เมื่อบอกใครต่อใครว่าจะไปศรีลังกา มิตรสถาปนิกและคนรักสถาปัตยกรรมทั้งหลายต่างหันขวับ แล้วพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไปดูงานของ Geoffrey Bawa ให้ได้นะ”
ครั้งแรกที่เราได้ยินชื่อ เจฟฟรีย์ บาวา คือเมื่อไปสัมภาษณ์สถาปนิกภูเก็ตเมื่อหลายปีก่อน เขาเล่าว่านี่เป็นชื่อสถาปนิกในดวงใจ เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานออกแบบอาคารที่แอบอิงกับธรรมชาติเขตร้อน
จากเกาะที่ได้ชื่อว่าไข่มุกทะเลอันดามัน เราข้ามมาเขียนเรื่องราวในไข่มุกมหาสมุทรอินเดีย ไปที่ไหนก็ได้ยินชื่อบาวาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชาวเกาะซีลอนดูจะภูมิอกภูมิใจกับนักออกแบบคนนี้ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสถาปนิกเอเชียผู้ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 บิดาแห่งทรอปิคัลโมเดิร์นมีตัวอย่างประจักษ์ชัดเป็นอาคารรัฐสภาศรีลังกากลางผืนน้ำ ในกรุงโคลัมโบ
เสียงลือเสียงเล่าอ้างหนาหูขนาด เราจึงไปเยี่ยมเยียนทำความรู้จักผลงานของสถาปนิกสุดเท่ ผู้ผันตัวจากการเป็นนักกฎหมายสู่สถาปนิกเต็มตัวในวัย 38 ผ่านบ้านและสวนของเขา

บ้านบาวา สวนบาวา
เจฟฟรีย์ บาวา หน้าตาเหมือนชาวตะวันตก ตัวสูงใหญ่กว่า 2 เมตร และรสนิยมการใช้ชีวิตก็เอนเอียงไปทางฝั่งตะวันตก เหตุเพราะเขาเกิดในครอบครัวมั่งคั่งที่มีเชื้อสายยุโรป พ่อเป็นมุสลิมลูกครึ่งฝรั่งเศส แม่เป็นเบอร์เกอร์ (ชาวศรีลังกาที่มีเชื้อสายยุโรป) เชื้อสายดัตช์ เจฟฟรีย์ถูกส่งไปเรียนที่อังกฤษตั้งแต่อายุน้อยเพื่อเรียนกฎหมายตามรอยพ่อ แต่เขารู้ตัวว่าไม่ชอบทางนี้เอาเสียเลย เมื่อเรียนจบ เขาออกเดินทางเที่ยวรอบโลก และผูกใจสมัครรักใคร่อิตาลีถึงขั้นซื้อบ้านและสร้างสวนไว้ที่นั่น
สุดท้ายเมื่อต้องกลับมาเกาะซีลอน พี่ชายของเขา Bevis Bawa แนะนำให้ซื้อที่ดินสวนยางรกร้างใกล้ Bentota เจฟฟรีย์ตัดสินใจแปลงพื้นที่ริมน้ำให้กลายเป็นสวนอิตาลี โปรเจกต์นี้ปลุกความสนใจในการออกแบบสถาปัตยกรรม จนทำให้เขาบินกลับไปเรียนสถาปัตยกรรมที่ลอนดอนอีกคำรบหนึ่ง และกลับมาทำงานสถาปัตย์ที่บ้านเกิด

เจฟฟรีย์ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านหมายเลข 11 ตลอด 40 ปี และในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เขาจะออกไปพักผ่อนและดูแลสวน Lunuganga อาณาจักรบ้านตากอากาศและผลงานชิ้นโบว์แดง ตราบจนเสียชีวิตลงในปี 2003 เมื่ออายุ 83 ปี
บ้านหมายเลข 11

ทาวน์เฮาส์หมายเลข 11 สุดซอย 33 ถนน Bagatelle อยู่ในเขตพักอาศัยอันเก่าแก่หรูหราของโคลัมโบ เดิมบ้านหลังนี้เป็นบังกะโล 4 หลัง แต่บาวาไล่เช่าทีละน้อยตั้งแต่ปี 1959 และเกลี้ยกล่อมเจ้าของบ้าน Harold Pieris ให้ปล่อยเขาปรับปรุงไปตามเห็นชอบ จนในที่สุดเมื่อผู้เช่าอื่นย้ายออกหมด บาวาซื้อพื้นที่ทั้งหมดในปี 1968 และสร้างอาคารสี่เหลี่ยมสีขาว 3 ชั้นสไตล์ Le Corbusier ไว้ด้านหน้า ด้านหลังเป็นบ้านชั้นเดียวขนาดยาว ซ่อนสวนภายในไว้เป็นหย่อม ๆ
หลังบาวาสิ้นชีพ The Geoffrey Bawa Trust ซึ่งตัวสถาปนิกเองเป็นผู้ก่อตั้ง รับหน้าที่ดูแล House Number 11 ต่อ โดยเปิดทัวร์บ้านสวยเป็นรอบ ๆ ให้เข้าชมทุกวัน และชั้นสองยังเป็นโรงแรมที่สวยวิเศษและคิวยาวเหยียด
เมื่อแรกมาถึง เราสัมผัสได้ทันทีว่าเจ้าของบ้านเป็นคนสันโดษและเนี้ยบกริบ หน้าบ้านมิดชิดเรียบร้อย เมื่อประตูเปิดออก เราจึงได้เข้าไปเห็นความงามของบ้านซึ่งเผยตัวออกมาทีละส่วน เสมือนเขาวงกตเลี้ยวไปมา ซึ่งนักออกแบบคิดคำนวณเป็นอย่างดีแล้วว่างามทุกมุม


ห้องแรกที่เราเข้าไปเยี่ยมชมคือส่วนบังกะโลที่ 3 ซึ่งเป็นออฟฟิศในบ้าน บาวาเป็นคนมีระบบระเบียบชัดเจน หลังอาหารเช้า เขาจะมานั่งทำงานที่เก้าอี้ตัวเดิมข้างโต๊ะกลมจนถึงเวลาอาหารกลางวัน จุดนี้มีวิดีโอประวัติชีวิตบาวาแบบสั้น ๆ ให้ชม และส่วนหนึ่งของห้องนี้กั้นกระจกติดแอร์ เป็นห้องเก็บผลงานของเขา
จากนั้นเราก็ออกมาที่ทางเข้าหลักหน้าบ้าน โรงรถกว้างขวางมีรถคันโก้จอดอยู่ 2 คัน 1934 Rolls-Royce Phantom II Continental Drophead Coupe ที่บาวาซื้อมาจากอังกฤษ และ 1953 Mercedes-Benz 300 EL-782 Coupe บาวาชอบสะสมรถยนตร์เช่นเดียวกับพ่อแม่ของเขา และนอกจากรถวินเทจ บริเวณนี้ยังมีงานศิลปะฝีมือเพื่อนฝูงเขาหลายชิ้น ที่โดดเด่นมากคือภาพบาติกลายแสงอาทิตย์ของ Ena de Silva สาดความงามเก๋น่าประทับใจ
ต่อจากโรงรถคือทางเดินสีขาวแคบ ๆ ที่พาไปสู่สวนด้านหลัง โทนสีหลักของบ้านเป็นสีขาว-ดำ และพนักงานทุกคนก็สวมยูนิฟอร์มสีขาว ผู้ดูแลอธิบายว่าเจฟฟรีย์ชอบสีขาวดำมาก ขนาด Leopold สุนัขที่เลี้ยงก็เป็นพันธุ์ดัลเมเชียน ที่นอนของมันก็เป็นเบาะลายขาวดำ เหนือเบาะมีประติมากรรมนกฮูกสีทองของ Laki Senanayake เพื่อนสนิทอีกคนของบาวา


แม้ทุกสิ่งขาวโพลนและไร้เครื่องปรับอากาศ แต่ระบบการระบายลมในทางเดินนี้ดีมาก มีสวนหย่อมเป็นระยะ และมีบ่อน้ำส่งเสียงน้ำไหลเบา ๆ ที่สุดทางเบื้องหลังเสาเจฏฏินาฑ เฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างดูน้อยชิ้น แต่คัดสรรรวมดีไซน์ชั้นเลิศจากหลาย ๆ ที่มาไว้อย่างลงตัว

เลี้ยวเข้ามาในบ้านซึ่งยังคงรักษาทุกสิ่งไว้ใกล้เคียงยามบาวามีชีวิตอยู่ เป็นจุดห้ามถ่ายภาพ ความน่าสนใจคือทั้งบ้านนั้นโปร่งโล่ง ห้องนอน ห้องนั่งเล่น และห้องรับประทานอาหาร ทะลุถึงกันหมด ทั้งบ้านเต็มไปด้วยงานศิลปะ งานดีไซน์ และหนังสือมากมายมหาศาล พื้นที่ส่วนตัวทั้งหมดของบาวาอยู่ที่นี่ ทั้งเก๋เสมือนหลุดจากแคตตาล็อก แต่ก็ยังอบอุ่นแบบบ้านจริง ๆ


ที่ไม่น่าจะถูกฮวงจุ้ยเลยแต่เราจำได้ดี คือประตูห้องนอนที่ตรงกับห้องนั่งเล่นเล็ก ซึ่งมีหน้าต่างโลหะสูงจรดเพดาน มองออกไปเห็นต้นไม้ยักษ์ด้านหลัง เรียกได้ว่าถ้าเปิดประตูทุกบาน เมื่อเจ้าของบ้านลืมตาตื่น จะเห็นต้นไม้ร่มรื่นเบื้องหน้าทันที
เดินถัดมาที่ห้องทานอาหาร โต๊ะกินข้าวอีพ็อกซี่สีขาวทรงล้ำ ๆ ผอมยาว และเก้าอี้ดีไซน์จัดทุกตัว เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นต้นแบบของโปรดักต์ที่บาวาออกแบบให้โรงแรม สิ่งสะกิดใจคือทั้งที่บ้านกว้างขวาง แต่โต๊ะและเก้าอี้บ่งบอกว่าแขกของบ้านนี้ไม่มากนัก
“ใช่ครับ เพื่อน ๆ เขามาทีละ 2 – 3 คน ไม่เกินนี้ ไม่เคยรับแขกทีละมาก ๆ” Rohana วัย 43 ปี หนึ่งในผู้ดูแลบ้านหลังนี้ครุ่นคิดแล้วตอบเสียงเบา เขาทำงานกับบาวาตั้งแต่อายุ 17 คือในช่วง 8 ปีสุดท้ายของสถาปนิก เป็นทั้งคนดูแลและบางครั้งทำอาหาร
“เขาเป็นเจ้านายที่ดี เงียบมาก ชอบดื่มกาแฟ ทำงานตั้งแต่ 8 โมงครึ่งถึง 9 โมงเช้า ยาวไปถึง 6 โมงเย็น แต่บางครั้งก็พักบ้าง”
Rohana เล่าว่าบาวามีคนดูแลหลายคน โดยเฉพาะช่วงบั้นปลายสุดท้ายซึ่งเคลื่อนไหวไม่ถนัดหลังสโตรก แต่หลังจากสถาปนิกเสียชีวิต เหลือผู้ดูแลไม่กี่คนที่ยังคงทำงานต่อที่นี่
เราขึ้นบันไดแคบ ๆ ต่อมาที่ชั้นสอง ผ่านประตูอะลูมิเนียมฉลุลายของ Ismeth Raheem ซึ่งเป็นจุดที่เปิดเป็นโรงแรม และได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูปได้อีกครั้ง ด้านหน้าคือห้องรับแขกกว้างขวางบนยกพื้น ผนังแขวนผ้าลายละเอียดยิบจากบาหลี ห้องนอนด้านในมี 2 ห้อง ซึ่งจองแยกกันมาไม่ได้ เพราะบ้านนี้รับแขกทีละกลุ่มเท่านั้น


เลี้ยวขึ้นบันไดมาอีกครั้งจะพบสวนบนดาดฟ้าที่ซึ่งบาวาใช้พักผ่อน ในยามชราเขาต่อเติมลิฟต์เพื่อขึ้นมาใช้พื้นที่ชมสวนบนนี้ จุดนี้อยู่ใกล้ทะเล แต่น่าเสียดายที่ตึกสูงบังทิวทัศน์ผืนน้ำไปหมด เหลือแต่ภาพมุมสูงของพื้นที่อยู่อาศัยย่านนี้ มองออกไปยังเห็นสีเขียวและความสงบ
Rohana เสิร์ฟชาขิงจากกากระเบื้องสีขาว ทัวร์บ้านเจฟฟรีย์ บาวา สิ้นสุดลงที่นี่
บ้านหมายเลข 11 เป็นต้นแบบบ้านในฝันที่ยอดเยี่ยม และยังคงร่วมสมัยกับปัจจุบัน สำหรับคนเมืองหลวงที่อยู่บ้านหลังเล็ก ๆ อย่างเรา บ้านนี้ใหญ่มากและร่มรื่นประหนึ่งบ้านตากอากาศ แต่แน่นอน สถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่มีวิสัยทัศน์เรื่องการตากอากาศที่กว้างไกลกว่ามากนัก เราจึงออกเดินทางสำรวจความฝันของเขา ไปอีก 60 กิโลเมตรทางตอนใต้ของโคลัมโบ
*จองเยี่ยมชมและเข้าพัก House Number 11 ที่ geoffreybawa.com/number-11
Lunuganga

“ไม่ไหวแล้ว จะต้องกลับมาที่นี่อีกให้ได้เลย”
ช่างภาพสาวหันมาพูดประโยคนี้ซ้ำ ๆ เฉลี่ยทุก 20 นาที หรือทุกครั้งที่เราเดินเลี้ยวเข้าชมมุมนั้นมุนนี้ในสวนเขียวขจีอายุ 50 กว่าปี ซึ่งไม่ใช่แค่สวนอิตาลีที่มีรูปปั้นจากยุโรป แต่ยังแฝงแนวการจัดสวนแบบอังกฤษ ญี่ปุ่น และศรีลังกา ส่วนเรานั้นไม่ใช่แค่ลูกขุนพลอยพยัก แต่เสิร์ชดูเรียบร้อยแล้วว่าจะกลับมาจองเยี่ยมชมที่นี่อย่างไร หมายมั่นปั้นมือว่าต้องกลับมาหาอาณาจักรของเจฟฟรีย์ บาวา ให้จงได้
Lunu-ganga เป็นภาษาสิงหล แปลว่า Salt-river มาจากชื่อทะเลสาบน้ำเค็ม Dedduwa ข้างที่ดิน 15 เอเคอร์ ซึ่งบาวาซื้อในปี 1948 ตั้งแต่เห็นที่ดินผืนนี้ครั้งแรก เขาก็รู้ว่าการออกแบบจะเผยประกายของเพชรเม็ดงามที่ซ่อนตัวอยู่
เช่นเดียวกับบ้านส่วนตัว เมื่อเรามาถึงก่อนเวลาทัวร์ชมสวน ประตูโลหะที่ห้อยระฆังด้านหน้าปิดสนิท ต้นไม้ใหญ่ปกคลุมจนไม่เห็นด้านใน จนเมื่อได้เวลาเยี่ยมชมเท่านั้น เราถึงได้รับอนุญาตให้นั่งรถขึ้นเนิน เข้าถึงพื้นที่ที่จงใจซ่อนไว้

Nuwan ผู้สวมเชิ้ตขาวและโสร่งขาวเหมือน Rohana ออกมาต้อนรับ และพาเราเดินชม Garden Tour ที่โอบล้อมอาคารหลายหลัง ทั้งบ้านพัก แกลเลอรี่ และบ้านแขกของบาวา ซึ่งกลายเป็นห้องพักและร้านอาหารค่ำ น่าเสียดายที่วันนี้มีแขกเข้าพักเต็ม เราจึงชมห้องพักต่าง ๆ ทั้งหมด 9 ห้องไม่ได้ เพียงแต่ชมอาคารด้านนอกบางส่วนเท่านั้น


แต่แค่ชมสวนก็เยี่ยมยอดมาก ๆ สถาปนิกใช้เวลา 40 ปีในการทำสวน ทั้งปรับที่ดินใหม่ให้เนินเขาเตี้ยลง มองเห็นผืนน้ำกว้างได้ถนัดตา รื้อพืชบางส่วนออกและปลูกพืชใหม่สารพัดริมน้ำ เขาปรับปรุงที่นี่เรื่อยมาจนถึงวัยชราที่ป่วยจนเคลื่อนไหวเองไม่ได้ ในช่วงสุดท้ายของชีวิตก็มาพักผ่อนที่นี่เสมอ
กิมมิกของที่นี่คือระฆัง 14 ใบรูปทรงต่าง ๆ ซึ่งแต่ละใบให้เสียงต่างกัน กระจัดกระจายอยู่ตามมุมต่าง ๆ ของพื้นที่ บาวาใช้การตีระฆังส่งสัญญาณถึงบรรดาผู้ดูแลว่าเขาต้องการอะไรเป็นกิจวัตร เช่น อาหารเช้า อาหารกลางวัน ชายามบ่าย น้ำมะนาว และเครื่องดื่มโปรดอย่างจินโทนิก
ระหว่างพาชมสวนที่ได้รับการดูแลอย่างดี Nuwan ชี้ชวนและตีระฆังให้เราดูหลายใบ ตั้งแต่ระฆังแบนสำหรับอาหารกลางวัน ระฆังทรงกระดิ่งเหนือม้านั่งอ่านหนังสือสำหรับชา ไปจนถึงระฆังเหนือฝาบ่อน้ำโลหะสำหรับน้ำมะนาว เขาทำหน้าจริงจังขณะเล่าอีกว่าสวนสวยนี้มีผู้เล็มหญ้าให้เรียบร้อยเป็นฝูงวัวสีน้ำตาล ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในสมัยที่บาวามีชีวิต เพราะเขาเลือกแต่วัวสีขาวดำเท่านั้น

ผ่านต้นไม้ที่ถูกดัดให้เกี่ยวกระหวัดกันเป็นคู่ ๆ ตีนเป็ดน้ำทิ้งลูกระเกะระกะ เราจะพบรูปปั้นเสือดำนอนหมอบอยู่ริมน้ำอย่างเสมือนจริง
เส้นทางเดินทอดยาวไปสู่เนินเขา Cinnamon Hill เลียบริมน้ำ ไกด์ของเราเดินนำหน้าไปที่ต้นไม้ใหญ่บนยอดเนินแล้วเอ่ยด้วยรอยยิ้ม
“เขาอยู่กับเราที่นี่”
Nuwan ชี้ไปที่แผ่นหินสี่เหลี่ยมจัตุรัสเรียบ ๆ ที่ฝังราบกลืนกับพื้นหญ้าโล่งกว้าง มองเผิน ๆ แทบไม่สังเกตเห็นว่า นี่คือจุดฝังเถ้าธุลีสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ในวาระสุดท้าย
บนยอดเนินเขาเขียวขจีที่สถาปนิกศรีลังกาหลับตา ฝั่งหนึ่งคือทะเลสาบ Dedduwa กว้างใหญ่ และอีกฝั่งคือบ้านที่เขารัก เป็นการเลือกปักหมุดความตายที่งดงามและยอดเยี่ยมที่สุด เท่าที่มนุษย์ผู้หนึ่งพึงนึกฝันได้
“แล้วมีคนเคยเห็นผีบาวาที่นี่มั้ย”
หนึ่งในสมาชิกทัวร์ชาวไทยยกมือถาม ตามประสาชาวประเทศที่สนใจเรื่องลี้ลับ
“มีคนเคยเห็นบ้าง ในช่วง 3 ปีแรกที่บาวาจากไป แต่หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีใครเห็นเขาอีกเลย”
คำตอบของ Nuwan ทำให้เราเงียบครุ่นคิดกันพักใหญ่ ไม่ว่าวิญญาณของเจฟฟรีย์ บาวา จะอยู่ที่นี่หรือไม่ แต่จิตวิญญาณและความทุ่มเทของเขาแฝงอยู่ในทุกมุมของบ้านและสวน ทำให้เราคารวะสายตาอันเฉียบขาด และอยากกลับมารับพลังงานดี ๆ ที่ Lunuganga อีกครั้งและอีกครั้ง
*จองทัวร์ชมสวน Lunuganga ที่ geoffreybawa.com/lunuganga และจองห้องพักที่ www.teardrop-hotels.com/lunuganga/
Write on The Cloud
Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ และเบอร์โทรติดต่อ มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งหมวกรุ่นพิเศษจาก Calm Outdoors แบรนด์แฟชั่นสายแคมป์แบรนด์แรกของไทยที่ทำเสื้อผ้าตอบโจทย์คนเมืองแต่ใจลอยไปอยู่ในป่า ซึ่งสกรีนลวดลายพิเศษที่ไม่มีจำหน่ายที่ไหนให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ