คนเราจะยืนดูหลุมศพใครสักคนแล้วคิดออกมาเป็นหนังเรื่องหนึ่งได้ยังไง

เราทำไม่ได้หรอก แต่ ป้อม-พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ทำได้

สุสานแปร์ ลาแชส (Père Lachaise Cemetery) คือที่นั่น เจ้าของหลุมศพนั้นคือนักร้องดัง Jim Morrison ส่วนคำถามสำคัญที่ป้อมตั้ง คือทำไมเขาต้องมายืนเคารพหลุมศพจิม ทั้งที่ไม่ใช่ญาติมิตรอะไรกัน

คำถามหน้าหลุมศพนั้นทำให้เขาสนใจเรื่องเศษซากของวัฒนธรรมอเมริกันที่หลงเหลืออยู่ในชาติ จากผลพวงของสงครามเวียดนามและทหาร G.I. จนเกิดเป็น Morrison หนังลำดับ 2 ของชีวิตที่ว่าด้วย จิมมี่ (รับบทโดย ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์) อดีตนักร้องลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ผู้เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อปรับปรุงโรงแรมเก่าของที่บ้าน กำลังโลดแล่นอยู่ในเทศกาล Busan International Film Festival 2023 ประเทศเกาหลีใต้ โดยปราศจากเงินทุนไทยสักบาทเดียว

แม้ชื่อของพุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง จะถูกพูดถึงจากความสำเร็จของ กระเบนราหู Manta Ray หนังเรื่องแรกที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย Orizzonti ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 75 แต่เขาก็คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์มานานกว่า 20 ปีจากการเป็นผู้กำกับภาพ นั่นทำให้งานของเขาเต็มไปด้วยแสงสีเสียงสุดสวิงสวาย และสัญญะมากมายที่ผู้คนพากันถอดรหัสจนหัวหมุน

พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง บอกว่าเขาไม่ได้ทำหนังอย่างปัญญาชน เขาเพียงทำในสิ่งที่อยากเห็น เชื่อว่าสัญญะในหนังไม่มีอยู่จริง และความประดักประเดิดที่เกิดขึ้นบนหน้าหนังของเขาคงทำให้ภาพยนตร์ผิดแปลกไปจากที่เป็น

“เราก็ไม่รู้ว่าทำไมคนดูชอบคิดว่าผู้กำกับฉลาด เพราะเราไม่ได้ฉลาดแบบนั้นเลย”

เขาว่างั้น

ป้อม-พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง

ไม่ค่อยมีคนรู้ว่า Morrison เป็นหนังเกี่ยวกับอะไร เห็นแค่ตัวอย่างกับเรื่องย่อสั้น ๆ 

เราไม่ได้ยิงข่าวอะไรเลย เพราะการโปรโมตหนังใช้เงินเยอะ เคยโปรโมตระยะยาวกับ กระเบนราหู มาแล้วผิดพลาด เราใช้กระแสของเทศกาลภาพยนตร์ด้วยการฉายต่างประเทศก่อน ช่วงนั้นมีสื่อมาสนใจหนังเราเยอะมาก แล้วก็ทิ้งไปอีกปีหนึ่งถึงจะเข้าที่ไทย กระแสมันหมดไปแล้ว ตอนนี้ Morrison เลยเป็นความลับไปหมด

Morrison จะเข้าฉายตอนไหน

ยังไม่รู้เลยครับ (หัวเราะ) ถ้าหนังเข้า ทำใจได้เลยว่าเจ๊งแน่ ๆ ไม่ได้เงินกลับมาแน่ ๆ แค่รอดูว่าจะเจ๊งเมื่อไร เราเลยพยายามเก็บเงิน รวบรวมทุกอย่าง แล้วค่อยว่ากัน

ที่ว่าเจ๊ง ที่ต่างประเทศก็เจ๊งด้วยเหรอ

ขอยกตัวอย่างจาก กระเบนราหู เรามีเซลส์เป็นคนฝรั่งเศส เขาถือครองลิขสิทธิ์ทั้งโลกยกเว้นที่เมืองไทย ซึ่งถ้าจะหารายได้จากหนังก็ต้องฉายเมืองไทยให้ได้เงิน กระเบนราหู เราได้ทุนจาก CNC (Centre National du Cinéma et de L’image Animée) ไม่ได้เสียเงินโปรโมตเอง เจ๊งก็ช่างมัน เงินทุนเราไม่เกิน 200,000 บาท แต่พอหนังจบ ลาโรง น่าจะได้ยอดประมาณ 500,000 – 600,000 บาท ซึ่งต้องแบ่งกับโรงฉายอีกครึ่งหนึ่ง เราแทบไม่ได้อะไรเลย แล้ว Morrison ก็กำลังจะเป็นแบบนั้นอีกครั้ง

ทำไมถึงคิดว่า Morrison จะลงเอยแบบนั้นอีก ทั้งที่คุณมีฐานจาก กระเบนราหู ที่ดีแล้ว

จากที่ดูมาทั้งหมด เราไม่เคยเห็นหนังเรื่องไหนที่ไม่มีการโปรโมตแล้วประสบความสำเร็จได้ ไม่เคยมีหนังอินดี้ไหนที่ยืนได้ด้วยตัวของมันเองเลย เหมือนที่คุณบอกว่ายังไม่รู้เลยว่า Morrison เกี่ยวกับอะไร ทั้ง ๆ ที่ Morrison มีนักแสดงที่มีชื่อเสียงมากมาย

อะไรคือแรงขับหรือเชื้อไฟที่ทำให้คุณยังทำหนังอยู่ แม้รู้ว่าอาจจะเจ๊ง

เราให้ความสำคัญกับช่วงหาเงินทำหนังมากกว่า เพราะเราไม่มีบริษัทลงทุน เลยพยายามหาเงินทุนจากรัฐบาลที่เขาให้เปล่าเพื่อสนับสนุนคนทำงานศิลปะ Morrison ได้เงินจากรัฐบาลฝรั่งเศสทั้งหมดเลย เราไม่ได้เงินจากคนไทยสักบาท เราไม่ได้ควักต้นทุนเหล่านี้มาเอง แต่เราเสียเวลาทั้งหมดไป ซึ่งเราก็อยากได้เงินค่าเวลาที่เสียไป 4 – 5 ปีในการทำหนังเรื่องหนึ่งกลับมาบ้างเหมือนกัน

ตอนเสนอขอทุนจากฝรั่งเศส คุณขายโปรเจกต์นี้ยังไงให้เขาซื้อ

สิ่งสำคัญมากในการมีโปรเจกต์แล้วจะไปเสนอให้ต่างประเทศได้ คือต้องมีโปรดิวเซอร์ที่แข็งแรง เราได้เงินจากฝรั่งเศสเพราะเรามีโปรดิวเซอร์ฝรั่งเศสที่แข็งแรงมากในอุตสาหกรรม 

แต่สิ่งที่ยากมากสำหรับคนที่จะก้าวเข้าไป คือจะทำยังไงให้โปรดิวเซอร์มาสนใจโปรเจกต์เรา โชคดีมากที่ กระเบนราหู ประสบความสำเร็จ เขาเลยติดต่อมาว่าอยากร่วมงานกับเราในครั้งต่อไป 

เพลงร็อก โสเภณี และแสงสีในหนัง Morrison ของป้อม พุทธิพงษ์ ผกก.ที่เชื่อว่าหนังไร้สัญญะ

โปรเจกต์ Morrison เริ่มต้นได้ยังไง

เริ่มในช่วงเราทำ Post กระเบนราหู ที่ฝรั่งเศส โปรดิวเซอร์บอกว่าข้าง ๆ ที่พักเรามีสุสานแปร์ ลาแชส (Père Lachaise Cemetery) คนมีชื่อเสียงระดับโลกโดนฝังอยู่ในนั้น หลายคนคุ้นชื่อแต่ห่างไกลเราเหลือเกิน แล้วมีชื่อหนึ่งคือ Jim Morrison เราก็อุ้มลูก พาแฟนไป เพื่อไปดูหลุมศพของเขา

มีแวบหนึ่งคิดว่า แล้วทำไมเราต้องมาดู Jim Morrison เราไม่ได้รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว เขาตายในปี 1971 เราเกิดปี 1976 ตายก่อนเราเกิด 5 ปีด้วยซ้ำ คอนเสิร์ตก็ไม่เคยดู ซึ่งพอย้อนกลับไป เราน่าจะเคยดูเขาในทีวีครั้งเดียวในชีวิต แต่กลับผูกพันมาก เราเลยตั้งคำถามว่า ทำไมถึผูกพันกับดนตรีหรือวัฒนธรรมอเมริกัน โปรเจกต์ชื่อ Morrison เลยเริ่มต้นขึ้นมา

เพลงร็อก โสเภณี และแสงสีในหนัง Morrison ของป้อม พุทธิพงษ์ ผกก.ที่เชื่อว่าหนังไร้สัญญะ

เกี่ยวข้องอะไรกับ แหลม มอริสัน บ้างไหม 

(หัวเราะ) เขาเป็นส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลมากนะ ก่อนทำ กระเบนราหู เราอยากทำหนังเกี่ยวกับ พี่แหลม มอริสัน ตอนเขามาเล่นดนตรีแถวดอนเมือง เราก็ตามไปดูแล้วไปขอคุยกับเขา บอกว่าอยากทำหนังเกี่ยวกับพี่ เขาดีใจมาก พอมาเจอ Jim Morrison ที่ปารีสอีก เลยคิดว่าน่าจะรวมโปรเจกต์กันได้ มี 2 Morrison ในชีวิตที่เราคุ้นเคย 

กระบวนการต่อมาคืออะไร

เราเริ่มพัฒนาโดยเข้าไปหาความคิด ถ้าสนใจประเด็นหนึ่ง เราจะเอาตัวเองเข้าไปสำรวจว่ามีความรู้สึกอะไรกับประเด็นนั้น 

อย่าง Morrison เราตั้งคำถามว่าทำไมดนตรีร็อกถึงเข้ามาในเมืองไทย ซึ่งเข้ามาในช่วงสงครามเวียดนามที่ห่างกับเรามาก ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลย แต่ทำไมยังมีบางอย่างที่ถ่ายทอดมาถึงทุกวันนี้ โรงแรมประดิพัทธ์และเส้นสะพานควายก็เป็นส่วนหนึ่งของสงครามเวียดนามเหมือนกัน เป็นแหล่งรวมของทหาร G.I. เป็นที่ที่เราชอบมานั่งแฮงก์เอาต์กับเพื่อน วัฒนธรรมพวกนี้โดนถ่ายเทมาตั้งแต่สมัยนั้น เราโตมากับสิ่งนี้และซึมลึกเข้าไปเรื่อย ๆ 

เราไปอยู่อุดรธานีตอนพัฒนาบท เริ่มเข้าไปหาประวัติศาสตร์ว่า สงครามเวียดนามก่อให้เกิดอะไรขึ้นบ้างในบริบทของสังคมไทย อเมริกันทิ้งอะไรไว้ที่นี่บ้าง แล้วสิ่งเหล่านั้นเกี่ยวกับเรายังไง เลยเกิดเป็นภาพโรงแรมเก่าโดนทิ้งร้าง เมียฝรั่ง ลูกครึ่ง ดนตรีร็อก แสงสีต่าง ๆ ของ Morrison 

เพลงร็อก โสเภณี และแสงสีในหนัง Morrison ของป้อม พุทธิพงษ์ ผกก.ที่เชื่อว่าหนังไร้สัญญะ
เพลงร็อก โสเภณี และแสงสีในหนัง Morrison ของป้อม พุทธิพงษ์ ผกก.ที่เชื่อว่าหนังไร้สัญญะ

คุณทำอะไรที่อุดรธานีบ้าง

ผมพยายามดูประวัติศาสตร์ของอุดรฯ ว่าในช่วงสงครามที่ G.I. เข้ามา มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงบริบทไทยบ้าง ซึ่งเยอะมากจริง ๆ สังคมเกษตรกรรมตรงนั้นอยู่ ๆ ก็มีถนนคอนกรีตอย่างดี รายได้ของคนที่นั่นเพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่า เรานั่งคุยกับคนที่มีครอบครัวอยู่ร่วมในสมัยนั้น อยากสัมผัสว่าเป็นยังไง

ตอนทำ กระเบนราหู คุณตั้งใจสื่อสารเรื่องโรฮิงญาซึ่งเป็นปัญหาระดับนานาชาติ แต่เรื่องนี้ดูกลับมาตั้งคำถามกับบ้านเกิดตัวเอง เพราะอะไร

จริง ๆ เราไม่ได้ตั้งคำถามกับบ้านเกิด เราตั้งคำถามกับตัวเองเลย (หัวเราะ) ทำไมอยู่ในสภาพสังคมแบบนี้แล้วคุ้นชินเหลือเกิน ทำไมต้องไปดูหลุมศพจิม เราไปนับญาติกับเขาตั้งแต่เมื่อไร 

โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นง่ายกว่า กระเบนราหู เยอะ เพราะ กระเบนราหู สำเร็จแล้วมีคนอยากสนับสนุนต่อ เราเลยอยากเล่าประเด็นที่ถ้าทำเองโดยไม่มีคนสนับสนุนคงไม่น่าเป็นไปได้ ถ้าเราเริ่มต้น Morrison เป็นโปรเจกต์แรกของเราคงน้อยมากที่จะมีคนมาซัพพอร์ต เพราะเป็นโปรเจกต์ที่ค่อนข้างส่วนตัวมาก แล้วก็ไม่ใช่ปัญหาร่วมสมัยในปัจจุบัน ซึ่งอาจอ่อนแรงในเรื่องคนดูที่ต้องการกระแสร่วมสมัย

ทำไมตัวละครเอกถึงต้องเป็นนักร้อง ชอบเพลงร็อกเหรอ

เราเรียนวิทยาลัยช่างศิลปตอนวัยรุ่น เรียนชายล้วนมาตลอด เหมือนเราฟังเพลงป๊อปไม่ได้เลย ต้องแข็งกร้าว ต้องเท่ เดี๋ยวเพื่อนแซว เราเลยจำเป็นต้องฟังดนตรีร็อก (หัวเราะ) แฟชั่นในสมัยนั้นก็จะเป็นเพลงป๊อป เพลงแรป แต่กลุ่มเราที่เรียนศิลปะชอบสิ่งที่ย้อนยุคลงไป เหมือนตอนนี้คนฮิตยุค 90 เราก็จะฮิตกับยุค 70 รู้จัก Jim Morrison, Jimi Hendrix ชอบฟังรึเปล่าไม่รู้ แต่ต้องฟัง สังคมมันหล่อหลอม

นอกจากเพลง มีเศษเสี้ยวอะไรของตัวคุณในหนังนี้บ้าง

แสงสีในไนต์คลับ ตอนวัยรุ่นเราใช้ชีวิตไนต์คลับบ่อยมาก 

มีประสบการณ์หนึ่งในชีวิตที่เอามาใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในหนังตลอดเลย คือแต่ก่อนไนต์คลับเปิดได้ถึงเช้า ตอน 3 – 4 ทุ่มทุกอย่างจะโดนประดับประดาด้วยไฟที่หลอกตา ดูโอ่โถง สวยไปหมด เราเคยอยู่ถึงเช้าจนเขาปิดไฟทุกอย่าง เปิดม่านออกให้มีแสงแดดเข้ามา ปรากฏให้เห็นว่าสิ่งที่เรานั่งอยู่มันเก่ามาก ทรุดโทรม โซฟามีริ้วรอย พื้นกำแพงก็มีแต่คราบเต็มไปหมด ซึ่งตอนกลางคืนเราไม่เคยเห็นสิ่งนี้ แสงไฟเปลี่ยนบริบททุกอย่าง เลยคิดว่าองค์ประกอบนี้กับการรับรู้ของมนุษย์อยู่ในภาพยนตร์ได้ว่ะ เราเลือกเฟรม เลือกแสงบางอย่างมาหลอกคนดูได้ เหมือนที่เราเคยโดนประสบการณ์นี้หลอกตา 

ในงานของคุณ วิชวลดูจะเป็นพระเอกของหนังมากกว่าด้วยซ้ำ

อืม อาจเป็นเพราะเราเขียนบทไม่ค่อยเก่ง (หัวเราะ) เขียนไดอะล็อกไม่ค่อยได้ เราเอาสิ่งที่ง่ายสำหรับเราดีกว่า

เพลงร็อก โสเภณี และแสงสีในหนัง Morrison ของป้อม พุทธิพงษ์ ผกก.ที่เชื่อว่าหนังไร้สัญญะ

ถ้าคุณเขียนไม่เก่ง แล้วบทต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ยังไง

เราเรียงทุกอย่างเป็นภาพก่อน พอมีภาพแล้วก็จำเป็นต้องมีตัวละครเกิดขึ้น ตัวละครพวกนี้จะพูดว่าอะไร แต่เราก็เลือกเอาจากประสบการณ์ที่เราพูด เราเจอ 

หนังเราตัดไดอะล็อกออกไปเยอะมากจนเหลือนิดเดียว ซึ่งบางทีตอนเขียนก็คิดว่าน้อยไปเนอะ แต่ถ้าเขียนเยอะก็รู้สึกว่าแล้วทำไมต้องพูดอย่างนี้กับคนดู ทำไมต้องเขียนเยอะ เราพยายามหาไดอะล็อกที่สั้นและตรงกับสิ่งที่อยากทำ

คุณไปดีลฮิวโก้มาได้ยังไง เพราะเขาเคยบอกว่าจะไม่รับงานแสดงอีกแล้ว

เราก็เซอร์ไพรส์เหมือนกัน เขาบอกไม่เล่นเลย ไม่เอา ไม่อยากรับงานแสดง ไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัด เขาไม่อยากเล่นหนังที่มีฉากแอคชัน กระโดดขี่มอเตอร์ไซค์ เขาไม่ทำอะไรผาดโผน ไม่เล่นกีฬา แต่โปรดิวเซอร์เราไม่ยอมแพ้ ส่งบทไปให้เขาอ่าน พอส่งไปแล้ว เล็ก อ่านจนจบ เขาฟีดแบ็กกลับมาว่า โอเค ผมเล่น เพราะในหนังของป้อมแค่เดิน ๆ มอง ๆ ในโรงแรม ไม่ได้มีอะไรยาก (หัวเราะ) 

จริง ๆ เรารู้จักกับเล็กมาก่อนหน้านี้นานมาก เพราะเราเคยเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์หนังเรื่อง 999-9999 ต่อติดตาย ที่เล็กเล่น แต่ตอนนั้นเขาก็เด็ก เราก็เด็ก ซึ่งนั่นเป็นหนังเรื่องแรกของเล็ก พอมาเจอเราก็เล่าให้ฟังว่าเคยทำงานด้วยกัน

จากกระเบนราหูสู่ Morrison หนังลำดับ 2 ของ ป้อม พุทธิพงษ์ ที่เล่าเรื่องเศษซากอเมริกันหลังสงครามเวียดนามและคำถามหน้าหลุมศพ

มองเห็นภาพฮิวโก้เป็นจิมมี่ตั้งแต่เขียนบทเลยไหม

ใช่ เราอยากให้เล็กเล่นเป็นลูกโสเภณี เราไม่กล้าพูดอย่างนั้นหรอก แต่เขารู้อยู่แล้ว ตอนเขาอ่านก็ไม่ได้ติดอะไร

ตัวละครในเรื่องนี้มีทั้งนักร้อง โสเภณี ทหารผ่านศึก ฯลฯ เพราะอะไร 

เวลาย้อนกลับไปมองผลพวงของสงครามเวียดนาม คนโฟกัสกันเรื่องลูกของทหาร G.I. มาก ๆ เพราะเป็นเรื่องจริง มีเด็กกำพร้าที่เป็นลูกของทหาร G.I. มากกว่า 3,000 คน คนกลุ่มนี้สร้างปัญหาบางอย่างในสังคม ซึ่งไม่ใช่เพราะเขาทำ แต่เพราะสังคมไปสร้างปัญหาให้เขา ทำให้เขาอยู่ไม่ได้หรืออยู่ได้โดยไม่สงบสุข ละครเรื่อง ข้าวนอกนา ทำประเด็นนี้ไปแล้ว เราก็หลบเลี่ยงไม่ได้หรอกถ้าจะพูดถึงผลพวงที่สงครามเวียดนามทิ้งไว้ในเมืองไทย แต่ในหนังเราไม่ได้ไปดราม่าเรื่องนั้นมาก

จากกระเบนราหูสู่ Morrison หนังลำดับ 2 ของ ป้อม พุทธิพงษ์ ที่เล่าเรื่องเศษซากอเมริกันหลังสงครามเวียดนามและคำถามหน้าหลุมศพ

ทำไมจุดยึดโยงความแตกต่างหลากหลายของคนถึงเกิดขึ้นที่โรงแรมพาราไดซ์

เราเองก็นึกภาพไม่ออก มีขอบเขตการรับรู้ส่วนตัวอยู่แค่นั้นเหมือนกัน 

ถ้าในความเป็นจริงจะเกิดในแคมป์ G.I. ทหารสร้างโครงสร้างคร่าว ๆ ให้เป็นไนต์คลับ ต้องมีบัตรเข้าไปข้างใน แม้กระทั่งผู้หญิงที่จะเข้ามาขายบริการก็เหมือนกัน แต่ปรากฏว่าที่อุดรฯ มีโรงแรมชื่อพาราไดซ์ โฮเต็ล ซึ่งดังมากในยุคนั้น มีสระน้ำ ทำคล้ายกับโรงแรมฝรั่งเลย เราอยากถ่ายที่นั่น แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นแหล่งรวมขายพระเครื่อง เราเลยสร้างพาราไดซ์ โฮเต็ล ของตัวเอง จึงออกมาเป็นโรงแรมที่ร้างมาก ๆ ในตอนนี้

เท่ากับว่าโรงแรมพาราไดซ์เหมือนเป็นภาพจำลองของแคมป์ทหาร G.I. 

เรียกว่าเป็นภาพแคมป์ในจินตนาการของเราแล้วกัน แต่ภาพที่ชัดเจนก็มี เราแค่ไม่อยากสร้างให้ Morrison เป็นหนังประวัติศาสตร์ เวลามีซับเจกต์หนึ่ง เราต้องถามตัวเองว่ารู้สึกยังไงกับมัน 

ได้ข่าวมาว่า พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง เป็นผู้กำกับที่ไม่กำกับ แต่ปล่อยให้นักแสดงเล่นอย่างอิสระ

ไม่ใช่แค่นักแสดงนะ ใน Morrison เราอยากทดลองหลาย ๆ อย่าง เวลาทำงานโปรดักชัน ผู้กำกับจะเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจทั้งหมด แต่เราได้ประสบการณ์หนึ่งจากการทำสกอร์ กระเบนราหู

เราเลือกกลุ่มนักดนตรีฝรั่งเศสที่ชื่อว่า Snowdrops ตอนเอาดราฟต์แรกของ กระเบนราหู ส่งให้เขา มีแต่เสียงพูดกับเสียงธรรมชาติ เราบอกเขาว่าจะคอมโพสต์ยังไงก็ได้นะ เขาเล่นทำมาเกือบเต็มหนัง เราฟังตอนแรกรู้สึกเหมือนไม่ใช่หนังเราเลย เพราะภาพจำของหนังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคนั้นต้องนิ่งเงียบ เสียงดนตรีแทบไม่มี คงได้อิทธิพลจาก เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) มาเยอะ ปรากฏว่า น้องอิฐ (ปฏิภาณ บุณฑริก) ผู้กำกับหนัง Solids by the Seashore มาบอกเราว่าหนังพี่ป้อมทำเรื่องคนนอก คนแปลกหน้าไม่ใช่เหรอ ทำไมพี่ป้อมไม่เปิดใจรับเสียงแปลก ๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ดีมาก

ใน Morrison เราคิดมากกว่านั้น ถ้าเราเป็นผู้กำกับที่ยอมรับทีมงานทุกคน ไม่ว่าใครจะเสนออะไรมา แล้วหนังเรื่องนี้จะเกิดขึ้นมาได้ไหม เราไม่เคยแก้แม้กระทั่งเสื้อผ้า เสนอเราวันแรกเป็นอันนี้ เราก็เอาอันนี้ โลเคชันก็เชื่อ แคสติงก็เชื่อ เราไม่รู้จัก คิทตี้ ชิชา ด้วยซ้ำ เราคิดแวบหนึ่งในหัวว่าเขาสวยไปไหมสำหรับหนังเรา แต่เราก็เอา เพราะโปรดิวเซอร์บอกว่าอยากให้คิทตี้เล่น ช่างภาพอยากถ่ายแบบไหนก็ถ่าย นักแสดงที่เราไม่รู้เรื่องการกำกับ ทำไมเราไม่ปล่อยให้เขาได้เล่นไป Morrison เลยเป็นหนังที่ผู้กำกับไม่ต้องทำอะไรมาก เริ่มต้นจากหนังส่วนตัว กลายเป็นหนังส่วนรวมไปแล้ว (หัวเราะ) 

จากกระเบนราหูสู่ Morrison หนังลำดับ 2 ของ ป้อม พุทธิพงษ์ ที่เล่าเรื่องเศษซากอเมริกันหลังสงครามเวียดนามและคำถามหน้าหลุมศพ
จากกระเบนราหูสู่ Morrison หนังลำดับ 2 ของ ป้อม พุทธิพงษ์ ที่เล่าเรื่องเศษซากอเมริกันหลังสงครามเวียดนามและคำถามหน้าหลุมศพ

ถามถึงเรื่องเพลงประกอบที่ได้วงรุ่นใหม่อย่าง Solitude Is Bliss มาทำให้ ทำไมต้องเป็นพวกเขา 

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ในทีมคุยกัน เราไม่รู้จักเลยว่าวงนี้เป็นใคร ไอเดียแรกคืออยากเก็บเสียงกีตาร์ของแหลม มอริสัน ไว้ในหนังเท่านั้น ใน กระเบนราหู เราเก็บเสียงของชาวโรฮิงญามาทำสกอร์เหมือนกัน ซึ่งแทบไม่มีใครรู้ว่านี่คือเสียงของชาวโรฮิงญาจริง ๆ 

เราถามทีมว่าวงดนตรีอะไรที่น่าจะเล่นกับพี่แหลมได้ ใจเราอยากได้ไททศมิตร แต่ทุกคนในทีมบอกว่าวงนี้ เราก็เอ๊ะ ๆ เพราะมันไม่ใช่ฮาร์ดร็อกอย่างที่เคยได้ยิน แต่ก็ลองดู เป็นความท้าทายว่าวงอินดี้มาเล่นกับพี่แหลมจะเป็นยังไง ซึ่งเวิร์กมาก 

ถ้าเปรียบเสียงเป็นวิชวล เราว่าภาพมันจะประดักประเดิดแน่ คนในวัยเราฟังก็คงคิดว่านี่ไม่ใช่ฮาร์ดร็อกเลย แต่เราว่าความประดักประเดิดนี่แหละที่น่าสนใจ

นอกจากต้องศึกษาค้นคว้าเรื่องประวัติศาสตร์ ยังต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมอีก

อาจเป็นสิ่งที่ไม่ถนัดเลยคือเราต้องดีลกับนักแสดงที่มีชื่อเสียงอย่าง คิทตี้ ชิชา, เล็ก ฮิวโก้ บางทีเราต้องมีกำแพงบางอย่าง เจาะเข้าไปหาเขาไม่ได้ ซึ่งเราดันไม่เคยโดนฝึกอย่างนั้นมาตั้งแต่ต้น 

ตอนทำ กระเบนราหู เรารู้จัก อุ้ม (วัลลภ รุ่งกำจัด) เราบอกอุ้มได้ว่ากระโดดโคลนให้ดูหน่อย ซึ่งอุ้มก็ไม่เคยบ่น กระโดดให้ แต่เรื่องนี้เราทำไม่ได้ เราอิมโพรไวส์หน้ากองไม่ได้เลย ทุกอย่างเป็นบล็อกตามที่เขียน มันสร้างกรอบให้เราต้องเรียนรู้ว่าจะสร้างงานภายใต้กรอบนี้ได้ยังไง

จากกระเบนราหูสู่ Morrison หนังลำดับ 2 ของ ป้อม พุทธิพงษ์ ที่เล่าเรื่องเศษซากอเมริกันหลังสงครามเวียดนามและคำถามหน้าหลุมศพ
จากกระเบนราหูสู่ Morrison หนังลำดับ 2 ของ ป้อม พุทธิพงษ์ ที่เล่าเรื่องเศษซากอเมริกันหลังสงครามเวียดนามและคำถามหน้าหลุมศพ

คุณเคยบอกว่าทำ กระเบนราหู ด้วยความรู้สึกเกรี้ยวกราด มีอคติในใจ กับ Morrison คุณทำด้วยความรู้สึกแบบไหน 

เรารู้ว่าเราทำ กระเบนราหู จากความรู้สึกไม่เป็นธรรม แต่ไม่อยากมองทุกอย่างเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เราไม่ได้พูดแทนชาวโรฮิงญา เราพูดเหมือนคนกรุงเทพฯ ที่มองเข้าไป 

เราทำหนังมา 2 เรื่อง สิ่งที่ตั้งใจมาตลอดคือจะไม่มีผู้ร้ายในหนัง ไม่มีใครที่ทำร้ายกันเลย แต่ขัดแย้งกันที่ความคิด ใน Morrison ก็เป็นแบบนั้น เรารู้ว่าสงครามเวียดนามเกิดขึ้นจริง มีด้านมืดหลงเหลือไว้ที่เมืองไทย แต่นั่นไม่ใช่ผู้ร้ายหรือเป็นสิ่งที่แย่ขนาดนั้น เราทำหนังเรื่องนี้เพื่อตอบตัวเองอย่างเดียวเลยว่าเรารู้สึกยังไงกับสิ่งนี้

คิดว่าคนดูจะรู้สึกเหมือนคุณไหม

(หัวเราะ) ตอนแรกคิดว่าจะฉายได้เร็ว ๆ นี้ เลยมีทีมมาตัดตัวอย่างภาพยนตร์ให้ มีฮิวโก้เดินเข้าไปในโรงแรมที่เหมือนจะมีผี มีคิทตี้ที่น่าจะเป็นนางเอก ครบสูตรเลย เราเชื่อว่าหนังเราขายได้แน่ถ้าเราหลอกคนดูด้วยตัวอย่างนี้ แต่ก็ชั่งใจเหมือนกันว่าถ้าปล่อยไปแล้วมีคนเข้าไปดู เราคงได้รับเสียงด่ามาก ๆ เพราะไม่เหมือนตัวอย่างเลย (หัวเราะ)

รู้สึกยังไงเวลาเห็นคนรีวิวหรือเห็นการถกเถียงกันเรื่องหนังของคุณ

เราชอบเสิร์ชรีวิวหนังตัวเองมาก ไม่ว่าใครจะด่าอะไรตรงไหน มันเป็นบทเรียนให้เราเต็มไปหมด 

เราเคยไปฉาย กระเบนราหู ที่อียิปต์ แม้จะตั้งใจให้หนังเรื่องนี้ไม่มีผู้ร้ายเลย แต่เราก็ลืมไปว่ามีตัวละครเป็นเจ้าของเรือประมงชาวมุสลิม แล้วตัวละครเอกเราไปยิงเขา ปรากฏว่าพอหนังฉายจบ มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาด่าเราด้วยความเกรี้ยวกราด บอกว่าหนังของคุณทั้งเรื่องไม่มีมุสลิมเลยสักคน มีแค่คนเดียวที่เป็นมุสลิม แล้วทำไมคุณถึงให้มุสลิม 1 คนนั้นเป็นคนเลวในหนัง เราก็ โห เออว่ะ เราไม่ละเอียดอ่อนพอ เราจดจำไว้เลย

ในเรื่อง Morrison ก็มีผู้หญิงเป็นโสเภณี เราคิดทบทวนนานมากว่าจะโดนด่าแบบนั้นอีกไหม แต่เราก็พยายามมองมุมที่ดี มีโสเภณีในหนังเราจริง แต่เขาไม่ได้เป็นคนแย่ 

จากกระเบนราหูสู่ Morrison หนังลำดับ 2 ของ ป้อม พุทธิพงษ์ ที่เล่าเรื่องเศษซากอเมริกันหลังสงครามเวียดนามและคำถามหน้าหลุมศพ
จากกระเบนราหูสู่ Morrison หนังลำดับ 2 ของ ป้อม พุทธิพงษ์ ที่เล่าเรื่องเศษซากอเมริกันหลังสงครามเวียดนามและคำถามหน้าหลุมศพ

ไอเดียที่ว่า ไม่อยากให้มีผู้ร้ายในหนังของตัวเอง เกิดขึ้นได้ยังไง

เพื่อนเราชื่อ ชาติชาย (ชาติชาย ไชยยนต์) เป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ กระเบนราหู เขาพูดกับเราในฉากที่ตัวละครของอุ้มต้องยิงไต้ก๋งเรือว่า การยิงกันเหมือนเป็นกระจกสะท้อนความรุนแรง ภาพเหล่านี้ไปบรรเทาความรุนแรงไม่ได้ กลับจะสร้างความรุนแรงให้เพิ่มขึ้นมาตลอด เขาถามเราว่าไม่มีได้ไหม ซึ่งตอนแรก กระเบนราหู มีสิ่งที่รุนแรงกว่านี้อีกมากที่เราตัดไป แต่เราขอความรุนแรงนี้เก็บไว้อันเดียว เลยทำให้เราพยายามฝึกตัวเองตลอดเวลาเลยว่าการสร้างความรุนแรง การมีผู้ร้ายที่อำมหิต หรืือมีฉากวิตถาร มันเรียกคนดูได้ก็จริง แต่ถ้าไม่มีเรื่องเหล่านี้ในหนังเลยจะได้ไหม 

เราไม่ใส่ความดีหรือความเลวให้ตัวละครเลย เราไม่ทำตามกฎของการเขียนบทว่าตัวละครหนึ่งจะต้องมีจุดมุ่งหมายบางอย่าง เราพยายามเขียนให้เป็นมนุษย์คนหนึ่งจริง ๆ ที่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมาย มนุษย์ไม่รู้หรอกว่าชีวิตจะดำเนินไปยังไง เราอยากให้ตัวละครเราอยู่ในความลังเลเหล่านี้ หนังเราเลยคลุมเครือและก้ำกึ่งเสมอ 

หลายเสียงบอกว่า กระเบนราหู เป็นหนังที่ดูยาก แต่ Morrison มีการหยิบเอาดารามีชื่อเสียงมาแสดงด้วย อยากให้แมสหรือดูง่ายขึ้นกว่าเดิมรึเปล่า

(หัวเราะ) พูดไปเดี๋ยวไม่มีคนดูแน่เลย เราว่าอาจดูยากกว่า กระเบนราหู ด้วยซ้ำ 

บางคนดูแล้วอาจรำคาญ เพราะหนังกำลังจะพาไปถึงจุดหนึ่งแล้วก็ไม่ยอมไปต่อ มันขัดใจคนดูอยู่ตลอดว่าทำไมไม่เล่าให้หมด ให้ครบ ซึ่งเราใช้องค์ประกอบแบบนี้เพื่อสร้างภาษาบางอย่างในภาพยนตร์เหมือนกัน เราอยากสร้างความขัดใจเหล่านี้

คิดว่าหนังจำเป็นที่จะต้องตีความไหม หลายคนพาลไม่ชอบหนังบางเรื่องเพราะดูแล้วไม่เข้าใจ

คนชอบพูดกันว่าหนังมีสัญญะ เราไม่รู้เหมือนกันว่าคนได้รับสิ่งนี้มาจากไหน แต่เราสอนวิชาภาพยนตร์ทดลองที่ ม.รังสิต เราบอกกับนักศึกษาทุกคนเลยว่าหนังไม่มีสัญญะ ทำไมถึงต้องมี ถ้าหนังมีสัญญะ แสดงว่าคุณพูดสิ่งนั้นไม่ได้ คุณต้องสร้างบางอย่างขึ้นมาเพื่อพูดมัน

แล้วคนก็ชอบคิดว่าหนังเรามีแต่สัญญะ เราไม่เคยสร้างสิ่งเหล่านี้เลย เรารู้สึกยังไงก็ทำแบบนั้นออกมา ใน Morrison คือเราเห็น เรารู้สึกถึงสีของไฟกลางคืน สีของดิสโก้เทค เราอยากทำให้ Mirrorball ไม่ได้แค่ฉายอยู่ในห้อง เราอยากฉายกระจายทั้งเมือง ให้แสงพวกนี้ไปกลบสภาพที่แท้จริงของเมืองเหล่านี้ แต่เราไม่มีสัญญะว่า Mirrorball คือตัวแทนของสงครามเวียดนาม ไม่เคยคิดเลย

จากกระเบนราหูสู่ Morrison หนังลำดับ 2 ของ ป้อม พุทธิพงษ์ ที่เล่าเรื่องเศษซากอเมริกันหลังสงครามเวียดนามและคำถามหน้าหลุมศพ

ซึ่งแสงสีเสียงในหนังของคุณมักเป็นที่ถกเถียงกันมากว่าหมายถึงอะไร แต่ในมุมคุณคือไม่มีอะไรเลยเหรอ

ใช่ (หัวเราะ) เวลาคนถามเราก็บอกว่าไม่มีจริง ๆ แล้วนักวิจารณ์บางคนก็ตอบได้ดีกว่าเราอีก เขียนดีมาก บางครั้งเราจำสิ่งนี้ไปตอบเวลามีคนมาถามเราด้วยนะ เพราะเขาตอบได้เก่งกว่าเรา (หัวเราะ) 

องค์ประกอบบางอย่างใน Morrison เราก็ทำกับป่าใน กระเบนราหู เหมือนกัน เราเคยไปเส้นชายแดน เราคิดว่าเส้นชายแดนก็เป็นแค่ป่ากับป่า ไม่มีอะไรบอกเลยว่าเป็นเส้นชายแดน แต่เราเป็นคนกรุงเทพฯ เป็นคนนอก ที่พอเดินไปถึงตรงนั้นแล้วจะรู้สึกท้าทาย มีเส้นที่มองไม่เห็นที่ก้าวข้ามไปแล้วจะเป็นอีกประเทศหนึ่งทันที เราเลยจินตนาการคล้าย ๆ กับเรื่องไนต์คลับที่ห้องโทรม ๆ ถูกปรุงแต่งด้วยสีบางอย่างแล้วบริบทของห้องนั้นเปลี่ยนไป แล้วถ้าเกิดเราเอาแสงหรือเอาอะไรไม่รู้ที่ไม่ควรจะอยู่ตรงนั้นไปประดับในป่า คนดูจะรู้สึกว่าไอ้ป่านี้มันไม่ใช่ป่าปกติรึเปล่า ถ้ามันไม่ใช่ป่าแบบที่ทุกคนรู้จัก

รู้สึกยังไงที่คนไทยดูไม่รู้จักหนังคุณเท่าชาวต่างชาติ

เราก็อยากให้ดูนะ แต่เขาไม่ดู (หัวเราะ) มีฟีดแบ็กไม่ดีที่บอกว่าเราทำหนังอาร์ตดูยาก ต้องปีนบันไดดู ทำหนังแบบปัญญาชนทำ เราก็คิดว่าเราไม่ได้ทำหนังแบบนั้น เราไม่ใช่ปัญญาชนด้วยซ้ำ เราไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนเลย เพียงแต่รูปแบบของหนังเราไม่ใช่อย่างที่ทุกคนรับรู้

เราไม่ได้คิดว่าจะทำให้ใครดูหรอก เราคิดว่าถ้ามีหนัง เดี๋ยวก็มีคนดูเอง โชคดีที่เราทำหนังที่เราคิด ไม่มีคนสั่งให้ทำ ถ้ามีคนมาจ้างเราพร้อมกับประเด็น เราคงจะทำไม่ได้

งั้นทางรอดหรือทางออกของคนทำหนังนอกกระแสคืออะไร ในเมื่อคนดูไม่เข้าใจ

ตอบไม่ได้เลย เราเป็นคนตัวเล็ก ๆ คนเดียว เป็นจุลภาคมากในสังคม ไม่มีเราก็มีหนังคนอื่นเต็มไปหมดที่แข็งแรง แต่ถ้ามีเราก็ดีที่ได้มีทางเลือกน้อย ๆ ให้เขา เราเลยไม่คิดว่าจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่โตได้ เราไม่เคยเข้าร่วมการรวมกลุ่มเพื่อต่อสู้บางอย่างในวงการภาพยนตร์ เราถือว่าเราทำหนังของเราไป ก้มหน้าก้มตาทำไปเรื่อย ๆ เราว่านี่น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการไปรวมกลุ่มเป็นก้อนใหญ่เพื่อเรียกร้องให้คนฟัง แต่เราอาจคิดผิดก็ได้

ในมุมผู้กำกับ หนังเรื่องนี้ดูยากหรือดูง่าย

ถ้าถามเรา เราว่าดูง่ายนะ ถ้าดูแล้วไม่ต้องคิดมากว่าเราเป็นคนลุ่มลึกที่ซ่อนเร้นอะไรไว้ ดูภาพ ดูเสียง ฟังเพลง ไม่ต้องคิดว่าเราคิดอะไร

เราก็ไม่รู้ว่าทำไมคนดูชอบคิดว่าผู้กำกับฉลาด ต้องแกะรอยให้ได้ เพราะเราไม่ได้ฉลาดแบบนั้นเลย 

มองย้อนกลับไป ทั้ง จิม มอริสัน และ แหลม มอริสัน อยู่ในหนังเรื่องนี้ตรงไหน

(หัวเราะ) ไม่ได้อยู่เลยครับ

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล