ธุรกิจครอบครัว คือเนื้อหาที่อยู่คู่กับ The Cloud มาตั้งแต่ก่อตั้ง

เราหลงใหลชีวิตและงานของผู้ประกอบการ ทึ่งในความเอาใจใส่เพื่อพัฒนาสินค้าที่ดีที่สุดสู่ผู้บริโภค โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวยิ่งน่าสนใจ เพราะเบื้องหลังเรื่องราวธุรกิจที่สร้างแรงบันดาลใจไม่ได้มีแค่กลยุทธ์ ตัวเลขผลประกอบการ แต่ยังมีความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว เกี่ยวเนื่อง เชื่อมโยง และขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้า 

เรานำเสนอทั้งเนื้อหาบทความ วิดีโอ และเสวนาธุรกิจครอบครัวรูปแบบใหม่ชื่อว่า ‘ทายาทรุ่นสอง’ จัดครั้งแรกใน พ.ศ. 2562 รวมเคสธุรกิจครอบครัวสัญชาติไทยไว้มากที่สุด เปิดประเด็นใหม่ ๆ เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว มีผู้คนจากกว่า 500 ธุรกิจครอบครัวไทยมาเข้าร่วม 

6 ปีผ่านไป ธุรกิจครอบครัวเผชิญความเปลี่ยนแปลงมากมาย 

เราอยากยกระดับงานให้ใหญ่ขึ้น นำเสนอความรู้และประสบการณ์จากผู้นำธุรกิจและทายาทที่มีค่า เสวนาปีนี้เราจึงใช้ชื่อว่า Family Business Forum 2024 ‘รวมญาติ’

จุดร่วมของธุรกิจครอบครัวยุคใหม่ คือแต่ละรุ่นไม่ได้มีสมาชิกแค่ 1 คน ทายาทจึงต้องทำงานร่วมกับคนจำนวนมาก ทั้งในรุ่นของตัวเองและรุ่นอื่น

ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจจำนวนมากจึงแบ่งความรับผิดชอบทางธุรกิจให้ทายาทอย่างเป็นระบบ ทั้งการแบ่งสถานะสมาชิกครอบครัว ผู้ถือหุ้น และคนทำงานมืออาชีพให้ชัดเจน รวมถึงแบ่งการตัดสินใจว่าทายาทคนไหนควรรับผิดชอบเรื่องใด 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องคนรุ่นใหม่อยากทำงานประจำน้อยลง ทำอย่างไรถึงจะทำให้ทายาทสานต่อธุรกิจครอบครัวได้โดยยังมีเวลาทำสิ่งอื่น ๆ ที่ตัวเองสนใจ 

ความแตกต่างระหว่างรุ่นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำอย่างไรจึงจะลดปัญหาระหว่างรุ่น ดึงจุดเด่นของแต่ละคนมาส่งเสริมกันและกัน

นี่คือโจทย์ในปี 2024 ที่ธุรกิจครอบครัวต้องฝ่าฟัน

เรานำโจทย์นี้มาเป็นแก่นของงาน Family Business Forum เพื่อให้เนื้อหาของงานตอบคำถามที่ทายาททุกรุ่นและทุกคนต้องตอบ

แนวคิดของงานปีนี้คือ ‘รวมญาติ’ เราเชิญวิทยากรรวมญาติมาขึ้นเวทีร่วมกัน ทั้งสมาชิกร่วมรุ่นและสมาชิกในรุ่นอื่น เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การทำงานจากหลากหลายมุมมอง 

เราเชิญผู้ฟังที่เป็นทายาทธุรกิจหรือผู้ประกอบการธุรกิจที่ดีจากทั่วประเทศมารวมญาติ เปลี่ยนบรรยากาศงานเสวนาธุรกิจทั่วไปให้สนุกสนานเป็นกันเอง ไปจนถึงเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ ‘คุย’ กับครอบครัวอื่น และได้คุยกับครอบครัวตัวเองแบบที่ไม่เคยคุยมาก่อน

Family Business Forum 2024 ‘รวมญาติ’ จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เวลา 13.00 – 19.00 น. ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 เนื้อหาภายในงานประกอบด้วยช่วงต่าง ๆ ดังนี้

Talk

ร่วมรับฟังบทสนทนาจากครอบครัวธุรกิจบนเวที
เสมือนผู้ชมเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัว

พบกับ 6 ประเด็นธุรกิจครอบครัว โดย 6 ครอบครัวธุรกิจ

หัวข้อ 01
The Siam Hotel : การสานต่อธุรกิจโดยศิลปิน 4 พี่น้องที่ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย 

บ้านสุโกศล โดย มาริสา สุโกศล, กมล สุโกศล แคลปป์, กฤษดา สุโกศล แคลปป์ และ ดีโน่ สุโกศล แคลปป์

การสานต่อธุรกิจของครอบครัวร่วมกับพี่น้อง ครอบครัวควรจะมีระบบที่แบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างไรให้สมาชิกสานต่อธุรกิจไปพร้อมกับทำสิ่งที่ชอบได้ ไปจนถึงการใช้ความถนัดหรือประสบการณ์ของแต่ละคนมาช่วยในการทำงานร่วมกัน

เมื่อเอ่ยชื่อ ‘ครอบครัวสุโกศล’ คนมักคิดถึงครอบครัวศิลปินนักดนตรี แท้จริงแล้วครอบครัวนี้เป็นบ้านที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณผู้ประกอบการ ตั้งแต่ คุณแม่กมลา ที่บรรจงสร้างโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจอื่น ๆ ร่วมกับลูก ๆ จนกลายเป็นอาณาจักรเครือสุโกศล และเมื่อวันหนึ่งที่ลูก ๆ กลับมารวมตัวกันบริหารกิจการ มีมาริสาดูแลด้านการขายและการตลาด ดารณีจัดการด้านการเงิน กมลคอยสอดส่องหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ และกฤษดาสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ ก็ทำให้ ‘เดอะ สยาม’ โรงแรมระดับ 6 ดาวแห่งแรกและแห่งเดียวที่มีพูลวิลล่าใจกลางกรุงประสบความสำเร็จ ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 50 โรงแรมดีที่สุดในโลก จาก The World’s 50 Best Hotels ประจำปี 2023 

พบกับเรื่องราวการสานต่อธุรกิจโรงแรมของครอบครัวสุโกศล โดย 4 พี่น้องศิลปินที่ใช้ความแตกต่างมาร่วมกันบริหารกิจการ การเป็นคนกลางผู้ประสานการทำงานระหว่างแม่และน้อง ๆ ของมาริสา การหาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองให้เจอเมื่อทำงานร่วมกับคนในครอบครัวของกมล การออกแบบวิธีการทำงานที่เปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นไปได้ของกฤษดา และการเข้ามาเรียนรู้งานในคณะครอบครัวของทายาทรุ่นสี่อย่างดีโน่

หัวข้อ 02
ซีคอน กรุ๊ป : กลยุทธ์การทำงานร่วมกันของครอบครัวกงสีที่มีคนเยอะและมีธุรกิจหลากหลาย

บ้านซอโสตถิกุล โดย ปิยะ ซอโสตถิกุล, ไปรเทพ ซอโสตถิกุล และ จักรพล จันทวิมล

เมื่อธุรกิจเพียงหนึ่งไม่อาจเลี้ยงดูคนทั้งครอบครัวได้ คนรุ่นก่อตั้งผู้มีวิสัยทัศน์จึงขยับขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมที่หลากหลาย มีทั้งเกี่ยวและไม่เกี่ยวข้องกันโดยสิ้นเชิง ในวันที่ธุรกิจส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น มีคนจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง ครอบครัวจะมีระบบการแบ่งความรับผิดชอบให้ทายาทอย่างไร คนไหนควรสานต่อธุรกิจไหน ครอบครัวต้องทำอย่างไรให้ธุรกิจดำเนินและเติบโตอย่างมีอาชีพ

ในหัวข้อนี้เราชวนครอบครัวซอโสตถิกุล บ้านที่มีสมาชิกครอบครัวมากที่สุดบ้านหนึ่งในประเทศ และประกอบธุรกิจหลากสาขามากที่สุดเช่นกัน จากโรงงานรองเท้าเล็ก ๆ เมื่อ 71 ปีก่อน จุดเริ่มต้นของธุรกิจรองเท้า (นันยาง และ ช้างดาว) สู่ธุรกิจผงชูรสแบรนด์ไทยแบรนด์แรก (ผงชูรสตราชฎา) ธุรกิจรับสร้างบ้าน (ซีคอนโฮม) ซึ่งในอดีตเป็นผู้พัฒนาและก่อสร้างศูนย์การค้าสยามสแควร์ สร้างโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล สร้างโรงหนังสยาม สกาลา ลิโด และโครงการหมู่บ้านมิตรภาพ ซึ่งเป็นหมู่บ้านแห่งแรกของประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ยังมีธุรกิจศูนย์การค้า (ห้างซีคอนสแควร์) ธุรกิจโรงแรม (โรงแรมเรเนซองส์, เอราวัณนา) จนถึงบริหารมูลนิธิ ป่อเต็กตึ๊ง นี่คือหนึ่งในธุรกิจกงสีที่น่าศึกษาที่สุดเจ้าหนึ่งของประเทศไทย 

พบกับเรื่องราวและระบบของการทำงานร่วมกันระหว่างคนจำนวนมาก ซึ่งหากจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญ ๆ ในธุรกิจ สมาชิกในบ้านซอโสตถิกุลต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามีความรู้ความสามารถ มีความเป็นมืออาชีพในการทำงาน พร้อมพาธุรกิจให้อยู่รอดปลอดภัยอย่างมั่นคง ฟังเรื่องราวจากตัวแทนบ้านซอโสตถิกุล นำทีมโดย ปิยะ ผู้อยู่เบื้องหลังกิจการใหญ่ ๆ ของประเทศ ไปรเทพ ผู้ริเริ่มธรรมนูญครอบครัว และจักรพล ตัวแทนของรุ่นผู้สานต่อธุรกิจให้อยู่ร่วมยุคร่วมสมัย

หัวข้อ 03 
Farmily Business : การแตกกิ่งก้านกิจการของครอบครัวเกษตรกร ดึงให้คนเมืองสนใจวิถีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ

บ้านริ้วบำรุง โดย เสวก ริ้วบำรุง, บังอร ริ้วบำรุง, ศิรินภา ริ้วบำรุง, ศิริลักษณ์ ริ้วบำรุง, ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง และ จาตุรงค์ ขุนกอง

เพราะสังคมไทยมีรากฐานเศรษฐกิจมาจากเกษตรกรรม ธุรกิจครอบครัวของครอบครัวชาวสวนจึงเป็นหนึ่งในหัวข้อที่เราอยากให้มีในงานนี้มากที่สุด และเมื่อคิดถึงครอบครัวชาวสวน ชื่อแรกในหัวของเราคือบ้านริ้วบำรุง สิ่งที่น่าสนใจคือ ในการส่งต่อธุรกิจครอบครัวทั่วไป คนรุ่นก่อนจะมีอำนาจเปลี่ยนแปลงทายาท แต่สำหรับบ้านนี้ ทายาทผู้เป็นตัวจริงเรื่องออร์แกนิกกลับบอกให้พ่อเลิกทำธุรกิจเพาะพันธุ์กล้วยไม้เพราะอุดมไปด้วยเคมี แล้วเปลี่ยนวิถีคืนสู่ธรรมชาติ เกิดเป็นธุรกิจใหม่ตามความสนใจภายใต้ครัวเรือนเดียวกัน

ในหัวข้อนี้เราชวน‘ครอบครัวริ้วบำรุง’  ซึ่งประกอบด้วยทายาทรุ่นสามและสี่ ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างพื้นที่สวนของครอบครัว ซึ่งเดิมเป็นสวนผลไม้ท้องถิ่นและพื้นที่เพาะพันธุ์กล้วยไม้ส่งออกต่างประเทศ ให้กลายเป็นร้านอาหารและร้านต้นไม้ Litte Tree Garden ต่อยอดเป็นคาเฟ่ออร์แกนิก Whispering Cafe และ Little Tree Grocery ไปจนถึงธุรกิจรับจัดสวนซึ่งโด่งดังระดับประเทศของ ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง อย่าง Little Tree Landscape และที่พิเศษกว่านั้น คือพวกเขาทำให้คนอีกมากมายหันมารักในสิ่งเดียวกันได้ด้วย 

วิธีการทำงานร่วมกันระหว่างกิจการที่เกื้อหนุนกันและกัน อย่างฟาร์มต้นไม้หายากของพ่อกับบริการจัดสวนแสนพิเศษของลูกชาย ร้านอาหารของแม่และคนรักของลูก คาเฟ่ของลูกสาว เป็นอย่างไร ร่วมสำรวจเส้นทางการสร้างธุรกิจในพื้นที่ของครอบครัวที่ให้คุณค่าและความหมายต่อชีวิตไปด้วยกัน

หัวข้อ 04 
บ้านตรอกถั่วงอก : หลักสูตรเตรียมความพร้อมของ 4 พี่น้องที่ซ้อมทำงานด้วยกันผ่านธุรกิจครีเอทีฟสตาร์ทอัพ

บ้านอัสสกุล โดย วินด์ อัสสกุล, ซัน อัสสกุล, แซนด์ อัสสกุล และ กฤษนัย อัสสกุล

ในการสานต่อธุรกิจครอบครัวที่มีคนมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อสายงานแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกันของพี่น้องและเครือญาติ คงจะดีถ้าครอบครัวมีสนามทดลองให้เหล่าทายาทได้ซ้อมทำงานร่วมกันมาก่อน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง และช่วยให้พวกเขาค้นหาตัวเองในธุรกิจครอบครัวเจอ

หัวข้อนี้เราจึงชวน 4 พี่น้องจากบ้านอัสสกุล ซึ่งเป็นทายาทรุ่นสามของ โอเชี่ยนกรุ๊ป ผู้ก่อตั้ง ไทยสมุทรประกันชีวิต และเครื่องแก้วแบรนด์ไทยคุณภาพดีอย่าง โอเชียนกลาส มาเล่าถึงการทำงานร่วมกันในโปรเจกต์พัฒนาบ้านตรอกถั่วงอก เปลี่ยนอาคารเก่าอายุกว่าร้อยปีของครอบครัวให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ จากเดิมที่วางตัวพี่ชายคนโต ผู้เป็นสถาปนิกทำงานด้านรีโนเวตอาคารอนุรักษ์ในอังกฤษให้มาดูแลโครงการนี้ น้อง ๆ ทั้ง 3 ซึ่งทำงานในสายศิลปะ สายธุรกิจ และนักการเงิน ก็กลับมาร่วมแรงร่วมใจปั้นธุรกิจครีเอทีฟสตาร์ทอัพนี้ขึ้นมาจากความเชี่ยวชาญของแต่ละคน

แทนที่จะทำให้บ้านเก่ามีหน้าตาสวยโดดเด่น บ้านตรอกถั่วงอกกลับทำตัวกลมกลืนกับพื้นที่ แทนที่จะจัดแสดงผลงานศิลปินดัง พวกเขาเลือกสนับสนุนศิลปินไทยดี ๆ ที่ขาดโอกาส แทนที่จะเปิดร้านอาหารหรูหรา พวกเขาเลือกทำพื้นที่ส่วนกลางให้เชฟเก่ง ๆ แวะเวียนมาแสดงฝีมือ 

แม้ทั้ง 4 คนจะเติบโตมาในครอบครัวที่สนิทกันมาก เมื่อโตขึ้นต่างเลือกเรียนและใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน การกลับมาเริ่มต้นธุรกิจบ้านตรอกถั่วงอกนี้จึงถือเป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้เรียนรู้กันและกันอย่างแท้จริง ผลัดกันเป็นผู้นำกับผู้ตามในสิ่งที่ถนัด เรียนรู้ว่าแต่ละคนมีเป้าหมายชีวิตแบบไหน เรียนรู้ว่าจะหาสมดุลระหว่างครอบครัวและธุรกิจได้อย่างไร ก่อนสวมหมวกผู้รับช่วงต่อธุรกิจอย่างเป็นทางการในอนาคต 

หัวข้อ 05
บาร์บีคิวพลาซ่า : เบื้องหลังระบบทรานส์ฟอร์มธุรกิจครอบครัวโดยเหล่าทายาทและลูกเขย

บ้านสุพรรณพงศ์ โดย ชาตยา สุพรรณพงศ์ และ เรืองชาย สุพรรณพงศ์  

หนึ่งในประเด็นธุรกิจครอบครัวที่คนให้ความสนใจมากที่สุด คือเรื่องการเข้ามามีส่วนร่วมของเขยและสะใภ้ แต่หัวข้อนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน เพราะไม่มีเขยและสะใภ้คนไหนอยากได้ชื่อว่าเป็นคนเข้ามากอบกู้หรือเป็นคนสำคัญเหนือสมาชิกในครอบครัว เราพบว่ามีธุรกิจครอบครัวไทยจำนวนไม่น้อยที่ให้ความไว้วางใจและมอบภารกิจสำคัญให้ผู้เป็นเขยหรือสะใภ้ หนึ่งในนั้นคือบริษัทฟู้ดแพชชั่น เจ้าของบาร์บีคิวพลาซ่า ร้านปิ้งย่างประจำครอบครัว

พูดถึงบาร์บีคิวพลาซ่า หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวการสานต่อธุรกิจจากปาก ชาตยา สุพรรณพงศ์  ผู้เป็นทายาทมาบ้างแล้ว ในงานนี้เป็นครั้งแรกที่ เรืองชาย สุพรรณพงศ์ ลูกเขยผู้เป็นเบื้องหลังคนสำคัญ ทำหน้าที่วางระบบภายในบริษัทและในร้านอาหารมานานกว่า 10 ปี มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวการร่วมกันบริหารและทรานส์ฟอร์มธุรกิจครอบครัวด้วย

วิธีรักษาสมดุลระหว่างความสัมพันธ์กับธุรกิจจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยา, พ่อ-ลูก ๆ, พี่คนโต-น้อง ๆ, พ่อ-ลูกเขย-ลูก ๆ, เจ้านาย-ลูกน้อง และอื่น ๆ พบเรื่องราวเหล่านี้ได้ในงาน

หัวข้อ 06
GranMonte : จากโปรเจกต์วัยเกษียณของพ่อ สู่ธุรกิจระดับโลกของลูก

บ้านโลหิตนาวี โดย วิสุทธิ์ โลหิตนาวี, สกุณา โลหิตนาวี, วิสุตา โลหิตนาวี และ สุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี

ไม่ใช่แค่เรื่องราวการสานต่อธุรกิจครอบครัว ในงานนี้เรายังมีหัวข้อที่ทายาทเข้ามาสานต่อความฝันของสมาชิกในครอบครัวพร้อมปั้นธุรกิจนั้นไปสู่ระดับโลก

GranMonte คืออาณาจักรไร่องุ่นที่สร้างเอกลักษณ์ให้ไวน์ไทยแห่งเขาใหญ่เป็นที่รู้จักในระดับโลก ทั้งได้รับเลือกให้ใช้เสิร์ฟรับรองสุดยอดผู้นำสำหรับการประชุม APEC 2022 และได้รับรางวัลการแข่งขันไวน์ในต่างประเทศมาอย่างไม่ขาดสายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดย GranMonte เกิดขึ้นจากงานอดิเรกของพ่อ อดีตพนักงานประจำผู้เป็น Wine Lover ที่คิดปลูกองุ่นเพราะอยากทำไวน์ดื่มเองเล่น ๆ เขาจริงจัง ลงลึกขึ้นเรื่อย ๆ และส่งต่อความรักไวน์นี้ถึงคนทั้งครอบครัว ร่วมกันทำงานสานต่อธุรกิจ จากไร่องุ่น สู่ร้านอาหาร ทัวร์ท่องเที่ยวชมการผลิตไวน์ ผลิตและจำหน่ายไวน์ที่มีคาแรกเตอร์และรสชาติพิเศษ 

เรื่องราวทั้งหอมและหวานจากการบ่มเพาะและทำงานร่วมกันของคนในครอบครัวไปพร้อมกับการสานต่อธุรกิจเพื่อไปสู่ระดับโลกอย่างไรบ้าง

Join

พูดคุยกับเพื่อนใหม่
แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างครอบครัว

เพราะคอนเทนต์กิจการครอบครัวไม่ได้อยู่แค่บนเวที ผู้ร่วมงานซึ่งมาจากหลากหลายอุตสาหกรรมและภูมิภาคล้วนมีเรื่องราวของตัวเอง งานนี้จึงเปิดโอกาสให้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับวิทยากร พร้อมทำความรู้จักเพื่อนทายาทธุรกิจ โซนนี้เราตกแต่งพื้นที่ให้เหมือนบ้านญาติ ซึ่งคุณเลือกวงสนทนาได้ว่าจะเข้าร่วมวงสนทนากับผู้ใหญ่หรือเด็ก

นอกจากครอบครัวสุโกศล ครอบครัวซอโสตถิกุล ครอบครัวอัสสกุล ครอบครัวริ้วบำรุง ครอบครัวสุพรรณพงศ์ คุณจะได้พบกับวิทยากรและธุรกิจครอบครัวไทยกว่า 20 ครอบครัวที่เคยมาขึ้นเวทีงาน ‘ทายาทรุ่นสอง’ 

Tell

บอกความในใจที่ไม่เคยบอกกับสมาชิกในครอบครัว

ปัญหาหลายอย่างของครอบครัวธุรกิจเกิดขึ้นจากการสื่อสาร งานนี้ไม่เพียงจัดในบรรยากาศการรวมญาติ แต่เราอยากสร้างเครื่องมือให้ผู้เข้าร่วมได้บอกความในใจกับสมาชิกครอบครัว ผ่านการเขียนจดหมายถึงคนสำคัญ 1 ฉบับ และอีก 1 ฉบับสำหรับเขียนถึงตัวเองในอนาคต ซึ่งทีมงานจะเก็บรักษาจดหมายไว้และนำส่งให้ในปีถัดไป

Learn

เรียนหลักสูตรธุรกิจครอบครัวสุดพิเศษจาก The Cloud 

ในงานนี้จะเปิดตัวหลักสูตรและรับสมัครหลักสูตรธุรกิจครอบครัวสุดพิเศษ ชื่อว่า ‘The Cloud School : Business Family’ สอนโดย ศ.ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ จาก University of California San Diego (UCSD) และผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัว และผู้เขียนหนังสือ Business Family ผลงานล่าสุดจาก The Cloud

ดร.กฤษฎ์เลิศ ถอดรหัสบทเรียนธุรกิจไทยที่ The Cloud เคยนำเสนอตลอด 341 เคสตลอดระยะเวลา 6 ปี กลั่นเป็นคำแนะนำเพื่อจุดประกายความคิด จากมุมมองและประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญธุรกิจครอบครัวระดับประเทศ 

หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้นำธุรกิจครอบครัวที่กำลังเผชิญทางตัน อยู่ระหว่างค้นหาทางออก หรือทายาทที่เตรียมตัวสืบทอดกิจการแต่ยังไม่พบแก่นของตัวเอง ต้องการหลักคิดเพื่อกำหนดทิศทางธุรกิจในอนาคต

The Cloud School : Business Family จะจัดวันที่ 3 และ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ติดตามรายละเอียดได้เร็ว ๆ นี้

Family Business Forum

Family Business Forum 2024 ‘รวมญาติ’

วัน-เวลา

เวลา 13.00 - 19.00 น. น.

สถานที่

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7

จำนวนผู้เข้าร่วม

500 คน

ค่าใช้จ่าย

1,900 บาท

วิธีการสมัคร

ผู้ที่สนใจ ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ปุ่ม ‘สมัครเข้าร่วมกิจกรรม’

งานนี้ไม่จำกัดแค่ทายาทธุรกิจครอบครัวเท่านั้น เราอยากชวนผู้ประกอบการที่อยากแก้ปัญหาให้ธุรกิจที่ดีของประเทศไทยได้ส่งผ่านสู่รุ่นถัดไปอย่างยั่งยืน

*ซื้อบัตรได้แล้ววันนี้ในราคา 1,900 บาท พิเศษ บัตรรวมญาติ (3 ใบขึ้นไป) ราคาเพียงใบละ 1,500 บาท

สมัครเข้าร่วมกิจกรรม