“คุณมาจากประเทศอะไร” คนขับอูเบอร์ชาวเอกวาดอร์ถามผมตอนรถติดไฟแดงอยู่ข้าง National Mall หรือสนามหญ้ากลางกรุงวอชิงตัน เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา ย่านนี้รายล้อมไปด้วยสถานที่สำคัญอย่างอาคารรัฐสภา ห้องสมุดรัฐสภา และพิพิธภัณฑ์ชื่อดังมากมาย
พรุ่งนี้ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เป็นวันชาติสหรัฐฯ บริเวณนี้จะใช้เป็นที่รวมตัวของผู้คนเพื่อชมการจุดพลุต่อเนื่องราว 20 นาที พี่คนขับแนะนำว่าจุดชมพลุที่สวยที่สุดคือกลางสนามหญ้า ฉากหลังด้านหนึ่งเป็นรัฐสภา อีกด้านเป็นอนุสาวรีย์วอชิงตัน ที่สำคัญควรรีบมาจองที่แต่เนิ่น ๆ
“ประเทศไทย” ผมตอบ
“คุณรู้จักนักมวยชื่อ บัวขาว ไหม” คุณพี่คนขับถามสวนกลับทันที เขารู้จักบัวขาวผ่านการดูคลิปชกมวยในสื่อออนไลน์ เขาไม่รู้ว่าบัวขาวชกมวยประเภทไหน รู้แต่ว่าแข็งแกร่งมาก เหมือน The Rock ของวงการมวย และเป็นคนไทย
“รู้จักสิ บัวขาวมาชกโชว์ที่นี่เมื่อวาน คุณได้มาดูไหม” ผมชี้มือผ่านหน้าต่างไปทางขวา เขาคงเป็นหนึ่งในผู้ชมแน่ ๆ ถึงชวนผมคุยเรื่องนี้
“ที่ไหน ผมไม่รู้ข่าวเลย”
“ตรงจุดที่คุณบอกว่าชมพลุสวยที่สุดนั่นแหละ ชื่องาน Sawasdee DC Thai Festival”
“อ๋อ ผมเห็นงานอยู่ แต่ไม่รู้เลยว่าบัวขาวมา ถ้าผมรู้ก่อน ผมไปดูแน่นอน”
รถตู้พวงมาลัยซ้ายพาผมเลี้ยวออกจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ย่านจอร์จทาวน์ มุ่งหน้าสู่ Larz Anderson House อาคารเก่าย่านกลางเมือง ที่นั่นมีงานเลี้ยงรับรองเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ ก่อนจะถึงงาน Sawasdee DC ในวันมะรืน
อาคารแห่งนี้มีอายุเกือบ 120 ปี เป็นสถานที่ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ จัดถวายให้เป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนกรุงวอชิงตัน พ.ศ. 2474 ถือเป็นการเสด็จเยือนสหรัฐฯ ของพระมหากษัตริย์ไทยครั้งแรก
เจ้าภาพของงานในวันนี้คือ ท่านทูตธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ร่วมกับ เอสเธอร์ คูเปอร์สมิธ (Esther Coopersmith) อดีตเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ซึ่งมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับประเทศไทยอย่างมาก ส่วนแขกในงานเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในทุกมิติกว่า 250 คน และเต็มไปด้วยแขกคนพิเศษมากมาย เช่น ลอยด์ ออสติน (Lloyd Austin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แดเนียล คริเทนบริงค์ (Daniel Kritenbrink) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มาริสา ลาโก (Marisa Lago) ปลัดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เอริกา โมริตซูกู รองผู้ช่วยประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้ประสานงานอาวุโสด้านชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ฮาวาย และหมู่เกาะแปซิฟิก และ เท็ด โยโฮ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ
ท่านทูตธานีมองว่าไทยกับสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์กันในหลายมิติ เช่น ด้านเศรษฐกิจ สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าที่สำคัญ ลงทุนในไทยมา 100 กว่าปี และลงทุนมากเป็นอันดับต้น ๆ มาโดยตลอด จนได้รับสถานะเป็นชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง ได้รับสิทธิต่าง ๆ เหมือนบริษัทไทย
ด้านการเมือง ความมั่นคง เราก็ร่วมเป็นร่วมตายกันมาหลายสงคราม โดยเฉพาะการต่อตั้งขบวนการเสรีไทยที่อาคารสถานกงสุล เพื่อทำงานร่วมกับ OSS องค์กรซึ่งพัฒนาต่อมากลายเป็น CIA มีการฝึกคนไทยแล้วส่งกลับไปหาข่าวในประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ จึงช่วยเจรจาให้ไทยไม่ต้องตกเป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2
ด้านสังคม ตั้งแต่ยุคปลาย 1800 จนถึงต้น 1900 มีมิชชันนารีจากสหรัฐฯ เดินทางไปเผยแผ่ศาสนาในไทยเป็นจำนวนมาก มีการสร้างโรงเรียนและโรงพยาบาลมากมายในหลายจังหวัด สร้างรากฐานและความก้าวหน้าอย่างมากให้วงการสาธารณสุขและการศึกษาของไทย
“ประเทศไทยเล็กมาก เรามีขนาดทางเศรษฐกิจเท่ารัฐเวอร์จิเนียของสหรัฐฯ เราจึงต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษให้ไทยอยู่ในจอเรดาร์ของสหรัฐฯ ทำให้เขาเห็นความสำคัญของเราให้ได้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศไทย” ท่านทูตธานีอธิบายต่อว่างานวันนี้และวันมะรืนก็จัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์นี้
เสียงดนตรีแจ๊สจากสุดยอดนักทรัมเป็ตอย่าง Wendell Brunious และวง The New Orleans Quintet ดังขึ้นแล้วจากระเบียงชั้น 2 โดยมี เจนนิเฟอร์ นักร้องสาวไทยเสียงทรงพลังที่เกิดในสหรัฐฯ ร่วมขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ด้วย
อาหารและเครื่องดื่มที่เสิร์ฟในงานนี้ร่วมถึงโชว์ทั้งหลาย คือรวมมิตรซอฟต์พาวเวอร์ของไทยทุกด้านที่จะได้พบในงาน Sawasdee DC
“ความง่ายในการทำงานการทูตที่นี่ คือเรามีซอฟต์พาวเวอร์เยอะ โดยเฉพาะมิตรภาพ ก่อนโควิดมีนักท่องเที่ยวไปไทยปีละ 40 ล้านคน ส่วนหนึ่งก็เพราะมิตรภาพของคนไทยนะ” ท่านทูตธานีบอก
เมื่อคืนฝนตกไม่หนัก เช้านี้แดดแรง ใจคนจัดงานค่อนข้างชื้น
วงโยธวาทิตของนาวิกโยธินสหรัฐฯ กำลังบรรเลงเพลงเดินนำขบวนผู้จัดงานผ่านสนามหญ้าเข้าสู่หน้าเวทีที่มีอาคารรัฐสภาเป็นฉากหลัง หากมองจากเวทีกลับมาก็จะเห็นเสาอนุสาวรีย์วอชิงตันสูง 555 ฟุตตระหง่านอยู่ด้านหลัง
นี่คือการจัดเทศกาลไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่หน้ารัฐสภา สหรัฐอเมริกา และที่เลือกจัดในจุดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็เพราะปีนี้ครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ งานนี้เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 โดยความร่วมมือของทุกหน่วยงานราชการไทยในกรุงวอชิงตัน ธุรกิจไทย สมาคมไทย และพี่น้องชาวไทยทั่วสหรัฐอเมริกา
คุณดุษฎี กลิ่นโพธิ์ นักการทูตในตำแหน่งที่ปรึกษา เล่าว่าชุมชนไทยในมินนิโซตามีประสบการณ์จัดงานเทศกาลขนาดใหญ่มาก่อนเลยมาช่วยเป็นที่ปรึกษา ชุมชนไทยจากบอสตันและนิวยอร์กก็มาขึ้นเวทีแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ชุมชนไทยที่ฟลอริดาเอาผลไม้ไทยซึ่งปลูกในฟลอริดามาโชว์ และที่สำคัญคือเครือข่ายคนไทยจากหลายวัดในหลายรัฐก็มาช่วยออกบูทและแสดงนาฏศิลป์ไทยดั้งเดิมโดยลูกหลานคนไทยที่เกิดและโตในสหรัฐฯ
ขบวนพาเหรดค่อย ๆ ทยอยเดินเข้าสู่งาน สมาชิกส่วนใหญ่คือเครือข่ายคนไทย โดยเฉพาะทายาทรุ่นสอง รุ่นสาม ซึ่งห่างเหินจากประเทศไทยขึ้นเรื่อย ๆ ท่านทูตธานีหวังว่างานนี้จะช่วยกระชับให้เยาวชนเหล่านี้รู้สึกใกล้ชิดผูกพันกับประเทศไทยมากขึ้น
กิจกรรมพิธีเปิดบนเวทีดำเนินไปพร้อมกับความคึกคักของทุกบูท แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นวันหยุดยาวที่ชาววอชิงตันเดินทางกลับต่างจังหวัด แต่ก็ได้นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันจำนวนมากจากต่างรัฐที่ตั้งใจมาร่วมฉลองวันชาติมาเป็นแขกแทน ซึ่งนับจำนวนผู้ร่วมงานทั้งหมดได้กว่า 30,000 คน
บูทที่น่าสนใจคือบูทแจกผลไม้ไทยซึ่งมีไฮไลต์คือส้มโอที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และบูทแจกกุ้งต้มราดน้ำจิ้มซีฟู้ดแบบไทย ซึ่งเป็นกุ้งชุดแรกที่ได้จากการลงทุนเลี้ยงกุ้งของผู้ประกอบการไทยในฟลอริดา
ร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ จำนวนมากก็มาช่วยออกบูทขายอาหารไทยที่ตั้งใจทำรสชาติแบบไทยแท้ ต่างจากที่ขายในร้าน ไม่ว่าจะแจกฟรีหรือขาย จะอาหารหรือเครื่องดื่ม คิวของผู้ซื้อก็ยาวหลายสิบคิวทุกร้านและเป็นแบบนี้ทั้งวัน
ส่วนบูทของสมาคมไทยจากทั่วสหรัฐฯ ก็คึกคักไม่แพ้ร้านอาหาร อย่างสมาคมไทยอีสานก็เปิดเพลงลูกทุ่งเต้นและรำกันตลอดงาน สมาคมนี้ตั้งขึ้นมา 30 ปีแล้ว เพื่อช่วยพี่น้องชาวอีสานที่ตกทุกข์ได้ยากในสหรัฐฯ หากว่าทุกคนสบายดีเขาก็จะส่งเงินไปช่วยพี่น้องอีสานที่ประสบปัญหาต่าง ๆ ที่ไทย รวมถึงมอบทุนการศึกษาให้นักเรียนด้วย
บนเวทีมีการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีหลากหลายรูปแบบโดยชุมชนและสมาคมไทยจากทั่วสหรัฐฯ ร่วมด้วยการแสดงละครร่วมสมัยจากคณะมรดกใหม่ มีการแข่งทำส้มตำ สาธิตการทำอาหารไทย และสาธิตการนวด จะเรียกว่า นวดโชว์ ก็พอได้
ครูช้าง-สุวิทย์ ศรีไตรราศรี บอกว่า Nuad Thai and Spa Association of America ก่อตั้งมา 7 ปีแล้ว โดยเจ้าของธุรกิจร้านนวดและหมอนวดทั่วสหรัฐฯ เกือบพันคนรวมตัวกันเพื่อพัฒนาวงการนวดไทย มีการจ้างอาจารย์มาสอนเพื่อยกระดับการนวด งานนี้หมอนวดหลายสิบชีวิตมาโชว์การนวดแบบต่าง ๆ ทั้งนวดแบบราชสำนัก แบบเชลยศักดิ์ (ร้านนวดทั่วไป) แบบภูมิปัญญา (นวดหม้อเกลือ นวดตอกเส้น นวดผ้าขาวม้า) และแบบรุ่นใหม่ที่ผสมผสานศาสตร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน (ยืนนวดด้วยท่าต่อสู้ นวดแบบโยคะ นวดไปรำไป)
ดีกรีของหมอนวดในบูทก็ไม่ธรรมดา มีทั้งเจ้าของเหรียญทอง เหรียญเงิน แชมป์โลกนวด มีแชมป์นวดของสหรัฐฯ ที่จัดโดยสมาคมนวดเอง รวมไปถึงครูนวดจากญี่ปุ่นที่พอครูลงมือนวดโชว์ หมอนวดทั้งร้านต้องหยุดนวดชั่วคราวเพื่อไปถ่ายคลิปการนวดเพื่อเก็บไปเรียนรู้ต่อ
งานนี้นวดฟรีคนละ 10 นาที หมอนวดทุกคนควักกระเป๋าบินจากทั่วสหรัฐฯ มาช่วยกันด้วยใจ เลยไม่น่าแปลกใจที่บูทนี้จะมีคนมาใช้บริการมากที่สุดในงาน
แฟนเพลงวัยรุ่นทั้งชาวไทยและอเมริกันขยับเท้าไปด้านหน้าจนได้เกาะขอบเวที ส่วนผู้มาร่วมงานวัยไม่รุ่นก็ขยับตามเข้าไปแบบติด ๆ เพื่อดูโชว์จาก แอลลี่ นิติพน ตามด้วย 4MIX วง LGBTQ+ วงแรกของไทย
“ผมอยากให้คนอเมริกันเห็นว่าเรามีซอฟต์พาวเวอร์ทั้งวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมและของใหม่ที่ต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ไปข้างหน้า เราเลยชวนน้องแอลลี่และ 4MIX วง T-POP ที่มีฐานแฟนเป็นชาวละตินพูดภาษาสเปนมาแสดงในงานนี้” ท่านทูตธานีเล่าถึงหลักในการเลือกศิลปิน
แฟนเพลงชาวอเมริกันหน้าเวทีทำป้ายภาษาไทยมาให้กำลังใจศิลปินทั้งคู่ พวกเขาร้องเพลงภาษาไทยตามได้และเต้นได้
เมื่อโน้ตตัวสุดท้ายเล่นจบและเสียงกรี๊ดจาง ผมเดินไปหากลุ่มแฟนคลับของ 4MIX พวกเขาเป็นชาวอเมริกันที่ต่างคนต่างมาจากหลายรัฐ อายุ 25 – 30 ปี เขาว่าต้องเป็นคนทำงานแล้วถึงจะมีเงินค่าเดินทาง ค่าโรงแรม ตามมาดูคอนเสิร์ตได้ แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อคืนก็มีแฟนคลับสาวจากวิสคอนซินกางเต็นท์นอนบนสนามหญ้าข้างงาน
“เราไม่รู้ว่าจะมีโอกาสไปเมืองไทยเมื่อไหร่ พอ 4MIX มาสหรัฐฯ เราก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อบินมาดูให้ได้” แฟนคลับจากแคลิฟอร์เนียบอกว่าเธอรู้จักจาก TikTok ตั้งแต่เปิดตัวใหม่ ๆ แฟนเพลงทุกคนตอบคล้ายกันว่าพวกเขาชอบ T-POP มากกว่า K-POP เพราะศิลปินดูเข้าถึงได้มากกว่า ติดดินกว่า เพลงก็ฟังสบายหูกว่า ไม่ได้มีแต่บีตหนัก ๆ แล้วก็เต้นได้สบาย ๆ มีชีวิตชีวากว่า ศิลปินไทยที่พวกเขารู้จักอีกก็มี Jeff Satur, Billkin, Tilly Birds และ Tattoo Colour
“เราชอบ 4MIX ตรงที่เพลงติดหู เต้นได้ บุคลิกที่ดูเหมือนเพื่อนมากกว่าไอดอล แล้วก็ตรงที่พวกเขาเป็นตัวของตัวเอง” ประโยคหลังนี่หมายถึงการเปิดตัวว่าเป็น LGBTQ+ ซึ่งไม่เห็นสิ่งนี้ในเกาหลี ละติน แม้กระทั่งสหรัฐฯ เอง รวมไปถึงประเทศที่อยู่ในขนบทั้งหลาย 4MIX จึงสร้างฐานแฟนคลับได้มหาศาลจากประเทศเหล่านี้
“ที่ผ่านมาศิลปินไทยมาร้องโชว์หลายครั้งแล้ว แต่เราอยากให้เขามาเปิดคอนเสิร์ตแบบขายบัตรจริงจัง พวกเขามีแฟนเยอะจริง ๆ นะ จากงานนี้คนก็ยิ่งรู้จักเพิ่มขึ้นอีก ฉันมั่นใจว่ามันจะได้รับการตอบรับที่ดีมาก ๆ แน่นอน” แฟนเพลง LGBTQ+ จากนิวยอร์กฝากทิ้งท้ายถึงศิลปิน
หลังจากอยู่ชมพลุในวันชาติสหรัฐฯ ในจุดจัดงาน Sawasdee DC Thai Festival ตามคำแนะนำของพี่อูเบอร์ วันรุ่งขึ้นผมก็เดินทางกลับไทยไฟลต์เดียวกับแอลลี่และ 4MIX แถมยังได้นั่งติดกัน เลยใช้เวลาอันยาวนานบนเครื่องบินพูดคุยกับศิลปิน
สายการบิน Qatar Airways บินอยู่เหนือภาคพื้นราว ๆ 30,000 ฟุต
เป็นการสัมภาษณ์ที่เป็นจุดสูงสุดในชีวิตผมชัด ๆ
แอลลี่เพิ่งเคยไปแสดงที่ต่างประเทศเป็นครั้งแรกในชีวิต เธอดีใจมากที่เห็นแฟนเพลงเขียนป้ายภาษาไทยให้ ร้องเพลง Passcode ได้ และเต้นเพลง Heartbeat ได้
“ที่ผ่านมามีแต่แฟนเพลงบอกว่าเดินทางมาดูเราที่ไทยจากประเทศนี้ประเทศนั้น ตอนนี้เราได้มาหาเขาบ้าง มันเป็นของขวัญที่ดีมากในอาชีพนี้ มาแล้วก็อยากกลับมาอีก” แอลลี่ผู้ได้มีโอกาสไปโปรโมตงานด้วยการออกรายการข่าวเช้าทางช่อง FOX 5 บอกต่อว่า “เราเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ มาโชว์เพื่อบอกว่าอุตสาหกรรมดนตรีของไทยก็ไม่แพ้ใครนะ เราพยายามเป็นตัวเองให้มากที่สุด โชว์ให้เห็นว่า T-POP ก็น่าสนใจ”
ชาว 4MIX ค่อนข้างเหนื่อยล้าจากการเดินทาง พวกเขาเพิ่งกลับมาจากการจัดคอนเสิร์ตที่เม็กซิโกหมาด ๆ เมื่อวันสงกรานต์ที่ผ่านมา แล้วก็มาเล่นงานที่มินนิโซตา อีกไม่กี่วันก็ต้องเดินทางไปโชว์ที่ญี่ปุ่น ทีมงานเล่าว่าตอนไปที่เม็กซิโกแฟนเพลงวัยรุ่นกรี๊ดหนักมาก ตามไปทุกที่ รถก็ถูกแฟน ๆ ล้อม จนตัวศิลปินต้องมีการ์ดประกบตลอดไม่ว่าจะย่างก้าวไปไหน ประหนึ่งซูเปอร์สตาร์ระดับโลก
“ผมอยากให้เมืองไทยเป็นแบบนั้นบ้าง” แม็กก้า หัวเราะ พวกเขาเดาว่าความดังในหมู่แฟนเพลงละตินน่าจะมาจากแนวเพลงที่ตรงจริตคนละติน เต้นได้ แล้วก็ได้แฟนเพลงเพิ่มอีกเมื่อประกาศตัวว่าเป็นวง LGBTQ+
“แฟนเพลงน่ารักมาก เอาของมาให้พวกเราด้วย มีคนพับแบงก์ 20 ดอลลาร์เป็นแหวน แล้วเอามาสวมให้ผมระหว่างเล่นคอนเสิร์ตเลย” โฟล์คซอง ตอบพร้อมรอยยิ้มเมื่อเล่าถึงแม่ยกอเมริกัน
จอร์จ พูดถึงคอนเสิร์ตที่เพิ่งผ่านไปว่า “เพลงไม่มีกำแพงภาษาจริง ๆ เราทำเพลงไทย ร้องเพลงไทย ก็เข้าถึงทุกคนได้ เราหวังว่าจะทำให้คนอเมริกันรู้จักเพลงป๊อปจากประเทศไทยมากขึ้น”
ส่วน นินจา สาวสวยประจำวงช่วยเสริมเพื่อน ๆ ว่า “พวกเราดีใจและภูมิใจที่การเป็นตัวเองมันเป็นส่วนสนับสนุนการยอมรับความหลากหลายทางเพศ ทุกคนเท่าเทียมกันจริง ๆ แฟนเพลงในหลายประเทศที่เป็น LGBTQ+ อาจใช้ชีวิตแบบไม่มั่นใจ เขาเห็นเราเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตแบบเป็นตัวเอง เขาก็มั่นใจขึ้น มันทำให้พวกเรามีความสุขมาก
“เรานั่งเครื่องกันมาไกลมาก ไกลจริง ๆ คนละซีกโลก ไปถึงก็เจอแฟนเพลงที่ร้องเพลงของเราได้ ให้กำลังใจเรา รอวันที่เรามาหา เราก็ดีใจมาก ๆ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากไปหาแฟน ๆ ทุกคนในทุกประเทศเลย อย่างงาน Sawasdee DC Thai Fest เรามองลงมาจากเวที เห็นคนเยอะมาก ทั้งคนดูคอนเสิร์ต คนต่อคิวซื้ออาหาร สมกับที่คนไทยที่นี่บอกว่าเป็นงานไทยที่ใหญ่ที่สุดที่เคยจัดที่ดีซี”
ผมนึกภาพคนดูกลุ่มใหญ่หน้าเวทีในวันนั้นตามที่นินจาบอก นอกจากภาพของคอนเสิร์ตจากแอลลี่และ 4MIX แล้ว ผมก็นึกถึงภาพของอีกโชว์ที่ไม่มีทางลืม
ในงานนี้มีการแข่งขันชกมวยไทย จัดโดยสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ USA Muaythai และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ แต่ไฮไลต์ของงานอยู่ที่โชว์ของ บัวขาว บัญชาเมฆ
นักมวยไทยขวัญใจคนทั้งงานก้าวขึ้นเวทีเพื่อโชว์รำไหว้ครู ทั้งท่าแบบดั้งเดิมและท่าร่วมสมัย แถมด้วยการหว่านเสน่ห์หันมายักคิ้วหลิ่วตาเรียกเสียงกรี๊ดจากแม่ยกเป็นระยะ
จากนั้นเขาเดินลงมาที่สนามหญ้าหน้าเวที โชว์การต่อสู้ด้วยศิลปะแม่ไม้มวยไทยกับคู่ต่อสู้ทั้งชาวไทยและต่างชาติ เรียกเสียงเฮดัง ๆ ได้ตลอด
เมื่อโชว์จบลง ทีมงานก็กระชับเป้าล่อมวยไว้แนบแขน แล้วเดินเข้าไปให้บัวขาวโชว์ออกอาวุธประเคนหมัดและแข้งล่อเป้า แต่ละดอกที่กระทบเป้าส่งเสียงดังสนั่น มีเสียงครางฮือจากผู้ชมดังตามเป็นอาฟเตอร์ช็อก
โชว์คล้ายจะจบลงเมื่อนักมวยกล้ามแน่นวัย 41 ปีถอดนวม เปิดขวดน้ำขึ้นจิบสลับราดตัวระบายความเหนื่อย บัวขาวโยนขวดน้ำคืนให้ทีมงาน แล้วรับเป้ามาถือ เขาเดินเข้าหาแขกกิตติมศักดิ์ เชิญท่านทูตธานีออกอาวุธมวยไทยใส่เขา เรียกรอยยิ้มจากท่านทูตและทีมงานได้หลายดอก
จากนั้นบัวขาวกวักมือเรียกเด็กทั้งชายและหญิงลุกขึ้นมาล่อเป้ากับเขา น้อง ๆ ลุกขึ้นมาต่อคิวกันไม่ขาดสาย ทั้งเด็กที่มีพื้นฐานมวยและเด็กที่น่าจะเพิ่งเคยต่อยมวยเป็นครั้งแรก สร้างรอยยิ้มบนใบหน้าให้เด็ก ๆ และคนดูได้แบบใจฟูกันถ้วนหน้า
ผมว่านี่คือช่วงที่ดีที่สุดในโชว์ของบัวขาว บัวขาวไม่ได้ทำหน้าที่นักมวย แต่กำลังสร้างและส่งแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ การที่เด็กสักคนจะได้ล่อเป้ากับบัวขาว ได้หวดแข้งใส่นักมวยไทยในตำนาน เป็นประสบการณ์อันมีค่าที่ยากจะลืม และอาจกลายเป็นความทรงจำที่ส่งผลสำคัญกับชีวิตของเด็กเหล่านั้น
เด็กตัวจิ๋วบางคนใส่กางเกงปักคำว่า ‘มวยไทย’ ทีมงานกระซิบบอกว่าวัยรุ่นแข้งหนักบางคนเป็นแชมป์มวยไทยที่นี่ แสดงให้เห็นว่ามวยไทยได้รับความนิยมแค่ไหนในอีกซีกโลก
โชว์ของบัวขาวจบลงโดยสมบูรณ์แบบแล้ว เขาถอดเป้า ยกมือไหว้คนดู แล้วเดินเข้าไปทักทายกลางกลุ่มผู้ชม เมื่อเขาเดินไปตรงไหน โทรศัพท์มากมายก็จะถูกยกขึ้นมาบันทึกภาพเก็บไว้ พร้อมเสียงขออนุญาตถ่ายรูปทั้งภาษาไทยและอังกฤษ
“ผมอยากให้คนที่มาสัมผัสได้ถึงภาพลักษณ์ที่ดีของไทย อยากกินอาหารไทย อยากไปเที่ยวเมืองไทย รู้ว่าประเทศไทยมีสิ่งดี ๆ ที่ทำให้เขามีความสุขได้ทั้งอาหาร วัฒนธรรม และมิตรภาพจากคนไทย” ท่านทูตธานีพูดถึงความคาดหวังจากผู้เข้าร่วม ซึ่งดูเหมือนจะประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ จนอยากจัดอีกครั้งในปีหน้า ชุมชนไทยในสหรัฐฯ พยักหน้า แล้วบอกว่าช่วยแจ้งล่วงหน้าให้นานขึ้นอีกหน่อย พวกเขาจะได้รวมตัวกันมาช่วยงานได้มากกว่านี้
จบงานในปีนี้แล้ว และอาจกำลังเริ่มงานใหม่ในปีหน้า แต่ไม่เป็นไร ยังไงก็ใช้คำเดียวกัน
Sawasdee DC