19 ธันวาคม 2023
4 K

ธุรกิจ : บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2496

ประเภท : ธุรกิจรองเท้า

ผู้ก่อตั้ง : วิชัย ซอโสตถิกุล

ทายาทรุ่นสาม : จักรพล จันทวิมล

เคยคุยกับใครสักคนแล้วดีจนอยากขอกดปุ่ม Pause ให้ได้มีเวลาจดลงกระดาษก่อนไหม

ในครั้งนี้เราได้ค้นพบวิชาบริหารธุรกิจครอบครัวชั้นดีที่ไม่อยากปล่อยผ่านไป เห็นควรค่านำมาบันทึกไว้เป็นตัวอักษรให้ผู้อ่านขาประจำคอลัมน์ทายาทรุ่นสองได้ศึกษาไปพร้อมกัน เหตุเกิดจากวาระโอกาสที่ The Cloud ได้ชวนคนคุ้นเคยมาร่วมถ่ายรายการออนไลน์ ทายาท The Next Gen ในบทสนทนาที่ลึกขึ้น 

เกตุวดี Marumura หรือ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ พาเราถอดบทเรียนการทำธุรกิจอย่างละเมียดละไมไปกับทายาท ‘นันยาง’ รุ่นสาม จั๊ก-จักรพล จันทวิมล กรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด 

นี่คือหนึ่งในธุรกิจกงสีที่น่าศึกษาที่สุดเจ้าหนึ่งของประเทศไทย อะไรคือเคล็ดลับการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในครอบครัวเมื่อต้องทำธุรกิจร่วมกัน มาเรียนรู้ผ่านหมวก 3 ใบ ซึ่งทุกคนทำตามบทบาทของหมวกที่ใส่อย่างชัดเจน

วิชาหมวก 3 ใบในการบริหารอาณาจักร ‘นันยาง’ โดยทายาทผู้อยากให้ธุรกิจอยู่ได้ถึง 100 ปี

วลีที่ว่า มีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง คงใช้เล่าบรรยากาศของตระกูลซอโสตถิกุลได้ดีที่สุด 

นับตั้งแต่คุณตา วิชัย ซอโสตถิกุล หอบเสื่อผืนหมอนใบจากเมืองจีนโพ้นทะเลมาก่อร่างสร้างตัว ประสบความสำเร็จทั้งการสร้างครอบครัวและธุรกิจ โดยมีเบื้องหลังสำคัญคือคุณยายที่แม้จบเพียง ป.4 แต่ทำงานหนักและเลี้ยงลูกไปพร้อมกันถึง 9 คน เวลาผ่านไป ทั้ง 9 พี่น้องมีลูกอีก 24 คน กลายเป็นทายาทรุ่นสามที่เติบโตมาในบริเวณรั้วบ้านเดียวกัน และมีทายาทรุ่นสี่ตามมาอีกกว่า 30 คน

เรามีโอกาสได้เห็นภาพถ่าย 2 ใบเปรียบเทียบระหว่างรุ่นที่ 1 – 2 เมื่อ พ.ศ. 2530 และรุ่นที่ 1 – 4 เมื่อ พ.ศ. 2563 ในบรรยากาศครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา นอกจากจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยังเห็นรอยยิ้มของบรรดาเขย-สะใภ้ทั้งไทย จีน ฝรั่ง มาเติมความคึกคักให้กับครอบครัวอีกด้วย

“คนที่สวมหมวกสมาชิกครอบครัว มีหน้าที่คือมาเจอกัน ทำให้ครอบครัวมีความสุข ไม่ว่าจะงานตรุษจีน เชงเม้ง ทำบุญ ไปเที่ยว ตอนนี้มี 5 บ้านที่ยังคงอยู่ในรั้วเดียวกัน ส่วนบ้านอื่นก็อยู่ละแวกใกล้เคียง แวะเวียนไปมาหาสู่ สนามหญ้าหน้าบ้านที่ผมเคยวิ่งเล่นตอนเด็กยังคงเป็นภาพเดิม ทุกวันนี้ลูกหลานวิ่งเล่นกันเต็มไปหมด”

หมวกสมาชิกครอบครัวมากกว่า 60 ใบถูกสวมใส่ด้วยความรักและความผูกพัน อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการลงสู่สนามธุรกิจครอบครัวต่อไปด้วย

จากวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลของคุณตาวิชัย เมื่อมีธุรกิจไหนน่าสนใจ สินค้าใดน่าขายดี คุณตาจะบุกเบิกลงมือโดยไม่ยึดติดกับธุรกิจเริ่มแรกอย่างการขายรองเท้า ทำให้ธุรกิจของตระกูลซอโสตถิกุลอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรมจนน่าทึ่ง 

ตั้งแต่ธุรกิจรองเท้า-นันยางและช้างดาว, ธุรกิจผงชูรส-ไทยชูรส ผงชูรสแท้ตราชฎา, ธุรกิจศูนย์การค้า-ซีคอนสแควร์, ธุรกิจรับสร้างบ้าน-ซีคอนโฮม, ธุรกิจโรงแรม-เรเนซองส์ ภูเก็ต รีสอร์ท แอนด์ สปา และยังมีบริษัทลูกภายใต้บริษัทเหล่านี้อีกมากมาย

สมาชิกรุ่นสองเกือบครึ่งตัดสินใจมาสานต่อธุรกิจครอบครัว ในขณะที่บางคนไปทำงานที่รักของตัวเอง บ้างมีอาชีพเฉพาะทาง เช่น หมอ ครู บ้างย้ายไปอยู่ต่างประเทศ 

แต่ก่อนที่คุณยายจะจากไป ได้แบ่งหุ้นเป็น 9 ส่วนเท่ากันให้กับลูกทุกคน

คุณแม่ของจักรพลเป็นลูกคนที่ 9 ก็ได้รับส่วนแบ่งเท่ากับพี่ ๆ ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัวเลย แต่มีความสุขกับการเป็นนักเขียนและทำรายการเด็ก ความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัวของจักรพล คือการไปร่วมงานเลี้ยงปีใหม่บ้าง ร่วมงานเปิดตัวรองเท้าใหม่บ้าง หิ้วรองเท้าไปให้เพื่อนที่ฝากซื้อบ้าง หรือติดตามผลงานก่อสร้างของอาณาจักรซีคอนโฮม ตั้งแต่สมัยสยามสแควร์ ลิโด สกาลา และโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล โรงแรม 5 ดาวแห่งแรกของประเทศไทย (ถูกรื้อถอนเปลี่ยนเป็นสยามพารากอนในปัจจุบัน)

“อาจเป็นเพราะธุรกิจเราไม่ได้ใหญ่มาก ถึงแม้จะมีสมาชิกครอบครัวเยอะ แต่ไม่ได้มีตำแหน่งให้ทำขนาดนั้น จึงไม่ได้ปลูกฝังกันมาว่าต้องทำงานต่อที่บ้าน อยากเรียนอะไรก็ตามใจชอบเลย บางบ้านอาจแบ่งหุ้นให้ทายาทรุ่นที่ 3 แล้ว อย่างแม่ผมเสียไปแล้ว จึงแบ่งหุ้นกันเรียบร้อย แต่บางบ้านยังไม่ได้แบ่ง ตอนนี้เรามีผู้ถือหุ้นนอกด้วย แต่คนในตระกูลซอโสตถิกุลก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่”

น่าสังเกตว่าวิธีการแบ่งหุ้นของคุณยายไม่ได้วัดจากการทำงานของรุ่นลูก แต่แสดงออกมาจากความรักและความยุติธรรมต่อลูกทุกคน ทำให้ทุกคนได้สวมหมวกใบที่ 2 แบบเดียวกัน ไม่มีหมวกของใครสวยกว่า ลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในตระกูลไปได้มาก

หน้าที่ของผู้ถือหุ้นมีเพียงไม่กี่เรื่อง คือรับเงินปันผลและเข้าประชุมตามโอกาส 

ส่วนสมาชิกที่ทำงานสานต่อธุรกิจจะได้รับผลตอบแทนใดเพิ่ม มาติดตามเรื่องราวของหมวกใบที่ 3 กันต่อ

หากสมาชิกในครอบครัวอยากเพิ่มหมวกอีกใบ จากผู้ถือหุ้นมาเป็นผู้บริหาร ต้องรู้จัก ‘กติกา 3 ข้อในการเข้ามาทำงานที่บ้าน’ กันก่อน

ข้อแรก เขย-สะใภ้ไม่ให้เข้ามาทำงาน

ข้อสอง ต้องมีประสบการณ์การทำงานข้างนอกในบริษัทที่ยอมรับได้ อย่างน้อย 2 ปี

ข้อสาม ผลงานต้องดี หากทำไม่ได้ จ้างมืออาชีพมาทำดีกว่า

แม้ครอบครัวนี้จะมีความยืดหยุ่นกับลูกหลานในการเข้ามารับช่วงต่อ แต่เมื่อก้าวขาเข้ามาแล้ว ทุกคนต้องทำงานอย่างจริงจัง การให้ความสำคัญกับผลงานของบริษัทอยู่เหนือการทำงานของลูกหลาน ด้วยความเชื่อที่ว่า บริษัทจะเติบโตได้ต้องมีพนักงานที่ดี ซึ่งจะเป็นมืออาชีพข้างนอกหรือสมาชิกครอบครัวก็ย่อมได้

นอกจากนี้ ข้อดีของการเรียนรู้งานจากนอกบ้านมาก่อน ยิ่งช่วยให้เปิดโลกการทำงาน โดยเฉพาะลูกหลานที่เติบโตมากับธุรกิจครอบครัวทั้งชีวิต เห็นการทำงานแบบเดียวจนอาจยึดติดกรอบเดิม เมื่อได้มีโอกาสไปเห็นความหลากหลายอื่นนอกบ้าน ทั้งระบบการทำงาน ไอเดียสินค้า นวัตกรรมทางธุรกิจ ย่อมเป็นประโยชน์ที่จะนำมาพัฒนาปรับปรุงในธุรกิจครอบครัวได้ 

จักรพลเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัวที่สอบผ่านกติกาทั้ง 3 ข้อ ได้โอกาสเข้ามาดูแลการตลาดให้รองเท้านันยาง ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของคุณป้าคนที่ 8 ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคนเข้มงวดมาก ยิ่งกับลูกหลาน ยิ่งเข้มงวดเป็นพิเศษ

“คุณป้าจะคอยดูตลอดว่าเข้างานตรงเวลาไหม จะลาไปไหน แจ้งหรือยัง ช่วงนั้นที่ถูกโทรตามก็อึดอัดนิดหน่อยนะ แต่สุดท้ายเขาก็บอกว่าเราต้องเป็นตัวอย่างให้คนอื่นด้วย ให้เกรงใจพนักงานที่ทำงานร่วมกัน เมื่อเขาทำงานอย่างมืออาชีพ เราก็ต้องทำให้ได้”

การทำงานตามตำแหน่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของทายาทธุรกิจที่เข้ามารับช่วงต่อ เพราะหากรีบสวมหมวกใบที่ 3 ซึ่งขนาดใหญ่เกินไป อยากแก้ปัญหาทุกอย่างในองค์กรให้สมกับความเป็นลูกเจ้าของ แต่เสนอไอเดียอะไรไปไม่เคยผ่านรุ่นใหญ่ คงจะท้อแท้ไปก่อนอย่างน่าเสียดาย

“ผมรู้เลยว่าถ้าเสนอไอเดียบนโต๊ะอาหารไม่มีทางผ่าน เราต้องกลับมานั่งทำเป็นโปรเจกต์ คิดตามหลักเหตุและผล ความคุ้มทุน ความเสี่ยงรอบด้าน แล้วเอาไปนำเสนออย่างเป็นรูปธรรมในที่ทำงาน จึงจะมีโอกาสสำเร็จ”

รางวัลตอบแทนสำหรับผู้ที่สวมหมวกใบที่ 3 ได้อย่างสง่างาม คือเงินเดือนตามตำแหน่ง โบนัสเมื่อผลประกอบการดี และสิ่งสำคัญที่สุด คือความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้ใหญ่ที่จะมอบโอกาสให้ดูแลองค์กรได้มากขึ้น

หมวก 3 ใบที่เสริมกัน

แน่นอนว่ามีสมาชิกในครอบครัวส่วนหนึ่งที่สวมหมวกถึง 3 ใบซ้อนกัน ภาระหน้าที่อาจหนักอึ้งกว่าสมาชิกคนอื่นในบ้าน เป็นทั้งสมาชิกครอบครัว ผู้ถือหุ้น และผู้บริหาร แต่ข้อดีของการรวมหมวกทุกใบในคนเดียว คือการผสมผสานความสัมพันธ์ วัฒนธรรม และคุณค่าของธุรกิจครอบครัวอย่างลงตัว

จักรพลพูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่า “เราเป็นธุรกิจครอบครัวแบบอนุรักษนิยม ผู้ใหญ่ทำมาอย่างไร เราก็อยากรักษาสิ่งนั้นไว้”

คำว่า อนุรักษนิยม อาจเป็นคำแสลงในหลายครอบครัวจนเกิดความขัดแย้งมานักต่อนัก แต่หากทุกคนในครอบครัวมีจุดยืนชัดเจนร่วมกันว่าสิ่งใดควรรักษาไว้ นั่นจะกลายเป็นจุดแข็งที่ไม่มีใครมาโค่นได้ และเป็นแสงสว่างนำทางให้เดินต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น

ธุรกิจแรกของตระกูลอย่างรองเท้านันยางผ่านการพิสูจน์แล้วว่ารองเท้าที่หน้าตาเหมือนเดิมตลอด 70 ปียังเป็นที่ต้องการของตลาด แม้จะมีสินค้าลอกเลียนแบบมากมาย แต่นั่นก็หมายถึงว่าของดีจริงจนมีคนอยากทำตาม

จักรพลและครอบครัวนำสิ่งนี้มาเป็นจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งต้องผ่านการทำงานด้วยความพยายามอย่างหนักในการ ‘ทำให้นันยางยังได้รับการยอมรับเหมือนเดิม’

ความคาดหวังในการรับช่วงต่อธุรกิจของหลายบ้าน อาจอยากเห็นลูกหลานทำสิ่งใหม่ที่ยิ่งใหญ่ ไม่ซ้ำรอยเท้ารุ่นก่อน เช่น สร้างแบรนด์ใหม่หรือขยายไปต่างประเทศ 

แต่นั่นไม่ใช่คุณค่าและคำตอบในบทสนทนานี้

เป้าหมายการพาธุรกิจครอบครัวซอโสตถิกุล คืออยากให้แบรนด์นันยางอยู่ถึง 100 ปี

ฟังดูสั้น กระชับ แต่ท้าทายท่ามกลางโลกหมุนเร็ว เพราะหากอยู่กับที่ก็เท่ากับเดินถอยหลัง สรรพกำลังทั้งหลายจึงต้องทุ่มเทให้กับการทำงานในปัจจุบัน ฝ่ายผลิตต้องหมกมุ่นอยู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพ ให้คุณภาพเท่าเดิมแต่ประหยัดต้นทุนลง ฝ่ายขายก็ต้องรักษายอดขายให้สม่ำเสมอ จักรพลในฐานะหัวหน้าทีมการตลาด ต้องบริหารจัดการงบประมาณที่มีจำกัดในการสื่อสารรูปแบบใหม่ ๆ ให้แบรนด์ยังเป็นที่รัก

หมวกแต่ละใบอาจเปลี่ยนคนใส่ไปตามกาลเวลา แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าทุกคนเข้าใจความหมายของหมวกที่สวมอยู่ เคารพในสิทธิและหน้าที่ของคนที่สวมหมวกต่างใบ จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นและเพิ่มความสามารถในการทำธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น

อีก 30 ข้างหน้า เจอกันใหม่ในโอกาสครบรอบ 100 ปีของนันยาง และรู้สึกอยากคุยกับทายาทรุ่นสี่รุ่นห้าซะแล้วสิ

สำหรับผู้ที่สนใจ เข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.live-platforms.com แพลตฟอร์มที่ให้บริการสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และ Startups เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ ผ่านการพัฒนาหลักสูตรองค์ความรู้และเครื่องมือสำหรับผู้ประกอบการ รวมถึงการจัดทำโครงการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ตลาดทุน โดย บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด ในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

Writer

ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

นักข่าวเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยเชื่อว่า GDP คือคำตอบ แต่กลับชื่นชอบในแนวคิด Circular Economy ว่าจะสร้างอนาคตอันสดใสให้กับโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์