2 กุมภาพันธ์ 2019
45 K

ถ้าล่องเรือไปตามแม่น้ำปิง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปราวๆ 10 กิโลเมตร คุณจะพบกับเรือนยอดต้นไม้เขียวชอุ่มขนาดมหึมาทอดตัวยาวไปตามลำน้ำปิง นี่คือที่ตั้งของหนึ่งในอาณาจักรเขียวผืนใหญ่ที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองเชียงใหม่ McKean Park

McKean Park, สวนแมคเคน

นอกเหนือจากต้นไม้เก่าแก่จำนวนนับพันต้นและสถาปัตยกรรมยุโรปอายุเกินร้อยปีที่สร้างโดยคณะมิชชันนารีของคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ ซึ่งแทรกตัวอยู่อย่างกลมกลืนตามพื้นที่ส่วนต่างๆ ของสวนแล้ว

ความพิเศษประการสำคัญคือ ตั้งแต่แรกเริ่ม สวนแมคเคนแห่งนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้คนทั่วไปเข้ามาใช้ประโยชน์ แต่ถูกสร้างเพื่อเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วยโรคเรื้อน หนึ่งในโรคเรื้อรังร้ายแรงที่สร้างความทุกข์ทรมานและคร่าชีวิตผู้คนทั้งเป็นในอดีต

เราเดินสวนกับชาวต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่ปั่นจักรยานมาจากในตัวเมืองเชียงใหม่ ไกด์ชาวไทยบอกว่า ปั่นกินลมชมวิว แวะพักจุดนั้นจุดนี้มาเรื่อยๆ ไม่เกินชั่วโมงก็มาถึงสวนแมคเคนแล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่รู้จักสวนนี้ และเป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญที่ต้องมาเยี่ยมชมที่เชียงใหม่ แต่น่าแปลกใจไม่น้อยที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักที่นี่กัน

เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงอยากชวนคุณมาทำความรู้จักสวนแมคเคนแห่งนี้ ตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อ 110 ปีที่แล้ว ในยุคที่โรคเรื้อนยังคงแพร่ระบาด มาถึงวันที่การแพทย์สมัยใหม่สามารถควบคุมโรคนี้ได้อย่างอยู่หมัด และก้าวต่อไปของสวนแมคเคน เมื่อการเยียวยารักษาเปลี่ยนรูปแบบไปตามกาลเวลาที่หมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

McKean Park, สวนแมคเคน
1

สวนเพื่อผู้ป่วย

เราเข้าไปนั่งพูดคุยกับ วริทธิ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการสถาบันผู้สูงอายุแมคเคน ชื่ออย่างเป็นทางการในปัจจุบันของสวนแมคเคน ซึ่งมีพื้นที่ที่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณถึง 300 ไร่

วริทธิ์เล่าให้ฟังว่า ชื่อแมคเคนนั้นมาจากนายแพทย์เจมส์ ดับบลิว แมคเคน (Dr.James W. McKean) แพทย์มิชชันนารีอเมริกันผู้เดินทางเข้ามาในเชียงใหม่

ใน พ.ศ. 2447 หมอแมคเคนริเริ่มสร้างห้องทดลองผลิตวัคซีนสำหรับปลูกฝีดาษ ซึ่งใช้เวลาถึง 10 ปีจึงสำเร็จ หมอแมคเคนให้การฝึกหัดคนปลูกฝี และส่งไปบำบัดผู้ป่วยตามหมู่บ้านที่ห่างไกล นอกจากนี้ยังนำเครื่องจักรเข้ามาผลิตยาควินินสำหรับใช้รักษาคนไข้มาลาเรียในเชียงใหม่

จากนั้นหมอแมคเคนจึงสร้างโรงพยาบาลขึ้นในเชียงใหม่ อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ใช้ชื่อครั้งแรกว่าโรงพยาบาลเชียงใหม่ เป็นสถานที่ผลิควัคซีนป้องกันโรคฝีดาษและใช้เป็นที่รักษาพยาบาลคนไข้อยู่กว่า 40 ปี จึงย้ายไปยังที่ตั้งแห่งใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลแมคคอร์มิคในปัจจุบัน

McKean Park, สวนแมคเคน
McKean Park, สวนแมคเคน

ต่อมาหมอแมคเคนเกิดความสนใจในโรคเรื้อน ผู้ป่วยโรคเรื้อนในสมัยก่อนน่าสงสาร เพราะถูกสังคมรังเกียจและขับไล่ไสส่ง เนื่องจากคนยังไม่มีความรู้เรื่องโรคนี้กันมากนัก ผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ผิวหนังเหวอะหวะ มือเท้ากุด จึงไม่สามารถประกอบอาชีพใดในสังคมได้เลย นอกจากเป็นขอทาน

ใน พ.ศ. 2451 หมอแมคเคนจึงขออนุญาตจากเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 8 ใช้พื้นที่บริเวณเกาะกลางแม่น้ำปิงทางทิศใต้ของสะพานนวรัฐ จัดสร้างนิคมผู้ป่วยโรคเรื้อน เป็นสถานที่ดำเนินการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อนในเชียงใหม่ขึ้น

เมื่อกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อนรู้ข่าว ต่างก็หลั่งไหลกันเข้ามาจากทั่วทุกสารทิศ ผู้ป่วยบางคนเดินเท้ามาจากเมืองจีนและประเทศอื่นๆ เพื่อมาพึ่งพิงที่นี่

จนถึง พ.ศ. 2473 พื้นที่เกาะกลางได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นสถานสงเคราะห์ผู้ป่วยโรคเรื้อนแมคเคน สถานพยาบาลโรคเรื้อนแห่งแรกในประเทศไทย และมีผู้ป่วยโรคเรื้อนอาศัยอยู่ที่นี่กว่าพันคน

McKean Park, สวนแมคเคน
McKean Park, สวนแมคเคน

ในช่วงเวลาเดียวกัน หมอแมคเคนและคณะแพทย์มิชชันนารีในหลายๆ ประเทศได้ทำการศึกษาและวิจัยหนทางรักษาโรคเรื้อนร่วมกัน จนในที่สุดก็สามารถหาวิธีเยียวยาและระงับการแพร่ระบาดของโรคเรื้อนได้ โดยความช่วยเหลือขององค์การอนามัยโลก (WHO)

วริทธิ์อธิบายว่า ปัจจุบันในประเทศไทยแทบไม่พบผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนแล้ว แต่ยังมีบางประเทศที่ยังคงพบการติดเชื้ออยู่บ้างอย่างที่อินโดนีเซียหรือพม่า และโรคเรื้อนในปัจจุบันก็ไม่ได้น่ากลัวเท่าในอดีต

โรคเรื้อนเกิดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเชื้อที่มีอยู่ทั่วๆ ไปที่คนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน ดังนั้น ผู้ที่จะติดเชื้อโรคเรื้อนคือคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันที่ว่า แต่อย่างไรก็ตาม หากติดเชื้อและตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยแทบไม่ส่งผลกระทบใดในชีวิตเลย

วริทธิ์เสริมว่า โรคเรื้อนมีการแสดงออกอาการทางผิวหนังได้หลากหลายลักษณะ ความแตกต่างที่สังเกตได้อย่างชัดเจนคือ หากผิวหนังเป็นผื่นแดง ด่างดวง และมีกาการคัน วินิจฉัยว่าเป็นโรคผิวหนังชนิดอื่น แต่หากแสดงอาการดังกล่าว แล้วผิวหนังบริเวณนั้นชา ไม่รับรู้ความรู้สึก ก็เข้าข่ายติดเชื้อโรคเรื้อน

ที่สมัยก่อนโรคนี้น่ากลัวเพราะความรู้เรื่องโรคเรื้อนกระจุกตัว ทำให้แม้แต่แพทย์เองยังวินิจฉัยผิดพลาดและนำไปสู่การรักษาที่ไม่ถูกวิธี และบางครั้งก็ไปเริ่มเป็นที่ผิวหนังในร่มผ้า สมัยที่โรคยังแพร่ระบาดอยู่จึงต้องมีการไปคัดกรองตามโรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่ต่างๆ เพื่อตรวจผิวหนังอย่างละเอียด บางครั้งถึงกับต้องแก้ผ้าตรวจกันเลยทีเดียว

McKean Park, สวนแมคเคน
McKean Park, สวนแมคเคน
2

สวนเพื่อพืชพรรณและสัตว์

วริทธิ์พาเราเดินดูภาพถ่ายเก่าๆ เห็นบรรยากาศของสวนแมคเคน สมัยที่ยังมีผู้ป่วยโรคเรื้อนจำนวนมากอาศัยอยู่ด้วยกัน ที่นี่เป็นเหมือนเมืองเมืองหนึ่ง มีการทำปศุสัตว์และเกษตรกรรมเพื่อหล่อเลี้ยงคนที่อาศัยอยู่เองแบบครบวงจร แถมยังมีโรงตีเหล็ก โรงทอผ้า และเหรียญกษาปณ์สำหรับใช้จ่ายภายในพื้นที่

ต้นไม้ที่เห็นทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมก่อนที่สวนแมคเคนจะก่อตั้งขึ้นเสียอีก ตอนนี้ที่นี่มีคนสวนอยู่ 30 คน พื้นที่สวนทั้งหมดมีขนาดใหญ่ถึง 300 ไร่ คิดง่ายๆ แสดงว่าพนักงานคนหนึ่งต้องดูแลสวนถึง 10 ไร่

McKean Park, สวนแมคเคน
McKean Park, สวนแมคเคน

เพราะเมื่อพืชพรรณสมบูรณ์ สัตว์ต่างๆ ที่มาอาศัยอยู่ก็สมบูรณ์ตามไปด้วย วริทธิ์เล่าว่า การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการบริหารที่นี่ สวนแมคเคนจึงชวนผู้เชี่ยวชาญจากหลายแห่งเข้ามาให้ความรู้และฝึกอบรมกับพนักงาน ทั้งรุกขกรและเจ้าหน้าที่ศูนย์พฤกษศาสตร์

ต้นไม้ใหญ่และต้นไม้เก่าแก่ทั้งหมดในสวนแมคเคน ตอนนี้เข้าทะเบียนต้นไม้ของจังหวัดเชียงใหม่ และมีป้ายเลขทะเบียนติดไว้ที่ต้นไม้แต่ละต้นเป็นที่เรียบร้อย

เราแหงนหน้ามองไปรอบๆ เจอต้นฉำฉาหรือต้นจามจุรีแผ่กิ่งก้านสาขาหลายสิบเมตร และต้นงิ้ว ซึ่งตอนนี้เริ่มออกดอกสีแสดสดใส เกสรดอกงิ้วคนเหนือนิยมเอาไปตากแห้งและต้มทำน้ำเงี้ยว ในระหว่างที่กำลังคุยกันเพลินอยู่นั้น มีคุณป้ายิ้มแย้มแจ่มใสเดินเข้ามาทักทาย พร้อมตะกร้าหวายใบใหญ่ใส่ขนมจีนน้ำเงี้ยวมาด้วย เราเลยได้ลองชิมขนมจีนน้ำเงี้ยวตำรับคนเหนือแท้ๆ จากคุณป้าผู้เคยทำงานที่สวนแมคเคนแต่ตอนนี้เกษียณอายุไปแล้ว

McKean Park, สวนแมคเคน
3

สวนเพื่อผู้ด้อยโอกาสทางสังคม

สถานสงเคราะห์ผู้ป่วยโรคเรื้อนแมคเคน เปิดดำเนินการมาจนถึง พ.ศ. 2525 ก็ถึงการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

วริทธิ์เล่าว่า หลังจากดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนมาเป็นระยะเวลาหนึ่งจนผู้ป่วยหายสนิท งานในส่วนต่อมาคือจะทำอย่างไรให้พวกเขาสามารถกลับไปอยู่ในสังคมได้ คนในสวนแมคเคนจึงค่อยๆ ลดจำนวนลง เพราะเมื่ออดีตผู้ป่วยหายสนิท พวกเขาก็ได้รับการสนับสนุนให้ย้ายออกไปใช้ชีวิตข้างนอกตามปกติ

บางส่วนกลับไปอยู่ในสังคมเดิม บางส่วนไปตั้งที่อยู่อาศัยใหม่ตามหมู่บ้านในชนบท บนพื้นที่ซึ่งสวนแมคเคนได้รับบริจาคมา แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอดีตผู้ป่วยจำนวนหนึ่งซึ่งแม้จะหายขาด ไม่แพร่เชื้อแล้ว แต่ยังมีความพิการหลงเหลืออยู่ ทำให้ไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตตามปกติข้างนอกได้

McKean Park, สวนแมคเคน

จากสถานสงเคราะห์ผู้ป่วยโรคเรื้อน จึงเปลี่ยนเป็นสถาบันแมคเคนเพื่อการฟื้นฟูสภาพในเวลาต่อมา สวนแมคเคนเริ่มรับผู้พิการจากสาเหตุอื่นๆ นอกเหนือจากผู้พิการจากโรคเรื้อนมาไว้ในความดูแล

วริทธิ์พาเราเข้าไปดูผลงานหัตกรรมที่ผู้พิการทำและส่งขายในร้านขายของที่ระลึกเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ใต้ต้นฉำฉา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายคนที่ปั่นจักรยานมาเที่ยวชมสวนแมคเคนกำลังเดินเลือกซื้อของที่ระลึกกันอยู่

McKean Park, สวนแมคเคน
McKean Park, สวนแมคเคน

เมื่อเวลาผ่านไป เหล่าผู้พิการเริ่มแก่ตัวลง สุดท้ายกลุ่มคนที่อยู่ในสวนแมคเคนก็เป็นผู้สูงอายุ และประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่เรื่องสวัสดิการคนพิการของภาครัฐเริ่มเข้มแข็ง มี พ.ร.บ.คนพิการ มีเบี้ยเลี้ยงคนพิการ ทำให้สถาบันแมคเคนเพื่อการฟื้นฟูสภาพตัดสินใจลดบทบาทตัวเองในการดูแลผู้พิการลง เพราะผู้พิการสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมปกติได้แล้ว

McKean Park, สวนแมคเคน
McKean Park, สวนแมคเคน

ดังนั้น คนกลุ่มคนสุดท้ายที่ยังคงอยู่ที่สวนแมคเคนมาจนถึงปัจจุบันคือกลุ่มผู้สูงอายุ ถือเป็นการเปลี่ยนผ่าน จากการที่สวนแมคเคนดูแลหลายชีวิตมาอย่างยาวนานหลายสิบปี

4

สวนเพื่อสังคม

ตลอดระยะเวลากว่า 110 ปี สวนแมคเคนดูแลผู้คนไปหลายพันคน มอบโอกาสและชีวิตใหม่จากการเยียวยารักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจ

วริทธิ์พาเราเดินมาหยุดที่พระฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ มาทรงเยี่ยมเหล่าผู้ป่วยโรคเรื้อน การมาสวนแมคเคนของรัชกาลที่ 9 เปลี่ยนทัศนคติของคนไทยส่วนใหญ่ที่มีต่อโรคเรื้อนไปตลอดกาล

McKean Park, สวนแมคเคน
McKean Park, สวนแมคเคน

สถานที่ที่คนภายนอกไม่อยากเหยียบเข้ามา อดีตผู้ป่วยโรคเรื้อนที่คนไม่อยากยุ่งเกี่ยวด้วย เนื่องจากรังเกียจและกลัวติดเชื้อ แม้โรคเรื้อนจะหยุดแพร่ระบาดไปนานแล้ว และอดีตผู้ป่วยเหล่านั้นก็หายเป็นปกติดีแล้ว เพียงแต่ยังมีร่องรอยความพิการทางกายภาพหลงเหลืออยู่ให้ได้เห็น

รัชกาลที่ 9 ไม่เพียงเสด็จฯมาทอดพระเนตรเท่านั้น แต่พระองค์ยังทรงนั่งลงมีพระราชปฏิสันถาร และทรงกุมมือกุดด้วนของผู้พิการจากโรคเรื้อนเหล่านั้น รวมถึงพระราชทานทพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 50,000 บาทในสมัยนั้น เพื่อเป็นทุนทรัพย์ให้สวนแมคเคนใช้ซ่อมแซมและดูแลเหล่าผู้พิการอีกด้วย

การหายขาดจากโรคร้ายเป็นเรื่องน่ายินดี แต่สิ่งที่ล้ำค่าที่สุดสำหรับอดีตผู้ป่วยและผู้พิการคือการได้รับการยอมรับจากสังคมและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมเช่นคนทั่วไปในสังคม

McKean Park, สวนแมคเคน
อ้างอิงข้อมูลในส่วนประวัตินายแพทย์เจมส์ ดับบลิว แมคเคน จาก :
บทความ การแพทย์ล้านนา โดยคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

McKean Park

ที่อยู่ : 68-69 หมู่ 8 ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่

เวลาทำการ : วันจันทร์-ศุกร์ เวลาราชการ แต่สามารถเข้ามาเยี่ยมชมสวนแมคเคน โบสถ์สันติธรรม เดินเล่น ปั่นจักรยานในพื้นที่ส่วนต่างๆ ได้ทุกวัน

รายละเอียดการเข้าใช้ : สามารถถ่ายภาพและวิดีโอได้ตามอัธยาศัย แต่ทางสวนแมคเคนขอความกรุณาผู้มาเยี่ยมชมทุกท่านไม่ถ่ายภาพผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และหากเป็นการถ่ายภาพหรือวิดีโออย่างจริงจังด้วยกล้องขนาดใหญ่ ทางสวนแมคเคนขอความกรุณาส่งอีเมลมาแจ้งกับทางสำนักงานก่อนที่ [email protected]

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล