เมื่อ 15 ปีก่อน การนำวัสดุเหลือใช้มาหมุนเวียนเป็นต้นทุนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ฟังดูเป็นประโยคที่ประหลาดไม่เข้าหู แต่ในวันนี้กลับกลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งยังเต็มไปด้วยการพัฒนาในเชิงดีไซน์ เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย แวดล้อมไปด้วยเทรนด์ที่ทำให้คำว่าหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่นั้นมีความหมายและมีคุณค่ามากกว่าที่เคยเป็นมา

เส้นทางชีวิตในโลกแห่งการออกแบบของ ปิ่น-ศรุตา เกียรติภาคภูมิ เรียกได้ว่าเริ่มมาตั้งแต่ช่วงเวลานั้น การหยิบจับนำเศษเหล็กมาปรับ ดัด แปลง ให้เป็นผลงานศิลปะที่เคยมีคนไม่เข้าใจในคุณค่าและมาพร้อมถ้อยคำถากถาง แต่ในวันนี้ตัวผลงานเองได้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า นั่นคือเส้นทางการตัดสินใจที่ดีที่สุด

หากได้คุยกับศรุตาเมื่อสักสิบปีก่อนหน้านี้ เราจะสัมผัสได้ถึงความเป็นนักออกแบบที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง ช่วงวัยรุ่นที่ทำงานให้สวยที่สุดและดีที่สุด แต่ในวันนี้ เจ้าของรางวัล Designer of the Year 2021 สาขา Product Design เธอก้าวไปไกลมากกว่าขอบเขตรอบตัวเอง ด้วยการเป็นนักออกแบบที่คิดถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งลูกค้า คนในโรงงาน ช่างเชื่อมทั้ง In house และ Outsource ผู้ผลิตทุกฝ่าย อย่างที่เธอมักจะย้ำอยู่เสมอว่า 

“ไม่มีเขา… ไม่มีเรา”

ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ PiN ผู้เชื่อว่าเมื่อมองเห็นคุณค่าชีวิตของคนอื่น จึงทำให้เห็นคุณค่าชีวิตตัวเอง

มองเห็นคน-มองเห็นคุณค่า

“เราอยากกระจายรายได้ และช่วยเพิ่มศักยภาพความสามารถของช่างเชื่อมเหล็กให้ไปไกลมากกว่าที่เขาจะเป็นช่างเชื่อมทั่วไป”

สิ่งที่เรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนและเป็นจุดตัด ทำให้ศรุตาแตกต่างจากนักออกแบบทั่วไป คือการที่เธอเป็นทายาทรุ่นสองของห้างหุ้นส่วนจำกัด โชติอนันต์โลหะกิจ โรงงานเหล็กผู้รับผลิตลูกล้อ บานเลื่อน กุญแจ บานสวิง อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่างๆ การเติบโตพร้อมกับโลกธุรกิจจาก PiN Metal Art ทำให้ศรุตานึกถึงปัจจัยอื่นนอกเหนือไปจากแนวคิดในการออกแบบของตนเอง

“ต้องอย่าลืมว่าเราโตขึ้นมาได้ หรือเราประสบความสำเร็จ ในระดับที่เราพอใจตรงนี้ได้ ไม่ใช่เพราะเราคนเดียว มันมีส่วนเกี่ยวเนื่อง เกี่ยวพัน ทำให้เราเป็นเราทุกวันนี้ต่างหาก”

ยิ่งเวลาผ่าน มุมมองในการดำเนินงานและการทำธุรกิจของศรุตาก็เติบโตขึ้นตามไปด้วย การทำงานต่อเนื่องและพัฒนาฝีมือของตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้เธอเริ่มขยับเป้าหมายจากการ ‘ขายได้’ และ ‘ประสบความสำเร็จ’ สู่การกลับมาทบทวนและพิจารณาอย่างถ้วนถี่ ภายใต้โจทย์ที่ว่า ‘คนงานในโรงงานมีชีวิตที่ดีขึ้นหรือยัง’

คำถามนี้นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่เปลี่ยนมุมมองการทำงานไปอย่างสิ้นเชิง

“เรากลับมามองเห็นว่า แล้วคนงานของเรามีชีวิตที่ดีขึ้นไหม ชุบชีวิตเศษเหล็กแล้ว คนที่ร่วมอยู่กับเราตั้งแต่ต้นจนจบ เขามีอาชีพ มีการดำรงอยู่ มีครอบครัวที่ดีหรือเปล่า ปิ่นกลับมามองเห็นคนที่อยู่ในเครือข่ายในชีวิตของปิ่นมากขึ้น มองเห็นคุณค่าของความเป็นคนมากขึ้น”

จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตนี้ ทำให้เข็มของความเป็นศิลปินสร้างผลงานศิลปะเริ่มเบนมาสู่โลกฝั่งการออกแบบมากขึ้น โดยเธอเชื่อว่า การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนงานในรูปแบบของตัวเองนั้นเป็นไปได้

“เราลดดีกรีของความเป็นศิลปินลง แล้วก็มาเป็นศิลปะประยุกต์มากขึ้น แต่แก่นของปิ่นก็มาจากความรู้สึก การบ่มเพาะของความเป็นศิลปินนี่แหละที่เป็นจุดกำเนิดจริงๆ มาจากศิลปะซึ่งคลี่คลายให้คนเข้าใจได้ง่ายขึ้น”

ตลอดการสัมภาษณ์ ศรุตามักจะพูดถึงพร้อมทั้งชื่นชมคนที่เป็นเบื้องหลังและเป็นแรงสนับสนุนเธออยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น ‘ป๊า’ สมาชิกคนสำคัญในครอบครัวที่เป็นเหมือนหน้าด่านการผลิตในโรงงาน ผู้เป็นต้นทางของวัตถุดิบเศษเหล็กให้เธอรับไม้ต่อมาสร้างสรรค์ หรือวงของ ‘คนงาน’ ตลอดจนช่างผู้ผลิตภายนอก ศรุตาเลือกดูแลทุกคนอย่างดี ประเมินอย่างรอบด้านว่าค่าจ้างนั้นสอดรับกับค่าครองชีพหรือไม่ โดยสิ่งที่เป็นกำลังใจตอบแทนกลับมาก็เป็นเรื่องง่ายๆ อย่างการได้เห็นเหล่าช่างยกมือถือขึ้นมาถ่ายรูป และภูมิใจว่านี่คือผลงานของพวกเขา

“การยกระดับจิตใจของคนที่ทำงานร่วมกัน ก็เป็นสิ่งที่ควรที่จะต้องทำ” เธอเน้นเสียง

“เราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างให้มันดีขึ้น ปิ่นอยากส่งสารไปให้คนได้รู้ว่า ชีวิตคนทุกคนมีคุณค่า แม้เศษเหล็กมันยังมีความงาม มีคุณค่าได้ ชีวิตคนทุกคนก็ต้องทำให้มันมีคุณค่าได้” 

ศรุตาย้ำอย่างมากถึงการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิต นอกเหนือจากเรื่องของคนในโรงงานแล้ว ยังมีเรื่องของผู้คน (People) และโลก (Planet) การเลือกใช้ของเสียนำกลับมาเป็นต้นทุนการผลิตใหม่ ในทางหนึ่งคือช่วยลดการสร้างผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมกับโลกใบนี้อีกด้วย 

ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ PiN ผู้เชื่อว่าเมื่อมองเห็นคุณค่าชีวิตของคนอื่น จึงทำให้เห็นคุณค่าชีวิตตัวเอง

สมดุลตัวตน-ส่งเสริมพื้นที่

“งานของเราจะต้องไปส่งเสริมพื้นที่นั้น ไม่ใช่ว่างานจะต้องเด่นกว่าพื้นที่นั้น งานเราต้องเป็นแค่ส่วนที่ส่งเสริมพื้นที่ให้มันเกิดความงาม ให้สเปซนั้นมีความรู้สึกเพิ่มเติมมากขึ้น ต้องให้คุณค่าทั้งกับตัวตนและให้คุณค่ากับพื้นที่ด้วยเช่นกัน”

หนึ่งในข้อสงสัยที่เราอยากรู้ ว่าในฐานะคนที่เป็นนักออกแบบก็ได้ เป็นศิลปินก็ได้ จะมีมุมมองที่สมดุลในลายเซ็นของตัวเอง ไปพร้อมกับรับมือกับโจทย์ที่เป็นไปตามความต้องการจากลูกค้าอย่างไร

ศรุตาเล่าว่า กระบวนการออกแบบนั้นมี 2 แนวทาง

แนวทางแรกคือ การเริ่มงานจากวัสดุเป็นปัจจัยหลัก ซึ่งเป็นแนวทางในช่วงเริ่ม 1 – 3 ปีแรกของการทำแบรนด์ PiN (พิน) ตลอดกระบวนการจึงว่าด้วยเรื่องการค้นหาศักยภาพของวัสดุที่มี ว่าขยายหรือต่อยอดเป็นผลงานลักษณะไหนได้บ้าง จะพับ จะต่อ จะเชื่อม ให้เป็นรูปร่าง-รูปทรงอย่างไร เมื่อได้คำตอบ วัสดุจะถูกนำมาผสมกับไอเดียที่ได้มาจากวิถีชีวิตของผู้สร้างสรรค์ องค์ประกอบของความเป็นไทย ทั้งสถาปัตยกรรม ลายผ้า รายละเอียดต่างๆ จะเชื่อมโยง ผสมให้กลมกล่อม และสื่อสารออกมาผ่านลวดลายบนวัสดุเศษเหล็ก

แนวทางที่สองคือ การได้รับโจทย์มาจากเจ้าของโปรเจกต์ต่างๆ กระบวนการทำงานจึงต้องนำความรู้สึกของลูกค้าเป็นตัวตั้ง และปรับจูนเอกลักษณ์ของตัวเองเข้าหากันคนละครึ่งทาง นำสัดส่วนสองฝั่งมารวมกันให้เป็นหนึ่ง

“แนวทางนี้เหมือนว่าเราต้องค้นพบตัวตนก่อน แต่ตัวตนนั้นมันต้องถูกมลายหายไปด้วย เพื่อให้ผลงานที่เกิดขึ้นเข้ากับคนอื่นได้” นักออกแบบเจ้าของแบรนด์อธิบาย

หนึ่งในโปรเจกต์ที่ศรุตาจดจำเป็นความภูมิใจคือ ผลงานโคมไฟแชนเดอเลียร์ขนาดใหญ่จำนวนหลายชุด ที่โซน The Veranda ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม

ความท้าทายมาพร้อมกับเงื่อนไข 1 เดือนในการผลิต ช่วงเวลาบีบคั้นแต่ต้องถ่ายทอดภาพไอเดียในหัวในออกมาเป็นผลงานศิลปะติดตั้งขนาดใหญ่ เธอจำเป็นต้องดึงศักยภาพของโรงงานออกมาใช้อย่างเต็มที่ รวมกำลังพลคนงานให้มาช่วยสร้างแต่ละชิ้นส่วนให้สำเร็จด้วยความรวดเร็ว 

ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ PiN ผู้เชื่อว่าเมื่อมองเห็นคุณค่าชีวิตของคนอื่น จึงทำให้เห็นคุณค่าชีวิตตัวเอง

“เป็นงานที่ต้องยืดหยุ่นมาก ที่สำคัญคือ อย่ามีตัวตนเยอะเกินไป จนลืมว่าผลงานของเราอยู่กับใคร บริบทไหน ต้องเรียนรู้จะปรับเปลี่ยนโดยไว เพื่อให้ทุกอย่างไหลลื่นได้มากที่สุด”

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับระบบการคิดของศรุตาคือ เรื่องของแรงบันดาลใจ หลายครั้งหลายคราวที่เธอเคยออกสื่อสัมภาษณ์หรือไปบรรยายให้กับองค์กรต่างๆ เชื่อหรือไม่ว่าศรุตาไม่เคยพูดถึงที่มาของแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน แต่ถ้อยคำที่เธอพูดเสมอเหมือนกับเป็นปรัชญาในการออกแบบ คือเรื่องของวิถีชีวิตมากกว่า

“งานที่ปิ่นทำหรือสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นวิถีชีวิต การเกิดและโต แล้วมันบ่มเพาะให้ออกมาเป็นการสร้างงาน วิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ในทุกช่วงชีวิตของคน นำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ได้

“มันคือวิถีชีวิตของปิ่น สิ่งที่ปิ่นเห็น ทั้งรูปทรง ฟอร์ม และความรู้สึกที่ปิ่นไปจับ ต้องตาแล้วก็มาประทับในใจ ปิ่นก็นำความประทับในใจนั้นออกมาเป็นผลงาน”

ธรรมดา-ธรรมะ 

“ปิ่นนำสิ่งที่ไม่มีชีวิตแล้วกลับมาทำให้มันมีชีวิตขึ้นมาใหม่ เป็นการกลับชาติมาเกิดของเหล็ก ของวัตถุดิบ ทำให้มีคุณค่า มีความงาม มีชีวิตใหม่” 

ประโยคนี้อ่านแล้วดูเหมือนซ่อนเรื่องการกลับมาเกิดใหม่ ความเชื่อในเชิงศาสนาเอาไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนระบบการคิดและแก่นของชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องของธรรมะ ที่เป็นความสนใจส่วนตัวของศรุตามาอย่างยาวนาน

“เวลาเจอวิกฤตในชีวิต คนส่วนใหญ่จะชอบเข้าหาธรรมะ แล้วไปมองเห็นอะไรบางอย่างที่รู้สึกว่าช่วยเยียวยาให้ชีวิตดีขึ้น งานของปิ่นเป็นเศษเหล็ก แต่ทำให้เกิดความงามเป็นผลงานใหม่ คิดว่าคนที่มามองเห็นน่าจะมีกำลังใจ ฉุกคิดให้เห็นคุณค่า และสร้างพลังใจในชีวิตของเขาได้ด้วย”

ไม่ใช่แค่เพียงงานเชิงพาณิชย์เท่านั้น โปรเจกต์ส่วนตัวที่ศรุตาทุ่มเทและเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจก็คือ งานออกแบบโคมไฟแชนเดอร์เลียสำหรับวัดป่าวิเวกธรรมชาน์ อุบลราชธานี ติดตั้งภายในเจดีย์ที่มีผู้ออกแบบคือ อาจารย์สมชาย จงแสง มาพร้อมกับข้อจำกัดอันแสนท้าทายคือเรื่องงบประมาณ ทำให้ศรุตาต้องลองทำผ้าป่าสามัคคีเป็นครั้งแรกในชีวิต

ศรุตา เกียรติภาคภูมิ แห่ง PiN ผู้ชุบคุณค่าเศษเหล็กไปพร้อมกับชีวิตผู้คนรอบข้าง
ศรุตา เกียรติภาคภูมิ แห่ง PiN ผู้ชุบคุณค่าเศษเหล็กไปพร้อมกับชีวิตผู้คนรอบข้าง

“อันนี้คือความประทับใจที่ทำโคมไฟชิ้นใหญ่ แล้วก็ทุกคนร่วมบุญกันมา เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก ณ วันนั้น” เธอเล่าแววตาเปล่งประกาย

นอกเหนือจากเรื่องธรรมะ ยังมีเรื่องสำคัญที่สุดอย่างการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางหลักทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิต ตั้งแต่เรื่องการรู้ตัวประมาณตน มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน รวมถึงเงื่อนไขความรู้และคุณธรรม ที่เธอเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ใช้ได้จริงกับทุกอย่างในชีวิต 

“การกลับไปรู้แหล่งกำเนิด สิ่งที่ทำให้คุณเกิดมาเป็นคุณคืออะไร กลับไปค้นหาให้เจอ กลับไปดูรากกำเนิดสิ่งที่ทำให้เกิดมา อะไรคือจุดเชื่อมโยงทำให้เราเป็นเราทุกวันนี้

“กลับไปรู้ตัวประมาณตน รู้ว่าอะไรเราทำได้ อะไรเราทำไม่ได้ แล้วเราทำอะไรได้ดีหรือเราทำอะไรไม่ได้เลย เราใช้เวลาที่มีไปกับสิ่งที่เราทำได้ดีกว่า เราอย่าไปเสียเวลากับสิ่งที่เราทำอะไรไม่ได้เลย” 

ในวันนี้เศษเหล็กของศรุตาไม่ได้เป็นผลลัพธ์ของการออกแบบเท่านั้น แต่มีฐานะเป็นตัวแทนของการมองเห็นคุณค่าและสิ่งที่ช่วยยกระดับจิตใจให้กับคนทำงานที่ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ท่ามกลางกระแสในช่วงเวลาที่เป็นยุคแห่งการบริโภคอย่างมีสติ และการรู้คุณค่าของสิ่งต่างๆ มากกว่าที่เคย

อย่างที่เธอทิ้งท้ายไว้ว่า ในท้ายที่สุดแล้วนั้น 

“ปิ่นมองเห็นคุณค่าชีวิตของคนอื่นก่อน มันจึงทำให้ปิ่นเห็นคุณค่าชีวิตตัวเอง”

ศรุตา เกียรติภาคภูมิ แห่ง PiN ผู้ชุบคุณค่าเศษเหล็กไปพร้อมกับชีวิตผู้คนรอบข้าง

5 คำแนะนำจากนักออกแบบผลิตภัณฑ์สู่ดีไซเนอร์รุ่นใหม่

01 อย่าหยุดทำ 

อย่าเก็บเสียงวิพากษ์เชิงลบมากระทบใจเรา เพราะจะบั่นทอนกำลังใจที่จะทำงานต่อ ปิ่นคิดว่าหากเรารู้สึกโกรธ ก็ควรเปลี่ยนความโกรธหรือความคิดด้านลบของคนอื่นที่มันกระทบใจเราให้เป็นความเมตตา เพราะความโกรธ ความโมโหจะทำให้เราไม่มีสมองโปร่งใส ไม่มีปัญญา 

02 อย่าคิดว่าใครเป็นศัตรูกัน

ยุคนี้เป็นยุคแห่งการเกื้อกูล อย่าคิดว่าฉันเก่งกว่าเธอ เธอเก่งกว่าฉัน ทุกคนมีแนวทางในชีวิตของตนเอง แล้วทุกคนก็มีเงื่อนไขในชีวิตของตนเองเช่นกัน ปิ่นเชื่อว่าทุกคนมีความดีในตนเอง แล้วก็เชื่อว่าการเกื้อกูลกันเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะจรรโลงวิกฤตที่มันเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน

03 อดทน

ความอดทนคือสิ่งสำคัญในชีวิตการเป็นดีไซเนอร์ เพราะเห็นดีไซเนอร์หลายคนที่เก่งมาก อยากให้ไปต่อ ทำต่อ แต่บางทีเขาหายไปเลย เขาอาจจะมีเงื่อนไขในชีวิตอย่างอื่น แต่บางทีปิ่นเชื่อว่า ถ้าเขาไปต่อได้ ปิ่นอยากให้เขาทำให้ได้ เพราะว่าบางทีไฟมันจุดแล้วมันต้องไปต่อ ไม่อยากให้เขาทิ้งสิ่งที่มีอยู่

04 อย่าลืมรากเหง้าที่เราเป็น

อันนี้คือสิ่งสำคัญ บางทีเราหลงไปกับความสำเร็จของคนอื่น มองเห็นว่าคนนี้เก่งจัง คนนี้ทำได้ยังไง เราเห็นแต่ปลายทาง เราไม่รู้เลยว่าระหว่างทางกว่าที่คนจะไปถึงจุดนั้นได้ บาดเจ็บล้มตายมาเท่าไร การที่มีรากแล้วเราไม่ลืมราก จะทำให้เรายืนได้อย่างแข็งแรง

05 รู้ตัวตนเพื่อลดตัวตน

เป็นสิ่งสำคัญ แต่มีตัวตนไม่ใช่ว่ามีอัตตาสูง โดยที่เราไม่รู้ว่าต้องไปอยู่กับใคร เหมือนงานของปิ่นเอง ก่อนหน้านี้มันมีอัตตาสูง แต่สุดท้ายแล้วเราต้องอยู่กับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นตัวนักออกแบบเองหรือผลงานก็ตาม

Writer

Avatar

กมลกานต์ โกศลกาญจน์

นักเขียนอิสระที่สนใจเรื่องงานออกแบบ สังคม และวัฒนธรรม ชื่นชอบการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะอยากเรียนรู้ในความแตกต่างที่หลากหลายของโลกใบนี้

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน