แกงนี้เรียกว่า ‘แกงป่าหรือแกงโฮะ’ เป็นสูตรแกงที่แม่ของ ต้อม-ณัฐพงศ์ แซ่หู ได้มาจากป้าข้างบ้านที่เป็นคนเหนือ 

“แถวตำบลแสนพัน จังหวัดนครพนม ปลูกกระเทียมไทยกันเยอะ มีคนจากภาคเหนือมาซื้อกระเทียมไปขายแถวเชียงใหม่ คุณป้าคนเหนือคนนี้เขามาแต่งงานอยู่แถวบ้าน เวลาเขาทำแกงเขาจะทำเยอะ ๆ แล้วแจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน แม่ชอบแกงนี้เลยไปขอสูตรมาจากเขา

“เกิดมาเราก็ได้กินแกงแบบนี้แล้ว แต่เข้าใจว่าตอนที่ป้าเขาสอนแม่ น่าจะตั้งใจสอนทำแกงโฮะ แต่ป้าเรียกว่าแกงป่า เพราะคิดว่าถ้าเรียกว่าแกงโฮะคนอีสานไม่น่าจะรู้จัก แม่เลยเรียกแกงนี้ว่าแกงป่ามาตลอด อาจเพราะมีผักเยอะมาก พอเรียกว่าแกงป่า คนมักนึกภาพอีกแบบหนึ่ง แต่หน้าตามันจะเป็นแกงโฮะของภาคเหนือมากกว่า

“ปกติแกงโฮะใช้แกงฮังเลเป็นแกงหลักในส่วนผสม แต่ตอนที่แม่ทำแม่เข้าใจผิดนึกว่าเขาใช้พริกแกงแดงธรรมดา เลยโขลกน้ำพริกแกงแดงลงไปแทน ใส่กระเทียม หอมแดง และพริกแห้งมากกว่าปกติ ใส่พวกยอดผักต่าง ๆ มะเขือ วุ้นเส้น ชะอม แต่เปลี่ยนจากเนื้อหมูสามชั้นเป็นเนื้อเสือร้องไห้ติดมันแทน เพราะที่บ้านชอบกินเนื้อมากกว่า แล้วเปลี่ยนหน่อไม้ดองของแกงโฮะเป็นหน่อไม้สด 

“แกงนี้เลยกลายเป็นแกงเผ็ดเนื้อไม่ใส่กะทิ ใส่ผักคล้าย ๆ แกงโฮะ รสไม่เผ็ดมาก และไม่เปรี้ยวเพราะไม่ใส่มะขามเปียกเหมือนแกงฮังเลที่ผสมเป็นแกงโฮะ

“ส่วนมากจะทำแกงนี้ตอนลูก ๆ กลับบ้าน เพราะคนเยอะ ทำทีละหม้อใหญ่ ๆ ตั้งแต่มื้อเช้าแล้วก็กินทั้งวัน มื้อเที่ยง ไปจนมื้อเย็น พอตอนมื้อเย็นก็จะแห้ง ๆ เหมือนผัดจับฉ่ายแล้ว และที่สำคัญต้องกินแกงนี้กับข้าวเหนียว

วิธีทำ

  1. ตำพริกแกงแดงหรือจะซื้อพริกแกงแดงมาก็ได้ เพิ่มหอมแดง กระเทียม และกะปินิดหน่อย 
  2. ผัดเนื้อเสือร้องไห้ที่ต้องเลือกแบบติดมัน เพราะเวลาผัดกับพริกแกง น้ำมันเนื้อจะทำให้พริกแกงหอมมาก 
  3. หลังจากนั้นเติมน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ 
  4. ผัดจนเนื้อสุก มีน้ำเนื้อออกมาพอขลุกขลิก แล้วค่อยเติมน้ำเปล่าลงให้น้ำมากกว่าเนื้อเป็นเท่าตัว
  5. ต้มประมาณ 1 ชั่วโมงหรือพอเนื้อนิ่มค่อยชิมรส
  6. ใส่ผักที่สุกยากลงไปก่อน เริ่มจากมะเขือ ฟักทอง มะเขือพวงแบบที่บ้านจะบุบและแช่น้ำเกลือไว้ลดความเฝื่อน ตามด้วยหน่อไม้ต้มที่แนะนำให้ฝานแบบบาง ๆ จะเข้าเนื้อกว่าหั่นเป็นชิ้น ๆ
  7. พอผักสุกค่อยชิมอีกรอบ ถ้าขาดรสอะไรก็เพิ่มได้ รสที่ชอบคือเค็มนัว เผ็ดนิดหน่อย แล้วมีรสหวานตาม ให้รสหวานน้อยกว่าเค็ม
  8. หลังจากนั้นเติมผักที่สุกง่ายหรือยอดผักอะไรก็ได้ อย่างยอดตำลึง ยอดบวบ ใส่ผักบุ้งนา 
  9. ใส่วุ้นเส้นที่แช่น้ำแบบรวดเร็วแค่พอคลายตัว แนะนำให้ใช้วุ้นเส้นจากถั่วเขียว 100 เปอร์เซ็นต์ ช่วยให้วุ้นเส้นไม่เละ
  10. พอผักสุกดีแล้วค่อยใส่ใบมะกรูด ฉีกแล้วขยี้ด้วยนิ้วก่อนใส่ลงไปในหม้อ แล้วใส่ชะอมเป็นลำดับสุดท้าย
  11. ผัดจนน้ำแกงเริ่มงวดแต่อย่าให้แห้งแล้วตักกินได้ แนะนำให้กินกับข้าวเหนียว

ถ้าคุณมี ‘สูตรเมนูพิเศษของครอบครัว’ และอยากบันทึกสิ่งนั้นไว้ในคอลัมน์สูตรประจำบ้าน เราพร้อมเปิดรับเรื่องราวของคุณ โดยเขียนเล่าความทรงจำ ความพิเศษของเมนูนั้นที่หากินไม่ได้จากที่อื่น ไม่จำกัดประเภทอาหารและวัฒนธรรม ส่งมาพร้อมกับรูปถ่ายเมนูอาหารนั้น ระบุชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และ Facebook ของคุณ มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์สูตรประจำบ้าน’ หากสูตรไหนมีเรื่องเล่าที่พิเศษและที่มาน่าสนใจ ทางทีมงานจะติดต่อกลับไป

Writer & Photographer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน