ก่อนเวลาเปิดทำการไม่กี่วัน เรานั่งอยู่ใน Xinlor House (ซินหล่อเฮ้าส์) โรงแรมใหม่เอี่ยมสีขาวดำที่ดัดแปลงจากตึกเก่าสไตล์เพอรานากันบนถนนดีบุก ทางเดินระหว่างห้องมีจุดตัดเป็นโถงกลางแจ้งเปิดหลังคา แสงแดดส่องลงมาสู่ต้นไม้เขียวชอุ่ม น้ำพุ และเก้าอี้เหล็กและปูนคล้ายแบบที่ตั้งในสวนสาธารณะ เทปอัดเสียงสนทนาระหว่างฉันกับคู่รักสถาปนิก ทัช-ธรัช และ ชมพู่-วทัญญู ศิวภักดิ์วัจนเลิศ มีเสียงน้ำตกคลอเบาๆ ไปตลอดเรื่อง

หน้าที่ออกแบบของสองสามีภรรยาจบลงไปแล้ว แต่ทั้งคู่ตกลงกับครอบครัวเจ้าของโรงแรมว่าจะช่วยดูแลจนกว่าจะเสร็จสิ้นงานก่อสร้าง บ่ายวันนั้นภูเก็ตร้อนระอุ แต่การนั่งอยู่ในโรงแรมที่พวกเขาออกแบบ ฉันรู้สึกเย็นสบายและสงบ ความรู้สึกเหล่านั้นแล่นกลับมาทุกครั้งเมื่อนึกถึงสองผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบที่พักภาคใต้ซึ่งเชื่อในแดด ลม ฝน และประวัติศาสตร์ของพื้นที่

Dhamarchitects : คู่รักสถาปนิกที่ไม่ยอมสร้างโรงแรมเป็น ‘ขยะอายุยืน’

Nature, Culture, and Architecture

“ตอนทำงานใหม่ๆ เจ้านายเรียกเรา 2 คนไปถามว่าชอบงานสถาปนิกคนไหน ทัชตอบว่าชอบ Geoffrey Bawa (เจฟฟรีย์ บาวา) ส่วนเราตอบว่า Frank Gehry (แฟรงก์ เกห์รี) เจ้านายบอกว่าเขาเป็นธรรมชาตินิยม ส่วนคุณเป็นศิลปิน เขามองขาด เรายังจำได้ถึงทุกวันนี้”

ชมพู่เล่าความหลัง ตัวตนของทั้งคู่ฉายชัดตั้งแต่วันแรกๆ ที่ลงสนามออกแบบในบริษัทสถาปนิก พวกเขาหลงรักความงามฝีมือธรรมชาติและมนุษย์ หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์การดีไซน์หลายปี บริษัท ธัมอาร์คิเทคส์ จำกัด ก็เกิดขึ้นใจกลางเมืองเก่าภูเก็ต เพื่อรับงานออกแบบบ้านและที่พักแบบต่างๆ ทั่วไข่มุกอันดามันและหลายจังหวัดในภาคใต้ของไทย

“ไม่เกี่ยวว่างานเล็กหรือใหญ่ งานเล็กมากๆ เราก็ทำ อยู่ที่ว่าผลลัพธ์มันจะออกมั้ย หรือทำแล้วทำให้คนเข้าว่าสถาปนิกคืออะไร เข้าใจว่าสิ่งก่อสร้างที่มันดีกว่าคืออะไร เขาอาจจะคิดว่าสร้างตึกง่ายๆ ก็พอแล้ว ไม่ได้คิดว่าเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้เมื่ออยู่ในสิ่งปลูกสร้างนี้ บางทีไม่รู้เพราะทนอยู่ได้หรือเคยชิน แต่ไม่เจอความสบาย บ้านที่อยู่แล้วสบายโดยไม่เปิดแอร์ คนจะชอบมากกว่า แต่คนเคยชินว่าเข้าบ้านมาควรเปิดแอร์ หรือเข้าห้องนอนแล้วควรเปิดแอร์ เปิดทีวีถึงหลับได้

“บ้านเรามีทีวีเอาไว้แค่ดูหนังที่อยากดู ดังนั้นมันจึงเงียบ เวลามีเสียง มันก็เป็นเสียงที่เราเลือกแล้ว ไม่มีแอร์ ไม่มีมุ้งลวดก็อยู่ได้ เพราะจริงๆ ยุงมันมาเป็นเวลา เวลามันมาเราก็ปิดประตู มันไปเราก็เปิดให้ลมเข้าต่อ ฝนตกก็ขยับย้ายที่นิดหน่อย แล้วก็ใช้ชีวิตต่อได้ เราอยู่ในโซน tropical ก็ควรจะอยู่ให้ได้โดยไม่มีแอร์ บนเกาะในประเทศเขตร้อน ยังไงฝนก็ตก ชีวิตมันไม่ได้แห้งตลอดเวลา เย็นตลอดเวลา”

“Motto ของเราคือ nature, culture และ architecture ธรรมชาติอยู่ทางซ้าย วัฒนธรรมอยู่ทางขวา สถาปัตยกรรมคือสิ่งที่ยืนอยู่ตรงกลางอย่างอ่อนน้อมต่อธรรมชาติและวัฒนธรรม”

Dhamarchitects : คู่รักสถาปนิกที่ไม่ยอมสร้างโรงแรมเป็น ‘ขยะอายุยืน’ Dhamarchitects : คู่รักสถาปนิกที่ไม่ยอมสร้างโรงแรมเป็น ‘ขยะอายุยืน’

ลูกค้าที่เคารพ

“สมมติลูกค้าไม่รักธรรมชาติ เราทำงานไม่ได้นะ”

ทัชเล่าขำๆ ว่า เขาเคยบอกเลิกงานออกแบบเพราะเจ้าของพื้นที่ตัดต้นไม้ใหญ่ออกจากพื้นที่จนหมดโดยไม่ปรึกษา

“เราเก็บต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ไว้ตลอด ถ้าไม่มีก็ปลูกเพิ่ม คุณปลูกต้นไม้ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ตอนนี้คนเราเห็นต้นไม้โดนตัดไปทุกวันโดยไม่รู้สึกอะไร และไม่คิดจะปลูกเพิ่ม เวลาจะปลูกบ้าน สิ่งแรกที่ทำคือตัดต้นไม้ออกทั้งหมดแล้วเคลียร์ที่ให้โล่ง ไม่รู้ความคิดนี้มันมาจากไหน ยังไม่ทันรู้เลยว่าจะสร้างอะไรก็ตัดต้นไม้ทิ้งไปก่อน ถ้าถามเรา เราจะสร้างอาคารล้อไปกับต้นไม้ที่มี มันจะได้ไม่ร้อน อยู่สบาย มันเป็นของฟรีที่มากับพื้นที่ เราคิดว่าที่ที่มีต้นไม้ใหญ่มีมูลค่า ถ้าไม่มีต้นไม้เลย มูลค่าต่ำมาก”

ขณะที่เจ้าของพื้นที่เลือกนักออกแบบ สถาปนิกก็เลือกลูกค้า ธัมอาร์คิเทคส์จึงมีลูกค้าหลากหลายช่วงวัย แต่มีความเชื่อที่สอดคล้องและเชื่อในสิ่งที่พวกเขาทำ

“สถาปนิกเป็น advisor ไม่ใช่แค่คนเขียนแบบ ถ้าเขาไม่เคารพเรา คิดไว้หมดแล้วและจะสั่งเอาทุกอย่าง เขาก็เป็นลูกค้าเราไม่ได้ อาจจะมีคนที่เหมาะกว่า แต่เราไม่ใช่คนคนนั้นของเขา”

Dhamarchitects : คู่รักสถาปนิกที่ไม่ยอมสร้างโรงแรมเป็น ‘ขยะอายุยืน’ Dhamarchitects : คู่รักสถาปนิกที่ไม่ยอมสร้างโรงแรมเป็น ‘ขยะอายุยืน’

ตีโจทย์แตก

“การออกแบบต้องมีข้อกำหนดพื้นฐาน มีน้ำ มีไฟ ลมพัดปลอดโปร่ง อยู่สบาย นี่ไม่ใช่คอนเซปต์ แต่เป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่แล้ว เวลาออกแบบ จะบอกไม่ได้ว่าโล่งโปร่งอยู่สบาย ถ้าตอบแบบนี้เป็นการประชดของสถาปนิก เพราะทุกอาคารต้องมีสิ่งนี้ เหมือนอาหารต้องสะอาด กินแล้วหายหิว มันเป็นมาตรฐานการออกแบบ”

คู่สถาปนิกช่วยกันอธิบายสิ่งแรกที่ลูกค้าควรรู้ให้ฟัง เมื่อได้พบลูกค้าที่ถูกชะตาซึ่งกันและกัน งานต่อมาของสถาปนิกคือรับโจทย์มาตีให้แตก โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเจ้าของและพื้นที่

“เราวิเคราะห์ตัวตนลูกค้าเป็นอันดับแรก ต้องรู้ก่อนว่าเขาคือใคร มีรากเหง้ามาอย่างไร อะไรคือสิ่งที่เขาน่าจะชอบ จากนั้นก็วิเคราะห์พื้นที่ เขาจะอยู่ที่นี่ไปเป็น 10 ปีแล้วภูมิใจในสิ่งที่เราทำให้ เมื่อมองเห็นสิ่งที่เราทำ เขาจะเห็นตัวเขา ไม่ว่าจะในหลังคา บันได ดังนั้นเราต้องรู้ว่าลูกค้าเป็นใคร รู้จักตัวจริงของเขาก่อนทำงาน บางทีเราต้องรู้จักลูกค้ามากกว่าเขารู้จักตัวเองอีก เพราะเขาต้องไว้ใจเราพอที่จะเปิดเผยด้านที่มันส่วนตัวหรือไม่สวยงาม แต่เป็นธรรมชาติ”

สองสามีภรรยายกตัวอย่างโจทย์เป็นที่ที่เรานั่งอยู่–โรงแรมซินหล่อเฮ้าส์ขนาด 17 ห้องพัก 

“ครอบครัวนี้ขายอะไหล่รถยนต์ เป็นคนจีนภูเก็ตและมีพื้นที่อยู่ในเมืองเก่า เป็นตึกบาบ๋าย่าหยาเก่าที่ถูกทิ้งร้างไว้ก่อน จะไปทำลายไม่ได้ ถ้าโรงแรมนี้อยู่ที่ชินจูกุหรือดูไบ มันก็ไม่ออกมาหน้าตาแบบนี้แน่นอน อาจจะออกมา futuristic ไปเลยก็ได้ แต่เราได้คุยกับเจ้าของที่ทำกิจการอะไหล่รถยนต์แล้วประทับใจ ออกแบบคอนเซปต์แนวรถและการเดินทาง จะรถจักรยานหรือสิบล้อเราก็อยู่บนถนนเส้นใหม่นี้ด้วยกัน เป็นเหตุผลว่าทำไมหน้าตามันถึงออก industrial หน่อย เราทำผนังสีดำ texture พื้นก็โหดๆ สีดำเหมือนถนน

“พ่อแม่เจ้าของหรือใครที่มาเห็นก่อนสร้างเสร็จ มักจะถามว่าเอาจริงเหรอ ทำไมใช้สีดำ ดูไม่มงคล เพราะเขายังไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด เราใช้ผนังสีดำมันวาวสะท้อนแสงตรงทางเดินให้รู้สึกสบายตา เพราะโครงสร้างมันยาว เลยมีสะพานเชื่อมอยู่เรื่อยๆ มีจุดทึบและจุดที่แสงเข้า เหมือนแกลเลอรีที่สว่างเป็นจุดๆ”

ชาวธัมอาร์คิเทคส์ยืนยันว่าสไตล์ทั้งหมดเป็นเปลือกหรือสิ่งที่ตามมาทีหลังเพื่อรองรับโจทย์ พวกเขาไม่มีเหตุผลที่จะเติมความหวือหวาโดยไม่จำเป็น

“เส้นหนึ่งเส้น จะเอียง ตรง หรือโค้ง มันต้องมีเหตุผลมารองรับ เราไม่ใช่เด็กๆ ไม่ได้จำภาพติดตาจากอินเทอร์เน็ตหรือไอดอลของเราแล้วต้องทำตามให้ได้ ถ้ามีเหตุผลแค่นี้ มันก็เป็นได้แค่งานที่ดูสวยดี น่าจดจำ แต่มันไม่มีความหมาย ไม่ลึก ไม่จริง ไม่มีจิตวิญญาณ เป็นแค่แฟชั่นที่ผ่านมาแล้วก็จากไป เดี๋ยวนี้เราให้เหตุผลว่า ก็อยากได้ สวยดี ไม่ค่อยได้ มันหมดโควต้านั้นแล้ว แก่แล้ว (หัวเราะ)”

Dhamarchitects : คู่รักสถาปนิกที่ไม่ยอมสร้างโรงแรมเป็น ‘ขยะอายุยืน’ Dhamarchitects : คู่รักสถาปนิกที่ไม่ยอมสร้างโรงแรมเป็น ‘ขยะอายุยืน’ Dhamarchitects : คู่รักสถาปนิกที่ไม่ยอมสร้างโรงแรมเป็น ‘ขยะอายุยืน’

หน้าที่สถาปนิก

“หน้าที่ของเราคือทำทุกอย่างที่ดีที่สุดสำหรับโครงการ ไม่ใช่สำหรับเอาใจใคร หรืออาป๊าอาม้าของใคร เช่นจู่ๆ จะให้ทาสีแดง สีเขียว เราจะบอกก่อนถ้าทำที่พักสำหรับคนหมู่มาก ควรทำตามความชอบของคนส่วนใหญ่ บางทีลูกค้าสับสนว่า user ของอาคารคือตัวเขาหรือแขกที่มาพัก พอต้องคิดเพื่อโครงการมากๆ เข้า อีโก้เราหายไปตอนไหนก็ไม่รู้ สุดท้ายเราอยากลดตัวตนของเรา ดีไซน์ตัวตนของอาคารและตัวเจ้าของ แต่ไม่ใช่เพื่อเติมเต็มตัวเราเอง”

นอกจากหน้าที่หลักด้านออกแบบ ทัชเล่าต่อว่า อีกสิ่งที่พวกเขาต้องทำคือบริการให้ความอบอุ่นลูกค้า เป็นเซอร์วิสที่ต้องมีตลอด เพราะถ้าห่างกันไปนิดนึง ลูกค้าจะลังเลกับแบบที่ตกลงกันแล้วเสร็จ หลังไปเที่ยววันหยุดยาว กลับมาลูกค้าจะอยากแก้แบบเสมอ  

“เราต้องบอกเขาว่าใจเย็นก่อน โทรมาได้ตลอดนะ ถ้าไม่ทะเลาะกันไปก่อน วันปิดงานถ้าเขายิ้มได้ จบงานแล้วก็มักได้เป็นเพื่อนกัน แล้วเขาก็บอกปากต่อปากไป เราเป็นสถาปนิก เห็นภาพอาคารตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ทำแล้ว แต่เรารออยู่ อธิบายไปลูกค้าอาจไม่เข้าใจ การได้เห็นภาพสุดท้ายที่เป็นจริงแล้ว มันดีใจนะ และระหว่างทางต้องเชื่อใจกันมาก ถ้าไม่เชื่อกัน มันจะออกมาครึ่งๆ กลางๆ ไม่ก็เฟลไปเลย”

ชมพู่เสริมหน้าที่อีกอย่างของสถาปนิกที่ฉันไม่เคยรู้มาก่อน นั่นคือการให้ความรู้ผู้คน

“ไม่ต้องจ่ายเงินเราก็ได้ แต่มันมาพร้อมกับการเลือกอาชีพนี้ สมมติมีคุณลุงคนหนึ่งที่ไม่รู้เรื่องพวกนี้เลยแต่อยากได้คนเขียนแบบบ้านให้ มันเป็นหน้าที่ของเราที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจว่าสถาปัตยกรรมคืออะไร อะไรคือตัวเลือกที่ดีกว่า เขาไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าเราก็ได้ แต่เราต้องบอก เผื่อว่าในที่สุดเขาจะเข้าใจและไปจ้างสถาปนิกมาทำงานจริงๆ หรือคนที่เจอสถาปนิกแย่ๆ ห่วยๆ มาก่อน พอมาเจอเรา เราอาจไม่ใช่คนที่แก้งานให้เขาได้เสมอไป แต่เราบอกเขาได้ว่าสิ่งที่คุณเจอไม่ใช่มาตรฐานของอาชีพนี้ คำแนะนำพวกนี้เราทำให้ได้เลย แม้พวกเขาจะไม่ใช่ลูกค้าก็ตาม”

Dhamarchitects : คู่รักสถาปนิกที่ไม่ยอมสร้างโรงแรมเป็น ‘ขยะอายุยืน’ Dhamarchitects : คู่รักสถาปนิกที่ไม่ยอมสร้างโรงแรมเป็น ‘ขยะอายุยืน’ Dhamarchitects : คู่รักสถาปนิกที่ไม่ยอมสร้างโรงแรมเป็น ‘ขยะอายุยืน’

ขยะอายุยืน

แม้ไม่จำกัดแนวทางรับงานออกแบบสิ่งปลูกสร้าง แต่โครงการส่วนใหญ่ที่ธัมอาร์คิเทคส์ได้รับมักเป็นการออกแบบที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวเสมอ ท่ามกลางการแข่งขันดุเดือด พวกเขาต้องหาวิธีเอาตัวรอดโดยเก็บรักษาทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรมไปพร้อมกัน

“โรงแรมเหมือนแฟชั่น โดยเฉพาะที่ภูเก็ตและภาคใต้ ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมต้องปรับตัวเรื่อยๆ แฟชั่นโรงแรมเปลี่ยนไวกว่ากรุงเทพฯ อีก กรุงเทพฯ จะเป็นแนวเมือง คนกรุงเทพฯ มีไลฟ์สไตล์ที่ไม่ต่างกันมาก แต่ในเมืองท่องเที่ยวที่มีคนหมุนเวียนเข้ามาตลอด คนร้อยพ่อพันแม่มีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่โรงแรมต้องตอบโจทย์คนพวกนี้ทั้งหมด”

“ภูเก็ตมีทั้งโรงแรม chain โรงแรมเล็กๆ ที่เจ้าของทำเอง อพาร์ตเมนต์ ห้องเช่ารายวันหรือรายเดือน มีทุกแนว บนลงล่าง ซ้ายไปขวา ตั้งแต่น่าเกลียดมาก จนถึงสวยสุดๆ หรือเวอร์วังสุดๆ ถ้าสนใจแฟชั่นการออกแบบโรงแรมหรือสถาปัตยกรรมทั่วไป ภูเก็ตเหมาะจะเป็นกรณีศึกษามาก ที่นี่ความหนาแน่นของสถาปนิกต่อจำนวนประชากรเยอะมาก ถนนดีบุกเส้นเดียวมีออฟฟิศสถาปนิก 3 บริษัทได้ ถัดไปก็มีอีก พอมีหลายคนหลายความคิด ก็เหมือนสั่งอาหารที่ไม่เข้ากันมากินในมื้อเดียว ส้มตำกับขนมเค้ก แยกกันกินก็อร่อยดี แต่พอเอามาวางบนโต๊ะเดียวกัน มันไม่เข้ากันอย่างรุนแรงและไม่อร่อยด้วย”

“คนที่มีเงินไม่ใช่คนที่มีรสนิยมเสมอไป”

ชมพู่กล่าวถึงปัญหาแบบตรงไปตรงมา

“คนที่นี่เป็นนักธุรกิจ ความงามด้านวัฒนธรรมอาจไม่ใช่สิ่งแรกที่เขาคำนึงถึง ภาพรวมมันเลยไม่กลมกล่อม สถาปนิกจบใหม่หรืออายุน้อยอาจต้องยอมตามใจเจ้าของ พอทำให้เขาเชื่อหรือเคารพตัวเองไม่ได้ ก็ให้คำแนะนำไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องยอมทำตามเจ้าของเงิน มันก็จะเกิดอาคารที่ไม่สวยงามเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ขึ้นเรื่อยๆ แต่งานสถาปัตยกรรมเป็นขยะที่มีอายุยาวนาน เพราะมันไม่พัง และมันต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อทำให้มันดีขึ้น เลยต้องปล่อยไว้อย่างนั้น เป็นเรื่องสำคัญมากที่สถาปนิกต้องรับผิดชอบ มีจรรยาบรรณ และถามตัวเองตลอดว่ากำลังสร้างขยะขึ้นมารึเปล่า ไม่ใช่แค่เขียนแบบส่งๆ ไป”

“เราแก้มันไม่ได้ในชั่วข้ามคืน มันต้องใช้ความอดทนข้ามยุคสมัย ในมุมมองของเรา ต้องใช้การศึกษาแก้ไขเท่านั้น คนไทยไม่เข้าใจหน้าที่พลเมืองเพราะเกิดมาต้องช่วยเหลือตัวเอง ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง มันเลยเกิดการก้าวก่ายหน้าที่ ทำตามใจฉัน ถ้าบังคับใช้กฎหมายผังเมืองอย่างเข้มงวด อย่างน้อยก็กำหนดความสูงได้ กำหนดประโยชน์ใช้สอยอาคารได้ ก็น่าจะช่วยให้เราสร้างขยะน้อยลง”

Dhamarchitects : คู่รักสถาปนิกที่ไม่ยอมสร้างโรงแรมเป็น ‘ขยะอายุยืน’ Dhamarchitects : คู่รักสถาปนิกที่ไม่ยอมสร้างโรงแรมเป็น ‘ขยะอายุยืน’

คืนชีวิตให้เมือง

นอกจากสร้างอาคารใหม่ๆ อีกงานที่ธัมอาร์คิเทคส์รับทำคืองานรีโนเวต สองสามีภรรยาหลงใหลเสน่ห์ของตึกเก่าสไตล์บาบ๋าย่าหยาจนถึงขั้นทำโรงแรมเล็กๆ ของตัวเองที่มีแค่ 2 ห้อง ชื่อ 2 Rooms Boutique House ในซอยรมณีย์ที่อยู่ห่างออกไปชั่วระยะเดินไม่กี่นาที

“ความสวยเป็นคุณค่าด้านหนึ่ง บางทีอาคารเก่าอาจจะไม่สวยหรือผิดสัดส่วนก็ได้ แต่มีคุณค่าด้านอื่น เช่น ด้านประวัติศาสตร์ สังคม สถาปัตยกรรม เทคนิคการก่อสร้างแบบนี้ไม่มีอีกแล้ว เหมือนคนคนหนึ่งที่มองเผินๆ ไม่สวย แต่พอทำความรู้จัก จะพบว่าเขาสวยจากข้างใน”

“เราไม่ใช่กรมศิลป์ ไม่ใช่นักโบราณคดี ไม่ได้คงสภาพของอาคารให้เหมือนเดิมทุกอย่าง งานรีโนเวตของเราจะบอกยุคสมัยนี้ โดยไม่ไปทำลายคุณค่าของสมัยก่อน ถ้าก๊อปปี้งานโบราณมาตั้ง แบบนั้นเท่ากับไม่ได้ออกแบบอะไรใหม่ เราเป็นดีไซเนอร์ ก็อยากจะออกแบบมากกว่า remake อาจจะ tribute เอาความรู้สึกของเราเข้าไปจับแล้วเรียบเรียงใหม่”

“2 rooms เคยเป็นตึกตาย ลมไม่แล่นผ่าน ซอยรมณีย์เคยเป็นซอยที่คนเดินผ่านไปถ่ายรูป แต่ไม่เข้าไปในอาคาร เพราะอาคารส่วนใหญ่ปิดมานานจนคนไม่คาดหวังว่าจะทำอะไรกับมันได้ จริงๆ มันเป็นซอยที่สวยมาก น่าจะเปิดชี่ด้วยการทำคาเฟ่ ร้านขายของที่ระลึก ทำเป็น walking street เหมือนยุโรป เพราะจุดประสงค์สูงสุดของการรีโนเวตคือการทำให้อาคารมีชีวิต ไม่ได้มองว่าเราต้องทำเหมือนเดิมเป๊ะ ห้ามทุบ ห้ามรื้อ มันควรทำให้คนทุกวัยกลับมารักอาคารนี้ และอยากมาเยี่ยมด้วยความเต็มใจ”

ฝนตกปรอยๆ ลงมาระหว่างการพูดคุยที่โถงกลางแจ้งของอาคารเปิดหลังคาแบบบาบ๋าย่าหยา ความเปียกปอนไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เราขยับตัวหลบใต้ชายคาซินหล่อเฮ้าส์ จดจำบทสนทนาขณะซึมซับความงามของธรรมชาติและวัฒนธรรมเกาะผ่านความอ่อนน้อมของอาคาร

FB: Dhamarchitects

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล