ถ้าอยากได้เฟอร์นิเจอร์ใหม่ก็คงมองหาชิ้นที่ทำจากหวายเพื่อความโก้เก๋

โก๊ะ-ธารวิชชา หมื่นชำนาญ ไม่ได้เอาหวายมาทำเฟอร์นิเจอร์ เขาคือชายคนแรกที่เอาหวายมาสานเป็นพระ 

ชายผู้ยืนอยู่กึ่งกลางระหว่างศิลปะสร้างสรรค์อย่างคนรุ่นใหม่กับวัฒนธรรมโบราณของคนรุ่นยาย ริเริ่มเอาเทคนิคจักสานมาใช้ในงานประติมากรรมตั้งแต่อายุ 20 ปี

ปัจจุบันเขาอายุ 43 เป็นเจ้าของแบรนด์ ‘PhM GogH (ผมโก๊ะ)’ จากเชียงใหม่ที่กำลังจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ที่งาน Mango Art Festival 2024 แบรนด์ของเขาไม่ขายโซฟาหรือเก้าอี้ ไม่มีภาชนะอย่างตะกร้าหรือกระบุง โก๊ะสานหวายเป็นรูปทรงสัตว์ อาร์ตทอย แม้กระทั่งพระประธานขนาด 3 เมตรด้วยมือ ละเอียดลออทุกขั้นตอน 

หวายให้พื้นผิวขรุขระก็จริง แต่งานของโก๊ะสม่ำเสมอ ไร้รอยต่อ จากการขัดกันอย่างเป็นระบบของเส้นหวายที่มีขนาดเล็กสุดเพียง 1 มิลลิเมตร

วันที่เราเจอกันครั้งแรก โก๊ะยังไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง แต่เราไม่อาจปล่อยให้ความสามารถของชายคนนี้หลุดมือไปได้

เราติดต่อเขาในอีก 1 เดือนให้หลังเพื่อพูดคุยถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวของเขา 

สมกับนามสกุล หมื่นชำนาญ ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด

รู้จักสาน

โก๊ะเป็นคนแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา ชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ศิลปินส่วนมากก็มักจะเป็นแบบนี้้ แต่โก๊ะชอบวาดลายไทย เขาชอบหนุมานมาก ถึงขนาดเคยคิดว่าตัวเองเป็นหนุมานในหนังเรื่อง หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ และเขาไม่ใช่คนวาดรูปเก่ง ถนัดก็แต่รับวาดรูปก๊อก ๆ แก๊ก ๆ ให้บรรดาพี่น้องที่ต้องทำการบ้านส่งคุณครู

โก๊ะไปเอาดีด้านกีฬา แต่เล่นบาสฯ ก็โดนชนจนนิ้วซ้น เล่นฟุตบอลก็โดนสกัดขา เขากลับเข้าสู่โลกแห่งศิลปะอีกครั้งและจริงจังมากขึ้น หลังรู้จักกับ Alex Face (พัชรพล แตงรื่น) ศิลปินสตรีตอาร์ตแถวหน้าจากแปดริ้วที่ขณะนั้นเป็นเพียง ตู่ รุ่นพี่ของโก๊ะที่วาดรูปเก่งมาก

โก๊ะมีตู่เป็นไอดอล ซ้อมวาดรูปกับตู่หลังเลิกเรียนเกือบทุกวัน พอตู่อยากไปต่อโรงเรียนอาชีวศึกษาในตัวเมืองฉะเชิงเทรา โก๊ะก็ติดตามไปด้วยแม้ครอบครัวจะไม่สนับสนุน ทางแยกของพวกเขาเกิดขึ้นตอนที่ตู่เอนทรานซ์ติดสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ส่วนโก๊ะติดคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมชอบศิลปะมาจากเขานี่แหละ” โก๊ะเล่าอย่างภาคภูมิใจ แม้ ม.เชียงใหม่ จะไม่ใช่มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ที่เขาเลือก 

“สมัยนั้นใคร ๆ ก็อยากอยู่ศิลปากร” เขาเปิดเผย “แต่ถ้าผมไปอยู่ศิลปากร ผมอาจจะไม่เจอเทคนิคจักสานก็ได้ เพราะที่เชียงใหม่เต็มไปด้วยภูมิปัญญา มีวัฒนธรรม มีธรรมชาติมากมายให้เรียนรู้”

นักศึกษาเอกประติมากรรมเริ่มต้นอย่างทุลักทุเล โก๊ะเล่าว่าเขามีเพื่อนในเอกเพียง 10 คน แต่เมื่อต้องส่งงานประติมากรรมตอนปี 3 ทุกคนได้เกรด A กับ B กันหมด มีเขาเพียงคนเดียวที่ได้ C+

โก๊ะไม่มีทางรอดในเทอมถัดไปนอกจากต้องพัฒนาทักษะ เขาฝังตัวอยู่ในห้องสมุดเพื่อศึกษาประติมากรรมอย่างเอาจริงเอาจัง และค้นหาว่ามีวัสดุหรือเทคนิคใดนำมาประยุกต์ใช้ได้อีก ในเมื่อหันไปทางไหนก็เจอแต่งานที่ทำจากเหล็ก ปูน และไฟเบอร์กลาสแทบทั้งนั้น

กระทั่งเจอหนังสือเกี่ยวกับผ้าไหมของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โก๊ะไม่ได้สนใจแค่ผ้าไหม แต่เขาสนใจลวดลายเป็นพิเศษ จนอยากเอาไม้ไผ่มาลองสานดูบ้าง

“งานจักสานส่วนมากเป็นภาชนะ กระบุง ตะกร้า ยังไม่มีใครเอามาทำงานศิลปะ” โก๊ะคิด

ชิ้นงานของโก๊ะตอนอยู่ปี 3 เทอม 2

เขาทำชิ้นงานส่งในเทอม 2 ด้วยการนำไม้ไผ่มาย้อมสีชมพู ม่วง ฟ้า สานเป็นแผ่นเหมือนพัดด้วยลายหนึ่ง ลายสอง ขึ้นโครงเป็นผู้หญิงไทย อาจารย์ผู้ไม่เคยเห็นใครนำเทคนิคงานหัตถกรรมมาทำงานประติมากรรมมาก่อนจึงมอบ A แก่เขาอย่างสมควรค่า ส่งผลให้โก๊ะหันมาเอาดีด้านเทคนิคนี้จนถึงโปรเจกต์จบ

แต่ปัญหาที่เขาพบคือไม้ไผ่เป็นวัสดุธรรมชาติดีแล้วก็จริง ทว่าการเข้าโค้งยังมีข้อจำกัด ดัดตามรูปทรงได้ไม่แนบเนียน ผิวด้าน ไม่เงางาม แถมคนยังสานไม้ไผ่กันเต็มบ้านเต็มเมือง 

“ยังไม่เคยเห็นคนเอาหวายมาทำงานดีไซน์ เห็นแต่เอาหวายมาทำเฟอร์นิเจอร์” เขาคิดอีกครั้ง

โก๊ะสร้างเรื่องราวให้กับโปรเจกต์จบมากขึ้น โดยการนำภาชนะจักสานมาดัดแปลงเป็นรูปควาย ขนาดเล็กใหญ่ เพื่อสะท้อนวิถีชนบท นอกจากสวยสะดุดตาแล้ว ยังใช้งานได้จริง

โปรเจกต์จบของโก๊ะ

นำไปสู่การได้รับคัดเลือกให้ไปออกบูทในโครงการของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เขาผลิตสินค้างานจักสานผสมดีไซน์ของเขาเต็มกำลังเพื่อทดลองจำหน่ายเป็นครั้งแรก แน่นอนว่างานอาร์ตแปลกใหม่เช่นนี้ย่อมขายหมดเกลี้ยง

“แต่ทำงานทุกอย่างต้องมีทุน” โก๊ะในตอนนั้นยังไม่มีอาชีพด้วยซ้ำ “งานแบบนี้มักมีเงื่อนไขว่าคนจะออกบูทต้องจดแบรนด์ เพราะต่างชาติจะได้รู้ว่าเรามีตัวตนจริง ๆ แต่เราไม่ได้จด”

เขาเล่าด้วยความเสียดาย หลังตัดสินใจหายไปจากวงการราว ๆ 4 ปี

สานต่อ

โก๊ะไม่ใช่เด็กบ้านรวย ไม่มีต้นทุนพอที่จะเอาดีด้านการเป็นศิลปินออกบูทตลอดเวลา แต่โก๊ะก็ไม่ได้หันหลังให้กับงานศิลป์ที่เขารัก กลับกัน โก๊ะใช้เวลา 4 ปีนั้นไปกับการประกอบอาชีพอื่นเพื่อหาเลี้ยงปากท้องและส่งตัวเองเรียนต่อปริญญาโทสาขาทัศนศิลป์ ทั้งยังหมั่นส่งผลงานประกวด หวังจะนำเงินรางวัลมาเป็นทุนในการทำงานศิลปะ

การเรียนปริญญาโทสาขาทัศนศิลป์ทำให้เทคนิคจักสานพัฒนาขึ้นมาก เพราะครอบคลุมทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ยุคนั้นเริ่มมีคำว่า ‘ศิลปะไร้พรมแดน’ วงการเริ่มเปิดกว้าง นำเทคนิคต่าง ๆ มาทำรวมกันเป็นสื่อผสมได้ แทบไม่ได้ยึดติดแล้วว่าคนทำประติมากรรมต้องทำแต่ประติมากรรมเท่านั้น โก๊ะเองก็ได้ทดลองนำการสานหวายมาประยุกต์กับงานประติมากรรมจนพบเทคนิคใหม่

กลับมาเป็นพ่อค้าคราวนี้เขาไม่ได้สานตะกร้าเป็นรูปสัตว์อีกแล้ว แต่สานหวายเป็นรูปสัตว์

“ที่ทำได้โอเคเลยคือช้าง” เขาเล่าย้อนอดีต “จากช้างก็ต่อยอดเป็นพระพุทธรูป เราทำองค์ไม่ใหญ่มาก คนเช่าไปบูชาได้”

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น บัณฑิตวิจิตรศิลป์ยอมรับว่าคนจะปั้นพระงามต้องมีประสบการณ์สูง งานแรก ๆ ที่ทำจึงมีสัดส่วนไม่สมบูรณ์ เป็นสไตล์โฟล์กชาวบ้านเสียมากกว่า กระนั้น คนก็ยังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก คงเพราะไม่เคยมีพระพุทธรูปองค์ไหนสานด้วยหวายมาก่อน กว่าฝีมือจะเริ่มเข้ารูปเข้ารอยก็ตอนสานหลวงพ่อโสธรแล้วคนดูออกนั่นแหละ

หลวงพ่อพระใส สานด้วยเทคนิคจักสานหวาย

เมื่อทักษะของเขาเริ่มดังไกลจนเป็นที่รู้จักในวงการพุทธศาสนา โก๊ะก็ได้รับจ้างวานให้สานชิ้นงานที่ใหญ่สุดในชีวิต นั่นคือหลวงพ่อพระใสเท่าองค์พระประธานจริง หน้าตัก 2.5 เมตร สูง 3.59 เมตร ใช้เวลาทำ 5 เดือนเศษ

เราดูรูปประกอบแล้วได้แต่อึ้งกิมกี่ จนต้องถามให้หายสงสัยว่ากระบวนการทำงานของเขาเป็นยังไง

มา-หา-สาน

งานของเขาทุกชิ้นเริ่มจากการปั้นต้นแบบ 3 มิติด้วยไฟเบอร์กลาส ข้างในกลวง พอได้แบบแล้วก็จะเอาหวายที่แช่น้ำจนอ่อนตัวมาสานทับโครงสร้างอีกที เมื่อเสร็จแล้วจะเคลือบแล็กเกอร์รักษาเนื้อไม้ ด้วยพื้นผิวของหวายจะยิ่งทำให้เงางามเล่นแสงกว่าวัสดุชนิดอื่น ทำให้ถูกตาต้องใจชาวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ลูกค้ากลุ่มรองลงมาคือนักสะสมและคนที่ชอบงานจากธรรมชาติ 

เมื่อ 10 ปีก่อน โก๊ะบอกว่าบ้านเราไม่มีหวายขาย ต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ศูนย์กลางอยู่ที่ถนนสาธุประดิษฐ์ กรุงเทพฯ กว่าจะมาถึงเชียงใหม่ก็ราคาสูงมาก แต่หลังผ่านพ้นโควิดมา ราคายิ่งพุ่งสูงไปถึงกิโลกรัมละ 1,000 กว่าบาท 

ขนาดของหวายมีผลกับงานของเขามาก ถ้างานชิ้นเล็กแต่ใช้หวายเส้นใหญ่ก็จะออกมาไม่สวย หยาบ ไม่เนียนตา แต่ถ้างานชิ้นใหญ่แล้วใช้เส้นเล็กสานจะกลายเป็นงานที่ละเอียดลออ โก๊ะมักใช้ขนาด 3 – 5 มิลลิเมตร หากอยากได้เส้นเล็กกว่านี้ต้องให้ชาวบ้านเหลาพิเศษ เขาเล่าว่าเขาเคยใช้ขนาดเล็กที่สุดคือ 1 มิลลิเมตรหรือเท่าขีดไม้บรรทัดสำหรับสานอาร์ตทอยขนาด 10 เซนติเมตร เล็กขนาดที่นิ้วเข้าไปไม่ได้ ต้องใช้ไม้แหลมมาช่วยสาน

หากใครเคยสานไม้ไผ่ในวิชาการงานอาชีพ ย่อมรู้กันว่าซ้ายขวาจะต้องเท่ากันเพื่อให้ได้ลวดลายที่สวยงาม แต่ความโหดหินของการนำหวายมาสานประติมากรรมคือต้องหาจังหวะของลายสานให้ลงกับรูปทรงได้พอดี ไม่มีสูตรตายตัวว่าต้องทำยังไง ขณะเดียวกันก็ต้องคิดว่าจะสานด้วยลายสอง ลายสาม ลายห้า ลายแปด ฯลฯ แม้ลายจักสานไทยจะมีเยอะมาก แต่ก็ไม่เหมาะกับงานจักสานทุกลาย

“ต้องวางแผน” โก๊ะเปรย “ถ้าสานเป็นแผ่นก็ดูไม่เนียน การสานทั้งตัวโดยไม่มีรอยต่อจึงมหัศจรรย์มาก คนเคยมาดูงานผมแล้วไม่เชื่อที่หารอยต่อไม่เจอ แต่คนเราต้องเคยผิดพลาดมาก่อนอยู่แล้ว ผมก็พัฒนาปรับปรุงจนได้ เพราะรูปทรงบังคับให้เราต้องคิดตลอดเวลา”

พอเคี่ยวกรำทักษะจนเชี่ยวชาญและรู้ว่าเทคนิคช่วยสร้างรายได้ โก๊ะจึงลองเผยแพร่เทคนิคของเขาให้กับชาวบ้านที่ประกอบอาชีพสานตะกร้าเดิม แต่ก็ไม่สำเร็จผลเพราะยากเกินกว่าจะเข้าใจ

ข้อได้เปรียบของเขากับงานจักสานอื่น ๆ อยู่ตรงนี้ คือโก๊ะเป็นนักเรียนศิลปะที่รอบรู้เรื่องอนาโตมีเป็นอย่างดี แค่เราลองจินตนาการถึงการสานแมวที่เริ่มจากใบหูเล็ก ไล่ลงมาเป็นหัวที่ใหญ่ แล้วก็เล็กลงอีกที่บริเวณคอ ก็แทบปาดเหงื่อแล้ว 

นอกจากนี้ โก๊ะยังเปิดประตูเทคนิคจักสานให้กว้างมากขึ้นด้วยการนำมันไปรู้จักกับงานกราฟฟิตี้ ร่วมกับ Alex Face ศิลปินกระต่ายสามตารุ่นพี่ของเขา และ MUEBON ศิลปินสตรีตอาร์ตไทยชื่อก้องโลกอีกคน โดยสานคาแรกเตอร์ประจำตัวก่อนให้ทั้งคู่พ่นสีสเปรย์ลงไป ทั้งยังสานตุ๊กตาหมีของเล่นที่นักสะสมตามหากันให้ควักอย่าง BE@RBRICK อีกด้วย

“คนไทยมีของดีแล้วชอบไม่เห็นคุณค่า ทั้ง ๆ ที่งานหัตถกรรมบ้านเราดีมาก เราต้องสร้างให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างคน 2 รุ่น เพื่อไม่ให้เทคนิคเหล่านี้ตายไปพร้อมกับคนรุ่นเก่า

“บ้านผมไม่ได้ทำงานจักสาน แต่มาได้เทคนิคนี้ที่เชียงใหม่ ถ้าเทียบกับบ้านที่มีภูมิปัญญาแล้วลูกหลานเอามาออกแบบใหม่ ก็คงจะไปต่อได้อีกเยอะเลย”

สานฝัน

เราเจอเขาครั้งแรกปลายปีก่อนที่งาน Mango Art Festival จังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนพฤษภาคมนี้โก๊ะกำลังจะมาออกงาน Mango Art Festival ที่ River City Bangkok 

โก๊ะพูดเสมอว่าเส้นทางสู่การเป็นศิลปินใหญ่ต้องทำงานให้ต่อเนื่องและสร้างสรรค์เทคนิคใหม่ ๆ อยู่ตลอด จริงอยู่ที่เรารู้สึกว้าวเมื่อเห็นงานเขาครั้งแรก ความท้าทายคือโก๊ะจะทำให้เราว้าวได้มากกว่านี้อีกไหม

เขาไม่รอช้า รีบสปอยล์ล่วงหน้าว่าเขาจะกลับมาพร้อมงานจักสานบนภาพจิตรกรรม 2 มิติ และจะเปิดตัวแบรนด์ PhM GogH (ผมโก๊ะ) เป็นที่แรก ซึ่งนอกจากเป็นชื่อแบรนด์แล้ว ยังเป็นคาแรกเตอร์ดีไซน์ที่ออกแบบมาจากตัวเขาเองด้วย

เพราะหนึ่งบทเรียนที่ได้จากการเฝ้าติดตามวงการศิลปะมาอย่างยาวนาน คือศิลปินที่มีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเองมักยืนระยะได้

“เห็นศิลปินรุ่นใหม่เขามีฉายากัน แล้วตอนเด็ก ๆ เราชอบไว้ผมโก๊ะ” โก๊ะเล่าต่อถึงความฝันอันยิ่งใหญ่ของเขาที่มีคาแรกเตอร์ผมโก๊ะเป็นใบเบิกทาง

สมัยก่อนเด็กชนบทไม่มีเงินซื้อของเล่นอย่างใครเขา ทำได้แต่เอาดินเอาทรายมาปั้นเป็นตุ๊กตาเล่น เขาสร้างผลงานร่วมสมัยอีกครั้ง ด้วยการวาดภาพผมโก๊ะเป็นตัวแทนเด็กบ้านนอกยุคปัจจุบันที่กำลังสานหวายให้เป็นของเล่นอย่าง BE@RBRICK หรือซูเปอร์ฮีโร่ต่างชาติอย่างแบทแมน 

“มัวแต่ไปทำงานให้คนอื่น ตอนนี้ถึงเวลาที่เราจะเดินทางสายศิลปินเต็มตัวแล้ว นี่เพิ่งเริ่มต้น” 

บูทของโก๊ะที่เชียงใหม่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนหมดเกลี้ยงทุกชิ้น ใครจะรู้ว่านั่นคือการออกงานในรอบหลายปีของเขา และ 1 อาทิตย์ก่อนจัดงาน โก๊ะเกือบตัดสินใจล้มเลิกเพราะไม่รู้สึกว่าตัวเองดีพร้อม 

กระทั่งพบข้อความเปลี่ยนชีวิตบนโลกออนไลน์ที่เขาจำได้แม่น ใจความว่า

คนเราควรทำอะไรตอนที่ไม่พร้อม เพราะถ้ารอทำตอนพร้อม เราจะไม่ได้ทำ 

“หลายคนชอบบอกว่ารอมีทุนก่อน แต่ไม่มีใครได้ทุนมาเร็วหรอก สู้ทำตอนไม่พร้อมแล้วจะมีคนพาไปหาโอกาสและสิ่งใหม่ ๆ”

โก๊ะบอกว่าถ้าวันนั้นเขาไม่ไป ก็คงไม่มีอะไรดี ๆ เข้ามาในชีวิต Mango Art Festival ที่จะถึงนี้เขาก็ไม่พร้อมเช่นกัน แต่โก๊ะไม่ลังเลอีกแล้ว

สานงานประติมากรรมมามากมาย นี่คือปีแรกที่เขาลงมือสานฝันให้ตัวเอง

“เราเคยได้ยินตั้งแต่สมัยเรียนว่าไม่ใช่ทุกคนจะจบมาได้เป็นศิลปิน ถ้าทำตามใจคนอื่นก็มีกินอยู่แล้ว เลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ แต่ถ้าจะทำความฝันตัวเอง ก็ต้องยืนยันทำตามใจตัวเองให้คนอื่นยอมรับและเป็นศิลปินให้ได้ เราเชื่อเสมอว่าถ้ามีของดีแล้ว วันหนึ่งมันจะประสบความสำเร็จ”

PhM GogH (ผมโก๊ะ)

Facebook : รับทำงานจักสานหวาย งานประติมากรรม งานอาร์ต

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย