8 พฤศจิกายน 2023
2 K

หลายคนที่ชอบเที่ยวธรรมชาติ ท่องทะเลน้ำใส พักอาศัยโฮมสเตย์แบบชิลล์ ๆ บรรยากาศเงียบสงบ อาจรู้จัก ‘เกาะจิก’ สถานที่ท่องเที่ยวเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ที่ได้รับฉายาว่า มัลดีฟส์เมืองไทย

ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนนั่งเรือข้ามมาจากแผ่นดินใหญ่หลังพายุใหญ่ เมื่อได้ข่าวว่าชาวบ้านบนเกาะจิกคือตัวอย่างของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งเกาะที่น่าศึกษา

เป็นเวลานานแล้วที่ชาวบ้านเกาะจิก นอกอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี อยากมีไฟฟ้าใช้ แต่ไม่เคยสำเร็จ เพราะทางการไฟฟ้าอ้างว่าไม่คุ้มการลงทุนหากต้องลากสายเคเบิลใต้ทะเลมาขึ้นเกาะ

เกาะจิก จันทบุรี ชุมชนที่ชาวบ้านร่วมใจผลิตไฟฟ้าใช้เองจนครอบคลุมพื้นที่ 1,100 ไร่
เกาะจิก จันทบุรี ชุมชนที่ชาวบ้านร่วมใจผลิตไฟฟ้าใช้เองจนครอบคลุมพื้นที่ 1,100 ไร่

แต่ชาวบ้านที่นำโดย ผู้ใหญ่บ้านณรงค์ชัย เหมสุวรรณ ไม่ยอมจำนน เดินหน้าไปขอความช่วยเหลือจากกระทรวงพลังงานให้มาติดตั้งพลังงานลม แสงอาทิตย์ และดีเซล จนจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ชาวบ้านร่วม 400 คนบนเกาะได้สำเร็จ

บ้านเกาะจิก หมู่ที่ 1 ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนเกาะจิกนอก แต่เวลาข้ามฝั่งจากแผ่นดินใหญ่ต้องมาขึ้นที่ท่าเรือจังหวัดตราด เพราะระยะทางใกล้กว่า

เกาะจิกเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีคนอาศัยตั้งแต่ พ.ศ. 2450 โดยคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานคือชาวบ้านจากตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ต่อมามีกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพเข้ามาด้วยเรือสำเภา เห็นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ปากอ่าวที่มีบ่อน้ำจืดเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี 

เหตุที่ชื่อว่าเกาะจิก เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีต้นจิกทะเลขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก

ถึงแม้ว่าหมู่บ้านแห่งนี้จะมีอายุ 100 กว่าปี แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แม้ว่าเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ เพราะทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่ยอมวางสายเคเบิลใต้น้ำส่งไฟฟ้ามา หลังจากมาสำรวจใน พ.ศ. 2540 แล้วพบว่าดำเนินการไม่ได้ เนื่องจากไม่คุ้มกับการลงทุน

ที่ผ่านมาชาวบ้านเกาะจิกเป็นชุมชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านใช้พลังงานแสงสว่างจากตะเกียงไต้ ตะเกียงน้ำมัน ตะเกียงเจ้าพายุ บางบ้านที่มีฐานะก็มีเครื่องปั่นไฟฟ้าน้ำมันดีเซล แต่ในยุคน้ำมันดีเซลราคาแพง ลิตรละ 30 บาท ชาวบ้านรู้สึกว่าพวกเขาต้องขึ้นมาจัดการเกี่ยวกับไฟฟ้าอย่างจริงจัง

“ชาวบ้านเริ่มหารือกันและทำแผนการผลิตไฟฟ้าของหมู่บ้าน เสนอขอเงินจากกระทรวงพลังงาน เพื่อใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ส่งนักวิจัยมาช่วย” นายณรงค์ชัย เหมสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านเล่าให้ฟัง

ไม่นานนักชุมชนบ้านเกาะจิกก็ได้รับการอนุมัติจัดสรรงบประมาณในการจัดสร้างระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสานกับน้ำมันดีเซล ชาวบ้านจึงประหยัดต้นทุนการใช้ไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลได้

เกาะจิก จันทบุรี ชุมชนที่ชาวบ้านร่วมใจผลิตไฟฟ้าใช้เองจนครอบคลุมพื้นที่ 1,100 ไร่

“พวกเราเริ่มใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ตอนนั้นเริ่มต้นด้วยระบบโซลาร์เซลล์กำลังผลิต 7.5 กิโลวัตต์ ใช้สูบน้ำจากบ่อน้ำตื้น 3 แห่ง เพื่อใช้กับระบบประปาหมู่บ้าน และเครื่องยนต์ดีเซล 50 กิโลวัตต์ เราใช้ 2 ระบบนี้ผสมผสานกันในการผลิตพลังงานให้กับชุมชน ต่อมาก็เพิ่มระบบโซลาร์เซลล์ขึ้นเรื่อย ๆ ถึง 40 กิโลวัตต์” ผู้ใหญ่บ้านแกนนำบอกกับผู้เขียน ขณะพาไปดูแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมาก ทั้งบนหลังคาและพื้นดิน รวมถึงห้องแบตเตอรี่หลายห้องที่คอยเก็บพลังงานแสงอาทิตย์

“หลังจากที่มีระบบโซลาร์เซลล์เข้ามา ชาวบ้านประหยัดเงินได้มากขึ้น เพราะใช้เครื่องยนต์ดีเซลปั่นไฟน้อยลง บางบ้านประหยัดเงินได้อย่างน้อยเดือนละ 2,000 – 3,000 บาทเลยทีเดียว และสุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้น เพราะไม่มีมลภาวะทางเสียงและควันจากเครื่องยนต์”

ที่น่าทึ่งคือชาวบ้านเกาะจิกดูแลและซ่อมแซมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ได้ด้วยตนเอง จากการเรียนรู้ทีละเล็กทีละน้อย

“เรารู้ดีเสมอว่าชีวิตที่อยู่กลางเกาะต้องช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง”

เกาะจิก จันทบุรี ชุมชนที่ชาวบ้านร่วมใจผลิตไฟฟ้าใช้เองจนครอบคลุมพื้นที่ 1,100 ไร่

นอกจากนั้น ผู้เขียนเห็นการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ เมื่อชุมชนร่วมกันก่อตั้งเป็น ‘บริษัทจัดการพลังงานเกาะจิก’ ทำหน้าที่ดูแลระบบไฟฟ้า ซ่อมบำรุง และจัดการเก็บเงินค่าไฟฟ้า ด้วยการติดตั้งมิเตอร์ประจำบ้าน มีบิลค่าไฟฟ้าให้ชาวบ้านตรวจสอบชัดเจนก่อนชำระเงิน และไม่ต้องเสียค่า FT 

ชุมชนมีประสบการณ์ด้านการเงินจากสถาบันการจัดการเงินทุน ทำให้กลุ่มมีรายได้จากการเก็บค่าผ่านระบบมิเตอร์แบบเติมเงิน ณ ปัจจุบันมีเงินสะสมในธนาคารกว่า 700,000 บาท ควบคู่กับกติกาชุมชนเกาะจิกประกาศห้ามใช้พาหนะที่ใช้น้ำมันเดินทางภายในเกาะ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ แต่ให้ใช้การเดินเท้าหรือขี่จักรยานแทน ลดการปล่อยมลภาวะและโลกร้อน

และยังส่งเสริมให้เรือประมง 40 ลำติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนดาดฟ้าเรือ เพื่อมาช่วยเรื่องแสงสว่างและการดูดน้ำออกภายในเรือ เป็นการลดการใช้น้ำมันดีเซลและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งคาดว่าเรือ 40 ลำจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้วันละ 532 กิโลกรัม / วัน

ต่อมาชาวบ้านได้เพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานแสงอาทิตย์ และค่อย ๆ ลดพลังงานดีเซล โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัทเอกชน นักวิจัย และสถาบันหลายแห่งมาช่วย ทำให้ชุมชนประหยัดค่าใช้จ่ายจากน้ำมันดีเซล ทั้งเกาะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดได้ใน พ.ศ. 2560 จัดการการซ่อมบำรุงเครื่องมือได้ด้วยตนเอง และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาดัดแปลงใช้ในการผลิตไฟฟ้า

เกาะจิก จันทบุรี ชุมชนที่ชาวบ้านร่วมใจผลิตไฟฟ้าใช้เองจนครอบคลุมพื้นที่ 1,100 ไร่

เป้าหมายของพวกเขาคือทำให้เกาะจิกเป็นเป็นชุมชนแห่งการลดภาวะโลกร้อนและชุมชนอนุรักษ์พลังงานอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่คำพูดจนกลายเป็นชุมชนลดโลกร้อนของจริง ได้รางวัลพลังงานทางเลือกระดับนานาชาติหลายแห่ง ล่าสุดบริษัท Apple มาทำสัญญารับซื้อ Carbon Credit จากเกาะนี้ในระยะยาว 15 ปี และรายได้จาก Carbon Credit ก็นำมาลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าต่อครัวเรือนได้

ขอคารวะชาวบ้านที่จบระดับประถมศึกษา แต่มีความรู้และจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมอย่างน่านับถือ มีไฟฟ้าใช้เองทั้งเกาะพื้นที่ 1,100 ไร่ โดยไม่ต้องพึ่งพาส่วนกลาง มีมิเตอร์เก็บค่าไฟฟ้าทุกหลังคาเรือน เป็นตัวอย่างของชุมชนอนุรักษ์พลังงานอย่างแท้จริงที่ไม่เคยโฆษณา แต่มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นชุมชนลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว