara Castle, Japan

งานต่อมาเกิดขึ้นที่ปราสาทโอดะวาระ ประเทศญี่ปุ่น โดยมี ‘ความฝัน’ เป็นโจทย์ใหญ่ เธอศึกษาประวัติศาสตร์ของปราสาทรวมถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่นจนถึงต้นตอ

ความเชื่อที่ถูกตาต้องใจมากที่สุด คือหากใครฝันถึงภูเขาไฟฟูจิ นกเหยี่ยว และมะเขือม่วง ในวันที่ 2 มกราคม ปีนั้นทั้งปีจะโชคดีมีชัย 

เธอมอบของขวัญปีใหม่ให้คนญี่ปุ่นด้วยการฉายภาพ 3 สิ่งนี้บนปราสาทโอดะวาระ และหวังว่าการยืนดูแสงสีเสียง 1 นาทีนี้จะเปลี่ยนชีวิตผู้ชมไปไม่มากก็น้อย 

“เราคิดถึงอนาคตของคนญี่ปุ่น อยากเป็นกำลังใจให้พวกเขาว่าสิ่งดี ๆ กำลังจะเกิดขึ้นในชีวิตคุณแน่นอน”

จุดแข็งของ DecideKit คือการสื่อสารกับคนดูด้วยเมสเซจที่ทรงพลังผ่านเรื่องเล่าที่งดงาม ความรู้สึกอันท่วมท้นของงานนี้ก็ทำให้เธอคว้ารางวัลที่ 2 มาครองอย่างไร้ข้อกังขา

3. THE SEWING OF SOUL : Showcase of LUNA Fête 2022, USA

จิ๊บนำเสนอโปรเจกต์นี้ด้วยการบอกเราว่า “งานนี้ไม่ได้สวยที่สุดนะ แต่ที่ชอบเพราะรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้ทำ”

หนึ่งในความฝันของจิ๊บคือการได้ขึ้นผลงาน Mapping ที่สหรัฐอเมริกา ประเทศที่เต็มไปด้วย Graphic Designer และงานศิลปะล้ำสมัย โชคชะตาก็ไม่ปล่อยให้เธอคอยเก้อ เมื่อทีมงานจากสหรัฐฯ ติดต่อตรงถึงบริษัทเธอให้ออกแบบ Mapping เพื่อสื่อสารวัฒนธรรมของชาวอินเดียนแดงในเทศกาลเฉลิมฉลองสุดยิ่งใหญ่ Mardi Gras ที่ผู้คนจะแห่แหนกันมาเดินขบวนด้วยการแต่งกายสนุกสนานเป็นเอกลักษณ์

จากปกติใช้เวลา 3 เดือนต่อ 1 งาน จิ๊บใช้เวลา 6 เดือนกับการปลุกปั้นโปรเจกต์นี้ให้สมดังใจ เพราะไม่เพียงศึกษาจากการดูหรืออ่าน แต่ทีมงานต้องพูดคุยกับชาวพื้นเมืองตัวจริง ทั้้งความหมายของชุด ของเทศกาล ของเทพเจ้าที่พวกเขานับถือ เพื่อดึงเอาเสน่ห์ที่แท้จริงออกมาให้ได้มากที่สุด

เธอพบว่าชาวพื้นเมืองใช้จิตวิญญาณตัดเย็บเสื้อผ้าที่สวมใส่ในงานพาเหรดเองทุกชิ้นและเย็บปักทุกวัน ขนาดที่จบเทศกาลวันนี้ พรุ่งนี้ก็เริ่มตัดเย็บชุดสำหรับเทศกาลปีหน้า จนได้ออกมาเป็นคอนเซปต์ที่ว่า THE SEWING OF SOUL นั่นเอง

ส่วนสาเหตุที่มันไม่ได้สวยที่สุด ก็เพราะอาคารนี้เป็นทรงสี่เหลี่ยมแบนเรียบ ไม่มีเลเยอร์ แต่ความสนุกของการฉาย Projection Mapping คือการหลอกตาผู้ชมว่าตึกตรงหน้านี้ไม่มีอยู่จริง ทุกเส้นขอบและกรอบหน้าต่างจึงเป็นความท้าทายใหม่ที่เธอต้องรับมือ

4. from Now to Future : Bangkok Design Week 2024, หอเก็บน้ำประปาแม้นศรี

โพสต์โดย

โจทย์ที่เธอได้รับจาก Bangkok Design Week ประจำปี 2024 คือ ‘คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ คราวนี้เธอทำร่วมกับ กบ-พงษ์ภาสกร กุลถิรธรรม แห่ง Kor.Bor.Vor มือ Lighting Design ที่มีสไตล์อันโดดเด่น

ความตั้งใจครั้งนี้ของเธอ คือการสะท้อนภาพกรุงเทพฯ ว่ามีฝุ่น มีมลภาวะที่ต้องเผชิญมากแค่ไหน โดยใช้ปลาตะเพียนจักสานเล่าเรื่องวิถีชีวิตในน้ำ และใช้นกจักสานเล่าเรื่องวิถีชีวิตบนฟ้า ชวนให้ทุกคนตระหนักว่าต้องช่วยกันบำรุงเมืองแห่งนี้ก่อนจะสายเกินไป

เมื่อเห็นแล้วว่าทั้งสองมีชีวิตความเป็นอยู่ยังไง ด่านถัดไปจึงเป็นภาพความหวังที่ทุกอย่างถูกดูดเข้าไปในโลกอนาคต และกลายเป็นโลกสีสันสดใสหากทุกคนช่วยกันดูแล

“เราพูดถึงปัจจุบันกับภาพอนาคต เพราะอยากบอกให้คุณเเก้ปัจจุบันเถอะ อนาคตคุณไม่ต้องไปคิดอะไรเลย ถ้าแก้ไขตั้งแต่วันนี้ อนาคตก็ต้องดีแน่ ๆ เริ่มที่ตัวเองก่อน เดี๋ยวข้างนอกก็จะดีตาม”

นอกจากนี้ จิ๊บเผยว่าการฉาย Mapping ไม่ได้มีแค่บริเวณประปาแม้นศรีเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงสวนรมณีนาถ ป้อมมหากาฬ และศาลาว่าการกรุงเทพฯ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน เป็นผลงานจากอีก 6 สตูดิโอที่เธอชักชวนมาร่วมโปรเจกต์ ทั้ง Kor.Bor.Vor, Yellaban, Yimsamer, Motion House, From Object To Studio รวมถึงกลุ่ม Graphic Designer จากฝรั่งเศส มาเลเซีย และอินโดนีเซียอีกด้วย

Back to the Future

ทำไมถึงตั้งชื่อบริษัทว่า DecideKit – เราถามเธอ

“เวลารับงาน เราไม่ได้เป็นแค่คนทำภาพอย่างเดียว แต่เราช่วยเขาคิด ช่วยเขาแก้ปัญหา เราไม่อยากเป็นทีมงานที่สั่งอะไรมาก็ทำ แต่อยากเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจของเขามากกว่า เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในงานของเราคือแนวคิด”

จิ๊บบอกว่าบริษัทของเธอเติบโตอย่างช้า ๆ ไม่เอิกเกริก พนักงานบางส่วนอยู่กับเธอมานานกว่า 17 ปี นานมากเสียจนเด็กรุ่นใหม่อย่างเราอดสงสัยไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร

เธอบอกว่าวิธีคัดเลือกคนทำงานของ DecideKit นั้นง่ายมาก ไม่มีหลักการใด ๆ ช่วงแรกไม่ดูแฟ้มผลงานด้วยซ้ำไป แต่ขอแค่มีทัศนคติตรงกันและมีใจรักในงานที่ทำก็พอ

“ถ้ามาเพราะแค่อยากได้เงินเดือน คุณจะไม่ทะนุถนอม จะไม่มีเวลามาเก็บเนี้ยบ อย่างอื่นมันฝึกกันได้” 

เธอยกตัวอย่างงานซ้อมฉาย Mapping ที่เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีจุดบกพร่องแค่วินาทีเดียวเท่านั้น 

“บางคนบอกให้เรากะพริบตาสิ จะได้ไม่เห็น แต่มันต้องแก้ เราปล่อยผ่านไม่ได้หรอก แล้วงานเราใช้เวลาเรนเดอร์ทีละ 2 – 3 ชั่วโมง ถ้าคนไม่รักงานตัวเองก็จะไม่รอแก้แบบนี้

“เราเชื่อว่า ถ้าคนเราหมั่นรดน้ำพรวนดินตัวเองทุกวัน สุดท้ายมันจะออกดอกออกผล ทุกคนต้องมีกิ่งก้านของตัวเอง”

จิ๊บไม่เพียงรักงานที่ทำ แต่ยังรักวงการที่เธออยู่ อย่างที่เห็นว่าช่วงหลังนี้ DecideKit หันมารับงานสื่อสารกับภาคประชาสังคมมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธออยากสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับผู้คน 

“งาน Mapping ไม่ใช่การฉายหนังกลางแปลง” เธอว่า “Mapping ไม่ใช่การฉายหนัง มันเป็นเครื่องมือที่ใช้ทำประโยชน์ได้ เราเอาความรู้ความสามารถที่มีกลับคืนสังคมและเปลี่ยนให้คนเหล่านั้นมองเห็นคุณค่าของมันได้ ที่ยุโรปแข่งกันฉายทุกบ้านทุกเมือง สนุกมาก คนมายืนดูเราเป็นแสน ซึ่งแต่ละเทศกาลดำเนินการโดยรัฐบาลทั้งหมด หันกลับมาดูบ้านเราแล้วยังไงดี 

“คนทำงานต้องทำให้คนไทยเข้าใจก่อน พอคนไทยเข้าใจก็จะหันมาฉาย Mapping มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่าฉายอะไรที่เป็นการดูถูกคนดู เราอยากให้ทุกคนเคารพอาชีพของตัวเอง”

จิ๊บทิ้งทวนชวนให้คิด

Website : decidekit.com/project

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์