ผาม (ภาษาเหนือ) แปลว่า ศาลา เพิง สถานที่พักพิง พบปะชุมนุม และทำกิจกรรมชั่วคราว
และ ผาม เป็นโปรเจกต์ใหม่ของ ยางนา สตูดิโอ (Yangnar Studio) ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ตลอด 13 ปี ผ่านเวิร์กช็อปงานไม้ และเป็นพื้นที่พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดของคนชื่นชอบงานไม้
ณ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่ตั้งของยางนา สตูดิโอ และเป็นที่เวิร์กช็อปของผาม แม้เราไม่ได้เยือนสถานที่จริง แต่ก็ติดต่อสนทนากับ เท่ง-เดโชพล รัตนสัจธรรม ผู้ร่วมก่อตั้งยางนา สตูดิโอ ผ่านโปรแกรมสนทนาออนไลน์ พร้อมด้วย บี-เมธี มูลเมือง หนึ่งในสถาปนิกของสตูดิโอแห่งนี้


ก่อนไปทำความรู้จักกับผาม เท่งชวนเรารู้จักยางนาเวอร์ชันกระชับ ได้ใจความ
“ยางนา เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของเพื่อนร่วมรุ่น 3 คนที่จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พวกเราสนใจและมีโอกาสตาม อาจารย์จุลพร นันทพานิช ไปทำงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มที่มีองค์ความรู้ในสกุลช่างไม้ที่น่าสนใจ
“หัวใจหลักในการออกแบบสถาปัตยกรรมของยางนา คือเราใช้สถาปัตยกรรมเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้อยู่อาศัยกับธรรมชาติ โดยสถาปัตยกรรมก็ปรับตัวไปตามสถานการณ์นั้น ๆ ด้วย”


ส่วนผาม เป็นการส่งต่อองค์ความรู้ตลอด 13 ปีของกลุ่มสถาปนิกและช่างก่อสร้างของยางนาที่สั่งสมประสบการณ์ ผ่านการเดินทาง บันทึก ภาพถ่าย การทำงานออกแบบ และงานก่อสร้าง
“ผามเกิดขึ้นจากการพูดคุยกันว่า เราน่าจะมีพื้นที่หนึ่งที่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับงานไม้ในสเกลที่เล็กลง และต้องคงองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมไว้ให้มากที่สุด สิ่งที่ตอบโจทย์นั้นก็คือ เวิร์กช็อป และเราต้องการฝึกให้ช่างของยางนาสื่อสารกับคนทั่วไปมากขึ้น ให้เขาเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อความรู้ที่มี เมื่อช่างมีบทความในฐานะผู้ให้ความรู้มากกว่าคนรับคำสั่ง จะทำให้เขารู้สึกมีคุณค่า
“อีกอย่างที่สำคัญ เราต้องการส่งเสริมเครื่องไม้เครื่องมือที่ผลิตจากชุมชนด้วย” เท่งเล่า
เท่งยกตัวอย่างให้ฟังถึงเครื่องมืองานช่างที่ผลิตโดยสล่าจากภาคเหนือ มีมีด จากชุมชนตีมีด จังหวัดลำปาง หัวสิ่ว จากหมู่บ้านสันนาฮี้ จังหวัดลำพูน ด้ามสิ่ว จากช่างเยาวชนของยางนา จังหวัดเชียงใหม่ เขายังแนะนำร้านขายอุปกรณ์งานช่างที่ทำโดยช่างพื้นถิ่นให้ด้วย นั่นคือ ร้านศุขโข ร้านขายเครื่องมือ (Hand Tool) และอุปกรณ์การเกษตร และยางนาก็มีสินค้าแฮนด์ทูลขายในรูปแบบพรีออร์เดอร์ด้วย
“เราอยากสนับสนุนให้คนเห็นคุณค่าของเครื่องมือที่ทำโดยช่างพื้นถิ่น อยากผลักดันให้ชุมชนมีแรงขับในการสร้างผลิตภัณฑ์มากขึ้น ผู้ใช้งานก็ได้รับชิ้นงานที่มีที่มาที่ไปและมีเอกลักษณ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านั้นบอกสัณฐานและบริบทของพื้นที่นั้น ๆ ได้ แถมเป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า ซึ่งยังไม่ถูกอุ้มชู”

ผามจัดเวิร์กช็อป 2 แบบ หนึ่ง เวิร์กช็อปโมเดลจำลอง สอง เวิร์กช็อปเฟอร์นิเจอร์-ของใช้
เวิร์กช็อปโมเดล หรือสถาปัตยกรรมจำลอง ใช้เวลาเรียน 2 วัน ประโยชน์คือผู้เรียนได้ทดลองสร้างงานสเกลเล็ก ๆ และเห็นถึงกระบวนการทำงานเสมือนจริง โดยใช้เครื่องมือพื้นฐานอย่างค้อน สิ่ว เลื่อย ฯลฯ ซึ่งผู้สอนก็สอดแทรกเกร็ดความรู้ให้ผู้เรียนเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียนด้วย เช่น สัดส่วนหรือโครงสร้างสำคัญของศาลาหรืออาคาร เทคนิคเข้าสลักเดือย เป็นต้น พร้อมนำไปต่อยอดได้ แม้ไม่มีพื้นฐานงานก่อสร้าง
เรียนได้ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป


เวิร์กช็อปเฟอร์นิเจอร์ เน้นการใช้เครื่องมือพื้นฐาน หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมือที่เป็นไฟฟ้าให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ผู้เรียนเห็นว่า แม้เขาจะมีเครื่องมืออย่างง่ายก็รังสรรค์เฟอร์นิเจอร์ขึ้นมาด้วยตัวเองได้
บีและเท่งไม่จำกัดจินตนาการว่าผู้เรียนจะสร้างชิ้นงานเป็นสิ่งใด จะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางของ อุปกรณ์ดริปกาแฟ ฯลฯ ก็ทำได้ ซึ่งผามมีเครื่องมือพื้นฐานจากฝีมือพี่น้องถิ่นเหนือเตรียมไว้ให้ครบครัน
เวิร์กช็อปนี้ใช้เวลาเรียนเพียง 1 วัน พร้อมอาหาร-ของว่าง และเครื่องมือก็นำกลับบ้านได้
เรียนได้ตั้งอายุ 6 ขวบขึ้นไป (ครอบครัวไหนเป็นสายกิจกรรม เชิญชวนมาที่นี่)

ความสนุกที่บีเล่าให้ฟัง คือก่อนลงมือทำงานไม้ สถาปนิกและช่างจากยางนาจะร่วมด้วยช่วยกันสร้างพื้นฐานงานไม้ให้กับผู้เรียน เพื่อให้เข้าใจถึงวัสดุ โครงสร้าง และการสร้างงานจริง พร้อมพาเดินชมสถาปัตยกรรมงานไม้ในบริเวณพื้นที่สตูดิโอ ทำให้ผู้เรียนเห็นมิติต่าง ๆ ของงานไม้ชัดเจนมากขึ้น
“เราพยายามทำให้เขาเห็นว่าไม้มีหลายชนิด เช่น ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้มะค่า ฯลฯ แต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน การรับแรง ความยืดหยุ่น เป็นสิ่งที่อาจไม่มีในตำรา แต่เรายินดีเล่าให้เขาฟังจากประสบการณ์ที่ทำงานมา เพื่อให้เขาปะติดปะต่อหรือตอบคำถามในสิ่งที่เขาเคยสงสัยได้” เท่งอธิบาย
ไม้ที่นำมาใช้ในเวิร์กช็อปก็มีหลายชนิด ซึ่งเป็นไม้เหลือจากการใช้งานทั้งสิ้น เท่งบอกว่าเขาอยากจุดประกายให้คนเห็นค่าของไม้เก่าที่มีในบ้าน แล้วหยิบมันมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานใหม่ ๆ


แม้เปิดสอนไป 2 – 3 ครั้ง แต่ได้ผลตอบรับดี ผู้เรียนมีทั้งคนที่ชื่นชอบงานไม้และชื่นชอบยางนา
“ถ้าไม่มีผาม กว่าเขาจะได้คุยกับยางนาก็คงต้องจ้างเราออกแบบบ้าน” เท่งหัวเราะ
“นั่นเป็นอีกเหตุผลที่เราสร้างผามขึ้น เพื่อให้คนที่สนใจเหมือนกันมานั่งคุยกัน เป็นช่องทางที่เขามาพบปะกับพวกเราได้ง่ายขึ้น และหวังว่าเขาจะเข้าใจวัสดุประเภทนี้มากขึ้น ผ่านมิติต่าง ๆ เช่น สถาปัตยกรรมงานไม้ บรรยากาศ เครื่องมือพื้นฐาน และมีทัศนคติ มุมมองเกี่ยวกับไม้ในทิศทางที่ดี”


บีบอกว่างานไม้ทำให้เขามีสมาธิมากขึ้น และจากการสังเกต ผู้เรียนก็เกิดความภูมิใจในตัวเองด้วย เพราะเคยคิดว่าคงสร้างผลงานจากไม้ขึ้นมาไม่ได้แน่ ๆ แต่เมื่อเวิร์กช็อปกับผามกลับทำสิ่งนั้นได้
“เราจะพัฒนาสิ่งที่กำลังทำอยู่ไปเรื่อย ๆ จะเป็นกระบอกเสียงและผลักดันผลิตภัณฑ์ของชุมชนในวงกว้าง และอยากทำให้ผามเป็นหมุดหมายในการสนทนา แลกเปลี่ยน และเรียนรู้เกี่ยวกับงานไม้”
เท่งจบบทสทนา พร้อมชักชวนเราให้ลองไปเวิร์กช็อปกับผาม แน่นอนว่าเราตอบรับ
แม้เป็นการสนทนาสั้น ๆ แต่ทำให้เราเห็นถึงความตั้งใจของเท่ง บี และยางนา สตูดิโอ ที่อยากแบ่งปันเป็นความรู้ที่พวกเขามีสู่สาธารณะ และเป็นโอกาสดีให้แฟนคลับ (ขอเรียกแบบนี้นะ) ที่ชื่นชอบงานออกแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นประยุกต์ของพวกเขา ได้เข้าไปทำความรู้จักและสร้างชิ้นงานง่าย ๆ
ที่เราชอบมาก คือการสนับสนุนเครื่องมือช่างที่ผลิตโดยสล่าในภาคเหนือ เสน่ห์ของงานทำมือคือความวิเศษที่เครื่องจักรอุตสาหกรรมให้ไม่ได้ สนุกที่ได้รู้ที่ไปที่มาว่าเครื่องมือแต่ละชิ้นมาจากแหล่งไหนบ้าง และการเกิดขึ้นของผามก็สร้างคุณค่าในตัวเองให้กับช่าง (เยาวชน) ที่ทำงานกับยางนา สตูดิโอด้วย
เราหวังเหมือนเท่งว่าที่นี่จะเป็นหมุดหมายของทุกคนที่สนใจ รัก และหลงใหลงานไม้
