สินค้ารักษ์โลก เสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล แค่ได้ยินชื่อก็ดูน่าเบื่อแล้วล่ะสิ แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว สินค้าพวกนี้มีดีไซน์ที่สนุกและหลากหลายมากกว่าที่เราคิด

เพราะตอนนี้วงการแฟชั่นเริ่มมีวิธีการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น และยังดูสวยเก๋น่าใช้ หนึ่งในวิธีที่กำลังฮิตนี้ก็คือ Upcycling ซึ่งเป็นการนำของเก่าในคอลเลกชันหรือของเหลือทิ้งมาสร้างสิ่งใหม่ จริง ๆ การอัปไซเคิลมีมาตั้งแต่ยุค 90 แล้ว ฮือฮาที่สุดก็ตอนที่ มาร์ติน มาร์เจียล่า (Martin Margiela) ดีไซเนอร์แบรนด์ Maison Mangiela เริ่มจากการนำถุงมือเก่ามาทำเป็นเสื้อ นำเศษจานกระเบื้องที่แตกมาทำเป็นเสื้อกั๊ก หรือแม้แต่นำเปลือกลูกอมมาทำเป็นชุดเดรส ซึ่งเราขอถือวิสาสะยกโชว์ในวันนั้นเป็นวันปักหมุดจนทำให้เทรนด์การเอาของเก่ามาทำเป็นของใหม่เริ่มเป็นที่รู้จัก

แต่สุดท้ายแบรนด์แฟชั่นลักชูรีชื่อดังมากมายก็เลือกที่จะผลิตสินค้าด้วยวิธีเดิม ๆ คือผลิตสินค้าใหม่ออกมาเยอะ ๆ ถ้าขายไม่ออกก็เอาไปทิ้งด้วยการฝังกลบ ไม่ก็เผาทิ้ง จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และเลิกสนับสนุนแบรนด์เหล่านั้น ซึ่งหลายแบรนด์ก็หาทางจัดการเสื้อผ้าที่ขายไม่ออก โดยนำคอลเลกชันเก่ามาดีไซน์เป็นเสื้อตัวใหม่

จะเห็นได้ชัดมากขึ้นก็ช่วงโควิด-19 เพราะคนแทบไม่ออกไปช้อปปิ้ง ทำให้มีเสื้อผ้าที่ขายไม่ออกเยอะกว่าปกติ แบรนด์แฟชั่นเลยหันมาใช้วิธีการอัปไซเคิลกันมากขึ้น (และมากขึ้น) รวมถึงหลายแบรนด์ในประเทศไทยเองก็นำวิธีนี้มาใช้เช่นเดียวกัน เมื่อดีไซเนอร์เยอะขึ้น สินค้าอัปไซเคิลยุคนี้เลยมีหน้าตาเก๋สุด ๆ จนลืมภาพจำที่น่าเบื่อของสินค้ารักษ์โลกไปเลย 

วันนี้เราเลยอยากพาผู้อ่านทุกคนมารู้จักกับ 10 สินค้าแฟชั่น Upcycled จาก 10 แบรนด์ไทยที่มีเรื่องราวสนุกและดีไซน์น่าสนใจ จนทำให้คุณต้องเผลอกดเอฟโดยไม่รู้ตัว แต่คงยากถ้าจะต้องมาจัดอันดับ 1 – 10 งั้นเราขอเล่าเรียงตั้งแต่หัวจรดเท้าไปเลยแล้วกัน เริ่ม!

#01

ZAYAN EXPLORER HAT

Material : ผ้า Polyester รีไซเคิลจากขวดน้ำเหลือทิ้งจากโรงงาน

มาเริ่มกันที่หัว จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากหมวก เราไม่ค่อยเห็นแบรนด์หมวกที่ทำมาจากวัสดุอัปไซเคิลสักเท่าไหร่ เพราะเดิมทีผ้าที่เอามาทำหมวกก็หายากอยู่แล้ว จนเราได้เจอกับหมวกสุดเท่ที่เหมาะกับสายลุยอย่างรุ่น EXPLORER HAT จากแบรนด์ ZAYAN ที่เกิดมาจากความชอบทำกิจกรรมเอาต์ดอร์ และรักในแฟชั่นของ เต๋า-ธนกร บินซายัน จนถึงขั้นไปเรียนตัดเย็บ แล้วเอาวัสดุเหลือใช้ที่หาได้ในบ้านมาลองเย็บเป็นหมวก

ครั้งแรกที่เราได้จับหมวกใบนี้ สารภาพเลยว่าผ้าลื่นสุด ๆ ถ้าไม่บอกก็เดาไม่ได้เลยว่าทำมาจากผ้า Polyester ที่รีไซเคิลมาจากขวดน้ำพลาสติก

วิธีการทำนั้นไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด เต๋าเล่าให้ฟังว่าโรงงานจะเอาขวดพลาสติกมาย่อยสลายให้เป็นเม็ดบีด แล้วเอามาปั่นให้เป็นเส้นใยแล้วค่อยเอาไปทอเป็นผ้า ซึ่งเขาไม่ได้ใช้ผ้าที่ทอใหม่ แต่ไปขอซื้อผ้าเหลือทิ้งจากโรงงานที่ผลิตให้กับแบรนด์ใหญ่ ๆ อย่าง Nike หรือ The North Face แล้วเอามาให้พี่ ๆ ช่างในชุมชนแถวบ้านเย็บให้

ใครกำลังหาหมวกดี ๆ ใส่ไปเดินป่าหรือสู้กับแดดประเทศไทย ตามไปซื้อได้ที่

#02

On Board Sunglasses from Wastic

Material : ขวดพลาสติกรีไซเคิล

แค่หมวกคงบังแดดร้อน ๆ ไม่พอ เลยขอตามมาด้วยแว่นตากันแดดรุ่น On Board ที่ทำมาจากขวดพลาสติกรีไซเคิล จากแบรนด์ Wastic (วาสติก) ที่มาจากคำว่า Waste รวมกับคำว่า Plastic

 On Board แปลว่า ออกเรือ หรือ ออกทะเล แว่นกันแดดนี้เป็นรุ่นแรกของแบรนด์ ตามคอนเซปต์ว่า ถ้าพลาสติกไม่ถูกจัดการอย่างดี มันจะโดนน้ำพัดพาไป แล้วไปจบที่ทะเล

แบรนด์นี้มีจุดเริ่มต้นจากนักศึกษาปริญญาโท 4 คนที่มีความเข้าใจเรื่องการจัดการขยะพลาสติกในทะเลเป็นอย่างดี โบว์-อริสรา พิทยายน หนึ่งในสมาชิกทำวิจัยเรื่องแว่นสายตาที่ทำจากฝาขวดน้ำพลาสติก พอ หมิว-กมลชนก คล้ายนก มาเห็นก็พบว่าสิ่งนี้ต่อยอดได้ จึงเกิดเป็นธุรกิจนี้ขึ้นมา แต่พอทำจริงกลับพบว่าการใช้ฝากขวดน้ำนั้นไม่เวิร์ก จึงเปลี่ยนมาใช้ขวดพลาสติกแทน 

ใครกำลังมองหาแว่นกันแดดทรงคลาสสิกที่ใส่ได้กับทุกรูปหน้า ขอฝาก Wastic ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจ และในอนาคต Wastic จะมีสินค้าอื่น ๆ เพิ่มเติมจากสินค้าแฟชั่นด้วย ทั้งของแต่งบ้านและของใช้ในชีวิตประจำวัน 

#03

MINE COLLECTION from Sarr.rai

Material : ขวดแก้วจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จาก theCOMMONS

มาต่อกันที่เครื่องประดับกันบ้าง ขอยกมาป้ายยาทั้งคอลเลกชัน ทั้งแหวน สร้อย ต่างหู จากแบรนด์ Sarr.rai (สาหร่าย) เริ่มขึ้นโดย กอล์ฟ-อภิสรา ศิริวัฒน์โยธิน และ แจม-ภิญญาพัชญ์ งามพินิจพล สองสาวที่อยากสื่อสารเรื่องความยั่งยืน ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมี และสวมใส่ไปได้นาน ๆ 

มองเผิน ๆ คงเดายากว่าจี้หลากหลายสีที่อยู่ในแหวน สร้อย ต่างหูที่มีดีไซน์สวยแบบนี้ทำมาจากขยะขวดแก้วที่มาจากทั้งขวดไวน์ ขวดจิน ขวดโซจู หรือว่าขวดเบียร์ ขวดพวกนี้มาจาก theCOMMONS ทองหล่อ ที่แบรนด์ Sarr.rai ไปร่วมงานด้วย ให้เขาเก็บขวดที่ไม่ใช้แล้วไว้ให้ และนำมาเลือกสี เพื่อนำมาเจียขึ้นรูปเป็นจี้ของเครื่องประดับ

คอลเลกชันนี้มีชื่อว่า MINE หมายถึงการทำเหมือง 

“การที่เราใช้พลอย Upcycle แปลว่าเราไม่ต้องง้อการทำเหมืองแล้ว เป็น Alternative Jewelry เพราะพวกหินที่มาจากธรรมชาติจะค่อย ๆ หมดไป เราเลยมองหา Generative Matterials ที่จะมาแทนได้ ซึ่งคือแก้วนี่แหละ” 

ความพิเศษอีกอย่าง คือทางแบรนด์มีบริการส่งซ่อมและรับทำความสะอาดจิวเวลรีได้ตลอด

เครื่องประดับสวย ๆ จะไม่มีวันกลายเป็นขยะแน่นอน

ตามไปกดใส่ตระกร้าได้เลยที่

#04

Antoine Puffy Sleeve Blouse from Pound For Long

Material : ผ้าห่มและเสื้อที่ไม่ใช้แล้ว

มาต่อกันที่ตัวแรกในหมวดเสื้อผ้ากับเสื้อที่เรียบ ๆ แต่ดูมีอะไร นั่นคือเสื้อแขนพองฟูสีขาวตัวนี้จาก Pound For Long แบรนด์ที่ออกแบบโดยลูกสาว ฟ้าใหม่ พงศกรเสถียร และตัดเย็บโดยคุณแม่ของเธอ

แม้หน้าตาจะดูฟูเหมือนเพิ่งออกมาจากเตา แต่ชุดนี้ไม่ได้ทำจากแป้งแต่อย่างใด แขนทำมาจากผ้าห่มวินเทจ ส่วนเสื้อทำมาจากเสื้อมือสองที่ฟ้าใหม่เลือกเองกับมือ และความยากคือต้องหาผ้าที่เป็นสีขาวแมชต์กันทั้งสองส่วนด้วย เธอเล่าให้ฟังว่าพอทำเสื้อตัวนี้เสร็จแล้วนึกถึงขนม Soufflé เลยตั้งชื่อว่า Antoine (อ็อง-ตวน) มาจากชื่อ Marie-Antoine Carême พ่อครัวชาวฝรั่งเศสคนแรก ๆ ที่ทำขนมชนิดนี้ออกมาได้สมบูรณ์แบบ

นอกจากนี้ยังมีเดรสรุ่นยอดฮิตที่ทำมาจากการทำผ้าเช็ดหน้า Deadstock มาเย็บต่อกัน มีให้เราเลือกลายได้เองด้วย 

อย่าลืมพุ่งตัวไปชิม เอ้ย ไปช้อปเสื้อฟู ๆ ตัวนี้กันได้

#05

Renaissance Camisole Top from Marionsiam

Material : ผ้า Deadstock จากโรงงาน

มาถึงเสื้อสำหรับสายหวาน ใครกำลังหาชุดไปเดต ใส่แล้วเขาต้องหลงรักเรา เอ้ย หลงรักเสื้อรุ่น Resainnace Camsiloe Top จากแบรนด์ Marionsiam (แปลว่า อันเป็นที่รัก ในภาษาฝรั่งเศส) เห็นเสื้อสวย ๆ แบบนี้ ที่จริงทำมาจากผ้าเหลือทิ้งจากโรงงานที่เพนต์ด้วยเทคนิคบาติก ออกแบบให้ทันสมัยขึ้นโดย แพท-ทยิดา อุนบูรณะวรรณ ผู้หลงใหลในผ้าไทยและการวาดรูป

เสื้อรุ่นนี้แพทพยายามคิดแพตเทิร์นที่ตัดผ้าเหลือทิ้งให้ได้น้อยที่สุด รูปทรงของเสื้อเลยเป็นสี่เหลี่ยมมาประกอบกัน ซึ่งทำให้ไม่เหลือเศษผ้า

ก่อนจะวางขาย เสื้อตัวนี้มาจากคอลเลกชันที่นำไปโชว์ใน MQ VIENNA FASHION WEEK 2022 ก่อนเธอจะเลือกมาขายในร้าน แพทกระซิบว่า ถ้าไปส่องแล้วอยากได้ตัวไหนก็บอกให้เธอทำให้ได้เหมือนกัน

นอกจากนี้ยังมีสินค้าดีไซน์สวยที่ซ่อนความเจ๋งไว้อีกเพียบ อย่างกระเป๋าที่หูกระเป๋าทำมาจากสายไฟเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เจ๋ง!

เสื้อสวยขนาดนี้ไม่มีไม่ได้แล้ว ตามไปเลือกลายกันได้เลยที่

#06

The Hmong 2023 capsule collection by SAVESTUDIOS

Material : เสื้อยืดมือสองจากร้านในเชียงใหม่

ใครกำลังหาเสื้อยืดใส่ง่าย ๆ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราขอแนะนำเสื้อยืดวินเทจสุดเก๋ที่ตะโกนบอกให้รีบแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เสื้อทั้งหมดนี้เย็บโดยชนเผ่าม้งบนดอยอินทนนท์ ออกแบบโดย โอ๊ต-สาริศา นวลศรี จาก SAVESTUDIOS แบรนด์ที่เกิดขึ้นมาเพื่อจัดการกับ Fast Fashion 

แรงบันดาลใจของคอลเลกชันนี้น่าสนใจมาก เริ่มจากโอ๊ตไปเจอว่าเชียงใหม่มีทรัพยากรในการทำงานฝีมือเยอะ จึงจุดประกายให้เธออยากทำอะไรร่วมกับคนที่นี่ เลยเริ่มตามหากลุ่มคนที่ทำงานปักตามดอยต่าง ๆ จนได้มาเจอกับชาวม้งที่ดอยอินทนนท์ หลังจากนั้นเธอจึงไปเลือกเสื้อวินเทจจากร้านมือสองมา 26 ตัว และไปซื้อด้ายที่นำมาย้อมสีจากดอกไม้โดยชาวกะเหรี่ยงที่ดอยอ่างขาง 

ยังไม่จบเพียงเท่านี้ โอ๊ตออกแบบลายปักเป็นคำว่า SAVESTUDIOS ให้ชาวม้งเป็นคนปัก ซึ่ง 1 ตัวใช้เวลาทำนานถึง 1 วัน (ที่แปลว่า ทั้ง 24 ชั่วโมง) เลยเชียว 

ใครอยากได้ ต้องรีบพุ่งตัวไปเอฟด่วน เพราะมีลายละ 1 ตัวเท่านั้น

#07

Triple Blazer from Morefiend

Material : สูทจากร้านมือสอง

ตามมาด้วยชุดคลุม ถ้าคุณคือสายแฟตัวจริง เราบอกเลยว่าของมันต้องมี เพราะตัวนี้คุ้มมาก ซื้อ 1 แต่ได้ถึง 3 ไม่ใช่โปรโมชัน แต่เป็นการเอาสูท 3 ตัวมาเย็บติดกันให้เป็นชุดยาว ตามชื่อรุ่น Triple Blazer ที่ แพรว-สุชา แย้มกลิ่น เจ้าของแบรนด์ Morefiend แนะนำเองเลยทีเดียว

Morefiend เป็นแบรนด์ขั้วตรงข้ามกับ Fast Fashion เพราะเสื้อผ้าทุกชิ้นมาจากการนำของมือสอง

มาตัดเย็บประกอบกันโดยคนที่หลงรักเอกลักษณ์เฉพาะของของเสื้อผ้ามือสอง ชอบไปเดินดูเสื้อผ้ามือสองที่ตลาด พลางนึกภาพในหัวไปด้วยว่าจะทำออกมาแบบไหน 

เราว่าคุณจะต้องโดนสักชุดในร้านนี้ตกอย่างแน่นอน เพราะเขาทำออกครอบคลุมทุกสไตล์ ชอบตัวไหน เชิญกดเข้า Wish List ก่อน แล้วรอปล่อยของในไลฟ์และโพสต์ที่จะมีเดือนละครั้ง

#08

“Zippy Tie” Bag from GROFE

Material : เนกไทจากร้านมือสอง

เพิ่มความเก๋กันด้วยกระเป๋าที่ทำมาจากเนกไทหลากสีสัน ถือปุ๊บ เก๋ปั๊บ จากแบรนด์ GROFE (โกรฟฟี่) โดย กอล์ฟ-ศุภกร บัวเรือน หนุ่มสายแฟชั่นอารมณ์ดีที่เหลือบไปเห็นเนกไทกองอยู่รวมกันในร้านขายของมือสอง แล้วอยากชุบชีวิตใหม่ให้น้อง ๆ

“Zippy Tie” Bag เกิดมาจากการเรียกร้องของลูกค้าที่อยากได้กระเป๋ามีซิป แต่จะให้ไปใส่ซิปในรุ่นก่อนหน้านี้ก็จะไม่สวย เลยทำทรงใหม่ขึ้นมารองรับ

วัยรุ่นต้องอดใจรอของเก๋สักเล็กน้อย เพราะกอล์ฟทำงานประจำ เลยต้องรอเวลาว่างไปเลือกเนกไทลายสวย ๆ จากหลายที่ แต่ถ้ารอไม่ไหวก็ไปพรีออร์เดอร์รุ่นสีดำคลาสสิกกันได้ที่เว็บไซต์ iwannabangkok.com

แน่นอนว่าแบรนด์ GROFE ไม่ได้หยุดเก๋เพียงแค่นำเนกไทมาอัปไซเคิลอย่างเดียว ยังเอากุญแจมาทำต่างหูอีกด้วย

ขอเชิญเหล่าวัยรุ่นไปรอเอฟกระเป๋าเนกไทใบนี้กันได้ (เปิดแจ้งเตือนรอไว้เลย เพราะเปิดขายปุ๊บก็หมดปั๊บ)

#09

APOLLO from Maddy Hopper

Material : ผ้าแคนวาสจากขวดพลาสติกในไทย และเศษยางพาราจากแผ่นรองเตียง

ไล่ลงมาจนถึงเท้า หากใครกำลังมองหารองเท้าที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน นุ่ม ใส่สบาย เข้ากับทุกชุด ที่สำคัญ ราคาจับต้องได้ เตรียมตัวกดใส่ตะกร้าได้เลย เพราะรองเท้าผ้าใบรุ่น APOLLO ของ Maddy Hopper ติ๊กถูกทุกข้อ

Maddy Hopper เกิดมาจากความตั้งใจของเหล่าผู้ก่อตั้งที่อยากทำรองเท้าที่ส่งผลเสียต่อโลกน้อยที่สุด เลยศึกษาไปทีละส่วน ส่วนแรก คือผ้าที่มาใช้ทำรองเท้า จนไปเจอว่ามีขวดพลาสติกรีไซเคิลที่เอาไปบดเป็นผงเล็ก ๆ แล้วเอามาทอเป็นผ้าแคนวาสได้ ส่วนที่ 2 คือแผ่นรองเท้าจากเศษเตียงยางพารา

“เวลาทำเตียงยางพารา เขาต้องหั่นแผ่นเตียงให้ได้ขนาดพอดีกับเตียง ซึ่งจะเหลือเศษเล็ก ๆ เราก็รวบรวม นำมาอัดเป็นแผ่นใหม่ แล้วนำมาทำเป็นแผ่นรอง” ชาญ สิทธิญาวณิชย์ หนึ่งในแก๊งผู้ก่อตั้งแบรนด์เล่าให้เราฟัง

เศษยางพารามีประโยชน์กว่าที่เราคิด เพราะมีคุณสมบัติคือแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ช้า ดังนั้น รองเท้าคู่นี้จึงช่วยลดการเกิดแบคทีเรียและช่วยซัพพอร์ตน้ำหนักเท้า เพราะทำมาจากวัสดุเดียวกับที่ใช้ทำเตียงนอน จึงนุ่มสบายแน่นอน

#10

OTIS UPCYDE from BRAVE SHOES

Material : หนังที่ทำมาจากเปลือกผลไม้เหลือทิ้

มาถึงของชิ้นสุดท้าย แน่นอนว่าต้องร้องว้าวให้กับรองเท้า OTIS UPCYDE ซึ่งทำมาจากเปลือกผลไม้ที่แปรรูปเป็นหนัง สีเขียวทำมาจากเปลือกมะนาว ส่วนสีขาวทำมาจากเปลือกกล้วย ของแบรนด์ BRAVE SHOES โดย ตะวัน-กฤดิพัชร เจริญชัยปิยกุล และ มาย การุณงามพรรณ

รองเท้ารุ่นนี้มีดีไซน์แตกต่างจากรองเท้าทั่วไป เพราะตะวันชอบความ Ugly Aesthetic ผสมกับความเป็น Futuristic แต่ยังสวมใส่ได้ในชีวิตจริง และในตอนนั้นเอง มายกำลังทำสตาร์ทอัพ UPCYDE ที่นำเปลือกผลไม้จากโรงงานผลไม้แปรรูปมาแปรรูปเป็นหนัง จึงจุดประกายให้นำวัสดุนี้มาทำ

ชื่อรองเท้ารุ่น OTIS เกิดจากความบังเอิญที่ตะวันอยากตั้งชื่อรองเท้าที่ขึ้นต้นด้วยตัว O ให้สอดคล้องกับหนังที่ตัดเป็นรูปวงรีอยู่กลางรองเท้า เธอก้มมองเท้าตัวเองก่อนจะขึ้นบันไดเลื่อน แล้วเหลือบไปเห็นชื่อ Otis ซึ่งเป็นชื่อแบรนด์ของบันไดเลื่อน

ใครอยากได้รองเท้าที่ทำให้คนเห็นแล้วต้องร้องว้าว ตามไปซื้อกันได้เลย (แนะนำว่าใส่ถุงเท้าสี ๆ ตัดกับสีรองเท้าก็คงน่ารักดี)

Writer

เกวลิน สรรพโรจน์พัฒนา

เกวลิน สรรพโรจน์พัฒนา

ติดกาแฟ ชอบแชร์เรื่องคน หลงรักเกาะเต่า ความฝันคือการเป็น Newyorker