ใน ค.ศ. 2017 Samsung เผยสถิติที่น่าสนใจว่า ในช่วงชีวิตหนึ่ง มนุษย์คนหนึ่งจะถ่ายภาพตนเองโดยเฉลี่ยเป็นจำนวนถึง 25,000 ภาพ และใน ค.ศ. 2014 Google Statistics เสนอว่าในปีนั้นมีภาพเซลฟี่เกิดขึ้นทั่วโลกประมาณวันละ 93 ล้านภาพ ถ้าหากเรายังใช้กล้องฟิล์มกันอยู่ล่ะก็ จะต้องใช้ฟิล์มถึง 2,583,333 ม้วนต่อวันเลยทีเดียว

ทุกวันนี้เมื่อเลื่อนปราดผ่านฟีดในสื่อโซเชียลทั้งหลาย เราเห็นภาพถ่ายบุคคลทั้งเซลฟี่บ้าง ไม่เซลฟี่บ้าง จำนวนนับไม่ถ้วน รูปเหล่านั้นล้วนเต็มไปด้วยการยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ราวกับเป็นแบบปฏิบัติไปแล้วว่า เมื่อมีใครสักคนยกกล้องถ่ายรูปหรือโทรศัพท์มือถือขึ้นมาพร้อมถ่ายภาพ ผู้ถูกถ่ายก็จะแย้มยิ้มขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าเขาหรือเธอจะอยู่ในสภาวะอารมณ์แบบไหนก็ตาม

ก่อนค่านิยม Say Chesse จะมาถึง เมื่อกลับไปสำรวจภาพถ่ายโบราณทั้งของไทยและเทศ เรากลับไม่ค่อยพบรอยยิ้มพิมพ์ใจเหล่านั้น บรรพบุรุษของเราในภาพขาวดำมักแสดงสีหน้าเรียบเฉย ใช่ว่าท่านเหล่านั้นจะไร้สุขทุกข์ตรมกว่าพวกเราเสียเมื่อไร ภายใต้ภาวะไร้รอยยิ้มและการค่อยๆ ปรากฏขึ้นของรอยยิ้มในภาพถ่ายจะพาเราไปสำรวจค่านิยมทางวัฒนธรรมที่กำกับการแสดงออกของสีหน้าท่าทางยามถ่ายรูป ตั้งแต่ยุคกำเนิดกล้องถ่ายภาพ จนกระทั่งยุคสมัยที่เราทั้งผลิตและเสพภาพเซลฟี่จำนวนมหาศาลในทุกวันนี้

กล้องถ่ายภาพที่ทำสำเนาสิ่งที่สายตามนุษย์แลเห็นออกมาเป็นภาพบนระนาบสองมิติได้เกิดขึ้นราว ค.ศ. 1820 (เทียบเป็น พ.ศ. คือราว พ.ศ. 2360) ในทศวรรษเดียวกันนั้นเองนวัตกรรมนี้ก็เข้ามายังสยาม ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศส

ในเบื้องแรกการถ่ายรูปไม่เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ชาวไทย ด้วยความเชื่อเชิงมนตราอาถรรพ์ว่า การจำลองภาพของตนเองออกมาอาจเป็นการแยกวิญญาณออกมาจากร่าง (อาจจะคล้ายๆ กับการสร้าง Horcrux ของ Lord Voldemort ในวรรณกรรม Harry Potter) ทำให้อายุสั้นลง หรือรูปดังกล่าวจะเป็นสื่อแทนตนให้ผู้อื่นนำไปทำคุณไสยได้ 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสว่า เมื่อการถ่ายรูปเริ่มเข้ามาในสยามนั้น “คนแก่ๆ ก็ยังมีความรังเกียจกันมาก” (จากพระราชนิพนธ์ พระราชพิธี 12 เดือน) เช่นเดียวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในพระหัตถเลขา (สาส์นสมเด็จ) “เมื่อแรกมีช่างถ่ายรูปฉายาลักษณ์เข้ามา มิใคร่มีใครยอมให้ถ่าย ด้วยเกรงว่าจะเอารูปไปใช้ทำร้ายด้วยกฤตยาคม… มีใครอีกคนหนึ่ง หม่อมฉันลืมชื่อไปเสียแล้ว ไปถ่ายรูปที่ร้านนายจิตร นายจิตรถ่ายเป็นรูปครึ่งตัว เจ้าของเห็นเข้าก็ตกใจตีโพยตีพายว่าจะตัดตัวให้เป็นอันตราย ทูลหม่อมไม่ทรงถือ ทั้งถ่ายรูปและปั้นรูปก่อนคนอื่น”

‘ทูลหม่อม’ ในพระหัตถเลขาหมายถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้มีพระราชดำริก้าวหน้า พระองค์ทรงสนใจนวัตกรรมจากตะวันตกรวมไปถึงการถ่ายภาพ ในรัชกาลของพระองค์ได้โปรดให้ช่างภาพชาวตะวันตกเข้ามาฉายพระรูปหลายครั้ง 

และพระองค์ยังทรงใช้ภาพถ่ายในการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของพระองค์เอง โดยส่งภาพถ่ายในระบบดาแกร์โรไทป์ (Daguerreotype-เทคนิคการถ่ายภาพในสมัยแรกเริ่ม เป็นการฉายภาพลงบนแผ่นโลหะ ไม่สามารถทำสำเนาอีก)  ไปมอบให้ผู้นำประเทศมหาอำนาจในยุคนั้น อย่างสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียแห่งอังกฤษ และประธานาธิบดี แฟรงคลิน เพียร์ซ (Franklin Pierce) แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นการเผยโฉมหน้าที่แท้เที่ยงของผู้นำสยามเป็นครั้งแรก ซึ่งในยุคนั้นเปรียบได้กับโฉมหน้าของรัฐ การส่งภาพถ่ายไปเป็นของขวัญแสดงถึงความภาคภูมิในอารยธรรมของและอัตลักษณ์ตนเอง ในขณะเดียวกันก็แสดงถึงความสามารถในการเปิดรับและสรรหาประดิษฐกรรมใหม่เข้ามาใช้ในการนิยามความก้าวหน้าของประเทศอีกทางหนึ่ง

ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
พระบรมฉายาลักษณ์ที่ส่งไปถึงสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย
ภาพ : Royal Collection Trust
ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
พระบรมฉายาลักษณ์ที่ส่งไปถึงประธานาธิบดี แฟรงคลิน เพียร์ซ
Collection ของ National Museum of American History
ภาพ : สถาบัน Smithsonian

เอนก นาวิกมูล ให้ข้อมูลเรื่องการถ่ายรูประบบดาแกร์โรไทป์ไว้ในหนังสือ ประวัติการถ่ายรูปยุคแรกของไทย ไว้ว่า “ความไวแสงยังด้อย เวลาจะถ่าย ต้องให้คนนิ่งๆ ทีละครึ่งชั่วโมง ในต่างประเทศมีแกนเหล็กให้พิงคอเอาไว้แก้เมื่อยและกันไม่ให้เคลื่อนไหว” หลายปีก่อนสำนักพิมพ์ River Books จัดนิทรรศการ “สยามผ่านมุมกล้องจอห์น ทอมสัน (John Thomson)” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ในครั้งนั้นได้ขยายภาพจากฟิล์มกระจกต้นฉบับที่เก็บไว้ ณ Wellcome Collection ประเทศอังกฤษ ออกมาเป็นภาพขนาดใหญ่ เป็นที่น่าสังเกตว่าในภาพถ่ายบุคคลหลายๆ รูปจะเห็นแกนเหล็กสำหรับพิงคอตั้งอยู่ด้านหลังผู้เป็นแบบด้วย ทำให้เรารู้ว่าสิ่งประดิษฐ์นี้ได้นำเข้ามาใช้ในสยามเช่นกัน แม้ว่าจอห์น ทอมสัน จะไม่ได้ถ่ายภาพด้วยระบบดาแกร์โรไทป์แล้ว วิธีการถ่ายภาพฟิล์มกระจก ด้วยเทคนิค Wet Collodion Process On Glass ก็ยังต้องให้ผู้เป็นแบบนิ่งไว้เป็นเวลาหลายนาที เมื่อต้องค้างอากัปกริยาไว้ในท่าทางหนึ่งเป็นเวลานาน นี่เองอาจเป็นเหตุผลแรกที่ไม่เอื้อให้เกิดรอยยิ้มในภาพถ่ายยุคแรก

ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
United States Library of Congress แสดงภาพช่างภาพกำลังถ่ายภาพตนเอง ในรูปนี้นอกจากเราจะเห็นอารมณ์ขันและเทคนิคการตกแต่งภาพยุคแรกแล้ว ยังแลเห็นแกนเหล็กสำหรับพิงคอที่ใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบในการถ่ายภาพยุคแรกอีกด้วย
ภาพ : loc.gov
ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉายโดยจอห์น ทอมสัน ในภาพจะเห็นฐานของแกนเหล็กสำหรับพิงพระศออยู่ด้านหลังพระเก้าอี้
ภาพ :  Wellcome Collection
ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงพระเยาว์ ฉายโดยจอห์น ทอมสัน ในภาพจะเห็นฐานของแกนเหล็กสำหรับพิงพระศออยู่ด้านหลังพระบาท
ภาพ : Wellcome Collection

อีกหนึ่งเหตุผลที่มักจะหยิบยกมาพูดกันคือเรื่องสุขภาวะทันตกรรมที่ยังล้าหลัง ในสมัยนั้นผู้คนทุกชนชั้นมีปัญหาเรื่องฟัน จึงมีผู้สันนิษฐานว่าเมื่อต้องถ่ายภาพก็ไม่อยากจะแย้มยิ้มเผยให้เห็นฟันที่ขี้ริ้วขี้เหร่ (หรือความจริงที่ว่าไม่มีฟันหลงเหลืออยู่เลย) แต่นักประวัติศาสตร์จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับเหตุผลข้อนี้ 

จริงอยู่ว่าเทคโนโลยีทันตกรรมที่พัฒนาขึ้นทำให้เกิดรอยยิ้มมากขึ้นทั้งในภาพถ่ายและในชีวิตประจำวัน แต่สุขภาวะทันตกรรมที่ไม่ก้าวหน้าก็มิได้เป็นเหตุผลสำคัญที่จะทำรอยยิ้มในภาพถ่ายไม่เกิดขึ้น สิ่งประประดิษฐ์ที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างฟันปลอมก็มีใช้มาอย่างยาวนาน 

ชาวอีทรัสกัน (Etruscans) ประดิษฐ์ฟันปลอมขึ้นตั้งแต่ 2,700 ปีที่แล้ว บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อเมริกาอย่างประธานธิบดีจอร์จ วอชิงตัน (George Washington) มีฟันปลอมอย่างน้อย 4 ชุด เขาเริ่มใช้ฟันปลอมตั้งแต่ ค.ศ. 1781 (เทียบได้กับ พ.ศ. 2324 ก่อนกำเนิดกรุงรัตนโกสินทร์ 1 ปี) โดยฟันปลอมเหล่านั้นทำมาจากเขี้ยวฮิปโป งาช้าง หรือแม้กระทั่งฟันจริงๆ ของทาส

ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
ฟันปลอมของประธานธิบดีจอร์จ วอชิงตัน
ภาพ : Library of Congress

ข้ามมาที่ฝั่งไทย แหม่มแอนนา (Anna Leonowens) ผู้โด่งดังเขียนถึงความลับประการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ว่า “พระองค์สูญพระทนต์ทั้งปากตั้งแต่เด็ก และสวมใส่พระทนต์ปลอมทำจากไม้ฝาง อันเป็นความลับที่พระองค์เก็บไว้อย่างหวงแหนที่สุดตราบจนวันสวรรคต” (จากหนังสือ English governess at the Siamese court)  เอนก นาวิกมูล ยังกล่าวในหนังสือ เรื่องประหลาดเมืองไทย ว่ารัชกาลที่ 4 ทรงมีพระทนต์ปลอมไม่ต่ำกว่า 3 ชุด

ก่อนจะมีรูปถ่าย มนุษย์พยายามถ่ายทอดภาพลักษณ์ของตัวเองออกมาด้วยการวาดภาพมานับร้อยนับพันปี เมื่อการถ่ายภาพมาถึง แบบแผนธรรมเนียมของการวาดภาพเหมือนก็ถูกนำมาใช้กับการถ่ายภาพด้วย และนี่เองคือคำอธิบายที่มีน้ำหนักที่สุดของคำถามที่ว่า ทำไมเราจึงไม่เห็นรอยยิ้มในภาพถ่ายยุคแรก

ในอดีตผู้มีอำนาจ (และมีทรัพย์) ว่าจ้างจิตรกรฝีมือดีมาวาดภาพเหมือนเพื่อประกาศอำนาจทางเศรษกิจ (งานศิลปะเป็นของฟุ่มเฟือยมีราคาค่างวดมาก ยิ่งถ้าได้ศิลปินดังค่าตัวสู่งลิ่วมาวาดให้ยิ่งการันตีอำนาจด้านนี้) วัฒนธรรม (ความรุ่มรวย มีอารยะ มีรสนิยม มีหน้ามีตา) และการเมือง (ภาพเหมือนสามารถตั้งไว้หรือส่งไปที่ต่างๆ เพื่อเป็นการโฆษณาชวนเชื่อคุณสมบัติอันพึงประสงค์ของผู้เป็นแบบ)

Portrait หรือภาพเหมือนจึงต้องส่งเสริมภาพลักษณ์ที่เป็นทางการของผู้ว่าจ้าง การวาดภาพเหมือนจึงเหมือนกับการบันทึกชีวิตทั้งชีวิตและเกียรติประวัติทั้งหมดทั้งมวลของผู้เป็นแบบให้อยู่ในภาพเดียว และภาพนั้นจะเป็นภาพแทนที่ผู้คนจะจดจำตลอดไป ผู้เป็นแบบจึงต้องอยู่ในท่าทางที่เป็นทางการที่สุด ผ่านการคิดและจัดแต่งอย่างพิถีพิถัน จิตรกรพร้อมปรับปรุงตกแต่งองค์ประกอบที่บกพร่องด้วยฝีแปรง ไม่ต่างอะไรกับการรีทัชใน Photoshop ในทุกวันนี้ 

รอยยิ้มไม่ปรากฏอยู่ในภาพเหมือน เพราะนอกจากถูกตีความว่าเป็นการแสดงออกที่ไม่เป็นทางการแล้ว
ค่านิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในยุโรปยังเห็นว่าการยิ้ม โดยเฉพาะยิ้มกว้างหรือยิ้มที่เผยให้เห็นฟันเป็นอากัปกริยาที่ต่ำช้า ยิ้มกว้างแสดงถึงความยากจน ความลามก ความยั่วยวน ความบ้า ความเมามาย ความไร้เดียงสา และความตลกไร้สาระ 

Jean-Baptiste de La Salle นักบุญชาวฝรั่งเศสเขียนหนังสือทำนอง ‘สมบัติผู้ดี’ (The rules of christian decorum and civility) ตีพิมพ์เมื่องต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีเนื้อความตอนหนึ่งว่า “บางบุคคลนั้นเผยริมฝีปากบนขึ้นสูง… จนเกือบจะทำให้มองเห็นฟันได้ทั้งหมด นี่ช่างตรงข้ามกับสมบัติผู้ดีที่ไม่อนุญาตให้เราเผยฟันของเราออกมา ก็ด้วยเพราะธรรมชาตินั้นประทานริมฝีปากมาให้เราสำหรับปกปิดฟันเหล่านั้นอยู่แล้ว”

ด้วยค่านิยมนี้ ภาพวาดชื่อ Amor Vincit Omnia “Love Conquers All” ของ คาราวัจโจ (Caravaggio) จึงขึ้นชื่อว่าอื้อฉาวเพราะแหวกทั้งขนบการวาดภาพและขนบจริยธรรมอันดีงาม คิวปิดหนุ่มน้อยเปล่าเปลือยล่อนจ้อนกำลังส่งยิ้มจนเห็นฟัน 

ศิลปินจงใจเล่นกับเส้นแบ่งของความไร้เดียงสาและการยั่วยวน นักประวัติศาสตร์ศิลปะตีความว่าภาพนี้เป็นการเฉลิมฉลองให้กับความรัก โดยเฉพาะกับความรักของเพศเดียวกันที่เป็นเรื่องผิดจารีตในสมัยนั้น อีกหนึ่งรอยยิ้มในภาพวาดที่แม้จะมิได้ยิ้มกว้างจนเห็นฟัน แต่ยิ้มกระหยิ่มน้อยๆ ของ Monalisa ก็สร้างความฉงนฉงายให้ผู้คนตีความกันไปต่างๆ นานามิรู้จบ อาจเป็นเพราะยิ้มน้อยๆ (ที่แหวกขนบ) ของเธอหรือไ่ม่ ที่ทำให้ภาพนี้แตกต่างและเป็นที่จดจำที่สุดในโลกศิลปะ

ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
“Amor Vincit Omnia” Michelangelo Merisi da Caravaggio
ภาพ : www.arteworld.it
ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
Mona Lisa โดย Leonardo da Vinci สีในภาพนี้ถูกปรับแต่งตามข้อมูลจากนักประวัติศาสตร์ศิลปะให้คล้ายคลึงกับสีของภาพวาดเมื่อแรกวาด
ภาพ : commons.wikimedia.org

เมื่อการถ่ายภาพเข้ามารับช่วงต่อจากการวาดภาพเหมือน แบบแผนความเป็นทางการและความเป็นพิธีการรวมถึงสุนทรียศาสตร์ของการวาดภาพเหมือนก็ถูกนำมาใช้กับการถ่ายภาพด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดองค์ประกอบ ท่าโพส และแน่นอนที่สุด การแสดงออกถึงความรู้สึกทางสีหน้าท่าทาง ด้วยเหตุนี้รอยยิ้มจึงไม่ปรากฏในภาพถ่ายยุคแรก

ภายใต้ใบหน้าที่เรียบเฉยและความเป็นทางการในท่าทาง ในแง่นี้ภาพถ่ายยุคแรก (หรือแม้กระทั่งภาพถ่ายในปัจจุบัน) จึงอาจจะไม่ได้แสดงตัวตนที่แท้จริงของผู้ถูกถ่าย เพราะมีขนบหรือค่านิยมมากกมายเข้ามากำกับเราไว้ (แม้กระทั่งค่านิยมการยิ้มเมื่อถูกถ่ายรูปในปัจจุบันด้วยใช่หรือไม่) 

ดังที่โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) นักทฤษฎีวรรณคดีและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเล่าถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในประสบการณ์การถ่ายรูปไว้ว่า เมื่อถูกเฝ้ามองโดนเลนส์ (Observed by the lens) เขาก็ได้สถาปนาตัวตนในกระบวนการของ ‘การโพส’ (Constitute myself in the process of ‘posing’) ซึ่งเป็นการสร้างอีกหนึ่งร่างขึ้นมาใหม่ (Make another body for myself) ในภาวะนั้นเขาได้เปลี่ยนแปลงตนเองให้กลายเป็นภาพโดยล่วงหน้าไปแล้ว (I transform myself in advance into an image ข้อเขียนจาก Camera lucida : Reflections on Photography)

เมื่อกลับมาพิจารณาภาพเก่าๆ ในประวัติศาสตร์ไทย จะเห็นว่าภาพถ่ายบุคคลที่ปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ล้วนดำเนินไปตามขนบค่านิยมแบบตะวันตก ผู้คนในภาพถ่ายล้วนมีสีหน้าเรียบเฉย ไม่แสดงอาการแย้มยิ้ม แต่ก็มีภาพถ่ายบุคคลจำนวนหนึ่งที่เราจะเห็นรอยยิ้มอยู่ในนั้น เช่นภาพของคนัง เงาะป่าที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวชุบเลี้ยงไว้ในวัง 

รอยยิ้มในภาพถ่ายของคะนังอาจบอกได้ว่าเขาถูกมองอย่างไรในสายตาของราชสำนัก ข้อแรกคือแตกต่างจากไปจากภาพถ่ายเจ้านายทั้งหลายที่อยู่ในอิริยาบถงดงาม พระพักตร์เรียบเฉย อันเป็นแบบแผนปฏิบัติของผู้ดี ในรูปถ่ายของคนังเราจะเห็นว่ามีทั้งยิ้มน้อยๆ จนไปถึงยิ้มกว้างจนเห็นฟัน คนังอาจละเมิดแบบแผนในการถ่ายภาพได้ เพราะเขาไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในความเป็นผู้ดีนั้น อีกข้อหนึ่งคือการรับรู้เรื่องเงาะป่าในราชสำนักสยามผูกติดมากับภาพจำของ ‘เงาะป่าบ้าใบ้’ ในวรรณคดีเรื่อง สังข์ทอง ซึ่งเงาะป่าในเรื่องถูกมองว่ามีรูปลักษณ์ประหลาดมีกิริยาน่าขัน คนังจึงอาจถูกคาดหวังให้ยิ้มออกมาทั้งในภาพถ่ายและในชีวิตจริง มากกว่าที่จะทำสีหน้าเรียบเฉยด้วยซ้ำ

ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
ภาพ : หนังสือบทละครเรื่องเงาะป่า จุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย
ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
ภาพ : www.thaiglassnegative.com

ภาพถ่ายพร้อมรอยยิ้มของคนังเป็นที่ชื่นชอบในราชสำนักและเป็นที่ชื่นชอบของคนังเองด้วย ในปลาย พ.ศ. 2448 รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้ถ่ายรูปคนังพิมพ์ขายที่ร้านถ่ายรูปหลวงในงานวัดเบญจมบพิตร โดยขายแผ่นละ 3 บาท ซึ่งเป็นราคาที่แพงมากในสมัยนั้น แต่ก็ปรากฏว่าขายดิบขายดี ผู้คนอยากได้กันมาก กระทั่งจบงานรูปคนังขายได้เกือบ 400 รูป รัชกาลที่ 5 ทรงแบ่งรายได้ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งถวายวัด ส่วนหนึ่งเป็นค่ากระดาษน้ำยาพิมพ์รูป และคนังได้รับค่าตัวเกือบ 400 บาทในการเป็นนายแบบในงานนี้

คนังยังนึกถึงถิ่นที่จากมาและประสงค์จะส่งภาพถ่ายตนเองไปให้ญาติพี่น้อง รัชกาลที่ 5 ทรงรับเป็นธุระให้โดยมีพระราชหัตถเลขาไปถึงพระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ว่า “ด้วยอ้ายคนังฝากรูปไปให้พี่น้อง ได้ส่งออกมาด้วยแล้ว ถ้ามีช่องทางที่ใครไปตรวจราชการที่นั้น ขอให้นำส่งให้มันด้วย”

ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
ภาพ : หนังสือบทละครเรื่อง เงาะป่า จุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย

ท่ามกลางบรรดาภาพถ่ายเจ้านายในสมัยรัชกาลที่4 ถึงรัชกาลที่ 5 ที่แทบจะไม่ปรากฏรอยยิ้มโดยเฉพาะยิ้มกว้างจนเห็นฟันเลย หนึ่งรอยยิ้มที่ปรากฏคือรอยแย้มพระสรวลของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ซึ่งปรากฏทั้งภาพแย้มพระสรวลและภาพแลบพระชิวหา ซึ่งอาจจะบอกเล่าบุคลิกอัธยาศัยของพระองค์ได้ 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกถึงเจ้านายพระองค์นี้ไว้ว่า “นิสัยกรมหลวงประจักษ์เปนคนชอบล้อคนอื่น และทำให้เขาถูกเยาะได้เปนพอใจ, ชอบแกล้งคนโดยวิธีต่างๆ อยู่เสมอๆ” ในพระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็บันทึกไว้ว่า “กรมประจักษ์คลั่งล้อคนเรื่องเมียๆ” 

เหตุการณ์ล้อเล่นที่หนักที่สุดเห็นจะเป็นที่รัชกาล 6 บันทึกไว้ว่า “ในระหว่างเวลาไปยุโรปได้ไปทำสกะปรกต่างๆ มาก, และที่จัญไรที่สุดคือได้ไถ่ปัสสาวะลงในแก้วน้ำเสวย” ทั้งรอยยิ้มในภาพถ่ายและการกระทำของเจ้านายพระองค์ละเมิดแบบแผนความเป็นเจ้านายในสมัยนั้น (รัชกาลที่ 6 ทรงมองว่าสิ่งเหล่านี้คือความชั่ว ถึงกับบันทึกเป็นหัวข้อชื่อ “ความชั่วต่างๆ ของกรมหลวงประจักษ์” ในพระราชนิพนธ์ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6) ทำให้กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมทรงถูกลงโทษมิให้เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 5 เป็นการส่วนพระองค์อีก 

ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
ภาพ : หนังสือประวัติการถ่ายรูปยุคแรกของไทย

ในโลกตะวันตก รอยยิ้มเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นในภาพถ่ายตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1920 หลังจากที่กล้องถ่ายภาพถือกำเนิดขึ้นมา 1 ศตวรรษ เมื่อการถ่ายภาพเริ่มแพร่หลายขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงและถ่ายได้ในทุกสถานการณ์ ความเป็นทางการและบรรยากาศขึงขังของการถ่ายภาพในสตูดิโอเริ่มเสื่อมถอยลง ผู้คนเริ่มรู้สึกผ่อนคลายกับการถ่ายถาพมากขึ้น สังคมสยามก็เช่นเดียวกัน ในภาพถ่ายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา เราจะเห็นรอยยิ้มมากขึ้นในภาพถ่าย

ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 6 จากนิทรรศการฉัฐรัช : พัสตราภรณ์ – ย้อนมองอาภรณ์สตรีสยาม แลตามแฟชั่นโลก
โดยกรมศิลปากร มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และมูลนิธิเพชรรัตน์-สุวัทนา
ภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
ภาพเจ้าพระยารามราฆพ ถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 6
ภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้รอยยิ้มแพร่หลายในภาพถ่ายมากขึ้นที่เราอาจคาดไม่ถึงคือการทำการตลาด ใน ค.ศ. 1920 เช่นกันที่บรรดาผลิตภัณฑ์ห้างร้านตีพิมพ์โฆษณาภาพนางแบบนายแบบยิ้มกว้างกับผลิตภัณฑ์เพื่อสื่อถึงความพึงพอใจในสินค้า ผู้คนจึงเห็นแต่ภาพคนยิ้มในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ประกอบกับการทำการตลาดอย่างหนักหน่วงของบริษัทกล้องถ่ายรูปและฟิล์มยักษ์ใหญ่อย่าง Kodak ที่พยายามเชื่อมโยงการถ่ายภาพกับความสุขและรอยยิ้ม เห็นได้จากภาพโฆษณามากมายที่ทำให้ผู้คนรับรู้ถึงการถ่ายภาพในฐานะกิจกรรมแสนสุข กิจกรรมที่ทำผู้คนได้ร่วมกันเก็บความสุขความทรงจำอันมีค่าไว้ร่วมกัน

ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
ทำไมในภาพถ่ายโบราณคนสยามหน้าตาเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม ผิดกับเทรนด์ Selfie ยุคปัจจุบัน, ทำไมคนสมัยก่อนไม่ยิ้มเวลาถ่ายรูป
โฆษณา Kodak ในยุคต่างๆ

ทุกวันนี้ภาพถ่ายส่วนหนึ่งกลายเป็นหลักฐานของการเข้าสังคม ในโซเชียลเน็ตเวิร์กเต็มไปด้วยภาพรอยยิ้ม ที่ทุกคนพยายามจะบอกตัวเองและผู้อื่นให้รู้ว่าฉันมีความสุข เราทั้งมองเห็นและมองไม่เห็นว่าใต้รอยยิ้มเหล่านั้นซ่อนอะไรอยู่ เช่นเดียวกับที่เราทั้งเห็นและไม่เห็นเหมือนกันว่าใต้ใบหน้าที่เรียบเฉยในภาพถ่ายโบราณนั้นมีอะไรซ่อนไว้ ภาพถ่ายถ่ายทอดความเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหนกัน?


ข้อมูลอ้างอิง

  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ไกลบ้าน. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2561.
  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2556.
  • ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์. สยาม ผ่านมุมกล้องจอห์น ทอมสัน 2408-9. กรุงเทพฯ : ริเวอร์บุ๊คส์. 2558
    ราม วชิราวุธ (นามแผง). ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555
  • ลีโอโนเวนส์, แอนนา แฮร์เรียต. อ่านสยามตามแอนนา : การบ้านและการเมืองในราชสำนักคิงมงกุฎ. สุ. 
  • ภัตรา ภูมิประภาส และ สุภิดา แก้วสุขสมบัติ แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562.
    สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก. กรุงเทพฯ : ไซเบอร์พริ้นท์กรุ๊ป, 2561.
    สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2559.ศักดา ศิริพันธุ์. กษัตริย์กับกล้อง วิวัฒนาการภาพถ่ายในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์. 2535.
    เอนก นาวิกมูล. ประวัติการถ่ายรูปยุคแรกของไทย. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2548.
    เอนก นาวิกมูล. เรื่องประหลาดเมืองไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : แสงแดด, 2538.
    Bautze, Joachim K.. “Unseen Siam: Early Photography 1860-1910”.Bangkok:River Books.2016.
    Barthes, Roland. Camera Lucida: Reflections on Photography. Trans. Richard Howard. London: Vintage Classics. 2006.
    publicdomainreview.org/
    sites.uni.edu/fabos/seminar/readings/cheese.pdf
    www.theguardian.com
    time.com/

Writer

Avatar

นักรบ มูลมานัส

นักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านการสร้างภาพ (ประกอบ) ที่อยากจะลองเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรดูบ้าง