ไม่น่าเชื่อว่าเป็นเวลา 13 ปีแล้วนะครับ นับตั้งแต่ที่เราได้ชม Avatar ภาคแรกกันไปเมื่อปี 2009 เป็นเวลามากพอที่เปลี่ยนเด็กมัธยมต้นคนหนึ่งให้กลายเป็นวัยทำงาน เกือบแต่งงานมีลูกได้เลย หรือจากวัยที่เคยออดอ้อนไปดูกับพ่อแม่ สู่วัยที่พาพ่อแม่ไปดู และหลังจากเวลาผ่านพ้นไปเนิ่นนาน ภาคต่อก็กลับมาอีกครั้งในชื่อ ‘Avatar: The Way of Water’ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ชีวิตใน ‘วิถีแห่งสายน้ำ’ กับชนเผ่า Metkayina (เม็ตคายิน่า) ผิวสีเขียวฟ้า จากที่ภาคแรกโฟกัสไปที่ชนเผ่า Omatikaya (โอมาติคาย่า) ผิวสีฟ้าที่ใช้ชีวิตอยู่กับท้องฟ้าและผืนป่า 

Avatar ทั้งสองภาคทำหน้าที่ไม่ต่างกัน คือการพาไปทัวร์โลกแห่งดวงจันทร์ Pandora (แพนดอร่า) ของดาว Polyphemus (โพลีฟีมัส) ในระบบดาวที่ใกล้ระบบสุริยะของเราที่สุดอย่าง Alpha Centauri System (อัลฟ่าเซนทอรี่) ในช่วงเวลา 100 กว่าปีจากปัจจุบัน โดยสิ่งที่ทำให้ต้องนิยามว่า “Avatar ไม่ใช่หนัง แต่เป็นประสบการณ์” ก็เพราะความโดดเด่นอย่างการสร้างประสบการณ์พาคนดูไปพบกับธรรมชาติของดวงจันทร์ที่ว่านี้ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของสิ่งมีชีวิตคล้ายมนุษย์แต่ตัวสีฟ้าสูง 3 เมตรที่เรียกตัวเองว่าชาวนาวี (Na’vi) ผ่านงานภาพที่โดดเด่นทะลุจอไปถึงทะลุยุคสมัย และกลายเป็นหนังที่อยู่คู่กับ 2 คำ คือ ‘3D’ กับ ‘ต้องดูในโรงเท่านั้น’ 

แต่ก่อนจะเป็นหนังที่ยิ่งใหญ่สุดทะเยอทะยานจนทำรายได้มากที่สุดในโลก และกลายเป็นแฟรนไชส์ที่มีแววว่าจะกลายเป็นหนังรายได้หลัก 1-2 พันล้านทุกภาค ทั้งหมดมาจากไอเดียเล็ก ๆ ของผู้กำกับ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) จาก The Terminator และ Titanic ที่ต้องการให้ผู้คนรักธรรมชาติ ตระหนักถึงสิ่งที่เราทำลงไปและกำลังจะทำต่อธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจครับที่เราจะไปสำรวจแนวคิดพื้นฐานเหล่านั้น รวมไปถึงเบื้องหลังและเส้นทางกว่าจะมาเป็น Avatar และ Avatar: The Way of Water 

**บทความต่อไปนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ Avatar: The Way of Water**

เจาะลึก ‘Avatar’ จากหนังชวนคนหันมารักธรรมชาติ สู่หนังทำรายได้สูงสุดที่ทั้งโลกรอคอย

แรงบันดาลใจ แนวคิด และหนทางก่อนจะมาเป็น Avatar 

James Cameron เป็นคนรักธรรมชาติและตั้งใจจะสร้างหนังเรื่องนี้มานานแล้วครับ ที่จริงแล้วไอเดียในการสร้างหนังมีมาตั้งแต่ปี 1994 หรือ 3 ปีก่อนที่ ไททานิก เข้าฉาย บททรีทเมนต์ 80 หน้าได้ถูกเขียนไปแล้ว แต่ด้วยความที่เทคโนโลยีสมัยนั้นยังไม่สามารถถ่ายทอดวิชั่นของเขาได้ (เหมือนกรณีที่ George Lucas แห่ง Star Wars เลือกจะสร้างภาค 4-6 ก่อนเพราะ 1-3 ต้องใช้ทุนและเทคโนโลยีที่ล้ำกว่า) James จึงเลื่อนการสร้างหนังแพสชันโปรเจกต์ออกไปก่อน ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่ได้นิ่งดูดาย เพราะนับตั้งแต่นั้นก็มีการร่างไอเดียและเขียนบทมาตลอด

ต้นกำเนิดไอเดียในการสร้าง Avatar มาจากคนใกล้ตัวอย่างแม่ของเขาเองครับ เธอฝันถึงผู้หญิงตัวสีฟ้า ตัวสูง 12 ฟุต (4 เมตร) และ James มองว่าสีฟ้านั้นเป็นสีที่ดี ดึงดูดตา และภาพลักษณ์ของมนุษย์ตัวฟ้าค่อนข้างจะน่าจดจำ เลยเป็นภาพที่สลัดไม่ออกและจุดประกายในการสร้างหนังเรื่องนี้ โดยต่อมาเขาเริ่มจากการเขียนบทหนังเรื่องหนึ่งในปี 1970 ที่เกี่ยวกับเอเลี่ยนตัวสีฟ้า และเขาก็ได้ใช้ตัวละครนี้มาเป็นต้นแบบชาวนาวีอีกที

เริ่มแรกในการเขียนบท ผู้กำกับให้นิยามว่า นี่คือหนัง Self-discovery หรือการเดินทางเพื่อค้นพบตัวตนกับค้นพบสิ่งที่ต้องการ โดยผนวกเอาเรื่องจักรวรรดิ อาณานิคม และความลึกซึ้งในการเชื่อมโยงกับธรรมชาติมาอยู่ในเรื่องเดียวกัน กลายเป็นเรื่องราวของ ‘อารยธรรม vs. วัฒนธรรม’ และคอนเซ็ปต์นี้ก็ต่อยอดไปสู่ไอเดียการเชื่อมโยงกับโลก ความฉลาดที่แฝงอยู่ในธรรมชาติและสัตว์ป่า การเข้าสิงร่างอวตาร การแผ่ขยายอาณานิคมบนดาวดวงอื่น บริษัทและกองกำลังละโมบโลภมาก กลุ่มท่ีอ่อนแอกว่าที่ต้องต่อสู้กับกลุ่มเทคโนโลยีล้ำสมัย ไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์และคนกลุ่มน้อยที่ต้องการชุบชีวิตและปกป้องธรรมชาติจากสิ่งนี้

เจาะลึก ‘Avatar’ จากหนังชวนคนหันมารักธรรมชาติ สู่หนังทำรายได้สูงสุดที่ทั้งโลกรอคอย

James Cameron เผยว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิยายไซไฟทุกเล่มที่เคยอ่านมาตั้งแต่ยังเด็ก เช่น John Carter รวมไปถึงหนังหลายเรื่อง หนังที่เป็นแรงบันดาลใจหลัก ๆ คือ Dance with Wolves ที่ Kevin Coster แสดงนำ ในเรื่องของชายผู้ต้องต่อสู้กับฝั่งที่ตัวเองร่วมต่อสู้ด้วยมาตลอด รวมถึงอนิเมะ Princess Mononoke ของ Studio Ghibli ในเรื่องการสร้างระบบนิเวศดาว Pandora ส่วนแหล่งธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตหายากในโลกของเรา ก็ถูกใช้เป็นต้นแบบของหลายสิ่งหลายอย่างในหนังเรื่องนี้เช่นกันครับ

ในส่วนของคำศัพท์ ชื่อเรื่อง และไอเดียการย้ายจิตสิงร่าง เขาพบมาจากนิยาย Neuromancer แนวไซเบอร์พังก์ของ William Gibson และยังรับแรงบันดาลใจนี้มาจากมังงะไซเบอร์พังก์อีกเรื่องอย่าง Ghost in the Shell ว่าด้วยเรื่องของจิตและกาย กับตำนานที่เทพฮินดูลงมาสถิตอยู่ในร่างมนุษย์ตัวเป็น ๆ ส่วนแนวคิด ‘World Mind’ หรือการเชื่อมโยงจิตเข้ากับธรรมชาติ เขาได้รับมาจาก Solaris ของ Stanislaw Lem

เจาะลึก ‘Avatar’ จากหนังชวนคนหันมารักธรรมชาติ สู่หนังทำรายได้สูงสุดที่ทั้งโลกรอคอย

พอมีไอเดียแล้ว แต่จะเล่าผ่านอะไรดีล่ะ? อีก 2 แรงบันดาลใจที่เรียกได้ว่ามีเค้าโครงเดียวกัน และเป็นอิทธิพลสำคัญของ Avatar คือเรื่องราวของ Pocahontas หญิงสาวอเมริกันชนพื้นเมือง กับหนังเรื่องก่อนหน้าของเขาอย่าง Titanic ครับ สำหรับ Titanic คือในส่วนของตัวละคร Jack กับ Rose ที่มาจากต่างวัฒนธรรม ซึ่งความรักที่ทั้งสองมีให้กันทำให้ทั้งคู่ต้องหันหน้าสู้กับค่านิยมและแนวคิดจากฝั่งตัวเอง

ทีนี้ James Cameron ต้องการจะใส่เรื่องราวแนว ๆ ‘ปาฏิหาริย์รักข้ามดวงดาว’ เข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนเนื้อเรื่อง จึงสร้าง 2 ตัวละครอย่าง Jake Sully (เจค ซัลลี่) และ Neytiri (เนย์ทิรี) ขึ้นมา โดยวางบทให้ Neytiri คล้ายคลึงกับหญิงสาวอเมริกันพื้นเมืองชื่อดังอย่าง Pocahontus ในขณะที่ Jake คือคนขาวหรือคนนอกที่หลงรักลูกสาวหัวหน้าเผ่า จึงแนะนำให้เขาพบกับความความสวยงามของธรรมชาติที่ต้องปกป้อง จนนำไปสู่การย้ายฝั่งและต่อสู้กับฝั่งที่ตัวเอง ซึ่งมาจากไอเดียที่ James ต้องการให้คนตั้งคำถามถึงระบบที่เรากำลังรับใช้อยู่

เรื่องหนึ่งที่เขากังวลคือ Jake จะหลงรัก Neytiri ได้อย่างไรในเมื่อเธอเป็นเอเลี่ยนตัวสีฟ้า จึงต้องมีรูปลักษณ์ที่ต่อให้แตกต่างจากมนุษย์ก็ยังน่าดึงดูด ตรงจุดนี้เขาได้ศิลปินหญิงหลายคนมาช่วยออกแบบจนได้หน้าตาและรูปร่างอย่างที่เห็น อีกทั้งเคมีความเข้ากันของ Sam Worthington และ Zoe Saldana จะฟุ้งกระจาย จนทำให้ James พึงพอใจเป็นอย่างมากและมองเห็นพล็อตเรื่องระยะยาวมากขึ้น 

เจาะลึก ‘Avatar’ จากหนังชวนคนหันมารักธรรมชาติ สู่หนังทำรายได้สูงสุดที่ทั้งโลกรอคอย

สู่ Avatar และภาค 2 3 4 5 

Avatar เป็นหนังที่ใช้เทคนิคการถ่ายทำแบบไฮบริด คือใช้นักแสดงแสดงจริง ผสม CGI ทับ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ‘Motion Capture’ พร้อมกับผลิตโทคโนโลยีกับระบบกล้องใหม่เพื่อใช้ในการถ่ายทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งถึงแม้ James Cameron จะใช้ระบบ Virtual Camera System มาผสานการถ่ายทำ เพื่อมองเห็นผ่านจอว่าในหนังจริง ๆ จะเห็นวัตถุอะไรบ้าง และการแสดงที่นักแสดงใส่สกินชาวนาวีจะออกมาเป็นแบบไหนแบบเรียลไทม์ ก็อดชมไม่ได้จริง ๆ ครับว่า เขาเป็นผู้กำกับที่มีวิสัยทัศน์ เพราะอันที่จริงเขามีความคิดจะสร้างสิ่งเหล่านี้มาเนิ่นนานตั้งแต่ทุกอย่างยังไม่ล้ำขนาดนี้ และเมื่อมาถึงจุดที่ทำได้แต่ไม่ล้ำพอ James ก็ทำให้มันล้ำด้วยการบุกเบิกด้วยตัวเอง

การใช้ระบบนี้มาช่วยไม่เพียงทำให้เห็นภาพ แต่เขามองเห็นมันแบบปรับสเกลในต่างมุม กำหนดมุมกล้อง และมองว่าเทคโนโลยีนี้ไม่ได้ลดทอนคุณค่าของการถ่ายทำภาพยนตร์หรือการแสดงแต่อย่างใด ตรงกันข้าม มันช่วยเสริมและยกระดับด้วยซ้ำ เพราะการถ่ายทำแบบนี้ไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดแสดง คอสตูม ความต่อเนื่องของสิ่งต่าง ๆ หรือต้องสั่งคัทบ่อย ๆ ทั้งยังกำหนดย้ายวัตถุรอบตัวได้ ซึ่งโลกจริงทำไม่ได้

James จึงอยากให้มองว่านี่ไม่ใช่หนังแอนิเมชัน แต่เป็นคนแสดงที่ใช้การเมคอัพแบบดิจิทัลมากกว่า ซึ่งระหว่างการถ่ายทำแกก็ได้เรียกผู้กำกับชื่อดังอย่าง Peter Jackson, Steven Spielberg และ George Lucas มาดูการทำงานถึงกองถ่ายเลยครับ และทุกคนตื่นเต้นมากที่ได้ยืนดูและลองใช้ (โอเค เราเรียกว่า James Cameron เป็นผู้กำกับชั้นครูก็คงไม่เกินไปแล้ว)

เจาะลึก ‘Avatar’ จากหนังชวนคนหันมารักธรรมชาติ สู่หนังทำรายได้สูงสุดที่ทั้งโลกรอคอย

ผู้บริหาร 20th Century Fox สารภาพกับ James Cameron ตรง ๆ ว่า เขาไม่รู้ว่าตัวเองบ้าที่อนุญาตให้ James ทำ หรือ James เชื่อว่าจะทำมันได้จริง ๆ เริ่มแรกค่าย Fox ให้ทุนไป 10 ล้าน เพื่อให้ทดลองถ่ายหนังคอนเซ็ปต์ให้บอร์ดผู้บริหารดู ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งมันจะกลายเป็นหนังทุนสร้างหลักหลายร้อยล้านดอลลาร์ฯ ได้ เพราะขนาดก่อนฉาย นักวิจารณ์และผู้เชี่ยวชาญในการประเมินรายได้ยังลงความเห็นล่วงหน้าว่าเจ๊งแน่นอน บ้างก็ล้อว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์แมวสีฟ้าตัวสูง ใครจะไปดูวะ ไปจนถึงล้อว่าเดี๋ยวก็ตามรอยซีจีของ Star Wars ไตรภาค Prequel เพราะจะทำได้แค่ไหนกันเชียว แต่ผลกลับกลายเป็นว่า แม้ภาคแรกจะสร้างขึ้นเมื่อ 13 ปีที่แล้ว แต่ซีจีนั้นก็ยังน่าทึ่งในปี 2022 

James Cameron เกิดไอเดียสร้างภาคต่อตั้งแต่ปี 2006 หรือก่อนที่หนังจะเข้าฉาย แต่แน่นอนว่าภาคต่อจะมีหรือไม่นั้น ต้องรอดูกระแสและการอนุมัติจากทางสตูดิโอ ซึ่งหลังจากที่ประสบความสำเร็จ เขาก็ไม่รอช้าที่จะประกาศสร้างภาคต่อ Avatar 2 เพื่อให้หนังเรื่องนี้เป็นไตรภาค โดยวางกำหนดฉายไว้ในปี 2014 แต่ปัญหาเดิมก็กลับมาอีกครั้ง เทคโนโลยีล่วงช่วงนั้นยังไม่ล้ำหน้าถึงขั้นจะทำหนังที่ดำเนินเรื่องบนผิวน้ำและใต้น้ำออกมาได้สมจริงพอ หนังจึงต้องดีเลย์ออกไปก่อน 

แต่ความ James Cameron ก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง เขาได้สั่งสร้างเทคโลยีใหม่เพื่อถ่ายทำโมชั่นแคปเจอร์ใต้น้ำโดยเฉพาะ ร่วมกับบริษัท Weta Digital ของ Peter Jackson เพราะการถ่ายทำภาคต่อต้องถ่ายใต้สระในสตูดิโอที่มีน้ำ 900,000 แกลลอนแทบทั้งเรื่อง (นักแสดงก็ต้องฝึก Freediving หรือการดำน้ำโดยไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจเพื่อถ่ายทำในสระด้วยเช่นกัน)

ระหว่างนั้น James Cameron ได้เขียนโน้ต 800 หน้าเกี่ยวกับภาคต่อแล้วมอบให้ทีมเขียนบท ทำให้เกิดไอเดียต่อยอดว่า Avatar สร้างได้ 5 ภาคเลยนะ ภาค 4 และ 5 จึงเกิดขึ้นครับ ซึี่งจะใช้ทุนสร้างรวมกัน 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ และจะเป็นการถ่ายแบบ Back-to-Back หรือถ่ายภาค 2-3 และ 4-5 ไปพร้อม ๆ กัน เท่ากับว่าเราจะได้ดูภาค 3 แน่ ๆ แล้ว ในขณะที่ชะตากรรมภาค 4-5 นั้นขึ้นอยู่กับรายได้ของ 2-3 ซึ่งนี่ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของ James Cameron

เจาะลึก ‘Avatar’ จากหนังชวนคนหันมารักธรรมชาติ สู่หนังทำรายได้สูงสุดที่ทั้งโลกรอคอย

ในส่วนการเขียนบท James ใช้เวลาราว ๆ 4 ปีในการวางโครงเรื่องระยะยาว และเขาร่วมกับทีมเขียนบทภาค 2 3 4 5 ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้ Avatar ไม่ใช่แค่หนังที่ภาพสวย แต่บทต้องแข็งแรงพอจนมั่นใจได้ว่าคนดูจะชอบ 

เขายอมแม้กระทั่งทิ้ง ‘Avatar: The High Ground’ บทดราฟต์แรกที่เขียนจบแล้ว 130 หน้า แม้จะรักมันมากก็ตาม เพราะยังไม่ดีพอ (แต่ก็ไม่ได้สูญเปล่าซะทีเดียวครับ เพราะพล็อตเก่าจะกลายเป็นคอมมิกของค่าย Dark Horse และวางภายในช่วงสิ้นปีนี้แทน)

วิธีการเขียนบทของภาคต่อ Avatar ค่อนข้างน่าสนใจเลยครับ James Cameron วางให้แต่ละภาคเป็นเรื่องราวที่แยกหรือไม่เกี่ยวข้องกัน แต่มีจุดเชื่อมโยงคือสิ่งต่าง ๆ กับสตอรี่อาร์ตที่ปูไว้ในภาคแรก โดยแทนที่จะจบแบบค้างคา แต่ละภาคจะต้องจบเคลียร์และจบในตัว ซึ่ง James ไม่บอกว่าแต่ละคนได้เขียนบทภาคไหน เพื่อให้ทุกคนมีอิสระในการคิด เมื่อเขียนเสร็จจึงค่อยมาดูภาพรวมอีกทีว่าจะทำยังไงให้สอดคล้องและไปด้วยกันได้ 

James Cameron ตั้งโจทย์ของภาคต่อ Avatar โดยเริ่มต้นที่ The Way of Water เอาไว้ว่า เป็นการต่อยอดให้เห็นธรรมชาติของดวงจันทร์ Pandora (เรียกง่าย ๆ ว่าต้องเป็นหนังสำรวจ & พาทัวร์นั่นเอง) ส่วนตัวละครกับด้านจิตวิญญาณใต้กระแสคลื่นทะเล ซึ่งเขามั่นอกมั่นใจมากว่า หากคนดูดูภาคแรกแล้วชอบ ก็จะชอบภาคนี้เช่นกัน และยังเปรียบเทียบหนังภาคต่อกับไตรภาค The Godfather ว่า หนังจะยังคงเล่าเกี่ยวกับตัวละครเก่า ตัวละครเหล่านั้นมีลูก และลูก ๆ ของตัวละครท่ี่เรารู้จักจะเป็นคนรุ่นต่อไปที่มาเปลี่ยนเกม (เหมือนที่รุ่นลูกหลานจะรับช่วงต่อธรรมชาติ และเป็นผู้กำหนดชะตากรรมโลกต่อไป อันนี้เสริมเองนะครับ)

เจาะลึก ‘Avatar’ จากหนังชวนคนหันมารักธรรมชาติ สู่หนังทำรายได้สูงสุดที่ทั้งโลกรอคอย

หนังเพื่อธรรมชาติ 

“มันคือเป้าหมายอย่างหนึ่งในการทำหนังเรื่องนี้ครับ Avatar เป็นหนังที่ย้ำเตือนว่า ธรรมชาติสำคัญแค่ไหนกับพวกเราทุกคน และนำเรากลับไปมองผ่านมุมมองสมัยยังเป็นเด็กอีกครั้ง ในช่วงเวลาที่เราสงสัยใคร่รู้และรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติมากกว่านี้ เด็ก ๆ รู้สึกเชื่อมต่อกับธรรมชาติรอบตัว พวกเขาออกไปนอกบ้านและกลับมาด้วยเนื้อตัวที่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน พวกเขากลับมาโดยการจับตัวอะไรติดไม้ติดมือกลับมาด้วย แล้วเล่นกับพวกมัน ศึกษาพวกมัน

“เด็กทุกคนคือนักประวัติศาสตร์ธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และพวกเขาทิ้งชีวิตเหล่านั้นไว้ข้างหลัง พวกเราผ่านมันไปและกำลังอาศัยอยู่ในสภาวะขาดแคลนธรรมชาติ” James Cameron กล่าวกับทาง Cnet ถึงเป้าหมายในการสร้าง Avatar, Avatar: The Way of Water รวมไปถึงภาคต่อที่กำลังจะตามมา 

จะบอกว่าความรักธรรมชาติเป็นเหตุผลในการสร้างหนัง 100% มั้ย ก็ไม่เชิงซะทีเดียว เพราะส่วนหนึ่งคือความต้องการทำหนังที่ยิ่งใหญ่สไตล์ James ด้วยครับ แต่การที่เขามีแพสชันขนาดนี้ ต้องยกเครดิตให้ความรักธรรมชาติและไอเดียที่เขาหวงแหนจนอย่างปกปักรักษา ไม่อยากให้ใครมองธรรมชาติเป็นของตาย James Cameron จึงทำสิ่งที่ทำได้และถนัด นั่นก็คือ ‘ทำหนัง’ เพราะไม่มีวิธีไหนจะได้ผลมากไปกว่าการพูดผ่านหนังเล่นใหญ่ที่ปฏิวัติวงการ ด้วยภาพที่ดูไปต้องพูดคำว่า “นี่มันเหลือเชื่อ” ไปด้วยแทบตลอดเวลา และผ่านหนังทำรายได้สูงสุดในโลกที่ใคร ๆ ต้องพูดถึง

James ยังคงอยากให้ผู้ชมไปชม Avatar โดยมุ่งหวังความบันเทิงเป็นหลัก ปรัชญากับศีลธรรมอันดีไว้ทีหลัง สิ่งสำคัญคือ Message ที่ผู้กำกับมากฝีมือคนนี้ไม่ต้องการทำสารคดีหรือการปลูกฝังจิตสำนึก เขาคิดว่ามันไม่มีประโยชน์ถ้าจะทำบอกโต้ง ๆ ให้คนรู้สึกอยากปกป้องธรรมชาติหรือสู้เพื่อมัน หากยังไม่หลงรักและมองเห็นแง่งามที่ต้องปกปักรักษามันจริง ๆ Avatar จึงต้องการทำให้คนดูตื่นตาตื่นใจไปกับความสวยงามของธรรมชาติที่น่าเชื่อมต่อด้วย แล้วค่อย ๆ เกิดความรู้สึกเหล่านั้นในระดับจิตใต้สำนึกต่อไป 

เจาะลึก ‘Avatar’ จากหนังชวนคนหันมารักธรรมชาติ สู่หนังทำรายได้สูงสุดที่ทั้งโลกรอคอย

ไอเดียที่นำมาสู่ Avatar: The Way of Water

อีกสิ่งที่เป็นวาระของ James คือการสร้างความตระหนักว่า มนุษย์กำลังทำลายระบบนิเวศไม่พอ เรากำลังทำลายตัวเอง และนำพาตัวเองเข้าสู่ความเสี่ยงอย่างช้า ๆ (อันที่จริงก็เร็วเลยนะครับ ถ้าเทียบกับในระยะเวลาแค่ 2 พันกว่าปี จนมาสู่ระบบอุตสาหกรรมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นทุกปี ๆ) 

เขาจึงเขียนเนื้อเรื่องให้เกิดขึ้นในอีก 100 กว่าปี ซึ่งเป็นอนาคตที่ James คาดว่ามนุษย์จะอาศัยอยู่บนโลกไม่ได้แล้ว จะแก้ก็สายเกิน สิ่งเดียวที่มองเห็นคือการหาดาวดวงใหม่ เริ่มต้นใหม่ และมีแนวโน้มว่าจะทำสิ่งซ้ำเดิมอีกรอบอย่างที่เราเห็นกันในหนัง ที่บริษัทโค่นเผา Hometree หรือต้นไม้ยักษ์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวนาวีเพื่อแร่ธาตุและทรัพยากร เรียกได้ว่าวันหนึ่งกระบวนการเดิมและนิสัยเดิม ๆ ของมนุษย์ จะนำชะตากรรมเดียวกันของดาวโลกมาสู่ดาวแพนดอร่า จากไอเดียช่วงชิงจึงนำมาสู่พล็อตยึดครองและความต้องการลงหลักปักฐานในภาค The Way of Water 

นอกจากวาระนี้แล้ว การเกิดก๊าซเรือนกระจก นำมาซึ่งคาร์บอนปริมาณสูงกว่าที่เคยจนเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศใต้น้ำอันสวยงาม ด้วยความที่ James Cameron หลงใหลในโลกใต้น้ำ ปะการัง ชอบสัตว์น้ำมาก และเขาชอบ Scuba Diving ตั้งแต่เด็ก (ดูจากการสร้างสารคดี Deepsea Challenge, หนัง The Abyss กับ Sanctum ที่เป็นโปรดิวเซอร์ ก็พอจะบอกได้แล้วว่าเขารักโลกใต้ท้องทะเลแค่ไหน) ทำให้พล็อตภาคนี้โฟกัสไปที่ท้องทะเลและความสวยงามของโลกใต้น้ำ

James Cameron ยังให้เจ้า Tulkun (ทูลคุน) สิ่งมีชีวิตคล้ายวาฬเป็นตัวแปรสำคัญของเนื้อเรื่องอีกด้วย โดยไอเดียการออกแบบ Tulkun และมีเนื้อเรื่องช่วงล่าวาฬ มาจากความรักวาฬและต้องการปกป้องพวกมันของผู้กำกับเอง เขาศึกษาและพบว่าวาฬที่อาจดูตัวใหญ่เชื่องช้านั้นมีความรู้สึกซับซ้อน เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญา แถมยังมีการปาร์ตี้รวมฝูงประจำปี เหมือนคนที่มาแฮงก์เอาต์​ ดื่มเบียร์ และเต้นรำกันอีกด้วย

ซึ่งข้างต้นคือเหตุผลเบื้องหลังครับ ส่วนเหตุผลอีกครึ่งที่อยู่เบื้องหน้า คือหลังจากที่ภาคแรกพาไปชมป่าเขาลำเนาไพรและห้วงท้องฟ้า ภาคนี้จึงถึงเวลาต้องลงมหาสมุทรกันบ้าง เคยมีคำกล่าวว่าโลกใต้มหาสมุทรนั้นพอ ๆ กับอวกาศ เพราะเรายังสำรวจไม่ทั่ว และไม่อาจรู้ได้อย่างครบถ้วนว่ามีสิ่งใดอยู่ข้างใต้ James Cameron อาจไม่ได้พาเราไปดำน้ำลึกขนาดนั้น แต่พาเราไป Snorkeling หรือดำน้ำดูปะการังในระดับใกล้ ๆ พื้นผิวแต่ได้เห็นความสวยงาม จนสุดท้ายตระหนักได้เองว่า สิ่งที่เราดูในทั้งสองภาค ไม่ต้องไปไกลถึงหมู่ดาว Alpha Centauri แต่โลกเราก็มีอะไรแบบนี้เช่นกัน สิ่งที่เราต้องทำคือแค่เดินทางไปและไม่ทำลายมัน

ไอเดียและเบื้องหลัง ‘Avatar’ จากหนังที่ตั้งต้นอยากให้คนรักธรรมชาติ สู่แฟรนไชส์และหนังทำรายได้สูงสุดที่ทั้งโลกรอคอย

วิถีแห่งสายน้ำ การเติบโต กับสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและสังคม

ในภาคนี้ Jake และ Neytiri จะออกเดินทางไปอาศัยอยู่กับชนเผ่า Metkayina ที่มีหัวหน้าเผ่าคือ Tonowari และศรีภรรยา Ronal รับบทโดย Kate Winslet ซึ่งการไปต่างถิ่นและขยายโลก หนังได้แนะนำตัวละครใหม่เข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเป็น Neyeyam, Lo’ak, Tuk และลูกบุญธรรมอย่าง Kiri รับบทโดย Sigourney Weaver อีกครั้งในบทลูก ซึ่งเกิดจากการตั้งครรภ์ปริศนาจากตัวละครเก่าของตัวเอง ตัวละคร Colonel Miles Quaritch ของ Stephen Lang ที่กลับมาในร่างชาวนาวี กับลูก ๆ หัวหน้าเผ่าปะการังอย่าง Tsireya กับ Aonung และมนุษย์เด็กที่เติบโตมากับวิถีชาวนาวีอย่าง Spider

ผมขอยกคำนิยามของ Sigourney Weaver ที่พูดถึงหนังเรื่องนี้มานะครับ เพราะนิยามได้ดีที่สุด “นี่คือเรื่องราวของครอบครัวที่พยายามอยู่ด้วยกัน และการแสดงให้เห็นถึงครอบครัวที่ปกป้องกันและกัน การปกป้องสถานที่ที่เราอยู่อาศัย และเรื่องที่เราอ่อนแอขนาดไหนเมื่อยังเป็นเด็ก” ซึ่ง James Cameron อธิบายเสริมถึงพล็อตหนังภาค 2 เช่นกันว่า มันคือเรื่องของการเปลี่ยนสถานะ แสดงให้เห็นว่าจากตัวละครที่เคยกล้าบ้าบิ่นอย่าง Jake และ Neytiri จะเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อพวกเขาเป็นพ่อแม่คน

และ The Way of Water ยังเป็นหนังที่นำคำพูดที่ว่า ‘ครอบครัวคือบ้าน; มาแสดงให้เห็นเป็นภาพได้ชัดเจน พร้อมกับนำเสนอแง่มุมใหม่ที่เรายังไม่เคยเห็นบนดาว Pandora ซึ่งทำให้อึ้งทึ่งได้แทบตลอดเวลา เราได้เห็นว่าตัวละครไม่ต้องการจากบ้าน แต่จำใจต้องจาก และสุดท้ายแล้วพวกเขาก็ได้พบคำตอบว่า อะไรกันแน่คือความหมายของนามสกุล Sully

ไอเดียและเบื้องหลัง ‘Avatar’ จากหนังที่ตั้งต้นอยากให้คนรักธรรมชาติ สู่แฟรนไชส์และหนังทำรายได้สูงสุดที่ทั้งโลกรอคอย

โครงสร้างสำคัญของหนังเรื่องนี้ที่สังเกตเห็น คือการสร้างฉากคู่ขนานกับภาคที่แล้วครับ ความคู่ขนานเห็นได้ตั้งแต่บางฉาก อย่างเช่นฉากลืมตาของ Jake Sully ในตอนจบภาคนี้กับภาคที่แล้ว ที่เป็นการลืมตาคนละแบบ จากการลืมของของมนุษย์สู่ Avatar สู่การลืมตาในฐานะคนเป็นพ่อที่เติบโตขึ้นอีกขั้น ไปจนถึงคู่ขนานในภาพใหญ่ที่ขับเน้นเรื่องความแปลกแยกและความโดดเดี่ยว โดยในภาคแรก Jake เป็น Outsider และท้ายที่สุดเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ในขณะที่ภาคนี้มีทั้งเรื่องราวของลูกชายอย่าง Lo’ak ที่เป็นตัวละครหลักแทน วาฬหัวค้อน Tulkan ผู้โดดเดี่ยว และครอบครัว Sully เองที่เป็น Outsider ของครอบครัว ของฝูง และของเผ่าปะการัง Metkayina ตามลำดับ 

ในท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนได้มีที่ทางเป็นของตัวเอง ค้นพบตัวเอง และพบโอกาสพิสูจน์ความจริงว่า พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งกับทั้งครอบครัว สังคม และธรรมชาติ 

ในทางปฏิบัติแล้ว Avatar: The Way of Water จึงเป็นทั้งหนัง Family-drama ในสเกลใหญ่ พร้อม ๆ กับ Sub Plot ที่มีความเป็น Coming-of Age ค้นหาตัวเองไปในตัว จากการให้เวลาผืนป่าราวครึ่งเรื่อง และผืนน้ำครึ่งเรื่อง กับครอบครัวครึ่งเรื่อง ชีวิตวัยรุ่นครึ่งเรื่อง ซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องเหล่านี้ ก็ทำให้เห็นชัดว่าหนังขับเน้นเรื่องความสัมพันธ์เช่นเดียวกันครับ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกัน ชาวเผ่า หรือสิ่งมีชีวิตกับธรรมชาติ 

ไอเดียและเบื้องหลัง ‘Avatar’ จากหนังที่ตั้งต้นอยากให้คนรักธรรมชาติ สู่แฟรนไชส์และหนังทำรายได้สูงสุดที่ทั้งโลกรอคอย

ความน่าสนใจนอกเหนือจากนี้ คือการที่ตัวละคร Kiri เป็นผลผลิตของ Eywa (เอวา) หรือพระมารดา ราวกับเป็นร่างอวตารเจตจำนงแห่งธรรมชาติ ผสมผสานกับ DNA ของร่างนาวี Dr. Grace อีกที การคอนเนกจากธรรมชาตินี้จะนำไปสู่อะไร และอะไรคือความต้องการของดาวดวงนี้ เมื่อมันพูดได้และเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังปกป้องชีวิตและสรรพสิ่ง เป็นเรื่องที่เราคงได้รู้คำตอบในภาคต่อไป แต่ Message เดียวที่มีในตอนนี้คือ ธรรมชาติในหนังอยู่ข้างเรา หากเราเชื่อมโยงกับมันมากพอ และโลกของเราเองก็เช่นกัน หรือกล่าวได้ว่าเป็นการนำไอเดีย World Mind (โลกมีชีวิต เชื่อมต่อจิตได้) มาทำให้เป็นรูปธรมมากขึ้นกว่าการเชื่อมต่อด้วยหางเปียเดียวหรือการสัมผัส

ไอเดียและเบื้องหลัง ‘Avatar’ จากหนังที่ตั้งต้นอยากให้คนรักธรรมชาติ สู่แฟรนไชส์และหนังทำรายได้สูงสุดที่ทั้งโลกรอคอย

ความสัมพันธ์ของอีกคู่ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือความสัมพันธ์ระหว่างผู้พัน Quaritch กับ Spider ละแต่ละตัวละครเอง ว่า Quaritch จะมีหนทางอย่างไรต่อจากนี้ ในเมื่อตัวเองเป็นความทรงจำหรือร่างโคลนที่ได้รับมาเพียงเจตจำนงของ Quaritch ที่ตายไปแล้ว แต่อันที่จริงก็ไม่ได้มีความแค้นไปกับ Jake Sully ซะทีเดียว จึงมีโอกาสที่จะได้เห็นตัวละครนี้เลือกเส้นทางแตกต่างออกไปจากเดิม ส่วน Spider เองก็เป็นตัวละครที่ต้องชั่งใจเช่นกันว่าจริง ๆ แล้วเขาคือใคร แต่ที่แน่ ๆ สายสัมพันธ์นี้ชวนให้นึกถึงการที่ James Cameron นำ Arnold Schwarzenegger ที่เล่นเป็นตัวร้ายในหนังคนเหล็กภาคแรก มาจับคู่อินเนอร์พ่อ-ลูกกับตัวละคร John Conner ในภาค Judgement Day หรือภาค 2 ไม่น้อยเลยครับ

ไอเดียและเบื้องหลัง ‘Avatar’ จากหนังที่ตั้งต้นอยากให้คนรักธรรมชาติ สู่แฟรนไชส์และหนังทำรายได้สูงสุดที่ทั้งโลกรอคอย

ในภาพรวมแล้วเรื่องความตระการตา ถือว่ายิ่งกว่าคำว่าสอบผ่านครับ ในเมื่อ James Cameron โปรโมตหนังตัวเองอย่างมั่นใจ ก็จะขอกล่าวถึงหนังด้วยเอเนอร์จี้ระดับเดียวกันเช่นกันว่า Avatar: The Way of Water น่าจะใกล้เคียงกับการนั่งยานอวกาศไปท่องต่างโลกที่สุด เท่าที่เราจะมีประสบการณ์ร่วมกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชมในโรงภาพยนตร์ระบบ IMAX 3D เลเซอร์

ในส่วนตัวบท นับว่ามีความน่าสนใจมากกว่าภาคแรก ถึงแม้ว่าจะลดบทบาท 2 ตัวเอกภาค 1 ลง ภาคนี้เลือกขายความหลากหลายแทน และถึงแม้จะรู้เสียดายไปบ้างในเรื่องที่เจาะลึกบางตัวละครและบางประเด็นได้มากกว่านี้ แต่ก็หวังอย่างยิ่งว่า การวางบทพร้อมกัน 3-4 ภาค (หรือหนังมีรายได้น่าพึงใจพอที่จะไปถึงภาค 5 ได้) จะบอกเล่าส่วนนี้ให้รู้สึกอิ่มเอมมากขึ้น 

สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือชื่อของแต่ละภาคครับ จากที่ประกาศชื่อภาค 2-5 จะเป็นตามลำดับ คือ Avatar 2 = The Way of Water, Avatar 3 = The Seed Bearer, Avatar 4 = The Tulkun Rider และ Avatar 5 =The Quest for Eywa สิ่งที่สงสัยหลังดูภาคแรกและ The Way of Water จบ คือป่าก็แล้ว ท้องฟ้าก็แล้ว ใต้น้ำก็แล้ว ภาคถัดไปจะเล่นเรื่องอะไรอีก มีส่วนไหนวัฒนธรรมไหนที่เรายังไม่รู้จักหรือไม่เคยเห็น และจะพาเราไปสำรวจจักรวาลกว้างไกลถึงไหน 

และ 2 สิ่งที่พอรู้คือ James Cameron มีไอเดียว่าสักภาคในนี้จะพาไปสำรวจดวงจันทร์ดวงอื่นของดาว Polyphemus ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการที่ The Way of Water ทำให้เราตะลึงงึงงันได้ตลอดเวลาที่รับชม และตั้งมาตรฐานในการสร้างภาพยนตร์ให้สูงขึ้นไปอีก หนังภาคต่อ Avatar ที่กำลังจะมาต่อจากนี้ จะไม่มีเรื่องไหนธรรมดาเป็นแน่

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.cnet.com

https://time.com

https://deadline.com

https://www.businessinsider.com

http://www.mtv.com

https://www.vulture.com

https://www.newsweek.com

https://deadline.com

 

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ