30 พฤศจิกายน 2021
5 K

มีธุรกิจไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับคน

แทบไม่ต้องคิด… คำตอบก็เห็นตรงกันว่า ทุกธุรกิจมีทรัพยากรมนุษย์เป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ทำให้องค์กรเติบโตไปข้างหน้าได้ ตราบเท่าที่ยังมีสังคมมนุษย์ดำรงอยู่ ยิ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ระดับโลกอย่างกลุ่ม ปตท. ที่ไม่เพียงการบริหารจัดการพนักงานจำนวนมากจะเป็นเรื่องท้าทายเท่านั้น แต่โจทย์ใหญ่กว่านั่นคือการเปลี่ยนผ่านคนไปสู่ทักษะใหม่ ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่า เพื่อรองรับกับธุรกิจที่กำลังจะเปลี่ยนไป และไม่ได้หยุดแต่เพียงที่ธุรกิจพลังงานเหมือนที่ผ่านมา

สุชาติ ระมาศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารศักยภาพองค์กรและธรรมาภิบาล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แม่ทัพใหญ่ที่ก้าวจากบทบาทผู้บริหารธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกมาสู่การบริหารคน ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดขององค์กร เขายอมรับว่าต้องผ่อนคันเร่งที่ร้อนแรงจากโลกธุรกิจลง เพื่อให้สอดรับกับศิลปะการจัดการทรัพยากรบุคคลที่ต้องเร่งเครื่องขึ้น เพื่อให้พอดีกับก้าวแต่ละก้าวที่ ปตท. จะไป โดยยังรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่เชื่อเรื่องการต่อสู้ แข่งขัน และพร้อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเอาไว้

หน้าที่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคลในโลกยุคใหม่ควรจะเป็นอย่างไร

ภาพจำแบบเดิมที่เคยเจอเลือนหายไปเรื่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยบทบาทของทีมที่พร้อมจะเติบโตไปกับธุรกิจ หรือต้องเป็นคู่คิดทางธุรกิจที่พร้อมก้าวเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ไปด้วยกันกับองค์กร ซึ่งต่างจากอดีตที่ถือว่าเราเป็นหน่วยกองหลัง ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงต้องเข้าใจโจทย์ให้ตรงกัน เพื่อตอบสนองต่อลูกค้าคนสำคัญที่สุด นั่นคือ ‘พนักงานทุกคน’ เพื่อสร้างรากฐานที่ยั่งยืนให้กับองค์กรไปด้วยกัน

The Cloud ชวนผู้อ่านติดตามบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารคนนี้ เพื่อให้เข้าใจวิถีของ ปตท. ดียิ่งขึ้น และรับรู้ว่ายังมีพื้นที่ที่เปิดกว้างเสมอ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนรุ่นใหม่ รุ่นกลาง รุ่นเก๋า หรือรุ่นไหนก็ตามที

เพิ่งมารับตำแหน่งสำคัญนี้ไม่นาน รู้สึกอย่างไรบ้าง

ผมถือว่านี่เป็นงานใหม่ เป็นภารกิจที่สำคัญ เรื่องคนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ผมมองว่าหน้าที่ที่รับผิดชอบอยู่คือการที่กำลังดูแลสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดในองค์กรเลย เราต้องพัฒนาหรือเสาะแสวงหาผู้ที่มีความสามารถมาร่วมงาน ถือว่าท้าทายไปอีกแบบหนึ่ง องค์กรขับเคลื่อนโดยคน ผมอยู่สายธุรกิจมาสามสิบปี พอเปลี่ยนมาดูคน ก็ถือเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่น่าสนใจและท้าทาย

ต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

ต้องปรับตัวในเรื่องการบริหารจัดการ ผมจะเร็วเกินไปไม่ได้ เพราะเรื่องคนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่คนในทีมก็ต้องเดินให้เร็วขึ้นด้วย เพราะว่าธุรกิจไม่รอเรา ต้องเพิ่มความเร็วให้ก้าวไปพร้อมกับผมที่เดินช้าลงหน่อย เหมือนการทำงานแบบไฮบริดนั่นล่ะ หัวใจของการทำงานคือการประสานความร่วมมือระหว่างกันใน ปตท. ทั้งหมด นอกจากนี้ งานทรัพยากรบุคคลยังมีส่วนสนับสนุนเรื่องนวัตกรรม และเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถ โดย ปตท. ต้องเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ อย่างผมเองก็เคยอยู่ในกลุ่มธุรกิจมาก่อน ตอนนี้มาจัดการคน ก็นำความรู้ที่เรามีมาแบ่งปันต่อยอดได้

ทำงานในองค์กรนี้มา 30 ปี คิดว่าคน ปตท. เป็นคนแบบไหน

คน ปตท. ถูกฝึกให้แข่งขันและต่อสู้มาตั้งแต่ในยุคแรกๆ แล้ว ผู้บริหารรุ่นเก่าฝึกให้เราแข่งขัน ต่อสู้ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง อย่างผมเคยขายน้ำมันสู้กับบริษัทต่างชาติ ลูกค้าตอนนั้นก็บอกว่า คุณเป็นใคร จะไปขายแข่งกับบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ ได้ยังไง แต่เราก็ต้องแข่ง เราถูกฝึกให้ดิ้นรนต่อสู้ตลอดเวลา เลยเป็นวัฒนธรรมของคน ปตท. ที่ต้องปรับตัว แข่งขันกับสิ่งต่างๆ และพร้อมปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ได้อยู่ในสายเลือดของพวกเรามานาน

แล้วอีก 30 ปีข้างหน้า คน ปตท. ควรจะเป็นอย่างไร

วันนี้เราก็ยังต้องรักษาวัฒนธรรมที่ต่อสู้ ดิ้นรน พร้อมเปลี่ยนแปลง และเรียนรู้อยู่เสมอ และการต่อสู้ไปข้างหน้าจะเป็นรูปแบบใหม่ที่คน ปตท. ต้องพร้อมรับมือกับการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์การใช้พลังงานในอนาคต และอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจ ดังนั้นในจุดนี้ คน ปตท. ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้ง ต้องมีการ Upskill /  Reskill จากความรู้ ทักษะเดิมที่มีอยู่ ไปสู่ความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ เพื่อต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ ของ ปตท. ในอนาคต ซึ่ง ปตท. ได้มีการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ที่จะเกิดขึ้นไว้แล้ว

สอดคล้องกับในปีที่ผ่านมา ปตท. ได้เปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่เป็น ‘Powering Life with future energy and beyond’ นั่นคือการขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต และเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับวันข้างหน้า

สุชาติ ระมาศ กับงานบริหารทรัพยากรบุคคลของ ปตท. ในยุคไฮบริด

องค์กรที่ยั่งยืนในมุมคุณสุชาติเป็นอย่างไร

สำหรับผม องค์กรที่ยั่งยืนคือองค์กรที่มีความพร้อมในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ตลอดเวลา และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย อย่างเช่นวันนี้เราปรับตัวเพื่ออนาคต เห็นได้ชัดจากการบริหารจัดการ ซึ่ง ปตท. พยายามสมดุลระหว่างธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันคุณค่าหลักของเราคือความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งเป็นสิงที่เราทิ้งไม่ได้เลย เพราะเป็นภารกิจหลักที่จะต้องดำเนินควบคู่ไปพร้อมๆ กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น องค์กรจึงต้องมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจนในการวางรากฐาน เพื่อให้องค์กรเติบโตในระยะยาว ภายใต้ค่านิยม SPIRIT ที่แข็งแกร่ง ที่จะเป็นตัวยึดโยงบุคลากรขององค์กรให้ทำงานสอดประสานกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าสถานการณ์ภายในหรือภายนอกองค์กรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ปตท. จะยังคงมีความแข็งแกร่งจากภายใน ซึ่งเกิดจากความเชื่อมั่นและร่วมมือกันของผู้บริหารและพนักงาน รวมถึงการได้รับแรงสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เพื่อให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนและเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน

ในอนาคต ปตท. อยากจะรับคนแบบไหน

ทุกวันนี้พนักงาน ปตท. มีความหลากหลายอยู่แล้ว โดยเฉพาะการทำธุรกิจในอนาคต ธุรกิจที่องค์กรจะเข้าไปดำเนินการก็จะมีความหลากหลายขึ้น อย่างคำว่า Beyond ในวิสัยทัศน์ ตอกย้ำว่า ปตท. จะไม่ได้ทำแค่เรื่องของพลังงานแบบเดิม แต่จะมุ่งไปยังพลังงานแห่งอนาคต อย่างเช่น ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งก็เข้าไปสู่ธุรกิจค้าปลีกและอาหาร รวมถึงการจับมือในการทำธุรกิจเกี่ยวกับ  Life Science  ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ยา อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

ดังนั้น ปตท. จึงต้องการคนที่หลากหลาย มีความสามารถในการขับเคลื่อนธุรกิจอนาคตที่จะเดินไปข้างหน้า โดยเริ่มจากการพัฒนาทักษะคนที่มีอยู่เดิม และในส่วนของการทำธุรกิจใหม่ จึงมีความจำเป็นใช้คนที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยด้วย และนับจากนี้จะเป็นการผสมผสานกันระหว่างคนเก่าที่มีอยู่และคนใหม่ที่เรารับเข้ามา เพื่อทำงานร่วมกันไปสู่เป้าหมายที่องค์กรได้วางไว้

คนต่างรุ่นก็มองต่างมุม จัดการปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

อย่างที่ทราบว่า ปตท. มีคนทำงานที่หลากหลายวัย และเมื่อคนต่างวัยมาทำงานร่วมกัน เราใช้ความเป็นพี่เป็นน้องแบบคนในครอบครัวเดียวกัน เคารพและยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างของกันและกัน ทุกวันนี้ ปตท. มีพนักงานที่อยู่ใน Gen Y และ Gen Z รวมกันเกินครึ่งหนึ่งขององค์กร ที่ผ่านมาเราเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความคิดเห็น แสดงความสามารถ และเอาประสบการณ์ของคนรุ่นเก่าที่เรามีไปช่วยเสริม ผมเชื่อว่าแนวคิดหรือรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในแง่มุมที่จะช่วยให้ ปตท. สามารถดำเนินภารกิจใหม่ๆ ที่ท้าทายได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

สุชาติ ระมาศ กับงานบริหารทรัพยากรบุคคลของ ปตท. ในยุคไฮบริด

ทุกวันนี้เทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วคนยังสำคัญที่สุดอยู่หรือเปล่า

เทคโนโลยีอาจจะยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนแรงงานคนได้ทั้งระบบ แต่จะแทนแรงงานคนได้ในส่วนที่เป็นงานที่ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ มาจนเกิดเป็นแพตเทิร์นที่แน่นอนแล้ว เพื่อเพิ่มความถูกต้อง แม่นยำ ลดต้นทุน ลดเวลาในการทำงานที่ซ้ำๆ กัน

ปัจจุบัน ปตท. อยู่ในช่วงการมุ่งสู่การแสวงหาธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งก้าวไปไกลกว่าที่จำกัดอยู่เพียงธุรกิจพลังงาน การที่จะอยู่กับเทคโนโลยีให้ได้ พนักงานก็ต้องปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน เพราะแม้เทคโนโลยีหรือคอมพิวเตอร์จะประมวลผลได้รวดเร็วหรือแม่นยำขนาดไหน แต่ก็ยังไม่สามารถทำหน้าที่แทนคนในเรื่องการตัดสินใจ วิเคราะห์ และแปลความหมายได้ทั้งหมด

และการที่จะมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น ล้วนเกิดขึ้นจากความชาญฉลาดของมนุษย์ ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสที่เปิดให้คนของเราได้ใช้ศักยภาพในการวิเคราะห์ลงไปในงานใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ๆ ไม่อยากให้คิดหรือกลัวกันไปว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนแรงงานคน แต่ให้คิดว่า ‘คนต้องรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี’ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ดีขึ้นมากกว่า

ปตท. จูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานได้อย่างไร

คนรุ่นใหม่ไม่ได้ตัดสินใจ หรือให้ความสำคัญกับขนาดหรือความใหญ่ขององค์กร แต่พวกเขาต้องการทำงานที่ท้าทาย สนุก ได้มีโอกาสคิดนอกกรอบ สามารถแสดงศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ มีระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น คล่องแคล่ว รวดเร็ว และบรรยากาศการทำงานที่ดี เราก็กำลังออกแบบกันอยู่ จากวิสัยทัศน์ที่เรากำลังมุ่งสู่การแสวงหาธุรกิจใหม่ ๆ  มีการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาสักแห่งให้พวกเขาทำงาน ถ้าผลตอบแทนของบริษัทนี้สูง คุณก็ได้ค่าตอบแทนสูงขึ้นตามไปด้วย เราอาจทำเป็นกลุ่มเฉพาะ อย่างเช่น สตาร์ทอัพที่เราทำเองหรือคนที่ทำของใหม่ ให้เขาได้ลุยเลย แล้ววัดกันที่ผลงานและผลตอบแทนก็ต้องดีตามกันด้วย อันนี้ถือว่าตอบโจทย์ทั้งคนรุ่นใหม่และธุรกิจใหม่ๆ ที่เราจะไปในอนาคต

ปตท. ยังมี Employee Happiness Journey เป็นแพลตฟอร์มเก็บข้อมูลการทำงานของพนักงานตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานจนถึงวันที่เขาเกษียณ เพื่อดูพัฒนาการของเขาในองค์กรนี้ ช่วยให้ตัวพนักงานได้สำรวจตัวเอง และผู้บังคับบัญชาก็จะเห็นด้วย ครอบคลุมตั้งแต่ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลสำหรับการบริหารงาน และข้อมูลสนับสนุนการทำงาน ที่เฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคล

พอเข้ามามาทำงาน พวกเขาต้องเรียนรู้องค์กรสักระยะหนึ่ง จากนั้นพอขยับมาเป็นหัวหน้างาน ก็ต้องเรียนรู้เรื่องการจัดการคน ข้อมูลของแต่ละคนจะถูกจัดการแบบเฉพาะตัว (Personalization) เพราะแต่ละคนมีข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน ความสามารถต่างกัน เราใช้ข้อมูลช่วยสนับสนุนพนักงานได้ตามความสามารถที่เขามี รวมถึงเติมเต็มสิ่งที่เขาต้องการได้ หรืออย่างบางคนที่มีศักยภาพจะเป็นหัวหน้างานในอนาคต เราจะเห็นว่าเขายังขาดทักษะอะไรบ้าง เราก็ให้เขาไปเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมได้

การทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคลยุคใหม่ควรจะเป็นอย่างไร

ต้องทำงานเชิงรุก วันนี้การทำงานของทีมต้องคล่องตัว รวดเร็ว และตอบโจทย์ธุรกิจ ในอนาคต ปตท. จะไม่ใช่แค่บริษัทพลังงาน เราจะทำทั้งยา อาหาร และธุรกิจอื่นๆ ดังนั้น HR ยุคใหม่ต้องเตรียมพร้อมและปรับเปลี่ยนตนเองอยู่ตลอดเวลา มีการทำงานในเชิงรุก กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง และต้องมีความรู้ความเข้าใจธุรกิจ HR ต้องมองให้ออกว่าองค์กรกำลังจะทำธุรกิจอะไร และมีอะไรที่เป็น Key Success Factors เกี่ยวกับพนักงานที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจนั้นประสบความสำเร็จ HR ต้องเป็นคู่คิดให้ธุรกิจได้ ต้องคิดล่วงหน้า และบอกได้ว่าถ้าองค์กรจะเดินไปทางนั้น ควรบริหารจัดการกับคนในองค์กรอย่างไร ถึงจะทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีบางหน่วยต้องการคนพูดภาษาจีนได้ ข้อมูลพนักงานต้องพร้อมดึงขึ้นมา เพื่อหาคนที่ต้องการได้โดยเร็ว และอาจให้เขาเริ่มงานอาทิตย์หน้าเลย ต้องเป็นแบบนั้น ช่วงโควิดสองปีที่ผ่านมา เราเปิดธุรกิจใหม่มาเยอะ แต่ไม่ขาดคนเลย เพราะเราหาคนไปเติมได้หมด กระจายคนจากสายงานเดิมมาใส่ก่อน และรับสมัครคนนอกเข้ามาเพิ่มเติม

คน ปตท. ในยุค Next Normal ต้องเข้าออฟฟิศหรือไม่

ปตท. ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันจากพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อรองรับการทำงานในรูปแบบ New normal อาทิ ระบบประชุมออนไลน์ การปรับรูปแบบการเรียนรู้ของพนักงานผ่านห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classroom) การอบรม Online / E-Learning  การจัดเก็บข้อมูลใน One Drive (Cloud system) เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลไม่ว่าจะทำงานที่ไหนก็ตาม

รูปแบบการทำงานต้องปรับให้เหมาะสมกับธุรกิจ จำนวนคนเราอาจจะเพิ่มในบางธุรกิจที่กำลังเติบโตไปข้างหน้า แต่ไม่ต้องเพิ่มพื้นที่สำนักงานก็ได้ เราคงไม่ได้กลับไปทำงานเหมือนเดิม เพราะว่าตอนนี้มันเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว สำคัญคือบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด บางอย่างยังต้องใช้คนก็ใช้ บางอย่างใช้ระบบเข้ามาทำแทนได้

จากการสำรวจความเห็นผู้บริหารและพนักงานต่อรูปแบบการทำงานแบบ New Normal ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้น พ.ศ. 2563 พบว่าผู้บริหารและพนักงานมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า การทำงานในรูปแบบนี้ยังคงประสิทธิภาพการทำงานได้ไม่ต่างจากการทำงานในสภาวะปกติ ต้องถือได้ว่า ปตท. ปรับตัวรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

ในฐานะพี่ใหญ่คนหนึ่ง อยากจะบอกอะไรกับน้องๆ ที่เพิ่งเริ่มทำงาน

ผมคิดว่าช่วงแรกของการทำงาน เราต้องทำเต็มความสามารถ ต้องเหนื่อยที่สุด เพราะเป็นการเรียนรู้เพื่อสั่งสมประสบการณ์ ผมจะบอกพนักงานเข้าใหม่ว่า สิบปีแรกของคุณจะต้องทำงานหนักมาก เพื่อเติบโตจากฐานความรู้และความสามารถที่มี คนเก่งถ้ามีประสบการณ์ด้วย จะทำให้เขาตัดสินใจได้อย่างมั่นใจและแม่นยำ เรามีเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มเด็กทุนของ ปตท. ให้เวียนไปเรียนรู้แต่ละธุรกิจ พวกเขาก็ทำงานหนักเลยนะ เราให้เขาลงสนามจริงเลย เพื่อให้เขารู้จักลูกค้า ได้เห็นธุรกิจ เพราะพวกเขาจะเป็นคนที่ดูแลองค์กรต่อไปในอนาคต

ผมว่าเรื่องการทำงานขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคน ตอนนี้ผมมีความสุขกับงาน ทุกครั้งที่ทำสำเร็จก็ยังมีความภูมิใจ ที่นี่เป็นเหมือนบ้าน เวลาผ่านไปไวมาก จริงๆ ปตท. เป็นองค์กรที่ให้โอกาสทุกคน ซึ่งเราเองก็ต้องคว้าโอกาสนั้นมา พยายามทำผลงานที่ดีเพื่อก้าวและเติบโตไปพร้อมกันกับองค์กร

Writer

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวธุรกิจที่ชอบตั้งคำถามใหม่ๆ กับโลกใบเดิม เชื่อว่าตัวเองอายุ 20 ปีเสมอ และมีเพจชื่อ BizKlass

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน