นึกออกไหมว่าสมัยพ่อแม่เรายังเด็กบ้านเรือนหน้าตาเป็นอย่างไร โรงเรียนเป็นแบบไหน เดินทางกันอย่างไร เอาแค่รุ่นพ่อก็พอ ยังไม่ต้องนึกถึงรุ่นปู่ เรามีรูปถ่ายที่บันทึกชีวิตในอดีตมากน้อยแค่ไหน

สมุดภาพประจำจังหวัด

จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เช่นความนิยมถ่ายรูป (และมีเงินซื้อกล้อง) กระจุกตัวอยู่แต่ในหมู่ชนชั้นสูง อาจมีช่างฝรั่งออกตระเวนถ่ายรูปสามัญชนไทยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดไว้บ้าง แต่โชคร้ายที่เราไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องการเก็บของเก่าและทำบันทึก ทำให้ยุคที่มีภาพถ่ายส่วนตัวของสามัญชนไทยหลงเหลืออยู่อย่างมีนัยสำคัญ ย้อนกลับไปได้แค่ช่วงที่กล้องและฟิล์มสีเริ่มแพร่หลาย คือราว พ.ศ. 2500 เท่านั้นเอง ทั้งๆ ที่วิชาการถ่ายภาพเข้ามาเมืองไทยนานกว่านั้นมาก (ราว พ.ศ. 2388 หรือปลายรัชกาลที่ 3)

สมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มมีร้านถ่ายรูป สมัยรัชกาลที่ 5 การถ่ายรูปเริ่มแพร่หลายไปต่างจังหวัด ประกอบกับรัชกาลที่ 5 โปรดการถ่ายรูป ทำให้มีรูปถ่ายจำนวนมาก สมัยรัชกาลที่ 6 มีการประกวดภาพถ่ายสีในราชสำนัก แต่ปัจจุบันสูญหายหมดไม่เหลือแม้แต่ภาพเดียว

นอกจากภาพถ่ายระดับชาวบ้านก่อน พ.ศ. 2500 จะมีไม่มากแล้ว ยังกระจัดกระจายอยู่ตามบ้านเจ้าของภาพ บ้านใครบ้านมัน หากโชคดีเจอภาพยุคเก่ากว่า 2500 ก็ต้องลุ้นต่ออีกว่าคนที่จำเรื่องราวในภาพถ่ายใบนั้นได้ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

สมุดภาพประจำจังหวัด

คนชุดแรกของประเทศไทยที่ใช้วิธีลงทุนลงแรงตระเวนไปตามชุมชนต่างๆ เพื่อขอก๊อปปี้ภาพส่วนตัวของชาวบ้านร้านตลาด นำมาจัดทำ ‘สมุดภาพประจำจังหวัด’ อย่างจริงจังคือ เอนก นาวิกมูล และ ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ สองชื่อที่วงการสารคดีของไทยไม่มีใครไม่รู้จัก  

อาจารย์เอนกและอาจารย์ธงชัยคร่ำหวอดในการทำหนังสือแนว ‘บันทึกสังคม’ มาอย่างยาวนาน มีประสบการณ์ทำสมุดภาพในหัวข้อต่างๆ เช่น สมุดภาพการแพทย์ไทย ปรีดิฉายาลักษณ์ (สมุดภาพรวบรวมพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 จากปกนิตยสารและหนังสือเก่า) สมุดภาพเที่ยวที่ต่างๆ สมุดภาพสภากาชาดไทย สมุดภาพสยามยุคประชาธิปไตย สมุดภาพพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ลิ้นชักภาพเก่า สมุดภาพกรุงเทพฯ เมืองไทยในภาพเก่า ฯลฯ

สมุดภาพประจำจังหวัด

ว่ากันตามตรง ถ้าจะให้สอดคล้องกับปริมาณผลงานสารคดีอื่นๆ ที่ตีพิมพ์แล้ว ควรใส่เครื่องหมายไปยาลใหญ่ไปอีก 5 บรรทัด เพราะสองคนรวมกันมีผลงานจำนวนไม่น่าจะต่ำกว่า 300 เล่ม

สมุดภาพประจำจังหวัดทำอย่างไร ทำแล้วได้อะไร มีอะไรในภาพเก่าของชาวบ้าน และอีก 50 ปี การทำสมุดภาพจะง่ายหรือยากกว่าเดิม ลองฟังจากปากสองบุคคลที่อาจกล่าวได้ว่าเราเป็นหนี้เขาอย่างมากมาย เพราะถ้าพวกเขาไม่ทำ ใครจะทำ

สมุดภาพประจำจังหวัด

 

แรกรู้จักภาพเก่า

ร้านขายเครื่องเขียนและแบบเรียน ‘บุญส่งพานิช’ ที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา อันเป็นบ้านของครอบครัว ‘นาวิกมูล’ คือสถานที่บ่มเพาะความชอบในหนังสือและภาพเก่าของอาจารย์เอนก

เด็กชายเอนกในวัยเด็กเปิดตู้ใส่ของของพ่อ ในนั้นมีปฏิทินยุค พ.ศ. 2490 – 2500 นิตยสารเก่า ส.ค.ส. เก่า ที่สวยทั้งตัวอักษรและลายเส้นประกอบ และยังมีข้าวของกระจุกกระจิกอื่นๆ เช่น กล้องส่องทางไกล รูปยาซิกาแรต (คือภาพพิมพ์บนกระดาษแข็งแถมมากับซองหรือกระป๋องบุหรี่ฝรั่ง)

สมุดภาพประจำจังหวัด

ร้านบุญส่งพานิช ยุค 2490 ภาพจากหนังสือ เมื่อวัยเด็ก โดย เอนก นาวิกมูล

“ที่บ้านเป็นร้านขายหนังสือ มีหนังสือภาพของไสวย นิยมจันทร์ สิ่งประหลาดมหัศจรรย์ในโลก มีทั้งแนวตั้งและแนวนอนแบบสมุดวาดเขียน ในนั้นมีภาพเยอะ สิ่งอัศจรรย์อะไรต่างๆ มีสวนลอยบาบิโลน หอเอนปิซา ดูแล้วเพลิน” อาจารย์เอนกเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลงใหลภาพเก่าและเรื่องราวในอดีต

อาจารย์เอนกเล่าว่า ไม่เคยค้นเจอประวัติของ คุณไสวย นิยมจันทร์ ผู้แต่งหนังสือเล่มนั้น คาดว่าภาพเหล่านั้นน่าจะตัดมาจากหนังสือฝรั่ง หนังสือพิมพ์ แล้วนำมารวมเล่ม อาจกล่าวได้ว่าเป็นโชคดีของเราที่ตอนนั้นเรื่องลิขสิทธิ์ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะหนังสือเล่มนั้น ‘จุดประกาย’ ให้เด็กชายเอนก นักเรียนชั้น ป.7 อายุสิบกว่าขวบ ผู้จะเติบโตเป็นนักเขียนสารคดีในอนาคต

“หนังสือแบบเรียนสมัยก่อนมันมีภาพประกอบสวย ของไทยวัฒนาพานิชก็มีทั้งภาพถ่ายและภาพวาดลายเส้น ชอบดูภาพ ที่บ้านก็มีปฏิทินเก่า สิ่งพิมพ์เก่า เราก็ชอบดู ชอบตัดจากหนังสือเหล่านั้นมาแปะบนกระดาษ สมัยก่อนมีกระดาษสีชมพู ไม่ใช่กระดาษห่อของ ก็เอามาตัด ทำเป็นเล่ม ทำเป็นสมุดภาพตั้งแต่ ป.6 ป.7

“บ้านเราขายแบบเรียน มีเยอะ แล้วเป็นเล่มที่เขาไม่ใช้แล้ว มีซ้ำกันบ้าง ภาพเล่มหนึ่งจากหนังสือวิทยาศาสตร์ เป็นภาพไดโนเสาร์ยุคหลายล้านปีก่อน พิมพ์สี สวยมาก แล้วก็ชอบมาตัดมาแปะไว้ ประทับใจมาก มีสวนคุณยายคนหนึ่งอยู่ข้างบ้าน เราก็จินตนาการว่านี่คือสวนดึกดำบรรพ์สมัยโบราณ มันผูกโยงกันไปหมดเวลาเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันอยู่ในใจมาตลอด”

สมุดภาพประจำจังหวัด

 

แรกมีสมุดภาพในเมืองไทย และแรกมีสมุดภาพประจำจังหวัด

เดินเข้าร้านหนังสือดีๆ ที่ต่างประเทศจะพบสมุดภาพหลากหลายหัวข้อจนตาลาย อาจารย์เอนกกล่าวว่า
“ยุโรป อเมริกา นี่ทำสมุดภาพเยอะ อย่างยุโรปนี่แน่นอนอยู่แล้ว เขามีภาพตั้งแต่แกะไม้โบราณ ภาพเกี่ยวกับศาสนานี่ก็มีเยอะแยะ พอมีรูปถ่าย สมัยรัชกาลที่ 3 ก็ถ่ายกันเป็นล้านๆ รูป มันเยอะแยะไปหมด ฝีมือก็ดี ไม่กะพร่องกะแพร่ง เขาก็เลยมีภาพในคลังให้ได้พิมพ์ออกมาตลอด

“เขาถ่ายรูปเยอะกว่าบ้านเรามาก แล้วถ่ายกันทุกระดับ สมมติว่าเป็นนิโกร เป็นทาส เขาก็ถ่าย อาจเป็นตัวทาสเองไปขอถ่าย หรือนักวิชาการ นักมานุษยวิทยา ของเขาไปถ่ายไว้ ช่างภาพเขาถ่ายทุกระดับ ทุกชนชั้น แต่ของเรานี่ถ่ายเจ้านาย ถ่ายคนชั้นสูงเป็นหลัก ไม่ค่อยถ่ายขอทาน ช่างไทยไม่ค่อยถ่าย แต่ช่างฝรั่งเข้ามาเขาถ่าย” อาจารย์เอนกตั้งข้อสังเกต

สมุดภาพประจำจังหวัด

ประเทศไทยเริ่มมีสิ่งที่เรียกว่าสมุดภาพตั้งแต่เมื่อไร

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่อาจารย์เอนกเคยค้นไว้ มีปรากฏใน พ.ศ. 2427 (รัชกาลที่ 5) เป็นโฆษณาขายสมุดอัลบั้มรูปของห้างแฮรี เอ.แบดแมน ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ สยามไสมย มีรูปสวนสราญรมย์ พระราชวัง วัดอรุณฯ วัดโพธิ์ เป็นหลักฐานว่ามีการรวบรวมภาพต่างๆ มาไว้ในเล่มเดียว แต่ตอนนั้นยังไม่ใช่ระบบพิมพ์

ในรัชกาลต่อๆ มามีการทำสิ่งพิมพ์เชิง ‘สมุดภาพ’ ในหัวข้อต่างๆ อยู่บ้าง เช่น หนังสือที่ระลึกแห่งการเปิดทางรถไฟหลวงสายใต้ 2459 สมุดภาพ Siam ของคาร์ล ดอห์ริง (Karl Dohring) พิมพ์ปี 2466 สมุดภาพแสดงผลงานของรัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และหนังสือที่จัดทำในวาระพิเศษของมหาวิทยาลัยต่างๆ

สมุดภาพประจำจังหวัด

สมุดภาพสมัยใหม่เริ่มเห็นพิมพ์หลัง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา คือ ประชุมสมุดภาพสำคัญในประวัติศาสตร์ ของสำนักนายกรัฐมนตรี (เล่ม 1 พิมพ์พ.ศ. 2510 เล่ม 2 พิมพ์พ.ศ. 2520) อดีตลานนา รวมภาพเมืองเหนือในอดีต (พ.ศ. 2520) วิวัฒนาการลายไทย (พ.ศ. 2524) สมุดภาพประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2525) แบบแผนบ้านเรือนในสยาม (พ.ศ. 2531) ประมวลภาพพระปิยมหาราช (พ.ศ. 2532)

สำหรับสมุดภาพประจำจังหวัด อาจารย์เอนกเล่าว่า เริ่มอย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ. 2536 คือทำ สมุดภาพสงขลามหาวชิราวุธ ให้แก่โรงเรียนเดิม (โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา) เป็นการพิมพ์แจก และใช้ทุนส่วนตัวบางส่วนด้วย

สมุดภาพประจำจังหวัด

หลังจากเล่มนี้ ยังจัดทำตามหลังมาอีก 8 เล่ม รวมเป็น 9 เล่ม โดยแต่ละเล่มภาพไม่ซ้ำกัน มีภาพใหม่เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ แหล่งที่มาของภาพมีทั้งจากร้านฉายาสงขลา ซึ่งเป็นร้านถ่ายรูปเก่าแก่ ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเทพฯ ภาพในคลังส่วนตัว ภาพจากศิษย์เก่ามหาวชิราวุธที่ร่วมแรงร่วมใจกันส่งภาพมาช่วย และภาพจากการลงพื้นที่ของอาจารย์เอนกและคณะ อาจารย์ธงชัยร่วมเดินทางไปลงพื้นที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 – 2551 เพื่อเก็บภาพและข้อมูลชุดใหม่มาทำ สมุดภาพสงขลา พ.ศ.๒๕๕๑ เน้นภาพสถานที่ที่คนไม่ค่อยพูดถึงและภาพเก่าที่ไม่เคยเผยแพร่ สมุดภาพสงขลาทั้ง 9 เล่มนั้นมีภาพรวมกันแล้วหลายพันภาพ

สมุดภาพประจำจังหวัด

เป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีภาพถ่ายจังหวัดตัวเองทั้งเก่าและใหม่จำนวนมากในระดับฮาร์ดคอร์ และรวบรวมตีพิมพ์เป็นเล่มได้สำเร็จ

“ถ้าไม่บันทึกและตีพิมพ์ไว้ ที่สุดเราก็จะนึกภาพไม่ออกว่าสงขลาคงอยู่หรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง” อาจารย์เอนกซึ่งเป็นคนสงขลาโดยกำเนิดระบุเหตุผล

“จุดประสงค์ในการทำสมุดภาพและหนังสือใดก็แล้วแต่ ก็เพื่อให้ชาวสงขลาหรือผู้หยิบอ่านเกิดความตื่นตัว หันมาเพ่งหาของดีในท้องถิ่นของตน พิจารณาต้นทุนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่คนรุ่นเก่าสร้างไว้ แล้วคิดทางพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น”

สมุดภาพประจำจังหวัด

หลังซีรีส์ สมุดภาพสงขลา มี สมุดภาพประจำจังหวัด ที่ตีพิมพ์แล้วอีกราว 10 เล่ม เป็นของ 6 จังหวัด เพราะบางจังหวัดมีมากกว่า 1 เล่ม

“เราทำหนังสือประมวลข้อเขียนกันมาตลอด จนมีฐานข้อมูลในรูปข้อเขียนจำนวนมหาศาล ถ้าไม่รวมภาพเก่าๆ เอาไว้บ้าง คนรุ่นหลังจะต่อไม่ติด นึกไม่ออกว่าสงขลาเคยมีบ้านเรือนวัดวาอารามสวยๆ หรือมีอะไรดีพออวดคนจังหวัดอื่นบ้าง” อาจารย์เอนกเขียนไว้ในคำนำ สมุดภาพสงขลา พ.ศ.๒๕๕๑ ถึงสาเหตุที่สนใจทำหนังสือสมุดภาพ

 

ไล่ตามความเก่าที่หลงเหลือ

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า ยุคที่ชาวบ้านมีภาพถ่ายส่วนตัวมากหน่อยคือ พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา โดยเฉพาะช่วง 2500 – 2510 ที่ฟิล์มสีเริ่มแพร่หลาย ถ้าเจอเก่ากว่านั้นถือว่าโชคดี

“คำว่าภาพเก่าที่สุดที่เราเจอก็สมัยรัชกาลที่ 4 ที่ 5 แต่ภาพเหล่านี้ไม่ใช่ภาพของชาวบ้าน เป็นภาพจากหอจดหมายเหตุฯ ส่วนใหญ่ก็เป็นภาพในราชสำนัก พระราชพิธีสำคัญๆ มีภาพชาวบ้านจากที่ช่างฝรั่งถ่ายบ้าง” อาจารย์เอนกเล่า

“แต่ภาพในครอบครองของชาวบ้านทั่วไปที่เราพบ ถ้าโชคดี ย้อนกลับไปได้ถึงพ.ศ. 2460 (รัชกาลที่ 6) ก็ถือว่าเก่งแล้ว”

สมุดภาพประจำจังหวัด

อาจารย์ธงชัยอธิบายเพิ่มเติมว่า ที่มีรูปเยอะตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา เพราะกล้องถ่ายรูปถูกลง มีกล้องระบบ Instamatic หรือที่เรียกว่ากล้องปัญญาอ่อน แค่ยกกล้องก็ถ่ายได้เลย ถอดกลักฟิล์มไปล้างและอัดที่ร้าน ก็ได้รูปถ่ายมาดูเล่นที่บ้าน

แต่ใครเกิดทัน คงยังจำได้ว่าฟิล์ม 1 ม้วนมี 36 รูป จะกดชัตเตอร์แต่ละทีต้องคิดก่อน จะถ่ายทิ้งถ่ายขว้างอย่างสมัยนี้ไม่ได้ เพราะฟิล์มแพง นี่พูดถึงชาวกรุงและจังหวัดใหญ่ๆ ถ้าเป็นชาวบ้านในชนบท น้อยคนจะมีกล้องส่วนตัว เมื่อจะถ่ายรูปอะไร เช่นมีงานต่างๆ หรือเปิดร้านใหม่ ยังต้องจ้างช่างถ่ายรูปอาชีพ

สมุดภาพประจำจังหวัด

ขั้นตอนการทำสมุดภาพประจำจังหวัดของอาจารย์เอนกและอาจารย์ธงชัย คือเดินทางลงพื้นที่ไปตามชุมชนต่างๆ ขอยืมรูปถ่ายส่วนตัวของชาวบ้านมาถ่ายรูปทำสำเนา (อาจารย์เอนกใช้คำว่า ‘ก๊อปปี้’) โดยใช้ช่างภาพมืออาชีพ ตามด้วยนั่งสัมภาษณ์เจ้าของรูปเพื่อถามเรื่องราวเบื้องหลังภาพถ่ายใบนั้น นำมาเขียนคำบรรยายภาพ

เป็นงานที่ฟังแล้วต้องทึ่งในความอุตสาหะ อีกทั้งแค่ราวครึ่งหนึ่งของภาพที่อุตส่าห์ไปก๊อปปี้มาจะได้ลงตีพิมพ์ กล่าวคือ หน้างานคัดรอบหนึ่งว่าจะขอก๊อปปี้ภาพไหน แต่พอกลับมาถึงกรุงเทพฯ ยังต้องผ่านการคัดอีกรอบ

สมุดภาพประจำจังหวัด

“ข้อแรก ภาพต้องคมชัด” อาจารย์เอนกตอบเมื่อเราถามถึงเกณฑ์การคัดเลือกว่าภาพไหนจะได้ไปต่อ  

“ข้อสอง ภาพต้องมีเนื้อหาพอสมควร ไม่ใช่ไม่รู้เลย ต้องรู้ว่าภาพนี้คือใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ก็ต้องถามเจ้าของภาพตั้งแต่ต้น มีคนสำคัญสักคนสองคนไหม เช่นภาพนี้มีคนนี้ เป็นกำนันใหญ่อยู่ที่นั่น ก็ต้องบอกเพื่อให้เป็นหมายสังเกต ถ้าภาพคมชัด แต่ไม่รู้เนื้อหา ก็เอาไว้ก่อน เป็นภาพชั้นรอง ยกเว้นเป็นภาพสำคัญจริงๆ ก็เอามาลงเป็นภาพเล็กๆ”

 

ปัญหาของคนทำสมุดภาพ

งานทำสมุดภาพเรียกได้ว่าต้องทำแข่งกับเวลา เพราะการลงพื้นที่ต้องอาศัยแรงกายแรงใจ รีบทำแบบเอาปริมาณก็ไม่ได้ อีกทั้งคนเก่าแก่ที่เก็บรักษาภาพและรู้เรื่องราวในภาพก็ค่อยๆ ล้มหายไปทีละคนสองคน

สมุดภาพประจำจังหวัด

“งานแบบนี้มันเสียเวลา ขับรถขึ้นๆ ลงๆ ขึ้นๆ ลงๆ พูดๆๆ พูดซ้ำพูดซากอยู่อย่างนี้ (หัวเราะ) บอกว่า หนึ่ง ภาพขาวดำ สอง ไม่เอาของท่านไป ยืมเดี๋ยวนั้น ถ่ายเดี๋ยวนั้น แล้วก็สอบถาม เขียนหลังรูป ให้เครดิตเจ้าของภาพทุกคน ทุกครั้ง ทำหนังสือเสร็จก็เอามาให้” อาจารย์เอนกเล่า

“ตอนนี้ทำสมุดภาพสระบุรี ไป 4 ครั้งนะ ครั้งหนึ่ง 3 – 4 วัน เพิ่งกลับกันมาเมื่อวานเอง เพราะต้องตระเวนไปทุกอำเภอ ไปแล้วก็ต้องไปพูดชี้แจงว่ามาทำอะไร ต้องไปพบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อบจ. อะไรก็แล้วแต่ที่เขาแนะนำ แล้วก็ตั้งแท่นก๊อปปี้ ถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดที่เราเห็นว่าควรจะถ่ายไว้ เพราะมันมีแต่จะกะเทาะเสียหายไป”

ยังไม่นับปัญหาต่างๆ หน้างาน ที่อาจารย์ทั้งสองฟันฝ่ามาเพราะเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ บางจังหวัดสมควรทำสมุดภาพอย่างยิ่งเพราะมีเรื่องราวเยอะ แต่ไปเจอผู้นำของจังหวัดที่ไม่ได้สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ ก็ไม่สามารถเดินหน้าได้ บางจังหวัดอยู่ไกล ต้องเทียวไปเทียวมา บางทีทำเสร็จเรียบร้อย ทางจังหวัดส่งข่าวมาว่ามีภาพเพิ่มเติม ต้องไปก๊อปปี้ใหม่ ก็ต้องไป บางจังหวัดหวังดี สแกนภาพถ่ายมาให้เลย แต่ความละเอียดไม่พอสำหรับตีพิมพ์ นี่เป็นเพียงอุปสรรคบางส่วนของคนทำสมุดภาพประจำจังหวัด

สมุดภาพประจำจังหวัด

“เขามักเข้าใจกันว่าสแกนเร็วๆ ปรื๊ดๆ แล้วใช้ได้เลย คือเอาไปฉายขึ้นจอคอมพิวเตอร์ ดูในมือถือ หรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กน่ะได้ แต่พิมพ์หนังสือไม่ได้ เพราะความละเอียดมันน้อย ก็ต้องไปบอกว่า 2 เมกะไบต์ขึ้นไป ต้องชี้แจง แล้วก็ต้องบอกว่าเน้นภาพขาว-ดำ เพราะเป็นภาพรุ่นปู่ย่าตายาย มันคลาสสิก รูปสีเนี่ยมันชัด แต่มันมีเยอะ” อาจารย์เอนกเล่า

“บางทีรูปต้นฉบับไม่มีแล้ว เพราะเขาสแกนให้เราแล้วคืนเจ้าของไปหมด ไม่รู้ว่าบ้านใครต่อบ้านใคร เขาไม่ได้จดกันว่ายืมของใครมาบ้าง เราก็ตามไปที่บ้านเขาเท่าที่ตามได้ พยายามสืบไปเรื่อยว่าคนจัดงานเขาได้รูปมาจากบ้านไหน เราก็ตามไป ถ้าหายไปแล้วก็จนใจ ก็อด”

หากใครเคยอ่านหนังสืออาจารย์เอนก จะสังเกตว่านอกจากคำบรรยายภาพแล้ว ยังมีรหัสภาพ ตั้งแต่สั้นๆ ไปจนถึงยาวปรี๊ด เช่น ‘ห้องสมุดเอนก นาวิกมูล ซื้อจากนักสะสม ซีดีเอนกก๊อปปี้ 088’ ‘เอนกถ่ายจ26พค2551 ซีดี667-24-57’ ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายต่อการค้นภาพ ซึ่งเป็นระบบที่อาจารย์เอนกพยายามนำมาใช้ในการทำสมุดภาพประจำจังหวัดด้วย

“การถ่ายเนี่ยเราต้องเขียนใบปะหน้า เช่น วันนี้เสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2562 มาที่ไหน ผู้ร่วมเดินทางมีใครบ้าง เป็นไดอารี่การทำงาน เป็นหมายเหตุ ก็เขียนใส่กระดาษวางไว้ ช่างภาพก็ก๊อปปี้ไปพร้อมภาพ เพราะต่อไปเก็บไว้ชั่วลูกชั่วหลาน ใครจะไปรู้ว่าใครเป็นคนก๊อปปี้ ใครเป็นคนทำ ถ้าเราไม่เขียนบอก อันนี้ก็เป็นระบบที่คิดไว้ตั้งแต่ไหนแต่ไร แล้วก็พัฒนามาตลอด”

สมุดภาพประจำจังหวัด

อาจารย์ธงชัยเสริมเรื่องปัญหาที่พบหน้างานว่า

“บางครอบครัวยกรูปมาให้ทั้งตั้ง แล้วมันปนกันหมด เราก็ต้องมานั่งเรียงลำดับ แล้วค่อยๆ ดูว่า ตกลงนี่งานบวชใคร บางทีในตั้งนั้นมีงานศพ 2 งาน งานย่า งานยาย ก็ค่อยๆ มานั่งคัด นั่งแยก ให้เหลือรูปที่เราต้องการ คือรูปที่มีเนื้อหาสมบูรณ์ เสร็จแล้วก็มานั่งถาม ถ้าเป็นรูปงานศพ ศพใคร ชื่ออะไร พ.ศ. อะไร วัดไหน ดูจากอายุเด็กในรูป ประมาณปีไหน แล้วก็ลำเลียงส่งให้ช่างภาพก๊อปปี้ เสร็จแล้วก็มัดคืนเขา คืนตรงนั้นเลย อย่าทำแตกกอง ไม่งั้นต้องนั่งแยกใหม่อีก” อาจารย์ธงชัยยิ้ม

สมุดภาพประจำจังหวัด ไม่ใช่เพียงเอาภาพอะไรก็ได้ของจังหวัดนั้นมาแปะๆ รวมกัน ต้องมีเส้นเรื่องเช่นเดียวกับหนังสือสารคดีทั่วไป

“สมุดภาพของหนึ่งจังหวัด ปกติก็แบ่งเป็น 2 เล่มคือ เล่มภาพเก่าล้วน กับเล่มมรดกศิลปวัฒนธรรม เล่มภาพเก่าล้วนก็อาจแบ่งเป็นรายอำเภอ และแบ่งย่อยลงไปเป็นคน สถานที่ เหตุการณ์” อาจารย์ธงชัยอธิบาย

“คน เราก็ต้องเอาคนเก่าก่อน สถานที่ก็เอาสถานที่สำคัญ แล้วก็เอาเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม ส่วนมรดกความทรงจำ ของสวย ของงาม ศิลปวัตถุ ก็ไล่ตามวัดเลย คือของพวกนี้จะอยู่วัด”

สมุดภาพประจำจังหวัด

สมุดภาพที่เพิ่งตีพิมพ์ล่าสุดคือ สมุดภาพนนทบุรี (พ.ศ. 2561) เนื้อหาไล่เรียงตั้งแต่ภาพเก่านนทบุรียุคแรก ภูมิสถานบ้านเมือง คือสถานที่สำคัญต่างๆ (ศาลากลาง ท่าน้ำ วัด โรงเรียน สะพาน ฯลฯ) ภาพความทรงจำและเหตุการณ์ ประเพณี วิถีชีวิต เช่น ภาพพิธีไหว้ครูดนตรี งานเลี้ยงน้ำชาการกุศล ก่อพระเจดีย์ทราย ขบวนเรือแห่ผ้าป่า ไปจนถึงงานแต่ง งานบวช งานศพ

อาจารย์เอนกเล่าว่า เท่าที่ไปลงพื้นที่มา จังหวัดไหนๆ ก็คล้ายกัน คือเน้นถ่ายภาพเหตุการณ์สำคัญในชีวิต ถ่ายภาพโอกาสพิเศษ เช่น ไปเที่ยว รูปถ่ายแปลกๆ เช่น ถ่ายผู้ร้าย แบบนี้ไม่ค่อยมี อย่างเก่งก็ภาพถ่ายน้ำท่วม อันนี้เห็นทั่วไป งานศพจะเห็นเยอะ เพราะเป็นการรวมญาติ

“ไม่มีหรอกมานั่งถ่ายอาหาร” อาจารย์ยิ้มเหมือนจะแซว คนยุคนี้สั่งอาหารสั่งกาแฟแล้วยังไม่กินทันที ควักโทรศัพท์มือถือขึ้นมาก่อน

 

ศาสตร์และศิลป์แห่งการ ‘อ่านภาพเก่า’

ขั้นตอนที่เสียเวลาและอาจยากมากที่สุดสำหรับการทำสมุดภาพคือ การอ่านภาพเพื่อเขียนคำบรรยาย
อาจารย์ธงชัยกล่าวว่า

“เวลาลงพื้นที่เก็บข้อมูล เราเสียเวลากับเรื่องเขียนคำบรรยายเยอะมาก คือถาม แล้วจด ถ้าเจ้าของภาพไม่ซีเรียส เราก็ขออนุญาตใช้ดินสอ 2B บันทึกไว้ให้หลังรูปเลย หลักคิดก็คือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ นี่คือหลักจดหมายเหตุ”

แปลกแต่จริง บางทีเจ้าของรูปอาจจำรายละเอียดในรูปไม่ได้มาก คนทำสมุดภาพต้องใช้วิธีอ่านภาพเพื่อเขียนคำบรรยาย

สมุดภาพประจำจังหวัด

คลังความรู้ในการเขียนคำบรรยายมาจากไหน คำตอบที่ได้ไม่ผิดจากคาด

“ผมชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ พงศาวดาร โบราณคดี อยู่แล้ว โดยเฉพาะเกี่ยวกับยุครัชกาลที่ 4 5 6 อ่านมาตลอด จากหนังสือที่สะสม 30,000 – 40,000 เล่ม ก็ทำให้ความรู้เยอะ มันช่วยเสริมในการอ่านภาพ ภาพบางภาพเราคุ้นๆ ว่า เอ๊ะ ในหนังสือมันบอกเรื่องทุ่นนี่ ทุ่นกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เรือสินค้าผูก เอ้า รูปนี้มีกล่องอะไรลอยตุ๊บป่องอยู่กลางแม่น้ำ พอเราเห็น ขยายดู ไอ้นี่แหละทุ่นกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เรือรบ เรือสำเภา เรือสินค้า ผูกจอด เราก็บรรยายได้ เสริมกัน” อาจารย์ธงชัยอธิบาย

“เวลาเราถาม เจ้าของภาพเขาก็บอกคร่าวๆ ทั้งนั้น แต่ดูจากภาพบางทีก็พออ่านได้ว่าน่าจะเป็นยุคนั้นยุคนี้ เช่นภาพที่ขอบหยัก ใช้กรรไกรขอบหยักมาตัด ก็เป็นที่นิยมในยุค 2490 จะเยอะ หรือภาพสียุคเก่าจะมีตัวเลขปี เช่น 17 อยู่ที่ขอบล่าง หรือดูจากสีก็พออนุมานได้ สีที่ปรากฏบนภาพ หรือดูการแต่งกาย เสื้อผ้า รถที่ใช้ ฉากหลัง สิ่งเหล่านี้เป็นตัวช่วยอ่านภาพ” อาจารย์ธงชัยกล่าว

“พอได้เห็นอะไรมาเยอะๆ ก็พอจะบอกได้ว่าภาพนี้เป็นช่วงปีไหน ภูเขาแบบนี้ อ้อ เขาวัง เพชรบุรี การเห็นป้ายสถานีรถไฟก็ช่วยได้เยอะ แต่บางภาพบอกอะไรไม่ได้จริงๆ ก็ต้องระบุว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่เป็นภาพที่สวยและน่าสนใจ ก็คัดมาลงตีพิมพ์เพื่อเป็นหลักฐาน”

สมุดภาพประจำจังหวัด

อาจารย์เอนกเดินทางมากตั้งแต่ยังหนุ่มเพราะลงพื้นที่ทำงานสารคดี ประกอบกับความจำดีเยี่ยม ทำให้ง่ายขึ้นในการทำ สมุดภาพประจำจังหวัด

“การออกไปเที่ยวสำรวจมาก่อนแล้ว เราก็จะรู้ว่าเคยเห็นอะไรบ้าง ไปวัดก็จะรู้ว่ามีจิตรกรรมฝาผนังอะไรที่น่าสนใจ หมายถึงที่ไปเที่ยวมาตั้งแต่เด็ก โตมาแล้วก็ยังสำรวจตลอดเวลา ขึ้นกุฏิพระ อย่างวัดมัชฌิมาวาสมันมีภาพเก่าอันนี้อยู่ จำได้ สมัยก่อนกล้องไม่ดีเท่าสมัยนี้ ไม่รู้จะบันทึกยังไง แล้วก็เกรงใจพระ กลัวท่านจะดุเอาบ้าง ก็ได้แต่จำๆ ไว้ ไปวัดนั้นวัดนี้เราก็เห็น หนึ่ง ในกุฏิ สอง ในโบสถ์ในวิหาร ก็ต้องมีภาพจิตรกรรม มีภาพวาด หรือสิ่งของต่างๆ เช่น พระพุทธรูป เท่าที่ผ่านตาเราก็จะรู้แล้วว่าวัดนี้มีอะไร ไม่มีอะไร” อาจารย์เอนกเล่า

สมุดภาพประจำจังหวัด

คุณสมบัติที่สำคัญของคนทำสมุดภาพคือ ต้องละเอียด อาจารย์ธงชัยกล่าว

“เพราะภาพเนี่ยมันดูลวกๆ ไม่ได้ ต้องค่อนข้างละเอียด เวลาอ่านภาพต้องสังเกตมากกว่าการดูเพลินๆ วิธีที่เราทำได้คือ เวลาเดินทางไปไหนให้สังเกตทิวเขา แม่น้ำ ลำคลอง โบราณสถาน เวลาเห็นภาพมันจะช่วยเรา เช่น แม่น้ำนี้ตลิ่งสูง ตลิ่งเตี้ย มันควรจะเป็นแม่น้ำไหน บางทีรูปมาเปล่าๆ เปลือยๆ เราดูตลิ่ง ตลิ่งไม่สูง มีโขดหิน มีเกาะแก่ง มันน่าจะอยู่ตาก แม่น้ำปิง เพราะตลิ่งเตี้ย

สมุดภาพประจำจังหวัด

“ไปเจออีกรูปหนึ่ง ตลิ่งสูง ก็มีอยู่สองแม่น้ำ คือแม่น้ำน่านกับแม่น้ำแม่กลอง มันจะสูง ถ้าฤดูแล้งก็ 20 – 30 เมตร แม่น้ำแม่กลองก็อาจจะ 10 – 20 เมตร เห็นเขาหินปูน เขาดิน ก็พออ่านได้ว่าน่าจะเป็นที่ไหน”

เชื่อหรือไม่ว่า ตัวช่วยที่สำคัญอีกอย่างในการอ่านภาพคือ หนังสืองานศพ

“ประเด็นที่เราจะได้เปรียบคือ เรามีหนังสืองานศพของผู้มีอันจะกินของจังหวัดนั้นๆ อยู่ในมือ เราก็ดูรู้ว่าบ้านนี้ ครอบครัวนี้ เป็นคนมีฐานะ ก็ต้องมีรูปถ่ายเก่า เราก็ประสานติดต่อเข้าไปเพื่อขอก๊อปปี้รูปจากบ้านเหล่านี้ เขามีรูปแน่นอนเพราะเราเห็นจากหนังสืองานศพ กิจกรรมที่เขาไปทำงานกัน ไปเที่ยว ไปเชียงใหม่ ไปบางแสน ไปศรีราชา ทำไมรู้ เพราะมีสะพานยื่นไปในเกาะลอย แล้วมีรางรถไฟอยู่

สมุดภาพประจำจังหวัด

อ่านยี่ห้อรถก็อ่านปีได้ อย่างนี้ก็ต้องปี 1950 กว่า 1957 – 1958 ก็คือก่อน พ.ศ. 2500 นิดหน่อย เราก็ต้องมาดูว่าเขาเกิดปีไหน ในหนังสืองานศพจะมีบอกอยู่ ประวัติ เขาเกิด 2482 คาดว่าอายุ 20 มีรถ รูปรถก็น่าจะถ่ายราว 2502 เป็นคนแพร่ ดังนั้น เขาต้องมีรูปเมืองแพร่ สมมติถ้าเราไปรับงานที่แพร่ เราก็เข้าไปหาคนนามสกุลนี้ที่ระบุในหนังสืองานศพ”

การได้รูปถ่ายมาแล้วพลิกเจอคำบรรยายหลังภาพถือเป็นโชคดี เพราะน้อยมากที่จะเจอ

“ใครเขาจะมานั่งเขียนหลังรูปกัน ไม่มีเลย บางคนขยันหน่อย ก็ทำอัลบั้มรูป แล้วเขียนคำบรรยายด้วยหมึกสีขาว ต้องเป็นคนประณีต สมัยก่อนหมึกสีขาว หมึกโปสเตอร์ เขียนด้วยปากกาคอแร้ง เป็นงานประณีต ก็ต้องคนประณีตทำ” อาจารย์เอนกตอบ

“แต่คนทั่วไปก็แค่แปะภาพไว้เฉยๆ เลยต้องเสียเวลานั่งอ่าน แล้วก็เทียบเคียงกับรูปข้างๆ”

อ่านมาถึงตรงนี้ ยังมีใครคิดอีกไหมว่าการทำสมุดภาพคือการไปขอรูปจากชาวบ้านมาแปะๆ รวมกันเป็นเล่ม

 

ภาพหนึ่งภาพบอกคำเป็นพัน

สำหรับคนทำสมุดภาพ ความสำคัญของมันคืออะไร

สมุดภาพประจำจังหวัด

อาจารย์ธงชัยตอบว่า

“ภาพหนึ่งภาพดีกว่าคำบรรยายหมื่นคำ เวลามีภาพเก่าให้เห็นมันสนุก มันเพลิดเพลิน มีประโยชน์ โดยเฉพาะถ้าตัวเองเกี่ยวข้องกับเรื่องๆ นั้น ก็ยิ่งสนุก ประการที่สองคือ เป็นการเก็บรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง ก่อนที่มันจะสาบสูญไป แต่ถ้าเรานำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ จำนวน 2,000 – 3,000 เล่มเนี่ย ก็จะขยายองค์ความรู้ของรูปเหล่านั้นได้มากขึ้น ขยายโอกาสที่ภาพใบนั้นจะถูกเห็นมากขึ้น ประโยชน์ข้อสามก็คือ เป็นการขยายเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ของตนเอง ของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งเราได้อ่านข้อเขียนมากมายมหาศาลจากประวัติศาสตร์ที่คนรจนาขึ้นมา เช่น ประวัติศาสตร์เมืองอ่างทอง เมืองอยุธยา แต่เราไม่เคยเห็นภาพของสถานที่ที่เขาบรรยายเลย ว่ามันมีภูมิสถานบ้านเมืองยังไง อ่านแล้วก็จินตนาการไม่ออก”

อาจารย์ธงชัยกล่าวว่า สมุดภาพทำให้คนสนใจใฝ่รู้จะศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเอง ทำให้คนเห็นว่า อ๋อ ของเดิมเป็นอย่างนี้นะ

สมุดภาพประจำจังหวัด

การทำสมุดภาพในอีก 50 ปีข้างหน้าอาจจะเจอปัญหาหนักยิ่งกว่าการต้องตระเวนไปตามจังหวัดต่างๆ แล้วเก็บข้อมูล

“คนบันทึกจะมีสักกี่ค้น…” อาจารย์เอนกทำเสียงสูง เมื่อเราตั้งข้อสังเกตว่ายุคนี้ถ่ายรูปง่าย แต่ไม่ได้แปลว่าอีก 50 ปี การทำสมุดภาพจะง่ายตามใช่ไหม

“ในอนาคตรูปมันจะเยอะมาก เป็นล้านๆ รูป แต่ใครบันทึกจริงจังแค่ไหน และเขาไม่ได้เก็บจริงจัง ใส่ External Drive เป็นรูปไฟฟ้า เสื่อมหายไปก็มี เราถ่ายรูปกันเยอะจริง แต่ไม่จด ไม่บรรยาย ถ่ายเก็บไว้เฉยๆ ถึงแม้มีเลขวันเดือนปีอยู่ ไม่รู้ว่าถ่ายอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ความทรงจำคนมันไม่ค่อยจำ” อาจารย์เอนก เจ้าของสโลแกน ‘เจาะลึก บันทึกอดีต’ กล่าว

สมุดภาพประจำจังหวัด

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สื่อมวลชนคนสำคัญแห่งวงการสารคดีเมืองไทย กล่าวไว้ใน พ.ศ. 2556 ว่า เขาเชื่อว่าข้อมูลทั้งข้อเขียนหรือรูปถ่ายของเอนก นาวิกมูล อาจมีปริมาณและคุณค่ามากกว่าสถาบันการศึกษาหลายแห่งในประเทศ

การจัดทำสมุดภาพของไทยยังถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณและความหลากหลายของสมุดภาพในต่างประเทศ เราอาจไม่ได้แพ้เขาในด้านฝีมือ แต่แพ้เรื่องกำลังคนที่จะเห็นความสำคัญและลงทุนลงแรงผลิตสมุดภาพ

สมุดภาพประจำจังหวัด

ต่างประเทศมีสารพัดสำนักพิมพ์และสำนักจดหมายเหตุ ช่วยกันจัดพิมพ์สมุดภาพในหัวข้อต่างๆ ทั้งยอดนิยมและไม่ค่อยนิยม ตั้งแต่สมุดภาพสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ไปจนถึงสมุดภาพหัวข้อเฉพาะทางสุดๆ เช่น สมุดภาพชีวิตประจำวันของชาวยิวที่อพยพไปอยู่ย่าน Lower East Side บนเกาะแมนฮัตตัน หรือสมุดภาพชีวิตชาวบ้านในอังกฤษ ที่มีภาพเก่าตั้งแต่ ค.ศ. 1856 แต่เขียนคำบรรยายภาพได้ค่อนข้างละเอียด เพราะมีบันทึกไว้ และมีภาพทุกอย่างตั้งแต่ชนชั้นปกครอง ไปจนถึงคนกวาดปล่องไฟและคนจับหนู

สมุดภาพประจำจังหวัด

แต่ตราบใดที่เอนก นาวิกมูล และ ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ยังไม่หยุดทำงานอันสำคัญนี้ ประเทศไทยจะมีสมุดภาพที่บันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นทีละเล่ม ทีละเล่ม

สมุดภาพประจำจังหวัด

หนังสือประกอบการเขียน

เอนก นาวิกมูล. สมุดภาพสงขลา พ.ศ.2551. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการชุมนุมนักเรียนเก่ามหาวชิราวุธ พ.ศ.2551, 2551

เอนก นาวิกมูล. ประชุมภาพเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สายธาร, 2551

เอนก นาวิกมูล. เมื่อวัยเด็ก. กรุงเทพฯ: พิมพ์คำ, 2556

เอนก นาวิกมูล. ภาพเก่ากรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: พิมพ์คำ, 2558

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ