กาลครั้งหนึ่ง ตึกขาวสูง 4 ชั้น หรือ ‘โรงพยาบาลตรังชาตะ’ แห่งนี้ เคยเป็นโรงพยาบาลเก่าแก่ในจังหวัดตรังที่คนกว่าครึ่งจังหวัดต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ฉันเกิดที่นี่” 

จาก รพ.ตรังชาตะ สถานพยาบาลที่ทิ้งร้างนับสิบปี สู่พื้นที่สร้างสรรค์แรกของเมืองตรังใน PTDW 2023

ทว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป โรงพยาบาลตรังชาตะถูกย้ายไปตั้งที่อื่น เพื่อเปลี่ยนแปลงให้ดูใหม่ ทันสมัย และปลอดภัยกว่าแต่ก่อน ส่วนพื้นที่ตึกเก่ากลายเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวตระกูลเชาวน์ชูเวชช ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลแห่งนี้นั่นเอง

ครอบครัวเชาวน์ชูเวชชอาศัยอยู่ที่ชั้น 2 – 4 ส่วนชั้นล่างสุดปล่อยไว้เป็นพื้นที่เก็บของ

และนั่นคือเรื่องราวเริ่มต้นของภารกิจปัดฝุ่นโรงพยาบาลเก่าแก่ในตรังที่ถูกทิ้งร้างให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์แห่งแรกของจังหวัด ซึ่งต่อยอดมาจาก Pakk Taii Design Week 2023 หรือ เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566 โดยจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 – 20 สิงหาคม พ.ศ. 2566 

จาก รพ.ตรังชาตะ สถานพยาบาลที่ทิ้งร้างนับสิบปี สู่พื้นที่สร้างสรรค์แรกของเมืองตรังใน PTDW 2023

ผู้มีส่วนสำคัญในภารกิจฟื้นชีิวิตให้โรงพยาบาลเก่าแห่งนี้ คือ กุ๊กไก่-มนัสนันท์ ทวีวรสุวรรณ

เจ้าของแบรนด์ SarnSard สานสาด หัตถกรรมจักสานที่เธอทำร่วมกับคนรัก เธอได้รับการเชิญชวนจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ให้ไปร่วมจัดงานเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ประจำปี 2023 ระหว่างสำรวจพื้นที่สำหรับทำงาน เธอสะดุดตากับเจ้าตึกร้างสีขาว ด้วยหน้าตาและโครงสร้างสวยงาม รวมถึงสภาพแวดล้อมรอบข้างอย่างโบสถ์และคลองท่าจีน

และแล้วเรื่องราวการบูรณะโรงพยาบาลตรังชาตะให้กลายเป็นพื้นที่ศิลปะจึงเริ่มต้นขึ้น 

จาก รพ.ตรังชาตะ สถานพยาบาลที่ทิ้งร้างนับสิบปี สู่พื้นที่สร้างสรรค์แรกของเมืองตรังใน PTDW 2023

ชาตะศิลปะ

CEA ติดต่อสานสาดให้เข้าร่วมงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีก เนื่องจากเห็นศักยภาพและความงามของเมืองตรัง หลังจากนั้นจึงเกิดเป็นเทศกาลย่อยชื่อว่า ‘เถตรัง’ (the-Trang) ที่จะช่วยนำพาความงามและวัฒนธรรมของเมืองมาใกล้ชิดสู่ผู้คนยิ่งขึ้น 

“เราว่าเมืองตรังดังแค่เรื่องอาหาร หรือเวลาคนมาเที่ยว เขาก็ไปออกนอกเมืองไปทะเล แต่จริง ๆ ในตัวเมืองก็มีวัฒนธรรมที่โดดเด่นและมีเสน่ห์ จึงน่าเศร้าที่ไม่มีคอมมูนิตี้ ไม่มีพื้นที่แสดงศิลปะเลย เวลาน้อง ๆ นักสร้างสรรค์อยากจัดพื้นที่แสดงงานหรือจัดเวิร์กช็อป พวกเขาต้องไปทำที่พัทลุงบ้าง หาดใหญ่บ้าง เลยเกิดคำถามในใจว่าทำไมเราไม่สร้างเองในตรังเลยล่ะ” 

หลังจากความคิดข้างบนกระตุ้นกุ๊กไก่ให้ลุกขึ้นมาสร้างอะไรสักอย่าง เธอก็ไม่รอช้า ริเริ่มไอเดียการบูรณะโรงพยาบาลอย่างมุ่งมั่น

ต้องเท้าความก่อนว่าผู้ร่วมจัดเทศกาลเถตรังและผู้บูรณะโรงพยาบาลไม่ได้มีเพียงแค่สานสาดกับโรงพยาบาลตรังชาตะเท่านั้น ยังมีนักออกแบบและนักสร้างสรรค์อีกหลายกลุ่มที่เข้ามามีส่วนช่วย โดยนักสร้างสรรค์เหล่านี้ เรียกตัวเองว่า กลุ่ม ‘หัว Born’

“ตอนแรกก็คิดนะว่าจะตั้งชื่อกลุ่มว่าอะไรดี แต่พวกเรามีความเชื่อว่าสารอาหารส่วนมากของผัก ผลไม้อยู่ที่หัวหมดเลย ทั้งเผือก แคร์รอต บีตรูต บวกกับคำว่า Born ที่แปลว่าเกิด ซึ่งสอดคล้องกับคำว่า ชาตะ ของโรงพยาบาลพอดี พอเอามารวมกัน กลายเป็น หัว Born ก็เกิดความหมายใหม่ เพราะถ้าเป็นภาษาใต้ แปลว่า เผือก สื่อถึงคนที่คันไม้คันมือ อยากลงมือทำอะไรสักอย่าง”

จาก รพ.ตรังชาตะ สถานพยาบาลที่ทิ้งร้างนับสิบปี สู่พื้นที่สร้างสรรค์แรกของเมืองตรังใน PTDW 2023

หลังจากที่สมาชิกกลุ่มหัว Born ลงตัว สานสาดซึ่งเรียกได้ว่าเป็นที่ปรึกษาหลักของโครงการก็เดินหน้าติดต่อเจ้าของตึกทันที 

นอกเหนือจากจังหวะเวลาอันเหมาะเจาะที่พากุ๊กไก่กับโรงพยาบาลมาพบกัน โลกกลม ๆ ใบนี้ยังช่วยให้เธอได้ติดต่อกับเจ้าของตึกอย่างง่ายดายยิ่งขึ้น เพราะเธอเผอิญรู้จักกับคนใกล้ชิดของเจ้าของตึกเป็นการส่วนตัวมาก่อน การเริ่มต้นเจรจาจึงเป็นไปอย่างราบรื่น 

จาก รพ.ตรังชาตะ สถานพยาบาลที่ทิ้งร้างนับสิบปี สู่พื้นที่สร้างสรรค์แรกของเมืองตรังใน PTDW 2023

กุ๊กไก่มีโอกาสพูดคุยกับ นายแพทย์วรพงศ์ เชาว์ชูเวชช หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พี่หมอ หลังจากเริ่มเจรจา ทุกอย่างก็ดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น เพราะพี่หมอและครอบครัวให้ความร่วมมือในการบูรณะครั้งนี้เป็นอย่างดี

“พอบอกว่าอยากทำเป็นพื้นที่สำหรับศิลปะปุ๊บ พี่หมอก็สนใจเลย เขาอยากได้คนมาพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นสิ่งสร้างสรรค์อยู่แล้ว เขาบอกว่าจะทำอะไรก็ทำเลย (หัวเราะ) แล้วเขาก็มาช่วยดูบางส่วนของตึก เช่น บันไดตรงนี้ต้องซ่อมมั้ย พื้นตรงนี้ต้องยังไง ที่เหลือเราก็ออกแบบและจัดการได้เลย”

นับว่าเป็นความโชคดีก็ว่าได้ที่เธอได้เจอครอบครัวที่น่ารักและพร้อมจะร่วมมือพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นมากกว่าบ้าน

ชาตะอีกครั้ง

“เริ่มจากอะไรก่อนดี” กุ๊กไก่คิดในใจเมื่อถึงคราต้องชาตะที่แห่งนี้อีกครั้ง 

เธอเล่าให้เราฟังว่าโรงพยาบาลแห่งนี้เคยมีทางเข้าหลักที่ปิดตายด้วยการเอาปูนมาโบกทับไปแล้ว แต่เธอและทีมงานอยากให้ทางเข้านั้นกลับมาเป็นจุดเริ่มแรกของโรงพยาบาลอีกครั้ง

“เราบอกทางตรังชาตะว่าขอกลับมาใช้ตรงนี้เป็นทางเข้าหลักได้ไหม ช่วยทุบให้หน่อย หนึ่ง คืออยากได้เป็นประตูกว้าง ๆ พร้อมต้อนรับทุกคน สอง คืออยากให้ทุกคนที่เข้ามานึกถึงวันวานว่าเมื่อก่อนถ้าจะเข้าโรงพยาบาลก็ต้องเดินเข้าทางประตูนี้แหละ อยากพาทุกคนกลับไปถึงความทรงจำนั้นอีกครั้ง”

จาก รพ.ตรังชาตะ สถานพยาบาลที่ทิ้งร้างนับสิบปี สู่พื้นที่สร้างสรรค์แรกของเมืองตรังใน PTDW 2023

“อีกหนึ่งอย่างที่อยากเล่า คือเนื่องจากที่นี่เป็นโรงพยาบาลเก่าแก่ ทุกคนรู้จักหมอทำคลอดที่ชื่อว่า แม่จีน ขนาดแม่เรายังถามเลยว่าแม่จีนยังแข็งแรงอยู่มั้ย เนื่องจากเขาเป็นหมอทำคลอดคนแรกต่อจากรุ่นหมอตำแย เรียกว่าเป็นต้นตระกูลของโรงพยาบาลตรังชาตะได้เลย

“ทุกวันนี้เขาก็ยังอยู่ ยังแข็งแรงดี” กุ๊กไก่เล่าด้วยรอยยิ้ม

หลังจากทุบประตูทางเข้าเก่าให้เปิดโล่งอีกครั้ง ก็มาถึงขั้นตอนการจัดสรรพื้นที่ ทว่าแม้ตึกจะร้างและเก่าแก่ แต่เธอกลับบอกว่าสิ่งเหล่านั้นมิใช่ปัญหาแต่อย่างใด

“จริง ๆ การทำงานที่นี่ง่ายมากเลย เพราะสถาปัตยกรรมเดิมสวยอยู่แล้ว แถมโครงสร้างตึกก็แข็งแรงมาก ๆ แข็งแรงกว่าบ้านใหม่ ๆ อีก เราจึงไม่ได้ยุ่งกับโครงสร้างหลัก เพราะคนในตระกูลตรังชาตะเขายังอาศัยอยู่ เขาทำนุบำรุงและดูแลดีอยู่แล้ว เราแค่เคลียร์พื้นที่ให้กว้าง ทำความสะอาด และโชว์ความสวยงามของมัน

“เนื่องจากเป็นโรงพยาบาล ก็จะมีห้องซอย ๆ ค่อนข้างเยอะ เราเลือกเอาตรงนั้นออกให้หมด จะได้เป็นพื้นที่โล่งกว้างแทน ส่วนเรื่องพื้น ตอนแรกเป็นพื้นไม้ แต่เราห่วงเรื่องความปลอดภัย กลัวพังแล้วคนจะตกลงไป เลยเอาพื้นไม้ออก กลายเป็นปูนเปลือย ซึ่งก็สวยไปอีกแบบ”

เธอเล่าเพิ่มเติมว่าการใช้พื้นที่เป็นปูนเปลือยช่วยทำให้คนที่เข้ามานึกถึงสมัยที่โรงพยาบาลเกิดขึ้นใหม่ ๆ แล้วพอได้แทรกความทรงจำเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ คนที่มาชมก็จะซึมซับความเป็นศิลปะได้ง่ายขึ้น

จาก รพ.ตรังชาตะ สถานพยาบาลที่ทิ้งร้างนับสิบปี สู่พื้นที่สร้างสรรค์แรกของเมืองตรังใน PTDW 2023

ชาตะเถตรัง

หากก้าวเท้าเข้ามาในงานเถตรัง ปักษ์ใต้ดีไซน์วีก คุณคงได้พบกับโรงพยาบาลตรังชาตะในรูปแบบใหม่ เช่นเดียวกับที่เรากำลังเห็นอยู่ กุ๊กไก่เป็นผู้นำทัวร์ในวันนี้ เธออธิบายให้เราฟังระหว่างพาเดินไปตามโซนต่าง ๆ 

วันนี้ตึกขาวเรียบ ๆ กลับดูมีอะไรขึ้นมา เพราะเรารับรู้ได้ถึงพลังอันแรงกล้าของนักสร้างสรรค์ผ่านสถาปัตยกรรมเก่าแก่แห่งนี้

“ที่นี่แบ่งเป็นหลายโซนมาก ๆ ถ้าตั้งแต่ทางเข้าก็จะมีส่วน Design Store ขายของนักออกแบบจากจังหวัดตรัง และของที่ระลึกจากกลุ่มหัว Born นอกจากนี้ก็จะมีห้องสำหรับจัดเวิร์กช็อปหรือจัดทอล์กด้วย”

จาก รพ.ตรังชาตะ สถานพยาบาลที่ทิ้งร้างนับสิบปี สู่พื้นที่สร้างสรรค์แรกของเมืองตรังใน PTDW 2023

เดินต่อไป พื้นที่ตรงกลางแบ่งเป็นโซนวัสดุท้องถิ่น ทั้งลูกปัดมโนราห์ ก้านจาก เตยปาหนัน และอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่เราจะได้ทำรู้จักกับจังหวัดตรังมากขึ้นผ่านวัสดุเหล่านี้ 

ในพื้นที่ใกล้ ๆ กัน จะพบกับนิทรรศการเกี่ยวกับตรังชาตะ เล่าเรื่องราวและประวัติอันน่าสนใจของโรงพยาบาล อีกทั้งยังเปิดเผยรูปเก่า ๆ ที่พบเห็นไม่ได้ง่าย ๆ

 ห้องริมซ้ายสุดเป็นห้องของนักออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น PlanToys แบรนด์ผลิตของเล่นไม้ยางชื่อดัง หรือ Matu Gallery ที่มาพร้อมงานเพนต์ภาพศิลปะบำบัด ต่อด้วยท้องมังกร สตูดิโอ ที่ทำร่วมกับนักเรียนโรงเรียนวัดทุ่งหวังในการประดิษฐ์ลูกยางให้กลับมามีสีสันอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงแบรนด์สานสาดของกุ๊กไก่เองก็จะอยู่ในโซนนี้เช่นเดียวกัน 

ที่เล่าไปเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบรรดานักสร้างสรรค์เท่านั้น เพราะในพื้นที่นี้ ยังมีอีกหลาย ๆ แบรนด์ที่สร้างผลงานด้วยแพสชันอันเปี่ยมล้นจนเราเองก็สัมผัสได้

จาก รพ.ตรังชาตะ สถานพยาบาลที่ทิ้งร้างนับสิบปี สู่พื้นที่สร้างสรรค์แรกของเมืองตรังใน PTDW 2023
จาก รพ.ตรังชาตะ สถานพยาบาลที่ทิ้งร้างนับสิบปี สู่พื้นที่สร้างสรรค์แรกของเมืองตรังใน PTDW 2023

“ในเรื่องของการตกแต่ง เราพยายามเอางานศิลปวัฒนธรรมตรังเข้ามาช่วย เช่น ลูกลม เป็นเสาที่พอโดนลมแล้วจะมีเสียง คนท้องถิ่นมีความเชื่อว่า ถ้าเอาเสาลูกลมปักกลางนาจะไล่นก ไล่กา ไล่สิ่งชั่วร้ายได้ เรายังไม่เคยเห็นใครเอาลูกลมมาโชว์เลย แต่งานนี้จะเป็นงานแรกที่เอาลูกลมมาไว้ในเทศกาล

“พอเราใช้วัสดุท้องถิ่นเข้ามาช่วย ก็เหมือนเราเป็นตัวกลางในการช่วยแสดงศักยภาพ ความคิด และไอเดียของคนที่นี่ผ่านพื้นที่แห่งนี้”

ภารกิจปัดฝุ่น ‘ตรังชาตะ’ โรงพยาบาลเก่าแก่ในตรังที่ถูกทิ้งร้าง ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566

ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะหากเดินขึ้นไปชั้น 2 คุณจะพบกับห้องกระจกที่มาพร้อมคอนเซปต์ Zodiac Pouring Art หรืองานศิลปะ 12 ราศีที่ล้อกับกิมมิกการเกิด และยังมีงานน่าสนใจอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่อยากให้ทุกคนลองมาชมด้วยตนเอง

“เราไม่ได้ทำอะไรกับสถานที่แห่งนี้มาก เพราะมันสวยงามอยู่แล้ว พอเรามาทำเป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะแบบสาธารณะ ก็เหมือนกลายเป็นพื้นที่ย้อนวันวานของคนที่นี่ด้วย”

เมื่อเดินจบจนครบทุกส่วน เราไม่แปลกใจเลยว่าทำไมกุ๊กไก่ถึงเลือกโรงพยาบาลตรังชาตะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ศิลปะ เพราะการจัดสรรพื้นที่อันชาญฉลาด บวกกับความสวยงามดั้งเดิมของตัวตึก ทำให้เราเพลิดเพลินไปกับการเดินอย่างบอกไม่ถูก

ภารกิจปัดฝุ่น ‘ตรังชาตะ’ โรงพยาบาลเก่าแก่ในตรังที่ถูกทิ้งร้าง ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566
ภารกิจปัดฝุ่น ‘ตรังชาตะ’ โรงพยาบาลเก่าแก่ในตรังที่ถูกทิ้งร้าง ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566

ชาตะอารยธรรม

แน่นอนว่าการสร้างพื้นที่ศิลปะครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การปรับเปลี่ยนพื้นที่จากเก่าเป็นใหม่ แต่ยังสร้างแรงขับเคลื่อนให้กับสังคมและชุมชนศิลปะ

กุ๊กไก่เล่าให้เราฟังว่างานเถตรังที่สร้างโดยน้ำพักน้ำแรงของนักสร้างสรรค์นั้น นอกจากเป็นการประกาศให้คนนอกรู้ว่านักสร้างสรรค์ตรังและเมืองตรังมีดีอะไร ยังเป็นการเสริมสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘อารยธรรม’ จากรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย

ภารกิจปัดฝุ่น ‘ตรังชาตะ’ โรงพยาบาลเก่าแก่ในตรังที่ถูกทิ้งร้าง ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566
ภารกิจปัดฝุ่น ‘ตรังชาตะ’ โรงพยาบาลเก่าแก่ในตรังที่ถูกทิ้งร้าง ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566

“ที่นี่มีวัฒนธรรมผสมผสานมากมาย แต่เราว่าวัฒนธรรมจะส่งต่อได้ต้องเริ่มจากการมีตัวเชื่อมที่ดีก่อน ซึ่งงานศิลปะนี่แหละคือตัวเชื่อมที่ดีในการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

“ยกตัวอย่างงานผ้าไทยหรืองานจักสาน อาจฟังดูโบราณ เด็กรุ่นใหม่อาจเข้าไม่ถึง แต่ถ้าเราผสานความคิดสร้างสรรค์คู่กับการใช้วัฒนธรรมท้องถิ่น ทุกคนก็จะซึมซับไปเองจนกลายเป็นอารยธรรม ซึ่งสำหรับเรา อารยธรรมมันยิ่งกว่าวัฒนธรรมนะ มันคือการที่คนตัวเล็ก ๆ มารวมตัวกัน ขับเคลื่อนไปด้วยกัน และใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในงานไม่ว่าจะประเภทไหนก็ตาม จนสุดท้ายจะกลายเป็นตัวเชื่อมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน”

ภารกิจปัดฝุ่น ‘ตรังชาตะ’ โรงพยาบาลเก่าแก่ในตรังที่ถูกทิ้งร้าง ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566
ภารกิจปัดฝุ่น ‘ตรังชาตะ’ โรงพยาบาลเก่าแก่ในตรังที่ถูกทิ้งร้าง ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566

เธอยังเล่าให้ฟังเพิ่มว่า หน่วยงานส่วนกลางต่าง ๆ ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ศิลปะตรังยั่งยืนและคงอยู่ต่อไปได้ 

“ย้อนกลับไปช่วงรีโนเวตโรงพยาบาล เราเจอปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่รอบข้างมีคนมาทิ้งขยะ แสงสว่างไม่เพียงพอ จนมีคนมาขโมยประตู-หน้าต่างของโรงพยาบาลบ้าง ถึงแม้จะเป็นเมืองเล็ก แต่การดูแลพวกนี้ยังไม่ทั่วถึง แต่อย่างน้อยเราเชื่อว่าพอสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น จะเป็นการเรียกร้องให้หน่วยงานหันมาสนใจตรงนี้บ้าง”

เราเชื่อว่าหากทุกคนหันมาให้ความสนใจกับศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านรูปแบบการออกแบบในเชิงความคิดสร้างสรรค์ คนนอกก็จะมองเห็นความน่ารักของตัวเมืองและเห็นศักยภาพของคนที่นี่ เหมือนกับที่เราสัมผัสได้ 

“อย่างน้อย ๆ เขาก็จะได้รับรู้เรื่องราวของตรังผ่านงานเถตรังนี่แหละ” กุ๊กไก่ยิ้ม

แม้หลังจบงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีก กุ๊กไก่ยังไม่การันตีว่าโรงพยาบาลตรังชาตะจะกลายเป็นอะไรต่อ แต่เธอทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่ากลุ่มหัว Born ที่เธอตั้งขึ้น ได้มาช่วยเขย่าเมืองตรังให้รู้จักกับศิลปะมากกว่าที่เคยเป็น และเธอก็ทำให้เราเชื่ออีกว่า นักสร้างสรรค์ในเมืองตรังคนอื่น ๆ จะไม่ยอมปล่อยให้โรงพยาบาลนี้กลายเป็นเพียงพื้นที่โล่ง ๆ เหมือนเก่าอย่างแน่นอน

ภารกิจปัดฝุ่น ‘ตรังชาตะ’ โรงพยาบาลเก่าแก่ในตรังที่ถูกทิ้งร้าง ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566
โรงพยาบาลตรังชาตะ
  • รพ.ตรังชาตะเก่า อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง (แผนที่)
  • นิทรรศการเถตรัง (the-Trang) : จัดวันที่ 12, 13, 18 – 20 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 10.00 – 21.00 น.
    และวันที่ 14 – 17 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 10.00 – 20.00 น.

Writer

วรรณิกา อุดมสินวัฒนา

วรรณิกา อุดมสินวัฒนา

ติดบ้าน ชอบดื่มชา เล่นกีฬาไม่ได้เรื่อง

Photographer

เทวา กาญจนานิจ

เทวา กาญจนานิจ

ภาพอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยวเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น ความฝันอยากเดินทางท่องเที่ยวรอบโลก