“…ชกหน้า อัด ทุบ ทุบ ทุบ…ดึงไม่ไป โดนกระตุกซะเองครับ เกรท คาลี อดีตตำรวจจากรัฐปัญจาบ ลาออกเพราะไม่รุ่งในหน้าที่ตำรวจ ไปจับไพ่ไม่ได้เลย วิ่งไม่ทันเขา เดินไปเขารู้ก่อนเลยว่า ตำรวจมา ตัวแกอย่างเสาโทรเลข..” 

นี่คือตัวอย่างลีลาการพากย์มวยปล้ำที่โคตรเป็นเอกลักษณ์ของ สุวัฒน์ กลิ่นเกษร อดีตอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่ใครๆ ต่างคุ้นเคยกันดีในชื่อ ‘น้าติง’

กว่า 3 ทศวรรษที่ชายวัย 64 ผู้นี้หยัดยืนบนเส้นทางหลังไมค์ แม้ไม่ใช่คนแรกที่นำเกมกีฬาชนิดนี้เข้ามา แต่คงปฏิเสธได้ยากว่าเขาคือผู้เปิดประตูให้มวยปล้ำยึดครองจิตใจของคนไทยค่อนประเทศ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของความบันเทิงนี้ยิ่งกว่าใคร

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา มีโอกาสแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนบุคคลในตำนานถึงศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพูดคุยถึงเส้นทางชีวิตอันแสนราบเรียบ แต่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวไม่ธรรมดาที่ชักพาให้เขาก้าวสู่เป็นนักพากย์มวยปล้ำเบอร์ 1 ของเมืองไทย

เส้นทางสู่ตำนานของ น้าติง-สุวัฒน์ กลิ่นเกษร เบอร์หนึ่งในวงการพากย์มวยปล้ำเมืองไทย

01

กำเนิด ‘น้าติง’

ชีวิตของน้าติงพัวพันกับมวยปล้ำตั้งแต่เด็ก

เขาเป็นแฟนตัวยงของรายการมวยปล้ำเมื่อเกือบ 50 ปีก่อนที่ฉายเป็นประจำทุกสัปดาห์ทางช่อง 5 ในยุคที่ยังเป็นทีวีขาวดำ เพราะมวยปล้ำไม่เหมือนมวยประเภทอื่น จากเดิมที่เคยเห็นแต่ท่าเตะ ท่าต่อยเป็นหลัก มวยปล้ำกลับเหนือชั้นยิ่งกว่า มีทั้งทุบ กระชาก ฉุดรั้ง และสารพัดท่า แถมพอล้มยังตามไปซ้ำได้อีกต่างหาก นับเป็นเกมกีฬาที่เต็มไปด้วยสีสันและความสนุกสนาน

ยิ่งมาบวกกับสไตล์การพากย์ของปรมาจารย์แห่งยุค อย่าง เจือ จักษุรักษ์ ที่ใช้ภาษาง่ายๆ แต่เร้าอารมณ์ แถมยังสอดแทรกความรู้เรื่องท่าทางต่างๆ ทั้ง อาร์มล็อก ไซด์เฮดล็อก แบร์ฮัก หรือเลก ซิสเซอร์ ทำให้เด็กชายสุวัฒน์ในวันนั้นจำฝังใจเรื่อยมา แม้ตอนหลังจะไม่มีมวยปล้ำเข้ามาฉายในบ้านเราอีกเลยเป็นสิบปีก็ตาม

กระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2530 ศุภพร มาพึ่งพงศ์ นักพากย์ระดับตำนานได้นำมวยปล้ำหญิงจากแดนปลาดิบมาฉายทางช่อง 7 สี ปรากฏว่าได้รับความนิยมสูงมาก โดยเฉพาะ ดัมป์ มัตสึโมโตะ (Dump Matsumoto) ซึ่งกลายเป็นขวัญใจชาวไทย เกิดการต่อยอดผลิตเป็นวิดีโอ ซึ่งเจ้าใหญ่สุดในยุคนั้นคือวิดีโอสแควร์ มีการสั่งมวยปล้ำเพิ่มเติมจากสหรัฐอเมริกา อย่าง แ, NWA และ AWA เข้ามาฉาย

ด้วยความนิยมอันล้นหลาม ทำให้ช่อง 3 ซื้อมวยปล้ำหญิงจากญี่ปุ่นเข้ามาบ้าง จำนวน 26 ตอน โดย นิมะ ราซิดี ผู้บริหารสถานีได้สอบถามน้าติงซึ่งเวลานั้นเป็นผู้บรรยายกีฬาทั่วไปว่าสนใจพากย์ไหม ด้วยทุนเดิมที่คลั่งไคล้กีฬานี้มาตั้งแต่เป็นเด็ก เขาจึงตอบตกลงทันที

จุดเด่นในการพากย์ของน้าติงคือลีลาและน้ำเสียงสไตล์กวนๆ ชอบแซว ชอบเล่นมุกตลก เพราะฉะนั้น ถึงรายการมวยปล้ำหญิงที่เขาพากย์อาจไม่ดังเปรี้ยงปร้าง เมื่อเทียบกับฉบับของวิดีโอสแควร์ซึ่งศุภพรรับพากย์เต็มตัว แต่สไตล์ของเขากลับเตะหูนักพากย์มือเก๋าอยู่ไม่น้อย

แล้วโอกาสสำคัญก็มาถึง เมื่อศุภพรทาบทามน้าติงให้มาพากย์วิดีโอเทปเป็นครั้งแรก

“ตอนนั้นมีบริษัทชื่อวิดีโอเวิลด์ซื้อมวยปล้ำมาชุดหนึ่งเป็นของ AWA มาติดต่อให้พี่ศุภพรไปพากย์ แต่ตามมารยาทแกไปไม่ได้เนื่องจากพากย์ให้วิดีโอสแควร์อยู่ วันหนึ่งแกโทรศัพท์มาหา ตอนนั้นเรารู้จักเขาเพราะเขาดัง แต่เขาไม่รู้จักเราหรอก รู้แค่พากย์ให้ช่องสาม แกก็ชวนให้ไปพากย์ที่วิดีโอเวิลด์ เราตกลงทันที พากย์ไปได้ยี่สิบกว่าม้วน บริษัทเลิก เปลี่ยนไปทำธุรกิจคอมพิวเตอร์แทน ไม่เป็นไร เราก็หันเป็นมือปืนรับจ้าง พากย์ให้ช่องสิบเอ็ด ช่องนั้นช่องนี้แทน

“ต่อมาพี่ศุภพรมีปัญหากับวิดีโอสแควร์ เลยแยกทีมมาเปิดบริษัททำมวยปล้ำแข่งชื่อไอทีวี ห้องอยู่ติดกันเลย พอทีวีสแควร์ไม่มีพี่ศุภพร ความนิยมจึงลดลงเรื่อยๆ เท่านั้นไม่พอพี่ศุภพรติดต่อหาน้าติงชวนมานั่งพากย์คู่กัน เราเลยเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่เนื่องจากทั้งสองบริษัทเลือกทำ WWF ชนกัน วิดีโอสแควร์จึงฟ้องไอทีวีฐานละเมิดลิขสิทธิ์ สุดท้ายวิดีโอสแควร์ชนะ ไอทีวีเลยกลายเป็นผี แต่พี่ศุภพรให้กำลังใจว่าถึงเป็นผี ก็ผีใส่สูท จากนั้นแกจึงถอยตัวออกไป เพราะแกมีชื่อเสียง เราพากย์ต่ออีกระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายมันไม่ได้ เพราะไอทีวีโดนฟ้องต้องหยุด เราก็ต้องหยุดตามไปด้วย”

น้าติงหันกลับมาเป็นอาจารย์เต็มตัวอยู่ประมาณ 2 – 3 ปี ด้วยหวังว่าจะได้กลับไปพากย์มวยปล้ำอีก จนวันหนึ่งเขาทราบข่าวจากเพื่อนรุ่นน้อง ผศ. ดร.สมยศ ชิดมงคล ว่า วิดีโอสแควร์กำลังต้องการนักพากย์เพิ่มเติม เนื่องจาก ศุภฤกษ์ ยุกตะทัต คนที่มาพากย์แทนศุภพรประกาศผ่านวิดีโอหาเพื่อนร่วมงานเพิ่มเติม เนื่องจากติดภารกิจฟื้นฟูไร่กระเทียมที่แม่ฮ่องสอนหลังเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ ไม่มีเวลาเดินทางมาพากย์เต็มที่เหมือนก่อน

“พอเลิกจากไอทีวี ผมเลยเลิกเช่าวิดีโอไปด้วย เผอิญสมยศชอบดูมวยปล้ำและรู้ว่าเราพากย์ด้วย เขาเดินมาที่รถแล้วบอกว่า ‘พี่วัฒน์ที่วิดีโอสแควร์กำลังหาคนพากย์มวยปล้ำ ผมอยากให้พี่ไปพากย์จริงๆ’ เราได้ยินก็หูผึ่งถามหาเบอร์วิดีโอสแควร์ สมยศบอกไม่มี ผมเลยเดินจากจุฬาฯ ไปเจริญเมืองวิดีโอที่เคยเช่าประจำ ขอเบอร์จากที่นั่น เขาถามว่าอาจารย์จะไปพากย์เหรอ ดีแล้วๆ จึงให้เบอร์มา

“จากนั้นผมก็โทรศัพท์หาเฮีย มาโนช อัศวนิเวศน์ เจ้าของวิดีโอสแควร์ บอกผม สุวัฒน์ กลิ่นเกษร ครับ เคยพากย์มวยปล้ำอยู่ช่องสาม เห็นว่ากำลังหานักพากย์อยู่ เฮียมาโนชบอกว่าคุณสุวัฒน์จริงหรือเปล่า กำลังหาตัวอยู่พอดี เบอร์คุณไม่มีเลย หายากมาก ต่างคนต่างหา ตั้งแต่นั้นผมเลยได้กลับมาพากย์มวยปล้ำอีกครั้ง”

การเริ่มต้นใหม่ที่วิดีโอสแควร์ไม่ต่างจากฝัน เพราะเขาเองก็เป็นแฟนพันธุ์แท้ของค่ายวิดีโอนี้มานาน ช่วงนั้นน้าติงต้องพากย์ถึงสัปดาห์ละ 4 วัน โดยเริ่มจากพากย์เวทีรองอย่างมวยปล้ำญี่ปุ่นไปก่อน ต่อมาเมื่อนักพากย์หลักขอลาออกกลับไปเป็นเกษตรกรเต็มตัว เขาจึงได้รับมอบหมายให้พากย์ทุกสถาบัน

ว่ากันว่าน้าติงงัดทุกกลยุทธ์เด็ดพราย ทั้งมุกฮา มุกแซว รวมถึงประสบการณ์การพากย์ร่วมกับศุภพรมาปรับใช้ จนกระแสมวยปล้ำที่เคยซาลงกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง แต่ละเดือนมีวิดีโอออกใหม่เป็นสิบๆ ชุด ทั้งผู้ใหญ่ เด็ก คนชรา ต่างปวารณาตัวเป็นแฟนคลับ

“ตอนนั้นวิดีโอสแควร์ตั้งใจว่าพอหมดสัญญากับค่ายต่างๆ ก็จะหยุด เพราะมันทำไม่ขึ้นแล้ว คือไม่ได้หมายความว่า คุณศุภฤกษ์พากย์ไม่ดีนะ แต่เป็นเรื่องความชอบของผู้ชมมากกว่า ซึ่งพอเราพากย์ได้ปีกว่า จากตึกสี่ชั้นห้องเดียวกลายเป็นห้าห้อง สัปดาห์หนึ่งมีจดหมายเข้ามาเป็นร้อยฉบับ เราก็เริ่มตอบ คนชอบก็มี คนไม่ชอบก็เยอะ เพราะเขาอยากดูมวยปล้ำ จนสุดท้ายเขาต้องทำช่วงจดหมายให้ ตอนเปิดหัวกับตอนปิดท้ายของวิดีโอ ใครอยากดูก็ดูไป”

ความนิยมของมวยปล้ำไม่จบเพียงแค่นี้ เมื่อธุรกิจเคเบิลทีวีถือกำเนิด ไอบีซีซื้อลิขสิทธิ์เวที WCW มาออกอากาศ ทางผู้บริหารของสถานีจึงดึงน้าติงมาร่วมงาน

ช่วงนี้เองที่เริ่มมีคนถามหาถึงชื่อคนพากย์ แต่เวลานั้นน้าติงไม่อยากเผยตัวมาก ด้วยเกรงว่าอาจกระทบต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเลี่ยงมาใช้ชื่อ ‘สติง’ แทน ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก สตีฟ บอร์เดน (Steve Borden) นักมวยปล้ำคนดัง ทว่าผู้ชมส่วนใหญ่กลับเรียกแค่ ‘ติง’ เฉยๆ ฟังแล้วรู้สึกประหลาด พอดี น้าต๋อย-นิรันดร์ บุณยรัตพันธุ์ กำลังเป็นที่นิยม อาจารย์สุวัฒน์เลยหยิบยืมคำว่า ‘น้า’ มาใส่หน้าชื่อว่า ‘ติง’ และกลายเป็น ‘น้าติง’ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

เส้นทางสู่ตำนานของ น้าติง-สุวัฒน์ กลิ่นเกษร เบอร์หนึ่งในวงการพากย์มวยปล้ำเมืองไทย
เส้นทางสู่ตำนานของ น้าติง-สุวัฒน์ กลิ่นเกษร เบอร์หนึ่งในวงการพากย์มวยปล้ำเมืองไทย

02

‘น้าติง’ is No.1

คงไม่ผิดหากกล่าวว่า น้าติงเป็นที่รู้จักและมีอิทธิพลต่อผู้ชมชาวไทยยิ่งกว่านักมวยปล้ำเสียอีก

ครั้งหนึ่งเคยมีบริษัทระดับโลกส่งทีมงานเข้ามาสำรวจความเป็นไปได้ที่จะจัดแข่งขันมวยปล้ำในบ้านเรา หลังพบว่าเมืองไทยสั่งภาพยนตร์มวยปล้ำมาฉายเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลสำรวจครั้งนั้นพบว่าปัจจัยที่ทำให้กีฬามวยปล้ำเติบโตสูงสุด มาจากชายที่ชื่อ ‘น้าติง’

“Total Sport Asia ซึ่งถือลิขสิทธิ์มวยปล้ำอยู่เขาสงสัยว่าน้าติงเป็นใคร ทำไมถึงมีอิทธิพลขนาดนั้น จึงนัดคุยกัน เขาถามเราว่า เป็นไปได้ไหมหากเอามวยปล้ำมาโชว์ในเมืองไทย คือฝรั่งไม่แน่ใจ น้าติงยิ่งไม่แน่ใจกว่า แต่เขาขอร้องให้เราช่วยโปรโมตให้ ซึ่งเราก็ยินดี ปรากฏว่างานครั้งนั้นเขาได้กำไรเป็นสิบล้านภายในวันเดียว และสิ่งที่น่าแปลกยิ่งกว่าคือเขาเอานักมวยปล้ำมาแจกลายเซ็น แล้วน้าติงก็ไปแจกด้วย ปรากฏว่ามีคนมาขอลายเซ็นต์น้าติงเยอะมาก”

กระแสความนิยมของน้าติงเกิดขึ้นสูงสุดในช่วงที่เคเบิลรายใหญ่ของประเทศ 2 เจ้า คือ ไอบีซีกับยูทีวี รวมตัวกันเป็นยูบีซี (ต่อมากลายเป็นทรูวิชั่น) โดยมีช่อง Super Sports เป็นจุดขาย และมวยปล้ำเป็นแม่เหล็กที่เรียกเรตติ้งให้สถานีมากที่สุดรายการหนึ่ง 

น้าติงเล่าว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้มวยปล้ำติดตลาด มาจากความสนุกของตัวรายการเอง เพราะนอกจากฉากการต่อสู้ที่ดุเดือด ยังมีเรื่องราวมากมายที่แฝงอยู่ ทั้งมิตรภาพ การหักหลัง รวมถึงความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เช่น กรณีแชมป์โลกขวัญใจแฟนๆ อย่างสโตน โคลด์ สตีฟ ออสติน (Stone Cold Steve Austin) ลุกขึ้นมาเปิดศึกกับ วินซ์ แม็กแมน (Vince McMahon) เจ้าของแชมป์ WWE 

เพราะฉะนั้นการพากย์ให้สนุก นอกจากอาศัยลีลาและเทคนิคการพูด ยังต้องเข้าใจบริบทของเนื้อเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย โดยน้าติงมีนักแปลประจำที่คอยทำหน้าที่ถอดความภาษาอังกฤษก่อนออกอากาศ

“เราต้องฟังซาวนด์ภาษาอังกฤษให้กระจ่าง ซึ่งฟังได้บ้างไม่ได้บ้าง ถึงต้องจ้างคนแปลเพื่อให้มันออกมาดี อย่างน้าติงได้ค่าพากย์ชั่วโมงละหนึ่งพันสองร้อยบาท แต่เราเสียค่าแปลไปหกร้อยถึงเจ็ดร้อยบาท เพราะมวยปล้ำนั้นมีสตอรี่ต่างๆ เยอะมาก ถ้าเรามานั่งแปลมันใช้เวลามาก จึงต้องจ้างเขาให้มันทัน ปกติมวยปล้ำที่ฉายในบ้านเราจะเลทประมาณสองสัปดาห์ เช่นปล้ำวันศุกร์ วันจันทร์ไปฉายในอเมริกาก่อน จากนั้นจึงมาตัดต่อมิกซ์อะไรต่างๆ อีกประมาณสัปดาห์หนึ่ง แล้วค่อยส่งมาถึงเราประมาณวันพุธ พอดาวเทียมลงปุ๊บ น้าติงต้องให้คนแปลมารอเลย แปลวันพฤหัส วันศุกร์เราพากย์สดเลย แต่น้าติงไม่ฟังผลก่อนว่าใครแพ้ชนะ คนแปลไม่ต้องมาเล่าให้ฟัง เพราะเราถือว่าเขาแปลเป็นไกด์ คือมาถึงตั้งไมค์เสร็จ พากย์ไปเลยจนจบชั่วโมง ไม่มีเทก ทำให้เราอินกับเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น

“พอเราพากย์ไปเรื่อยๆ เราจะรู้ว่าคนนี้มีท่าไม้ตายอะไร อย่างดิอันเดอร์เทเกอร์ (The Undertaker) ต้องขึ้นไปยืนบนเชือก จากนั้นก็ลงมาสับๆ เสร็จแล้วถึงค่อยใส่ลาสต์ไลต์ คือนักมวยปล้ำแต่ละคนเขามีคาแรกเตอร์ มีบทของเขาว่าต้องเป็นอย่างไร เราพากย์จนรู้สึกผูกพัน จำได้ว่าตอนเอ็ดดี เกร์เรโร (Eddie Guerrero) ตาย ด้วยความที่หนังมาเลท เรายังเห็นเขาเต้นอยู่เลย ตอนนั้นพากย์ไปก็ร้องไห้ไป เหมือนเพื่อนเรา เราดูทุกสัปดาห์ แต่ตอนนี้มันตายแล้ว โธ่เอ็ดดี้เอ๋ย…มันออกมาจากใจ หรือเวลามีการหักหลัง เราก็รู้สึกอินเหมือนโดนหักหลังไปด้วย”

แต่ที่สำคัญไม่แพ้ตัวรายการ คือการเชื่อมโยงถึงผู้ชมทางบ้าน

น้าติงคิดเสมอว่า ตัวเองคือคนดู เพียงแต่เป็นคนดูที่พูดได้ เพราะฉะนั้นการพากย์แต่ละครั้งเขาจะใช้ภาษาง่ายๆ มีการหยิกแกมหยอก เหมือนน้าคุยกับหลาน ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างอารมณ์ร่วมกับผู้ชม และอีกส่วนเพื่อลดความรุนแรงของเกมลงให้เป็นสื่อบันเทิงที่รับชมกันได้ทั้งครอบครัวอย่างแท้จริง

ไม่เพียงแค่นั้น เขาพยายามชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ที่เห็นทั้งหมดเป็นเพียงการแสดง เพราะฉะนั้นผู้ชมทางบ้าน โดยเฉพาะเด็กๆ จึงห้ามเลียนแบบเด็ดขาด

“บางคนไม่ชอบให้บอกว่ามวยปล้ำเป็นการแสดง อยากให้เป็นเรื่องจริง แต่เราเป็นอาจารย์ เราจะไปสอนให้คนฆ่ากันหรือให้คนก้าวร้าวรุนแรงแบบนั้นไม่ได้ มวยปล้ำเป็นกีฬาที่มีบท เอาชนะด้วยกลโกง บางทีมีบทลูกตบพ่อ เรื่องพวกนี้ต้องบอกให้ชัดเจน ที่สำคัญคนที่เป็นนักมวยปล้ำได้ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็เล่นได้ ต้องฝึก ต้องเรียนรู้ว่าเล่นอย่างไรให้ดูรุนแรงแต่ไม่เจ็บ เพราะถ้าเล่นกันจริงคงตายไปแล้ว แต่บางคนปล้ำถึงอายุหกสิบปี แถมปล้ำวันละสองรอบด้วย ถ้าร่างกายไม่แข็งแรงจริง ไม่มีทางทำได้”

ด้วยความจริงใจและความรักที่มีต่อกีฬา ส่งผลให้น้าติงเข้าไปยืนอยู่ในใจของผู้ชม แต่ละสัปดาห์มีจดหมายและไปรษณียบัตรนับพันฉบับ รวมทั้งมีแฟนคลับเฉียดร้อยที่มาดักพบตัวจริงถึงสถานี จนสุดท้ายทรูวิชั่นส์ต้องเปิดรายการน้าติงฮาร์ดคอร์เพื่อให้น้าติงตอบจดหมายโดยเฉพาะ ไม่เพียงแค่นั้น ยังเคยมีคนไทยไปยืนถือป้ายน้าติงถึงขอบเวทีที่สหรัฐอเมริกาอีกด้วย

“สมัยอยู่ทรูฯ เคยมีจดหมายฉบับหนึ่งเขียนมาเล่าเรื่องแม่ว่ามีอาการซึมเศร้า เพราะเพื่อนรุ่นเดียวกันตายหมดแล้ว ตัวแม่เองก็คุยกับหลานไม่รู้เรื่อง ต้องรอให้ลูกทำงานเสร็จกลับมา แต่ละวันแม่เขาเลยนั่งเศร้าเหมือนคนรอวันตาย แต่พอมีมวยปล้ำ แม่กลับมีความสุข ดูไปหัวเราะไป เขาอยากขอบคุณน้าติงที่ทำให้แม่เขาหายเศร้า เราอ่านไปแล้วรู้สึกดี เหมือนได้ช่วยต่ออายุให้คนแก่

“อีกเคสหนึ่งเป็นน้องผู้ชายป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เขาชอบมวยปล้ำมาก คุณแม่จึงเขียนจดหมายมาขอตุ๊กตานักมวยปล้ำ พอน้าติงอ่านเลยไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล ภาพที่เห็นคือคุณแม่ออกมาต้อนรับ แต่ร้องไห้เพราะลูกนิ่งไปแล้ว หมอบอกว่าอยู่ได้ไม่เกินอาทิตย์ บนหัวเตียงมีตุ๊กตา มีเข็มขัดมวยปล้ำ จากนั้นคุณแม่ก็ไปจับตัวลูก บอกว่าน้าติงมาหานะ เขาลืมตามองน้าติง น้าติงจับมือเขาแล้วพูดว่า “สู้นะ ไม่มีอะไรหรอก สบายๆ ทำใจ” เขามอง เราก็เอาตุ๊กตากับการ์ดไปวางข้างๆ ปรากฏอาการดีขึ้นเลย คุณแม่โทรศัพท์มาบอกว่าลูกลืมตาได้ เอามือกอดเล่นตุ๊กตาได้ แต่ลุกขึ้นไม่ได้ เขาอยู่ได้อีกสองอาทิตย์ คุณแม่เขาขอบคุณน้าติงมากๆ น้าติงไม่รู้จะพูดยังไงดี แต่รู้สึกภูมิใจนะ”

แม้วันนี้กระแสมวยปล้ำอาจโรยราไปตามยุคสมัย แต่ความผูกพันที่น้าติงมีให้กับบรรดาแฟนมวยปล้ำก็ยังเหมือนเดิม และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้น้าติงยังคงเป็นภาพจำของทุกคนเมื่อพูดถึงมวยปล้ำไม่เปลี่ยนแปลง

เส้นทางสู่ตำนานของ น้าติง-สุวัฒน์ กลิ่นเกษร เบอร์หนึ่งในวงการพากย์มวยปล้ำเมืองไทย

03

นักพากย์ในสายเลือด

ตั้งแต่จำความได้ น้าติงก็หลงใหลในกีฬาแล้ว

เขาชอบฟังวิทยุถ่ายทอดสดมวยไทย ติดตามรายการกีฬาทุกช่อง แวะเวียนไปตามสนามแข่งขันต่างๆ วาดหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้เดินตามเส้นทางสายนี้บ้าง

พอขึ้นชั้นมัธยมศึกษา ความฝันเริ่มเป็นจริง เขากลายเป็นนักกีฬาของโรงเรียนวัดสุทธิวราราม เล่นแบดมินตัน เล่นบาสเกตบอล จากนั้นจึงมาศึกษาต่อที่คณะครุศาสตร์ ภาควิชาพลศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ระหว่างนั้นเองที่เขาค้นพบอีกพรสวรรค์ที่โดดเด่นไม่แพ้กัน นั่นคือการพากย์ 

“สมัยเรียนที่วัดสุทธิฯ เราเป็นประธานชมรมภาษาไทย เป็นนักโต้วาที สมองไวมาก และด้วยความที่พูดเก่ง พอเข้าจุฬาฯ เขาเลยไม่ค่อยให้เล่นกีฬาสักเท่าไหร่ จับมานั่งข้างสนามแล้วก็พากย์ พวกกีฬาสถาบัน น้าติงติดทีมทุกครั้ง ติดไปพากย์ ไม่ได้ไปแข่ง คือแข่งเหมือนกันแต่ลงไปได้พักเดียวก็เรียกออกมาพากย์ โดยเราจะพากย์บุคลิกคน พูดหยอดนี่หยอดโน่นไปตามเรื่อง โชคดีหน่อยเวลาแซวใครไม่ค่อยมีใครโกรธ เขามองเป็นเรื่องสนุก”

เมื่อเรียนจบและถูกดึงตัวมาเป็นอาจารย์ เขายังคงรับบทเป็นพิธีกร นักพากย์ข้างสนามเรื่อยมา จนเดือนมกราคม พ.ศ. 2527 ก็มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของชายผู้นี้ เมื่อรุ่นพี่ครุศาสตร์ จุฬาฯ นามว่า สุรางค์ เปรมปรีดิ์ แห่งช่อง 7 สี ติดต่อมายังคณะเพื่อหาคนมาช่วยพากย์กีฬาแห่งชาติครั้งที่ 26 ณ จังหวัดพิษณุโลก ทางผู้ใหญ่จึงได้แนะนำอาจารย์สุวัฒน์ให้ไปร่วมงานด้วย นี่เองที่กลายเป็นก้าวแรกของน้าติงกับวงการจอแก้ว

น้าติงพากย์กีฬามาแล้วทุกประเภท ตั้งแต่มวย ฟุตบอล วอลเลย์บอล ว่ายน้ำ ตะกร้อ เรือยาว โบว์ลิ่ง ปาเป้า หรือแม้แต่โรลเลอร์สเก็ต โดยช่วงแรกเป็นเพียงมือรองคอยช่วยเสริมนักพากย์หลัก อย่าง มานิตย์ ควรขจร หรือ จักรพันธุ์ ยมจินดา ก่อนที่ รศ.จุมพล รอดคำดี อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำให้ย้ายมาอยู่ที่ช่อง 3 จนกลายเป็นหนึ่งในนักพากย์หลักของสถานี

หลายคนอาจไม่ทราบว่าเขาเป็นคนแรกที่พากย์บาสเกตบอล NBA รวมถึงเป็นผู้บรรยายเทปบันทึกภาพมวยคู่ประวัติศาสตร์ สมาน ส.จาตุรงค์ พบ อุมเบร์โต กอนซาเลซ (Humberto Gonzalez) อีกด้วย

“ปกติเวลาพากย์ สถานีจะมีรูปแบบชัดเจน เช่น ‘สวัสดีครับท่านผู้ชม ขอนำท่านผู้ชมมายังสนามศุภชลาศัย’ แต่น้าติงชอบไปแหวกกฎเขา อย่างตอนพากย์กีฬาเขต เราจะพากย์ ‘ลำยอง หอมกลิ่นเทียน หน้าตาดีมากครับ สวย ประกวดนางงามก็ยังได้ แล้วนอกจากสวยก็ยังชอบกินน้ำพริกปลาทู พลังตบเหลือเฟือ’ เพราะตอนที่เราลงไป เราไปหาข้อมูลด้วย สูงเท่าไหร่ อายุเท่านั้น เรียนหนังสือที่ไหน อยู่สโมสรไหน ซึ่งยุคนั้นไม่ค่อยมี เขาแค่พากย์กันตามที่ตาเห็น

“การที่เราลงไปสัมภาษณ์นักกีฬาเยอะๆ ข้อดีคือเราเริ่มรู้จักนักกีฬา เริ่มคุ้นเคย เวลาเจอทักทายเหมือนเป็นเพื่อน แต่ข้อเสียคือเราเริ่มนำนิสัยไม่ดีมาใช้ คือเริ่มแซว เพราะเรารู้จักเขา ช่วงนั้นเราสนิทถึงขั้นลูกวอลเลย์ลอยมา น้าติงโหม่งโชว์เลย ซึ่งบางคนที่ไม่ชอบก็จะบอกว่าแซวมากจนเขาเอาวอลเลย์อัดใส่หัว ช่วงนั้นน้าติงถูกเตือนหลายครั้ง เราก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง แต่ก็เข้าใจเพราะผู้ใหญ่เขาต้องดูแลช่อง แต่ในอีกมุมก็ถือเป็นการสร้างมิติใหม่ในการพากย์ ผู้ชมเองก็รู้สึกว่านักพากย์คนนี้มันขี้เล่น”

แต่ถึงขี้เล่นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่น้าติงยึดถือคือต้องไม่หยาบคายหรือสร้างความเสียหายกับนักกีฬา โดยเขามีภรรยาคอยทำหน้าที่มอนิเตอร์และตักเตือนอยู่เสมอ หากพากย์อะไรที่เกินเลยไป

“หลักการพากย์ของน้าติง คือต้องหาจุดเด่นของเขาขึ้นมาพูด กีฬาทุกชนิด นักกีฬาทุกคน เขามีคาแรกเตอร์ของตัวเองอยู่แล้ว อย่างสมัยก่อนมีนักบาสชื่อน้องแว่น สิริรัตน์ เขาเป็นสาวหล่อ เราต้องมาดูว่าทำยังไงให้เขาดูโดดเด่น ดูเท่ขึ้นมา หรือกีฬา MMA มันดุ โหดร้าย อเมริกาบางรัฐไม่ให้แข่ง แต่เมื่อเราซื้อมาแล้วจะทำยังไง เราก็พากย์ตรงๆ ว่า ท่านี้อันตราย หลานๆ อย่าเล่นนะ เขาฝึกมา หายใจไม่ออก…ลิ้นห้อยแล้ว ยอมแพ้ คือเราพากย์สิ่งที่รุนแรงให้ซอฟต์ลง เหมือนที่เราพากย์มวยปล้ำให้กลายเป็นเรื่องสนุก และทุกวันนี้ MMA ก็กลายมาเป็นรายการฮิตเรื่อยมาถึงปัจจุบัน”

เส้นทางสู่ตำนานของ น้าติง-สุวัฒน์ กลิ่นเกษร เบอร์หนึ่งในวงการพากย์มวยปล้ำเมืองไทย

04

‘มวยปล้ำ’ ให้อะไรกว่าที่คิด

แม้วันนี้แทบไม่เหลือรายการมวยปล้ำบนหน้าจอโทรทัศน์ แต่น้าติงยังคงมุ่งมั่นกับเส้นทางเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันเขาร่วมกับ BEC TERO ติดต่อซื้อลิขสิทธิ์มวยปล้ำญี่ปุ่นจากค่าย NJPW มาออกอากาศผ่านรายการ จ้าวสังเวียนมวยปล้ำ น้าติง Return ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ให้แฟนๆ หายคิดถึงได้บ้าง

สำหรับน้าติงแล้ว มวยปล้ำมีความหมายมากกว่าความบันเทิง แต่ยังเป็นคติสอนใจอีกด้วย

“มวยปล้ำมันแยกให้เห็นชัดเจนว่าอะไรเลว อะไรดี เช่นคนนี้เป็นพวกขี้โกง ก็จะโกงแบบสุดขั้วไปเลย ซึ่งในโลกนี้ไม่มีใครที่โกงขนาดนั้นหรอก หรือบทด่าพ่อตัวเอง มีชู้ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน เป็นด้านมืดด้านสว่างของแต่ละคน ซึ่งการที่มวยปล้ำนำมาตีแผ่เพื่อเตือนสติให้คนเรารู้สึกแยกแยะ เช่นเดียวกับคนดีซึ่งในท้ายที่สุดต้องได้รับผลตอบแทนที่ดี เช่นได้เสียงเชียร์จากผู้ชมถึงจะปล้ำแพ้ แต่ถ้าเป็นคนไม่ดีต่อให้คุณชนะ แค่ออกมาก็โดนโห่แล้ว”

แง่คิดเหล่านี้บางทีอาจเป็นเพราะน้าติงเป็นครูมาตลอดชีวิต จึงรู้สึกเสมอว่าเวลาทำอะไรต้องคิดถึงสังคมก่อน 

อย่างเมื่อไม่กี่ปีก่อนเคยมีเว็บพนันรายใหญ่ติดต่อให้ทุนมหาศาลเพื่อสนับสนุนรายการเล็กๆ ที่น้าติงผลิตขึ้นทางออนไลน์ แต่เขากลับปฏิเสธ และเลือกรับเงินสปอนเซอร์เพียงเล็กน้อยจากมูลนิธิรณรงค์หยุดพนันและเครือข่ายองค์กรงดเหล้าแทน แม้สุดท้ายตัวเองจะไม่ได้กำไรเลยก็ตาม

น้าติงย้ำว่าเขาสุขใจที่ได้เป็นผู้ให้ และยิ่งภูมิใจมากขึ้นเมื่อเห็นว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นประโยชน์และคุณค่า

“น้าติงไม่เคยเบื่องานพากย์ คนรุ่นเดียวกันพอเกษียณก็เลิกกันหมด แต่เรายังพากย์อยู่ เพราะเราเป็นคนชอบเอ็นเตอร์เทน ชอบเห็นคนมีความสุข เวลาเราพูด แล้วเขาหัวเราะหรือยิ้ม เราเต็มที่เลย เชื่อไหมน้าติงไม่เคยเรียกร้องค่าตัว ไปฟรีก็ทำ อย่างพากย์ที่หนึ่ง ปีแรกให้ครั้งละหมื่น พอปีถัดมาขาดทุนเหลือพันห้าเราก็ไป ไม่มีศักดิ์ศรีหรอก ไม่ใช่ว่าเราจนนะ แต่เรามีความสุขที่ได้ทำงาน เพราะนี่คืออาชีพที่ภูมิใจ เราได้ชื่อเสียง เงินทอง มีคนรู้จัก ก็เพราะงานนักพากย์นั่นเอง”

ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวของชายผู้เป็นยิ่งกว่านักพากย์ หากยังเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความฝัน ให้เกิดขึ้นในความทรงจำของใครต่อใครมานานกว่า 35 ปี

Writer & Photographer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว