ถ้าตลอดเวลา 1 สัปดาห์ มีอาหาร (ทั้งประเภทและปริมาณ) ให้กินเพียงเท่านี้ตามรูปด้านล่าง คุณผู้อ่านคิดว่าตัวเองจะอยู่ได้ไหมคะ

ทำไมคนอังกฤษตั้งแต่เด็ก เฒ่า เจ้า ยันประชาชน ต้องอดทนปันส่วนอาหารนาน 14 ปี
ปริมาณอาหารปันส่วนสำหรับผู้ใหญ่ 1 คน ต่อ 1 สัปดาห์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ภาพ : www.reddit.com

ประเทศที่ผลิตอาหารได้เองอย่างเรา คงนึกไม่ออกว่าถ้าวันหนึ่งไม่มีข้าว ไม่มีผักจากผืนดิน เราจะทำอย่างไร หรือแม้แต่คนเมืองที่ไม่ต้องปลูกผักเลี้ยงหมูกินเอง อยากกินอะไรก็แค่ขับรถออกจากบ้าน หรือกดสั่งจากโทรศัพท์ มีอาหารให้เลือกทุกประเภททุกชาติ อยากทำเองก็ซื้อวัตถุดิบจากตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต จะทำอย่างไรถ้าเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ไม่มีอะไรให้ซื้ออีกต่อไป

แต่เป็นเรื่องน่าทึ่งที่คนอังกฤษยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 คือเมื่อกว่า 80 ปีมาแล้ว เขาอยู่ได้ด้วยอาหารเท่าที่เห็นในรูปจริง ๆ ค่ะ นี่คือปริมาณอาหารสำหรับผู้ใหญ่ 1 คน ต่อ 1 สัปดาห์ ถ้าเป็นเด็ก ๆ (อายุ 5 – 16 ปี) หรือหญิงมีครรภ์ (และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ) จะได้ผลไม้สดเพิ่มเติม ได้นมวันละไพนต์ (Pint คือหน่วยตวงของเหลว เท่ากับ 568 มิลลิลิตร) และได้ไข่เป็น 2 เท่าของที่ผู้ใหญ่ได้ รวมทั้งได้น้ำมันตับปลาและน้ำส้มเพิ่มเติมด้วย

สิ่งที่เกิดในตอนนั้น คือสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยความที่อังกฤษเป็นเกาะ กลยุทธ์หนึ่งที่นาซีเยอรมนีเลือกใช้คือตัดเสบียง ใช้เรือดำน้ำ U-boat ถล่มเรือที่นำสินค้าและอาหารต่าง ๆ มายังอังกฤษเสียเลย

ปี 1939 ซึ่งเป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่ม ชาวอังกฤษราวครึ่งหนึ่งยังอยู่ในสภาวะทุพโภชนาการ คือได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน และยังนำเข้าอาหารมากถึง 2 ใน 3 ของที่กินกันอยู่ทั้งประเทศ

แต่เมื่อนำเข้าอาหารไม่ได้เพราะเรือเยอรมันคอยเล็งถล่มอยู่ รัฐบาลอังกฤษจึงต้องออกมาตรการรับมือในเรื่องอาหารหลัก ๆ 2 อย่าง คือให้มีระบบปันส่วนอาหารและให้ผลิตอาหาร คือปลูกผักกินเองค่ะ ‘อ่านอร่อย’ วันนี้ จึงจะขอเล่าเรื่องระบบปันส่วนอาหาร ที่ชาวอังกฤษทั้งเกาะร่วมแรงร่วมใจกันอดทนเพื่อชาติ แม้จะไม่ได้ไปออกรบ แต่ทุกคนต้องช่วยกันผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตไปให้ได้

ระบบปันส่วนอาหาร หรือ Rationing ถูกนำมาใช้เพื่อให้ทุกคนมีพอกิน ความหลากหลายของอาหารก็มีแค่เท่าที่เห็นในรูปบวกกับผักผลไม้เท่านั้น แต่ไม่มีให้เลือกเยอะมากนัก ไม่มีกล้วย หอมใหญ่ ไม่มีช็อกโกแลต ต้องกินไข่ผง มันฝรั่งผง หรือแม้แต่เนื้อวาฬ ผักที่พอจะมีเยอะหน่อยอย่างแคร์รอต ก็ถูกนำมาทำเป็นสารพัดเมนูคาวหวาน รวมทั้งใช้เป็นของให้ความหวานแทนน้ำตาลด้วย (เพราะน้ำตาลกำลังขาดแคลน) แต่เดิมที่ชาวอังกฤษเคยปรุงแคร์รอตด้วยวิธีต้มกินเป็นส่วนใหญ่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แคร์รอตถูกนำมาใช้ทำซุป สตู อบ ทำพุดดิ้ง คุกกี้ หรือแม้แต่ทำแยม

เรียกว่าอังกฤษผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้ด้วยระบบ Rationing ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้แน่ใจว่าประชาชนทุกคนจะได้รับอาหารและสินค้าต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมและเหมาะสม ไม่ว่าจะมีระดับรายได้ต่ำสูงเพียงใด

ทำไมรัฐบาลอังกฤษจึงคิดใช้วิธีปันส่วนอาหาร

คำตอบก็คือ เพราะมีบทเรียนมาแล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมนีโจมตีด้วยวิธีตัดเสบียงเช่นกัน (คือใช้เรือดำน้ำ U-boat คอยถล่มเรือสินค้า) สถานการณ์เลวร้ายถึงขั้นที่ในปี 1917 เยอรมนีทำลายเรืออังกฤษทุกชนิด ตั้งแต่เรือขนสินค้าและเรือประมง ประมาณกันว่าจนถึงเดือนสิงหาคม 1917 ชาวประมงและผู้โดยสารกว่า 40,000 คนต้องล้มตายไป เกิดวิกฤตถึงขั้นที่อังกฤษทั้งประเทศมีน้ำตาลเหลือกินได้อีกแค่ 4 วัน มีแป้งเหลือพอใช้อีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ ประชาชนต่างตื่นตกใจและออกมาซื้อหาอาหารตุนไว้ จนราคาอาหารพุ่งสูงปรี๊ด จนรัฐบาลอังกฤษต้องออกมาตรการปันส่วนอาหารในปีถัดมา (1918)

ทำไมคนอังกฤษตั้งแต่เด็ก เฒ่า เจ้า ยันประชาชน ต้องอดทนปันส่วนอาหารนาน 14 ปี
ชาวเมือง Reading ต่อคิวซื้ออาหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
ภาพ : Imperial War Museum

เมื่อเห็นแววว่าอาจเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย รัฐบาลอังกฤษจึงวางแผน เตรียมทำสมุดคูปองปันส่วนเพื่อเริ่มใช้ระบบปันส่วนอาหารในเดือนมกราคม ปี 1940 เริ่มจากอาหารพื้นฐานอย่างเบคอน เนย น้ำตาล ตามมาด้วยอาหารอื่น ๆ ในปี 1942 เช่น เนื้อสัตว์ ชา แยม ขนมปังกรอบ ชีส ไข่ ไขมันสัตว์ นม ผลไม้กระป๋องและผลไม้แห้ง จนท้ายสุด อาหารแทบทุกอย่างยกเว้นผักสดและผลไม้สด ล้วนเข้าระบบปันส่วนทั้งสิ้น

แม้สงครามจะสิ้นสุดในปี 1945 แต่การปันส่วนยังถูกบังคับใช้ต่อมาจนถึงปี 1954 เพราะแม้สงครามจะสงบแล้ว แต่ระบบเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ยังต้องฟื้นฟูประเทศกันอีกมาก อาหารยังคงขาดแคลนค่ะ เท่ากับคนอังกฤษอยู่ใต้ระบบปันส่วนนานถึง 14 ปี

เมื่อมองย้อนไป นักเขียนและนักประวัติศาสตร์อาหารต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า การตัดสินใจใช้ระบบปันส่วนอาหารและนโยบายให้ประชาชนปลูกผักผลไม้กินเอง (Dig For Victory) ในยุคนั้น ทำให้ชาวอังกฤษมีสุขภาพดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

กล่าวคือ แม้จะเป็นภาวะข้าวยากหมากแพง โน่นไม่มี นี่ไม่พอ อาหารที่มีกินก็ซ้ำ ๆ ซาก ๆ แต่กลับเป็นช่วงเวลาที่ชาวอังกฤษทั่วประเทศมีสุขภาพดีที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะบริโภคเนื้อสัตว์ ไขมัน และน้ำตาลน้อยมาก (เนื่องจากไม่มีให้กิน!) แต่กินผักผลไม้เยอะกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในช่วงเดียวกัน ปี 1943 คนฝรั่งเศสได้รับพลังงานเพียงราว 1,500 แคลอรีต่อวัน แต่คนอังกฤษได้มากถึงเกือบ 3,000 แคลอรีต่อวันในปี 1944 (มาตรฐานแบบตัวเลขกว้าง ๆ คือ ผู้หญิงต้องการพลังงานประมาณ 2,000 แคลอรีต่อวัน และผู้ชายต้องการ 2,500 แคลอรีต่อวัน)

นอกจากสุขภาพดีแล้ว Marguerite Patten หนึ่งในนักโภชนาการของ Ministry of Food ยังระบุว่า เธอคิดว่าชาวอังกฤษก็คงภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ Home Front หรือ ‘แนวหน้าที่บ้าน’ ที่ช่วยให้ชนะสงคราม

Ration Book หรือสมุดคูปองเบิกอาหารปันส่วน หน้าตาเป็นแบบนี้ค่ะ ชาวอังกฤษจะมีสมุดคูปองแบบนี้ประจำตัว ของใครของมัน

ทำไมคนอังกฤษตั้งแต่เด็ก เฒ่า เจ้า ยันประชาชน ต้องอดทนปันส่วนอาหารนาน 14 ปี
ภาพ : www.bbc.co.uk
ทำไมคนอังกฤษตั้งแต่เด็ก เฒ่า เจ้า ยันประชาชน ต้องอดทนปันส่วนอาหารนาน 14 ปี
ภาพ : www.chroniclelive.co.uk

วิธีใช้ก็คือ เมื่อจะซื้อของ ต้องนำสมุดที่ว่านี้ไปให้พนักงานร้านขายของฉีกคูปองตามรายการที่สั่ง (อย่างในรูปด้านบนคือคูปองสำหรับซื้อเบคอน) แต่วิธีนี้ค่อนข้างยุ่งยากสำหรับพนักงาน ในปี 1941 จึงเปลี่ยนวิธีเป็นให้พนักงานประทับตราบนคูปองแทน

แม้แต่สมาชิกราชวงศ์อังกฤษก็ต้องใช้สมุดคูปองปันส่วนอาหารเช่นกัน หน้าตาไม่ต่างจากสมุดของประชาชนเลยค่ะ

ทำไมคนอังกฤษตั้งแต่เด็ก เฒ่า เจ้า ยันประชาชน ต้องอดทนปันส่วนอาหารนาน 14 ปี
สมุดคูปองของสมเด็จพระราชินีแมรี ซึ่งสวรรคตในปี 1953 พระชนมายุ 85 พรรษา เท่ากับว่าในปี 1944 ที่พระองค์ใช้คูปองเล่มนี้ ทรงมีพระชนมายุถึง 76 พรรษาแล้ว 
ภาพ : Imperial War Museum
ทำไมคนอังกฤษตั้งแต่เด็ก เฒ่า เจ้า ยันประชาชน ต้องอดทนปันส่วนอาหารนาน 14 ปี
สมุดคูปองของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
ภาพ : หนังสือ Ration Book Cookery: Recipes and History

ชาวอังกฤษชื่อ Terry Vardy เล่าไว้ในเว็บไซต์ของ BBC ว่า ครอบครัวไหนมีสมาชิกเยอะก็ยิ่งดี เพราะหมายถึงจะได้อาหารปันส่วนมามากหน่อยสำหรับทำกินทั้งครอบครัว และทุกคนต่าง ‘ดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารพิเศษ’ เช่น อาจได้ผักผลไม้จากสวนของเพื่อนบ้าน หรือบางครั้งชาวนาก็จะเอาพืชผลออกมาแอบขาย ลูกค้าก็จะบอกกันปากต่อปาก และอาจต้องเดินทางไปไกลมากเพื่อให้ได้ผัก 1 ถุงหนัก ๆ กลับมาบ้าน แต่ก็คุ้มค่า

ทำไมคนอังกฤษตั้งแต่เด็ก เฒ่า เจ้า ยันประชาชน ต้องอดทนปันส่วนอาหารนาน 14 ปี
ภาพคุณแม่บ้านต่อคิวยาวนอกร้านของชำ เป็นภาพธรรมดาของวิถีชีวิตช่วงนั้น โดยต้องเป็นร้านขายของแถวบ้านที่ตนลงทะเบียนไว้ ตัวเลือกอาหารก็มีเพียงไม่กี่อย่าง แถมอาจเป็นไปได้ว่า ต่อคิวอยู่ตั้งนาน แต่พอถึงคิว อาหารที่เล็งไว้หมดพอดี แต่อาจมี ‘ข่าวลือ’ ที่น่าตื่นเต้น เช่น วันนี้มีลูกแพร์มาใหม่ให้ซื้อเพิ่มเติม 
ภาพ : www.historic-uk.com
ช่วงเวลา 14 ปีเต็มที่คนอังกฤษทั้งชาติต้องปันส่วนการบริโภคอาหารแบบเคร่งครัด ให้ชาติผ่านวิกฤตและคนยังสุขภาพดี
ภาพจากปี 1945 ในสมัยนั้นยังไม่มีซูเปอร์มาร์เก็ต คุณแม่บ้านพ่อบ้านต้องถือสมุดคูปองไปซื้ออาหารตามร้านเฉพาะ เช่น ร้านขายเนื้อ ร้านขายขนมปัง ร้านขายของชำ 
ภาพ : Imperial War Museum

นอกจากสมุดคูปอง รัฐบาลยังใช้ระบบแต้ม (Points System) สำหรับอาหารบางอย่าง ทุกคนจะมีแต้มประจำตัว และใช้แลกอาหารได้ตามจำนวนแต้มที่กำหนด เช่น เนื้อกระป๋อง ถั่วเมล็ดแห้ง ข้าว มันสำปะหลัง

Clarissa Dickson Wright นักประวัติศาสตร์อาหารอังกฤษ วิเคราะห์ในหนังสือ A History of English Food ว่านี่เป็นวิธีที่ชาญฉลาด เพราะรัฐบาลอยากให้อาหารอะไร ‘ขายออก’ มาก ๆ (อาจด้วยเหตุผลว่ามีปริมาณเยอะ หรืออยากให้ประชาชนกินเพื่อเหตุผลทางสุขภาพ) ก็แค่กำหนดแต้มให้ต่ำเข้าไว้ เธอยกตัวอย่างว่า เมื่อครั้งมีไส้กรอกหมูจากสหรัฐอเมริกา ชาวอังกฤษยังไม่ค่อยกล้ากิน แต่เมื่อรัฐบาลกำหนดแต้มให้ต่ำลงจาก 16 แต้มเป็นแค่ 8 แต้ม ก็จูงใจให้คนเลือกกินไส้กรอกแบบนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ สำหรับคนที่ไม่มีเวลาทำกับข้าวกินเอง (เช่น หนุ่มโสดหรือคนเดินทาง) รัฐบาลยังจัดการให้มีร้านอาหารราว 2,160 ร้านทั่วประเทศ ขายของกินร้อน ๆ ในราคาถูก ประกอบด้วยซุปร้อน ๆ มันฝรั่งต้ม เนื้อบด มีของหวานเป็นพุดดิ้งและคัสตาร์ด เพื่อให้มีเรี่ยวแรงไปทำงานต่อ

ผักสดและผลไม้สดนั้นไม่ถูกปันส่วน แต่หายากหรือไม่มีเลย ผลไม้บางอย่างต้องนำเข้า เช่น ส้ม เลมอน กล้วย ช่วงสงครามที่เรือสินค้ามาส่งไม่ได้ อังกฤษจึงแทบไม่มีผลไม้พวกนี้กินเลย ลองนึกสภาพที่วันนี้เราเดินเข้าซูเปอร์ฯ ในเมืองไทยแล้วไม่มีกล้วยกับส้มให้ซื้อสิคะ

ขอเล่าถึงกล้วยสักนิดค่ะ เพราะเป็นผลไม้ยอดนิยมแบบสุด ๆ ของคนอังกฤษ

• หนังสือพิมพ์ Financial Times ปี 2009 ระบุว่ากล้วยเป็นสินค้าขายดีที่สุดอันดับ 3 ของอังกฤษ โดยมีมูลค่าซื้อขายรองจากน้ำมันเชื้อเพลิงและลอตเตอรี่

• รายงานปี 2015 ของ Banana Link องค์กรไม่แสวงผลกำไรในอังกฤษเพื่อการค้ากล้วยที่เป็นธรรมระบุว่า กล้วยเป็นผลไม้ยอดนิยมอันดับ 1 ของคนอังกฤษ (ปริมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของผลไม้ทั้งหมดที่บริโภค รองลงมาคือแอปเปิล) และอ้างว่าปริมาณการบริโภคกล้วยต่อหัวในอังกฤษสูงที่สุดในยุโรป

• เว็บไซต์ Produce Business UK ตีพิมพ์รายงานเมื่อต้นปี 2021 ว่า ตลอดปี 2020 วัดจากยอดขาย กล้วยยังคงสถานะเป็นผลไม้ยอดนิยมอันดับ 1 ของคนอังกฤษแม้ในช่วงเวลาล็อกดาวน์

อย่างไรก็ดี คนอังกฤษยุคนี้ที่ไม่เคยผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 คงนึกไม่ถึงว่า ในปี 1943 ศิลปิน Harry Roy ถึงกับแต่งเพลง When Can I Have a Banana Again? เพราะตั้งแต่ปี 1940 – 1945 ไม่มีกล้วยและส้มมาถึงเกาะอังกฤษเลยสักลูก (บางแหล่งข้อมูลระบุว่ามีเหมือนกัน แต่แพงจับจิต) ฤดูหนาวปี 1945 เด็ก ๆ ชาวอังกฤษหลายร้อยคนที่ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็นกล้วย ถึงกับไปยืนดูเรือสินค้าด้วยความตื่นเต้น เพราะเป็นเรือที่ขนกล้วย 10 ล้านผลมาจากจาเมกา เป็นกล้วยเขียว ๆ ที่ยังดิบอยู่ และต้องเก็บไว้อีกราว 1 สัปดาห์กว่าจะจัดจำหน่ายได้

ช่วงเวลา 14 ปีเต็มที่คนอังกฤษทั้งชาติต้องปันส่วนการบริโภคอาหารแบบเคร่งครัด ให้ชาติผ่านวิกฤตและคนยังสุขภาพดี
ร้านค้าติดป้ายบอกว่าไม่มีกล้วยให้ซื้อ 
ภาพ : thewartimekitchen.com

Clarissa Dickson Wright ยังเล่าความทรงจำส่วนตัวไว้ในหนังสือ A History of English Food ว่า ตัวเธอเองเกิดปี 1947 คือหลังสงครามสงบ 2 ปี (แต่ระบบปันส่วนอาหารยังคงใช้อยู่จนถึงปี 1954) และมีเพื่อนรุ่นพี่ที่จำเรื่องราวยุคสงครามได้ (ซึ่งสมัยนั้นก็ยังเด็ก ๆ กันอยู่) เพื่อนของเธอเล่าว่า เด็ก ๆ จะได้ส่วนแบ่งเนยคนละเล็กละน้อยต่อวัน จึงใช้วิธีอดใจไม่กินเนยเลย เพื่อจะได้มีเนยสดหอม ๆ มากพอปาดหน้าขนมปังปิ้งให้สะใจสัก 1 ครั้งต่อสัปดาห์

เรื่องขนมไม่ต้องพูดถึง ในปี 1942 ขนมหวานของเด็ก ๆ และน้ำตาลก็หนีไม่พ้น ต้องเข้าระบบปันส่วนเช่นกัน กว่าจะยกเลิกก็ปาเข้าไปปี 1953 คงเป็นเรื่องสุดแสนทรมานของเด็ก ๆ เหมือนกันนะคะ

ช่วงเวลา 14 ปีเต็มที่คนอังกฤษทั้งชาติต้องปันส่วนการบริโภคอาหารแบบเคร่งครัด ให้ชาติผ่านวิกฤตและคนยังสุขภาพดี
เด็ก ๆ กัดกินแคร์รอตแทนขนมหวาน 
ภาพ : BBC
ช่วงเวลา 14 ปีเต็มที่คนอังกฤษทั้งชาติต้องปันส่วนการบริโภคอาหารแบบเคร่งครัด ให้ชาติผ่านวิกฤตและคนยังสุขภาพดี
ปี 1953 ทันทีที่มีประกาศยกเลิกการปันส่วนขนมและน้ำตาล เด็ก ๆ กรูกันเข้าร้านขนม
ภาพ : www.express.co.uk

ภาพด้านบนนี่อาจเรียกได้ว่าเป็นภาพที่มีเสียง ที่เห็นแล้วก็พลอยดีใจไปด้วยนะคะ BBC รายงานข่าววันนั้นไว้ว่า ทันทีที่มีประกาศยกเลิกการปันส่วนขนมหวานและน้ำตาล เด็ก ๆ ทั่วอังกฤษต่างพากันทุบกระปุกออมสินแล้วพุ่งตรงไปที่ร้านขนมใกล้บ้าน ของหวานที่ขายหมดในพริบตาคือทอฟฟี่แอปเปิล (ผลแอปเปิลเคลือบน้ำตาล) รวมทั้งนูกัต (Nougat – ถั่วเคลือบน้ำตาล) และลิเคอริซ (Liquorice – ตังเมรสชะเอม)

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า บริษัทผลิตขนมหวานบางแห่งร่วมฉลองโอกาสนี้ด้วยการแจกขนมให้เด็ก ๆ ฟรี ส่วนผู้ใหญ่ที่ชอบกินของหวานก็ดีใจไม่น้อย และมีภาพคนต่อคิวซื้อขนมกลับไปฝากคนที่บ้าน

แน่นอนค่ะว่าในภาวะที่สินค้ามีน้อยแต่ความต้องการมีเยอะย่อมมีตลาดมืด เพราะประชาชนบางกลุ่มยังพอมีเงินอยู่บ้างและต้องการซื้อหาอาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ นอกเหนือจากอาหารปันส่วน จึงมีเหตุการณ์ผู้คนแอบขโมยอาหารจากโกดังออกมาขายในตลาดมืด บางครั้งชาวนาชาวไร่จะแกล้งทำเป็น ‘ลืม’ และแจ้งปริมาณพืชผลที่ตนผลิตได้แบบผิด ๆ หรือพนักงานร้านขายเนื้ออาจแอบขายเศษเนื้อที่แอบขยักไว้ให้ลูกค้าที่มีเงินพอจับจ่าย Clarissa Dickson Wright กล่าวว่า บางวัน พ่อของเธอซึ่งทำงานเป็นหมอ เอาเนื้อกลับมาบ้านเพราะคนไข้นำมามอบให้เป็นของขวัญ แต่แม่เชื่อว่าเนื้อเหล่านั้นได้มาจากตลาดมืด (ซึ่งแม่ไม่เห็นด้วย) แม่จึงไม่ยอมกินเลยแม้สักคำเดียว

ในเมื่อทรัพยากรสำหรับปรุงอาหารมีจำกัดเหลือเกิน Ministry of Food พยายามช่วยประชาชนด้วยการให้คำแนะนำ จัดให้มีอีเวนต์สาธิตการทำอาหาร ออกใบปลิว นิตยสาร และสปอตทางวิทยุ เพื่อให้ความรู้คุณแม่บ้าน เช่น โปสเตอร์ด้านล่างแนะนำวิธีจัดการกับอาหารเหลือ และวิธีทำเค้ก บิสกิต และสโคนโดยไม่ต้องใช้ไข่

ช่วงเวลา 14 ปีเต็มที่คนอังกฤษทั้งชาติต้องปันส่วนการบริโภคอาหารแบบเคร่งครัด ให้ชาติผ่านวิกฤตและคนยังสุขภาพดี
ช่วงเวลา 14 ปีเต็มที่คนอังกฤษทั้งชาติต้องปันส่วนการบริโภคอาหารแบบเคร่งครัด ให้ชาติผ่านวิกฤตและคนยังสุขภาพดี

ใบปลิวให้คำแนะนำประชาชนจาก Ministry of Food

Marguerite Patten หนึ่งใน Food Advisor ของ Ministry of Food เล่าว่า หน้าที่โดยตรงของเธอคือสาธิตการทำอาหารให้แม่บ้านอังกฤษ เพื่อสอนตำรับอาหารที่จะช่วยให้ทำกินได้นานที่สุดและอุดมคุณค่าทางอาหารมากที่สุด

Marguerite ยังเล่าด้วยว่าบางครั้งเหล่าแม่บ้านประสบการณ์สูงก็ไม่ฟังเธอเท่าไร เพราะถือว่าตนเองทำครัวมาทั้งชีวิต เช่น บางคนพูดกับเธอว่า “แม่สาวน้อย ฉันทำแยมมาตั้งแต่เธอยังไม่เกิดนั่นแน่ะ” แต่หน้าที่ของเธอคือต้องยืนยันให้ทุกคนทำตาม เธอสอนตำรับทำแยมที่ใช้น้ำตาล 60 เปอร์เซ็นต์ (เพื่อประหยัดน้ำตาลแต่ยังคงรสอร่อย) และมีกรรมวิธีบรรจุที่ถูกต้องเพื่อให้เก็บไว้กินได้นาน

Marguerite Patten (คนซ้าย) อัดรายการ Can You Cook? ของ BBC ในปี 1950

BBC นับว่าเป็นสื่อที่บันทึกประวัติศาสตร์สังคมช่วงนั้นไว้เป็นอย่างดี เพราะมีการจัดให้ประชาชนเข้าไปเล่าประวัติศาสตร์ของครอบครัว จึงขอรวบรวมเรื่องที่น่าสนใจมาไว้ให้อ่านกันนะคะ

Stanley Jones บันทึกไว้ในปี 2004 ว่า จำได้ว่าพ่อแม่ต้องใช้ความพยายามกันอย่างสุดฤทธิ์ และเสียสละอาหารปันส่วนของตนเองเพื่อให้แน่ใจว่าลูก ๆ จะได้กินอิ่ม ยุคนั้นยังไม่มีอาหารฟาสต์ฟู้ด เด็ก ๆ เรียนโรงเรียนใกล้บ้าน บรรดาแม่ ๆ ก็ทำอาหารกันอย่างจริงจัง เขาได้กินสตูกระต่าย (เมนูหนึ่งที่หายไปจากตำราอาหารอังกฤษสมัยใหม่แล้ว) และผักที่พ่อปลูกเอง แม่จะเก็บรวบรวมทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อไว้ทำมื้อพิเศษวันอาทิตย์ เมนูวันจันทร์ที่เขาจำได้จะเป็นเนื้อเย็น มันฝรั่งและหอมใหญ่ต้ม และมีพุดดิ้งข้าวเป็นของหวาน ไม่มีขนมหวานให้กินนอกจากช่วงคริสต์มาส ที่นอกจากขนมแล้ว จะเป็นช่วงพิเศษที่ครอบครัวจะได้กินไก่ย่างกันเพียงปีละครั้ง เป็นไก่ที่ครอบครัวเขาเลี้ยงเอง

อาหารเช้า ถ้าโชคดีก็จะได้กินเกล็ดข้าวโพดกรอบหรือ Cornflakes แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็น Milksop (ขนมปังแช่ในนมร้อนและโรยน้ำตาลเล็กน้อย) ไม่มีกล้วยหรือส้มให้กิน แต่เพื่อนบ้านบ้านข้าง ๆ มีต้นแอปเปิลต้นใหญ่ (ที่บางครั้งผลแอปเปิลก็ร่วงอยู่ในเขตบ้านเขา) เวลาน้ำชาจะมีเพียงแค่ขนมปังกับแยม วันไหนพิเศษหน่อยก็จะมีแซนด์วิชไส้แฮม

Joan Styan เล่าว่า แม่จะใช้วัตถุดิบทุกอย่างอย่างคุ้มค่าที่สุด และบังคับให้ลูก ๆ กินอาหารทุกอย่างในจานให้หมด แทบไม่มีผลไม้ให้กินนอกจากแอปเปิลที่ปลูกเอง และเธอไม่เคยเห็นกล้วยหรือส้มเลย แม่มักจะเอาคูปองชาไปแลกกับคูปองน้ำตาลของเพื่อนบ้านเพื่อเอามาเลี้ยงลูกเล็ก ๆ 3 คน เนยมีน้อยมาก แม่ต้องใช้เนยเทียมแทน (Joan กล่าวว่ารสชาติแย่มาก!) ได้กินไข่ 1 ฟองทุก ๆ 2 สัปดาห์

สมัยนั้นอยากได้อะไรก็ต้องเข้าคิว เข้าคิวทุกอย่าง คำถามยอดฮิตของลูกค้าที่เธอได้ยินก็คือ “Is there anything under the counter?” หรือมีอะไร (นอกระบบปันส่วน) ให้ฉันไหม แม้จะอยู่อย่างค่อนข้างลำบาก แต่ Joan และครอบครัวก็รู้สึกขอบคุณในทุกอย่างที่ได้รับ

• ส่วน Anne Butcher เล่าว่า บรรดาแม่ ๆ พยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้อาหารแต่ละมื้อมีความหลากหลาย และเธอจำไม่ได้เลยว่าต้องทนหิวแม้สักครั้งเดียว เพราะแม่จะทำทุกอย่างให้ลูก ๆ กินอิ่มเสมอ อย่างไรก็ตาม อาหารหลายอย่าง ‘แปลก’ เช่น ไม่มีน้ำตาลมาใส่ชา บางครั้งก็ต้องใช้แซกคาริน (ขัณฑสกร) น้ำผึ้ง หรือแม้แต่แยมแทน แต่ Anne กล่าวว่าคนก็ทนดื่ม ๆ ไป ขนมปังไม่อร่อยแถมยังแข็ง แต่ทุกคนก็กินไป แคร์รอตขูดถูกนำมาใช้แทนผลไม้ ต้องกินไข่ผงแทนไข่ของจริง (ซึ่งเธอบอกว่าไม่อร่อยเลย) แทนที่จะเป็นไข่คนฟู ๆ นุ่ม ๆ แต่เมื่อเอาไข่ผงมาทำก็ให้ความรู้สึกเหมือนกินยาง

นอกจากนี้เธอยังเล่าว่า มีร้านขายเนื้อม้าที่แต่เดิมขายเพื่อให้คนซื้อไปให้สุนัขกิน แต่ช่วงสงคราม เธอเห็นป้าย Fit for Human Consumption แขวนไว้หน้าร้าน เนื้อม้าไม่ได้ถูกปันส่วน แต่ต้องไปต่อคิวซื้อ เนื้อม้านั้นปรุงยาก แม้จะต้มเคี่ยวอยู่นานก็ยังไม่หายเหนียว แต่แน่นอนว่าไม่มีใครทิ้งอาหาร

เนื้อปลาหายากมากเพราะชายฝั่งถูกปิด หากได้ปลาสดมาสักตัวก็ถือว่ามีค่าอย่างยิ่ง แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่รัฐบาลพยายามให้ประชาชนกินเนื้อวาฬ (ซึ่ง Anne กล่าวว่าไม่รู้เหมือนกันว่าวาฬตัวนี้ถูกจับและนำมาถึงเกาะอังกฤษได้อย่างไร!) แต่หนังสือพิมพ์และรายการวิทยุต่างช่วยกันโปรโมตให้ประชาชนนำไปทำสเต๊กเนื้อวาฬ Anne กล่าวว่าเนื้อวาฬนั้นกินไม่ได้เลย ทั้งเหนียวและคาว

Anne ยังกล่าวอีกว่า สำหรับเธอ เรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นเรื่องตลกในครอบครัวไปแล้วเมื่อนำมาเล่าให้ลูก ๆ หลาน ๆ ฟัง แต่เธอได้นิสัยหนึ่งติดมาจากช่วงสงคราม คือจะไม่กินทิ้งกินขว้างและจะไม่ทิ้งอาหารเป็นอันขาด (ยกเว้นเนื้อวาฬ!)

เล่ามาถึงตรงนี้ ลองนึกสภาพกันดูนะคะว่าหากวันหนึ่งเราซื้อทุกอย่างที่อยากกินไม่ได้เหมือนเคย แต่ต้องถือสมุด 1 เล่มไปที่ร้าน เอาคูปองไปแลกอาหารพื้น ๆ เพียงไม่กี่อย่างกลับมา ต้องทำอย่างนี้เป็นปี ๆ และไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้กินของโปรดอีก เราจะรู้สึกอย่างไร

เรียกได้ว่าแม้สงครามจะโหดร้าย แต่ระบบปันส่วนอาหารก็ยังมีความดีอยู่ เพราะเป็นวิธีจัดการให้คนอังกฤษมีอาหารการกินที่ ‘ถูกหลักโภชนาการ’ และช่วยเพาะนิสัยใช้ทรัพยากรอาหารอย่างประหยัดและรู้คุณค่าให้ชาวอังกฤษตลอด 14 ปีค่ะ

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม