ธุรกิจ : Sukosol Group

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2516

ประเภท : โรงแรมในกรุงเทพฯ 2 แห่ง ได้แก่ The Sukosol, The Siam
โรงแรมในพัทยา 3 แห่ง ได้แก่ Siam Bayshore, The Bayview, Wave
และมีธุรกิจในเครืออื่น ๆ เช่น ร้านอาหาร เครื่องมือแพทย์

ผู้ก่อตั้ง : กมลา สุโกศล

ทายาทรุ่นสอง : มาริสา สุโกศล หนุนภักดี, ดารณี สุโกศล แคลปป์, กมล สุโกศล แคลปป์, กฤษดา สุโกศล แคลปป์

หากเอ่ยถึงครอบครัวสุโกศล หลายคนคงนึกถึง คุณแม่กมลา สุโกศล และบทเพลงจากค่ายเบเกอรี่มิวสิคที่มี สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ ลูกชายคนที่ 3 เป็นหนึ่งในหัวเรือใหญ่ อีกทั้งได้ชวนพี่สาวคนโต สา-มาริสา สุโกศล หนุนภักดี พี่สาวคนรอง ณี-ดารณี สุโกศล แคลปป์ และน้องชายคนเล็ก น้อย-กฤษดา สุโกศล แคลปป์ มาร่วมขับร้อง จนเป็นภาพจำในฐานะครอบครัวนักดนตรีของเมืองไทย

“แต่เดี๋ยวก่อน…” เสียงมาริสาแทรกขึ้นมา “คนชอบคิดว่าเวลาเราอยู่บ้าน จะร้องเพลงกันตลอดเวลา ไม่ใช่หรอกนะ”

แท้จริงแล้ว ครอบครัวสุโกศลคือบ้านที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณผู้ประกอบการอย่างแท้จริง เมื่อคุณตาของตระกูลได้มอบที่ดิน 44 ไร่ที่พัทยาให้คุณแม่กมลาสมัยยังสาว บอกเพียงว่า ไปสร้างโรงแรมมา

ถ้าทำไม่ได้ จะยกให้คนอื่นแทน

จากหนึ่งสมองสองมือของคุณแม่กมลาในวันนั้น กลายเป็นอาณาจักรเครือสุโกศลในวันนี้ ซึ่งมีทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจอื่น ๆ ที่เติบโตไปพร้อมกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย 

แม้ลูก ๆ จะเติบโตมากับการเห็นคุณแม่กมลาบริหารโรงแรมมาโดยตลอด แต่จังหวะการเข้ามาสานต่อกิจการครอบครัวของทั้ง 4 พี่น้องไม่ได้ราบเรียบเหมือนจังหวะดนตรี 4 ห้องทั่วไป

ความต่างของพี่น้องแต่ละคนเข้ามาช่วยเติมเต็มธุรกิจครอบครัวสุโกศลได้อย่างไรบ้าง มาติดตามผ่านท่วงทำนองของบทความนี้ไปพร้อมกัน

ได้ยินไหม หัวใจฉัน มันกำลังบอกรัก รักเธออยู่

หากใครอ่านประโยคนี้เป็นเนื้อเพลงในหัวได้ แสดงว่าต้องเคยได้ยินเสียงหวาน ๆ ของมาริสา ลูกสาวคนโตตระกูลสุโกศลเจ้าของบทเพลง สักวันหนึ่ง ที่ในช่วงวัยรุ่นเคยโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงและรักการร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ ถึงขั้นคุณแม่กมลาแอบบอกความในใจว่า

“ตอนนั้นเราก็รู้สึกผิดนะที่ให้เขามาช่วยงานโรงแรม เหมือนไปพรากความฝันของเขามา มาริสาเป็นคนมีพรสวรรค์ด้านการร้องเพลงที่เก่งมาก”

จังหวะชีวิตที่มาริสาเข้ามาบริหารธุรกิจครอบครัว คือช่วงที่คุณแม่กมลาเริ่มสร้างโรงแรมสุโกศล โรงแรมแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร หลังจากมีโรงแรม 2 แห่งอยู่ที่พัทยา

มาริสา ผู้ไม่เคยเรียนบริหารธุรกิจและไม่เคยเกี่ยวข้องกับธุรกิจใด ๆ เลยเล่าว่า “ตอนสร้างโรงแรมสุโกศล ต้องดูตั้งแต่จัดซื้อ วางกลยุทธ์ วางระบบ คุณแม่ชวนเพื่อนที่เป็นผู้บริหารโรงแรมจากสวิตเซอร์แลนด์มาช่วยสอนทุกอย่าง เสียดายที่ตอนนั้นเราไม่ตั้งใจเรียนรู้จากเขามาให้เยอะกว่านี้ เพราะทุกอย่างที่เขาแนะนำกลายมาเป็นรากฐานของงานในวันนี้ทั้งหมดเลย”

ในช่วงเวลานั้นมาริสาเข้ามาช่วยบริหารโรงแรมเพียงคนเดียว ส่วนดารณีทำงานสายการเงินอยู่ต่างประเทศ สุกี้และน้อยไปทำธุรกิจส่วนตัวบ้าง ทำเพลงบ้าง ตามความชอบของแต่ละคน

บ้านสุโกศลแห่งนี้ไม่เคยกำหนดเส้นทางชีวิตใคร หัวใจของลูกบอกรักสิ่งใด คุณแม่กมลาก็ไม่เคยห้าม ด้วยความคิดที่ว่าเราเกิดมาเพียงครั้งเดียว ให้ไปทำในสิ่งที่ชอบเถิด

คุณแม่กมลาจึงไม่ได้คาดหวังให้ใครมาทำธุรกิจครอบครัวเลย แม้จะมีความหวังอยู่ลึก ๆ ว่า หากลูกมาช่วยบ้างก็คงดี

แต่ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ เราได้ฟังความในใจลึก ๆ ของทั้งสี่พี่น้อง หลังจากไปผจญภัยตามทางของตัวเองมาครึ่งค่อนชีวิต ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “แม่ไม่เคยบังคับลูกให้มาช่วยงาน แต่เรารู้อยู่แล้วว่าไม่ช้าก็เร็ว เราต้องกลับมา”

โปรเจกต์พาลูกกลับบ้าน

ที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา 8 ไร่ เป็นต้นเหตุให้ 4 พี่น้องกลับบ้านมาลุยงานชิ้นใหญ่ร่วมกันเป็นครั้งแรก

“ตอนที่เรายังเล่นหนังร้องเพลงอยู่ ก็รู้สึกผิดนิดหน่อยว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมกับครอบครัวยังไงดี จนวันหนึ่งที่คุณแม่บอกว่า มีที่ดินริมแม่น้ำพระยา พอเราได้เห็น เรารู้เลยว่าเจอแล้ว จุดที่จะพาเรากลับบ้าน เราอยากสร้างโรงแรม จะสร้างให้ไม่เหมือนใครเลย” น้อยเล่าแบบเขิน ๆ ที่กล้าโยนไอเดียออกไปตอนนั้น

แล้วโปรเจกต์เนรมิตโรงแรมก็เริ่มต้นขึ้น มีจังหวะที่ทำเอาดารณีตาขวางใส่นิดหน่อย เมื่อคิดคำนวณตัวเลขการสร้างโรงแรมหลักพันล้าน แต่แลกมาด้วยห้องพักเพียงหลักสิบห้อง จนสุดท้ายจบลงอย่างนุ่มนวลด้วยการตัดสินใจของคุณแม่กมลาที่ใช้ทั้งลูกผสมของจิตวิญญาณผู้ประกอบการและความเป็นศิลปินนำทางให้กับครอบครัว

“ผมบอกได้เลยว่าถ้าครอบครัวเราไม่ใช่ครอบครัวศิลปิน แต่เป็นครอบครัวนักธุรกิจเต็มตัว โรงแรมแห่งนี้คงไม่เกิดขึ้น ไม่มีใครเอาที่ดิน 8 ไร่ในเมืองมาลงทุนราว 2,000 ล้านบาท ทำโรงแรมแค่ 39 ห้องแน่นอน” น้อยเล่า

ก่อนเฉลยชื่อโรงแรม อยากเปิดเพลงโหมโรงออร์เคสตราให้ผู้อ่านก่อนสักหนึ่งท่อน เพื่อต้อนรับความยิ่งใหญ่ของผลงานครอบครัวสุโกศลที่มาจากหยาดเหงื่อและความร่วมมือร่วมใจกัน

‘โรงแรม เดอะ สยาม’ ลักชูรี่ รีสอร์ตระดับหกดาวกลางกรุงเทพฯ แห่งแรกและแห่งเดียวที่มีพูลวิลล่า ประสบความสำเร็จด้วยรางวัลการันตีจากนานาชาตินับไม่ถ้วน อีกทั้งในปี 2023 ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 50 โรงแรมที่ดีที่สุดในโลก จาก The 50 Best

มาริสาให้เครดิตน้อยเป็นพิเศษในเรื่องการออกแบบ เรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่น่าอัศจรรย์ คนมองจากภายนอกไม่มีทางเข้าใจ และอยากเชิญชวนให้ทุกคนได้เดินเข้าไปสัมผัสสักครั้งในชีวิต

โชคดีที่เราไม่มีอะไรเหมือนกันเลย

มาริสาดูแลด้านการขายและการตลาด 

ดารณีจัดการด้านการเงิน

สุกี้คอยสอดส่องหาโอกาสทางธุรกิจใหม่

น้อยสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ 

ความลงตัวในการทำงานของทั้ง 4 คนนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และไม่ใช่เรื่องที่คุณแม่กมลาวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า แต่คุณแม่คือคนสำคัญที่คอยมอบโอกาสให้ลูก ๆ ทำในสิ่งที่ตนเองถนัด

ไม่ว่าลูกทั้ง 4 คนจะไปโลดโผนโจนทะยานอยู่ที่ใด คุณแม่กมลาเฝ้าสังเกตอยู่เสมอว่าลูกทำอะไรได้ดี คอยแอบชี้แนะให้เข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจที่บ้านทีละนิดเมื่อมีโอกาส ให้แต่ละคนได้ทดลองและพบเจอกับความสำเร็จเล็ก ๆ ของตนเอง

เรื่องการเงินที่เปรียบเสมือนภาษาต่างดาวสำหรับสุกี้กับน้อย ก็มอบให้ดารณีดูบัญชีปราดเดียว มองได้ทะลุปรุโปร่ง หรือเรื่องการออกแบบที่เป็นแพสชันของน้อย แม้จะขัดตาคุณแม่กมลาในบางครั้ง แต่กลับได้รับเสียงชื่นชมจากแขกโรงแรมอยู่เสมอ จนคุณแม่ต้องยอมหยุดวิจารณ์ ส่วนงานขาย คงไม่มีใครยอมทำและทำได้ดีเท่ากับมาริสา

ในขณะที่สุกี้คือคนที่ยอมรับว่า “ถ้าเป็นสมัยก่อนนะ ผมไม่มีทางทำงานกับครอบครัวได้เลย”

คุณแม่กมลาเข้าใจจุดนี้ดี “สุกี้ทำงาน 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นไม่ได้ เขาชอบทำอะไรประหลาดพิกลที่มนุษย์มนาเขาไม่ทำกัน ก็ให้มาเป็นหัวหน้าโปรเจกต์ มองหาธุรกิจใหม่” แม้ในวันแรกของการเข้ามาทำงาน สุกี้จะโพล่งขึ้นมาต่อหน้าพนักงานทุกคนว่า “ผมไม่รู้เรื่องอะไรเลย ทุกคนต้องสอนผมหน่อย”

ในวัยที่ทุกคนโตกันหมดแล้ว ไม่มีอีโก้เหมือนตอนเด็ก ทำให้คุยกันรู้เรื่องมากขึ้น แถมมีความสามารถที่ไม่ทับซ้อนกัน ปัญหาขัดแย้งจึงน้อยลง ต่างคนต่างอยากทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับทุกโปรเจกต์

“ความสนใจและความสามารถของเรา 4 คนไม่เหมือนกันเลย เมื่อไหร่ที่มารวมกันได้ มันซัพพอร์ตกันได้เป็นอย่างดี เหมือนเก้าอี้ต้องมี 4 ขา เออเฮ้ย เรามี 4 คนพอดีเลย” สุกี้เปรียบเปรย

บนโต๊ะประชุมที่มีแต่เสียงหัวเราะ

หากถามถึงบรรยากาศการประชุมงานของบ้านสุโกศล มาริสาเล่าติดตลกว่าทุกอย่างมักเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ “เราคุยงานกัน 10 เปอร์เซ็นต์ อีก 90 เปอร์เซ็นต์เมาท์เรื่องดาราฮอลลีวูด ทุกคนจะรีบคุยงานให้จบ ๆ จะได้คุยเรื่องไร้สาระกันต่อ แล้วต่างคนก็ต่างไปรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง”

“เวลาเจอปัญหา คุณแม่เป็นคนไม่หมกมุ่น เดินหน้าอย่างเดียว คุยอย่างมากก็ 10 นาทีแล้วไปเจรจากับลูกค้าต่อ รุ่นก่อนจะเป็นแนวใช้ Gut Feeling ส่วนรุ่นเราก็เอาข้อมูลมาบาลานซ์ให้พอดีกัน”

การประชุมงานที่จบอย่างรวดเร็วใน 10 นาทีคงเป็นภาพที่เห็นได้ยากมากในองค์กรขนาดใหญ่ แต่เกิดขึ้นอย่างลื่นไหลในครอบครัวสุโกศลที่ทุกคนบ่มเพาะความสัมพันธ์กันมาชั่วชีวิต จนเกิดเป็นความไว้ใจ ให้อิสระซึ่งกันและกัน เชื่อมั่นในฝีมือ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลามานั่งจับผิดกันเอง

นอกจากคุณแม่กมลาจะเป็นแบบอย่างในเรื่องของความเฉียบขาด ยังเป็นต้นแบบที่ดีในเรื่องความโอบอ้อมอารีและยุติธรรม ไม่ลำเอียงกับลูกคนใดคนหนึ่ง หรือแม้แต่เสียงของคุณแม่ก็ไม่ได้ใหญ่ไปกว่าเสียงของลูก ๆ

“เวลามีประชุมร่วมกันที่ต้องตัดสินใจว่าจะไปซ้ายหรือขวาดี ถ้า 3 ใน 5 คนบอกว่าขวาดีกว่า ก็จบละ เราไปขวากัน แต่ก็รับฟังเสียงที่ไม่เห็นด้วยนะว่าเพราะอะไร ไม่เคยมีเรื่องที่เราทะเลาะกันรุนแรงเลย” คุณแม่กมลาเล่าไปยิ้มไป

อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด

แม้ความฝันวัยเด็กของลูกทั้ง 4 คนไม่ได้เริ่มต้นจาก “ฉันอยากกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว”

แต่สิ่งที่มีอยู่เต็มหัวใจในวันนี้คือ “ความรักและความภูมิใจในธุรกิจครอบครัว”

หลังจากประสบความสำเร็จร่วมกันในโปรเจกต์ เดอะ สยาม ด้วยการใช้ลูกขยันและความสร้างสรรค์เข้าสู้ ทำให้แบรนด์โรงแรมไทยก้าวขึ้นเทียบชั้นมาตรฐานสากล ลูกทั้ง 4 คนก็ยังเข้ามาช่วยบริหารงานที่โรงแรมต่อในทางที่แต่ละคนถนัด

ความท้าทายของโรงแรมแบรนด์ไทย คือต้องแข่งขันกับเชนโรงแรมต่างประเทศที่มีระบบและคู่มือมาให้พร้อมสรรพ เงินเกือบทุกเม็ดที่ไหลเข้าสู่ธุรกิจจึงต้องหมุนไปปรับปรุงโรงแรมอยู่เสมอ มิเช่นนั้นก็เตรียมพ่ายแพ้ให้กับโรงแรมเปิดใหม่ที่ผุดเป็นดอกเห็ดได้เลย

ไหนจะพายุทางเศรษฐกิจที่โหมกระหน่ำมาไม่เคยหยุด โดยเฉพาะวิกฤตต้มยำกุ้งที่คุณแม่กมลากู้เงินเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ มาสร้างโรงแรมพอดี ทำให้หนี้เพิ่มเป็น 2 เท่า และใช้เวลาปลดหนี้นานถึง 30 ปี 

หนี้เยอะแต่มีลูกค้า อาจดีกว่าการไม่มีลูกค้าเลย

เหตุการณ์โควิดกระทบซ้ำธุรกิจครอบครัวอีกครั้ง แต่ครั้งนี้คุณแม่กมลาในวัย 87 ปีมีอีก 4 แรงมาช่วยกัน จนโรงแรมทุกแห่งยังอยู่รอดปลอดภัยมาถึงทุกวันนี้

ต่างจากโรงแรมที่บริหารโดยครอบครัวอีกจำนวนมากถูกประกาศขาย หรือทายาทรุ่นหลังยอมยกธงขาว ส่งต่อให้เชนโรงแรมต่างประเทศเข้ามาบริหารแทน แต่ภาพนี้ไม่เกิดขึ้นกับโรงแรมเครือสุโกศลอย่างแน่นอน 

จะมีสักกี่โรงแรมในประเทศไทยที่อายุถึง 50 ปี ยังคงใช้ชื่อเดิม อาคารเดิม เพิ่มเติมคือความรู้สึกที่เดินเข้าไป ไม่เหมือนก้าวเข้าโรงแรมเก่าเลย เพราะความทุ่มเท ทยอยรีโนเวตเกือบทุกปี นั่นก็คือ ‘โรงแรมสยาม เบย์ชอร์ รีสอร์ท พัทยา’ โรงแรมแห่งแรกที่คุณกมลาสร้างขึ้นมา

มาริสายังไม่มีแผนระดมทุนมหาชนหรือขยายกิจการใหม่เร็ว ๆ นี้ เพราะธุรกิจครอบครัวไม่จำเป็นต้องทำกำไรเอาใจผู้ถือหุ้น แต่เน้นมองระยะยาว ให้ธุรกิจอยู่สร้างตำนานต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน

มาริสากล่าวทิ้งท้ายว่า “ธุรกิจครอบครัวไม่มีเส้นแบ่งระหว่างเรื่องส่วนตัวกับงาน แต่เรามีความรักที่ทำให้ทุกอย่างผ่านไปได้ แม่มักพูดตลอดว่า เวลาแม่ได้ให้ แม่มีความสุขมากขึ้น เราจึงมีกิจกรรมการกุศลเยอะ เก้าอี้นายกสมาคมโรงแรมที่นั่งมาหลายปีเพราะเราอยากช่วยคนโรงแรมให้รอดไปด้วยกัน

“เราไม่ได้คิดจะไต่เต้าไปไหนต่อ จะอยู่ที่นี่จนตาย”

รับชมสรุปบทเรียนธุรกิจและการแก้ปัญหาผ่านมุมมองของทายาทสุโกศลได้ที่วิดีโอนี้ และติดตามรายการ ทายาท The Next Gen ได้ทุกวันจันทร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน

สำหรับผู้ที่สนใจ เข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.live-platforms.com แพลตฟอร์มที่ให้บริการสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และ Startups เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ ผ่านการพัฒนาหลักสูตรองค์ความรู้และเครื่องมือสำหรับผู้ประกอบการ รวมถึงการจัดทำโครงการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ตลาดทุน โดย บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด ในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

Writer

ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

นักข่าวเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยเชื่อว่า GDP คือคำตอบ แต่กลับชื่นชอบในแนวคิด Circular Economy ว่าจะสร้างอนาคตอันสดใสให้กับโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล