15 กุมภาพันธ์ 2024
713

สนุก!

เวลาไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านแล้วเห็นภาษาที่มีความเชื่อมโยงกับเรา ผมมักจะรู้สึกสนุกเป็นพิเศษ เส้นพรมแดนคือสิ่งสมมติที่มนุษย์เราเพิ่งขีดบนแผนที่ได้ไม่นาน ถ้าลบเส้นออก เราจะเห็นความเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมและผู้คนซึ่งบางครั้งก็ดูเหมือนจะเป็นคนเชื้อเดียวกัน แค่อยู่กันคนละชาติ

ถ้าว่ากันในประเด็นนี้ การเดินทางในประเทศกัมพูชาทำให้ผมเพลิดเพลินมาก

ยุคหนึ่งอิทธิพลของเขมรแผ่กระจายลงใต้มาถึงจังหวัดเพชรบุรี เราเลยพบอิทธิพลของเขมรในไทยเป็นบริเวณกว้าง ส่วนช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ชาวเขมรก็รับภาษาและวัฒนธรรมไทยไปไม่น้อย สุดท้ายเราก็เลยเห็นร่องรอยของกันและกันมากมาย โดยเฉพาะภาษา

ภาษาไทยมีคำยืมจากภาษาเขมรเยอะมาก คำว่า ‘สนุก’ นั่นก็ใช่ แต่บางคำที่เราพูดเหมือนกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเรายืมภาษากัน เราอาจจะรับมาจากแหล่งเดียวกัน เช่น ‘ห้าง’ จากภาษาจีน และ ‘พยาบาล’ จากภาษาบาลี แล้วก็มีภาษาที่เขมรยืมจากไทยกลับไปเช่นกัน ใครมีข้อมูล โปรดแบ่งปัน

ผมได้รับเชิญจาก OR ให้มาเยือนกัมพูชาเพื่อดูการขยายธุรกิจข้ามประเทศ จะว่าไปมันก็คงไม่ต่างจากการเดินทางค้าขายในยุคโบราณที่สุดท้ายแล้วส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ผมเลยอยากเขียนเรื่องทริปดูงานธุรกิจแบบที่สนุกกับภาษาไปด้วยกัน

คณะของพวกเรานั่ง ‘ยนเห๊าะ’ (เครื่องบิน ภาษาเขมร) มาลงที่สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ-อังกอร์ ซึ่งเปิดได้ไม่ถึงเดือน เนื่องจากสนามบินเก่าค่อนข้างอยู่ใกล้อังกอร์วัด (อังกอร์ แปลว่า นคร ส่วน วัด แปลว่า วัด) เครื่องบินขึ้นลงบ่อย ๆ จึงส่งผลกระทบกับโบราณสถานสำคัญของโลก

การเดินทางของพวกเราเริ่มต้นที่จังหวัดเสียมเรียบ (จังหวัด มาจากคำว่า จังวาต ในภาษาเขมร ตำบล ก็ภาษาเขมร ปัจจุบันกัมพูชาเรียกจังหวัดว่า เขต)

ในโปรแกรมเขียนว่า แวะดื่มชากาแฟและของว่าง แต่ผมรู้สึกว่า นี่คือสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่ง

ที่นี่คือคาเฟ่ อเมซอน สาขาสำคัญของกัมพูชา ตั้งอยู่บนทะน็อล (แปลว่า ถนน) เปรียะสีหนุ (เปรียะ แปลว่า พระ) เป็นถนนสายสำคัญที่มุ่งหน้าสู่นครวัด เป็นการปักธงร้านกาแฟใกล้สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของโลก โดยยังไม่มีร้านกาแฟแบรนด์ดังอื่น ๆ มาเปิดแข่ง

ไกด์ชาวเขมรประจำทริปพูดไทยได้ชัดแจ๋วบอกว่าคนเขมรออกเสียงว่า คาเฟ่อะมาโซน เรียกร้านกาแฟว่า ร้านกาเฟ หรือ ห้างกาเฟ เรียกอาหารว่า อาฮา เรียกขนมปังว่า นมปัง ส่วนก๋วยเตี๋ยว ใช้คำเดียวกัน

เขาว่าร้านกาแฟส่วนใหญ่ในกัมพูชาขายกาแฟโบราณ แต่คาเฟ่ อเมซอน เป็นร้านกาแฟทันสมัยใหญ่โตติดแอร์ทุกสาขา มีปลั๊กไฟและไวไฟพร้อมให้นั่งทำงานได้ทั้งวัน ซึ่งไม่มีคาเฟ่แบบนี้ในกัมพูชา แถมรสชาติถูกปากกว่าร้านอื่น คนเขมรเลยชอบคาเฟ่ อเมซอน มาก นั่งกันแน่นทั้งช่วงพักเที่ยง (เวลา 11.00 – 13.00 น.) และช่วงหลังเลิกงาน เพื่อฆ่าเวลารอรถหายติด

จากร้านกาแฟ เราเดินทางต่อไปยังร้านอาหารท้องถิ่นที่มีคนดังระดับโลกมากมายเป็นลูกค้า ร้านนี้ชื่อ ดามจันไร แปลว่า ต้นจามจุรี ส่วน ดามโป แปลว่า ต้นโพธิ์ ดามจรัย แปลว่า ต้นไทร ชื่อต้นไม้อย่าง ตะเคียน ตะแบก มะกรูด ขนุด กระเฉด กระชาย มาจากภาษาเขมร คำว่า เฌอ ที่มาของตัวอักษร ฌ ก็เป็นภาษาเขมร ส่วน ผกา ที่แปลว่า ดอกไม้ ก็ภาษาเขมร ข้าวชื่อดังของจังหวัดสุรินทร์ ปกาอำปึล ก็เป็นภาษาเขมร แปลว่า ดอกมะขาม

พูดถึงข้าว ขอแถมอีก 2 คำ เพราะภาษาเขมรแปลว่า ปลูก ปรัง แปลว่า ฤดูแล้ง การทำนาปรัง จึงหมายถึง ทำนาในฤดูแล้ง

เมื่ออิ่มหนำ พวกเราก็เดินทางกลับโรงแรม คอมมูนิตี้มอลล์ตรงข้ามโรงแรมเต็มไปด้วยร้านอาหารแบรนด์ดังจากประเทศไทยที่เราคุ้นเคยกันดี ทั้ง Bar B Q Plaza, AKA, ตำมั่ว รวมถึงพิซซ่ากับไอศกรีมอีกหลายแบรนด์ และคาเฟ่ อเมซอน

เมื่อแหงนหน้ามองฟ้า ก็เห็นดวงดาวเยอะอยู่ คนเขมรเรียกดาวว่า ผกาย คำนี้เราก็คุ้นเคยกันดีเช่นกัน

เราออกจากเสียมเรียบเดินทางไปปราสาทสมโบร์ไพรกุก แล้วมุ่งต่อไปยังพนมเปญ โดยมีจุดแวะสำคัญ (คำยืมจากภาษาเขมร) คือสถานีน้ำมัน PTT สาขาสกล 2 ซึ่งถือเป็นสาขา Flagship ที่ใหญ่โตและมีทุกอย่างครบครัน

อาคารหนึ่งในปราสาทสมโบร์ไพรกุก 

คนกัมพูชาเรียกปั๊มน้ำมันว่า การาซัง (การา แปลว่า ปั๊ม ซัง แปลว่า น้ำมัน) ในกัมพูชามีปั๊ม PTT 172 สาขา เป็นของ OR 12 แห่ง ที่เหลือเป็นแฟรนไชส์ คุณปาลวัศ ปาลวัฒน์วิไชย รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจ Non-oil PTTCL เล่าว่า ปตท. มาเปิดปั๊มที่กัมพูชาตั้งแต่ปี 2000 แต่ปรับให้เป็นรูปแบบเดียวกับในไทยเมื่อปี 2013 โดยมีหลายแบรนด์จากเมืองไทยตามมาเปิดร้านในปั๊มด้วย

คุณปาลวัศพาพวกเราเดิน (มาจากคำว่า เดีร ในภาษาเขมร) ไปดูคาเฟ่ อเมซอน แบบไดรฟ์ทรูเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกในกัมพูชา ซึ่งทำยอดขายได้สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ

แล้วในปั๊มแห่งนี้ก็ยังมีร้าน 7-ELEVEN, Kamu Kamu, The Pizza Company และ Dairy Queen จากประเทศไทยด้วย

จุดเด่นอย่างหนึ่งของปั๊ม PTT ที่กัมพูชา คือห้องน้ำสะอาด แบบเดียวกับที่เมืองไทย คนที่นี่เรียกห้องน้ำว่า บันต๊บตึ๊ก (บันต๊บ แปลวว่า ห้อง ตึ๊ก แปลว่า น้ำ) ส่วน สะอาด มี 2 ความหมาย คือ สะอาด และ สวย

อยากชมใครว่าสวยก็บอกว่า สะอาด

สวยมาก ก็ สะอาดนัก

ในกัมพูชามีคาเฟ่ อเมซอน ทั้งหมด 231 สาขา

เมื่อ 5 ปีก่อน มีการฉลอง (คำยืมจากภาษาเขมร) ครบ 100 สาขา ด้วยการเชิญ เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ มาจัดอีเวนต์พิเศษ คนกัมพูชาชอบดาราไทยอยู่แล้ว งานนั้นเรียกได้ว่าห้างแตก กระแสตอบรับดีมาก

สาขาที่พิเศษมาก ๆ ในกัมพูชา คือสาขาที่สีหนุวิลล์ ตั้งอยู่ริมชายหาด ติดกับห้องน้ำสาธารณะสำหรับคนเล่นทะเล (คำยืมจากภาษาเขมร) บนพื้นที่ของรัฐ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ตั้งคาเฟ่ อเมซอน ได้เป็นกรณีพิเศษ

ในเมืองพนมเปญต้องยกให้สาขาที่อยู่ติดพระราชวัง ตั้งอยู่ในอาคารอนุรักษ์ที่ห้ามเปลี่ยนแปลงใด ๆ เป็นสาขาขนาดไม่ใหญ่ที่เปิดขายตลอด 24 ชั่วโมง และทำสถิติขายได้มากที่สุดในประเทศ คือวันละ 700 แก้ว ตอนนี้ยอดขายเฉลี่ยทั่วกัมพูชาอยู่ที่วันละ 235 แก้ว

ทีมงานพาเราไปชม Café Amazon for Chance สาขาพนมเปญ ซึ่งมีแนวคิดเหมือนเมืองไทย คือมีการจ้างงานคนพิการ ร้านนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มี 3 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นห้องประชุม ที่เหลือเป็นพื้นที่สำหรับนั่งกินและนั่งทำงานได้ หน้าร้านและด้านในตกแต่งด้วยลายนกแก้วที่อยู่ในโลโก้ มันมีชื่อว่าเจ้า Zon Zon

“ออกุนเจริญ” ผมกล่าวกับพนักงานเมื่อรับแก้วชาดำเย็นมา ออกุน แปลว่า ขอบคุณ เจริญ แปลว่า มาก

เครื่องดื่มในคาเฟ่ อเมซอน ทุกสาขาในกัมพูชาเป็นเมนูเดียวกับในไทย เครื่องดื่มตามฤดูกาลก็เหมือนกัน ผมสงสัยว่าเมนูขายดีที่สุดในร้านคืออะไร ทีมงานเฉลย (คำยืมจากภาษาเขมร) ว่ากาแฟ คือลาเต้เย็น ส่วนเครื่องดื่มที่ไม่ใช่กาแฟ คือชาเขียวเย็น ซึ่งเป็นชาเขียวแบรนด์แรก ๆ ในกัมพูชา พอทำอร่อย คนก็ติดกันเรื่อยมา

สาขานี้เคยทำสถิติขายกาแฟวันเปิดได้ 2,000 แก้ว เพราะมีโปรโมชันซื้อ 1 แถม 1 ทีมงานกระซิบว่าการทำการตลาดผ่านเฟซบุ๊กในกัมพูชาได้ผลดีมาก ๆ เพราะคนที่นี่ติดเฟซบุ๊กยิ่งกว่าคนไทยอีก

ในอนาคตอันใกล้นี้ คาเฟ่ อเมซอน จะมีการปรับตัวใหญ่ ๆ ที่น่าสนใจ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือดุสิตธานีกำลังจะเข้ามาเปิดโรงงานในกัมพูชา เพื่อผลิตขนมและอาหารให้คาเฟ่ อเมซอน นั่นหมายความว่าที่นี่จะกลายเป็นร้านที่ขายอาหารเที่ยงแล้วตบด้วยกาแฟจบในร้าน

เรื่องที่ 2 คือทีมงานกำลังคิดเครื่องดื่มพิเศษสำหรับร้านในกัมพูชาที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นซึ่งให้ความรู้สึกถึงความเป็นกัมพูชา เป็นกาแฟ 1 เมนู และไม่ใช่กาแฟ 1 เมนู ซึ่งอย่างหลังทีมงานกำลังสนใจข้าวโพดเป็นพิเศษ

การเดินทางครั้งนี้ไม่ได้มีแค่สื่อมวลชน แต่ยังมีผู้บริหารระดับสูงของ OR ทั้งฝั่งไทยและกัมพูชามาร่วมด้วย เช่น คุณดิษทัต ปันยารชุน CEO ของ OR คุณสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ และ คุณรชา อุทัยจันทร์ รอง CEO ด้านธุรกิจต่างประเทศ

สายวันหนึ่ง คณะผู้บริหารร่วมกันเล่าถึงทิศทางของ OR ให้พวกเราฟัง พวกเขาแถลงเป็นภาษาไทย แต่คำว่า แถลง เป็นภาษาเขมร

OR เป็น Touch Point หรือหน่วยงานหลักที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้บริโภคทั่วไปของเครือ ปตท. ผ่านสถานีบริการน้ำมันและร้านค้าทั้งหลาย ตอนนี้ส่วนแบ่งทางการตลาดของสถานีบริการน้ำมันอยู่ที่ 43 – 45 เปอร์เซ็นต์ และทางเครือตั้งใจจะรักษาสัดส่วนไว้เพียงเท่านี้ คือยังเป็นอันดับ 1 แต่ไม่มากเกินไปจนทำให้เกิดการผูกขาด แนวทางในการขยายธุรกิจจึงต้องมุ่งหน้าสู่ต่างประเทศ

แนวคิดในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ คือนำความสำเร็จจากประเทศไทยไปขยายต่อ แต่ไม่ได้นำไปพร้อมกันทุกอย่างในทุกประเทศ หลัก ๆ คือสถานี ปตท. โดยมีสาขาวิภาวดี 62 เป็นต้นแบบกับคาเฟ่ อเมซอน ซึ่งเข้าถึงทุกคนได้ง่าย

แนวคิดในการรุกตลาดต่างประเทศ คือไม่จำเป็นต้องเป็นเบอร์ 1 แต่ต้องเป็นพลเมืองที่ดีหรือ Good Citizen ของประเทศนั้น ไม่ทำอะไรนอกลู่นอกทางเพื่อที่จะอยู่ได้แบบยาว ๆ ซึ่งการเข้าไปเป็นเบอร์ 1 เหนือธุรกิจของประเทศเจ้าถิ่น อาจจะไม่ใช่ Good Citizen

ที่ สปป.ลาว OR เข้าไปด้วยสถานีน้ำมันและคาเฟ่ อเมซอน

ที่เวียดนามไปแค่คาเฟ่ อเมซอน เพราะบริษัทต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดสถานีน้ำมัน

ญี่ปุ่น เปิดคาเฟ่ อเมซอน สาขาแรกที่เมืองชิบะเมื่อปลาย พ.ศ. 2566

ส่วนกัมพูชาซึ่งค่อนข้างสนับสนุนการลงทุนของต่างชาติ OR มองว่าที่นี่คือบ้านหลังที่ 2 ของ OR เลยมีทั้งธุรกิจกลุ่ม Mobility อย่างสถานีน้ำมัน ธุรกิจหล่อลื่น และร่วมลงทุนให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานในสนามบินแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ และยังมีธุรกิจพลังงานใหม่ ๆ อย่าง Battery Swapping และสถานีชาร์จไฟฟ้า EV Station PluZ

ธุรกิจไลฟ์สไตล์ก็นำโดยคาเฟ่ อเมซอน และกิจการที่น่าสนใจมาก คือร้านสะดวกซัก ‘อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย’ (Otteri wash & dry)

ธุรกิจที่แจ้งเกิด (มาจากภาษาเขมร เกีต) ได้อย่างสวยงามในกัมพูชา คือ Otteri wash & dry จะเรียกว่าเป็นการนำไลฟ์สไตล์ร้านซักผ้าจากไทยไปช่วยแก้ปัญหาให้ชาวกัมพูชาก็พอจะได้

ภาพ : OR

โดยปกติแล้วในที่พักของชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องซักผ้าส่วนตัว จึงต้องใช้บริการร้านซักผ้า ราคากิโลกรัมละ 2,000 เรียล ตากกันริมถนนซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่น (ภาษาเขมรเรียกว่า ละออง) Otteri เข้ามาช่วยให้การซักผ้าเป็นระบบขึ้น สะอาดขึ้น และจ่ายน้อยลง ค่าซัก 1 หมุนราคา 6,000 เรียล อบครั้งละ 6,000 เรียล แต่ซักได้ครั้งละ 9 กิโลกรัม ถ้าสะสมผ้าได้ปริมาณมาก ๆ Otteri จะประหยัดและสะดวกสบายกว่ามาก นั่งรอรับได้เลย

ตอนนี้ยังมีแค่สาขาเดียว แต่เติบโตก้าวกระโดดแบบออร์แกนิก คือยังไม่มีการทำการตลาดใด ๆ เปิดมาไม่กี่เดือน ตัวเลขทางบัญชีเป็นสีเขียวแล้ว คนเขมรเรียกว่า ปัวใบตอง (ปัว แปลว่า สี ใบตอง แปลว่า เขียว) เมื่อสาขาต้นแบบเปิดตัวอย่างสวยงาม ก็เตรียมแผนจะเพิ่มสาขาและทำการตลาดแบบจริงจัง ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจจากไทยที่เข้าไปอยู่ในชีวิตคนกัมพูชาได้ต่อจากคาเฟ่ อเมซอน

ผู้บริหารแถลงเสร็จแล้ว (เสร็จ เป็นคำยืมจากภาษาเขมร) ฟังแล้วได้เหมือนได้เปิดกบาล (คำยืมจากภาษาเขมร) ได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาในรูปแบบใหม่ ๆ

นอกจากเราจะมีวัฒนธรรมร่วมกันมากมาย พูดบางคำเหมือนกัน ตอนนี้เราก็ยังมีประสบการณ์ในปั๊มน้ำมันคล้าย ๆ กัน กินกาแฟแบบเดียวกัน และซักผ้าร้านเดียวกัน

เริ่ด!

เลิศ เรายืมคำนี้มาจากเขมร

เริ่ด คำนี้เขมรน่ายืมกลับไปจากไทย ออกเสียงแล้วได้อารมณ์กว่าเดิมแน่นอน

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป