21 มิถุนายน 2021
6 K

‘Maddy Hopper’ คือแบรนด์รองเท้าอายุครึ่งปี ก่อตั้งโดยบัณฑิตจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชาญ สิทธิญาวณิชย์ และ ป๊อบ-ภาคิน โรจนเวคิน สองเพื่อนซี้ตั้งแต่ชั้นประถม จากคอนเซปต์และคำถามว่า แบรนด์รองเท้ารักษ์โลกเป็นไปได้จริงหรือ 

แม้ไม่ได้เรียนจบทางด้านการออกแบบ หรือเชี่ยวชาญเรื่องงานดีไซน์เกี่ยวกับรองเท้ามาก่อน พวกเขาตั้งต้นด้วยภาพของธุรกิจในอุดมคติที่อยากจะเป็น ก่อนเดินทางเพื่อสืบเสาะลัดเลาะหาวัตถุดิบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นผ้าจากขวดพลาสติก หรือพื้นรองเท้าจากเศษยางเหลือใช้ในการผลิตเตียงยางพารา จนกลายมาเป็นรองเท้ารุ่นแรกของแบรนด์อย่าง Polly ที่ตอบโจทย์ทั้งคนชอบรองเท้าและคนใส่ใจสิ่งแวดล้อม

Maddy Hopper รองเท้าผ้าใบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ถุงไปรษณีย์ถึงเชือกรองเท้า

หยิบความตั้งใจในอดีตมาทำให้เป็นรูปเป็นร่าง

“เราทั้งสองคนเป็นเพื่อนกันตั้งแต่ ป.1 ชอบคุยกันเรื่องธุรกิจตั้งแต่ตอนเรียนมหาลัย มีโปรเจกต์ในหัวเต็มไปหมดแต่ไม่เคยเริ่มทำจริงจังสักที”

หลังจากเรียนจบสาขาการเงินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งชาญและป๊อปต่างแยกย้ายไปทำงานในสายที่ตัวเองถนัด จนถึงจังหวะหนึ่งที่ทั้งคู่ได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง เห็นตรงกันว่ายังไม่มีรองเท้าในแบบที่พวกเขาชอบในตลาด และทั้งคู่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เลยตั้งคำถามว่าจะทำรองเท้าที่ไม่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติได้หรือไม่ 

“เราเริ่มจากการคุยกันว่าอยากทำธุรกิจแบบไหน เราอยากเป็นแบรนด์แบบไหน เราอยากทำให้มันถูกต้อง อยากให้คนมาเห็นว่าแบบนี้ก็ทำได้นะ เรารับผิดชอบทั้งลูกค้า ทั้ง Supplier และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เราทำให้ทุกคนแฮปปี้และดีกับโลก”

Maddy Hopper รองเท้าผ้าใบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ถุงไปรษณีย์ถึงเชือกรองเท้า

การทำ Maddy Hopper จึงไม่ใช่การสร้างรายได้ให้ธุรกิจขึ้นมาอย่างเดียว ขณะเดียวกัน ลูกค้า ช่างเย็บรองเท้า โรงงานที่ขึ้นรูปรองเท้าและคู่ค้าอื่นๆ ต้องพัฒนา ทดลองทำสิ่งใหม่ไปพร้อมกัน รวมไปถึงการแบ่งปันเทคนิคและร่วมกันต่อยอดไอเดียให้เป็นรูปเป็นร่าง 

ทั้งสองคนใช้เวลากว่า 1 ปีในการก่อร่างธุรกิจ ทุ่มทั้งเวลาและแรงกายแรงใจในการทดลอง ทดสอบ เก็บข้อมูล และพัฒนาสินค้าต้นแบบ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่ทำขึ้นมานั้นตรงตามที่พวกเขาอยากให้เป็นจริง ๆ อาศัยการที่ทั้งคู่ไม่ได้มีความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์มาเป็นสนามทดลองแบบไร้ขีดจำกัด 

“เราถือว่าเราไม่ได้มีความรู้มาก่อน เพราะฉะนั้น เราจะมี Fresh Mind ว่าการที่คนอื่นทำแบบนี้มา เราต้องทำตาม เราเลยเริ่มจากความใหม่หมดเลย เราตั้งคำถามว่าทำไมต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แล้วก็เปลี่ยนไปตามที่เราต้องการ”

Maddy Hopper รองเท้าผ้าใบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ถุงไปรษณีย์ถึงเชือกรองเท้า

ผลิตให้ทุกคนได้ใช้

ที่มาของคอนเซปต์รักษ์โลกมาจากความใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อมของทั้งชาญและป๊อบ 

ป๊อบในวัยเด็กคลุกคลีอยู่กับการเดินป่า ดำน้ำ ขับ Off Road 

ส่วนชาญซึบซับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมจากสภาพแวดล้อมรอบตัวที่แย่ลงทุกวัน 

เมื่อเอาความสนใจของทั้งคู่มารวมกัน จึงเกิดคอนเซปต์รองเท้ารักษ์โลกที่ไม่ได้มุ่งขายแค่เฉพาะกับคนรักษ์โลกกลุ่มเดียว 

“เราอยากให้ซื้อเพราะสินค้าตอบโจทย์เรื่องรองเท้าด้วย ถ้าซื้อไปเพราะอยากสนับสนุนแบรนด์รักษ์โลก แต่ไม่ได้ใส่รองเท้าก็ไม่เกิดผลอะไรอยู่ดี เราอยากให้ซื้อไปแล้วได้ใช้จริงๆ โจทย์ของเราคือ For People, For the Planet คนที่สนใจและมีอุดมคติแบบเรานั่นแหละคือทาร์เก็ตของเรา”

Maddy Hopper รองเท้าผ้าใบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ถุงไปรษณีย์ถึงเชือกรองเท้า

การเสาะหาวัตถุดิบไกลตัว

เมื่อมีคอนเซปต์ มีที่มา และความตั้งใจชัดเจน วิธีการจึงค่อยๆ ตามมาเรื่อยๆ การขาดความรู้เฉพาะทางเป็นเรื่องยากในการเริ่มต้น ขณะเดียวกันความไม่รู้ก็เป็นเหมือนแรงพลังมหาศาลที่ทำให้กล้าตั้งคำถามกับดีไซน์เดิมๆ ตั้งแต่รองเท้าแต่ละข้างมีส่วนประกอบอะไรบ้าง ตัวรองเท้า เชือก พื้นรองเท้า วิธีการตัดเย็บ ช่างทำรองเท้า โรงงานที่รับผลิต 

ทั้งคู่ยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่างฝีมือและวัสดุหายากที่สุด

Maddy Hopper รองเท้าผ้าใบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ถุงไปรษณีย์ถึงเชือกรองเท้า

“คนตัดเย็บมีอยู่น้อย งานเนี้ยบในแบบที่เราต้องการ MOQ (Minimum Order Quantity) ไม่เยอะมาก เราอยากได้แบบ Sustainable ด้วย อยากได้แบบแฮนด์เมดด้วย เราจะไม่ใช้โรงงานเพราะมี Carbon Footprint เยอะ จากที่มีตัวเลือกน้อยอยู่แล้วก็น้อยลงไปอีก

“วัสดุก็หายากไม่แพ้กัน ผ้าที่ทำมาจากพลาสติกไม่ได้ซื้อได้ทั่วไป เราก็ค่อยๆ ไขทีละส่วน พอถึงส่วนที่เป็นแผ่นรองในระดับโรงงานเขาจะใช้โฟมหรือตัวพื้นรองเท้า Insole ข้างล่าง ที่ทำมาจากเศษเตียงยางพารา ในอุตสาหกรรมรองเท้าก็ไม่มีใครใช้กัน ฟองน้ำหรือพลาสติกไม่รักษ์โลก แต่ถ้าเป็นฝั่งที่รักษ์โลกก็เป็นคอร์กที่แข็งมากใส่ไม่ไหว มันเลยเหลือแค่ยางพาราที่พอจะไปได้ เราก็ไปหาโรงงานทำฟูกที่ไม่ได้เกี่ยวกับการทำรองเท้าเลย ไปคุยกับเขาว่า ถ้าผมจะเอายางมาทำแบบนี้ได้ไหม เขาก็งงอยู่นะ ก็ต้องลองซื้อของเขามาลองเหยียบกันดู”

แบรนด์รองเท้าจากวัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทบทุกส่วน ของสองเพื่อนซี้ที่อยากให้รองเท้ารักษ์โลกได้

ทุกส่วนของรองเท้าตั้งแต่กล่องจนถึงพื้นข้างใน

การดีไซน์เน้นความเรียบง่ายรองของเท้า ซ่อนดีเทลเล็กๆ น้อยๆ สื่อถึงความใส่ใจทั้งต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อมไว้มากมาย 

มาดูกันว่า รองเท้า Madder Hopper หนึ่งคู่ที่ส่งถึงมือลูกค้า มีส่วนประกอบอะไรบ้าง

แบรนด์รองเท้าจากวัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทบทุกส่วน ของสองเพื่อนซี้ที่อยากให้รองเท้ารักษ์โลกได้

แพ็กเกจจิ้ง

  • ซองไปรษณีย์พลาสติกพิมพ์ชื่อแบรนด์ Maddy Hopper ที่ห่อหุ้มของข้างใน แม้จะดูคล้ายถุงพลาสติก แต่จริงๆ แล้วทำมาจากมันสำปะหลังและข้าวโพด ย่อยสลายได้ภายใน 180 วัน ใช้กรรมวิธีการซีลถุงแทนการติดเทปพลาสติก 
  • เปิดออกมาเจอถุงกระดาษทำหน้าที่ปกป้องรองเท้าจากสิ่งสกปรก ทำมาจากกระดาษเคลือบ กันน้ำและย่อยสลายได้ นำไปใช้ซ้ำ ใส่ของ ใช้เป็นถุงช้อปปิ้งหรือนำไปปลูกต้นไม้ ปิดถุงด้วยกระดาษและรัดด้วยหนังยาง ซึ่งแน่นอนว่าเอาไปใช้ต่อได้เช่นกัน
  • ถัดเข้ามาคือกล่องใส่รองเท้า เปลี่ยนจากกล่องเต็มใบเป็นกล่องครึ่งใบดีไซน์แปลกตา ใช้กระดาษน้อยลงแต่ยังคงปกป้องรองเท้าให้ไม่เสียรูป นำไปใช้ต่อได้ ไม่ว่าจะห้อยที่ข้างผนังไว้ใส่ของใช้กระจุกกระจิก หรือห้อยกระถางต้นไม้ไซส์เล็กน่ารัก
แบรนด์รองเท้าจากวัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทบทุกส่วน ของสองเพื่อนซี้ที่อยากให้รองเท้ารักษ์โลกได้

รองเท้า

  • รองเท้าและเชือกผูกรองเท้าทำด้วยผ้าจากขวดพลาสติก rPET หรือ Recycled Polyethylene Terephthalate 
  • พื้นรองเท้าหรือ Insole ทำมาจากเศษยางพาราเหลือใช้จากอุตสาหกรรมทำที่นอนยางพารา นำมาอัดขึ้นรูปเป็นแผ่นรองเท้าที่หนานุ่ม ใส่สบายไม่เมื่อยเท้า
  • ใช้วิธีการเย็บด้วยมือแทนการอบกาว เพื่อลด Carbon Footprint ที่เกิดจากการอบ ดีไซน์ภายนอกมองเห็นรอยเย็บที่ประณีต แตกต่างจากรองเท้าทั่วไป
  • รองเท้าทุกคู่มาพร้อมแผ่นกันกัดซิลิโคน สำหรับช่วงแรกที่ผู้ใช้ยังไม่คุ้นชินกับรองเท้า เหตุที่ทีมเลือกซิลิโคน เนื่องจากซิลิโคนทำมาจากธาตุซิลิคอน แหล่งที่มาของซิลิคอนคือทราย เป็นมิตรกับเท้าและเป็นมิตรกับโลก
  • ดีเทลเล็กๆ ที่ออกแบบขึ้นให้สื่อถึงแบรนด์คือ ตัวอักษร m และ h ที่ปักอยู่ด้านหลังของรองเท้า ทำให้รองเท้ายังคงมีเอกลักษณ์ แต่ยังคงคอนเซปต์เรียบง่าย ใส่ได้ทุกโอกาส

นอกจากนี้ เรื่องบรรจุภัณฑ์ที่ใส่รองเท้าส่งจากโรงงานมาให้แบรนด์ก็ผ่านกระบวนการคิดอย่างดี จากที่เคยใช้ถุงพลาสติกใส่รองเท้าแยกเป็นคู่ๆ พอล็อตใหม่ก็ใส่ถุงใหม่ส่งมาอีก 

Maddy Hopper ตัดสินใจทำกล่องกระดาษขึ้นมาเพื่อใช้ในการส่งรองเท้าจากโรงงานโดยเฉพาะ ส่งมาครั้งนี้เสร็จแล้ว แบรนด์จะส่งกล่องกลับไปสำหรับล็อตหน้า ใช้ซ้ำอย่างนี้เพื่อลดถุงพลาสติกได้อีกจำนวนมาก

แบรนด์รองเท้าจากวัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทบทุกส่วน ของสองเพื่อนซี้ที่อยากให้รองเท้ารักษ์โลกได้

เรื่องที่ (เกือบจะ) เหนือความคาดหมาย

ไอเดียของ Maddy Hopper เกิดขึ้นก่อน COVID-19 แต่เริ่มขายในช่วงวิกฤต แม้จะไม่ใช่เวลาที่ดีในการเริ่มต้นธุรกิจสักเท่าไหร่ แต่พวกเขาถือคติ ‘เริ่มก่อน รู้ก่อน’ 

แม้จะเรียนจบทางด้านธุรกิจมาโดยตรง แต่ทั้งชาญและป๊อบกลับให้นิยามตัวของพวกเขาเองว่าเป็น ‘คนฟุ้งๆ’ ไม่ได้ทำตามตำราร้อยเปอร์เซ็นต์ อาศัยความรู้ที่ได้จากการเรียนมาช่วยในการเริ่มแผนธุรกิจไปจนถึงความคุ้มค่าในการลงทุน ในทางทฤษฎี สิ่งที่พวกเขาทำแทบจะเป็นขั้วตรงข้ามกับเนื้อหาในตำราชั้นเรียนธุรกิจ แต่พวกเขารู้ว่าคุณค่าของแบรนด์นี้อยู่ที่อะไร

“ถ้าคิดต้นทุนของสินค้าและแพ็กเกจจิ้งมันแพงกว่าปกติประมาณสามถึงสี่เท่า แต่มันคือ Core Value ของเรา เราถึงยอมจ่าย ผิดกับที่เราเรียนมาซึ่งต้อง Maximize Profits และ Minimize Cost แต่ไม่เป็นไร เพราะเรายังมีอีกแกนหนึ่งที่สนใจ” 

แบรนด์รองเท้าจากวัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทบทุกส่วน ของสองเพื่อนซี้ที่อยากให้รองเท้ารักษ์โลกได้
แบรนด์รองเท้าจากวัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทบทุกส่วน ของสองเพื่อนซี้ที่อยากให้รองเท้ารักษ์โลกได้

Listening is the Key

การฟังและใช้เหตุผล คือคำตอบของทั้งคู่เมื่อเราถามว่าคิดอย่างไรกับคำกล่าว ‘ห้ามทำธุรกิจกับเพื่อนสนิท’ 

ชาญตอบว่า “สมมติว่าอันนี้คือสิ่งที่ผมต้องการ ผมก็ต้องหาข้อเสียของมันด้วย ไม่ใช่ต้องการแบบนี้แล้วหาแต่ข้อดี อีกคนก็จะหาแค่ข้อเสีย ผมต้องหาข้อเสีย เขาก็ต้องหาข้อดี แล้วมาแลกเปลี่ยน เลยกลายเป็นการช่วยกันคิดมากกว่า” 

การเป็นเพื่อนกันตั้งแต่ประถม 1 จนถึงจบปี 4 ช่วยให้ทั้งคู่รู้ทั้งนิสัยใจคอและสไตล์การทำงานของกันและกัน 

“ผมและชาญไม่ได้ทำงานแบบนี้ด้วยกันเป็นครั้งแรก เราเคยทำ TED Talks ด้วยกัน ทำละครคณะด้วยกัน อยู่ตำแหน่งเดียวกันตลอด ไม่ได้มีใครสั่งงานใคร จากประสบการณ์ทำให้เรารู้ว่าเราทำงานกับคนนี้ได้” ป๊อบเสริม

ทั้งคู่เลือกดูแลทุกกระบวนการของธุรกิจด้วยตัวเอง เพื่อให้รู้และเข้าใจทุกกระบวนการอย่างแท้จริง ตั้งแต่การทำโปรโตไทป์รองเท้าไปจนถึงรับตำแหน่งไรเดอร์ส่งของให้กับลูกค้าเองด้วย 

“หนึ่งอย่างที่เราเชื่อเหมือนกันคือ เจ้าของแบรนด์ควรรู้ทุก Process เพื่อที่จะได้รู้ว่าควรพัฒนายังไงต่อ ถ้าในอนาคตมีคนในทีมเข้ามาเพิ่ม เราจะบอกเขาได้ว่า ทำอันนี้เสร็จแล้วต่อด้วยอันนี้ เราต้องกระโดดลงไปในน้ำก่อน แล้วค่อยให้คนอื่นกระโดดตาม”

แบรนด์รองเท้าจากวัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทบทุกส่วน ของสองเพื่อนซี้ที่อยากให้รองเท้ารักษ์โลกได้

ทิศทางและภาพฝัน

3 สิ่งที่ชาญและป๊อบปักธงไว้สำหรับแบรนด์ Maddy Hopper คือ หนึ่ง ทำให้แบรนด์ตอบโจทย์ทุกความต้องการด้วยการการพัฒนาโปรดักต์เก่า เพิ่มโปรดักต์ไลน์ใหม่ และพาแบรนด์ไปสู่ระดับสากล 

สอง คือ การพัฒนาความยั่งยืนให้เป็นเรื่องจับต้องได้ เห็นผลเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ทั้งในเรื่อง Sustainability และ Zero Waste และสาม คือ การพัฒนาคน 

เรื่องราวของพวกเขาก็เหมือนกับที่มาของชื่อแบรนด์

Mad คือความบ้าคลั่ง ความโกรธ ที่เห็นอยู่รอบๆ ตัว ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัว เรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหามลภาวะ การเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ

Hop คือ การกระโดด

Maddy Hopper จึงเป็นการสะท้อนชีวิตของคนรุ่นใหม่ไปพร้อมกันๆ ให้คนใส่รองเท้าของพวกเขาแล้วออกไปผจญภัย ท้าทายกับเรื่องวุ่นๆ หรือ ‘Hop around doing mad things’ นั่นเอง

แบรนด์รองเท้าจากวัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทบทุกส่วน ของสองเพื่อนซี้ที่อยากให้รองเท้ารักษ์โลกได้

Lessons Learned

  • เทคนิคการทำงานหรือทำธุรกิจกับเพื่อน คือการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ลดอีโก้ที่คิดว่าตัวเองต้องถูกกว่าอีกฝ่ายเสมอไป ดึงจุดแข็งของแต่ละคนมาพัฒนาให้เป็นจุดแข็งของธุรกิจ
  • ดีแล้วและยังดีได้อีก พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นได้โดยไม่ทิ้ง Core Value ที่เป็นหัวใจสำคัญ 
  • Test and Learn เรียนรู้ควบคู่ไปกับการพัฒนา อย่ากลัวที่จะลองในสิ่งที่ไม่รู้ เพราะคำตอบที่ได้มาอาจทำให้เห็นมิติของความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นอีกมากมาย

Writer

Avatar

แคทรียา มาลาศรี

คนทักผิดตลอดชีวิตว่าเป็นนักร้องดัง รักการกินผักและรักเนื้อพอๆ กับผัก เกิดที่อีสาน เรียนที่ภาคกลางและหลงทางที่เชียงใหม่

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน