วันนี้เป็นวันสงกรานต์ หนุ่มสาวชาวบ้านเบิกบานจิตใจจริงเอย…

เพลง รำวงสงกรานต์ ของวงสุนทราภรณ์ เพลงติดหูฝีมือการประพันธ์เนื้อร้องของ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล คอยเตือนให้ผมรู้ว่าเทศกาลสงกรานต์ที่หลาย ๆ คนเฝ้ารอคอยกำลังมาถึง 

จังหวะเพลงเนิบ ๆ ช้า ๆ พร้อมเนื้อหาที่บอกเล่าวิถีชีวิตและกิจกรรมสุดบันเทิงของคนไทยในเทศกาลสงกรานต์

ตอนเช้าทำบุญ ตักบาตร ตอนบ่ายเริงกีฬา เล่นมอญซ่อนผ้า สะบ้า แล้วต่อด้วยรำวง

ถ้าผมเดินทางข้ามเวลาทะลุกระจกอย่างหนัง ทวิภพ กลับไปสัก 50 ปีก่อน ภาพบรรยากาศการละเล่นสาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์จะเป็นเหมือนเช่นเนื้อหาของเพลงรำวงสงกรานต์หรือเปล่า – ผมคิด

ทะลุมิติผ่านกระจกคงเหนือฝัน ผมเลือกเดินเข้าหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปไขคำตอบที่สงสัย และเลือกเครื่องมือที่ให้ข้อมูลได้ไวและร่วมสมัยที่สุด (ผมหมายถึงใน พ.ศ. 2500 น่ะ)

‘หนังสือพิมพ์’ คือสิ่งแรกที่ผมนึกถึง เพราะสิ่งพิมพ์คือสื่อที่บันทึกภาพ-ข้อเขียน ของเหตุการณ์ได้ทันเวลาและส่งถึงมือผู้อ่านได้รวดเร็วที่สุด ผมเดินสำรวจหนังสือพิมพ์เก่าที่เรียงรายวางซ้อนกัน

ผมเลือกหยิบ สยามรัฐ ชาวไทย และ ประชาธิปไตย เฉพาะฉบับที่ตีพิมพ์ใน ‘เดือนเมษายน’

ภาพอดีตไม่ต่างจากปัจจุบันมากนัก ยังมีแก๊งวัยโจ๋สาดน้ำเข้าไปในรถเมล์และรถไฟ ปัญหาของชาวพระนครในอดีตก็แสบไม่แพ้ยุคนี้ มีภาพประกวดเทพีสงกรานต์ มีภาพคนวิ่งไล่ประแป้งแกล้งกันกลางสนามหลวง พร้อมคำบรรยายจิกกัดแสบ ๆ คัน ๆ ให้คนอ่านสะดุ้งและหัวร่อไปตาม ๆ กัน 

หลังจากค่อย ๆ เปิดอ่าน ผมพบว่าพระนครมีจุดจัดงานสงกรานต์ 5 สถานที่ ซึ่งมีภาพถ่ายตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ผมถือโอกาสชวนทุกท่านย้อนอดีตผ่านภาพถ่ายไปเล่นน้ำตามรอยวัยรุ่นพระนคร บางสถานที่ยังคงจัดงานเป็นประจำทุกปี และบางสถานที่เหลือแต่เพียงความทรงจำ

‘สนามหลวง’ ลานกว้างใจกลางพระนครเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ชาวกรุงยุค 2500 มาร่วมงานเทศกาลสงกรานต์เป็นอันดับต้น ๆ และที่ขาดไม่ได้คือการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาประดิษฐานกลางท้องสนามหลวง ให้ชาวพระนครสรงน้ำตามธรรมเนียม บางปีมีขบวนแห่รอบเกาะรัตนโกสินทร์อย่างยิ่งใหญ่ข้ามสะพานพุทธไปวงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี มีผู้คนรอสรงน้ำกันอย่างคึกคักตลอดสองฝั่งถนน 

ส่วนหนุ่มสาวก็มาพบกัน ประแป้ง สาดน้ำสนุกสนาน จากสนามหลวงยาวไปถึงถนนราชดำเนิน หลายครั้งเทศกาลสงกรานต์กลายเป็นสถานที่พบรัก หลายครั้งเล่นกันจนวุ่นวายจนโดนหนังสือพิมพ์วิจารณ์เกือบทุกปี

อย่าง สยามรัฐ ฉบับวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2517 วิจารณ์ถึงสิ่งที่อยู่คู่สงกรานต์สนามหลวงว่า 

สิ่งที่ไม่ขาดหายไปไหน ก็คือพวกเล่นสงกรานต์สกปรกยังมีประจำอยู่ทุกปีที่ท้องสนามหลวง

แยกวิสุทธิกษัตริย์เป็นสถานที่เจิดจรัสของเหล่าสตรีในพระนคร เพราะที่นี่เป็นที่ประกวดนางสงกรานต์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ในชื่อ ‘เทพีสงกรานต์วิสุทธิ์กษัตริย์’

ขันเงินใบโตที่เหล่าเทพีถือในมือ เป็นภาพจำของเวทีที่อยู่คู่สื่อเสมอไป ขันเงินนี้ไม่ได้มาจากไหนไกล หาได้จากบ้านพานถม ชุมชนแหล่งผลิตเครื่องถมที่อยู่ใกล้กัน บอกไว้เลยว่าหากสตรีคนใดที่อยากมีชื่อเสียงได้ดิบได้ดี เสาะแสวงหาการเป็นดาราหรือนางสาวไทยต้องไม่พลาดเวทีนี้

จีรนันทน์ เศวตนันทน์, เนาวรัตน์ วัชรา สตรีที่หลายคนอาจคุ้นชื่อก็เคยมาประกวดจนกลับไปได้ตำแหน่งใหญ่โต คนแรกเป็นถึงรองอันดับ 2 นางงามจักรวาล คนที่ 2 เป็นรองนางสาวไทยปีเดียวกับ อาภัสรา หงสกุล และได้เล่นหนังเรื่อง เดือนร้าว คู่กับ มิตร ชัยบัญชา จนได้รางวัลตุ๊กตาทองมาครอบครองใน พ.ศ. 2508

งานสงกรานต์ที่แยกวิสุทธิกษัตริย์นี้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2478 เรื่อยมา มีหยุดชะงักไปบ้างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลับมาจัดอีกครั้งหลัง พ.ศ. 2489 

จนมาช่วงหลังจากแยกวิสุทธิกษัตริย์ถูกสะพานพระราม 8 ตัดผ่าน สถานที่จัดงานเปลี่ยน ทำให้ความทรงจำของเวทีเลือนหายไปเช่นกัน จนหลายคนแทบไม่รู้จัก

สวนสัตว์ดุสิตหรือเขาดินวนา เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ชาวพระนครชวนกันไปเที่ยวในเทศกาลสงกรานต์ เพราะนอกจากความเพลิดเพลินจากสิงสาราสัตว์นับร้อย ยังมีขบวนแห่นางสงกรานต์ใหญ่โตที่วนเวียนอยู่ในสวนสัตว์ ส่วนสิ่งที่ผู้คนจดจำคงเป็นภาพนางสงกรานต์นั่งสวยสง่าบนขบวน จำลองเหตุการณ์ตามตำนานวันสงกรานต์ สื่อสิ่งพิมพ์ไม่ลืมแชะภาพ นำลงหนังสือพิมพ์ให้คนที่ไม่ได้ไปได้อิจฉาเล่น 

ไม่ไกลจากเขาดินวนา มีงานสงกรานต์จัดที่วัดเบญฯ เป็นสถานที่รวมตัวของชาวเหนือที่อาศัยในพระนคร ในฐานะที่วัดเบญฯ เป็นศูนย์รวมของคณะสงฆ์ฝ่ายเหนือ ไม่พ้นที่คนบ้านเดียวกันเมื่ออยู่ไกลบ้าน ครั้งหนึ่งจะได้มาพบเจอ ทำให้สีสันการสาดน้ำประแป้งที่นี่คึกคักไม่แพ้ที่อื่น หนุ่มสาวชื่นมื่นสนุกสนาน พร้อมฉากสีขาวซึ่งเป็นอุโบสถหินอ่อน 

ช่วง พ.ศ. 2500 ภาพจำที่สื่อมักบันทึกจนเป็นธรรมเนียมคู่วัดเบญฯ คือภาพ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น พร้อม ท่านผู้หญิงจงกล ภริยา เดินทางมาเป็นประธานให้ชาวพระนครรดน้ำดำหัววันสงกรานต์ แต่หลังจากมีเรื่องราวช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นเหตุให้ต้องออกนอกประเทศ สงกรานต์ปีถัดไปหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ เลยแซวซะแรง อย่างฉบับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2517 เขียนไว้ว่า 

ปีนี้ขาดคนที่จะดำหัวไป 2 คน คนหนึ่งอยู่ที่บอสตัน อีกคนอยู่ที่ไทเป ไม่ทราบว่าจะตามไปดำหัวถึงที่นั่นหรือเปล่า

สยามรัฐ (21 เมษายน 2517): 1.

ตะละแม่สาวมอญ ชวนชาวพระนครไปเล่นสงกรานต์ที่พระประแดง

ชวนชาวพระนครลงทางใต้ไปเล่นน้ำที่พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ที่คนยุคก่อนเรียกกันติดปากกันว่า ‘สงกรานต์ปากลัด’ งานที่นี่จัดยิ่งใหญ่ตามประเพณีของชาวรามัญ ซึ่งอาศัยอยู่มากในอำเภอพระประแดง ทั้งยังให้ความสำคัญกับประเพณีเปลี่ยนผ่านขึ้นศักราชใหม่ 

แห่หงส์-ธงตะขาบ ทำบุญ ตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลา เล่นสะบ้า เป็นธรรมเนียมที่อยู่คู่กับสงกรานต์ที่นี่ ส่วนภาพที่ออกสื่อบ่อย ๆ คงไม่พ้นขบวนแห่นางสงกรานต์ พร้อมผู้คนปักหลักเล่นน้ำคึกคักเต็มถนน ภาพวันนั้นเป็นอย่างไร วันนี้ก็คล้ายเป็นอย่างนั้น เพราะนี่คือสถานที่เล่นน้ำสุดฮิตตั้งแต่คนรุ่นเก๋าจนถึงรุ่นเรา

ตะละแม่สาวมอญหน้าไทยเหล่านี้ รูปร่างชวนแลทั้งนั้น เลยเอารูปมาลงให้ดูกันเพลิน ๆ ใครดูแล้วไม่เพลินก็ไม่ขอโทษละครับ ส่วนชื่อสกุลของแต่ละโฉมนั้น ลืมถามเอามาให้ต้องไปสืบเอาเอง และอย่าลืมว่านางสงกรานต์ปีนี้ มือหนึ่งถือขอ อีกมือหนึ่งถือปืนนะจ๊ะ หนุ่มเฮย

สยามรัฐ (17 เมษายน 2515): 4.

ข้อมูลอ้างอิง
  • ชาวไทย ฉบับ 16 เมษายน 2510 : 5., 25 เมษายน 2510): 1., 16 เมษายน 2512): 1., 15 เมษายน 2515): 1., 18 เมษายน 2515): 7., 19 เมษายน 2515): 5., 15 เมษายน 2516): 1., 17 เมษายน 2516): 7.
  • ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ 14 เมษายน 2517): 10.
  • สยามรัฐ ฉบับวันที่ 15 เมษายน 2515): 4., 16 เมษายน 2515): 1., 17 เมษายน 2515): 4., 14 เมษายน 2516): 8, 9., 15 เมษายน 2517): 4., 21 เมษายน 2517): 1, 4., 14 เมษายน 2519): 8., 16 เมษายน 2525): 1.

Writer

นนท์พิเชษฐ์ชาญ ชัยหา

นนท์พิเชษฐ์ชาญ ชัยหา

เกิดและโตที่ประจวบฯ ชอบเดินตลาด ชอบสัมภาษณ์ผู้คน ชอบค้นเอกสารเก่า ชอบเข้าวัดวา ตามหาพระและแมวที่จริงใจ