วันที่เขียนต้นฉบับ ‘อ่านอร่อย’ ชิ้นนี้ ได้ข่าวว่า คุณหมอกฤตไท ธนสมบัติกุล คุณหมอหนุ่มอนาคตไกลที่โชคร้ายเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ได้จากพวกเราไปแล้วด้วยวัยเพียง 29 ปี หลังจากต่อสู้มานาน

ความเศร้าคือคุณหมอดูแลสุขภาพตัวเองเป็นอย่างดี ออกกำลังกาย ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ พักผ่อนเพียงพอ แต่ก็ยังเป็นมะเร็งปอด

ในหนังสือ สู้ดิวะ ที่คุณหมอเขียน มีตอนหนึ่งที่ซืออ่านแล้วประทับใจมาก คุณหมอเขียนไว้ว่า 

…ให้เวลากับคนรักของคุณ กับเพื่อน กับครอบครัว กับคนที่รักคุณ กับคนที่มีความสำคัญกับชีวิตคุณ มากกว่าภาระ การงาน ตำแหน่ง และเงินทองเถอะครับ ผมหวังว่าคุณจะหันมาขอบคุณความปกติในชีวิตคุณให้มากขึ้น…

อ่านแล้วก็นึกถึงตัวเองว่ามัวแต่ทำงานจนลืมนึกถึงความ ‘ปกติ’ หลายอย่างในชีวิต เช่น ยังตื่นมาหายใจได้โดยไม่เจ็บปวด ยังลุกจากเตียงได้ ยังอาบน้ำแปรงฟันเองได้ ยังมีคนที่เรารักและรักเราอยู่ครบถ้วน แต่หลาย ๆ ครั้งก็ไม่ได้ให้เวลากับครอบครัวมากเท่าที่ควร

เอาเป็นว่าถ้าพรุ่งนี้ไปตรวจร่างกายแล้วคุณหมอเดินมาบอกหน้านิ่ง ๆ ว่า คุณเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายนะครับ คงเป๋ไปเหมือนกันค่ะ 

เรื่องคุณหมอกฤตไท บวกกับบรรยากาศเดือนธันวาคม ทำให้ซือนึกถึงประเด็นที่อยากชวนคุยในวันนี้ค่ะ คือคริสต์มาสในยามสงครามโลกครั้งที่ 2  

ทำไมน่ะหรือคะ เพราะการฉลองในบรรยากาศ ‘ไม่ปกติ’ ทำให้เราหวนนึกถึงความปกติ (ที่เราอาจไม่ค่อยเห็นคุณค่ากันนัก) 

สำหรับทหารที่ต้องออกไปรบไกลบ้าน และครอบครัวที่รอคอยการกลับมา การฉลองคริสต์มาสในช่วงนั้นคงทำให้นึกถึงปีก่อน ๆ ที่ได้ฉลองกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา มีอาหารและของขวัญพอควรตามแต่ฐานะ มีการประดับประดาต้นคริสต์มาสทั้งในบ้านและห้างร้านต่าง ๆ อย่างสวยงาม 

แต่ช่วงสงคราม ต้นคริสต์มาสมีน้อยลงเพราะคนตัด (คือพวกผู้ชาย) ไปออกรบ อีกทั้งยังไม่มีพื้นที่ในรถไฟที่จะใช้ขนต้นสนไปยังตลาด (เพราะต้องใช้บรรทุกของอย่างอื่นที่จำเป็นกว่า) จำนวนสมาชิกครอบครัวที่เดินทางมาร่วมฉลองก็ลดน้อยลง เพราะยางรถยนต์รวมทั้งน้ำมันรถถือเป็นของใช้ปันส่วน ประชาชนชาวอเมริกันต้องหันมาใช้ต้นสนปลอมแทน หน้าตาเป็นอย่างนี้ค่ะ 

ต้นสนปลอม โฆษณาปี 1942 ของห้างสรรพสินค้า Sears 
ภาพ : pacificparatroopers.wordpress.com

หากอยากให้มี ‘หิมะ’ บนต้นสนก็ไม่ยาก วิธีคือเอาน้ำสบู่ละเลงบนกิ่งก้าน รอให้แห้ง 

ในช่วงบ้านเมืองสงบสุข ของตกแต่งคริสต์มาสส่วนใหญ่มักทำจากอะลูมิเนียมและสังกะสี แต่ในยามสงคราม ทั้ง 2 อย่างนี้ถือเป็นของหายาก ต้องเข้าระบบปันส่วนอีกเช่นกัน ผู้คนจึงทำของตกแต่งกันเองจากกระดาษ หนังสือพิมพ์ เชือก และของที่หาได้ตามธรรมชาติ เช่น ลูกสนหรือเมล็ดถั่วต่าง ๆ แต่ในอังกฤษ เมื่อกระดาษเริ่มหายากและกลายเป็นสินค้าควบคุมในปี 1941 การห่อของขวัญจึงเป็นเรื่องยาก

เด็กนักเรียนในเมือง Cambridgeshire ช่วยกันทำของประดับคริสต์มาสในปี 1944 ในภาพ เด็ก ๆ กำลังทำโซ่จากเศษกระดาษเท่าที่หาได้ หรือบางครั้งก็ใช้หนังสือพิมพ์เก่า ๆ เอามาทาสี 
ภาพ : imw.org.uk
ของขวัญของเด็ก ๆ ชาวอังกฤษในปี 1940 ทำจากกระดาษคุณภาพต่ำ 
ภาพ : iwm.org.uk

ของขวัญในยามสงครามก็มักเป็นของโฮมเมด เช่น แยมต่าง ๆ หมวกหรือผ้าพันคอไหมพรมถักที่รีไซเคิลมาจากเสื้อไหมพรมตัวเก่าที่มีในบ้าน แถมไม่มีกระดาษห่อเพราะกระดาษเป็นของจำเป็น คนทั่วไปจึงห่อของขวัญด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์บ้าง ผ้าชิ้นเล็ก ๆ บ้าง 

ของขวัญอีกอย่างที่นิยมในช่วงนั้น คือ War Bonds หรือพันธบัตรสงคราม รัฐบาลอังกฤษเชิญชวนให้ประชาชนช่วยกันซื้อพันธบัตร ซึ่งเท่ากับเป็นการให้รัฐบาลยืมเงินไปใช้จ่ายช่วงสงคราม ประชาชนจึงเลือกซื้อพันธบัตรที่ว่านี้ให้สมาชิกในครอบครัวแทนของขวัญแบบเดิมค่ะ และยังให้เด็ก ๆ ด้วย 

ซึ่งแน่นอนว่าเด็ก ๆ ในช่วงทศวรรษ 1940 ก็ผิดหวังอยู่บ้างเพราะไม่รู้จักว่า ‘พันธบัตร’ คืออะไร อยากได้ของเล่นมากกว่า แต่ของเล่นก็ขาดแคลน เพราะมักต้องใช้โลหะหรือยางในการทำ (ซึ่งเป็นวัสดุมีค่าช่วงสงคราม) ผู้ผลิตของเล่นจึงเปลี่ยนไปใช้ไม้ กระดาษแข็ง และพลาสติกซึ่งถือเป็นวัสดุใหม่ในช่วงนั้นแทน 

โปสเตอร์เชิญชวนให้ซื้อพันธบัตรสงคราม เพื่อเป็นการช่วยชาติ 
ภาพ : www.nationalww2museum.org และ www.sarahsundin.com 

อย่างไรก็ดี นโยบาย Blackout คือห้ามเปิดไฟยามกลางคืน (เพื่อไม่ให้ข้าศึกมองเห็น และเพื่อประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง) ทำให้บรรยากาศคริสต์มาสเหงาหงอยไปไม่ใช่น้อย 

ในเมื่อพวกผู้ชายไปรบ คนรับบทซานตาคลอสทั้งในบ้านเรือนและห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาจึงเป็นผู้หญิง 

ซานตาคลอสที่รับหน้าที่โดยผู้หญิง ในงานฉลองสำหรับเด็กอังกฤษที่ถูกส่งไปอยู่ในชนบทเพื่อความปลอดภัย เมือง Oxfordshire ปี 1941 
ภาพ : History.com 

เพลงคริสต์มาสที่ฮิตมากและยังคงได้รับความนิยมจนปัจจุบันคือ I’ll Be Home For Christmas, Have Yourself a Merry Little Christmas และ White Christmas ซึ่งโดยส่วนตัวซือก็ชอบทั้ง 3 เพลงนี้มากเช่นกัน หากเป็นทหารที่กำลังไปออกรบไกลบ้าน ได้ยินแล้วน่าจะเรียกน้ำตาได้ไม่ใช่น้อยเลย

ทหารอเมริกันร่วมร้องเพลงคริสต์มาสในปี 1941 
ภาพ : US Army Center of Military History

สิ่งสำคัญของงานฉลองก็คืออาหาร แต่ในยามสงครามที่อาหารหลักหลายอย่างต้องปันส่วน เช่น เนื้อ นม ไข่ น้ำมันสำหรับปรุงอาหาร ชีส เหล่าแม่บ้านจึงต้องพยายามพลิกแพลงกันเต็มที่เพื่อให้ครอบครัวได้มีอาหารฉลองเทศกาลคริสต์มาส อเมริกันชนจึงใช้วิธีสะสมแสตมป์ (ที่ใช้แลกอาหารปันส่วน) ไว้เพื่อช่วงเทศกาลจะได้มีของกินไว้เฉลิมฉลอง ไก่งวงที่เป็นจานหลักวันคริสต์มาสกลายเป็นของหายาก (เพราะบางส่วนต้องส่งไปเป็นอาหารของกองทัพ) แม่ ๆ จึงใช้อาหารอย่างอื่นเท่าที่จะหาได้แทน เช่น เครื่องในวัว หรือใช้มันฝรั่งปั้นเป็นรูปไก่งวง คริสต์มาสพุดดิ้งและเค้กที่ตามตำรับต้องใช้ผลไม้แห้ง (ซึ่งหายากในยามสงคราม) ก็ใช้เกล็ดขนมปังเยอะ ๆ เข้าไว้แทน

ส่วนในสนามรบ กองทัพพยายามอย่างยิ่งที่จะจัดหาอาหารเทศกาลให้พวกทหารไกลบ้านได้ฉลองคริสต์มาสกัน ตั้งแต่ไก่งวง หมูแฮมที่หายากยิ่ง มีรายงานว่าในปี 1942 สำหรับทหารอเมริกันที่ Guadalcanal ในหมู่เกาะโซโลมอน มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ กองทัพพยายามหาอาหารคริสต์มาสมาให้ แต่ก็ได้เพียงส้มคนละลูกและเบียร์ ซึ่งแค่นี้ก็สร้างสีสันเล็ก ๆ ในยามสงครามให้ได้เช่นกัน

ทหารอเมริกันล้อมวงกินมื้อเย็นบนกองฟางในแนวหน้าที่อิตาลี วันที่ 25 ธันวาคม ปี 1943 
ภาพ : US National Archives
ทหารอเมริกันกินมื้อเย็นวันคริสต์มาสโดยใช้รถจี๊ปเป็นโต๊ะอาหารในแนวหน้าที่ฝรั่งเศส 
ภาพ : history.com

ในยามสงคราม ความเห็นอกเห็นใจย่อมมีค่าอย่างยิ่ง สำหรับทหารอเมริกันหนุ่ม ๆ จำนวนไม่น้อยที่มาถึงชายฝั่งอังกฤษในปี 1942 สงครามครั้งนี้เป็นการจากบ้านมาไกลเป็นครั้งแรก เมื่อถึงช่วงคริสต์มาสจึงแย่เข้าไปใหญ่ เพราะเหล่าทหารต่างคิดถึงบ้าน จึงมีการจัดกิจกรรมทั่วประเทศขึ้นมาเพื่อจับคู่ทหารอเมริกันกับครอบครัวอังกฤษให้ฉลองคริสต์มาสด้วยกันอย่างอบอุ่น ทหารอเมริกันมักจะนำอาหาร (ที่ครอบครัวอังกฤษกำลังต้องการมาก) มาเป็นของขวัญ 

ทหารอเมริกันฉลองคริสต์มาสกับครอบครัวอังกฤษ 
ภาพ : dailymail.co.uk

แต่สำหรับทหารที่อยู่สนามรบแนวหน้า บรรดาพ่อแม่ตัวจริงก็จะส่งพัสดุไปรษณีย์ไปให้ ซึ่งเป็นเครื่องชูใจได้อย่างดีสำหรับพวกทหาร แต่หลาย ๆ ครั้งต้องผิดหวัง เพราะสิ่งที่พ่อแม่ส่งมาให้คือเนื้อบดปรุงรสที่เรียกว่า Spam เพราะสิ่งนี้เป็นอาหารในกองทัพอยู่แล้ว กินอยู่ทุกวัน 

ในปีถัด ๆ มา จึงมีการรณรงค์ให้บรรดาพ่อ ๆ แม่ ๆ ส่งอย่างอื่นไปให้ลูกชาย เช่น หนังสือ นิตยสาร รูปถ่ายครอบครัว เค้กผลไม้ ช็อกโกแลต ลูกกวาด คุกกี้ ซึ่งถือเป็นของหายากในยามสงครามที่น้ำตาลเป็นอาหารปันส่วน บางบ้านส่งถุงเท้าอุ่น ๆ ถักเองไปให้เป็นของขวัญ ซึ่งก็เป็นผลงานการถักในยามสิ้นวันหลังจากบรรดาผู้หญิงอเมริกันต้องออกไปทำงานในโรงงานแทนพวกผู้ชายที่ไปออกรบ

พัสดุเหล่านี้ต้องส่งออกตั้งแต่กลางเดือนกันยายนถึงกลางเดือนตุลาคม เพื่อให้ส่งถึงมือเหล่าทหารทันช่วงคริสต์มาส 

โปสเตอร์ของกองทัพอเมริกันที่ร่วมมือกับการไปรษณีย์ ให้ส่งของขวัญคริสต์มาสล่วงหน้า 
ภาพ : www.sarahsundin.com
ทหารอเมริกันที่ประจำการหน่วยปืนใหญ่ในแนวหน้าที่เยอรมนีได้รับพัสดุคริสต์มาสจากครอบครัว วันที่ 26 พฤศจิกายน ปี 1944 
ภาพ : US Army Signal Corps
ทหารอเมริกันใน Pietramelara อิตาลี เปิดกล่องพัสดุคริสต์มาสจากบ้าน วันที่ 16 ธันวาคม ปี 1943 
ภาพ : US Army Center of Military History

สำหรับทหารอเมริกันที่กำลังต่อสู้กับสงครามและความหนาวเหน็บ ของขวัญห่อเล็ก ๆ จากบ้านย่อมมีค่ามากมาย ซึ่งก็เป็นที่โชคดีว่าเมื่อสงครามสงบลงในปี 1945 ทหารอเมริกันส่วนใหญ่ได้กลับบ้านไปฉลองคริสต์มาสกับครอบครัวอีกครั้งค่ะ 

มีเกร็ดบันทึกไว้ว่า เมื่อทหารเหล่านี้เดินทางถึงมาตุภูมิและต้องต่อรถหรือรถไฟเพื่อกลับบ้าน ประชาชนจำนวนมากยินดียกที่นั่งในรถไฟหรือมอบตั๋วโดยสารให้เพื่อให้เหล่าทหารได้กลับบ้าน หรือหาของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ มามอบให้ทหารที่ยังตกค้างอยู่ที่สถานีรถไฟทั่วประเทศ 

มีบันทึกถึงเจ้าของรถบรรทุกจากรัฐ Colorado ที่ขนทหาร 35 คนขึ้นรถและขับไปส่งให้ทุกคนถึงบ้านทันฉลองกับครอบครัว และมีเรื่องคนขับรถแท็กซี่ที่พาทหาร 6 คนกลับบ้าน โดยขับรถเป็นระยะทางรวมกว่า 2,700 ไมล์ (4,345 กิโลเมตร) โดยไม่ยอมรับค่ารถ ขอรับเพียงแค่ค่าน้ำมันเท่านั้น

เรือ USS Saratoga ที่นำทหารอเมริกันกลับบ้านสู่อ้อมกอดครอบครัว 
ภาพ : rosietheriveter.net
คริสต์มาสปี 1945 ที่ทหารอเมริกันได้ฉลองร่วมกับครอบครัวอีกครั้ง
ภาพ : rosietheriveter.net

อย่างไรก็ดี คริสต์มาสของอีกหลายครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสงครามจะไม่มีวันเหมือนเดิม เพราะต้องสูญเสียสมาชิกไปตลอดกาล

สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ในวันนี้ เราไม่เคยใช้ชีวิตช่วงสงคราม เรายังไม่เคยประสบสภาวะข้าวยากหมากแพง หลายคนรวมทั้งซือด้วยก็ยังไม่เคยต้องสูญเสียคนใกล้ชิด 

ซือคิดว่าช่วงใกล้สิ้นปีแบบนี้ รวมทั้งสิ่งที่คุณหมอกฤตไทมอบไว้ให้ น่าจะช่วยให้พวกเราได้ตระหนักถึงความสำคัญของ ‘วันพรุ่งนี้’ ที่ไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้กับชาติหน้าอะไรจะมาถึงก่อนกัน หรือพรุ่งนี้เราจะยังได้เจอสมาชิกในครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตาไหม เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

หากวันนี้คุณยังคงมี ‘ความปกติ’ ในชีวิต ยินดีด้วยนะคะ ?

ขอให้คุณผู้อ่านทุกท่านและครอบครัวมีความสุขมาก ๆ ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่นี้ค่ะ

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม