โลกถูกกระหน่ำด้วยวิกฤตโควิดเป็นเวลาถึง 3 ปี หลังจากสถานการณ์ค่อย ๆ ผ่อนคลายลง ปีนี้ผู้คนทั่วโลกคล้ายจะโหยหาความสุขจากการเฉลิมฉลองเทศกาลต่าง ๆ จึงฉลองเทศกาลเชื่อมต่อกันเต็มไปหมด ตั้งแต่ฮาโลวีน ลอยกระทง ดูเหมือนว่าปีนี้เพลงคริสต์มาสจะดังขึ้นเร็วกว่าทุกปี (และดูเหมือนคริสต์มาสจะเร็วขึ้นทุก ๆ ปี ที่เรียกกันว่า ‘การคืบคลานของคริสต์มาส’) 

บางเพลงเราก็คุ้นหูกันดี เช่น คืนสงัด (Silent Night), พระทรงบังเกิด (Joy to the World), ระฆังเงิน (Jingle Bells) ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของบทเพลงที่มีท่วงทำนองสดใส เสียงกระดิ่งกระพรวนดังกรุ๊งกริ๊ง ชวนให้บรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองช่วงสิ้นปีมีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนาน วันนี้จึงเชิญชวนมาไล่เรียงดูกันว่า บทเพลงที่สร้างสีสันสดใสสำหรับเทศกาลพระคริสตสมภพนั้น มีที่มาอย่างไรและพัฒนาต่อไปอย่างไร

จาก Jingle Bells ถึง All I Want For Christmas Is You แกะรอยต้นกำเนิดเพลงคริสต์มาส
บรรยากาศพระแท่นในเทศกาลพระคริสตสมภพ วัดกาลหว่าร์ ตลาดน้อย
ภาพ : เจิดจ้า รุจิรัตน์

คืนศักดิ์สิทธิ์ : บทเพลงในรางหญ้า

เพลงคริสต์มาสในยุคแรก เนื้อหาของเพลงเป็นการร้องสรรเสริญการบังเกิดของพระเยซูคริสต์ในค่ำคืนพระคริสตสมภพ ซึ่งได้แบบมาจากบทเพลงของทูตสวรรค์ที่ร้องในทุ่งเลี้ยงแกะ เราไม่รู้แน่ชัดว่า เพลงสำหรับร้องในวันนี้แต่งขึ้นครั้งแรกเมื่อใด สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มในยุคที่พระศาสนจักรเริ่มระบุการฉลองเทศกาลคริสต์มาสลงในปฏิทินพิธีกรรม คือช่วงค.ศ. 375 ลงมา ตัวอย่างที่เก่าที่สุดเก่าไปถึงศตวรรษที่ 4 เนื้อหาของเพลงเน้นไปที่การบังเกิดพระคริสต์ ที่ประสูติอย่างต่ำต้อยขัดสนในคอกเลี้ยงสัตว์ที่เมืองเบธเลเฮม แน่นอนว่าเพลงศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ร้องกันแต่ในโบสถ์เท่านั้น คริสต์มาสในยุคแรกจึงเป็นประเพณีทางศาสนาล้วน ๆ ค่อนข้างเคร่งขรึมจริงจัง ไม่ได้ให้บรรยากาศแบบงานเทศกาลเท่าไรนัก 

ตัวอย่างของเพลงในยุคนี้ ได้แก่ Jesus Refulsit Omnium (พระเยซู แสงสว่างแห่งนานาชาติ) เขียนขึ้นโดยนักบุญฮิลารีแห่งปัวติเยในศตวรรษที่ 4 และ Corde natus ex Parentis (การบังเกิดของความรักของพระบิดาเจ้า)

จาก Jingle Bells ถึง All I Want For Christmas Is You แกะรอยต้นกำเนิดเพลงคริสต์มาส
ถ้ำพระกุมารหรือฉากประสูติของพระเยซู หนึ่งในองค์ประกอบเทศกาลคริสต์มาสที่ทุกวัดต้องมี
ภาพ : เจิดจ้า รุจิรัตน์

ไม่มีธรรมเนียมร้องเพลงคริสต์มาสก่อนคริสต์มาสอีฟ

แม้ว่าเราจะได้ยินเพลงคริสต์มาสที่เปิดล่วงหน้าก่อนวันคริสต์มาสในห้างร้านต่าง ๆ แต่ถ้าหากไปร่วมพิธีกรรมในโบสถ์ต่าง ๆ เราจะยังไม่ได้ยินเพลงคริสต์มาสเลย เพราะเวลา 4 สัปดาห์ก่อนหน้าวันคริสต์มาส จะถือว่าเป็นเทศกาล ‘เตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า’ (Advent) ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเตรียมตัวเตรียมใจรับการเสด็จมาของพระกุมารเยซู ขณะเดียวกัน ในเชิงสัญลักษณ์ก็เปรียบเทียบว่า ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่โลกยังอยู่ในเวลาแห่งพันธสัญญาเดิม ยังไม่มีพระผู้ไถ่ลงมาประสูติ มนุษย์รอคอยพระองค์อย่างใจจดใจจ่อ อาภรณ์ของบาทหลวงจึงใช้สีม่วง (เป็นสีแห่งความโศกเศร้าเพราะการรอคอย) 

สำหรับบทเพลงในช่วงเวลานี้ ก็มีการแต่งแยกออกไปต่างหาก เช่น Veni redemptor gentium ซึ่งแปลได้ว่า เชิญเสด็จพระผู้ไถ่แห่งนานาชาติ ซึ่งเก่าไปถึงศตวรรษที่ 4, เพลงเชิญเถิดเอ็มมานูเอล (O come Emmanuel) แต่เดิมเป็นเพลงภาษาละตินในศตวรรษที่ 8, เพลงเชิญเสด็จพระมหาไถ่ (O come divine messiah) แต่งโดยกวีชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17 หรือ ซึ่งเป็นบทเพลงแห่งความหวัง แต่ยังไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งความชื่นชมยินดี 

จาก Jingle Bells ถึง All I Want For Christmas Is You แกะรอยต้นกำเนิดเพลงคริสต์มาส
บทเพลง Veni redemptor gentium ที่พบในเอกสารยุคกลาง
ภาพ : blogs.bl.uk/digitisedmanuscripts

จากบทเพลงละตินสู่เพลงภาษาอื่น ๆ 

ทุกวันนี้เราเคยชินกับเพลงคริสต์มาสภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่น ๆ แต่ในอดีต การใช้ภาษาอื่นนอกจากละตินเพื่อสรรเสริญพระเจ้าดูจะเป็นเรื่องผิดที่ผิดทาง เนื่องจากธรรมเนียมการยกย่องภาษาละตินว่าเป็นภาษาสำหรับศาสนาเท่านั้น การแต่งเพลงคริสต์มาสเป็นภาษายุโรปอื่น ๆ จึงเกิดขึ้นภายหลัง 

โดยเฉพาะในช่วงยุคกลางหลังศตวรรษที่ 13 ลงมา คริสต์มาสกลายเป็นเทศกาลรื่นเริงที่ชาวบ้านเอาไปฉลองกันนอกโบสถ์ มีการรวมขบวนกันร้องเพลงแห่กันไปรอบหมู่บ้าน เกิดเป็นเพลง Carol ขึ้นมา (คำนี้รากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า carole ซึ่งแปลว่าการเต้นรำจับมือกัน) ซึ่งแม้ว่าจะยังคงเนื้อหาเพลงศาสนาไว้ แต่ก็มีบรรยากาศของความสนุกสนานไม่เคร่งขรึม จนครั้งหนึ่ง รัฐบาลครอมเวลล์แห่งอังกฤษ เคยประณามการเดินแห่แครอลนี้ว่านอกรีตทีเดียว เพราะบางครั้งก็มีการร้องเล่นเกินเลยไปจากกรอบศาสนา

เพลงบางเพลงก็แปลมาจากภาษาละตินโดยตรง เช่น ขอเชิญท่านผู้วางใจ (O come O ye faithful) ซึ่งแปลงมาจากเพลง Adeste Fideles (กำเนิดในศตวรรษที่ 13 แต่แปลในศตวรรษที่ 17) ด้วยเนื้อหาที่อัดแน่นไปด้วยข้อความเชื่อทางเทววิทยา ทุกวันนี้เพลงบางเพลงก็ต้องตัดบางท่อนทิ้งไป เพราะมีเนื้อยาวหลายท่อนและให้บรรยากาศทางศาสนามาก เพลงคริสต์มาสที่เราถือว่าเป็น ‘เพลงคลาสสิก’ ทุกวันนี้ แท้จริงก็มาจากเพลงที่ชาวบ้านนำมาร้องเดินแห่ฉลองกันนอกโบสถ์ 

จาก Jingle Bells ถึง All I Want For Christmas Is You แกะรอยต้นกำเนิดเพลงคริสต์มาส
บรรยากาศคริสต์มาสที่วัดกาลหว่าร์ 
ภาพ : เจิดจ้า รุจิรัตน์

บทเพลงแห่งซานต้าคลอส

ซานต้าคลอสกลายเป็นพระเอกใหม่ของงานคริสต์มาส ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ลงมา ด้วยบุคลิกของคนแก่ใจดีสีสันสดใส พร้อมแจกของขวัญให้เด็ก ๆ ที่มาพร้อมกับลัทธิบริโภคนิยมและการเติบโตของวงการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ (ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่เริ่มขยายตัวในช่วงสงครามเย็น) ซานต้าผู้มีกำเนิดจากนักบุญนิโคลาส และเคยเป็น ‘คุณปู่คริสต์มาส’ ผู้เคยแจกของขวัญในดินแดนต่าง ๆ ในยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ เข้าไปมีอิทธิพลในอเมริกาผ่านทางการเดินทางทางวัฒนธรรมของผู้อพยพชาวดัตช์ 

โลกจึงได้รู้จักมาสคอตอีกชิ้นหนึ่งของคริสต์มาส นอกจากองค์พระเยซูกุมารและต้นสน เพลงคริสต์มาสก็เริ่มเลื่อนไหลอีกครั้ง โดยเน้นไปที่การให้ของขวัญ (เพื่อสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยของผู้ปกครอง และส่งผลดีต่อโรงงานของผู้ผลิต) การสั่งสอนลูกหลานให้เป็นเด็กดีผ่านการให้ของขวัญของซานต้า ก็เป็นธรรมเนียมการเฉลิมฉลองการมาถึงของซานต้าในอเมริกา 

เราเห็นธรรมเนียมพวกนี้ผ่านบทเพลงมากมายเช่น ซานต้าคลอสมาบ้านเรา (Santa Claus is Coming to Town) (1934) เพลง Rudolph the Red Nose Reindeer (1939) ที่พูดถึงปมในใจของกวางเรนเดียร์จมูกแดงของซานต้า ส่วนเพลงระฆังเงิน (Jingle Bells 1857) แม้ว่าเดิมจะแต่งขึ้นเพื่อใช้ในการแข่งเลื่อนในระหว่างเทศกาลขอบคุณพระเจ้า แต่เมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 20 อันเป็นเวลาที่เพลงนี้เกิดฮิตขึ้นมา ก็กลายเป็นเพลงคริสต์มาสและถูกเชื่อมโยงกับซานต้าเพราะเนื้อหาพูดถึงเลื่อนและหิมะ เพลงเหล่านี้ให้บรรยากาศแบบเด็ก ๆ บางเพลงก็เป็นนิทานสอนใจให้ข้อคิด ทำให้แก่นสารของการฉลองวันเกิดของพระคริสต์กุมารยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าในช่วงเวลานี้ ความเป็นโลกฆราวาสนิยมจะค่อย ๆ เข้ามาแทนที่โลกศาสนาแล้วในตะวันตก  

จาก Jingle Bells ถึง All I Want For Christmas Is You แกะรอยต้นกำเนิดเพลงคริสต์มาส
ป้ายแสดงประวัติผู้แต่งเพลง ‘ระฆังเงิน’ ในเมืองซาวันนาห์ จอร์เจีย
ภาพ : en.wikipedia.org/wiki/Jingle_Bells
จาก Jingle Bells ถึง All I Want For Christmas Is You แกะรอยต้นกำเนิดเพลงคริสต์มาส
หนังสือนิทานสำหรับเด็กเรื่อง รูดอล์ฟ กวางเรนเดียร์จมูกแดง ที่มาของเพลงคริสต์มาสยอดนิยม
ภาพ : en.wikipedia.org/wiki/Rudolph_the_Red-Nosed_Reindeer

เมื่อคริสต์มาสกลายเป็นวันหยุดทางโลกฆราวาส

ในปัจจุบันโลกเต็มไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติศาสนา วันคริสต์มาสที่เคยเป็นวันหยุดทางศาสนาคริสต์นั้นก็ถูกตีความใหม่อีกครั้ง แม้ว่าจะไม่ได้ยกเลิก แต่ก็กลายเป็นวันหยุดประจำปีที่ต่อเนื่องยาวไปถึงวันปีใหม่สากล ดังนั้น หลายครั้งหลายหนจึงมีการตั้งคำถามว่า ควรเลิกใช้คำว่าคริสต์มาสได้หรือไม่ สำหรับกลุ่มคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ อาจจะเรียกวันนี้ว่า วันหยุดยาวสิ้นปี หรือเรียกต้นคริสต์มาสว่า ‘Yule Tree’ หรือ ‘Holiday Tree’ แต่ก็ไม่ได้แพร่หลายเป็นที่นิยม ส่วนมากยังเรียกต้นคริสต์มาสอย่างเดิม 

ส่วนบทเพลงคริสต์มาส แน่นอนว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคม โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 1930 ลงมา ในอเมริกาเกิดกระแสการแต่งเพลงคริสต์มาสแนวป๊อปขึ้นมาใหม่ เพื่อเข้าถึงทุกคนในบรรยากาศวันหยุดยาวหน้าหนาวส่งท้ายปี

ความหมายของวันคริสต์มาสสำหรับคนที่ไม่มีศาสนา พระกุมารเยซูจึงไม่ใช่พระเอกอีกต่อไป ความหมายของวันนี้จึงเลื่อนไหลไปเป็นความสนุกสนานในช่วงเวลาพิเศษช่วงฤดูหนาวอันชวนเหงา ซึ่งครอบครัวได้หยุดงานยาว ๆ กลับมารวมตัวกันอีก คริสต์มาสจึงคล้ายกับสงกรานต์ของไทย คือวันที่ทุกคนหยุดงานกลับบ้านอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เวลาเราดูภาพยนตร์ตะวันตก เมื่อใครสักคนไม่ได้กลับบ้านในวันคริสต์มาส เพราะติดงานหรือภารกิจเร่งด่วน ดูจะเป็นเรื่องน่าสงสารมากเลยทีเดียว และต้องขวนขวายหาทางกลับบ้านให้ทันเวลา ความหมายของคริสต์มาสในสังคมโลกสมัยใหม่ จึงกลายเป็นวันของครอบครัวไป

เพลงคริสต์มาสก็เช่นกัน หลายเพลงหันไปให้ความสำคัญกับการกลับบ้านในช่วงเวลาพิเศษนี้ เช่น I’ll Be Home For Christmas (1943), I Want to Come Home for Christmas (1972) เพลงคริสต์มาสจึงมีเนื้อหาที่อบอุ่นกินใจ และผลิตออกมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเพลงป๊อปประจำเทศกาล 

นักร้องดังที่ผลิตอัลบั้มที่ขายดีตลอดกาล ได้แก่ อัลบั้มคริสต์มาสของ เอลวิส เพรสลี่ (1957) ขายได้ถึง 20 ล้านชุด หรืออัลบั้มของ Frank Sinatra ศิลปินอมตะผู้มีเสียงทุ้มนุ่มลึกเฉพาะตัว ซึ่งออกในปีเดียวกันก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน กระเถิบมาใกล้ตัวเราหน่อย เราเห็นตัวอย่างจาก มาราย แครี่ ซึ่งออกอัลบั้ม Merry Christmas (1994) โดยมีเพลงดังประจำอัลบั้มอย่าง All I Want For Christmas Is You แล้วกลายเป็นเพลงที่เปิดได้ตลอดกาลนิรันดร เธอใช้ชีวิตจากลิขสิทธิ์ของเพลงนี้ไปได้ตราบเท่าที่โลกยังมีวันคริสต์มาส 

จาก Jingle Bells ถึง All I Want For Christmas Is You แกะรอยต้นกำเนิดเพลงคริสต์มาส
อัลบั้มเพลงคริสต์มาสขายดีตลอดกาลของ เอลวิส เพรสลี
ภาพ : blogs.bl.uk/digitisedmanuscripts
จาก Jingle Bells ถึง All I Want For Christmas Is You แกะรอยต้นกำเนิดเพลงคริสต์มาส
อัลบั้ม A JOLLY CHRISTMAS Holiday ชองแฟรงค์ ซินาตร้า จำหน่ายปี 1957
ภาพ : www.ebay.com

คริสต์มาสทุกวันนี้เป็นวันฉลองสากลไปแล้ว แม้ว่าหลายคนไม่ได้เป็นคริสตชน แต่กลิ่นอายของความชื่นชมยินดีจากการบังเกิดของพระคริสต์ยังกระจายออกไปยังทุกคน แม้ว่าเขาจะไม่รู้จักพระองค์ แต่ในโลกปัจจุบัน เราฉลองการปิดจ๊อบปลายปี ฉลองวันหยุดยาวในช่วงเวลาที่อากาศแจ่มใส เดินทางกลับบ้านอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ช่างเป็นวันที่เหมาะกับเสียงเพลงมากที่สุด 

ขอบคุณท่านผู้อ่านและขอส่งความสุขวันพระคริสตสมภพให้ทุกท่าน และขอให้มีความสุขในวันหยุดยาวปีใหม่ครับ

Writer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช