อาจด้วยบทบาทที่อยู่หลังม่าน หรือเพราะความตั้งใจของเจ้าตัวที่จะเก็บตัว ชื่อของ รีเบคก้า เวลดัน สิทธิวงศ์ (Rebecca Weldon Sithiwong) หรือ ป้าเบ็คกี้ จึงอาจไม่ได้เป็นที่รู้จักในโลกศิลปะเท่ากับ ถวัลย์ ดัชนี, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, สมลักษณ์ ปันติบุญ หรือ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ รวมถึงเหล่าศิลปินเชียงรายที่มีชื่อเสียงคนอื่น ๆ นัก

กระนั้นก็ตาม หญิงชาวอเมริกันผู้ถ่อมตัวและสมถะ พูดได้ 6 ภาษา เคยใช้ชีวิตในหลายช่วงเวลามาแล้วกว่า 10 ประเทศ ก่อนมาตั้งรกรากสร้างครอบครัวในจังหวัดเชียงรายเมื่อต้นทศวรรษ 1980 ผู้นี้ก็ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้เชียงรายในทุกวันนี้กลายเป็นเมืองศิลปะ

ป้าเบ็คกี้เป็นผู้ก่อตั้ง Ahimsa Gallery แกลเลอรีศิลปะแห่งแรกของเมืองเชียงราย เป็นเพื่อนของถวัลย์ ดัชนี และมีส่วนทำให้ถวัลย์ รวมถึง เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นที่รู้จักในบ้านเกิดของพวกเขาในวงกว้าง ภายหลังที่ศิลปินหนุ่ม 2 ท่านนี้เดินทางไปสร้างชื่อเสียงในกรุงเทพฯ และเวทีโลกเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว เธอยังเป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์และอยู่เบื้องหลังนิทรรศการศิลปะเจ๋ง ๆ มากมายที่อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) รวมถึงเป็นเจ้าของบริษัททัวร์ที่ชักชวนให้ศิลปินและสล่าเมืองเชียงรายเปิดสตูดิโอต้อนรับผู้มาเยือน จนเกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวบ้านศิลปินครั้งแรกของไทย

ผมได้รู้จักป้าเบ็คกี้ผ่านการแนะนำของ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ผู้เป็นหนึ่งในภัณฑารักษ์งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 (Thailand Biennale, Chiang Rai 2023) อังกฤษย้อนความทรงจำสมัยมัธยมที่เขามีโอกาสไปดูนิทรรศการหมุนเวียนที่จัดที่ Ahimsa Gallery ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้อังกฤษในวัยเยาว์แน่วแน่กับเส้นทางของตัวเอง ก่อนจะกลายมาเป็นศิลปินร่วมสมัยที่ได้รับการยอมรับระดับโลกอย่างวันนี้

“มันไม่ใช่แค่เรากับแกลเลอรีแห่งนั้นเพียงเรื่องเดียว แต่หลายสิ่งที่ป้าเบ็คกี้ทำมีส่วนผลักดันให้เชียงรายในวันนี้เป็นอย่างที่เป็นไม่น้อยไปกว่าศิลปินเชียงรายที่หลายคนรู้จักเลย” อังกฤษกล่าว

แม้ป้าเบ็คกี้จะเกษียณตัวเองออกจากแวดวงศิลปะและไม่ได้มีส่วนกับการขับเคลื่อนงานไทยแลนด์เบียนนาเล่ที่กำลังจัดขึ้นที่เชียงรายในขณะนี้ แต่ก็อย่างที่อังกฤษได้กล่าว หากไม่มีหญิงชาวอเมริกันผู้นี้วางรากฐาน แวดวงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของเชียงรายอาจไม่ได้เติบโตมาถึงขนาดนี้ จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะชวนเธอพูดคุยย้อนเวลากลับไปในยุค 80 จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านจากเมืองที่เคยขึ้นชื่อทางลบในฐานะหนึ่งในศูนย์กลางยาเสพติดระดับภูมิภาคในตอนนั้น กลายเป็นจุดหมายของคนรักศิลปะจากทั่วโลกในตอนนี้

Rebecca Weldon

ผมพบป้าเบ็คกี้ที่พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ป้าเบ็คกี้มาในชุดม่อฮ่อม สะพายย่าม และมวยผมตลอดเวลา ซึ่งอังกฤษและใครอีกหลายคนที่คุ้นเคยกับเธอบอกว่าเป็นยูนิฟอร์มแบบเดียวที่เธอสวมออกจากบ้านมากว่า 40 ปี

หลังจากที่เธอสูญเสียสามีและลูกชาย ป้าเบ็คกี้ก็ย้ายจากเชียงรายมาใช้ชีวิตในคอนโดมิเนียมย่านนิมมานเหมินท์ จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงปี 2000 คุณป้าบอกว่าที่นัดให้ผมมาเจอที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเพราะไม่เพียงที่นี่เป็นหนึ่งในสถานที่ที่เธอมาเดินเล่นและพักผ่อนบ่อยที่สุด แต่การอยู่ท่ามกลางบ้านโบราณในสวนที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่มากมายเช่นนี้ ย้ำเตือนความสนใจในวัยเด็กซึ่งหล่อหลอมให้เธอทุ่มชีวิตไปกับการอนุรักษ์และขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมจนถึงทุกวันนี้

“ฉันสนใจประวัติศาสตร์และความเป็นพื้นถิ่น ตั้งแต่สถาปัตยกรรมไปจนถึงงานหัตถกรรมที่ผูกโยงกับชีวิตของผู้คนในที่ต่าง ๆ มาตั้งแต่เด็ก และนั่นทำให้ไม่ว่าจะไปใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนในโลกฉันก็พยายามศึกษาสิ่งเหล่านี้ ซึ่งต่อมามันเชื่อมโยงฉันเข้าสู่โลกศิลปะ” ป้าเบ็คกี้ที่มักเรียกแทนตัวเองด้วยชื่อเธอเอง (แต่ผมวิสาสะเปลี่ยนสรรพนามเป็น ‘ฉัน’ ในบทความนี้) กล่าวด้วยภาษาไทยอย่างฉะฉาน

รีเบคก้า เวลดัน เกิดที่รัฐลุยเซียนา ในครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นหมอผู้ทำงานให้กระทรวงมหาดไทยของสหรัฐอเมริกา งานของพ่อแม่เธอคือเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อช่วยสร้างโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุข นั่นทำให้ในวัยเด็กของเธอต้องเดินทางไปใช้ชีวิตยังต่างแดนหลายแห่ง เริ่มตั้งแต่ซามัว อียิปต์ เฮติ และลาว ขณะเดียวกันเธอก็มีโอกาสไปเรียนหนังสือในหลากหลายประเทศด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา

การมีโอกาสได้คลุกคลีกับวิถีชีวิตของชนเผ่าในประเทศที่พ่อแม่เธอทำงาน กับการเข้าเรียนในหลักสูตรสากล มีส่วนทำให้เธอสนใจในภาวะ ‘ร่วมสมัย’ ที่พัฒนามาจากรากของความเป็นพื้นถิ่น ที่ซึ่งต่อมาเธอจะพบปรากฏการณ์เช่นนี้อย่างชัดเจนที่เชียงราย แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ผมขอเปิดการสนทนาจากความทรงจำบนเกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างซามัว จุดเริ่มต้นในแพสชันตลอดชีวิตของผู้หญิงคนนี้

คุณป้าเล่าว่าเริ่มสนใจในศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นตั้งแต่อายุ 7 ขวบ จากการที่ตามพ่อแม่ไปอยู่ซามัว อะไรจุดประกายความสนใจในเรื่องนี้ครับ

อาจเป็นเพราะความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงที่ได้เห็นตอนเด็กน่ะ ฉันโตมาในเมืองในชนบทของสหรัฐอเมริกา ใช้ชีวิตแบบคนทางใต้ของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ในยุคนั้น จนปี 1960 ก็ต้องตามพ่อแม่ไปทำงานที่ซามัว โลกของฉันก็เปลี่ยนไปอีกแบบ คุณพ่อฉันเป็นหมอเด็กเลยมีเพื่อนเป็นเด็ก ๆ ที่นั่นเยอะ และพ่อก็ส่งฉันไปเข้าเรียนโรงเรียนท้องถิ่นร่วมกับเด็ก ๆ ที่นั่นด้วย ภาษาซามัวจึงเป็นภาษาที่ 2 ในชีวิตต่อจากภาษาอังกฤษ

คุณพ่อบอกว่าฉันเป็นคนคุยเก่ง คุยได้หมดกับทุกคน นี่อาจมีส่วนทำให้คนที่นั่นชอบชวนครอบครัวเราไปเยี่ยมบ้านพวกเขา และก็ทำให้ฉันได้เห็นทั้งบ้านเรือน เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ที่แตกต่างออกไปจากความคุ้นเคย เกือบทุกอย่างที่เห็นล้วนเป็นงานที่สร้างด้วยมือหมด เขาต้องประกอบบ้านและสร้างเฟอร์นิเจอร์จากไม้ ทอผ้าเพื่อสวมใส่เอง และอื่น ๆ ขณะเดียวกันก็ทำให้เรามองย้อนกลับไปที่บ้านแบบยกสูงและเฟอร์นิเจอร์โบราณต่าง ๆ ที่บ้านของคุณตาในลุยเซียนนา ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีประวัติศาสตร์ในแบบของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้ฉันเริ่มหลงใหลในงานหัตถกรรมที่ผูกโยงกับวิถีชีวิต และมีผลต่อเนื่องไปอีกหลังจากอยู่ที่นั่นได้ 3 ปี และครอบครัวต้องย้ายไปอยู่ที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว

ที่ลาวก็แตกต่างจากทั้งลุยเซียนาและซามัวอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน

ใช่ค่ะ ฉันไปอยู่ลาวตอนอายุ 10 ขวบ โดยพ่อแม่ไปทำงานที่นั่นต่ออีก 10 กว่าปีได้ ระหว่างนั้นฉันก็ถูกส่งไปเรียนในยุโรปหลายประเทศ การมีชีวิตแบบนั้นทำให้ฉันค้นพบว่าตัวเองไม่ชอบชีวิตในเมืองใหญ่ ตึกสูง ๆ รถเยอะ ๆ อะไรแบบนี้เลย ที่ลาวฉันชอบงานทอผ้ามาก ที่ซึ่งแต่ละชุมชนล้วนมีภูมิปัญญาและเรื่องราวเบื้องหลังที่ต่างออกไปด้วยเช่นกัน ไม่เพียงผ้าจะมีความหมายต่อวิถีชีวิตคนลาวตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต ลวดลายของพวกมันยังเป็นหลักฐานบ่งบอกว่าคนที่สวมใส่เป็นใคร มาจากไหน รวมไปถึงความทรงจำส่วนตัวของผู้คนต่อผืนผ้านั้น ๆ ด้วย พอต้องเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา ฉันเลยเลือกเรียนด้านมานุษยวิทยาที่แคลิฟอร์เนีย (Pomona College, Claremont) โดยโฟกัสไปที่การอนุรักษ์วัตถุทางวัฒนธรรม ตอนนั้นน่าจะช่วงกลางยุค 70 ได้

ตอนเด็ก ๆ มีความฝันเกี่ยวกับอาชีพยังไงบ้างครับ

ฉันอยากเป็นนักเขียนค่ะ (หัวเราะ) ฉันชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียนความเรียงและบทกวีเก็บไว้อ่านตั้งแต่เด็ก แต่ที่เลือกเรียนมานุษยวิทยาเพราะสนใจเรื่องวิถีชีวิตและของเก่า โดยไม่ได้คิดหรอกว่าจบมาจะต้องทำอาชีพอะไร แต่ช่วงที่กลับไปเรียนที่สหรัฐฯ ความที่สนใจในการอนุรักษ์ซ่อมแซม เลยประกอบอาชีพเป็นช่างไม้อยู่พักหนึ่ง ฉันได้ทักษะนี้มาจากคุณตาที่เป็นช่างไม้ และสมัยอยู่ลาว ครอบครัวเราก็ประกอบเฟอร์นิเจอร์กันเอง เลยรับจ้างทำเฟอร์นิเจอร์และซ่อมแซมบ้านเก่าอยู่ที่ลุยเซียนาและวอชิงตัน ดี.ซี. อยู่พักใหญ่ มีเวลาว่างก็เขียนหนังสือเก็บไว้

จากช่างไม้ คุณป้ามาเริ่มงานด้านศิลปวัฒนธรรมได้ยังไง

เราไปเยี่ยมพ่อที่เฮติ ตอนนั้นลาวมีปัญหาด้านการเมืองภายใน พ่อเลยอยู่ต่อไม่ได้ เลยย้ายไปทำงานที่เฮติแทน เราไปหาเขาก็จับพลัดจับผลูได้ทำงานที่องค์กร CARE ที่นั่น เขาขับเคลื่อนเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน หนึ่งในนั้นคือการนำทรัพยากร ทักษะ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนที่นั่นมาสร้างมูลค่า เลยได้มีส่วนในการก่อตั้งสมาคมผู้ทอผ้าขึ้น งานที่นั่นทำให้เรามีความเชื่อเรื่องการสร้างเครือข่ายคนทำงานมาทุกวันนี้ เมื่อคุณจะอนุรักษ์อะไรก็ตาม ถ้าคุณทำงานคนเดียวด้วยการส่งต่อทักษะหรือภูมิปัญญาให้ลูกหลาน ถ้าลูกหลานคุณไม่สนใจก็จบเลยนะ ภูมิปัญญาเหล่านั้นอาจสูญไปในสักวัน แต่ถ้าคุณทำงานผ่านเครือข่ายหรือสมาคม สิ่งนี้จะเชื่อมโยงไปยังคนที่ไม่ใช่ลูกหลานแต่มีความสนใจ หรือคนที่อยากมีอาชีพใหม่ได้อีกเยอะ มรดกทางภูมิปัญญานั้นก็จะยังคงอยู่

ฉันทำงานที่เฮติอีกพักหนึ่ง แล้วพ่อกับแม่ก็แยกทางกัน คุณแม่ไปทำงานที่อียิปต์ ส่วนคุณพ่อไปทำงานดูแลสุขภาพผู้อพยพชาวลาวที่จังหวัดหนองคาย ประเทศไทย ฉันก็เลยต้องไป ๆ มา ๆ หาพวกท่านใน 2 ประเทศนี้ กระทั่งมาเยี่ยมคุณพ่อที่หนองคายบ่อยเข้า ฉันพบว่าหลายสิ่งหลายอย่างในเมืองหนองคายเหมือนเมืองในลาวที่เคยอาศัยอยู่มาก ฉันคิดถึงลาว แต่ด้วยปัญหาการเมืองในประเทศทำให้เรากลับไปอยู่ไม่ได้ สุดท้ายเลยย้ายตามคุณพ่อไปหนองคาย แล้วก็มีโอกาสก่อตั้งมูลนิธิด้านการทอผ้าที่หนองคายด้วยเช่นกันในปี 1981

เชียงรายรำลึ

หลังจากทำงานที่เมืองไทยพักหนึ่ง ป้าเบ็คกี้ก็ได้รู้จักกับ จุลพันธ์ สิทธิวงศ์ อดีตพนักงานฝ่ายการตลาดของการบินไทยที่ค่ายผู้อพยพในหนองคาย เขาทำงานช่วยดูแลสวัสดิภาพผู้อพยพในเวลานั้น ทั้งคู่เริ่มคบหาและแต่งงานกัน ก่อนที่ป้าเบ็คกี้จะย้ายจากหนองคายไปสร้างครอบครัวที่จังหวัดเชียงรายในช่วงต้นยุค 80 อันเป็นจุดเริ่มต้นหน้าประวัติศาสตร์เล็ก ๆ ในโลกศิลปะของเมืองนี้

ทำไมถึงเลือกมาสร้างครอบครัวที่จังหวัดเชียงรายด้วยครับ

สามีฉันมีบ้านอยู่ที่นั่นค่ะ (ยิ้ม) เพราะคุณแม่เขาเป็นคนเชียงราย แล้วฉันก็ชอบบรรยากาศของเมืองด้วย สมัยเด็ก ๆ ฉันเคยไปเที่ยวภาคเหนือของลาวแล้วชอบมาก เลยคิดว่าถ้ามีโอกาสจะไปปลูกบ้านที่นั่น เชียงรายใกล้ภาคเหนือของลาว บรรยากาศเลยมีความคล้ายคลึง พอฉันแต่งงานกับสามี เราก็เห็นช่องทางในการทำธุรกิจท่องเที่ยวที่เชียงราย ตอนนั้นปัญหาเรื่องยาเสพติดที่สามเหลี่ยมทองคำเริ่มซาลงแล้ว และเชียงรายก็มีความพร้อมต่อการเป็นเมืองท่องเที่ยวแล้ว เลยย้ายมาปลูกบ้านและทำบริษัททัวร์แห่งแรกของเมืองด้วยกัน

สมัยนั้นเชียงรายยังไม่มีบริษัททัวร์เลยเหรอครับ

ยังค่ะ ตอนนั้นคือปี 1983 นักท่องเที่ยวที่มาส่วนใหญ่ซื้อทัวร์มาจากเชียงใหม่ บริษัทเราก็เริ่มจากเป็นเหมือนซัพพลายเออร์ ดูแลนักท่องเที่ยวที่บริษัททัวร์ในเชียงใหม่ส่งมาก่อน จากนั้นก็ทำเส้นทางของเราเอง พาเขาไปเที่ยวดอย ชมวัด ไปสามเหลี่ยมทองคำ และอำเภอแม่สาย สมัยก่อนเชียงรายเป็นเมืองธุรกิจสำคัญของภาคเหนือนะ เราผลิตข้าวเป็นหลัก เราก็ช่วยกันสร้างเส้นทางโลจิสติกส์ ส่งข้าวขึ้นเรือไปขายเมืองจีนด้วย

บรรยากาศในแง่มุมของศิลปวัฒนธรรมของเมืองเชียงรายในตอนนั้นเป็นยังไงบ้างครับ

ผู้คนส่วนใหญ่สนใจความเป็นสมัยใหม่มากกว่า งานพื้นถิ่นก็มี แต่อยู่ในระดับวิถีชีวิต ซึ่งไม่ได้ถูกนำเสนอให้เป็นจุดเด่นหรือเสน่ห์อะไร อย่างไรก็ตามในยุคนั้นเริ่มมีลูกหลานนักธุรกิจในเมืองที่มีโอกาสไปเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ และต่างประเทศกลับมาอยู่เชียงรายแล้ว เราทำร้านอาหารที่ขายทั้งอาหารไทยและฝรั่งและมีเครื่องดื่มเสิร์ฟ พวกเขาเลยกลายมาเป็นลูกค้าประจำที่ร้านของเรา ฉันได้รู้จัก อาจารย์นคร พงษ์น้อย ที่กลับมาก่อตั้งอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) ซึ่งมากับคุณถวัลย์ ดัชนี จากนั้นก็มีศิลปินคนอื่น ๆ แวะเวียนมาเรื่อย ๆ จนหลายคนกลายเป็นเพื่อนกับเรา

ที่ร้านฉันจะมีแม่ครัวประจำ ส่วนฉันก็คอยดูร้าน ทำเครื่องดื่ม และสลับไปทำอาหารแทนบ้าง ถ้าวันไหนยังไม่มีลูกค้า ฉันก็จะนั่งอ่านหรือเขียนหนังสืออยู่หลังบาร์ จำได้ว่ามีอยู่วันหนึ่ง ระหว่างที่นั่งเขียนหนังสืออยู่ มีผู้ชายคนหนึ่งมาหยุดดู และชวนคุยว่าฉันกำลังเขียนเกี่ยวกับอะไร จากนั้นก็ถามเรื่องเครื่องดื่มว่ามีอะไรบ้าง ก่อนที่จะสั่ง Jack Daniel’s และชวนฉันชนแก้ว เขาบอกว่าสมัยก่อนเขาเคยไปทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ช่วงสั้น ๆ ในสหรัฐฯ เหมือนกัน ก่อนจะแนะนำตัวว่าเป็นนักเขียนชื่อ ’รงค์ วงษ์สวรรค์

เพราะทำร้านจึงได้รู้จักศิลปินเยอะ ทำให้คุณป้าคิดถึงการก่อตั้งแกลเลอรีศิลปะใช่ไหมครับ

ส่วนหนึ่งค่ะ เพราะเราเห็นแล้วว่าศิลปินและสล่าเชียงรายมีพรสวรรค์เยอะ ในตอนนั้นนอกจากไร่แม่ฟ้าหลวงกับห้องแสดงงานศิลปะในโรงแรมที่จัดเป็นบางวาระ เชียงรายก็แทบไม่มีพื้นที่ศิลปะเลย ความที่เรามีโอกาสไปใช้ชีวิตในหลายประเทศทั่วโลก ชอบเดินพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีของที่นั่นมาตั้งแต่เด็ก เลยคิดว่าเมืองที่เราอยู่ตอนนี้ควรต้องมีพื้นที่แบบนี้บ้าง ในเวลานั้นบริษัททัวร์ของสามีและร้านอาหารที่เราทำก็อยู่ตัวแล้ว ส่วนน้องชายเขามาทำธุรกิจโรงแรมเสริม ไม่ได้ต้องดิ้นรนทางธุรกิจอะไรมากนัก และครอบครัวเราก็มีที่ดินอยู่หลังโบสถ์คริสต์ริมถนนพหลโยธินอยู่แล้วด้วย เลยลงมือทำ

เรามองว่าสมัยนั้นศิลปินเชียงราย ถ้าอยากขายงานได้ เขาก็ต้องเข้าไปแสดงงานที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องมีค่าเดินทางและขนส่งงานศิลปะต่างหาก หรือบางคนต้องไปเช่าสตูดิโออยู่กรุงเทพฯ ถ้าขายได้ก็ต้องแบ่งรายได้ให้แกลเลอรี บางคนที่ขายงานได้ไม่มากนักอาจขาดทุนด้วยซ้ำ ประกอบกับคุณถวัลย์เขาอยากให้ศิลปินเชียงรายกลับมาอยู่บ้าน เลยมาคุยกันว่าถ้าเรามีพื้นที่ให้เขาแสดงงาน ขายงานได้เท่าไหร่ก็หักส่วนแบ่งไป น่าจะทำได้ แต่เราไม่ได้คิดว่าสิ่งนี้จะต้องเป็นธุรกิจอะไร แกลเลอรีเราเลยไม่ขอหักค่าคอมมิชชันจากศิลปิน มีก็แค่ค่าไฟฟ้ากับค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น รูปแบบก็เป็นแบบนั้น

ในขณะเดียวกันก็มีห้องสมุดเล็ก ๆ ให้คนมานั่งอ่านหนังสือหรือทำงานด้วย เพราะเราชอบเขียนหนังสือ จะได้นั่งทำงานที่นี่ทุกวันไปด้วย พอเปิดแกลเลอรีไปได้สักพัก ฉันก็ได้พบเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เขาเรียนมัธยมอยู่โรงเรียนใกล้ ๆ นี้ และมักจะมาดูนิทรรศการที่เราจัดตลอด บางวันก็มาอ่านหนังสือหรือมาวาดรูปบ้าง มาบ่อยจนคุ้นเคย จนเขาแนะนำตัวว่าชื่ออังกฤษ อัจฉริยโสภณ เราจึงมีความสนิทสนมกับคุณอังกฤษตั้งแต่นั้น มาตอนหลังฉันไปช่วยอาจารย์นคร พงษ์น้อย ทำนิทรรศการศิลปะที่ไร่แม่ฟ้าหลวง และคุณอังกฤษกลายเป็นศิลปินที่มีงานแสดงต่างประเทศ ฉันก็ชวนให้เขานำงานมาแสดงที่ไร่ฯ ด้วยเหมือนกัน (ยิ้ม)

ศิลปินที่แสดงงานกับเราในยุคนั้นมีใครบ้าง

เราเปิดแกลเลอรีช่วงปี 1986 งานแรกเป็นนิทรรศการกลุ่ม คุณถวัลย์ก็ร่วมแสดงด้วย คุณเฉลิมชัย ตอนนั้นเริ่มมีชื่อเสียงแล้ว จำได้ว่าเขาเพิ่งกลับจากอียิปต์มาก็เอางานเขียนรูปที่เขาวาดที่อียิปต์มาจัดแสดง นึกแล้วก็ตลกดี นิทรรศการแรกที่คุณเฉลิมชัยแสดงที่เชียงรายเป็นรูปเกี่ยวกับอียิปต์ และยังมีคุณสมลักษณ์ ปันติบุญ ที่แสดงงานเซรามิก จากนั้นก็มีงาน คุณฉลอง พินิจสุวรรณ คุณทรงเดช ทิพย์ทอง คุณสมพงษ์ สารทรัพย์ และอีกหลายท่าน

ขณะเดียวกันคุณถวัลย์ท่านเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการผลักดันให้งานหัตถกรรมพื้นบ้านของสล่าในชุมชนต่าง ๆ มาจัดแสดงในแกลเลอรีนี้ด้วย เขามองว่างานหัตถกรรมก็เป็นงานศิลปะไม่ต่างกัน เลยมีงานจากสล่าทั้งผ้าทอ เครื่องเงิน เครื่องเขิน มาจัดแสดงด้วย นอกจากนี้ ด้วยความที่เราพูดภาษาฝรั่งเศสได้ จึงมีส่วนช่วยกันตั้งสมาคมฝรั่งเศสเชียงราย (Alliance française de Chiang Rai) ขึ้น เลยได้เครือข่ายจากศิลปินฝรั่งเศสและต่างประเทศมาจัดแสดงที่แกลเลอรีในบางโอกาส

ตอนนั้นจัดนิทรรศการบ่อยแค่ไหน

พอสมควร บางนิทรรศการจัดเดือนเดียว บางที 2 เดือนก็เปลี่ยน เสียดายที่เราไม่ได้ทำ Archive ไว้ จากนั้นก็มีแกลเลอรีศิลปะแห่งอื่น ๆ เปิดด้วย ก่อนเปิดที่นี่ ฉันคิดว่าเชียงรายมีศิลปินอยู่จำนวนหนึ่งที่พอหมุนเวียนแสดงผลงานกับเราได้บ้าง พอทำไปได้สักพักเลยพบว่าจริง ๆ เมืองเรามีศิลปินมากกว่าที่คิดไว้มาก และมีความหลากหลายด้วย

บอกได้ไหมว่า Ahimsa Gallery มีส่วนเปิดประตูโลกศิลปะให้เมืองเชียงราย

ไม่ขนาดนั้นหรอกค่ะ เรื่องนี้ต้องยกเครดิตให้งาน ‘ไหว้สาแม่ฟ้าหลวง’ ที่จัดที่ไร่แม่ฟ้าหลวง ซึ่งริเริ่มโดยอาจารย์นคร พงษ์น้อย มากกว่า นั่นคืองานประจำปีที่ฉันคิดว่าสร้างสรรค์มากที่สุดของเมือง จริง ๆ มันเป็นพิธีกรรมไหว้สาของคนล้านนา แต่อาจารย์นครท่านชวนศิลปินพื้นบ้าน สล่า ช่างฟ้อน ศิลปินร่วมสมัย นักเขียน กวี มาร่วมทำการแสดงในธีมต่าง ๆ ทุกปี งานนี้ทำให้เห็นถึงความรุ่มรวยในศิลปวัฒนธรรมของเมืองเชียงรายอย่างมาก จนทุกวันนี้ก็ยังมีการจัดอยู่

Ahimsa Gallery เปิดทำการอยู่ 7 ปี ก่อนปิดตัวลง อะไรทำให้คุณป้าตัดสินใจยุติกิจการนี้ครับ

ฉันเริ่มรู้สึกอิ่มตัว และตอนนั้นเชียงรายก็มีแกลเลอรีเปิดใหม่มากขึ้นแล้วด้วย เรื่องพื้นที่แสดงผลงานของศิลปินจึงไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปเลยตัดสินใจหยุดทำ ก่อนจะเปลี่ยนให้อาคารแสดงงานกลายเป็นสำนักงานของ AUA แห่งแรกของเชียงรายไป

เห็นว่าหลังจากนั้นไปทำทัวร์บ้านศิลปิน

ใช่ค่ะ จำไม่ได้ว่าทำตอนยังทำแกลเลอรีอยู่หรือทำหลังจากปิดไปแล้วเหมือนกัน แต่ความคิดนี้ก็มาจากคุณถวัลย์ด้วยเช่นกัน เขาอยากให้ศิลปินเชียงรายกลับมาทำงานที่บ้านเกิด เลยผลักดันให้ศิลปินเปิดสตูดิโอที่บ้านของตัวเอง สล่าในชุมชนต่าง ๆ ก็ด้วย แต่เดิมสล่าเหล่านี้เขาทำงานโดยไม่มีเครดิต ทำให้ชุมชนหรือไม่ก็ถวายวัด ไม่ได้ถูกจดจำในฐานะศิลปินผู้สร้างแต่อย่างใด คุณถวัลย์พยายามผลักดันการรับรู้ของคนเชียงรายให้รู้ว่าสล่าคนไหนสร้างงานอะไรเหมือนศิลปิน

ฉันกับสามีทำบริษัททัวร์อยู่แล้ว เลยคิดถึงการทำโปรแกรมทัวร์ชวนคนที่สนใจศิลปะไปเยี่ยมชมสตูดิโอของศิลปินและสล่าที่อยู่ทั่วเมือง ถ้านักท่องเที่ยวชอบผลงานชิ้นไหนก็ซื้อกลับมาเลย ศิลปินจะได้ขายงานด้วย หลังจากนั้นโมเดลนี้ก็กลายมาเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวระดับจังหวัดไป ฉันดีใจนะที่มีส่วนทำให้ศิลปะกลายมาเป็นเครื่องดึงดูดด้านการท่องเที่ยวของเมืองได้

ใครเป็นลูกค้าหลักของศิลปินเชียงราย

หลากหลายเลยค่ะ ตั้งแต่สมัยทำแกลเลอรี ส่วนใหญ่จะเป็นนักสะสมชาวไทยหรือตัวแทนจากมูลนิธิต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติก็มีพอสมควร ศิลปะถือเป็นธุรกิจที่ผลตอบรับค่อนข้างดีในช่วงเวลานั้นเลย หรืออย่างช่วงหลังที่มีทัวร์ศิลปะ ศิลปินและสล่าเขาก็หันมาทำของที่ระลึกจากงานศิลปะขายในราคาไม่แพง สำหรับคนที่ไม่ใช่นักสะสมหรือไม่ได้มีเงินมากมายอะไรก็ซื้อเก็บกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องดีเลย

จากแกลเลอรีไปทำทัวร์ศิลปะ แล้วคุณป้าไปเป็นภัณฑารักษ์ที่ไร่แม่ฟ้าหลวงได้อย่างไรครับ

เรียกว่าเป็นอาสาสมัครช่วยดูแลสถานที่เขามากกว่า เริ่มจากที่คุณนครชวนไปประสานงานติดต่อองค์กรหรือศิลปินต่างชาติที่มาแสดงผลงานในไร่แม่ฟ้าหลวง จากนั้นฉันก็อาสาทำเรื่องการลงทะเบียนและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุที่ทางไร่ฯ ได้รับบริจาคมา ทำเฉพาะช่วงที่เขามีงานก่อน จนปี 1998 ก็ทำประจำเลย ซึ่งทำโดยไม่ขอรับเงินเขาสักบาทด้วยนะ ทำไปสักพักทางไร่แม่ฟ้าหลวงก็มีโบราณวัตถุที่ได้รับบริจาคมากขึ้น ประกอบกับได้ทุนมาทำพิพิธภัณฑ์ที่อาคารหอแก้วอย่างเป็นทางการ ฉันเลยไปเรียนต่อปริญญาโทด้านนี้ที่เนเธอร์แลนด์ (Master of Museology, Reinwardt Academy, Amsterdam) เพื่อกลับมาจัดระบบพิพิธภัณฑ์ให้เป็นระบบนานาชาติ

ทำให้ฟรีแล้วยังลงทุนไปเรียนเพื่อกลับมาทำพิพิธภัณฑ์นี้อีกเหรอครับ

จริง ๆ เขาก็เสนอตำแหน่งงานให้ แต่ฉันมีธุรกิจของตัวเองอยู่แล้ว และอยากช่วยเขามากกว่า ทำที่นั่นมา 10 กว่าปี ฉันจะบอกคนอื่นตลอดว่าเป็นอาสาสมัคร ไม่ได้เป็นภัณฑารักษ์อะไร แต่พอเขาจะทำพิพิธภัณฑ์ ก็ช่วยสนับสนุนให้ฉันได้ไปเรียนต่อด้วย ซึ่งฉันอยากเรียนรู้อยู่แล้ว เพราะระบบการจัดการพิพิธภัณฑ์สำคัญไม่น้อยกว่าวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เลย ก่อนหน้านี้เราใช้ระบบของกรมศิลปากร พอฉันกลับมาก็เอาระบบจากต่างประเทศมาใช้ร่วมด้วย และสร้างเครือข่ายการวิจัยโบราณวัตถุร่วมกับพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศพร้อมกัน

ดูเหมือนว่าขอบเขตงานที่พิพิธภัณฑ์จะเป็นงานโบราณวัตถุเป็นหลัก ซึ่งต่างจากงานเดิมที่คุณป้าจัดแสดงงานศิลปะในแกลเลอรีมากเลยนะครับ

ที่ไร่แม่ฟ้าหลวงก็จัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยด้วยค่ะ มีศิลปินทั้งไทยและต่างชาติมาจัดแสดงนิทรรศการอย่างต่อเนื่อง ฉันช่วยประสานงานตรงนี้ด้วย แต่หลัก ๆ ฉันมาดูเรื่องการวางระบบการจัดเก็บและอนุรักษ์ของเก่า ซึ่งเป็นงานที่ชอบ

อย่างไรก็ตาม ฉันว่าเชียงรายมีมุมมองพิเศษอยู่อย่าง คือเขาจะไม่พยายามแบ่งแยกว่าสิ่งนี้คือศิลปะโมเดิร์น สิ่งนี้คือศิลปะร่วมสมัย สิ่งนี้คืองานหัตถกรรมของสล่า แต่มองว่าเหล่านี้คือศิลปะที่มีคุณค่าเหมือนกัน เราถือว่างานสร้างสรรค์ทั้งหมดคือสิ่งที่เราได้จากเวลาที่ผ่านมาและจะมีผลต่ออนาคต เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมกับกระแสของวัฒนธรรม

นอกจากการมีถวัลย์และเฉลิมชัย คนเชียงรายหลายคนให้เครดิตกับไร่แม่ฟ้าหลวงในการขับเคลื่อนศิลปะของเมืองมาก คุณป้าคิดว่าอะไรทำให้พวกเขาคิดแบบนั้นครับ

ฉันมองว่าไร่แม่ฟ้าหลวงทำให้คนรุ่นใหม่ภูมิใจในรากของศิลปวัฒนธรรมของตัวเอง ต้องย้อนกลับไปตอนที่ฉันมาอยู่เมืองไทยใหม่ ๆ ช่วงปลายยุค 70 ถึงต้นยุค 80 ที่เศรษฐกิจในประเทศกำลังเฟื่องฟู ผู้คนในกรุงเทพฯ ชื่นชอบกระแสวัฒนธรรมตะวันตกมาก ทุกคนมองหาสิ่งใหม่ ๆ จากสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งในขณะที่คนกรุงเทพฯ มองไปที่ตะวันตก คนจากเมืองอื่น ๆ ของประเทศเราก็มองไปที่คนกรุงเทพฯ ในฐานะต้นแบบ ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านจึงถูกละทิ้งไปช่วงเวลาหนึ่ง เนื่องจากผู้คนมองว่าเป็นสิ่งล้าสมัย และในขณะที่ศิลปินคนอื่น ๆ หันไปทำงานที่ได้อิทธิพลจากตะวันตก คุณถวัลย์และคุณเฉลิมชัยกลับไม่ได้วิ่งตามกระแสนิยม และมุ่งมั่นนำเสนอผลงานศิลปะไทยในแบบฉบับของพวกเขาเอง จนได้รับการยอมรับในระดับสากลและกลายเป็นต้นแบบให้กับศิลปินคนอื่น ๆ

พร้อมกันนั้นอย่างที่เล่าไปแล้วว่าการเกิดขึ้นของงานไหว้สาแม่ฟ้าหลวงก็มีส่วนปลุกศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ทำให้ผู้คนมองเห็นว่าศิลปหัตถกรรมหรือประเพณีดั้งเดิมไม่ใช่แค่สิ่งเก่า ๆ ที่ติดมากับวิถีชีวิตเท่านั้น แต่เป็นเสน่ห์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ จากพิธีกรรมก็กลายเป็นแม่เหล็กด้านการท่องเที่ยว งานหัตถกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อใช้งานกลายเป็นสินค้าสร้างรายได้ หรือโบราณวัตถุที่หลายคนเคยมองข้ามกลับกลายเป็นสินค้าที่มีราคาสูง 

สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้ผู้คนหันมาศึกษาประวัติศาสตร์ สร้างความร่วมมือกับภาครัฐในการบูรณะของเก่า วัดวาอาราม หรือการออกแบบอาคารใหม่ ๆ ที่ยึดโยงกับรากทางวัฒนธรรม ซึ่งไร่แม่ฟ้าหลวงก็มีบทบาทในการค้นคว้าวิจัย เก็บรักษา และเปิดพื้นที่จัดแสดงงานสร้างสรรค์ทั้งของเก่าและของใหม่ไปพร้อมกัน ฉันคิดว่าสิ่งนี้เมื่อรวมกับกลไกอื่น ๆ ของเมือง ทำให้เชียงรายมีทิศทางในการเติบโตด้านศิลปวัฒนธรรมที่ชัดเจน

คุณป้าพยายามปฏิเสธว่า Ahimsa Gallery ไม่ได้เป็นผู้บุกเบิกให้เชียงรายเป็นเมืองศิลปะ แต่งานที่ไร่แม่ฟ้าหลวงที่คุณป้าร่วมทำกับอาจารย์นครก็ถือเป็นการบุกเบิกเมืองนี้อยู่ดีไม่ใช่หรือครับ

ฉันเป็นแค่ฟันเฟืองเล็ก ๆ มากกว่า ฉันทำงานโดยถือว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกันตลอด บางโครงการอาจมาจากความคิดเรา แต่ถ้าขาดคนมาร่วมขับเคลื่อนก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นเป็นจริงได้ ทุกคนอยู่ระดับเดียวกันหมด

ฟันเฟืองหลักคือเหล่าศิลปินและสล่า โดยเฉพาะการที่พวกเขานำงานศิลปะมาใช้กับเมือง ไม่ใช่แค่ทำงานเพื่อจัดแสดงหรือขายอย่างเดียว อย่างที่คุณเฉลิมชัยกลับมาสร้างวัดร่องขุ่น หรือคุณถวัลย์เป็นคนออกแบบอาคารสำหรับประดิษฐานพระหยกที่วัดพระแก้ว (เชียงราย) หรือที่ต่อมา คุณพุทธา กาบแก้ว บูรณะวัดร่องเสือเต้น ทุกท่านล้วนได้รับความร่วมมือจากสล่าแขนงต่าง ๆ มาร่วมทำด้วย

ฉันคิดว่าที่เชียงรายเป็นเมืองศิลปะได้เพราะการที่ศิลปินและสล่าอุทิศผลงานให้เมืองนี่แหละ เหมือนที่ชาวบ้านสมัยก่อนร่วมกันสร้างวัด ศิลปินและสล่าก็ร่วมกันสร้างสรรค์เมือง งานศิลปะเลยอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน หอนาฬิกา เสาไฟริมถนน วัด สวนสาธารณะ หรือการมีบ้านหรือสตูดิโอของศิลปินเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

ชีวิตหลังเกษียณ

หลังจากทำงานที่ไร่แม่ฟ้าหลวงหลายปี ป้าเบ็คกี้ก็พบมรสุมครั้งใหญ่ในชีวิต เริ่มจากการจากไปของพ่อและแม่ ต่อด้วยอาการป่วยไข้จนถึงแก่ชีวิตของผู้เป็นสามี และอุบัติเหตุที่ทำให้ลูกชายของเธอต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ เธอก็พบว่าเป็นเรื่องยากที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปในเมืองที่เต็มไปด้วยความทรงจำถึงคนรัก จึงตัดสินใจขายกิจการทุกอย่าง ย้ายจากเมืองที่รักมาอยู่เชียงใหม่พร้อมกับลูกสาวที่ย้ายมาเรียนมหาวิทยาลัยที่นี่พอดี

ป้าเบ็คกี้ที่ปัจจุบันมีอายุนำหน้าด้วยเลข 7 บอกว่าตั้งใจจะใช้ชีวิตหลังเกษียณที่นี่ แต่นั่นล่ะ จนทุกวันนี้เธอก็ยังไม่หยุดในการทำงานสังคมในด้านการขับเคลื่อนวัฒนธรรม ทั้งการเป็นที่ปรึกษาในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ที่เชียงใหม่ ไปจนถึงการทำหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ชาวต่างชาติที่เกษียณอายุร่วมกับมหาวิทยาลัยพายัพ เธอบอกว่าทุกวันนี้มีความสุขดี และมักจะหาเวลากลับไปเยี่ยมน้องสาวและครอบครัวที่อยู่เชียงรายเสมอ

หลังจากที่เชียงรายได้เป็นเจ้าภาพงานไทยแลนด์เบียนนาเล่ รวมถึงที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองศิลปะ ผมได้ยินคนเชียงใหม่หลายคนตั้งคำถามว่าทั้งที่เชียงใหม่มีสถาบันศิลปะ แกลเลอรี และสตูดิโอศิลปินมากมาย เยอะกว่าเชียงรายอีก ทำไมเชียงใหม่ถึงสร้างชุมชนทางศิลปะเหมือนกับเชียงรายไม่ได้ ในฐานะที่คุณป้าอยู่เชียงใหม่มา 10 กว่าปีแล้ว คิดว่าเป็นเพราะอะไรครับ

ฉันไม่คิดว่าเชียงใหม่ด้อยกว่าเชียงรายในแง่ของศิลปะเลยนะ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า ถ้าคุณดูความเป็นเมืองศิลปะทั่วโลก แทบไม่มีเมืองใหญ่อยู่ในนั้น มีแต่เมืองเล็ก ๆ แบบเชียงรายทั้งนั้น หรือเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้กับเมืองใหญ่มากกว่า 

เพราะอะไร เพราะเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่มีอัตลักษณ์ที่มากกว่าศิลปะ เชียงใหม่เป็นทั้งเมืองธุรกิจ เมืองแห่งการศึกษา และเมืองท่องเที่ยว ขณะที่การจัดการเมืองก็มีทั้งหน่วยงานรัฐหรือองค์กรต่าง ๆ หลายระดับมาก ผู้คนหมุนเวียนเข้าออกอย่างต่อเนื่อง เมืองมีผู้มีส่วนได้เสียเยอะ จึงไม่แปลกที่จะรวมตัวเพื่อสร้างความร่วมมือได้ยาก

ยิ่งเมืองเล็ก ยิ่งจัดตั้งง่าย

เพราะเมืองมีขนาดเล็กพอที่ทุกคนจะแลกเปลี่ยนกันได้ การจะสร้างชุมชนสักอย่าง สำคัญมากที่จะต้องแลกเปลี่ยนกัน อีกเรื่องหนึ่งในเมืองใหญ่ การที่คุณจะได้รับการยอมรับในวงกว้าง คุณอาจต้องเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือมีตำแหน่งนำหน้า แต่กับเมืองเล็ก ๆ คุณถวัลย์มักบอกตลอดว่าเขาก็เป็นสล่าคนหนึ่ง ไม่เคยสอนมหาวิทยาลัย ไม่มีนักศึกษา มีแต่คนมาช่วยหรือมาร่วมงาน เป็น Apprentice เหมือนสมัยก่อนที่อาจารย์คนหนึ่งจะมีลูกศิษย์คอยติดตามและช่วยงาน แลกเปลี่ยนกับการได้เรียนรู้จากผู้เป็นอาจารย์ เชียงรายในยุคที่ฉันอยู่มันเป็นแบบนั้น มันเลยมีคอมมูนิตี้ที่ค่อนข้างเหนียวแน่น พร้อมช่วยเหลือกันเสมอ

คิดถึงเชียงรายอยู่บ้างไหมทุกวันนี้

คิดถึงตลอด อย่างที่บอกว่าจะหาเวลากลับไปเสมอ คิดว่าที่นั่นคือบ้าน บางทีก็กลับไปอยู่สัก 2 – 3 อาทิตย์ ไปเยี่ยมญาติ เยี่ยมเพื่อน บางทีก็แค่ไปอยู่เฉย ๆ แต่ขณะเดียวกันเราก็ติดใจเชียงใหม่ไปแล้ว จริง ๆ ไม่ชอบเมืองใหญ่หรอก แต่ความที่เชียงใหม่เป็นเมืองนานาชาติ เลยมีความเคลื่อนไหวด้านศิลปวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่น่าสนใจเกิดขึ้นเสมอ ทำให้เราไม่เหงาดี ล่าสุดกลุ่มนักเขียนและนักแปล Asia Pacific Writers & Translators ก็มีแผนจะมาจัดประชุมนานาชาติกันที่นี่ เชียงใหม่มีงานแบบนี้เกิดขึ้นเสมอ ๆ อันไหนน่าสนใจฉันก็ไปเข้าร่วม

เห็นบอกว่าอยากเป็นนักเขียนตั้งแต่เด็ก ตอนนี้ยังเขียนหนังสืออยู่ไหม

เขียนสิ พยายามเขียนให้ได้ทุกวัน แต่ไม่เคยตีพิมพ์เป็นเล่มเลยนะ สมัยก่อนฉันชอบเขียนบทกวี และเอาไปอ่านตามงานต่าง ๆ สมัยที่คุณถวัลย์จัดนิทรรศการหรืองานทางวัฒนธรรม ฉันก็ขึ้นไปอ่านบทกวีที่เขียน พวก Essay ก็เขียนเก็บไว้เรื่อย ๆ ตอนนี้พยายามจะเขียนนิยายอยู่

ชอบนักเขียนคนไหนเป็นพิเศษครับ

ตอนเด็ก ๆ ชอบ โฮเมอร์ และ วิลเลียม เชกสเปียร์ ต่อมาก็ชอบมา ปาโบล เนรูดา นักเขียนอเมริกาใต้ก็ชอบหลายคน กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ คือหนึ่งในนั้น ถ้าเป็นกวีไทย ฉันชอบ อังคาร กัลยาณพงศ์ หรืองานที่เป็นระบบนิราศสมัยก่อนก็ชอบมาก

คุณป้าอ่านภาษาไทยได้

ได้สิ ก็อยู่นี่มาตั้งนานแล้ว แต่เวลาเขียน ฉันจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เพราะเป็นภาษาแม่ ไม่เคยเขียนภาษาอื่นเลย

เมื่อเทียบกับต่างประเทศ หลายคนมองว่าคนไทยไม่มีวัฒนธรรมในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ในฐานะที่คุณป้าทำทั้งพิพิธภัณฑ์และอยู่เมืองไทยมานาน มีมุมมองเรื่องนี้ยังไงครับ

ฉันคิดว่าไม่จริง พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ถ้ารวมระดับชุมชนด้วยมีมากกว่า 1,500 แห่งเลยนะ จริงอยู่บางแห่งอาจไม่ค่อยมีคนเข้า หรือบางแห่งต้องปิดไว้เฉย ๆ เพราะขาดงบประมาณจ้างคนมาดูแล แต่จำนวนที่เรามีมากกว่าหลายประเทศมาก สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าในทุก ๆ เมืองในประเทศเราต่างมีโบราณวัตถุ องค์ความรู้ หรือศิลปะที่น่าสนใจให้คนเข้ามาศึกษา ขณะที่พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย หรือภูเก็ต ก็ทำได้ดีจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมือง มีคนมาเที่ยวชมตลอด

ฉันมองว่าสิ่งที่เป็นปัญหาคือคนไทยไม่นิยมจ่ายเงินไปชมพิพิธภัณฑ์มากกว่า ถ้าเก็บบัตร 20 บาท หรือ 50 บาทเขาก็อาจยอมจ่าย แต่พอเป็นหลักร้อยขึ้นไป หลายคนก็คิดหนัก ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยมของเชียงใหม่จัดแสดงงานที่ดีมาก ๆ และมีระบบที่เป็นสากลมาก แต่พอเก็บบัตรราคาหลักร้อย ส่วนหนึ่งเลือกที่จะไม่ไปชม ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก

มีอย่างหนึ่งที่รัฐบาลทำได้และเขาก็ทำได้ดีไปแล้วด้วย คือการสนับสนุนให้เด็กในโรงเรียนรัฐทุกแห่งเข้าชมพิพิธภัณฑ์อย่างน้อย 2 ครั้งในทุกปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คือเขาก็ติดต่อไปยังพื้นที่เลยว่าจะขอให้เด็กนักเรียนเข้าชมฟรีได้ไหม ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยินดีหรืออาจมีค่าใช้จ่ายนิดหน่อย ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง สมัยฉันทำงานอยู่ ก็ต้อนรับเด็ก ๆ จากทั่วประเทศปีละ 10,000 – 20,000 คนได้ ฉันคิดว่าถ้าเด็ก ๆ เข้ามาเห็นและมีความผูกพัน ต่อไปเขาจะเข้าใจว่าพิพิธภัณฑ์ทุกแห่งจำเป็นต้องมีงบประมาณในการดำเนินงาน และยินดีจ่ายเงินให้กับสิ่งเหล่านี้ในอนาคต

ทำให้เด็ก ๆ ตระหนักถึงคุณค่าและมูลค่าของการเรียนรู้

ใช่ค่ะ ซึ่งจริง ๆ แล้วค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ของบ้านเราทุกวันนี้ก็มีราคาถูกกว่าหลายประเทศทั่วโลกเลยด้วยซ้ำ

อีกเรื่องที่สำคัญคือการสื่อสารความรู้ในพิพิธภัณฑ์ ฉันชอบหลักสูตรหนึ่งของประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งรัฐบาลไทยพยายามใช้เป็นต้นแบบด้วย คือการให้เด็ก ๆ มาเรียนรู้ในพื้นที่ในมิติอื่น ๆ นอกเหนือจากการเข้าชมวัตถุที่จัดแสดง อาจารย์คณิตศาสตร์อาจสอนเด็ก ๆ เรื่องการวัดระยะหรือการคำนวณผ่านโบราณวัตถุ พิพิธภัณฑ์แห่งไหนมีสวนก็อาจมาเรียนรู้เรื่องพันธุ์ไม้หรือภูมิสถาปัตยกรรมได้

งานไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 ที่คุณอังกฤษร่วมจัดครั้งนี้ เขาก็ชวนเด็กนักเรียนระดับประถมและมัธยมจากโรงเรียนต่าง ๆ มาร่วมชมงานซึ่งจัดตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเมือง น่ารักดีนะ จริงอยู่ หลายงานเด็ก ๆ เขาดูไม่รู้เรื่อง แต่ถ้ามีคนอธิบายให้เข้าใจงาน หรือลองชวนให้เรียนรู้ในมิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เด็ก ๆ ก็จะสนุก ทำให้พวกเขามองศิลปะในฐานะเครื่องมือกระตุ้นความคิด หรือเป็นเรื่องของความงาม ไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งที่อยู่ไกลตัวเหมือนที่ผ่านมา

พูดถึงงานศิลปะ คุณป้าสะสมงานของศิลปินคนไหนเป็นพิเศษบ้างไหม

ไม่เลยค่ะ ฉันมองมันในเชิงของสื่อสาธารณะที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ ไม่ได้มองเรื่องการครอบครอง นี่ทำแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์มาจะ 30 ปี แทบไม่เคยซื้อของใครเลย เพราะไม่รู้จะเก็บไว้ดูคนเดียวทำไม ส่วนใหญ่มีแต่เฉพาะที่ศิลปินมอบให้

แล้วพวกงานแอนทีกล่ะครับ เห็นว่าป้าชอบ ได้สะสมบ้างไหม

ไม่เช่นกัน ฉันมองแบบเดียวกัน คุณค่าของสิ่งเหล่านี้คือการมีอยู่เพื่อให้คนรุ่นต่อ ๆ มาได้เรียนรู้ ในชีวิตนี้ฉันสะสมอย่างเดียวคือหนังสือ แต่ถ้ามองหนังสือโบราณเป็นแอนทีก ฉันก็สะสมสิ่งนี้ด้วยเหมือนกัน (หัวเราะ)

Writer

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียนและนักแปล แต่บางครั้งก็หันมาทำงานศิลปะ อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น 'รักในลวง'

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ