บ้านของ ปุ๊-วุฒิชัย ใจสมัคร อยู่กลางป่าเขาตีนดอยสุเทพ เป็นบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ 2 ชั้นรายล้อมด้วยต้นสัก ซึ่งยามนี้ใบร่วงกล่นเกลื่อน แซมด้วยกล้วยต้นผอมสูงที่ยืดตัวยื้อแย่งแสงตะวัน กาแฟพุ่มเล็กใบมันปลาบ กับทิวชงโคร่มรื่นที่หลุดรอดจากการปลิดกินยอดมาหลายชั่วรุ่น 

คนละขั้วกับย่านนิมมานเหมินท์ที่ในทุก ๆ วันเขาต้องเอาชีวิตไปใช้ที่นั่นค่อนครึ่ง หรือชุดอุปกรณ์ดีเจซึ่งวางอยู่หน้าบ้านนั่นก็ด้วยเช่นกันที่ชวนให้ดูขัดแย้งกับบรรยากาศอย่างบอกไม่ถูก

กระนั้น บรรยากาศแบบนี้แหละที่ยื่นวัตถุดิบให้ปุ๊หยิบมาประดิดประดอยบทเพลง จนเกิดเป็นอัลบัม ‘Bai Mai Wai’ ผลงานชุดประเดิมในนามศิลปิน Wuthichai และชุดแรกของเมืองไทยที่ผสมผสานระหว่างดนตรีอิเล็กทรอนิกส์กับสำเนียงคลาสสิกของดนตรีพื้นบ้านล้านนา

A Side

01 ใบไม้ไหว

“พูดได้เลยว่าเพลงเกือบทั้งหมดตั้งต้นจากที่นี่” ปุ๊ว่าไปพลางตระเตรียมเล่นเพลงในอัลบัมใหม่ของเขาให้เราฟัง “อย่างครั้งหนึ่งเรานอนบริเวณชานระเบียง มองดูสายลมพัดใบไม้พลิ้วไหว แล้วจินตนาการต่อว่า เวลาลมพัดมันคงช่วยหอบเอาควันหรือสิ่งไม่ดีให้จางหายไป เพลง ใบไม้ไหว เลยเกิดขึ้นตรงมุมระเบียงนั้น”

เดือนปีอันเงียบเชียบยุคโควิดระบาด ทำให้ปุ๊มีจังหวะกลับมาจับงานทำเพลงจริงจังอีกครั้ง เวลาชีวิตของเขาช่วงนั้นจึงหมดไปกับการฟัง อ่าน และครุ่นคิดกับการประกอบร่างภาพในหัวขึ้นเป็นเมโลดี้ ก่อนจะนำมันไปเรียบเรียงยังสตูดิโอส่วนตัวที่อุปกรณ์ครบครัน รวมทั้งสตูดิโอชั่วคราวซึ่งตั้งอยู่กลางห้องเก็บสินค้า ซึ่งเขาจะได้คว้าหูฟังและนั่งลงก็ต่อเมื่องานเช็กสต็อกเครื่องดื่ม อาหาร และตรวจตราเอกสารสำคัญต่าง ๆ ของร้าน Warmupcafe ราบรื่น เรียบร้อย

02 ดีเจหน่าย

หลังสวมหมวกผู้บริหารธุรกิจสถานบันเทิงได้ไม่กี่ปี ปุ๊ก็เริ่มสนใจในงานดีเจ

จากความเบื่อหน่ายที่ต้องเปิดเพลงซ้ำซากตลอดคืน ปนสงสัยว่าอาชีพดีเจที่สร้างสรรค์เพลงเหล่านี้มีวิธีคิดและทำงานอย่างไร นำไปสู่การจับพลัดจับผลูเรียนรู้การใช้เทิร์นเทเบิล มิกเซอร์ และอุปกรณ์สร้างเสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์อีกสารพัด โดยแรก ๆ ปุ๊นึกแค่อยากลองทำเพลงแปลกหูเจาะกลุ่มลูกค้าดีเจขี้เบื่อเหมือนกัน แต่หลัง ๆ ชักจริงจัง เลยเถิดจนปล่อยอัลบัมเพลงสไตล์ Trip Hop ของตัวเองออกมาใน พ.ศ. 2544 ผู้คนในแวดวงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์จึงได้รู้จักกับเขามากขึ้นในฐานะ DJ Shaky3345

อัลบัมแรกของปุ๊ใช้ชื่อเดียวกัน shaky3345 ซึ่งเจ้าตัวเฉลยว่าได้ไอเดียมาจาก ‘Shaggy’ (Shaggy Rogers) ตัวละครหลักของการ์ตูนเรื่อง Scooby-Doo แต่เลือกสะกดด้วยตัว K ให้พ้องกับคำว่า Shake ส่วนตัวเลข 33 และ 45 นั้นมาจากจำนวนรอบของแผ่นเสียง หนึ่งในอุปกรณ์ทำเพลงที่เขายังคงหลงเสน่ห์และใช้งานมาจวบวันนี้ แม้ว่าโลกของดนตรีจะเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

03 ความรู้สึกนำ

“ทั้งโอลด์สคูลฮิปฮอป เบรกบีต เฮาส์ เทคโน ดาวน์เทมโป แล้วก็วนกลับไปดรัมแอนด์เบส พอเล่นแบบนี้เยอะเข้า เราก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรท้าทายอีกแล้ว”

 ปุ๊เกริ่นให้ฟังถึงจุดเปลี่ยนในการเล่นดนตรี ประกอบกับเมื่อสังเกตเห็นคลื่นเสียงสำเนียงอีสานแบ่งบานในวงการดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ก็ทำให้เขาอยากลองนำเสนอดนตรีล้านนาในมิติที่นอกเหนือจากการเป็นแค่เพลงเล่นเฉพาะงานวัด งานบวช หรือประเพณีทางศาสนา นั่นคือการนำมาสร้างสรรค์ใหม่ในแบบดาวน์เทมโป ซึ่งกลายเป็นจุดที่ทำให้ปุ๊เปลี่ยนมาใช้ชื่อ Wuthichai ตามตัวตน พร้อมลงมือพัฒนาผลงานเพลงที่สืบรากอย่างโดดเด่นและทะเยอทะยาน 

“ทุกเพลงในอัลบัมเราทำขึ้นจากความรู้สึก” เพราะลึก ๆ เชื่อว่าหัวใจของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์คือการทดลอง ปุ๊จึงไม่หวั่นเกรงกับการทำเพลงโดยอาศัยใช้เพียงทักษะประสมความรู้สึก 

“เราไม่มีความรู้ทางดนตรีล้านนาก็จริง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น เหมือนกับที่ถึงจะอ่านโน้ตเป็นแต่ก็ไม่เคยอ่าน เพราะทุกเพลงที่ผ่านมาเราเน้นใช้ความรู้สึกนำทาง ซึ่งวิธีการนี้ซึมซับมาจาก ลุงต๋าคำ

04 เห็นกับหู

1 ตุลาคม พ.ศ. 2559

รายการ The North องศาเหนือ ตอน ‘ดนตรีล้านนาปิ๊กบ้าน’ ที่เผยแพร่ออกอากาศทางช่อง Thai PBS เป็นครั้งแรกที่ทำให้ปุ๊ได้เห็นใบหน้าของ ลุงต๋าคำ ศิลปินล้านนาตาบอดผู้มีฝีไม้ลายมือดีดซึงเป็นเลิศ พร้อมขับจ๊อยและซอ โดยเนื้อหาหลักของรายการเกริ่นถึงเรื่องราวปฐมบทของภารกิจนำไฟล์เสียงบันทึกบทเพลง 1,400 กว่าไฟล์ที่ เจอรัลด์ ไดค์ (Gerald P. Dyck) นักดนตรีชาติพันธุ์วิทยาชาวอเมริกันตระเวนบันทึกไว้ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2510 – 2514 กลับสู่ประเทศไทย โดยผู้ที่อาสาทำภารกิจนี้ คือ สงกรานต์ สมจันทร์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

“พอดูรายการนี้จบ เราก็ตั้งเป้าเลยว่าจะต้องติดต่ออาจารย์สงกรานต์ให้ได้ จนมีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ถึงแนวทางการทำเพลงอย่างที่ตั้งใจ ท่านก็ยินดีอนุเคราะห์ไฟล์เสียงบันทึกบทเพลงของลุงต๋าคำให้เป็นร้อย ๆ เพลงเลย”

แม้จะผ่านมาหลายปี แต่น้ำเสียงของปุ๊ยังเจือความตื่นเต้น เขาเล่าต่อว่าใช้เวลาฟังและศึกษาบทเพลงเหล่านั้นอยู่นานหลายเดือน ซึ่งสิ่งที่เขาได้รับไม่เพียงการได้เห็นบรรยากาศเมื่อหลายสิบปีก่อนของเชียงใหม่ ผ่านคำร้องและเสียงบรรยากาศรอบข้างลุงต๋าคำ หากยังได้ซึมซับท่วงทำนองอันลึกซึ้งที่ถ่ายทอดผ่านจิตวิญญาณของศิลปินผู้ที่ไดค์ถึงขั้นยกย่องว่าเป็น โรเบิร์ต จอห์นสัน (Robert Johnson) แห่งเมืองไทย และเป็นบุคคลบันดาลใจที่คอยเติมไฟสร้างสรรค์ผลงานยุคหลังของเขาเสมอมา

05 เด็กแนว

นั่นคือเสียงซึงจากลุงต๋าคำ
จากโลกอันมืดดำแต่มีพลัง
หวานเศร้าบอกเรื่องราวปางหลัง
ที่ถูกฝังด้วยกาลเวลา…

ความประทับใจของปุ๊ไม่ได้ลอยผุดขึ้นมาปุบปับจากการชมรายการโทรทัศน์ หากจริง ๆ แล้วเรื่องราวของลุงต๋าคำบันทึกอยู่ในโสตประสาทของเขามาเนิ่นนานก่อนหน้านั้นจากบทเพลง ลุงต๋าคำ ของ จรัล มโนเพ็ชร คีตกวีล้านนา

“คนที่ทำให้เรารู้จักอ้ายจรัลคือพ่อ ตอนนั้นเราอายุได้สัก 10 ขวบ เป็นมือกีตาร์ของวงดนตรีประจำโบสถ์ วันหนึ่งบังเอิญได้ยินคุณครูที่โบสถ์ฟังเพลง โฟล์คซองคําเมือง แล้วรู้สึกว่าแปลกใหม่มาก เพราะปกติจะได้ยินแกเปิดแต่เพลงฝรั่ง เลยกลับมาเล่าให้พ่อฟัง ท่านจึงพาเราไปหาซื้ออัลบัมของศิลปินที่ชื่อ จรัล มโนเพ็ชร” 

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เด็กชายปุ๊ก็หลงใหลการเสพดนตรีและเติบโตเป็นนักฟังเพลงตัวยงที่ค่อย ๆ ขยับพรมแดนจากโฟล์ก เพื่อชีวิต คันทรี ออกไปยังวัฒนธรรมดนตรีฝั่งอังกฤษและอเมริกัน ดูช่อง MTV รับนิตยสาร GT – Generation Terrorist และเคยอินจัดกับบทเพลงของ Ozzy Osbourne, UFO, Nirvana, Green Day, Radiohead, The Smashing Pumpkins เรื่อยไปจนศิลปินหัวหอกอัลเทอร์เนทีฟไทย อย่าง Moderndog, พราว และ อรอรีย์ ตามเทสที่วัยรุ่นยุคนั้นเรียกกันว่า ‘เด็กแนว’

คลังประสบการณ์ด้านการฟังหลากหลายเหล่านี้ กลายเป็นอีกวัตถุดิบที่ปุ๊มักหยิบมาเติมแต่งลงในเพลงให้มีความโดดเด่นและเพิ่มมิติน่าสนใจ

B Side

06 กึ๊ดเติงหาเน้อ

เพลงฟ้อนเล็บเชียงใหม่, เพลงแห่กลองเท่งทิ้ง, เพลงคำเมืองชุดพิเศษ แอ่วสาวเหนือ, อัลบัม โฟล์ค 1991 จากใจเป็นบทเพลง ของ จรัล มโนเพ็ชร, Eclextic Suntaraporn ของ DJ Seed (นรเศรษฐ หมัดคง) หรือแม้กระทั่งอัลบัม The Dark Side of the Moon ของ Pink Floyd คือแผ่นเสียงตัวอย่างที่ปุ๊คัดมาให้ดูว่าเป็นแรงบันดาลใจในการทำเพลงอัลบัมนี้ ซึ่งไม่มากก็น้อยล้วนต้องมีส่วนผสมจากการฟัง การอ่าน และการเดินทางท่องโลก

สำหรับการฟัง หนึ่งนั้นได้มาจากประสบการณ์ฟังเพลงที่สั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง อีกส่วนคือค้นหาท่วงทำนองเพลงพื้นเมืองที่กระทบใจ

“บางครั้งเวลาคิดงานไม่ออก เราจะหาแผ่นเสียงเพลงพื้นเมืองเก่า ๆ มาเปิดให้มันเล่นไปเรื่อย ๆ ระหว่างทำกิจวัตรประจำวัน แล้วถ้ามีท่อนไหนที่ฟังสะดุดหูก็จะล็อกเมโลดี้ตรงนั้นไว้และลูปเฉพาะท่อนประมาณ 4 ห้อง ฟังวนจนซึมซับ สักพักก็มักจะได้ไอเดียตั้งต้นในการผสมเสียงดนตรีชนิดอื่น ๆ หรือแอมเบียนลงไป 

“อย่างเพลง ไอมิสยู (I Miss You) เราผสานเสียงบรรยากาศและเรื่องราวต่าง ๆ ที่บันทึกตอนเดินทางไปจังหวัดน่าน เพราะเพลงนี้มีคอนเซปต์หลักมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง ‘ปู่ม่านย่าม่าน’ ภายในวัดภูมินทร์ ซึ่งเราจินตนาการว่าเขาคงกำลังกระซิบบอกทำนองว่า ‘กึ๊ดเติงหาเน้อ’ ส่วนการเรียบเรียงดนตรีได้แรงบันดาลใจมาจากวง Daft Punk ซึ่งโดดเด่นในการดึงทุกองค์ประกอบให้ออกมากลมกล่อมและเข้าถึงคนทั่วไปได้ง่าย”

07 อ่านจนเป็นเพลง

นอกจากการฟัง หลายเพลงยังมีที่มาจากตะกอนความคิดระหว่างการอ่านอันเข้มข้น โดยเฉพาะหนังสือประวัติศาสตร์ล้านนา 

“การอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ อาทิ หนังสือ ท่องล้านนาบนหลังช้าง, ประวัติศาสตร์สังคมล้านนา : ความเคลื่อนไหวของชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือ Lannaissance 120 ปี การต่อสู้ของท้องถิ่นในรัฐรวมศูนย์ ช่วยให้เราได้ชัดเจนในวิถีชีวิต บรรยากาศ และสังคมล้านนาในอดีต ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในการถ่ายทอดและสร้างสรรค์ดนตรีสำหรับเรา 

ที่ชอบที่สุดเล่มหนึ่ง คือหนังสือ นายห้างป่าไม้: สีสันชีวิตอดีตล้านนา เล่มนี้เป็นสารตั้งต้นของเพลง โพลลูชั่น (Pollution) และ Lanna to Siam 1878 ที่เราตีความมาจากเรื่องราวของ ดร.ชีค-ดร.มาเรียน อลองโซ ชีค (Dr.Marion Alonzo Cheek M.D.) มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เป็นหมอฝีมือเก่งกาจ รวมถึงเป็นผู้สร้างสะพานจันทร์สมอนุสรณ์ หรือ ขัวแขก สะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ และนายห้างค้าไม้สมัยเมื่อ 100 กว่าปีก่อน” 

ปุ๊เสริมต่อว่า ความรู้ที่ได้รับจากการอ่านยังช่วยเพิ่มคุณค่าของโชว์ เพราะทุกครั้งเขาจะพยายามสื่อสารให้คนฟังเข้าใจก่อนเสมอว่าเมโลดี้นี้มีที่มาอย่างไร มาจากเรื่องราว ช่วงเวลา หรือบรรยากาศแบบไหนในประวัติศาสตร์ เพื่อให้คนฟังเข้าถึงสุนทรียะและประสบการณ์ทางดนตรีที่เพลิดเพลินมากยิ่งขึ้น

 “เคยมีคนบอกเราว่ายากถ้าจะทำดนตรีล้านนากับอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากศิลปินสมัยก่อนชอบบรรเลงไหลไปตามอารมณ์ ทำให้คีย์และคอร์ดอาจไม่ตรงตามมาตรฐาน แต่วันนี้เราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าก้าวข้ามความเป็นไปไม่ได้”

ส่วนหนึ่งปุ๊บอกว่าเขาต้องขอขอบคุณ ครูแอ๊ด-ภานุทัต อภิชนาธง ศิลปินพื้นบ้านล้านนาที่ไม่เพียงเชี่ยวชาญในด้านดนตรีล้านนา หากยังรอบรู้เรื่องการทำเพลงด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ ซึ่งกรุณามาร่วมอิมโพรไวส์และช่วยเชื่อมสะพานระหว่าง 2 วัฒนธรรมดนตรีให้ออกมามีความกลมกล่อมและเสน่ห์ร่วมสมัย

 “เราใช้เวลาปีกว่าเทียวไปมาหาสู่ครูแอ๊ดเพื่อปรับจูนกันในเรื่องของแนวคิดและแนวทางการทำงาน ซึ่งช่วงแรกดูเหมือนครูค่อนข้างกังวลว่าดนตรีทั้ง 2 แบบอาจเข้ากันไม่ได้ เราจึงใช้วิธีอธิบายคอนเซปต์แต่ละเพลงแล้วเปิดพื้นที่ให้ครูได้ตีดนตรีความอย่างอิสระ ผลงานทั้งหมดจึงมีทั้งเสียงปี่จุม ปี่แน ฆ้อง ฆ้องหลวง ซึง และระนาดของครูแอ๊ดเล่นผสาน ซึ่งเราปลื้มมาก ๆ เพราะมันช่วยเติมเสียงสังเคราะห์ให้มีสีสัน ดูเป็น Musical ขึ้น และเชื่อมโยงคนรุ่นเก่า-ใหม่ได้อย่างดี”

08 สนับสนุนคนเมือง

หลังทุ่มและซุ่มทำนานกว่า 4 ปี ผลงานดนตรีลูกครึ่งอิเล็กทรอนิกส์-ล้านนา ทั้ง 9 แทร็กก็ถูกบันทึกลงบนแผ่นเสียงสีเขียวใบตองสดใส ซึ่งปุ๊บอกว่าเกือบ 90% ของกระบวนการผลิตผลงานชุดนี้ ตั้งแต่ดนตรีจนกระทั่งปกแผ่นเสียงลายเส้นสวยงามสะดุดตา ล้วนมาจากฝีมือของศิลปินและนักสร้างสรรค์ในภาคเหนือ ด้วยความตั้งใจสนับสนุนคนเมือง เช่นเดียวกับการตัดสินใจเปิดค่ายเพลง GaLae Recordings

 “หนึ่งในคนที่เป็นแรงผลักดันให้ทำอัลบัมนี้จนสำเร็จ คือ พี่หมี (Mdj FunkyGangster) เขากระตุ้นเราให้ลงมือ ช่วยขัดเกลาอัลบัม รวมถึงจุดประกายการทำ GaLae Recordings ด้วย” 

อีกผลผลิตที่ขับเคลื่อนควบคู่ไปกับการปลุกปั้นอัลบัม คือค่ายเพลงเล็ก ๆ ที่ปุ๊ตั้งใจทำมาสำหรับซัพพอร์ตศิลปินอิเล็กทรอนิกส์ในภาคเหนือเป็นหลัก จากการสังเกตเห็นโอกาสที่มีไม่มากในภูมิภาค ซึ่งสวนทางกับศักยภาพของคนดนตรี เขาจึงอยากสร้างพื้นที่ส่งเสริมศิลปินอิเล็กทรอนิกส์เมืองเหนือให้เติบโต มีตัวตน และส่งเสียงให้ผู้คนได้รู้ว่าดนตรีอิเล็กทรอนิกส์จากถิ่นเหนือที่หลายคนมองข้ามนั้น ‘อย่างเอา’ 

09 เหมือนอ้ายจรัล

“ตอนเด็ก ๆ บ้านของเราอยูใกล้กับวัดป่าแพ่งเลย ดังนั้นเวลาชุมชนมีงานบวช งานบุญ หรืองานศพ จะได้ยินเสียงดนตรีพื้นเมืองจนเป็นเรื่องปกติธรรมดา จำได้ว่าสมัยก่อนยังไม่มีเครื่องเสียงหรือรถแห่ ใช้การเล่นสด ฆ้องใหญ่ กลองยาว เสียงคนโห่ เสียงเหล่านี้มันค่อย ๆ ซึมซับเข้ามาและฝังลึกอยู่ตัวเรา แม้ตอนวัยรุ่นจะเคยมองว่าไม่เท่ หลงลืมไปช่วงหนึ่ง แต่ตอนนี้เรากลับมารู้สึกว่าเมโลดี้เหล่านั้นแหละที่คือรากเหง้า คุณค่า และตัวตนของเราจริง ๆ”

เด็กคริสเตียนบ้านข้างวัดในวันนั้น โตมาเป็นนักดนตรีที่ในวันนี้บอกกับเราด้วยแววตามุ่งมั่นว่า อยากพาดนตรีล้านนาไปโชว์บนเวทีระดับโลก FUJI ROCK FESTIVAL ไม่ก็ Glastonbury Festival และในทุก ๆ วันเขาก็กำลังพยายามพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ

“ทุกวันนี้เรากำลังเตรียมตัวทำโชว์ เพราะเริ่มมีคนติดต่อชวนไปแสดงตามเทศกาลต่าง ๆ บ้างแล้ว อย่างล่าสุดที่ไปมาก็จะมี Longlay Beach Life Festival, The Great Gathering, Studio Lam, Thapae East หรือ Chiang Mai Live Music นอกจากติดต่อทาบทามศิลปินและนักดนตรีมาร่วมทีม ตอนนี้เราศึกษาเกี่ยวกับซินธิไซเซอร์ (Synthesizer) หรือเครื่องสังเคราะห์เสียงด้วย เพราะอยากเรียนรู้การสร้างเสียงจำลองใหม่ ๆ เพื่อยกระดับโชว์ให้มีเอกลักษณ์และน่าสนใจมากขึ้น”

ก่อนแยกย้ายกัน ปุ๊โพล่งออกมาว่าจริง ๆ แล้วตัวเขาเองยังมีความฝันอีกอย่าง นั่นคืออยากได้ยินเพลงตัวเองเปิดตามเทศกาลงานประเพณีต่าง ๆ ของภาคเหนือ 

“เราอยากมีสักแทร็กที่เข้าไปอยู่ในงานปีใหม่เมือง งานยี่เป็ง หรือออกเสียงตามสายหมู่บ้าน เพื่อให้คนรุ่นเก่าได้ฟัง คนรุ่นใหม่ได้ยิน ซึ่งถ้าเขาฟังแล้วรู้สึกว่า แอ๊ เพลงตะอี้ฮาก่อยะได้บ่ะ ก็คงจะดีใจมาก ๆ เพราะเราอยากให้อัลบัมนี้เป็นเหมือนเชื้อไฟส่งต่อแรงบันดาลให้ศิลปินรุ่นใหม่กล้าออกมาต่อยอด สร้างสรรค์ และปลุกชีวิตชีวาของดนตรีล้านนาให้กลับมาอีกครั้ง” ปุ๊เล่าแต้มรอยยิ้ม 

“เราฝันไว้นะว่าอยากเป็นเหมือนอ้ายจรัล แต่จะทำมันในแบบของตัวเอง”

ฟังดูอหังการ แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้ผลงานของเขายืนยันกับเราว่าอย่างน้อย ๆ ก็ไม่ใช่เป็นแค่คนฝันเฟื่อง ในฐานะลูกป้อจายข้าวนึ่งเหมือนกัน เราต่างขอบคุณ จับมือกัน และไม่มีเหตุผลอะไรให้ที่จะไม่เอาใจช่วยให้ฝันของเขานั้นเป็นความจริง

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ