เราอดกลั้นความใจหายไว้ไม่ได้เมื่อทราบว่า ‘เครื่องเงินโบราณ’ อายุนับร้อยปีตรงหน้าคือหัตถกรรมชั้นครูยุคสุดท้ายก่อนที่ ‘ช่างเงิน’ จะหายไปจากพระนคร

ครั้งนี้ เราเดินทางฝ่าความร้อนในยามเช้าไปยังชุมชนตรอกบ้านพานถม ย้อนวันวาน ดื่มด่ำกับสายธารความครึกครื้นในอดีต และฟังกาลอวสาน จุดจบที่ไร้สัญญาณเตือนเหมือนคลื่นยักษ์กวาดล้างช่างเงินจนเหลือเพียงชื่อและตำนาน แต่เป็นโชคดีของเราที่ได้พบกับตำนานที่ยังมีลมหายใจ ผู้มุ่งมั่นเก็บรักษา ‘สมบัติ’ ของชุมชนและประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของไทยเอาไว้

ทั้งยังโชคดียิ่งกว่า เพราะเมื่อไปถึง คุณยายออ-ละออศรี พิพิธภัณฑ์ (นามสกุลเดิม รัชตะศิลปิน) ช่างสลักหญิง 4 แผ่นดินบอกกับเราว่า เราคงเป็นสื่อสุดท้ายที่อนุญาตให้สัมภาษณ์ ด้วยสังขารที่ใกล้เข้าสู่หลักร้อย แต่ถึงอย่างนั้นคุณยายออวัย 92 ปี และ คุณยายหมู-พิมพ์ศิริ สุวรรณนาคร ประธานชุมชนตรอกบ้านพานถมวัย 81 ปี ก็ยังเป็นลูกหลาน 2 ตระกูล ผู้ถือครององค์ความรู้และเรื่องเล่าที่หาไม่ได้อีกต่อไปในพระนคร ตลอดจนโลกใบนี้

ช่างสลักขันเงิน 4 แผ่นดิน ศิลปินรุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม และสมบัติขันเงินอายุร้อยปี

เมื่อศิลปินสลักเงินรุ่นใหม่มิอาจอุบัติขึ้นได้อีก นี่คือเรื่องราวจากเบื้องลึกของหัวใจที่ยังหลงเหลือ ตั้งแต่ลวดลายชั้นบรมครูรุ่นทวด ที่แม้แต่ยายออยังขอยอมรับว่าไม่อาจเทียบ การประมูลพานของพระมหากษัตริย์เพียงไม่กี่ชิ้นในสยาม เครื่องเงินครบชุดแห่งเวทีเทพีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์ เวทีนางงามที่มีมานานกว่า 80 ปี และเรื่องเล่าสนุก ๆ ในวัยเยาว์ของยายหมูและยายออ ที่คนแรกบอกว่าตัวเองเกเรมาก่อน ส่วนคนหลังก็แอบซนนิด ๆ อยู่ในบ้านขุนนาง

หากอยากรู้แล้วว่าหญิงสาวที่ต้องอยู่ในระเบียบ ถอยให้ผู้ชายได้เรียนหนังสือ มีบิดาผู้เข้มงวดดูแลอย่างไข่ในหิน จะกลายเป็นช่างสลักโบราณคนสุดท้ายของตระกูลรัชตะศิลปินได้อย่างไร เราจะเปิดฉากแรกให้ท่านได้ชม

‘แม่ออ’ สี่แผ่นดิน

เวลาเห็นศิลปะสวย ๆ งาม ๆ ลงรายละเอียดอย่างหนัก หลายคนมักจินตนาการไปก่อนว่าต้องเป็นของชนชั้นสูงหรือของชาววัง แต่เครื่องเงินไม่เคยแบ่งชนชั้น และช่างเงินแห่งบ้านพานถมก็สร้างสรรค์ผลงานที่งดงามที่สุดเสมอกัน ไม่ว่าเจ้าของหรือคนสั่งทำจะเป็นใคร

“ถ้าพูดถึงเครื่องเงินโบราณ ดั้งเดิม ก็ต้องบ้านพานถมเท่านั้น” เราในฐานะชาวพระนครเหมือนกันเอ่ยตามที่เคยได้ยินผู้อาวุโสบอกมา ซึ่งคุณยายทั้งสองก็ยิ้มรับอย่างยินดี

จะหาว่าลายใดคือเอกลักษณ์ของงานช่างในชุมชนนี้คงยาก เพราะในอดีตที่นี่คือแหล่งรวมพลพรรคช่างฝีมือมากกว่า 5 ตระกูล โดยแต่ละตระกูลจะมีลวดลายงดงามต่างกัน และถึงแม้จะเป็นช่างจากตระกูลเดียวกัน ความงามก็ไหลลื่นจนต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้สั่งว่าอยากได้ตามแบบศิลปินท่านไหน

“อันนี้เป็นลายที่ฉันทำ เรียกว่า ‘มงคล 8’ ส่วนอันนี้เป็นลายของคุณแม่ ยากมาก ฉันทำไม่ได้เลย เธอทำได้ไหม” ยายออยื่นขันให้ยายหมูดู อีกฝ่ายส่ายหน้าทันที “ทำไม่ได้หรอก ยากเกินไป”

ช่างสลักขันเงิน 4 แผ่นดิน ศิลปินรุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม และสมบัติขันเงินอายุร้อยปี
ช่างสลักขันเงิน 4 แผ่นดิน ศิลปินรุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม และสมบัติขันเงินอายุร้อยปี
คุณยายละออศรีสาธิตการสลักขันเงิน

ช่างเงินเป็นอาชีพที่มีอยู่ในหลายภูมิภาคของไทยและในประเทศเพื่อนบ้าน ทุกพื้นที่มีความงดงามเป็นของตัวเอง บ้างใช้การฉลุ บ้างใช้วิธีดุนให้เกิดลายนูนสูง-นูนต่ำ อย่างพม่าหรือทางภาคเหนือ ส่วนศิลปินพระนครใช้การสลักด้วยมืออันเบาและประณีต อ่อนช้อยเสมือนภาพวาด โดยส่วนใหญ่เป็นลายจากธรรมชาติ เช่น ลายป่า ดอกพิกุล สายน้ำ ปลา ปู กุ้ง ต้นไม้ สัตว์ป่า จนถึงลายกนก กระจัง ใบเข้ หอยสังข์ เทพพนม หรือเรื่องราวในวรรณคดี อย่างเมขลาล่อแก้ว

ช่างสลักขันเงิน 4 แผ่นดิน ศิลปินรุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม และสมบัติขันเงินอายุร้อยปี
ลายฉลุ
ช่างสลักขันเงิน 4 แผ่นดิน ศิลปินรุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม และสมบัติขันเงินอายุร้อยปี
เมขลาล่อแก้ว

ตระกูลของยายออสืบเชื้อสายมาจากช่างเงินทางเวียงจันทน์ซึ่งได้เข้ามาถวายงานในวังหลวง (ตั้งแต่รุ่นคุณตา ฤทธิรงค์อาวุธ) ต่อมาจึงตั้งรกรากอยู่ ณ บ้านพานถม ยายออเป็นเด็กสาวที่ได้รับการเลี้ยงดูให้เรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้ มี หลวงอนุการรัชฏ์พัฒน์ (อู๋ รัชตะศิลปิน) ข้าราชการกรมพระคลังข้างที่ผู้เป็นบิดาดูแลอย่างใกล้ชิดโดยไม่ให้ลูกสาวลำบากทำงานอะไรทั้งนั้น

“ฉันมีพี่น้อง 5 คน สมัยนั้นลูกชายและลูกสาวจะต้องอยู่คนละบ้าน ฉันเลยไปอยู่กับพี่สาวที่บ้านคุณพ่อ เรายังได้คุยเล่นกับพี่น้องทุกคนปกติ แต่ไม่เคยได้วิ่งเล่นอย่างเด็กทั่วไป ฉันไม่ได้ออกจากบ้าน ไม่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอก วัน ๆ ฉันไม่ได้ทำอะไรเลย

“แล้วสมัยนั้นเขาส่งแต่ผู้ชายเรียน ผู้หญิงรอแต่งงาน คุณพ่อท่านต้องสืบต้นตระกูลผู้ชายขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่คู่ควรก็ไม่ยกให้ ฉันไม่เข้าใจว่าจะสืบอะไรขนาดนั้น พอท่านเสีย ฉันเลยได้แต่งงานกับคนที่ฉันเลือก” เธอหัวเราะเบา ๆ หลังเกริ่นชีวิตในวัยเยาว์ให้ฟัง

“ครั้งตอนเด็กจะไปเล่นกับคนงานก็ไม่ได้ สิ่งเดียวที่ฉันทำได้คือแอบไปดูคุณแม่ซึ่งเป็นช่างสลักทำงาน อย่างที่บอกว่าฉันไม่มีอะไรทำเลยนั่งดูทุกขั้นตอนจนจำได้ ตอนอายุ 10 กว่าขวบ เวลาคุณแม่เผลอ ฉันจะแอบไปหยิบสิ่วมาเหยียบพื้น (ดันลายส่วนที่ต้องการขึ้นมา) ทำได้นิด ๆ ก็รีบวางสิ่วเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พอคุณแม่หันไป ฉันก็หยิบสิ่วมาเหยียบพื้นต่อ

ช่างสลักขันเงิน 4 แผ่นดิน ศิลปินรุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม และสมบัติขันเงินอายุร้อยปี
ช่างสลักขันเงิน 4 แผ่นดิน ศิลปินรุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม และสมบัติขันเงินอายุร้อยปี
มงคล 8 ประการ ประกอบด้วย กรอบหน้า ตะบองหรือคทา สังข์ จักร ธงชัย ขอช้าง โคอุสภะ และคนโท
ช่างสลักขันเงิน 4 แผ่นดิน ศิลปินรุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม และสมบัติขันเงินอายุร้อยปี
งานสลักฝีมือรุ่นคุณแม่และคุณยายของยายออ

“มีบางทีฮึกเหิมอยากสลักลายแบบคุณแม่ก็เลยแอบทำไปนิดหนึ่ง คุณแม่เห็น ฉันก็รีบวางเลย แต่ก็ไม่ทัน ท่านหันมาดุหน่อย แล้วก็เอาไปแก้ลายให้ ตอนแรกฉันต้องหลบคุณพ่อด้วย แต่พอทำไปเรื่อย ๆ ฉันดันเก่งขึ้น ไม่เคยทำงานพังนะ ถ้าพังแปลว่าตอกทะลุ แล้วเธอรู้อะไรไหม เพราะเหยียบพื้น สลักลายขันนี่แหละ ฉันถึงได้เรียนหนังสือ”

อย่างที่ยายออเล่าว่าลูกชายเท่านั้นที่ได้เรียนเพื่อรับราชการ แต่การเก็บค่าจ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการเป็นช่างเงินรุ่นเด็กก็ทำให้เธอมีค่าเทอมมากพอจะส่งตัวเองเรียนจนจบ ศิษย์โรงเรียนเบญจมราชาลัยจึงได้ไปต่อที่โรงเรียนการช่างสตรีพระนครใต้ (เพราะลูกของคุณลุงพาไปสมัครผิดที่จากโรงเรียนการเรือน) สุดท้ายเธอก็จบเป็นครูสมใจ

“แต่พอไปเจอของจริงแล้วทำอะไรไม่เป็นเลยนะ ทำอาหารไม่ได้ เพื่อนทำส่งให้ทางหน้าต่าง งานฝีมือที่ไม่ใช่งานสลักก็ไม่ได้ โชคดีที่ฉันเรียนเก่งเลยช่วยกันกับเพื่อนที่เก่งภาคปฏิบัติ เรียนจบแบบงง ๆ” ยายออหัวเราะอีก พร้อมขอบคุณเพื่อนคนนั้นปิดท้ายการแนะนำตัว

ยุค ‘เงิน’ แห่งบ้านพานถม

เครื่องเงินไม่ใช่เพียงเครื่องประดับอย่างเข็มขัด สร้อยคอ หรือกำไล แต่ยังรวมถึงขัน พาน ชุดเชี่ยนหมาก ที่ใส่กาน้ำ ที่ใส่น้ำแข็ง จนถึงกล่องใส่บุหรี่ ซึ่งสมบัติของยายออก็มีมากพอจะวางแผ่เต็มโต๊ะ แต่เธอบอกว่านี่เป็นส่วนน้อยซึ่ง ‘เหลือสายตาจากที่พี่สาวเห็น’

“ตอนแบ่งสมบัติ อะไรอยู่บ้านใครคนนั้นก็เอาไป ของโบราณเยอะ ๆ สวย ๆ เลยไปอยู่กับพี่สาว เพราะเขาอยู่บ้านนั้น หลังที่ฉันอยู่มีแค่นี้ ถึงเสียดาย แต่ฉันก็ดีใจแล้ว เพราะลายแบบนี้มาหาจากรุ่นดิฉันก็ทำไม่ได้แล้ว อีกอย่างพี่สาวฉันก็คงอยากได้ เพราะเขาเคยเป็นนายเตามาก่อน” 

นายเตา ไม่ใช่ชื่อคน แต่เป็นตำแหน่งเสมือนเจ้าของบริษัท การทำเครื่องเงินจำเป็นต้องมีเตาหลอม ส่วนผู้ดูแลแจกจ่ายงานทั้งหมดเรียกว่า นายเตา ซึ่งเป็นได้ทั้งหญิงและชาย ไม่จำกัดเพศหรืออายุ ในยุคก่อน ตลอดตรอกบ้านพานถมมีเตากว่า 10 แห่ง แค่บริเวณบ้านของยายออแห่งเดียวก็ปาไป 3 เตาแล้ว

ตรอกบ้านพานถมแบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งตรอกบ้านหล่อ (ที่เราอยู่) และฝั่งวัดตรีทศเทพ แต่ฝั่งวัดตรีฯ ไม่ใช่บ้านนายเตาที่ผลิตขันเงิน หากแต่เป็นผู้รับขันที่ผลิตแล้วไปสลักต่อ ส่วนชื่อบ้านหล่อ ยายออเคยถามคุณพ่อว่าทำไมจึงเปลี่ยนชื่อบ้านพานถมเป็นบ้านหล่อ คุณพ่อเล่าเพียงว่าสุดซอยมีช่างหล่อมาอาศัยและผลิตงาน เมื่อมีการถมคลองกลายเป็นถนน ตรอกนี้จึงกลายเป็นชื่อบ้านหล่อบนพื้นที่บ้านพานถม ส่วนชื่อบ้านพานถมถูกนำไปใช้กับพื้นที่ทางวัดตรีฯ ซึ่งแท้จริงแล้วมีช่างสลักบ้าง แต่ไม่มีเตาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการทำเครื่องเงินเลย

ส่วนคำว่า บ้านพานถม ก็ต้องอธิบายเพิ่มเติมว่าช่างเงินและช่างถม ไม่ใช่อาชีพเดียวกัน เครื่องถมเป็นหัตถกรรมขึ้นชื่อจากภาคใต้ ใช้เนื้อถมถมลงบนพื้นตามร่องลาย ต่อมามีช่างถมจากภาคใต้ขึ้นมาอาศัยในพระนคร ทำให้รวมกันเป็นชื่อ ‘บ้านพานถม’

ช่างสลักขันเงิน 4 แผ่นดิน ศิลปินรุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม และสมบัติขันเงินอายุร้อยปี
ช่างสลักขันเงิน 4 แผ่นดิน ศิลปินรุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม และสมบัติขันเงินอายุร้อยปี
คุณยายหมูสาธิตการสลักขันเงิน

“บ้านนายเตามีหลายอาชีพอยู่ในนั้น จะมีช่างหลอม ใช้ถ่านสำหรับทำทองและใช้เครื่องสูบให้ไฟเผาเบ้าหล่อจนเงินก้อนละลาย ฉันก็เป็นคนไปซื้อเงินจากบ้านหม้อ แต่ถ้าไม่มีก็เอาเหรียญหลอมไปเลย สมัยก่อนเขาไม่ถือ แต่ถ้าตอนนี้ติดคุกแน่ ๆ” หญิงชราผู้พี่หัวเราะ

“คนหลอมก็หลอมไป หลอมแล้วเอาไปขึ้นรูป มีเสาฝังลงดิน ค้อนใหญ่มาก คนตีต้องเป็นชายรูปร่างใหญ่ ตีจากแผ่นแบน ๆ ให้ขึ้นรูปเป็นขันเรียบ ๆ เสร็จแล้วจะมีคนเผาชัน เอาชันใส่เข้าไปเพื่อให้คนแก่สลักลวดลาย คนสลักก็คนหนึ่ง คนเหยียบพื้นก็อีกคน พอเรียบร้อยก็เทชันออก” ยายหมูเล่าต่อ เธอคือลูกหลานนายเตาบ้าน คุณพระธนธรรัตนพิมล ถือเป็นสกุลช่างตระกูลสุวรรณนาครคนสุดท้ายที่เป็นช่างสลักต่อจากคุณแม่และคุณป้า

สองผู้อาวุโสตลอดจนบรรพบุรุษรุ่นปู่รุ่นย่าเกิดและโตที่บ้านพานถมแห่งนี้ และมีจุดเริ่มเหมือนกัน “สลักเป็นเพราะเหยียบพื้นเล่น” พวกเธอประสานเสียง 

ช่างสลักขันเงิน 4 แผ่นดิน ศิลปินรุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม และสมบัติขันเงินอายุร้อยปี
ช่างสลักขันเงิน 4 แผ่นดิน ศิลปินรุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม และสมบัติขันเงินอายุร้อยปี
ลายดุนเป็นงานของช่างรุ่นเก่า ราวรุ่นยายของยายอออีกที

ระหว่างการถ่ายภาพที่หน้าบ้านยายหมู สมาชิกสูงวัยในชุมชนที่เดินผ่านต่างอุทานเป็นเสียงเดียวกันว่า “ขันเงิน!” เพราะเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่สหายเก่าแสนคุ้นหน้าหายไปจากชีวิตพวกเขา

“รู้ไหม ผมก็เคยทำขันเงินนะ ผมเป็นช่างเหยียบพื้น” คุณลุงสุวิทย์ วรกุลสุนทร หยุดยืนกับเราอยู่สักพัก เขาคือตัวละครลับที่ได้พบกันโดยบังเอิญ แต่ทำให้เรื่องราวของชุมชนสมบูรณ์ขึ้นอีกระดับ

“ไหนขอดูหน่อยว่าฝีมือช่างบ้านไหน” เขาหยิบขันเงินที่ใส่ชันไว้ด้านในขึ้นมาดู ชันมีน้ำหนักหลายกิโลกรัมขนาดที่ต้องยก 2 มือ ไหนจะครกไม้ขนาดใหญ่ที่น้ำหนักไม่ต่างกัน

“เพราะช่างแต่ละบ้านเขามีลายประจำตัว สมัยก่อนเห็นแล้วจะรู้เลยว่าของบ้านไหน อย่างลายเทพพนมต้องบ้านนั้น (ทำท่าชี้นิ้ว) สลักออกมาได้สวยมาก ถ้าทำไม่เก่งหน้าจะกลายเป็นการ์ตูนไป มันต้องปากนิดจมูกหน่อย” เขาว่า

หญิงชราคนที่ 2 เดินมาทักทาย เธอคือ ยายแดง หากไม่ได้เอ่ยปากไถ่ถาม เราคงทราบเพียงว่าเธอคือเพื่อนบ้านแสนน่ารักคนหนึ่ง แต่ในวันวานเธอคือช่างสลักวัย 80 กว่าอีกคน

“เธอสลักลายอะไร ฉันสลักลายพิกุล โอ้! ยังเก็บไว้ครบเลยนะ” ยายแดงสำรวจอุปกรณ์ก่อนจะบอกด้วยน้ำเสียงเสียดายว่า เพราะสายตาไม่ดีแล้วจึงไม่อาจสลักลายประจำได้อีก

และคนสุดท้ายที่เดินมา คือคุณป้าท่าทางกระฉับกระเฉง เธอตื่นเต้นกับขันเงินเช่นกัน ทั้งยังเปรยว่าเสียดาย เมื่อสมัยก่อนตั้งใจจะเรียนสลัก แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเพราะเรื่องค่าเรียน

ช่างสลักขันเงิน 4 แผ่นดิน ศิลปินรุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม และสมบัติขันเงินอายุร้อยปี
ช่างสลักขันเงิน 4 แผ่นดิน ศิลปินรุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม และสมบัติขันเงินอายุร้อยปี

กลับมาที่บ้านของยายออ เราและยายหมูช่วยกันยกขันใส่ชันและครกไม้มาให้เธอลองตอกลาย เพียงแค่ 2 มือได้จับสิ่วและค้อน รอยยิ้มก็ปรากฏขึ้นบนใบหน้าและไม่จางหายอีกเลยแม้จะขนอุปกรณ์กลับ 

ยายออตอกค้อนเสียงดังแต๊ก ๆ เป็นจังหวะอย่างชำนาญและชื่นใจ พลันให้นึกถึงคำพูดของลุงสุวิทย์ที่บอกว่า เสียงนี้เคยดังระงมทั่วตรอกราวกับเสียงดนตรีขับกล่อม

จากวันแรกที่ยายออหลบคุณพ่อมาคลุกคลีกับงานหัตถกรรม วันนี้นับเป็นเวลากว่า 80 ปีแล้วในฐานะช่างสลัก นิ้วที่เธอบอกว่า เก และ พัง คือหลักฐานแห่งความเชี่ยวชาญและเครื่องยืนยันว่านี่คือศิลปินตัวจริง

“เวลาถือสิ่วต้องบิดไปบิดมาตามลาย ไม่ใช่แค่ตอกเฉย ๆ เหมือนเหยียบพื้น นิ้วก็เลยพัง ทั้งที่ควรจะสวย ใช่ไหม นิ้วฉันควรจะสวย” เธอยกมือขึ้นมามองกึ่งเสียดาย เราถือวิสาสะประคองและบอกว่า มือของคุณยายหาจากไหนไม่ได้แล้ว เพราะนี่คือมือของช่างโดยแท้ เธอยิ้มและหัวเราะเป็นการตอบรับ

คุยกับ ยายออและยายหมู 'ช่างสลักเงิน' รุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม ฟังเรื่องเล่าจากยุคทองเมื่อวันนี้ไม่มีช่างเงินอีกต่อไป

นามสกุลของยายออคือ ‘รัชตะศิลปิน’ ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทานโดยรัชกาลที่ 6 คำว่า รัชตะ หมายถึง เงิน และ ศิลปิน หมายถึง ช่าง รวมกันจึงหมายถึง ‘ช่างเงิน’ ถือเป็นนามสกุลที่สะท้อนความยาวนานและความเชี่ยวชาญของตระกูลได้เป็นอย่างดี

นอกจากนามสกุลที่ได้รับพระราชทานในรุ่นของบิดา หนึ่งในสมบัติที่เหลืออยู่เป็นอนุสรณ์ความทรงจำระหว่างยายออและพ่อผู้เป็นที่รัก คือโต๊ะเงิน ที่ยายออในวัยเยาว์อยากได้ และคุณพ่อก็ตั้งใจประมูลมาในสมัยรัชกาลที่ 7 เพื่อลูกสาวของท่าน โดยโต๊ะนี้เป็นที่วางสำรับอาหารของพระมหากษัตริย์ มีเพียง 4 ชิ้นในวัง แต่ด้วยกำลังทรัพย์ในขณะนั้นทำให้ได้มาครอบครองเพียงชิ้นเดียว แต่ยายออบอกว่าชิ้นเดียวก็พอแก่ใจ พอให้หายคิดถึงคุณพ่อแล้ว

คุยกับ ยายออและยายหมู 'ช่างสลักเงิน' รุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม ฟังเรื่องเล่าจากยุคทองเมื่อวันนี้ไม่มีช่างเงินอีกต่อไป
โต๊ะวางสำรับอาหารของพระมหากษัตริย์

“จำได้ว่าแต่ก่อนเรามีช่างเต็มชุมชน ป้าหมูก็วิ่งเข้าบ้านป้าออ ป้าออเอาขันมาให้คุณแม่ของป้าหมูสลัก ยังมีเตาบ้าน ขุนจำนงค์ บ้าน คุณหญิงพิสัยสิทธิสงคราม (อาบ พรโสภณ) และอีกหลายคน” ศิลปินรุ่นน้องเล่า ขณะที่ศิลปินรุ่นพี่รีบแก้ข่าวว่าเธอไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นด้วย เพราะคุณพ่อเข้มงวดมาก จะมีบ้างก็ตอนโตที่บอกคุณพ่อว่าไปอบรมต่างจังหวัด แต่แท้จริงแล้วไปเที่ยวประจวบคีรีขันธ์กับเพื่อน แม้ตอนนั้นจะประสบอุบัติเหตุรถคว่ำก็ต้องอุบคุณพ่อเอาไว้

เราหยิบสมบัติโบราณขึ้นมาพิจารณาถึงลวดลายที่หาไม่ได้อีกต่อไป ยายออบอกว่าสาเหตุที่เครื่องเงินกลายเป็นสีดำ เพราะเป็นเงินแท้เจือทองแดงน้อย หากชิ้นไหนสีไม่ดำมาก แปลว่ามีทองแดงอยู่เยอะ

‘เงิน’ รางวัลเทพีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์

ยายออถือขันเงินพร้อมพานรองและทัพพีสลักฝีมือตัวเอง ตอนนี้เธอเหมือนผู้ชนะการประกวดเทพีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์ เวทีประกวดนางงามเก่าแก่อายุมากกว่า 80 ปี จัดขึ้นโดย เอื้อน รัชตะศิลปิน พี่สาวของยายออ นายแส ศรีสกุลดิษฐ์ ลุงของยายหมู ลุงแฉล่ม และชาวบ้านในชุมชน โดยยายหมูบอกว่าการประกวดเทพีสงกรานต์ยุคก่อนดูยุติธรรมและสนุกกว่าปัจจุบันมาก

“สมัยนั้นใครก็ประกวดเทพีสงกรานต์ได้ จะมีคนเดินไปทอดบัตร ก็คือเชิญขึ้นเวทีประกวดนั่นแหละ มีแฟน ไม่มีแฟนเขาไม่สนใจ เจอตอนใส่บาตรก็ทอดบัตรเลย แต่สมัยนี้เขาจัดหามาให้ ทั้งที่จริงควรให้คนในชุมชนเชิญคนในชุมชนขึ้นเวทีกันเอง กรรมการก็มาจากทุกฝ่าย มีทั้งชาวบ้าน ครู ทหาร สารวัตร มาโหวตกัน ไม่มีกั๊กว่าใครชนะ ผู้ชนะก็จะได้ชุดขันเงินครบเซตจากบ้านพานถมไปครอง” นั่นก็คือชุดเดียวกับที่ยายออถือ

คุยกับ ยายออและยายหมู 'ช่างสลักเงิน' รุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม ฟังเรื่องเล่าจากยุคทองเมื่อวันนี้ไม่มีช่างเงินอีกต่อไป
คุยกับ ยายออและยายหมู 'ช่างสลักเงิน' รุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม ฟังเรื่องเล่าจากยุคทองเมื่อวันนี้ไม่มีช่างเงินอีกต่อไป

“แล้วยุคนั้น เธอจะใส่ชุดอะไรก็ได้นะ ป้ายังใส่เสื้อคอกระเช้าเลย ไม่ต้องแต่งสวยชุดไทย นุ่งผ้าถุง โจงกระเบนก็มาใส่บาตรได้ เขาไม่ถือ” ยายหมูเล่า

ผู้คนยุคก่อนใช้ขันเงินตักน้ำดื่ม ใส่ข้าว ตักบาตร รวมไปถึงอาบน้ำ และสาดน้ำสงกรานต์ โดยในประเพณีสำคัญนี้จะใส่น้ำไว้ในขันใบใหญ่ แล้วใช้ขันใบเล็กตักสาดอีกที

“แต่เขาสั่งทำขันกันตลอดปีอยู่แล้ว งานชุกไม่ใช่แค่เฉพาะช่วงสงกรานต์ หากบ้านไหนทำไม่ทันก็จะมีส่งต่อให้บ้านนายเตาหรือช่างสลักคนอื่นมาช่วยทำ ไม่มีใครในชุมชนที่หวงวิชา เราแบ่งช่าง แบ่งคนงานกันได้ทั้งหมด” ยายหมูเล่าถึงความสามัคคีในชุมชน 

ในยุคนั้น หากจะช้อปปิ้งขันก็ต้องมาสั่งทำและสั่งซื้อที่บ้านพานถม แต่หากคนไหนอยากเดินซื้อในห้างก็ต้องเป็นห้างที่บ้านหม้อซึ่งขายทองและเพชรไปพร้อมกัน ส่วนปัจจุบัน เครื่องเงินทั้งหลายกลับกลายเป็นของโบราณทรงคุณค่า ที่แม้สร้างใหม่ก็ไม่อาจสร้างให้งดงามพอจะทดแทนของเดิมได้

ปิดตำนานช่างเงิน แม้ไม่มี แต่โปรดอย่าลืม

“ใครจะไปคิดว่าเขาจะเล่นง่ายขนาดนั้น” ผู้อาวุโสเล่า

“ชาวบ้านไม่รู้ว่าเขาเข้ามาซื้อขันเพราะจะเอาไปเป็นต้นแบบ เราขายให้ตามปกติ แต่หลังจากนั้นจุดเปลี่ยนก็มาแบบไม่มีใครตั้งตัวทัน” หากเปรียบเป็นภาพยนตร์สักเรื่อง การปรากฏตัวของ ‘เขา’ ผู้มีหัวทางการค้า โล้สำเภามาจากแผ่นดินใหญ่ คงเป็นลางบอกเหตุแห่งหายนะ

“เขารีดอะลูมิเนียมออกมาเป็นแผ่น อยากได้ขนาดไหนก็ตัดแล้วต่อบัดกรี ก้นกลม ๆ ก็ใช้บัดกรีลน ถ้าเป็นขอบของบ้านพานถม เราใช้อัดขอบ แต่ของจีนที่เฉลิมกรุง เขาเอาลวดมาตัดติด พอจะสลักก็เอาช่างสะเปะสะปะมาทำ ช่างมีฝีมือเขาไม่เอา ลายมันก็ออกมาแปลก ๆ หนักเข้าเขาก็ใช้ปั๊มลายเอา” 

ยายออเว้นวรรค “ทีนี้ล่ะ หมดเลย”

คุยกับ ยายออและยายหมู 'ช่างสลักเงิน' รุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม ฟังเรื่องเล่าจากยุคทองเมื่อวันนี้ไม่มีช่างเงินอีกต่อไป

แต่จุดสิ้นสุดเส้นทางชุมชนช่างไม่ใช่แค่การมาของขันอะลูมิเนียม เพราะตั้งแต่ขั้นตอนการตีขันขึ้นรูปก็แทบไม่มีช่างตีเหลืออยู่แล้ว

“ไม่มีใครอยากให้ลูกชายตัวเองมาถือค้อนหนัก ๆ ตีแผ่นเงินร้อน ๆ หรอก เขาก็อยากให้เรียนหนังสือ เพราะฉะนั้น นอกจากจะไม่มีช่างสลัก เราไม่มีช่างทำขันเงินตั้งแต่ขั้นตอนการขึ้นรูป ส่วนของฉันหยุดไป เพราะไม่มีงานเลยแม้แต่ขันเดียว” 

ศิลปินคนสุดท้ายของตระกูลเก่าเล่า เมื่อความเปลี่ยนแปลงเข้ามาอย่างรวดเร็วจนเตรียมใจไม่ทัน ช่างหลายคนวางมือ ย้ายออกไปจากชุมชน ไม่อาจรู้ได้ว่าเมื่อเปลี่ยนถิ่นฐาน พวกเขายังคงอาชีพเดิมอยู่ไหม แต่เราทราบแน่ว่าในชุมชนดั้งเดิมเหลือเพียงแค่พวกเธอ 2 คน

ยายหมูบอกว่า ต่อจากนี้ หากมีคนสนใจเรียนก็ทำได้เพียงอธิบายเท่านั้น แต่ช่างฝีมือหมดไปตั้งแต่ครั้งที่บริษัทแห่งนั้นนำรูปแบบลวดลายขันเงินไปก๊อปปี้ในราคาที่ถูกกว่าโดยใช้อะลูมิเนียมแล้ว

มาถึงช่วงสุดท้าย น่าเสียดายที่ทำได้เพียงยืนมองหัตถกรรมโบราณค่อย ๆ หายไป เราถามคุณยายว่า หากตอนนี้ยังแข็งแรง มีอุปกรณ์ครบ มีช่างคนเดิมที่คุ้นเคยทุกตำแหน่ง และยังมีคนที่สนใจเครื่องเงินบ้านพานถม เธอยังอยากทำต่อไหม

ทั้งสองเงียบไปครู่หนึ่งและกล่าวกลับมาด้วยแววตาระคนความหวัง ความหลัง ความคิดถึง จนถึงเสียดาย แต่ยังปิดท้ายด้วยรอยยิ้มแห่งความภูมิใจ

“อยากแน่นอน เราอยากให้ลูกหลานได้รู้จักความสวยงามของศิลปะโบราณบ้านพานถม” ยายหมูเอ่ย

ยังเหลืออีก 1 คำตอบ

“ฉันยังอยากทำต่อเสมอ ไม่เคยอยากทิ้ง เพราะนี่คือของดั้งเดิมที่เราทำกันมา แต่นี่ล่ะชีวิต ฉันเต็มที่และใช้มันคุ้มแล้ว” ยายออทิ้งท้าย

ในอนาคต สมบัติเครื่องเงินของคุณยายละออศรีจะได้รับการส่งมอบให้พิพิธบางลำพูเป็นผู้ดูแลและจัดแสดง ส่วนองค์ความรู้ ความทรงจำ และตำนานชุมชนศิลปินช่างเงินจะยังได้รับการถ่ายทอดต่อโดยลูกหลาน การรวมกลุ่มของพวกเขาเกิดขึ้นในนาม ไกด์เด็กบางลำพู 

โปรดอย่าลืมแม้ประวัติศาสตร์หน้านี้จะเขียนจบแล้ว โปรดเสียดายที่ไม่อาจมีหัตถกรรมชั้นครูจากบ้านพานถมเกิดขึ้นอีก แต่โปรดอย่าลืมว่าเรายังมีหัตถกรรมและศิลปะล้ำค่าแขนงอื่นอีกมาก

ขอให้ทุกท่านดื่มด่ำกับเรื่องเล่าจากช่างเงินและศิลปะที่ปัจจุบันมีอยู่

คุยกับ ยายออและยายหมู 'ช่างสลักเงิน' รุ่นสุดท้ายแห่งบ้านพานถม ฟังเรื่องเล่าจากยุคทองเมื่อวันนี้ไม่มีช่างเงินอีกต่อไป

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล