ชีวิตประจำวันของ ลินดา เชง เริ่มต้นด้วยการเดินรอบ ๆ River City Bangkok แต่ไม่ใช่การตรวจตรา เธอสวมหมวกลูกค้าที่เข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ และขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสพูดคุยกับพนักงานด่านหน้าที่เจอลูกค้าตลอดวัน เพราะบริหารแบบ Open-door Policy การปรึกษาหรือเสนอแนะกับลินดาโดยตรงจึงเป็นเรื่องปกติของคนทำงานที่นี่

ลินดาเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก เมื่อปี 2016 โจทย์ที่เธอได้รับมอบหมายในวันนั้น คือการเปลี่ยนพื้นที่แห่งนี้ให้เป็น Art and Antique Center จากวันที่รายได้เกือบทั้งหมดมาจากค่าเช่า วันนี้ River City Bangkok มีรายได้เพิ่มเติมจากการจัดนิทรรศการ การขายศิลปะและของที่ระลึก ซึ่งทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมศิลปะเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

River City Bangkok ให้เวลา 5 ปี แต่เธอขอแค่ 3 ถ้าเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ก็ขอเดินจากไปเพื่อให้คนอื่นที่เหมาะสมมาทำต่อ

7 ปีผ่านไป ชีวิตประจำวันของเธอยังเริ่มต้นด้วยการเดินรอบ ๆ ทักทายพนักงานและดูแลความเรียบร้อย แต่พื้นที่แห่งนี้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากวันแรกที่มีห้องว่างในทุกชั้น วันนี้เต็มไปด้วยแกลเลอรีอิสระของศิลปะหลายแขนง มีร้านรวงขายของแอนทีก มีคาเฟ่ ร้านอาหาร ร้านหนังสือ ไปจนถึงห้องนิทรรศการหลายแห่ง ซึ่งมีงานศิลปะจากทั่วโลกหมุนเวียนมาจัดแสดงให้คนไทยได้ชม

เธอพาเราเดินชม 1 รอบใหญ่ ระหว่างทางมีศิลปิน คิวเรเตอร์ พนักงานฝ่ายปฏิบัติการ ไปจนถึงนักการทูต แวะทักทายถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ คนที่เคยทำงานร่วมกันกลายมาเป็นเพื่อน เพราะเชื่อว่าวงการศิลปะจะไปต่อได้ถ้ามันกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและทุกคนในระบบนิเวศเดินไปพร้อมกัน จึงเป็นเหตุผลที่เธอให้พนักงานเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ ไม่เคยโกรธเวลาใครนำโมเดลที่เธอริเริ่มไปทำต่อ และยืนยันว่า River City Bangkok ไม่มีคู่แข่ง มีแต่เพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่จะช่วยให้สิ่งนี้เป็นมากกว่าเครื่องมือปลอบประโลมจิตใจ แต่เป็นรากฐานเศรษฐกิจที่จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า

ลินดา เชง Managing Director ผู้ชุบชีวิต River City และให้พนักงานเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์

เด็กหญิงลินดา เชง เป็นคนแบบไหน

เราเป็นเด็กเรียนเลย ชอบเรียน แต่โชคดีที่พ่อแม่ชอบพาไปดูหนังและซื้อหนังสือให้ตั้งแต่เด็ก ตัวเขาเองก็ชอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย นิตยสาร แม้แต่เรื่องโรแมนติกก็ซื้อให้อ่านนะ นั่นเลยทำให้เราเป็นคนเปิดรับสิ่งต่าง ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ พ่อแม่ไม่เข้มงวด เราเลยชอบเรียนหนังสือ ขณะเดียวกันก็สนุกกับกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตด้วย 

อย่างการเขียนอักษรจีน เราก็ชอบของเราเอง มันเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง อิทธิพลจากครอบครัวทำให้เราเป็นเราในวันนี้ ตอนมาเมืองไทยคิดเลยว่า ทำไมร้านหนังสือน้อยขนาดนี้ เพราะที่ไต้หวัน ในสถานีรถไฟยังมีหนังสือขายเลย เราเลยจะเปิดร้านหนังสือที่ River City Bangkok มีน้อยนักใช่ไหม ได้เลย งั้นเราเปิดเอง (หัวเราะ)

คุณโตที่ไต้หวัน ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา แล้วก็มาทำงานที่นี่

เราโตที่ไต้หวันถึงอายุ 12 พ่อแม่ส่งไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ เมืองแรกที่ไปคือนิวเจอร์ซีย์ แต่มันหนาวเกินไป เลยย้ายไปอยู่ชานเมืองในลอสแอนเจลิส ตรงนั้นเรียนหนังสืออย่างเดียวเลย แต่พ่อแม่กลัวจะลืมภาษาจีน เลยให้เขียนจดหมายกลับบ้านเป็นภาษาจีนทุกอาทิตย์ ส่งแฟกซ์ไป พ่อก็จะแก้ ๆๆ แล้วส่งกลับมา 

ทุกซัมเมอร์ตอนปิดเทอมต้องกลับไต้หวัน ไปทำงานที่โรงงานผลิตไฟคริสต์มาสของที่บ้าน ช่วงหน้าร้อนเป็นช่วงที่ยุ่งมาก เพราะต้องรีบทำให้ทันหน้าหนาว คริสต์มาสบ้านเราเลยจะสวยกว่าบ้านอื่นเสมอ (ยิ้ม)

ชีวิตที่ลอสแอนเจลิสส่งผลต่อตัวคุณยังไง

มันเปิดโลกเรามาก California Sunshine เราขับรถตั้งแต่อายุ 16 เป็นช่วง Carefree Day ของเรา เป็นชีวิตอิสระที่ต้องรับผิดชอบตัวเองทุกอย่าง ทำกับข้าว ทำความสะอาด ตอนแรกยากมากนะ ไม่ได้คิดถึงอะไรเลย ชีวิตยากมาก พูดภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ คิดถึงบ้านสุด ๆ ตั้งใจเรียนให้ดีจะได้เข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ระหว่างนั้นเราต้องช่วยพ่อแปลเอกสารหรือเวลาไปประชุมธุรกิจ นั่นคือเหตุผลที่เขาส่งเราไปเรียนต่อ จะได้พูดภาษาอังกฤษได้ เพราะก่อนหน้านี้เขาต้องใช้คนกลางในการพูดคุย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามีลับลมคมในระหว่างทางหรือเปล่า เขาเลยตั้งมั่นว่า ‘ลูกของผมต้องพูดภาษาอังกฤษได้’ เราต้องช่วยตัวเองได้ และก็ช่วยครอบครัวที่บ้านได้ด้วย

คุณทำงานที่บ้านทุกซัมเมอร์มาตั้งแต่เด็ก แถมมีบทบาทสำคัญในการทำธุรกิจ เรียนจบเมื่อไหร่ยังไงก็ต้องกลับมาทำงานที่บ้าน

ใช่เลย เราไม่เคยคิดว่าจะไปทำงานที่อื่น เรารู้ว่าต้องเรียนสาขาบริหารธุรกิจ เรียนจบก็ต้องกลับไปรับช่วงต่อที่บ้านต่อให้อยากหรือไม่อยากก็ตาม

แล้วคุณฝันอยากเป็นอะไร

เราชอบเขียน ชอบวาดมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นมากกว่างานอดิเรก

ตอนอายุ 7 ขวบ พ่อแม่ซื้อเปียโนให้หลังหนึ่ง ข้าง ๆ เปียโน เขาติดรูป Two Young Girls at the Piano ของ Pierre-Auguste Renoir มันอิมแพกต์กับเรามาก มันสวยมาก ทำไมสวยขนาดนั้น เวลาซ้อมเปียโนเลยมีความสุขมาก ๆ ซึ่งรูปนั้นตอนนี้อยู่ในห้องน้ำชั้น 1 ที่ River City Bangkok เดี๋ยวคุยจบแล้วจะพาลงไปดู

กลับมาตอบคำถามเมื่อสักครู่ มันไม่ใช่ความฝัน แต่เป็นสิ่งที่เรารู้ว่าต้องทำ เราเลยไม่ได้มีความหวังว่าจะเป็นอย่างอื่น ณ ตอนนั้น

ลินดา เชง Managing Director ผู้ชุบชีวิต River City และให้พนักงานเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์
ลินดา เชง Managing Director ผู้ชุบชีวิต River City และให้พนักงานเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์

อะไรพัดพาให้คุณมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ทำงานที่อยู่ท่ามกลางศิลปะและศิลปินมากมาย

เรียนจบเราก็แต่งงาน แต่งงานแล้วก็ไปทำงานกับครอบครัวสามีต่อ แต่การทำงานที่บ้านทำให้เรามีเวลาอยู่กับลูกเยอะ ไปรับ-ส่งลูกเองทุกวัน อ่านหนังสือกับลูกทุกคืน ทุกปิดเทอมก็จะพาลูกไปเปิดหูเปิดตา ไปดูพิพิธภัณฑ์ในประเทศอื่น

ปี 1997 เราเข้าไปเป็นสมาชิกสโมสรโรตารี ซึ่งเราอายุน้อยที่สุด และยังเป็นคนท้องคนแรกที่เป็นสมาชิก พอปี 2007 ก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคม ทุกปีต้องหาเงินก็ทำ Fundraising Concert จนปีหนึ่งเราไปคุยกับบริษัทยานยนต์เจ้าหนึ่งให้มาเป็นสปอนเซอร์ เขาบอกว่า ยูพูดเก่งจริง ๆ โน้มน้าวเก่งจริง ๆ ยูควรจะไปช่วยที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เราไม่ใช่นักดนตรี เราแค่ชอบดนตรี ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีก็บอกว่า เรามีนักดนตรีเยอะมากแล้ว ที่ต้องการคือนักบริหาร 

ตอนนั้นเหมือน Calling เป็นเหมือน Mission ที่ได้รับมอบหมาย เราชอบศิลปะ ชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เลยเป็นเหมือน Calling ให้เรามาทำงานที่มหาวิทยาลัยเพื่อโปรโมตเรื่องการศึกษาดนตรีและ Music Appreciation ไปจนถึงการพัฒนาเยาวชน เราทำงานที่นั่นอยู่ 3 ปีครึ่ง ทำ ๆๆ คนมาดูคอนเสิร์ตก็เยอะขึ้นทุกครั้ง อยู่มาวันหนึ่งมี Head Hunter โทรมาให้ไปพบ คุณท็อป-ยุทธชัย จรณะจิตต์ เจ้าของ River City Bangkok ตอนนั้นยังถามเขากลับไปเลยว่า River City Bangkok คืออะไร (หัวเราะ)

ตอนนั้นปีอะไร

ตอนนั้นน่าจะ 2016 เขานิยามว่าที่นี่เป็น Art and Antique Center แต่เจ้าของอยากเปลี่ยน ก่อนไปสัมภาษณ์งานเราก็แอบแวะมาที่นี่ โอ้โห Very Empty ร้านก็ว่าง คนก็เงียบ ทั้งชั้นไม่มีกำแพง โล่งหมดเลย หนักใจนะ เราจะทำยังไงให้มันกลับมาล่ะ

คิดว่าทำไมเขาถึงเลือกคุณ

ตอนคุยกันเราก็ถามคุณท็อป ถามว่าทำไมถึงเลือกเรา เขาตอบว่าเขาอยากได้คนที่มีมุมมองสากล มีมุมมองทางการตลาด และมาจากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ซึ่งเราตอบโจทย์ทุกข้อของเขา

ลินดา เชง Managing Director ผู้ชุบชีวิต River City และให้พนักงานเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์

ดูเหมือนจะไม่ใช่โจทย์ง่าย ๆ ทำไมลินดาที่ยังสนุกกับการทำงานที่มหาวิทยาลัย ผลตอบรับก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ถึงตัดสินใจรับงานนี้

มันคือ Another Mission เขารีโนเวตตึกเสร็จหมดแล้ว ลงทุนไปเยอะมาก เปรียบเทียบง่าย ๆ คือ Hardware มีหมด แต่ที่ไม่มีคือ Software โจทย์สำคัญคือจะทำยังไงให้มีผู้เช่า ให้มีคนเข้ามา

ชั้น 3 โล่ง ชั้น 2 ไม่มีอะไรเลย ชั้น 1 ก็ขายของปะปนกันไปหมด 

ที่นี่เปิดมา 40 ปีแล้ว ยุครุ่งเรืองนี่ผู้เช่าบอกว่าเที่ยงคืนก็ยังเปิด มีคนเดิน ลูกค้าซื้อของจนคนขายแพ็กไม่ทัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว ทัวร์มาลงเยอะ เรือมาเทียบเยอะ พานักท่องเที่ยวมาซื้อของแอนทีก ซื้อของที่ระลึก แต่ตอนเรามา ไม่มีแล้วนะแบบนั้น (หัวเราะ)

เราเลยบอกเขาว่า แต่มันเงียบมากเลยนะ เขาบอกว่า ไม่เป็นไร You take time. ลองคิดดูว่าอยากเปลี่ยนมันยังไง 

จุดเปลี่ยนของ River City Bangkok คืออะไร

เปิด 1984 ต่อมา 1997 มีวิกฤต มา 2008 ก็วิกฤตอีก การเปิดธุรกิจแล้วฝ่าวิกฤตมา 2 วิกฤตยังไงก็เซ ตอนปี 2010 เรารีโนเวตครั้งใหญ่ ตอนแรกตั้งใจจะทำให้เป็นห้างสรรพสินค้า แต่สุดท้ายไม่ได้ทำ เพราะพอดูคู่แข่งที่ทำห้างเหมือนกัน ดูยังไงเราก็ไม่ใช่ เราคือ Art and Antique Center หลังจากนั้นก็มีรีโนเวตตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย แต่ก็ยังไม่กลับมา ยังไม่มีคนมาเช่า

จากตอนนั้นจนถึงตอนนี้ มี Managing Director มาแล้ว 4 คน บางคนมาจากรีเทล บางคนมาจากไฟแนนซ์

อาจจะไม่เข้ามือ

เราไม่รู้ อาจไม่ใช่ความไม่เข้าใจ ไม่ใช่ความไม่เข้ามือ อาจไม่ใช่เรื่องความถนัดหรือไม่ถนัดด้วยซ้ำ แต่มุมมองของเขาเป็นแบบหนึ่ง ซึ่งเรามาถูกเวลา และมีแบ็กกราวนด์ มีมุมมองที่แตกต่างออกไป 

บริษัทให้เวลาเรา 5 ปีในการเปลี่ยน แต่เราให้เวลาตัวเอง 3 ปี เพราะถ้า 3 ปีไม่มีอะไรเปลี่ยน ให้คนอื่นทำดีกว่าจะได้ไม่เสียเวลาเขา

สิ่งแรกที่ทำในฐานะ Managing Director คืออะไร

เราเข้ามาวันที่ 1 ธันวาคม ปี 2016 ตอนนั้นมีทีมประมาณ 60 คน รวมพนักงานทุกคนทั้งหลังบ้านและหน้าบ้าน สิ่งแรกที่ทำ คือคุยกับทีมว่า We’re in a time to change. บอกให้ทุกคนรับทราบว่าเราเข้ามาเปลี่ยนนะ ทุกคนต้องพร้อม พร้อมที่จะเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน เราจำเป็นต้องมี Right People for the Right Job ไม่อย่างนั้นจะยากในการเดินต่อไปมาก ๆ เพราะเวลาเรามีไม่เยอะ

แต่ไม่ใช่แค่ทีมที่ต้องเปลี่ยนนะ บอร์ดบริหารก็ต้องเปลี่ยน ครั้งแรกที่เสนอเรื่องจัดนิทรรศการ เขาตอบทันทีเลยว่าเราเก็บค่าเช่า เราจะทำ Exhibition ไม่ได้ 

รายได้หลักตอนนั้นคือเก็บค่าเช่า น่าจะกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเข้าใจมาก ๆ แต่คำถามคือ เวลาไม่มีคนเช่าแล้วไม่มีรายได้ เราจะทำยังไง

คุยกับพนักงานเพื่อเป้าหมายที่ตรงกันแล้ว สิ่งที่ 2 ที่เราต้องทำ คือหาพาร์ตเนอร์ ดูเลยว่ามีพื้นที่ว่างตรงไหนบ้าง แล้วติดต่อสถานทูตที่เคยทำงานด้วยตั้งแต่ตอนอยู่มหิดล เริ่มทำ Film Club กับสถานทูต เขาก็เชิญแขกมาเยอะขึ้น ๆ ขณะเดียวกันก็หาวิธีเอานิทรรศการมาแสดง ต้องติดต่อใคร ทำอะไรบ้าง

ขณะเดียวกันอีก ก็ต้องบริหารผู้เช่า หาผู้เช่าเพิ่ม คุยกับผู้เช่าเดิม เปลี่ยน Mindset เขา

ทุกอย่างทำไปพร้อม ๆ กันหมดเลย จนได้ Exhibition แรกจาก National Palace Museum ที่ไทเป เพราะเราเป็นคนไต้หวัน ซึ่งเขาไม่เคยทำงานกับภาคเอกชนมาก่อน แต่เราพาคุณท็อปไปเจอเขา 2 รอบ จนเขาตกลงมาจัด ‘Up the River During Qingming’ เราเลยได้มีนิทรรศการแรกที่เราขายบัตรที่ River City Bangkok

ลินดา เชง Managing Director ผู้ชุบชีวิต River City และให้พนักงานเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์

ตอนนั้นคนเชื่อคุณไหม

ไม่ค่อยนะ (หัวเราะ) มีเจ้านายที่รับเราเข้ามาที่เชื่อ คนอื่นยังสงสัยในตัวเราอยู่ ซึ่งเข้าใจเขา เพราะเราไม่มีประสบการณ์รีเทล ไม่เคยเป็น MD สูงสุดที่เป็นคือรองคณบดี ก่อนหน้านั้นทำธุรกิจครอบครัว ใครก็ทำได้ ทุกคนก็ตั้งคำถาม มี Question Mark 

ไม่เป็นไร เราเข้าใจ Just wait and see. (ยิ้ม)

พอเป็นงานยาก คุณทำมันบนความเชื่อแบบไหนถึงไม่เคยท้อ

เราเชื่อเรื่องการศึกษา Lifelong Learning เราเชื่อว่าไม่มีวันไหนที่เราไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ และไม่มีวันที่เราจะหยุดเรียน ทั้งกับเราในฐานะคนทำงานและผู้ชมที่จะเข้ามาเยี่ยมพื้นที่ของเรา 

จากนิทรรศการแรกมาสู่นิทรรศการที่ 2 ‘From Monet to Kandinsky’ เชื่อไหมว่าภายใน 3 เดือน มีคนมาถึง 60,000 คน ประสบความสำเร็จมาก ตอนนั้นบอร์ดบริหารเซอร์ไพรส์กันหมด ที่ตอนแรกไม่แน่ใจก็เห็นว่ามันได้นะ เขาก็เริ่มไว้ใจ ตอนนั้นเราวางแผนเลย จะมีนิทรรศการอะไรต่อ 

เราบอกทีมเสมอว่า If you fail to plan, you plan to fail. เป็นคำพูดของ เบนจามิน แฟรงคลิน ที่อ่านเจอในหนังสือเล่มหนึ่ง ทุกอย่างเกิดจากการวางแผน ถ้าเราวางแผนล่วงหน้า อย่างน้อยเมื่อมีอะไรผิดพลาด ยังมีเวลาแก้ไขแล้วเปลี่ยนเป็นแผนสอง แผนสาม อีกเรื่องคือรายละเอียด Details can make it or break it. รายละเอียดเล็ก ๆ สร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างได้เลย

จากนั้นก็ค่อย ๆ ทำมาเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันเราก็หาผู้เช่าใหม่ ๆ ผสมผสานให้ลงตัว ตรงกับทาร์เก็ตกรุ๊ปและพื้นที่ที่ต้องการจะนำเสนอ Cultured Lifestyle

แต่อะไรคือสิ่งนั้นล่ะ สำหรับคุณ มันคืออะไร

การใช้ชีวิตปกติที่มีเรื่องวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการกิน การมองเห็น 

สำหรับเรา มันคือ The Art of Living มันอาจเป็นสิ่งที่คุณสังเกตได้ง่าย ๆ จนถึงอะไรที่อาจเล็กมาก แต่งดงาม และที่สำคัญ มันทำให้คุณมีความสุข

ยกตัวอย่างนะ ตอนเราเข้ามาทำงานใหม่ ๆ สิ่งหนึ่งที่เราเปลี่ยนคือเพลง

ลินดา เชง Managing Director ผู้ชุบชีวิต River City และให้พนักงานเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์
ลินดา เชง Managing Director ผู้ชุบชีวิต River City และให้พนักงานเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์

ซึ่งคนที่มาอาจไม่ได้สังเกตด้วยซ้ำ

คุณอาจไม่ได้สังเกต แต่ถ้าคุณเดินเข้ามาแล้วได้ยินเสียงเพราะ ๆ จะเป็นเปียโน ไวโอลิน หรืออะไรก็ได้ อาจเป็นแจ๊ส เป็นป๊อป คุณจะรู้สึกดีขึ้น

ศิลปะควรอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา อย่างตอนจัดงาน From Monet to Kandinsky ก็เปิดเพลย์ลิสต์เพลงคลาสสิกเพราะ ๆ ที่เข้ากับนิทรรศการ แล้วก็แชร์ให้ผู้ชมไปเปิดฟังเพลงที่บ้านได้ นอกจากผู้ชมแล้ว เรายังมีพนักงาน รปภ. ที่เขาต้องตรวจตราตลอดเวลา พองานจบ เขามาบอกเราว่า ตอนนี้ฟังลูกทุ่งไม่ถนัดแล้ว (หัวเราะ)

ทำยังไงให้พนักงานอินเรื่อง The Art of Living

เราเชิญอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาสอนเรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์กับพนักงาน Operation ไม่ว่าจะเป็น รปภ. พนักงานทำความสะอาด พนักงานดูแลความเรียบร้อยต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์ เรามองว่าทุกคนต้องเป็นแอมบาสเดอร์ของ River City Bangkok ได้ อีกอย่างมันคือ Lifelong Learning อย่างที่บอก 

สมมติคุณมาเที่ยวที่นี่ คนแรกที่เจอไม่ใช่คิวเรเตอร์อยู่แล้ว อาจจะเป็น Receptionist หรืออาจจะเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ทุกคนต้องตอบคำถามลูกค้าได้ อธิบายเบื้องต้นได้

ทุกงาน เราจะให้บัตรพนักงานคนละ 4 ใบ เพื่อให้เขาพาครอบครัวมาชม พาลูกมาชม เพราะถ้าสิ่งที่เรากำลังจะทำคือการโปรโมต Cultured Lifestyle ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ก็ต้องเริ่มที่คนของเราก่อน

กรุงเทพฯ ห้างสรรพสินค้าเยอะมาก กลายเป็นว่าวันเสาร์-อาทิตย์ครอบครัวไปเที่ยวห้างสรรพสินค้ากัน ซึ่งไม่เหมือนต่างประเทศที่มีตัวเลือก สิ่งที่เรากำลังทำที่ River City Bangkok คือสร้างพื้นที่ให้ครอบครัว เราไม่ได้มีแค่นิทรรศการที่ต้องเสียเงิน เรามีที่เข้าชมฟรีเยอะมาก ๆ และเราจะมีความสุขที่สุดเวลาเห็นคนมากันทั้งบ้าน มาหลายเจเนอเรชัน ทั้งปู่ย่าตายาย พ่อแม่ และลูกหลาน 

ลินดา เชง Managing Director ผู้ชุบชีวิต River City และให้พนักงานเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์

เราโตมาในยุค 90 ยุค 2000 ที่ไม่ได้มีพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรีเยอะขนาดนี้ ที่มีก็อาจไม่แปลกใหม่ ไม่หวือหวา จนมีโอกาสได้ไปต่างประเทศ ถึงรู้ว่าที่อื่นเขาไปพิพิธภัณฑ์กันในวันหยุด ไปดูศิลปะกันจนเป็นกิจวัตร จากมุมมองคนนอก เราคิดว่าสิ่งที่ River City Bangkok และหลายคนในวงการศิลปะกำลังทำอยู่ คือการนำไลฟ์สไตล์แบบนั้นมาให้คนบ้านเรารู้จัก ทำให้จับต้องได้ เข้าถึงง่าย ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมาก ถ้าเปรียบเทียบกับการทำธุรกิจ อาจเป็นเหมือนการแนะนำสินค้าหรือบริการใหม่ให้กับกลุ่มตลาดเดิม คุณเจอความท้าทายอะไรมาบ้าง

ทุกวันนี้ยังมีคนถามเลยว่า ลินดาทำงานที่โรงแรมเหรอ (หัวเราะ)

งานของ Marketing Communication ยังไม่จบ แต่ตอนนี้คนรู้จักมากขึ้น ผ่านนิทรรศการที่เราจัด ผ่านการสื่อสารของเรา ผ่าน Word of Mouth คนดังหลายคนมาเองแล้วก็ไปบอกต่อ ตอน Tim Cook มาเมืองไทยก็แวะมานะ บอดี้การ์ดยังมาคุยกับเราเลยว่า ไม่เห็นทิมแฮปปี้แบบนี้บ่อย ๆ เขาซื้องานศิลปินไทยหลายชิ้น อย่างของ Gongkan

ถ้าลองสังเกตจะรู้สึกว่าที่นี่เป็นเหมือนโอเอซิส เย็น ๆ มีเพลงเพราะ ๆ จะต่างจากข้างนอก ความท้าทายของเราคือทำให้คนรู้จักที่นี่มากขึ้นได้ยังไง ดึงคนเข้ามาได้ยังไง เพราะขนาดคนที่อยู่แถวนี้ยังไม่ใช่ทุกคนที่ตัดสินใจเดินเข้ามาเลย

ส่วนคนที่อยู่ไกล อยู่ทองหล่อ อยู่ลาดพร้าว จะบอกว่าไกล เราถามกลับเลยว่า แล้วคุณบินไปฮ่องกง บินไปลอนดอน นั่นไม่ไกลเหรอ (หัวเราะ)

ใครคือคู่แข่งทางธุรกิจของ River City Bangkok

คู่แข่งเหรอ (นิ่งคิด) จะบอกว่าเป็นคู่แข่งก็คงไม่ใช่ เรายังเล็กมากเมื่อเทียบกับคนอื่น แต่รู้ว่าเราจะเดินไปทางไหน เรารู้ว่าอยากเป็นอะไร 

เราเริ่มเห็นคนอื่น ๆ หยิบยืมโมเดลของเราไป ชวนศิลปินที่ทำงานกับเราไปร่วมงานด้วย ชวนผู้เช่าเราไปเป็นพาร์ตเนอร์ นั่นแปลว่าเรากำลังมาถูกทางแล้วล่ะ บางคนมองว่ามันคือการก๊อบปี้ แต่เราภูมิใจนะที่ได้เป็น Trendsetter พอมีคนกระโดดเข้ามาทำ ระบบนิเวศของวงการก็โตขึ้น นั่นแปลว่าคนอื่นก็เข้าแบ่งปันได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมาก ๆ เราจะมี Creative Industry ที่พัฒนาไปเป็น Creative Economy และจะไม่ใช่เรื่อง Wealth แต่เป็นเรื่อง Health ด้วย

ลินดา เชง Managing Director ผู้ชุบชีวิต River City และให้พนักงานเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์

หมายความว่ายังไง

ศิลปะทำให้คนมีความสุข มันอาจจับต้องไม่ได้ ไม่เหมือนเม็ดเงิน แต่ก็ทำสิ่งที่เงินทำไม่ได้เหมือนกัน มันเป็นคุณค่า ไม่ใช่มูลค่า เป็นคุณค่าที่ประเมินค่าไม่ได้

เราเคยจัดนิทรรศการชื่อ ‘Home Coming’ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าเรื่องสภาพจิตใจของคนรุ่นใหม่ เราได้เห็นว่าพวกเขามีความรู้สึกหมดไฟ หมดหวัง เราจึงอยากให้ River City Bangkok เป็นพื้นที่ที่เยียวยาจิตใจ เป็น Soul Food เพื่อให้ผู้คนรู้สึกดีขึ้น

ปลายปีเราจะเปิดร้านหนังสือขนาด 550 ตารางเมตร มีแต่คนบอกว่าร้านหนังสืออีกแล้วเหรอ เราบอกเลยว่าประเทศไทยมีร้านหนังสือน้อยเกินไป เราอยากให้ที่แห่งนี้นำเสนอศิลปะทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ภาพยนตร์ ประติมากรรม จิตรกรรม ที่เติมเต็มจิตใจผู้คนได้โดยไม่ต้องเสียเงินมากมาย

River City Bangkok เลยมีนิทรรศการเข้าฟรีมากมาย

สำหรับเรา ไม่ใช่เรื่องการเติบโตที่ผลกำไรอย่างเดียว ไม่รู้ว่าถ้าเจ้านายได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้จะว่ายังไงนะ (หัวเราะ) แน่นอนว่าในทางธุรกิจ เราคาดหวังว่าจะเติบโตทุกปี ซึ่งเราก็ค่อย ๆ โตขึ้น แต่ก็ต้องบาลานซ์ระหว่างเรื่องนั้นกับการทำเพื่อส่วนรวม

ถ้าอย่างนี้ เวลาวัดผลประจำปี คุณวัดจากอะไร

ตัวเลขอยู่แล้ว (หัวเราะ) เพราะสิ่งที่เราทำจะยั่งยืนได้ต้องตอบโจทย์ทางธุรกิจด้วย ถ้าขาดทุนทุกปี ไม่มีการเติบโต วันหนึ่งเราคงทำต่อไม่ไหว

แต่ไม่ใช่แค่นั้น มันยังมีอิมแพกต์ที่เห็นด้วยตาเปล่า เราเห็นคนรุ่นใหม่มาที่นี่มากขึ้น เห็นคนพาลูก พาพ่อแม่ หรือกลุ่มเพื่อนชวนกันมาใช้เวลาคุณภาพ เห็นอาจารย์พานักเรียนมาดูงาน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงอุดมศึกษา

เราเริ่มเห็นภาคเอกชนนำศิลปะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ เช่น ห้างสรรพสินค้าทำงานกับศิลปิน จัดนิทรรศการให้คนชมฟรี หรือตึกสำนักงานใหญ่ ๆ ซื้องานศิลปะมาจัดตั้งในพื้นที่ส่วนกลาง ทำไมภาคเอกชนต้องทำสิ่งนี้

ที่ไต้หวันก็เป็นแบบนี้นะ มันควรเป็นวาระแห่งชาติ ใครทำก็ได้ ยิ่งเยอะยิ่งดี The more, The merrier ตอนนี้รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับ Soft Power มีคนมาปรึกษาเราเหมือนกัน

แต่สำหรับ River City Bangkok มันมีเอกลักษณ์มาก ถ้าย้อนกลับไป 40 กว่าปีก่อน ผู้ก่อตั้งเขาไปเห็น Art and Antique Center ที่ปารีสแล้วคิดว่าที่เมืองไทยก็น่าจะมี วิสัยทัศน์เขากว้างไกลมาก ยุคนั้นห้างสรรพสินค้ายังไม่อลังการเหมือนในปัจจุบันเลย เขาสร้างตึกนี้พร้อมที่จอดรถ 500 คัน ซึ่งตอนนั้นถือว่าเยอะเกินไปมาก แต่พอมาวันนี้ต้องขอบคุณเขา เพราะทุกคนที่จะมาทำอะไรแถวนี้ ไปไอคอนสยาม ไปตลาดน้อย ก็พากันมาจอดรถที่นี่หมด สะดวกสบาย

กลับมาที่คำถามว่าทำไมธุรกิจต้องทำสิ่งนี้ เราโชคดีมากกว่าที่ได้ทำ เพราะสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ส่งผลดีต่อผู้คน ธุรกิจเราไม่ใช่แค่ขายศิลปะ แต่เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งของคนดูและของคนทำ เรามีส่วนขับเคลื่อนวงการศิลปะไทย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาชีพศิลปินในประเทศนี้มั่นคงมากขึ้น เป็นการสร้างระบบนิเวศ พอเรามีกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมมากขึ้น ก็ทำให้ต่างชาติเห็นว่าประเทศก้าวหน้าไปอีกขั้น

River City Bangkok ทำสิ่งนี้คนเดียวไม่ได้ เราต้องการแกลเลอรี ต้องการศิลปิน ต้องการนักสะสม ต้องการคนซื้อ 

ลินดา เชง Managing Director ผู้ชุบชีวิต River City และให้พนักงานเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์
ลินดา เชง Managing Director ผู้ชุบชีวิต River City และให้พนักงานเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์

มันจึงไม่ใช่แค่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต แต่เป็นอีกหนึ่งรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ถ้าวันหนึ่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของศิลปะ ดึงดูดศิลปินเจ๋ง ๆ ให้มาแสดงงาน นักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะเดินทางเข้ามามากขึ้น

เพราะท้ายที่สุดแล้ว ถ้าไม่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ธุรกิจนี้ก็คงไม่ยั่งยืน ปีหน้าเราจะครบรอบ 40 ปี หน้าที่ของเราคือการทำให้แน่ใจว่า River City Bangkok จะอยู่ต่อไปอย่างแข็งแรงใน 40 ปีข้างหน้า 

คนวงการศิลปวัฒนธรรมชื่นชมสิ่งที่ River City Bangkok กำลังทำอยู่ คุณอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบไหนให้เมืองนี้ ยกตัวอย่างได้ไหม

ความพยายามและการลงทุนในการปรับตัวของเราทำให้ธุรกิจยั่งยืนขึ้น ย้อนไปปี 2018 เราเป็นองค์กรแรก ๆ ที่ขายตั๋วเข้าชมงานนิทรรศการระดับโลก ขณะเดียวกันก็โปรโมตศิลปะร่วมสมัยที่ทำโดยศิลปินทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งน่าดีใจมากที่ปีนี้ ปี 2023 เราได้เห็นสเปซมากมายกำลังทำสิ่งเดียวกัน ในแบบที่เขาทำได้ และภูมิใจที่สุดที่ได้เป็นผู้บุกเบิก

เป้าหมายของเราคือการเป็นหนึ่งในผู้เล่นในระบบนิเวศวงการศิลปะที่ให้คุณค่ากับ Cultured Lifestyle งานศิลป์ ของโบราณ ไปจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต เราได้เห็นระบบนิเวศนี้ขยายอย่างรวดเร็ว ส่วนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ก็โตขึ้นมาก

เราดีใจจริง ๆ ที่ได้เห็นศิลปินไทยหลายคนที่นำงานมาแสดงกับเราเป็นที่แรก เติบโตพัฒนาจนมีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ

เคยมีคนสบประมาทสิ่งที่คุณคิดบ้างไหม

ได้ยินทุกปี ได้ยินบ่อยมาก แต่เราจะตอบกลับเสมอว่า Let’s Try ลองดูก่อน ฉันจะทำให้คุณเห็นเอง (ยิ้ม)

มาฟังวันนี้อาจดูเหมือนที่ผ่านมาราบรื่นดี ซึ่งไม่เลย แต่มันก็คือชีวิต ชีวิตที่เต็มไปด้วยขาขึ้นและขาลง สิ่งสำคัญคือต้องมองแง่บวกเข้าไว้ จนคนบอกว่าเราเป็นคนมองโลกในแง่ดี เพราะไม่มีเวลาสำหรับความคิดด้านลบ 

อยากแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ On the Shortness of Life: Life Is Long if You Know How to Use It by Seneca เขาบอกว่าชีวิตมันสั้น แต่จะยาวได้ถ้าคุณรู้วิธีใช้มัน

ยกตัวอย่างเช่น เวลามีคนมาขอยืมเงิน คุณจะอิดออดไม่ให้ง่าย ๆ แต่พอมีคนขอความช่วยเหลือ ให้มาช่วยกัน คุณกลับยอมทันที มันคือการช่วยเหลือเหมือนกัน แต่แบบที่ 2 เวลาของคุณจะไม่คืนกลับมาแล้วนะ เลยทำให้รู้ว่าสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตคือเวลา และที่สำคัญกว่านั้น คือคุณเลือกที่จะใช้เวลาไปกับอะไร

คิดว่า River City Bangkok ได้สร้างอะไรให้ชุมชนรอบ ๆ ตลอด 7 ปีที่คุณนั่งเก้าอี้ Managing Director

เราพยายามส่งเสริมศิลปะทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ ภาพถ่าย การแสดง วรรณกรรม เช่นเดียวกับเวิร์กช็อปและงานเสวนา เราเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่ม ตั้งแต่นักเรียนนักศึกษา คนรุ่นใหม่ ครอบครัวที่มีหลายเจเนอเรชัน ไปจนถึงนักท่องเที่ยว เข้ามาชมงานแสดงต่าง ๆ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนศิลปินและแกลเลอรีแล้ว ยังส่งเสริมร้านค้าร้านอาหารด้วย

ย่านเจริญกรุงและตลาดน้อยจะเติบโตในฐานะเป็น ‘ย่านสร้างสรรค์’ ด้วยการสนับสนุนของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และทีมงานกรุงเทพมหานคร ปีหน้าเราจะมีร้านหนังสือ Art and Design ที่ใหญ่มาก มีห้องอาหารริมน้ำและแกลเลอรีจากต่างชาติอีกหลายแห่ง ซึ่งน่าจะดึงดูดผู้คนจากทั่วกรุงเทพฯ ให้มาเที่ยวย่านนี้

นอกจากภายใน River City Bangkok แล้ว คุณทำงานกับชุมชนรอบ ๆ ด้วยวิธีอื่นอีกไหม

เราทำโครงการ CSR เช่น เก็บขยะในแม่น้ำ รวมถึงเปิดนิทรรศการให้โรงเรียนใกล้ ๆ พาเด็ก ๆ มาชม และเคยเป็นสถานที่จัด Bangkok Design Week และ Awakening Bangkok

นอกจากนี้ เรายังทำงานร่วมกับร้านอาหารในชุมชนหลายที่ จัดโปรโมชันเพื่อให้คนไปอุดหนุนร้านโดยรอบ เช่น ลดทันที 10% เมื่อนำ Wristbands เข้านิทรรศการมาโชว์ เป็นต้น

อิมแพกต์ที่คุณอยากเห็นจาก River City Bangkok แล้ววันนั้นจะไม่จำเป็นต้องมี MD ชื่อลินดาอีกต่อไปแล้ว

การเงินเราต้องอยู่ได้ ที่ผ่านมาเราได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ซึ่งตอนนั้นเราไม่ได้เก็บค่าเช่าเลย เพราะผู้เช่าก็อยู่ไม่ได้ หรือตอนที่เปิดใหม่ ๆ ก็ลดให้อีก เราไปขอบอร์ดบริหารเลยว่าต้องลด ไม่งั้นเขาไปเพราะอยู่ไม่ได้ แล้วเราจะทำยังไง เขาอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้

ถ้าการเงินเรามั่นคง ก็ไปทำสิ่งต่าง ๆ ตามแผนที่วางไว้ได้ ต่อให้เราไม่ได้ทำแล้ว ก็หวังว่าคนที่รับช่วงต่อไปจะช่วยให้ River City Bangkok มั่นคงขึ้น เพราะเราเชื่อว่าที่แห่งนี้จะเป็นผู้นำของไลฟ์สไตล์ที่ประกอบด้วยศิลปะและวัฒนธรรมแน่ ๆ เราจึงภูมิใจมาก ๆ ที่ครั้งหนึ่งได้ทำงานนี้

งานของคุณทั้งท้าทายและมีความหมาย ทุกวันนี้มีเรื่องอะไรที่ทำให้นอนหลับไม่สนิทหรือเปล่า

เอาจริง ๆ นะ โชคดีที่ตัวเองไม่มีปัญหานั้นมานานแล้ว หรือจริง ๆ อาจเหนื่อยสุด ๆ เลยทำให้หลับสนิททุกวัน (หัวเราะ)

ลินดา เชง Managing Director ผู้ชุบชีวิต River City และให้พนักงานเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์
ลินดา เชง Managing Director ผู้ชุบชีวิต River City และให้พนักงานเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์

10 Things you never know

about Linda Cheng

1.  สิ่งแรกที่ทำหลังตื่นนอน

ฟังเพลง ทั้งก่อนนอนและหลังตื่นนอน เช้าเป็นเพลงคลาสสิก กลางคืนอาจเป็นแจ๊สสบาย ๆ จะได้นอนหลับ

2.  ศิลปินที่ชอบที่สุด

Pierre-Auguste Renoir

3. หนังสือที่อยากให้ลูกอ่าน

Imagine If . . .: Creating a Future for Us All Sir Ken & Kate Robinson พูดถึงการปฏิวัติการศึกษา อยากให้ลูกอ่านเพราะมันคืออนาคตของเขา

4.  คุณเคยใช้ชีวิตอยู่ 3 ประเทศ สหรัฐฯ ไต้หวัน และไทย วัฒนธรรมของแต่ละประเทศที่คุณชอบ

อเมริกันจะเปิดกว้าง มี Critical Thinking 

ไต้หวัน เราชอบการเขียนอักษรจีนและวัฒนธรรมการอ่าน 

ส่วนไทย เราเรียนรู้ที่จะใจเย็น เมื่อก่อนใจร้อนมาก มีความอเมริกัน ฉับ ๆๆ พอมาอยู่ที่นี่ใจเย็นขึ้นมาก

5. แกลเลอรีที่ชอบที่สุดในกรุงเทพฯ (ห้ามตอบว่า River City Bangkok)

Bangkok Art & Culture Centre (BACC) เพราะมันกว้าง โปร่ง ได้พักผ่อนหย่อนใจจากความวุ่นวายของเมืองกรุงเทพฯ

6.  นิทรรศการไหนที่ถ้าได้จัดแล้วจะเติมเต็มชีวิต แบบที่ลาออกได้เลย

ชอบ David Hockney นะ แต่ถ้าให้ตอบจริง ๆ ไม่มีหรอกนิทรรศการที่ถ้าทำแล้วจะรู้สึกว่าเลิกทำได้เลย คนที่บริษัทชอบเรียกว่าคนช่างฝัน เราต้องฝันก่อนแล้วค่อยทำให้มันเป็นจริง

7. บรรยายตัวเองในฐานะผู้นำด้วยคำ 3 คำ

มองโลกในแง่ดี มีแพสชัน ขยัน

8. เพลงที่จะร้องทุกครั้งถ้าไปคาราโอเกะ

Here Comes the Sun ของ The Beatles

9. ช่วงเวลาที่ชอบที่สุดของปี

คริสต์มาสอยู่แล้ว

10. Happy Place ของคุณ

ห้องสมุดไม่ก็ร้านหนังสือ แค่ได้กลิ่นก็มีความสุขแล้ว

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ