‘อาหารสกอตแลนด์’ มีอะไรบ้าง 

คำตอบแรกของหลายคนน่าจะคือ “ไม่รู้” 

เป็นเรื่องจริงที่ว่า พอเอ่ยถึง ‘อาหารสกอตแลนด์’ แล้วไม่มีภาพเมนูใด ๆ ลอยมาในหัว แต่นั่นอาจเป็นเพราะจุดเด่นของอาหารสกอตแลนด์ อยู่ที่ ‘วัตถุดิบ’ มิใช่ ‘เมนู’ 

แม้จะไม่มีอาหารสัญชาติสกอตที่พูดชื่อปุ๊บแล้วคนทั้งโลกรู้จักแบบพิซซาอิตาลี ปาเอยาสเปน ซูชิญี่ปุ่น ฟิชแอนด์ชิปส์ของอังกฤษ หรือไส้กรอกเยอรมัน แต่ถ้าแข่งกันที่คุณภาพวัตถุดิบอย่าง ‘อาหารทะเล’ สกอตแลนด์นับว่าไม่เป็นสองรองใครเลยค่ะ

ภาพ : Seafood from Scotland

สกอตแลนด์เป็นผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร (ประกอบด้วยอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ คือมากถึงราว 2 ใน 3) และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของทวีปยุโรปด้วยค่ะ โดยจับปลาได้มากถึงกว่า 540,000 ตันต่อปี

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ปี 2023 สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ร่วมกับ Scottish Development International จัดดินเนอร์สุดพิเศษ From Tide to Table เพื่อนำเสนออาหารทะเลจานเด่นของสหราชอาณาจักร โดยเสิร์ฟเป็นเซตเมนู 4 จาน ตามด้วยชีสและของหวาน ทุกจานจับคู่กับเครื่องดื่มตัวดัง (แน่นอนว่าต้องมีสกอตช์วิสกี้ด้วย)

ตัวเซตเมนู 4 จานนั้น เชฟเลือกวัตถุดิบเด่น ๆ อย่าง Scottish Langoustine, Hebridean King Scallop, Loch Duart Scottish Salmon และ Atlantic Monkfish มาเสิร์ฟ

Atlantic Monkfish Roasted, Matelote Sauce, Roasted Onion, Chorizo
Loch Duart Scottish Salmon Confit in Olive Oil, Green Peas, Tarragon Hollandaise Sauce
Seared Hebridean King Scallop, Caper-sultana Emulsion, Scallop Mantle and Saffron Soup
Scottish Langoustine Two Ways

ซือกินจบมื้อพร้อมความรู้สึกอิ่มตื้อไปจนรุ่งเช้าอีกวัน อร่อยค่ะ แม้ซือจะไม่ใช่เชฟ แต่ความสดอร่อยของวัตถุดิบมันโกงกันไม่ได้นะคะ อร่อยก็คืออร่อย ?

เมื่อไปค้นข้อมูลดูจึงเข้าใจว่าเราไม่ได้เพียงแค่กินปลาดี ๆ หนึ่งชิ้น แต่กำลังลิ้มรสผลิตผลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของสกอตแลนด์ และจะยิ่งทวีความสำคัญในวงการอาหารทะเลโลกในอนาคต เพราะเป็นตัวตัดสินว่าเราจะมีปลาดี ๆ อร่อย ๆ กินไปอีกนานแค่ไหน

อดีต : ประวัติศาสตร์ชาวประมงสกอต

โดยทำเลที่ตั้ง สกอตแลนด์ล้อมรอบด้วยกระแสน้ำอุ่น Gulf Stream แถมมาเจอกับกระแสน้ำเย็นแอตแลนติกเหนือพอดิบพอดี ทำให้มีอาหารทะเลหลากหลายและอุดมสมบูรณ์มากถึงกว่า 65 สปีชีส์ 

จึงไม่น่าแปลกใจที่อาชีพทำประมงเป็นงานสำคัญของชาวสกอตมาแต่ไหนแต่ไร โดยมีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกกก… ต้องเติม ก ไก่ ล้านตัว เพราะนานจริง ๆ (คือมีบันทึกย้อนกลับไปตั้งแต่กว่า 9,000 ปีที่แล้ว) แต่ในระยะแรกก็ยังคงเป็นเพียงการจับปลาเพื่อกินในครอบครัวและขายในชุมชนใกล้เคียงเท่านั้น

ภาพ : doriccolumn.files.wordpress.com

ในยุคกลาง (ปี 476 – 1453) คือยุคที่ยุโรปอยู่ภายใต้อำนาจอัศวินและพระ อุตสาหกรรมประมงเริ่มทวีความสำคัญขึ้น จากที่แค่ขายในชุมชนก็มีการส่งออกไปสู่ตลาดในทวีปยุโรป ปลาที่มีความสำคัญมากคือแซลมอนและแฮร์ริง (Herring) มีหมู่บ้านชาวประมงเกิดขึ้นทั่วไปในชุมชนที่อยู่ติดทะเล ในยุคถัด ๆ มา ทั้งสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลต่างพยายามสนับสนุนอุตสาหกรรมการประมง มีการออกใบอนุญาตให้จับและขายปลา มีโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลคอยช่วยเหลือชาวประมง แต่ก็มีคู่แข่งสำคัญคือชาวประมงดัตช์และนอร์เวย์ ซึ่งมีเทคนิคการจับปลาที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

ท่าเรือเมือง Aberdeen ในสกอตแลนด์
ภาพ : fishingnews.co.uk

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมประมงสกอตแลนด์เข้าสู่ยุคเฟื่องฟูตั้งแต่ยุคต้นศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา รัฐบาลสหราชอาณาจักรมีโครงการให้เงินสนับสนุน (Bounty) แก่เรือประมงจำนวน 3 ปอนด์ต่อตัน (สำหรับเรือประมงที่มีขนาดมากกว่า 60 ตัน) และหากขายปลาในตลาดต่างประเทศได้ ก็มีเงินสนับสนุนอีกต่างหาก แถมยุคนั้นยังมีการสร้างทางรถไฟ ทำให้ขนส่งปลาไปยังตลาดทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว ในตอนนั้นเรียกได้ว่าสกอตแลนด์กลายเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมประมงของยุโรป 

ตลาดปลาเมือง Aberdeen 
ปลาแฮร์ริง
ภาพ : fisheries.noaa.gov

ปลาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในยุคประมงเฟื่องฟูนี้คือปลาแฮร์ริง (Herring) ซึ่งมีชื่อเล่นสุดน่ารักว่า Silver Darlings (เพราะลำตัวเป็นสีออกเงิน) มีให้จับค่อนข้างตลอดปี ตลาดส่งออกสำคัญคือเยอรมนี ยุโรปตะวันออก และรัสเซีย 

ธุรกิจค้าปลาแฮร์ริงต้องใช้กำลังคนเยอะมาก และมีเกร็ดประวัติศาสตร์น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับแรงงานผู้หญิง เนื่องจากแฮร์ริงเป็นปลาที่มีน้ำมันมาก เมื่อจับมาได้แล้วต้องรีบควักไส้ปลา เอาแช่น้ำเกลือ และแพ็กส่งทันทีภายใน 24 ชั่วโมงเพื่อไม่ให้ปลาเน่าเสีย 

แรงงานหญิงผู้ทำหน้าที่ควักไส้ปลา
ภาพ : scotfishmuseum.org

แรงงานสำคัญในการควักไส้ปลาและแพ็กคือแรงงานสาว ๆ นี่เองค่ะ โดยสาว ๆ เหล่านี้อาจเริ่มทำงานตั้งแต่อายุเพียง 15 ปีในหมู่บ้านชาวประมงตามชายฝั่งทั่วสกอตแลนด์ ทำงานนานถึงวันละ 12 ชั่วโมง ตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น บางทีก็ลากยาวไปจนถึง 3 ทุ่มหรือเที่ยงคืนเลยทีเดียว อีกทั้งยังเป็นงานที่ต้องเดินทางตามเรือประมงไปตามชายฝั่งต่าง ๆ เพราะในแต่ละช่วงของปี ฝูงปลาแฮร์ริงจะว่ายน้ำไปเรื่อย ๆ เรือประมงก็ตามไปจับ 

มีการประมาณการว่าในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ที่ธุรกิจค้าปลาแฮร์ริงเฟื่องฟู มีจำนวนสาว ๆ ที่ทำงานนี้มากถึง 9,000 คน นอกจากช่วยงานควักไส้ปลาแล้ว ยังรวมไปถึงทำอาหารและทำความสะอาดให้บรรดาชาวประมงผู้ชาย ซ่อมแซมตาข่ายจับปลา หรือบางครั้งก็ช่วยทำความสะอาดเรือด้วยค่ะ

สาว ๆ นักควักไส้ปลา ทำงานที่ Yarmouth ช่วงต้นทศวรรษ 1900
ภาพ : Mary Evans Picture Library

สาว ๆ เหล่านี้จะมีกระเป๋าใส่ของใช้จำเป็นสำหรับการเดินทาง ประกอบด้วยชุดทำงาน ชุดสวยสำหรับใส่วันอาทิตย์ ผ้าเช็ดตัว อุปกรณ์ถักนิตติง มีดควักไส้ปลา และที่ขาดไม่ได้คือปลอกนิ้วที่เรียกว่า Cloots เพื่อช่วยป้องกันอันตรายขณะทำงาน

คนงานสาว พร้อมอุปกรณ์ถักนิตติงไว้ทำยามว่าง
ภาพ : artuk.org

ปลอกผ้านี้ทำจากถุงแป้งค่ะ เอามาพันรอบนิ้ว แต่บางครั้งก็ป้องกันได้ไม่เต็มประสิทธิภาพนัก น้ำเกลือมักจะซึมเข้าในผ้า ซึ่งถ้ามีแผล (จากการทำงานกรีดพุงและเลาะเหงือกปลา) นึกสภาพมือเป็นแผลแล้วโดนน้ำเกลือดูนะคะ โอยยย

หน้าตาปลอกนิ้วของสาวนักควักไส้ปลา
ภาพ : artuk.org

เมื่อเทียบกับผู้หญิงสกอตที่ไม่ได้ทำอาชีพคนควักไส้ปลา สาว ๆ เหล่านี้ถือว่ามีสถานภาพทางสังคมที่ดีกว่าค่ะ เพราะได้รับเงินค่าจ้าง ได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญเท่าเทียมกับชาวประมงชาย (เพราะเป็นแรงงานที่จะขาดเสียไม่ได้ในธุรกิจค้าปลาแฮร์ริง) และไม่น่าแปลกใจว่า สาว ๆ นักควักไส้ปลาจำนวนไม่น้อยก็พบว่าที่สามี (คือชาวประมงหนุ่ม) ตอนทำงานนี่เอง เรียกได้ว่าแม้กลิ่นปลาจะตลบอบอวลสักนิด แต่ความรักแสนหอมหวานก็แบ่งบานเต็มท่าเรือ

ภาพ : Scottish Fisheries Museum

อย่างไรก็ตาม สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ธุรกิจประมงซบเซาลงอย่างมาก เพราะชาวประมงหนุ่ม ๆ ที่มีความรู้เรื่องทะเลดีถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารของกองทัพเรือ จำนวนสาว ๆ ที่ทำงานควักไส้ปลาลดลงอย่างมาก จากตัวเลข 9,000 เหลือเพียงราว 4,500 ในปี 1938 และยิ่งซบเซาหนักเข้าไปอีกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

แต่เมื่อสภาพสังคมค่อย ๆ ฟื้นฟู กาลเวลาที่ผันผ่าน ทำให้ธุรกิจอาหารทะเลของสกอตแลนด์กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง เพราะมีทรัพยากรเหลือเฟือ ประกอบกับเทคนิคการทำประมงที่ทันสมัยมากขึ้น เรือทั้งขนาดใหญ่และเล็กที่มีเทคโนโลยีดีเยี่ยม และชาวประมงเลือกจับสัตว์น้ำที่มีความหลากหลายมากขึ้นเพราะตลาดต้องการ โดยเฉพาะกุ้ง ซึ่งในอดีตเป็นของทะเลที่คนไม่ค่อยนิยมเท่ากับปลา 

ภาพ : Scottish Fisheries Museum

ปัจจุบัน : สู่แบรนด์ระดับชาติเพื่อวงการอาหารทะเลที่ยั่งยืน

จากวันนั้นถึงวันนี้ อาชีพประมงพัฒนากลายเป็นจุดเด่นของประเทศ มีการตั้ง ‘Seafood from Scotland’ องค์กรระดับชาติที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อดำเนินงานส่งเสริมการตลาดและสนับสนุนธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่วงการอาหารทะเลสกอตแลนด์ (โดยอยู่ภายใต้แบรนด์ ‘Scotland – A Land of Food & Drink’ ที่ดูแลอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของสกอตแลนด์อีกที) 

ตัวเลขปี 2018 ระบุว่าสกอตแลนด์มีเรือประมงที่จดทะเบียนถูกต้องและยังดำเนินงานอยู่ราว 2,000 ลำ ชาวประมง 4,860 คน แต่สกอตแลนด์ประเทศเดียวผลิตอาหารทะเลได้มากถึง 8% ของสหภาพยุโรป

องค์กร Seafood from Scotland ระบุว่า 3 สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งของอุตสาหกรรมประมงประเทศนี้ ได้แก่ People, Place และ Product 

Place หมายถึงทำเลอันยอดเยี่ยม โดยกว่า 98% ของน่านน้ำสกอตแลนด์จัดว่ามีคุณภาพสูง (High Quality Status) ส่วน Product ก็หมายถึงอาหารทะเลหลากหลายคุณภาพระดับพรีเมียม 

แต่สิ่งที่ซืออยากกล่าวถึงเป็นพิเศษก็คือ People ซึ่งไม่เพียงแต่หมายถึงชาวประมงเท่านั้น แต่รวมถึงอีกหลากหลายอาชีพในวงการอาหารทะเล ทั้งคนขายปลาไปจนถึงเชฟ ซึ่งสำหรับธุรกิจอาหารทะเลสกอตแลนด์ในปัจจุบัน บรรดาคนทำงานดูจะมีทัศนคติร่วมกันเพื่อเชิดชูความยั่งยืนของวงการนี้

ภาพ : Seafood from Scotland

Seafood from Scotland ระบุว่าเหล่าชาวประมงสกอตเปรียบตัวเขาเองเป็น Custodian of the Sea หรือผู้ปกปักรักษาท้องทะเล ไอเดียสำคัญของอุตสาหกรรมประมงของชาติสกอตแลนด์จึงเป็นเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) บรรดาชาวประมงต่างตื่นตัวมากในการสมัครขอใบรับรองต่าง ๆ ที่เป็นการรับประกันว่าตนเองทำการประมงอย่างยั่งยืน จนกล่าวได้ว่าสกอตแลนด์เป็นผู้นำประเทศหนึ่งในวงการประมงเพื่อความยั่งยืนของโลก ได้รับความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ นักวิทยาศาสตร์ และกลุ่ม NGO ที่ทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม

ข้อยืนยันว่าการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนนี้ไม่ได้เป็นเพียงคำพูดสวยหรู คือสัตว์น้ำหลายชนิดในน่านน้ำ North East Atlantic มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ปลา European Hake และ North Sea Plaice ได้รับการบันทึกว่ามีจำนวนสูงสุดในประวัติศาสตร์ อีกทั้ง Spawning Stock Biomass (ตัวชี้วัดสถานะปริมาณทรัพยากรปลาและความสามารถในการขยายพันธุ์ คำนวณจากน้ำหนักตัวรวมของปลาตัวเมียที่อายุถึงขีดที่แพร่พันธุ์ได้และมีสุขภาพแข็งแรงพอ) ของปลาเนื้อขาวในน่านน้ำสกอตแลนด์ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และอยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปัจจุบัน อีกตัวชี้วัดคืออัตราการตายโดยเฉลี่ยของปลาเนื้อขาวลดต่ำลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์การประมง

ภาพ : Seafood from Scotland

ในส่วนมาตรการช่วยเหลือและจูงใจจากภาครัฐ เรือประมงที่ผ่านเกณฑ์ด้านการอนุรักษ์จะได้รับอนุญาตให้ออกทะเลได้นานวันขึ้น 

ซึ่งเกณฑ์ด้านการอนุรักษ์นี้ก็เช่น ต้องหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีปลาคอดอยู่มากเป็นพิเศษ (เพราะเป็นสายพันธุ์ที่มีจำนวนลดลงและต้องการการฟื้นฟู) ต้องใช้อวนตาห่างเพื่อให้ปลาที่ยังโตไม่เต็มวัยหนีออกไปได้ และต้องใช้อุปกรณ์พิเศษเพื่อลดการจับปลาคอด แต่ยังคงมีประสิทธิภาพในการจับปลาชนิดอื่น ห้ามจับสัตว์น้ำบางชนิดที่กำลังท้อง เช่น ปูสีน้ำตาล กุ้งมังกรตัวเมีย หากจับมาได้ต้องปล่อยคืนสู่ท้องทะเลทันที ฯลฯ

Lewis Bennett
ภาพ : Seafood from Scotland

Lewis Bennett จากบริษัท Loch Duart ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการทำฟาร์มแซลมอนกล่าวว่า เขาทำงานที่นี่มา 5 ปีแล้ว โดยเริ่มจากตำแหน่ง Assistant R&D Manager ก่อนจะเป็นคนริเริ่มโครงการ Cleanerfish และเป็นผู้จัดการโครงการนี้ในปัจจุบัน ทำหน้าที่ควบคุมดูแลปัจจัยทางชีวภาพทั้งหมดของบรรดาแซลมอน

Lewis กล่าวว่า ทำเลที่ตั้งของสกอตแลนด์ถือได้ว่าดีเยี่ยม มีทั้งแหล่งน้ำจืดและน้ำเค็ม ทำให้มีปลาคุณภาพสูง และลูกค้าต่างตื่นตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ และต้องการอาหารทะเลที่จับมาอย่างมีความรับผิดชอบ 

“ผมดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทดี ๆ อย่าง Loch Duart เรามีความรับผิดชอบและมุ่งมั่นทำการประมงเพื่อความยั่งยืน เราเชิญลูกค้ามาเยี่ยมชมฟาร์มแซลมอนบ่อย ๆ เพื่อให้ได้เห็นว่าปลาดี ๆ ที่พวกเขากินถูกจับมาอย่างไร” Lewis ระบุ

Steph Meikle
ภาพ : Seafood from Scotland

Steph Meikle เชฟสาวแห่งร้าน Moor of Rannoch ก็มีความเห็นคล้าย ๆ กัน เธอกล่าวว่า “ทรัพยากรอาหารของสกอตแลนด์อุดมสมบูรณ์และหลากหลายมาก มีตัวเลือกเต็มไปหมด เราพยายามเลือกซื้อจากผู้ประกอบการรายย่อย และทำเมนูตามฤดูกาล” ร้านของ Steph เปลี่ยนเมนูทุกวัน โดยเชฟก็ไม่รู้ว่าวันนี้จะได้ทำเมนูอะไร จนกว่าปลาประจำวันจะมาส่ง

แต่การไม่รู้ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะ Steph กล่าวว่า วันนั้นจะมีอะไรให้ปรุงก็ไม่ค่อยซีเรียส เพราะอาหารทะเลของสกอตแลนด์มีคุณภาพดีเยี่ยมจนเธอแทบไม่ต้องปรุงอะไรมาก เน้นวิธีการที่ดึงรสธรรมชาติของวัตถุดิบออกมาแค่นั้นก็พอ เธอไม่อยากทำเมนูซ้ำ ๆ ทุกวัน อีกทั้งลูกค้าก็จะเบื่อ ดังนั้นการมีปลาให้ใช้เปลี่ยนไปทุกวันจึงเป็นเรื่องดีมากจริง ๆ

William Calder
ภาพ : Seafood from Scotland

William Calder คนขายปลารุ่นที่ 2 ของบริษัท Scrabster Seafoods กล่าวว่า นี่เป็นกิจการครอบครัวมากว่า 50 ปีแล้ว โดยเริ่มจากรุ่นพ่อ วิธีทำธุรกิจคือจะซื้อปลาจากงานประมูลทั่วสกอตแลนด์ นำมาเตรียม แพ็ก และจัดส่งไปถึงมือลูกค้าทั่วสหราชอาณาจักรและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก 

William ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เขาคิดว่าสกอตแลนด์มีทรัพยากรอาหารทะเลดีที่สุดในโลก “น่านน้ำของเราสะอาดมาก รวมทั้งมีการจัดการทรัพยากรปลาที่ดี ปลาของเรามีสุขภาพดี จึงมีรสชาติอร่อยมาก” เมนูที่เขาชอบเป็นพิเศษคือกุ้ง Langoustine ปรุงกับเนย เลมอน และพาร์สลีย์ เขายังชอบเนื้อสีขาวหวานอร่อยของปูสีน้ำตาล และเนื้อแน่นนุ่มของปลา Haddock ด้วย

ในปัจจุบันสกอตแลนด์ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศชั้นนำในวงการอาหารทะเลเพื่อความยั่งยืน มีใบรับรองในสาขานี้มากกว่าประเทศในยุโรปอื่น ๆ ของทะเลจากเรือประมงจะตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งหมดตั้งแต่ต้นทางคือจุดที่จับมา ไปจนถึงนำไปขายที่ไหนและใครเป็นคนซื้อ

ภาพ : Seafood from Scotland

จึงนับได้ว่า อาชีพทำประมงมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตชาวสกอต และในยุคต่อมาก็เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจสกอตแลนด์ (และสหราชอาณาจักร) มาอย่างยาวนานกว่า 9,000 ปี ในปัจจุบันได้รับการต่อยอดและรักษาไว้ให้เป็น Custodian of the Sea เป็นองครักษ์พิทักษ์น่านน้ำที่ตั้งใจทำประมงอย่างยั่งยืน 

ในเมื่ออาหารทะเลดี ๆ ต้องมาจากน่านน้ำที่สะอาดและสิ่งแวดล้อมที่ดี สิ่งนี้จึงต้องมีการลงทุนลงแรง และสกอตแลนด์ก็ทำสำเร็จในระดับที่น่าชื่นใจ 

ภาพ : Seafood from Scotland

แม้พูดคำว่า ‘อาหารสก็อต’ แล้วคนชาติอื่นนึกไม่ออกว่าประเทศนี้เขากินอะไรกัน แต่ในอีกแง่หนึ่ง เมนูทะเลที่ขึ้นโต๊ะในร้านอาหารชั้นนำทั่วโลก ต่างก็มีกุ้งหอยปูปลาจากน่านน้ำสกอตแลนด์เป็นวัตถุดิบพรีเมียม เหล่าเชฟเองก็ชอบ เพราะของดีไม่ต้องปรุงอะไรมากก็อร่อย

Seafood from Scotland จึงเป็นแบรนด์ระดับชาติที่มีศักยภาพและน่าสนับสนุน เพราะเราคงอยากกินอย่างสบายใจว่าฉันไม่ได้ทำร้ายทะเล 

และแน่นอนว่าเราคงอยากให้รุ่นลูกรุ่นหลานของเรามีซีฟู้ดดี ๆ กินต่อไปอีกนาน จริงไหมคะ

ขอขอบคุณ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม