21 พฤศจิกายน 2023
7 K

หากคุณเป็นแฟนนิตยสาร art4d รายการ บ้านและสวน หรือชอบเข้าไปสำรวจโลกงานออกแบบสถาปัตยกรรมบนเว็บไซต์ designboom และ ArchDaily ยังไงก็ต้องเคยผ่านตา ‘บ้านขนำน้อย’ บ้านพักบรรยากาศน่าสนใจซึ่งแทรกตัวอยู่ในโรงเลี้ยงหมูปลดระวาง หรือ ‘บ้านอิงสุข’ เรือนพื้นถิ่นประยุกต์อบอุ่นน่าอยู่จากวัสดุรีไซเคิลเกือบทั้งหลัง

เท่ง-เดโชพล รัตนสัจธรรม บอกกับเราว่าบ้านทั้งสองนับเป็นผลงานที่กล้าพูดได้เต็มปากว่าช่วยให้ ‘ยางนาสตูดิโอ (Yangnar Studio)’ บริษัทสถาปนิกจังหวัดเชียงใหม่ที่เขาร่วมก่อตั้งเป็นที่รู้จักในวงกว้าง หลังจากเก็บตัวทำงาน ไม่วิ่งหาช่องทางโปรโมต และเติมเต็มความฝันให้กับคนรักบ้านไม้พื้นถิ่นร่วมสมัยมานานกว่า 12 ปี

นอกจากเท่ง ยังมี ดล-รุ่งโรจน์ ตันสุขานันท์ และ ภูผา-พงศธร สวัสดิ์ชัชวาล สองหัวเรือใหญ่ที่หาตัวจับยากไม่แพ้กัน แม้ในวันนี้เราจะพลาดเจอพวกเขา ทว่าก็ได้ บี-เมธี มูลเมือง ทีมสถาปนิกผู้ดูแลโปรเจกต์บ้านอิงสุข มาร่วมวงสนทนาพาถอดแนวคิด ตัวตน และเผยเบื้องหลังธุรกิจสร้างสรรค์ที่อยู่อาศัย ซึ่งหยิบภูมิปัญญาเชิงช่างไม้ภาคเหนือมาต่อยอดและออกแบบให้สอดรับกับวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ พร้อมความตั้งใจถ่ายทอดคุณค่าและยกระดับงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทยให้พัฒนาต่อไปได้สู่อนาคต

คล้ายนกสร้างรัง

ไม่ใช่แพสชัน หากความหมายและแรงบันดาลใจที่เป็นรากฐานสำคัญให้ทั้ง 3 คนเริ่มต้นสนใจงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นนั้นเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง 

“หลังเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พวกเราก็เป็นฟรีแลนซ์รับทำโมเดลด้านสถาปัตยกรรมและช่วยงาน อาจารย์จุลพร นันทพานิช จึงมีโอกาสเดินทางตามอาจารย์ไปเชียงตุง ลาว และเวียดนาม เพื่อชมสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ยังมีชีวิต เลยได้เก็บเกี่ยวกระบวนการคิดและการนำต้นทุนทรัพยากรในท้องถิ่นมาก่อรูปเป็นสถาปัตยกรรม มันคล้ายกับนกที่หาวัสดุใกล้ตัวมาสร้างรัง รังนกแต่ละพื้นที่จึงมีลักษณะแตกต่างกัน กลายเป็นเสน่ห์ที่ยิ่งเห็นยิ่งน่าศึกษาและประทับใจเรามาก ๆ” เท่งเล่าย้อนถึงวันที่เมล็ดพันธุ์ยางนาค่อยแย้มผลิ 

การก่อรูปสถาปัตยกรรมด้วยข้อจำกัดของทรัพยากร กอปรกับการดึงศักยภาพทางความคิด ประสบการณ์ และภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษออกมารังสรรค์ที่อยู่อาศัยได้อย่างน่าสนใจ น่าพัฒนา ทั้งหมดนี้เป็นส่วนผสมที่พา 3 เพื่อนซี้ปลุกปั้นบริษัทร่วมกันในเวลาต่อมา 

ปรับประยุกต์ให้ร่วมสมัย

ถ้าความรักความชอบไม่มีผลต่อราคา ข้อพิจารณาลำดับต้น ๆ ของคนอยากปลูกบ้านไม้พื้นถิ่นอาจเป็นความกังวลว่าจะอยู่ยาก เพราะฟังก์ชันการใช้งานดูไม่น่าตอบโจทย์กับวิถีชีวิตยุคปัจจุบัน

ยางนาสตูดิโอ จึงไม่เพียงเป็นบริษัทสถาปนิกที่จริงจังด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น แต่ยังพยายามต่อยอดพัฒนาการออกแบบบ้านทุกหลังให้สอดรับความต้องการของผู้อยู่อาศัย ผ่านการคิดค้นและทดลองนำเอาภูมิปัญญาเชิงช่างไม้ในอดีตมาประยุกต์ใช้กับวัสดุสมัยใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“คนส่วนมากมักคิดว่างานเราพื้นถิ่นจ๋า แต่จริง ๆ เรายึดองค์ความรู้ภูมิปัญญาพื้นถิ่น อาทิ การใช้เทคนิค หรือสัดส่วนความสูงของช่วงประตู หน้าต่าง ใต้ถุน ระดับกว้าง-ยาวของพื้นที่ใช้สอยแบบดั้งเดิมเป็นแกนหลัก แล้วนำมาปรับประยุกต์ให้ร่วมสมัย ยกตัวอย่างเช่น การเข้าสลักเดือยและปรับสัดส่วนหลังคาเรือนให้เหมาะกับวัสดุอุตสาหกรรมชนิดต่าง ๆ หรือการออกแบบบ้านไม้ที่กลมกลืนกับธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ตลอดจนปกป้องผู้อยู่อาศัยจากปัญหาหมอกควันได้”

ที่สำคัญ งานออกแบบสร้างบ้านโดยยางนาสตูดิโอ ส่วนของโครงสร้าง พื้น และผนังจะเลือกใช้เฉพาะไม้เก่าที่มีช่วงอายุระหว่าง 30 – 50 ปีเท่านั้น เพราะเป็นไม้ที่มีความแกร่งและแข็งแรง เพื่อลดปัญหาการยืดหดที่คนรักบ้านไม้หลายคนกังวลใจ

“เราพยายามร้อยเรียงภูมิปัญญาในภาษาใหม่ ด้วยการออกแบบบ้านให้มีมิติการใช้งานที่ยังคงกลิ่นอายความเป็นพื้นถิ่น ขณะเดียวกันก็สอดรับกับยุคสมัยและพร้อมจะวิวัฒน์ต่อไปโดยไม่ละทิ้งคุณค่าและความงามดั้งเดิม” เท่งกระชับแนวคิดของบริษัทให้ฟังอีกครั้ง พลันเสริมว่าการออกแบบบ้านสำหรับยางนาสตูดิโอไม่ใช่แค่การถอดองค์ประกอบภูมิปัญญา จากนั้นหยิบมาต่อเติมไอเดียใหม่ ๆ แล้วจบ แต่ทุกโจทย์คือการศึกษาภูมิทัศน์และบริบทของพื้นที่โดยรอบ เพื่อหาคำตอบให้งานออกแบบที่สอดรับกับภูมิทัศน์ท้องถิ่น ซึ่งแต่ละแห่งก็มีบริบทและมนต์เสน่ห์แตกต่างกัน การออกแบบบ้านแต่ละหลังในทางหนึ่งจึงเป็นเรื่องท้าทาย ชวนตื่นเต้น และทำให้พวกเขาทั้งหลงใหลและอยากเรียนรู้อย่างไม่มีสิ้นสุด 

ไม่ใช่แค่อยู่อาศัย

ควบคู่ความใส่ใจในการออกแบบ การถ่ายทอดความรู้ด้านวัสดุ เทคนิคแต่ละจุดและข้อจำกัดต่าง ๆ แก่ลูกค้าก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ยางนาสตูดิโอทำในทุกกระบวนการสร้างสรรค์

“ลูกค้าของเรามีทั้งวัยรุ่นและสูงวัย ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ทั้งหมดเชื่อมโยงกันด้วยความสนใจในผลงาน แต่ส่วนมากจะไม่ค่อยทราบและไม่เข้าใจธรรมชาติของบ้านไม้ เราจึงต้องสร้างความเข้าใจให้กับลูกค้าด้วย” เท่งพูด “ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ เราจะพาลูกค้าไปดูตัวอย่างบ้าน พร้อมอธิบายทุกกระบวนการให้เขาเข้าใจในเหตุผลของการออกแบบ เทคนิค หรือความตั้งใจหยิบวัสดุนั้น ๆ มาใช้ ปูความเข้าใจเรื่องคุณสมบัติและข้อจำกัดของไม้ ปูน อิฐ และวัสดุหลักต่าง ๆ เพื่อให้เขาเกิดความรู้และเห็นคุณค่าของภูมิปัญญา รวมทั้งคุณค่าของบ้าน ไม่ใช่แค่อยู่อาศัย”

ประสบการณ์และความรู้หลาย ๆ อย่างที่เก็บมาถ่ายทอด เท่งบอกว่าส่วนหนึ่งต้องขอบคุณลูกค้ารายแรกที่ให้โอกาสทำบ้านที่จังหวัดน่าน เขาจำได้แม่นว่าเป็นโปรเจกต์มหากาพย์ที่พวกเขาต้องลุยตั้งแต่หาที่ดิน วัสดุ ออกแบบ ดูแลสล่า (คำเรียก ‘ช่าง’ ในภาษาเหนือ) และกินเวลาร่วมกว่า 2 ปี

“ตอนไปทำงานที่น่าน เราไม่ได้คิดถึงเรื่องเงินเลย เพราะเป็นครั้งแรกที่เราได้สร้างงานจริง ไม่ใช่แค่ออกแบบ เลยอยากทำกันมาก ๆ โดยทางเจ้าของบ้านให้เราไปหาไม้เอง เลยพากันไปเสาะหา ไล่จากปัว เวียงสา นาน้อย นาหมื่น ข้ามเรือไปอุตรดิตถ์ ย้อนมาแพร่ พะเยา ไปดูกันเยอะมาก ซึ่งมันทำให้ได้เห็นบ้านหลายยุค เริ่มปะติดปะต่อวิธีการเข้าไม้ของช่างแต่ละท้องถิ่น แล้วยิ่งพอไปซื้อบ้านไม้เก่า เราก็ได้เห็นวิธีคิดเบื้องหลังการสร้างระหว่างถอดรื้อชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่นเดียวกับในขั้นตอนการสร้างที่ทำให้เราได้ซึมซับวิธีทำงานของสล่า เกิดเป็นการเรียนรู้ที่บ่มเพาะให้เรามีความรู้เชิงเทคนิคมากกว่าทฤษฎี เหนืออื่นใด การออกแบบและสร้างเองมีข้อดีอีกอย่าง คือเราจัดการหรือแก้ไขปัญหาหน้างานทุกอย่างได้ ซึ่งช่วยทำให้บ้านออกมาตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด”

จากก้าวแรกในวันนั้น สานต่อมาจนถึงวันนี้ เมื่อยางนาสตูดิโอเชื่อว่าแค่แน่นทฤษฎีหรือมีฝีมือชั้นยอดยังไม่พอ แต่การได้ออกไปเปิดมุมมองให้กว้างขึ้นก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการสร้างสรรค์งานให้ออกมาดี มีคุณค่า พวกเขาจึงกำหนดการเดินทางเป็นวัฒนธรรมขององค์กร โดยแต่ละปีที่นี่จะมีการจัดทริปออกเดินทางท่องเที่ยวถึง 5 ครั้ง เพื่อยกขบวนทีมงานทั้งออฟฟิศไปชาร์จพลังพลางเก็บเกี่ยวมุมมองใหม่ ๆ

“เราไม่ได้ไปเดินดูแค่บ้าน เราไปเดินป่าดูธรรมชาติ เดินตลาดดูข้าวของเครื่องใช้ในวิถีวัฒนธรรมนั้น ๆ ซึ่งมันปะติดปะต่อเป็นแนวคิด มุมมอง และแรงบันดาลใจให้เราอยากพัฒนางานไปให้ไกลยิ่งกว่าเดิมได้” นี่คือคำตอบจากเท่งที่ว่า ทำไมการเดินทางจึงเป็นเรื่องสำคัญ 

การสื่อสารสร้างความไว้วางใจ

เปิดทำการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 แต่ยางนาสตูดิโอเพิ่งจะเริ่มนับหนึ่งในการสื่อสารองค์กรเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

เท่งคลายข้อสงสัยเรื่องนี้ให้ฟังว่า ก่อนหน้านั้นการสื่อสารองค์กรแทบไม่ได้อยู่ในความสนใจ เพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับคุณภาพการทำงานมากกว่า แม้ว่างานในช่วงแรกส่วนใหญ่จะเป็นงานออกแบบบ้าน ทำโมเดลจำลอง กระทั่งทำรถเข็นขายของเพื่อหารายได้ประคับประคองความฝัน ทว่าเมื่อผลงานสร้างบ้านที่จังหวัดน่านเป็นที่ประจักษ์ ผู้คนก็เริ่มบอกเล่ากันปากต่อปาก พลันมีลูกค้าติดตามและติดต่อเพิ่มขึ้นเรื่อยมา

จนเมื่อไม่นานมานี้ก็เป็นลูกค้าและเพื่อนหลายคนที่แนะนำว่าควรกระตุ้นด้านการสื่อสารบ้าง ทางบริษัทจึงลองรวบรวมผลงานมานำเสนอ สอดแทรกการเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยและรายละเอียดภูมิปัญญาเชิงช่างไม้ที่น่าสนใจ ซึ่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนหลังการปรับตัวครั้งนี้ คือการทยอยเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกค้าที่พร้อมให้บริษัทดูแลการปลูกสร้างด้วยความไว้วางใจ 

“อย่างตอนเราไปทำร้านกาแฟ Thingamajiggy Coffee Roaster อำเภอแม่ริม เจ้าของเขามีความเข้าใจในงานของบริษัทเราระดับหนึ่ง ก่อนจ้างเขาจึงค่อนข้างเชื่อมั่นว่าเราต่อยอดความฝันและความต้องการของเขาให้เป็นจริงได้ เลยเปิดโอกาสให้เราได้สร้างสรรค์กันอย่างเต็มที่ พอสร้างเสร็จเราก็พาทีมงานไปแวะเวียนอุดหนุนพูดคุยกัน เป็นบรรยากาศการร่วมงานที่ดีมาก ๆ เราได้เห็นว่าเขามีความสุขที่ได้ใช้พื้นที่ในการทำงาน ทำกาแฟ ทำขนม และภูมิใจที่งานออกมาสำเร็จลุล่วงตามความตั้งใจของตัวเองและลูกค้า” บียกตัวอย่างโปรเจกต์ล่าสุดของยางนาสตูดิโอด้วยความปลื้มปริ่ม และผลงานชิ้นดังกล่าวก็ไม่พลาดสายตากองบรรณาธิการเว็บไซต์ ArchDaily, Decor Design, designboom และ EVERYDAY OBJECT 

“เราว่าความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของลูกค้าสำคัญมากนะ คือตั้งต้นเราเองตั้งใจอยากทำอยู่แล้ว แต่พอเขาเปิดโอกาสให้เราทำเต็มที่ พลังงานตรงนี้ช่วยปรับมุมมองให้อุปสรรคต่าง ๆ กลายเป็นเรื่องเล็กลงไปเลย” เท่งยิ้มแย้ม

งานดีและมีคุณภาพชีวิต

นอกจากบริการออกแบบและสร้างบ้าน ตอนนี้ยางนาสตูดิโอยังเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานไม้ในโปรเจกต์เวิร์กช็อป ‘ผาม’ ที่มีให้เลือกด้วยกัน 2 โปรแกรม ได้แก่ เวิร์กช็อปโมเดลจำลองที่จะช่วยปูความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างและภูมิปัญญาเชิงช่างไม้ภาคเหนือผ่านการสร้างสถาปัตยกรรมจำลอง และเวิร์กช็อปเฟอร์นิเจอร์ที่ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ทักษะการใช้เครื่องมือพื้นฐานคู่กายสล่า อาทิ มุย สิ่ว มีดอีโต้หลังโค้ง เลื่อยถาก เลื่อยเหลา ฯลฯ เพื่อประดิษฐ์เฟอร์นิเจอร์จากฝีมือตัวเอง

ลึกลงไปกว่านั้น เท่งบอกว่าตั้งใจให้กิจกรรมนี้เป็นอีกช่องทางสื่อสารตัวตนให้คนได้รู้จักกับยางนาสตูดิโอมากขึ้น รวมถึงสร้างรายได้เสริมให้น้อง ๆ สถาปนิกในทีมที่เลือกหาเวลาว่างมาถ่ายทอดทักษะความรู้ และช่วยกระจายสู่ชุมชนด้วยการอุดหนุนเครื่องมือพื้นฐานประกอบการเรียนการสอนทั้งหมดจากผู้ผลิตในท้องถิ่น

“อีกเป้าหมายหนึ่งของยางนาสตูดิโอ คือการทำให้ทีมงานของเราทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี บางคนอาจบอกว่าบ้านไม้หลังแค่นี้ทำไมยางนาคิดราคาแพงจัง แต่การันตีว่าทุกผลงานที่ออกไปเราทุ่มเทและตั้งใจเต็มร้อย ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าทีมงานของเรายังต้องใช้ชีวิตลำบาก ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำโดยไม่มีโอทีหรือผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ดังนั้น ในความตั้งใจของเราจึงมีสมการที่ว่า ช่างต้องอยู่ได้ น้องในทีมทุกคนต้องอยู่ได้ เพื่อสร้างงานที่ดีที่ทุกคนภาคภูมิใจ”

ซึ่งสำหรับยางนาสตูดิโอแล้ว เท่งบอกว่างานที่ดีไม่ใช่แค่งานที่ตอบโจทย์และจับใจ แต่ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาพื้นถิ่น จุดประกายความคิด และต่อยอดสู่วันข้างหน้าได้อย่างสร้างสรรค์

Lessons Learned

  • อย่าใจร้อนอยากประสบความสำเร็จแล้วปฏิเสธทุกอย่างที่ไม่ชอบจนไม่ได้ลงมือทำ แต่ต้องรู้จักประเมินและมองวิธีการที่จะช่วยให้เราเดินไปถึงเป้าหมายได้ แม้จะช้า แต่ก็ยังได้เรียนรู้และดีกว่าเดินไปไม่ถึง
  • ถ้ายังคิดว่าค้นหาตัวเองไม่เจอก็ไม่ต้องรีบ ขอแค่ประคับประคองในแนวทาง กระบวนการคิด และชัดเจนกับสิ่งที่เชื่อ
  • ออกเดินทางบ้าง เพื่อเปิดมุมมองใหม่ ๆ เก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจ และชาร์จแบตฯ ให้ชีวิต

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

ภูพิงค์ ตันเกษม

ชีวิตผม ชอบการเดินทาง ชอบทำอาหาร และรักการบันทึกความทรงจำด้วยภาพถ่าย