เมื่อเจ้าของบ้านเอ่ยชื่อ เจฟฟรีย์ บาวา (Geoffrey Bawa) สถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ของโลกชาวศรีลังกา ว่าเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างบ้านหลังนี้ หลังจากได้ไปเที่ยวชมบ้านและงานออกแบบของบาวาที่ศรีลังกามาแล้ว เราจึงถามเธอว่า อะไรกันเล่าที่เธอได้จาก Bawa และบ้านหลังนี้ให้สิ่งนี้กับเธอ แอ๊-อรุณวรรณ ชำนาญไพร ก็ตอบด้วยคำพูดง่าย ๆ ว่า

“ความอยู่สบาย เราพูดภาษาสถาปนิกไม่เป็นนะ อะไรที่ Inside Out นี่ล่ะ

คือการได้รู้สึกว่าอยู่แล้วเหมือนธรรมชาติอยู่รอบ ๆ ตัวเรา” 

‘วิลล่าสันลมจอย’ ตั้งอยู่ในตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ แปลว่าเนินเขาที่มีลมพัดโชยมาเบา ๆ รอบบ้านมองเห็นภูเขาอยู่รอบ ๆ ไม่ไกล 

คุณแอ๊เล่าว่าแม้จะไม่ใช่คนเชียงใหม่แต่กำเนิด แต่เธอก็หลงรักเมืองนี้ตั้งแต่มาเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงตั้งใจเก็บสะสมเงินซื้อที่ดิน (ร่วมกับน้องสาว) และสร้างบ้านอย่างที่อยากอยู่

กว่าจะมาถึงวันที่มีวิลล่าสันลมจอยแห่งนี้ คุณแอ๊ได้เรียนรู้ความต้องการของตัวเองผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ อาจารย์จุลพร นันทพานิช สถาปนิกที่ตนเองนับถือ และที่สุดแล้ว คุณแอ๊ให้ ‘ยางนาสตูดิโอ’ บริษัทสถาปนิกของคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์จุลพร ซึ่งเชี่ยวชาญบ้านไม้ท้องถิ่นและเก่งกาจด้านการสร้างสรรค์งานไม้แบบโบราณให้ลงตัวกับโครงสร้างคอนกรีตเป็นผู้ออกแบบและสร้างบ้าน โดยมีโจทย์ง่าย ๆ ว่าให้ใช้ประตู หน้าต่าง และไม้เก่าที่ซื้อสะสมไว้ และ ‘ชอบ Bawa’

เพราะประตูสูง สเกลบ้านจึงต้องสูงกว่า

“โจทย์มาตอนแรก คือจะให้ใช้ประตูหน้าต่างให้เยอะที่สุด

“ถ้าสังเกตประตูหน้าต่าง จะเห็นว่ามีขนาดสูงกว่าปกติ ทำให้สเกลของบ้านต้องยืดไป และต้องคิด ต้องออกแบบว่าจะทำยังไงให้ประตูและหน้าต่างไม้ที่มีอยู่ดูเข้ากันกับโครงสร้างที่เป็นคอนกรีต” ดล-รุ่งโรจน์ ตันสุขานันท์ ตัวแทนยางนาสตูดิโอเล่าถึงงานออกแบบที่มี เท่ง-เดโชพล รัตนสัจธรรม สถาปนิกอีกคนเป็นคนวางรูปแบบบ้านและพูดคุยกับคุณแอ๊แต่แรก

เพราะสเกลของบ้านยืดไปตามความสูงของประตูหน้าต่าง จึงทำให้วิลล่าสันลมจอยดูโปร่ง โล่ง และเปิดพื้นที่ออกสู่ภายนอกได้หลายมุมของบ้าน

คุณแอ๊เสริมว่า “โจทย์อันดับแรก คือใช้ไม้ ประตูที่มี ซื้อไว้เยอะ เราบอกสถาปนิกทั้งคุณเท่งและคุณดลว่าใช้ให้เยอะ แต่ต้องสวยลงตัวนะ 

“ประตูหน้าต่างที่มีทุกบานเป็นไม้สัก น้ำหนักค่อนข้างเบา หาแบบนี้ไม่ได้แล้ว พวกร่องรอยอะไรที่มีอยู่เดิมไม่เป็นไร เราไม่สนใจ

“โจทย์อื่น ๆ ที่ให้ คือขออะไรที่ค่อนข้างยืดหยุ่น อย่างห้องนอน ชอบห้องนอนที่กว้าง ๆ เพราะโตมากับบ้านต่างจังหวัด พ่อแม่ลูกนอนเรียงกันเป็นตับ ห้องนอนข้างบน 2 ห้องก็ค่อนข้างกว้าง เราไม่ได้ฟิกซ์ตัวเองว่าจะยังไง เราพร้อมปรับเปลี่ยนแผนตลอด สมมติว่าวันหนึ่งพี่ทำธุรกิจ คิดว่าคนที่จะมาบ้านต้องได้ฟีลบ้าน ไม่ใช่ฟีลโรงแรม สร้างบ้านก็อยากให้ได้ฟีลบ้าน

“เพราะจากประสบการณ์ ตอนที่คุณแม่ยังอยู่ ได้พากันไปเที่ยวต่างจังหวัดแล้วนอนโรงแรม มันให้ความรู้สึกแยกกันน่ะค่ะ แต่ละวันเราทำงาน ๆๆๆ เวลาเที่ยวเราก็อยากใกล้ชิด พอนอนโรงแรมก็เหมือนใกล้กันแค่ตอนกินข้าวหรืออยู่บนรถ แต่ถ้าได้มาบ้านอย่างนี้ เหมือนอยู่ด้วยกันตลอดเวลา เป็นบ้านที่มีฟีลง่าย ๆ สบาย ๆ มากันหลายคนก็นอนได้ จะนอนพื้นหรือนอนเสื่อก็ได้”

เฮือนแป (ประยุกต์)

ด้วยแนวที่ดินค่อนข้างยาว ลึกเข้าไปด้านใน ยางนาสตูดิโอจึงออกแบบให้บ้านให้ด้านหน้าเป็นระเบียง ลักษณะคล้ายร้านขายที่เรียกว่า ‘เฮือนแป’ ดลอธิบายว่า

“ด้วยพื้นที่เป็นเส้นยาวลึกเข้าไป เหมือนร้านที่เขาขายของชำพื้นถิ่น คือหน้าจะแคบและลึก ด้านหน้าเป็นส่วนขายของ ด้านหลังเป็นส่วนอยู่อาศัย พื้นที่คล้ายกัน มีความคิดว่าเปิดหน้าด้านให้เต็มผืน สัมพันธ์กับคนภายนอกน่าจะดี จะได้อยู่กับชุมชน

“เท่งเขาดูพื้นที่ที่ดินและยกตัวเฮือนแปของงานพื้นถิ่น แต่เดิมเฮือนแปเป็นร้านขายของที่หันหน้าเข้าถนน ประตูบานเฟี้ยมที่เปิดได้เต็มที่ก็จะเอามาใช้ในส่วนหน้า และยกสเตปขึ้น ตรงนี้ยังคงความเป็นส่วนตัวประมาณหนึ่ง คือมีระเบียงและม้านั่งกั้นไว้ก่อน แต่ก็ยังพูดคุยกับคนข้างนอกได้”

ตรงระเบียงนี้เองที่คุณแอ๊ชอบมานั่งเล่นในช่วงเช้าและช่วงเย็น

“ตอนเช้า ๆ เย็น ๆ เป็นเวลาโรงเรียนเนอะ เราจะเห็นเด็กน้อยเดินไปโรงเรียนแบบใกล้มาก ออกมานั่งดื่มชา กาแฟ จะรู้สึกดี สมัยก่อนบ้านคุณย่าที่ขอนแก่นก็เป็นอย่างนี้”

“มันจะต่างกับบ้านพื้นถิ่นที่เป็นบ้านไปเลย เฮือนแปใกล้ชิดกับคนที่อยู่ที่ถนน เข้ากับบริบทของพื้นที่และบริบทของชุมชนด้วยครับ”

จากเฮือนแป เดินเข้าสู่ด้านในผ่านประตูเฟี้ยมเปิดกว้าง เป็นห้องนั่งเล่นที่ฉาบผนังอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะ นี่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ยางนาสตูดิโอตั้งใจให้บ้านได้ฟีลแบบงาน Bawa

“ห้องนั่งเล่นใช้ผนังฉาบดิน คุยกับคุณแอ๊ไว้ว่าโซนตรงนี้น่าจะเป็นฟีลคล้าย ๆ ของ Bawa ไม่ได้ฉาบปูนเรียบเนี้ยบกริบ แต่ฉาบแบบโบราณ มีความเคิร์ฟ มีความนวล ๆ ส่วนตรงมุมเราจะไม่จับมุมให้เป็นเหลี่ยมเป๊ะ ช่วยลดความรู้สึกแหลมคมลงไป ใช้ดินฉาบและมีสูตรผสมเฉพาะอยู่ โดยใช้ดินจากลำปางครับ”

เมื่อพูดถึง Bawa อีกครั้ง เราจึงถามสถาปนิกว่า บ้านหลังนี้ให้ความรู้สึกของบ้านสถาปนิกยิ่งใหญ่ชาวศรีลังกาอย่างไรอีกบ้าง คุณดลจึงอธิบายเชื่อมโยงกับคำวา Inside Out / Outside In ที่เจ้าของบ้านพูดถึงแต่แรก

“พื้นที่กึ่งภายนอกกึ่งภายใน อยู่ใต้ชายคาแต่อยู่นอกตัวอาคาร พื้นที่แบบนี้เขาเรียกว่าพื้นที่กึ่งมืดกึ่งสว่าง พื้นที่สลัว ๆ ถ้าอยู่นอกตัวอาคารจะเป็นแดดจ้า ถ้าเป็นพื้นที่ที่ตัดขาดในตัวอาคาร ตาจะปรับแสงไม่ทัน เพราะเป็นพื้นที่มืด เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่จึงมีพื้นที่มาคั่นตรงนั้น อยู่ใต้ชายคาแต่ยังไม่เข้าตัวบ้าน และมีแสงที่สลัวกว่าภายนอก แต่ไม่มืดเท่าภายในบ้าน ตรงนี้เป็นภาวะที่อยู่ได้สบาย ทั้งทางสายตา อากาศ ลม”

คุณแอ๊จึงพูดในมุมของตัวเองว่า “อืม คำแบบนี้ พูดไม่ถูกเนอะ รู้สึกแต่ว่าเป็นบ้านพื้นถิ่นที่มีคาแรกเตอร์ทางล้านนา แต่ว่าก็อยู่สบาย” 

หากมองจากภายนอก วิลล่าสันลมจอยมีความเป็นล้านนาชัดเจนตรงเฮือนแป และกระเบื้องดินขอซึ่งเป็นกระเบื้องพื้นถิ่นที่เจ้าของบ้านชอบมาก ทั้งคุณแอ๊และน้องสาวที่ซื้อที่ดินร่วมกัน อย่าง เล็ก-วนัสนันท์ อรุณโชติ 

ทั้งคู่เล่าถึงช่วงเลือกหลังคาบ้าน (หลัก) ที่ทั้งอาจารย์จุลซึ่งเคยพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดการทำบ้านและยางนาสตูดิโอต่างเห็นตรงกันว่าใช้หลังคาลอนคู่ก็กลมกลืนแล้ว แต่คุณแอ๊และคุณเล็กขอปรับเป็นกระเบื้องซีแพคแทน และที่ต้องมีคือกระเบื้องดินเผาหรือกระเบื้องดิน ขอให้อยู่ในส่วนที่มองเห็น

“ตรงที่เป็นตัวโชว์ อยากได้ดินเผา เพราะเราอยากได้โมเมนต์ที่ว่า มองขึ้นไปบนหลังคา ได้เห็นการโชว์โครงสร้าง มันสวยและดูเป็นธรรมชาติ” 

“ชอบนะ พอเงยหน้าไปแล้วเห็นพื้น เห็นกระเบื้องจริง ๆ” คุณเล็กพูดพร้อมยิ้ม

ถามยางนาสตูดิโอว่า บ้านแบบนี้เรียกว่าสไตล์อะไร คำตอบที่ได้คือ “บ้านครับ”

“ระบุไม่ได้ครับว่าเป็นสไตล์อะไร เพราะมันหลากหลาย แต่เราจะทำความหลากหลายให้ลงตัว ด้วยโครงสร้างเป็นคอนกรีต ประตูหน้าต่างและพื้นที่เป็นไม้ทั้งหมด

“ต้องบอกว่าแนวคิดเป็นแบบพื้นถิ่น แต่รูปแบบเราเอาฟังก์ชันสมัยใหม่เข้ามา จะเรียกว่าเป็นพื้นถิ่นประยุกต์ก็ได้ ผมมองว่ามันปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตอนนี้ฟังก์ชันกับการใช้งานของคนเปลี่ยน เราก็ต้องปรับตัวอาคารไปด้วย ซึ่งความลงตัวและรูปแบบของตัวงานก็เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนตัวตนของเจ้าของบ้านครับ” 

เรื่องเล่าของพี่กับน้อง

คุณแอ๊เล่าว่าเพราะคุณเล็กน้องสาวมีประสบการณ์ในการสร้างบ้านมามากกว่า จึงให้ไอเดียและความคิดเห็นได้มาก ทั้งยังให้พี่สาวสร้างอาคารหลังเล็ก ๆ บนที่ดินฝั่งตัวเอง เพื่อเป็นห้องครัวเล็ก ๆ และเก็บไม้สะสมไว้ด้านบน

“ผ้าม่านน่ารัก”

“พี่เล็กเป็นคนเลือกค่ะ” คุณแอ๊ตอบ คุณเล็กจึงเสริมว่า “ชอบเลือกของแต่งบ้าน ผ้าม่านก็เป็นกิมมิกนิดหน่อย กระเบื้องปูพื้นก็เลือก คนจุกจิกคือเราค่ะ” (หัวเราะ)

“เราไม่ได้คิดนะว่าต้องทำบ้านไม้ ไม่ต้องถึงขนาดนั้น แบบนี้เราโอเคมากเลย” คุณแอ๊พูดถึงวิลล่าสันลมจอย บ้านที่เธอตั้งชื่อให้เข้ากับพื้นที่ในชุมชน

พอพูดถึงคำว่าบ้านไม้ คุณเล็กก็พูดขึ้นว่า

“ตอนเด็กเกลียดบ้านไม้ด้วย (คุณแอ๊ – อ้าว เฮ้ย! ไม่เกลียด) แต่วันนี้มาสร้างบ้านไม้ คิดว่าเป็นเรื่องของการซึมซับ ที่บอกว่าเกลียดเพราะเรามีหน้าที่ถูบ้านจนเข่าด้าน (หัวเราะ) ถูบ้านสมัยก่อนต้องคุกเข่า วนทีละกระดาน แต่พอถึงเวลาก็มาเป็นบ้านหลังนี้ แล้วกลายเป็นเรา 2 คนพี่น้อง อ้าว มาสุมหัวกันอยู่ตรงกองไม้ได้ยังไง งงเหมือนกัน คิดว่าคนที่ชอบไม้มาก ๆ น่าจะเป็นพี่แอ๊”

คุณแอ๊จึงเล่าต่อว่า “ชอบไม้เก่าด้วยนะ ไม่ชอบไม้ใหม่ คือมันซึมซับมาเรื่อย ๆ ไม่รู้ตัวด้วย เราเคยอยู่บ้านที่อุดรธานี ตอนนั้นไม่ใช่บ้านไม้นะ คล้าย ๆ อย่างนี้แหละ คือมีคอนกรีต มีไม้ พ่อทำงานป่าไม้ เราก็มีโอกาสย้ายไปอยู่หลายที่ เราเคยถามกันว่า เพราะเราเป็นลูกป่าไม้เลยชอบไม้เหรอ ไม่ใช่เนอะ (คุณเล็ก – ไม่ใช่) แต่เราเห็นคุณค่าของไม้มากกว่าค่ะ

“จริง ๆ แล้ว เลือกเก็บเป็นบางอย่างนะ อย่างไม้พื้นนี่ชอบ เก็บเลย เพราะรู้สึกว่าเดินแล้วสบายเท้า เย็นดี”

คุณเล็ก “ใช่ ๆ เพราะเรา 2 คนชอบเที่ยวด้วยไง เวลาไปเที่ยวอย่างไปศรีลังกา จันทบุรี เท้าเราเหยียบไม้ รู้สึกว่าสบาย ไม้จริง ๆ มันนิ่ม อยากลงไปนอนเล่น ให้อารมณ์ประมาณนั้น” 

คุณแอ๊ “บ้านไม้ พอผ้าถูไปเรื่อย ๆ เสี้ยนมันคงออกเนอะ มันไม่ได้ลื่นนะ สบายเท้า สัมผัสได้” 

คุณเล็ก “จริง ๆ พี่แอ๊อยากได้ คือบ้านที่กรุงเทพฯ ชั้นบนเราก็มีพื้นไม้”

คุณแอ๊ “นึกออกแล้ว! ตอนแรกเราสร้างบ้านหลังแรกของพวกเราก่อนเนอะ คือคุณพ่อเราเสียไปก่อนหน้านี้หลายปีมาก พอวันหนึ่งเริ่มตัดสินใจสร้างบ้านกัน 1 หลังเพื่อเป็นบ้านของครอบครัว ตอนแรกได้ไม้ใหม่มาทำพื้นชั้นบน แป๊บเดียวไม่ถึง 3 เดือน หด แก้งานกัน 3 – 4 รอบ จนพี่ต้องอยู่อย่างนั้น เป็นโรคภูมิแพ้ เพราะไม้มันห่าง 

“ตอนหลังตัดสินใจรื้อ คิดว่าใช้ไม้เก่ากันดีกว่า แม่ก็บอกว่า พ่อมีไม้เก็บไว้นะ แต่อยู่ขอนแก่น คิดว่าคงไม่ไปเอาหรอก มันผุพังเพราะไม่ได้ดูแล สุดท้ายก็ไปหาดูและซื้อแถวบางบาล พระนครศรีอยุธยา ถึงได้ใช้งาน ช่างก็มาทำให้ แก้งานไม้พื้น เราเลยรู้สึกว่าถ้ามีบ้านอีกขอเป็นไม้พื้นเก่า เราเลยเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมแม่กับพ่อถึงบอกว่าไม้เก่าดีกว่า”

คุณแอ๊บอกว่า เดี๋ยวนี้ชอบดูไม้ ไปเที่ยวที่ไหนเห็นโรงไม้เก่าเป็นต้องแวะหรือยูเทิร์นรถกลับไปดู บางครั้งก็ได้ไม้ติดกลับมาด้วย อย่างไม้เสาตรงบันไดชานขึ้นบ้าน

คุณเล็ก “ไปโรงไม้แต่ละที่ เราก็บอกกันว่า พี่แอ๊ ๆ เราชักเหมือนพ่อกับแม่มากเกินไปแล้วนะ เหมือนอย่างไม่ได้ตั้งใจ ไปเที่ยวกันนี่พี่แอ๊เค้าก็จะแวะ (คุณแอ๊ – สมัยพ่อกับแม่อยู่ พวกเราบ่นกันมากเลยนะ อะไรอะ! ซื้ออีกละ เก็บกันจังเลย) บ่น แต่ทำทุกอย่างหมือนพ่อกับแม่ (หัวเราะกัน)”

อีกเรื่องที่สองพี่น้องพูดถึงความเซอร์ไพรส์ที่เห็นหลังจากเฮือนแปหน้าบ้านสร้างเสร็จ

“มุมหน้าบ้านที่เป็นม้านั่ง ยางนาเป็นคนออกแบบให้ว่าจะต้องทำยังไง เราบอกแค่ว่าอยากได้ม้านั่งหน้าบ้าน เพราะว่าบ้านคุณย่าที่อำเภอชนบท ขอนแก่น มีม้านั่งลักษณะนี้ แต่เราไม่ได้พูดถึงรูปแบบนะ แต่พอเขาทำเสร็จเหมือนบ้านย่าเลย” 

คุณแอ๊ “ใช่ พอทำเสร็จมาเห็น โอ๊ะ บ้านย่า (หัวเราะ)”

คุณเล็ก “เราชอบชาน ม้านั่ง และชอบบันไดชานแบบนี้ มันดูเป็นแบบบ้าน ๆ เหมือนสมัยก่อน บ้านคนเก่าคนแก่ บ้านโบราณแหละ แต่ให้เราอยู่แบบนั้นมันไม่ใช่แล้ว เราก็หยิบมาบางอย่างที่ตอบโจทย์ชีวิตเรา”

(ขอแค่) อยู่สบายและใกล้ชิดธรรมชาติ

ถามถึงความรักและชอบเชียงใหม่ กับความรักวิลล่าสันลมจอย คุณแอ๊ตอบด้วยความสุขว่า

“ที่นี่อยู่สบาย ตอนเราอยู่เราก็คิดแค่ว่า อืม ที่นี่อยู่สบายดีนะ ไม่ได้คิดเรื่องว่าสวยหรือไม่สวย แต่พอมีเพื่อนมาแล้วชมว่าบ้านสวย เราก็กลับไปมองว่าจริงนะ บ้านเราสวยนะ (หัวเราะ)

“บ้านหลังนี้ที่เราตั้งใจสร้างด้วยเงินเก็บ ถ้าถามว่าชอบมุมไหน ก็ชอบทุกมุม มุมนี้ก็ดีนะ (ห้องข้าง ๆ ห้องนั่งเล่น) เวลาฝนตกนั่งตรงนี้ก็ดี ถ้าฝนหยุดตกใหม่ ๆ แดดน้อย นั่งชานหน้าบ้านมองหมอกดอยสุเทพ ไม่ต้องวิ่งขึ้นดอยเลยนั่งอยู่หน้าบ้านก็ฟินแล้ว และตอนเด็กน้อยเดินไปโรงเรียนก็ชอบค่ะ หรือว่าถ้าเช้า ๆ ขอนไม้ตรงนั้นก็นั่งสบายๆ 

“เราชอบทุกมุม บรรยายไม่ถูกเลย เมื่อวานนั่งทำงานหัวปักหัวปำตรงนี้แหละ ​(มุมในห้องรับแขก) โต๊ะกินข้าวโต๊ะทำงานก็โอเค

“เราเรียนจบที่นี่ คุ้นเคยกับเชียงใหม่ ชอบ อยากอยู่

“ตอนเริ่มทำบ้านเรามีความอยากมากมายเต็มไปหมด อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พอได้ลงมือทำ ได้ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ในการสร้างร่วมกับยางนาสตูดิโอ เราก็พบว่าเราค่อย ๆ กลับไปสู่ต้นทางของชีวิตเรา กลับไปหาความสุขและความคุ้นเคย

“บ้านนี้เหมือนการได้เชื่อมโยงกับวัยเยาว์ของเรา ได้เชื่อมโยงไปสู่รากเหง้าที่เราเติบโตมา”

Writer

Avatar

สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

จบเกษตร แล้วต่อด้านสิ่งแวดล้อม แต่เติบโตด้านการงานด้วยการเขียนหนังสือมาตลอด ชอบพูดคุยกับผู้คน ชอบต้นไม้ ชอบสวน ชอบอ่าน ชอบงานศิลปะและชอบหนังสือภาพ ทุกวันนี้จึงพาตัวเองคลุกคลีอยู่กับสิ่งที่ชอบที่ชอบ ด้วยการเขียนหนังสือ ทำงานศิลปะ เดินทาง และเปิดร้านหนังสือ(ภาพ)ออนไลน์ Of Books and Bar

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ