ใน พ.ศ. 2567 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีอายุครบรอบ 111 ปี

องค์กรที่อยู่มาเกินกว่าศตวรรษย่อมต้องเผชิญการเปลี่ยนผ่านนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งความสำเร็จและวิกฤต แค่เพียงช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมาก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ทั้งโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก และการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีด้วยความเร็วแบบที่ไม่เคยเห็นในประวัติศาสตร์ การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คือคณบดีคนที่ 18 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ดำรงตำแหน่ง 2 สมัยในช่วงเวลาดังกล่าว เขาคือนายช่างใหญ่ที่มีความรับผิดชอบในการดูแลนิสิตและบุคลากรกว่า 20 สาขาวิชา รวมกันเกิน 6,000 คนต่อปี 

เขาปรับโครงสร้างและหลักสูตรของหน่วยงานภายใต้การกำกับของรัฐให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เปิดให้มีการทำงานร่วมข้ามภาควิชา ข้ามหน่วยงาน ประสานความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ให้เกิดแพลตฟอร์มที่ช่วยสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทั้ง AI สิ่งแวดล้อม และการแพทย์ เช่น กระดูกเทียมสำหรับเฉพาะบุคคล เครื่องมือช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงโควิด-19

ในเส้นทางการปรับเปลี่ยน พัฒนาเรื่องใหม่ที่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย เขาได้รับการกล่าวถึงจากบุคลากรว่าเป็นผู้นำที่รับฟัง เข้าถึงได้ง่าย และใครทำให้โกรธได้ถือว่าไม่ธรรมดา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เขายึดถือไว้ ภายใต้ความกดดันและความคาดหวังของผู้คน

ก่อนจะเข้าสู่ปีที่ 8 ปีสุดท้ายที่ดำรงตำแหน่งคณบดี The Cloud ได้แวะมาพูดคุยกับอาจารย์ที่คณะ เพื่อสรุปเส้นทางการบริหารงานแบบ MOVE toward Sustainability ภายในรั้วปราสาทแดงที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ก่อนส่งไม้ต่อให้กับรุ่นต่อไป

วิศวกรเป็นอาชีพที่เป็นความฝันของอาจารย์มาตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า

สมัยก่อนเราไม่ได้รู้ขนาดนั้นว่าอยากเป็นอะไร แต่ตอนผมยังเด็ก มีการสร้างตึกใบหยกและตึกสูง ๆ มากขึ้นในไทย เวลาเดินผ่านไซต์ก่อสร้างจะเห็นหมวกวิศวกรท้ายรถ คิดว่าเป็นงานที่เท่และสร้างประโยชน์ จึงเลือกเรียนวิศวกรรมโยธา นั่นเป็นเหตุผลแบบเด็ก ๆ

พอเรียนจบ ผมเลือกเรียนต่อปริญญาเอกที่ญี่ปุ่น ไปทำงานอยู่ในบริษัทก่อสร้างเอกชนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นสัก 3 ปี เริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่ทางเท่าไร งานที่ได้รับมอบหมายเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่ผมอยากลงลึกกับบางเรื่องมากกว่า ซึ่งวิชาชีพอาจารย์เปิดโอกาสให้เราทำงานตามเส้นทางความเชี่ยวชาญ

อีกส่วนหนึ่งคือผมชอบการสอน เห็นว่าอาจารย์เป็นอาชีพที่ให้วิชา ให้คำปรึกษาคนอื่น และช่วยสร้างตัวตนของคนได้ เลยตัดสินใจกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะ เพราะอยากทำให้เด็ก ๆ มีโอกาสได้ทำหรือเรียนตามความฝันและความถนัดของตนให้มากที่สุด

ตอนนั้นอาจารย์สนใจลงลึกไปกับเรื่องอะไร

ในเชิงงานวิจัย ผมทำงานด้านจัดการภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว ซึ่งต่อมามีการจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน รวมถึงหลักสูตรด้านการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติด้วย

ผมสนใจด้านนี้ตั้งแต่ปริญญาเอก พอตอนทำงาน พ.ศ. 2538 เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่โกเบ บริษัทส่งผมเดินเข้าไปในจุดเกิดเหตุที่รถไฟ ถนนเข้าไปไม่ได้ น้ำ-ไฟใช้ไม่ได้เลย เราได้เห็นความลำบากของผู้คน คิดว่าถ้าศึกษามากกว่าแค่เชิงเทคนิค แต่เป็นการจัดการด้วย น่าจะช่วยเหลือประชาชนได้ดีขึ้น 

อาจฟังดูเป็นสิ่งไกลตัวนะ แต่เราก็อยู่ในเขตที่ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้ ถ้าเราไม่เตรียมตัวจะเกิดความเสียหายหนักหน่วงเหมือนน้ำท่วมที่เราผ่านกันมาแล้ว เลยตั้งใจทำเรื่องนี้

ส่วนในทางวิชาชีพ ผมทำงานออกแบบโครงสร้างใต้ดิน เป็นหนึ่งในคนไทยกลุ่มแรก ๆ ที่ออกแบบอุโมงค์ประปา เมื่อก่อนคนไทยยังไม่ได้ออกแบบเอง ต้องส่งให้ต่างประเทศทำ แล้วเรามาตรวจเฉย ๆ แต่ช่วงนั้นการประปานครหลวงเห็นว่าถึงเวลาที่คนไทยจะทำเองแล้ว เป็นโอกาสที่ผมได้เริ่มทำงานสายนี้ควบคู่ไปกับการทำงานสอนด้วย แล้วก็มีงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น การออกแบบจัดการพื้นที่ฝังกลบขยะให้เหมาะสม และการส่งเสริมวิศวกรยุคใหม่ให้มีทักษะด้านการบริหาร 

อาจารย์หลายคนไม่ได้อยากทำงานบริหาร แต่อาจารย์เลือกให้เวลากับงานส่วนนี้ด้วย งานนี้น่าสนใจอย่างไร

แต่ละคนมีความถนัดของตัวเอง สำหรับผม มองว่างานบริหารเป็นวิธีหนึ่งในการ Contribute กลับให้กับคณะที่ผมเติบโตมา ผมจึงช่วยเหลืองานภาควิชามาเรื่อย ๆ เป็นเลขานุการบริหารคณะ ขึ้นมาเป็นรองคณบดีอยู่หลายปี ถึงค่อยขึ้นมาเป็นคณบดี 

1 วันของคณบดีต้องทำอะไรบ้าง และจุดมุ่งหมายของการเป็นคณบดีคืออะไร

โดยพื้นฐานมี 4 ส่วนหลัก ส่วนแรก คือการดูแลความเป็นอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยของนิสิต รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น พ่อแม่ โดยที่เราอยากให้นิสิตได้เรียนรู้มากที่สุดในช่วงเวลาที่เขาอยู่กับเรา ไม่ใช่แค่ด้านวิชาการ แต่เป็นเรื่องชีวิตด้วย บางคนเข้ามามหาวิทยาลัยยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร สิ่งที่เราทำได้คือการ Provide สิ่งที่คิดว่าดีที่สุด ณ เวลานั้นให้กับเขา เป็นข้อมูลให้เขาเลือกเดินทางต่อไปได้เอง

สอง คือเจ้าหน้าที่และอาจารย์​ สาม คือ Stakeholders เช่น ศิษย์เก่าที่มีหลายหมื่นคน ภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเอกชน และสุดท้ายคือภาคส่วนอื่นที่เราร่วมมือกันได้ เช่น การทำ Co-research ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ และความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำต่าง ๆ เป็นหนึ่งในงานที่คณบดีสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้

รวมแล้วคือการบริหาร 4 ภาคส่วนนี้ให้ตอบโจทย์กับการมีอยู่ของมหาวิทยาลัย คือส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสร้างคน เพื่อตัวของคนคนนั้นเองและสังคมที่ยั่งยืน 

อาจารย์เจอโจทย์ยากอะไรบ้างในการบริหารงาน อย่างโควิด-19 ที่พลิกวิธีการเรียนการสอน ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายไหม

ถ้ามองแค่การบริหารคณะ โควิด-19 ทำให้เราต้องกระโดดไปสู่สิ่งใหม่เร็วขึ้น ปรับตัวไปพร้อมกับหลายมหาวิทยาลัย พยายามสนับสนุนนิสิต บุคลากร ให้เรียนและทำงานได้ และเราก็เรียนรู้จากการเปลี่ยนแปลงนี้ไปด้วย

แต่อีกสิ่งที่หนักหนาไม่แพ้กันในยุคสมัยนี้ คือการเข้ามาของ AI ที่ Disrupt มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดกันมาเป็นสิบปีว่ามหาวิทยาลัยยังจำเป็นอยู่หรือเปล่า ในเมื่อมีแพลตฟอร์มคอร์สออนไลน์ ภาคเอกชนสร้าง Academy ของตัวเองขึ้นได้เอง แต่ถึงอย่างนั้น องค์ความรู้ก็ยังอยู่กับใครสักคน

พอมาวันนี้ AI ทำให้คนกลางเริ่มถูกแทนที่ เมื่อก่อนวิชาพวก Programming ถือว่าปราบเซียน แต่เดี๋ยวนี้ง่ายขึ้นเยอะ เรามี ChatGPT ที่คิดให้แทนได้ อาจยังไม่แม่นยำทั้งหมด แต่อนาคตคงทำได้และจะเห็นผลกระทบอย่างชัดเจน

คำถามคือ เราจะสร้างคุณค่าของเราอย่างไร การทำงาน ประเมินผลแบบเดิมคงไม่ได้ผล ถึงจะยังไม่มีคำตอบทั้งหมด แต่แน่นอนว่าต้องทำให้หลักสูตรยืดหยุ่นกว่าเดิม พร้อมดูแลคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของทุกคน เพื่อผลลัพธ์ที่เหมาะสมและดีที่สุดกับสังคม

ในคลิปต้อนรับนิสิตใหม่รุ่น 107 อาจารย์บอกว่ามีการปรับหลักสูตร เช่น ลดหน่วยกิตวิชาที่บังคับให้เรียน 

เป็นการปรับโดยนึกถึงว่าผู้เรียนควรมีโอกาสเลือกสิ่งที่อยากเรียน เมื่อก่อนนิสิตที่คณะต้องเรียนสัก 150 หน่วยกิต เลือกวิชาเองได้น้อยมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากที่เราฟังภาคส่วนต่าง ๆ ว่าต้องการอะไร แล้วเอาวิชามาเพิ่มในหลักสูตร แต่ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก และเราให้ทุกอย่างไม่ได้อยู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือการให้พื้นฐานที่ดี ให้เขาไปต่อยอดได้ด้วยตัวเอง เป็นที่มาว่าเราลดวิชาบางอย่างลง เหลือสัก 130 หน่วยกิต แล้วมีวิชาที่สำคัญสำหรับยุคสมัยใหม่อยู่ในนั้น เช่น วิชาดิจิทัล 2 ตัว

ฟังดูเหมือนทำง่าย แต่ตอนทำแรก ๆ ผมโดนอาจารย์เฉ่งนะ วิชาบังคับที่เขาสอนถูกลดลง อาจรู้สึกว่าวิชาเขาไม่สำคัญ แต่อาจารย์ยังทำให้เป็นวิชาเลือกได้ แค่ต้องโปรโมตกับนิสิตให้เป็นว่าวิชานี้สำคัญอย่างไร แล้วพอวิชาบังคับลดลง อาจารย์กลับต้องพยายามทำคอนเซปต์ของวิชาให้ชัดขึ้นด้วย ปูพื้นฐานส่วนที่สำคัญให้คนเอาไปต่อยอดเป็น

เรายังส่งเสริมให้เกิดการทำงานข้ามภาควิชากันด้วย เช่น เปิดให้นิสิตกับอาจารย์ทำ Senior Project แบบข้ามภาคกัน เพื่อให้เกิดอะไรใหม่ ๆ ไม่ติดกรอบเดิม เช่น ปีนี้มีนิสิตภาควิศวกรรมอุตสาหการทำงานกับสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นโปรเจกต์ระบบการแจ้งเตือนไฟป่าอัจฉริยะจากข้อมูลดาวเทียม แล้วก็ได้ไปนำเสนอในเวทีหนึ่งของสหประชาชาติ

นอกจากนิสิตปัจจุบัน ยังมีโครงการ Lifelong Learning ให้บุคคลทั่วไปมาลงเรียนกับคณะได้ด้วย เพราะเดี๋ยวนี้การเรียนรู้ไม่ได้จำเป็นต้องเกิดขึ้นในห้องเรียนอีกต่อไปแล้ว เพราะเชื่อว่า Move on & Move beyond สร้างการเปลี่ยนแปลงได้

ทุกวันนี้คนไม่ได้เรียนกับวิศวจุฬา เพื่อเป็นวิศวกรอีกต่อไป

ในประเทศไทยมีคณะและภาควิชาที่เกี่ยวกับวิศวกรรมศาสตร์กว่า 200 แห่งทั่วประเทศ เราคิดว่ามีผู้ผลิตวิศวกรที่เป็นวิชาชีพอย่างที่คนเข้าใจกันมากพอสมควรแล้ว โจทย์ของเราคือการสร้างวิศวกรยุคใหม่ที่มีทักษะให้กับสังคม และเป็นนวัตกรที่เข้าใจเรื่องความยั่งยืนด้วย ตามแนวคิดของคณะเรื่อง Innovation toward Sustainability ซึ่งเยาวชนจะมีบทบาทมากในอนาคต 

จริง ๆ วิศวกรรมศาสตร์เป็นทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ได้เป็นแค่องค์ความรู้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องฝึก พอฝึกแล้วก็นำไปใช้งานต่อได้ ทุกวันนี้เราจึงเห็นบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ทำงานในสายงานอื่นอีกเยอะ

แทบจะพบเห็นได้ในทุกภาคส่วน หลายคนมีบทบาทสำคัญในภาคสังคมและการบริหารบ้านเมือง

ใช่ เราพยายามดึงพวกเขาในทุก ๆ เจเนอเรชันให้มาเกี่ยวข้องกับคณะอยู่เสมอด้วย เพราะคนข้างนอกรู้เยอะกว่าเราแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยทั้งหมด เช่น เราเชิญศิษย์เก่ามาแชร์ประสบการณ์ ทำโครงการ Mentoring ให้นิสิตเห็นว่า Career Path ที่เป็นไปได้สำหรับเขาคืออะไร บางคนอยากข้ามไปทำงานด้านอื่น ก็ไม่ต้องไปต่อสู้ดิ้นรนเองคนเดียวเหมือนแต่ก่อนแล้ว เราสร้างการ Engage เพื่อเชื่อมศักยภาพกับทุกภาคส่วนให้มากที่สุด เพื่อสร้างประสบการณ์ให้แก่เขาร่วมเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน

คณะวิศวพยายามผลักดันนวัตกรรม ขณะเดียวกัน รูปแบบการจัดการคณะก็ดูมีพื้นฐานความเป็นราชการอยู่ อาจารย์บริหารอย่างไร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงแม้ออกนอกระบบมา (อยู่เป็นหน่วยงายภายในกำกับของรัฐ) ก็ยังคงมีระบบการทำงานแบบราชการอยู่ และมีรายละเอียดที่จุกจิกบ้าง สิ่งที่ผมคิดคือเราต้องยืดหยุ่นให้ถูก และหาทางอำนวยความสะดวกให้งานเดินข้างหน้าได้เร็ว ไม่ใช่ต้องตามตัวอักษรทุกอย่าง อะไรที่ผ่อนได้เพื่อให้งานเดินหน้าต่อก็ต้องทำ แต่แน่นอนว่าต้องมีวัฒนธรรมและบุคลากรที่ยึดถือเรื่อง Integrity ไม่ทุจริตและหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง ซึ่งเรามั่นใจว่าเราดูแลตรงนี้ได้ดี เป็นหนึ่งในเรื่องที่ภาคภูมิใจในการทำหน้าที่นี้

บุคลากรในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่อาจารย์นะ แต่รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วย ต้องยอมรับว่าพอมหาวิทยาลัยมีความเป็นสังคมวิชาการ คนมักนึกถึงอาจารย์ก่อนเป็นลำดับแรก แต่มหาวิทยาลัยอยู่ได้เพราะมีเจ้าหน้าที่ภาคส่วนต่าง ๆ ช่วยกัน ซึ่งเราผลักดันให้พวกเขาได้มี Career Path เติบโตในหน้าที่การงาน แม้เล็กน้อยก็ตาม แต่ใคร ๆ ก็คงอยากกลับบ้านไปบอกที่บ้านได้ว่าวันนี้ชีวิตเขาก้าวหน้าขึ้น ถ้าเขาก้าวหน้า ไม่มีเรื่องให้ต้องพะวงในชีวิต เราถึงจะก้าวไปข้างหน้าเพื่อจุดประสงค์เดียวกันแบบ One Dream One Goal

ส่วนในภาพรวม พูดแบบง่าย ๆ ที่คณะมีอยู่ประมาณ 20 เสาหลักที่ต้องดูแล ซึ่งมีความกระจัดกระจายกันทำอยู่ สิ่งที่เราตั้งใจทำตั้งแต่ขึ้นเป็นคณบดีคือการหาทางรวมกัน ปรับโครงสร้าง ไม่แบ่งเป็นภาควิชาโดด ๆ พยายามทำมาเรื่อย ๆ อย่างเต็มที่ บนความเชื่อที่ว่า MOVE on ถ้าไม่หยุดก้าวเดิน จะถึงจุดหมายอย่างแน่นอน

ไม่สำเร็จแล้วทำอย่างไร

ถึงไม่สำเร็จ แต่ไม่ได้เป็นความล้มเหลว เรากลับเข้าใจว่าเป็นธรรมชาติของงาน เป็นธรรมชาติของอาจารย์ที่อยากลงลึกกับอะไรสักอย่างให้สุด บางทีไปฝืนก็ไม่มีประโยชน์

หน้าที่ของเราคือให้อาจารย์ลงลึกเป็นผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นให้สุดจริง ๆ ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดนวัตกรรมพวก Deep Tech ที่ประเทศต้องการ แต่ต้องมีกลไกที่ทำให้ความรู้ของเขาไปต่อกับภาคส่วนอื่นไม่ให้เป็นงานขึ้นหิ้ง สร้างแพลตฟอร์มตรงกลางเหมือนโครงข่ายการขนส่ง แทนที่จะเอาสถานีรถไฟมารวมกันอยู่สถานีเดียว เรากระจายออกเป็นหลายสถานี แล้วมีแพลตฟอร์มกลางที่เชื่อมทุกสถานีเข้าด้วยกัน ผู้เรียนก็เลือกได้ว่าตัวเองอยากไปอยู่ที่ไหน 

เช่น เรามีรายวิชาที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ เขามีวิชาที่นำสิทธิบัตรของอาจารย์มาให้เด็กเลือก เลือกแล้วไปคุยกับอาจารย์ว่าจะเอางานวิจัยนั้นไปทดลองทำเป็นสตาร์ทอัพได้อย่างไร ทำให้เขาได้คิดเชิงธุรกิจจริง เราก็นำเอาแนวคิดนั้นมาปรับใช้

หรือเรามีการสร้าง Innovation Hub ที่ผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมในคณะ ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากที่นี่ เช่น Meticuly ที่ผลิตกระดูกเทียมสำหรับเฉพาะบุคคล ก่อนที่ Hub นี้จะขยายผลไปเป็นโครงการระดับมหาวิทยาลัย 

ส่วนที่คณะตอนนี้ก็ยังมีแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม CBiS สถาบันที่บริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกตามหลักวิศวกรรม วิศวกรรมชีวเวช (Biomedical Engineering) ที่ร่วมกับคณะทางการแพทย์ รวมทั้งศูนย์ AIMET ที่มีการศึกษาเรื่องการใช้ AI เพื่อการแพทย์ด้านจิตเวช เป็นการประสานความรู้จากหลายศาสตร์เพื่อให้เกิดนวัตกรรม

การรวมตัวคนเก่งก็มีความท้าทายอีกแบบ อาจารย์บริหารและดูแลคนเหล่านี้อย่างไร 

เราต้องมี Core Values และจุดหมายที่เห็นตรงกันก่อน ที่ผ่านมาคณะอาจทำหลายอย่าง แต่เราสรุปออกมาเป็น 4 แกนสำคัญของทุกสิ่งที่เราทำ แทนด้วยคำว่า MOVE ซึ่งเป็นหลักการของสิ่งที่กล่าวไป

M คือ Maximized Learning Systems หรือการทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์กับเขาได้มากที่สุด ไม่จำกัดอยู่ที่รูปแบบเดิม

O คือ Outstanding Research and Innovation หรือการทำวิจัยและนวัตกรรมที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ช่วงที่ผ่านมามีการตีพิมพ์งานในวารสารระดับนานาชาติในกลุ่มท็อป 10 เปอร์เซ็นต์มากขึ้น แล้วหลายงานก็ได้นำมาใช้จริง เช่น ช่วงโควิด-19 เราส่งมอบรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษที่รู้ผลโรคระบาดได้เร็ว และหุ่นยนต์ปิ่นโตที่ช่วยในการขนส่งของผ่านการควบคุมทางไกล เพื่อช่วยเหลือการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์

V คือ Value Creation for Society ผ่านการสร้างพื้นที่ โปรเจกต์ แพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้เกิดการสร้างคุณค่ากับสังคมโดยรวม

และ E คือ Engaging Stakeholders เป็นการสร้างและต่อยอดความร่วมมือ ไม่ว่าจะทั้งภาครัฐ เอกชน อุตสาหกรรม นิสิตปัจจุบัน และนิสิตเก่า 

พอทุกคนมีแนวทางและสิ่งที่ตัวเองสนใจ เราต้องทำให้เป้าหมายชัดขึ้น เพื่อ MOVE ความรู้ของคนให้ขยับมาใกล้กัน อาจมีหลายทิศทาง แต่ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน เพื่อให้คนเก่งทำงานร่วมกันได้

7 ปีที่ผลักดันแนวทางนี้ มีอะไรบ้างที่ไม่สำเร็จ หรือยังทำไม่เสร็จตามที่คาดหวังไว้ ถ้ามีเวลาเพิ่มก็อยากทำเรื่องนี้ต่อ

เรื่องที่ไม่สำเร็จมีเยอะเหมือนกันนะ เช่น การบริหารจัดการข้อมูลภายในคณะที่มีประสิทธิภาพได้มากกว่านี้ บางอย่างก็ยังทำผ่านการเขียนมือ แต่ละภาควิชามีระบบแตกต่างกัน กว่าจะสืบค้นเจอก็ต้องหาว่าอยู่ที่ไหน ทำให้ต้องใช้เวลากับส่วนนี้แทนที่จะได้ไปทำเรื่องอื่น ๆ ตอนนี้กำลังผลักดันการแก้ไขเรื่องนี้อยู่

อีกเรื่องที่อยากทำต่อคือการสร้างนวัตกรรม เราเห็นว่ามีการเริ่มต้นนวัตกรรมหลายอย่างที่ดีเช่น Meticuly และ HiveGround แต่คิดว่ายังมีโครงการและสตาร์ทอัพจากองค์ความรู้ในคณะที่เราผลักดันให้เติบโตไปได้ไกลกว่านี้อีก เป็นเรื่องที่อยากเห็นเกิดขึ้นต่อไป

 ถ้ามีเวลาทำอยู่ ก็เป็นเรื่องที่อยากเห็นเกิดขึ้น

จากการทำงานที่ผ่านมา อาจารย์อยากถูกจดจำว่าเป็นผู้นำแบบไหน

ผู้นำที่พร้อมสนับสนุนคน ไม่ว่าจะสำเร็จหรือผิดพลาด 

ถ้าคนสำเร็จ เรามีพื้นที่ให้เขาได้เดินนำหน้า แต่ถ้าเขาพลาด ซึ่งเกิดขึ้นได้ในการทำงาน เราจะไปอยู่ข้าง ๆ คอยสนับสนุนเขา และเดินไปข้างหน้าเพื่อรับความผิดพลาดนั้นด้วยกันแบบ Move on & Move beyond

8 Things you never know

about Supot Teachavorasinskun

1.  วิชาที่อยากเข้าไปนั่งเรียนในมหาวิทยาลัย

AI

2.  ร้านอาหารโปรดในคณะ

ข้าวเหนียวไก่ทอดอักษรฯ (ที่อยู่คณะวิศวฯ)

3. หนังสือที่อยากแนะนำให้นิสิตอ่าน

The Invisible Leader เขียนโดย นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

4.  ถ้าต้องแข่งรายการ แฟนพันธุ์แท้ ตอนที่ไม่เกี่ยวกับวิชาชีพคุณ คุณจะลงแข่งตอนอะไร

แบดมินตัน

5. สิ่งที่เพิ่งได้เรียนรู้เร็ว ๆ นี้

ผมเพิ่งหัดเขียน Python (ภาษาในการเขียนโปรแกรมภาษาหนึ่ง)

6.  นวัตกรรมที่ชอบและอยากให้คนได้ใช้งานเยอะ ๆ

กระดูกเทียมที่พัฒนาโดย Meticuly

7. ถ้าไม่ได้ทำงานมหาวิทยาลัย น่าจะทำอะไรอยู่

อาจจะเปิดร้านอาหาร

8. ถ้ามีเวลา 1 นาทีให้โอวาทนิสิตจบใหม่ คุณจะบอกพวกเขาว่าอะไร

ให้เป็นคนดี

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล