9 พฤศจิกายน 2022
16 K

“ครืด ครืด ครืด แกร๊ก”

เรากำลังยืนอยู่ในบ้านศิลปินสตรีทอาร์ตคนหนึ่ง และนั่นไม่ใช่เสียงกระป๋องของการพ่นสีสเปรย์ใด ๆ แต่เป็นเสียงเครื่องตัดหญ้าที่ พัชรพล แตงรื่น หรือ Alex Face ต้อนรับเราด้วยความเป็นกันเอง พร้อมบอกว่าขอตัดหญ้าก่อนนะ แป๊บหนึ่ง…

ออกจะเหนือความคาดหมายเสียหน่อยที่ได้เห็นศิลปินผู้โด่งดังกำลังตัดหญ้าอยู่ นึกว่าจะได้เห็นภาพการทำงานศิลปะซะอีก

แต่เมื่อพูดถึงศิลปะ Street Art แล้วล่ะก็ ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าเขาเป็นหนึ่งในคนที่ทำให้สตรีทอาร์ตไทยดังไกลไปทั่วโลก หากพูดถึงวงการนี้ จะไม่นึกถึงเขาก็คงไม่ได้

เส้นทาง 20 ปีของ Alex Face คนทำงานศิลปะที่ไม่มีใครเอา สู่ศิลปินดันวงการสตรีทอาร์ต

Alex Face เป็นเจ้าของคาแรกเตอร์กระต่ายน้อยสามตา ‘มาร์ดี’ สุดฮิตบนกำแพง ถนน หรือตามสถานที่ต่าง ๆ มากมาย ใครได้เห็นผลงานเขา จะต้องร้อง “อ๋อ!” เป็นเสียงเดียวกัน 

เบื้องหลังการทำงานศิลปะตลอดระยะเวลา 20 ปี ของศิลปินสตรีทอาร์ตคนนี้มีความดื้อ ความแสบ ซ่อนอยู่

ดื้อพอที่จะไม่ฟังเสียงทักท้วงใคร มุ่งมั่น พยายามเข้ามาศึกษาศิลปะต่อในกรุงเทพฯ แม้จะเป็นแค่เด็กไร่ทุ่ง ปั้นวัว ปั้นควาย อยู่ตามท้องนา

และแสบพอที่จะออกไปพ่นกำแพงเวลากลางคืน จนถูกจับ ถูกด่า แต่ไม่วายยังคงพ่นต่อ พร้อมหาทางไปพ่นให้ไกลกว่าเดิม จากกำแพงประเทศไทย ลามถึงกำแพงประเทศเพื่อนบ้าน สู่กำแพงอีกนานาประเทศ

ได้ฤกษ์งามยามดีหลังจากที่ Alex Face ตัดหญ้าเสร็จ เราจึงชวนเขามานั่งพูดคุยเรื่องราว 20 ปีที่ผ่านมา เส้นทางระหว่างการเป็นศิลปินสตรีทอาร์ต และมุมอื่นนอกเหนือจากการเป็นศิลปินทำงานศิลปะ เอาไว้บนคอลัมน์ Studio Visit จะแสบสันแค่ไหน ไปดูกัน!

ก่อนเข้าวงการ

ชื่อเล่นอะไรคะ – เราชิงถามก่อนเลย เพราะหลายคนคงรู้จักเขาในนามของ Alex Face ไม่ต่างจากเรา

“เอาชื่อไหนดีล่ะ” เขาถามเรากลับ “ชื่อที่แม่เรียก ชื่อตู่ แต่คนทั่วไปเรียก เล็ก / อเล็กซ์ 

“ตอนแรกเราก็ไม่ชินหรอกเวลาคนถามว่าชื่ออะไร เราก็บอกไป 2 ชื่อเลย ชื่อตู่กับชื่ออเล็กซ์ แต่ทุกคนเรียกอเล็กซ์ มันเลยกลายเป็นอเล็กซ์มาตั้งแต่ตอนนั้น แต่ถ้ากลับแปดริ้วก็ชื่อตู่เหมือนเดิม” เขาพูดและขำตัวเอง

เอาเป็นอเล็กซ์แล้วกัน – เราตอบ บทสนทนาก็ได้เริ่มเกิดขึ้นเรื่อย ๆ

อเล็กซ์เล่าว่าเขาเกิดและเติบโตในเมืองแปดริ้วกับคุณย่าที่ทำเกษตรกรรม คุณพ่อขับรถรับจ้างในตลาด ส่วนคุณแม่ทำโรงงานแถวนั้น

ชีวิตวัยเด็กของเขาจึงคลุกคลีอยู่กับธรรมชาติ สนุกกับการได้วาดรูป ปั้นดิน วิ่งเล่น กระโดดลงคลอง เอาไม้แถวนั้นมาประดิษฐ์เป็นสิ่งต่าง ๆ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ได้ฝึกทักษะศิลปะไปโดยปริยาย เขาจึงเริ่มชอบศิลปะตั้งแต่ยังไม่รู้จักความหมายของคำนี้

“พอมองย้อนกลับไป เหมือนว่าสิ่งที่เราทำตอนเด็ก เอาไม้มาทำโครง แล้วเอาดินมาปั้น มันเป็นสิ่งที่ตอนนี้โรงเรียนศิลปะเขาสอนเด็กปั้นดินกันอยู่ ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ แต่เราเล่นโดยบังเอิญมาตั้งแต่เด็ก มันก็ความบ้านนอกเนอะ อยู่กับดิน อยู่กับธรรมชาติ แต่มันก็ทำให้เราชอบและได้ทักษะติดตัวมา” เขาเล่า

จากความชอบเล่น ๆ เริ่มหันมาจริงจัง สนใจศิลปะมากกว่าเดิม เริ่มต้นด้วยการเข้าชมรมศิลปะตั้งแต่มัธยม ทุ่มเทเวลาพักกลางวันและหลังเลิกเรียนไปกับการฝึกซ้อมวาดรูปเพื่อส่งประกวด 

เมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จึงตัดสินใจเดินทางตามความต้องการของตัวเอง ไปเรียนต่อ ปวช. ด้านวิจิตรศิลป์ ท่ามกลางดงของคนตั้งคำถามว่าจะไปเรียนศิลปะจริง ๆ หรอ

“ตอนนั้นเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อแหละว่าเราจะเรียนศิลปะดีไหม เพราะมีแต่คนไม่เห็นด้วย กลัวไม่มีความมั่นคงทางอาชีพล่ะมั้ง แต่เราก็ไปคุยกับเขา เอาข้อมูลไปให้เขาดูว่าเรียนศิลปะมันก็มีทิศทางของมันนะ มันไปทางไหนได้บ้าง เรียนมหาวิทยาลัยได้ แล้วก็จบมาได้ปริญญาตามที่เขาอยากเห็น แล้วสำคัญตรงไหนว่าเราจะเรียนอะไร เราก็เรียนในสิ่งที่เราชอบสิ”

ยังคงยืนยันคำเดิมว่าจะเรียนศิลปะ หากให้ไปทำอย่างอื่นคงทำได้ไม่ดี สู้ขอเรียนสิ่งที่ชอบดีกว่า จึงได้เรียนวิจิตรศิลป์มาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ ปวช. จนถึงมหาวิทยาลัยสมใจอยาก

เส้นทาง 20 ปีของ Alex Face คนทำงานศิลปะที่ไม่มีใครเอา สู่ศิลปินดันวงการสตรีทอาร์ต

หาเรียน หาทำ

เมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยแบบเต็มตัว อเล็กซ์เป็นนักศึกษาภาพพิมพ์ จากรั้ววิจิตรศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เรียนเทคนิคภาพพิมพ์โลหะและภาพพิมพ์แกะสลักไม้ ด้วยความที่เราจบศิลปะ เป็นเด็กภาพพิมพ์เช่นกัน จึงถามอเล็กซ์ว่ามีผลงานให้ดูไหม

“งานเราหายไปหมดแล้ว โดนปลวกกิน เสียดายมาก ขนาดใส่กล่องปลวกยังกิน” เขาตอบกลับมาด้วยสีหน้าเสียดายจริง ๆ 

“งานเรามันเป็นสไตล์แบบเอาสิ่งที่เราชอบมาใช้ พวกกราฟฟิตี้ ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือสตรีทอาร์ตที่ทำเป็นหน้าตัวเองบ้างอะไรบ้าง แต่พวกอาจารย์ที่สอนเขามองว่ามันเป็นการ์ตูน เราเรียนศิลปะก็ต้องทำอะไรที่มันดูจริงจัง วาดรูปให้มันซีเรียสหน่อย”

แต่ไม่วายความแสบของอเล็กซ์ เมื่อวาดรูปแบบนั้นลงกระดาษไม่ได้ จึงหันไประบายความมันบนกำแพงแทน ฉีกทุกกฎของการเรียนเพราะตรงกันข้ามทุกอย่าง ตั้งแต่ระยะเวลาของการสร้างสรรค์ผลงาน กระบวนการ ขั้นตอนวางแผนต่าง ๆ

“ตอนเรียนภาพพิมพ์ มันคือกระบวนการ มันคือขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา มันต้องมีการวางแผนอะไรเยอะแยะมากมาย แต่มันก็ถือเป็นข้อดีนะที่ทำให้เราได้ใช้หลักวางแผน การที่เราออกไปพ่นกำแพงใช้เวลาแค่ 5 นาทีก็เสร็จ แล้วมันก็ได้งานชิ้นใหญ่ คนเห็นเยอะ เราเดินพ่นตั้งแต่พระราม 4 ยันลาดกระบังเลย”

เส้นทาง 20 ปีของ Alex Face คนทำงานศิลปะที่ไม่มีใครเอา สู่ศิลปินดันวงการสตรีทอาร์ต

นั่นเป็นช่วงยุคแรก ๆ ของการพ่น ยุคของการทดลอง เขาเรียกยุคนี้ว่าเป็นยุคประกาศตัวตน

“ถ้าฝรั่งก็ใช้ Put your name everywhere อะไรแบบนี้ เป็นรูปแบบของ Tag Name”

แต่หากพ่นเป็นหน้าคนอาจจะทำให้คนจดจำงานเขาได้ง่ายกว่าการพ่นชื่อหรือตัวหนังสือ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพ่นกราฟิกหน้า Alex Face โผล่ออกมาจากกำแพง และปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ซึ่งบางรูปใช้เวลาพ่นไม่ถึงนาทีก็มี เพราะเขาวาดหน้าคนเป็นแค่ลายเส้น

สาเหตุที่ต้องพ่นเร็วขนาดนี้ เพราะอีกหนึ่งความสนุกในการพ่นกำแพง คือการได้หนีและไม่ถูกจับ…

“มันเหมือน Mission Complete วันไหนไม่โดนก็ไปนั่งฟินกับเพื่อน” เขาหัวเราะด้วยความชอบใจ

พ่อหนุ่มที่เคยโดนจับตั้งแต่ตำรวจยันเจ้าของบ้าน หรือโดนด่ามาสารพัดสิ่ง แน่นอนว่าเขาต้องมีทักษะในการเจรจาเอาตัวรอดแน่ ๆ 

“อ๋อ พอดีผมเห็นกำแพงมันร้างอยู่น่ะครับ เลยอยากวาดรูปเล่น ถ้ามีสีสันมันน่าจะสวยขึ้นนะพี่”

“ล้อเล่น (หัวเราะ) ก็เริ่มจากขอโทษก่อน เราไม่รู้ เพราะมันเป็นตึกร้างไง แต่ในขณะเดียวกันตึกร้างก็มีเจ้าของ เราก็พยายามคุยกับเขาดี ๆ แหละ”

หลุดจากศิลปะกระแสหลัก

ผลของการถูกด่าและผ่านประสบการณ์พอสมควร จากการที่เขาพ่นหน้า Alex Face ออกมาจากกำแพงอย่างเดียวประมาณ 7 – 8 ปี ตั้งแต่ปี 2002 – 2009 เขาก็เริ่มสนใจใส่ความหมายลงไปในเนื้องานสะท้อนแนวคิดอะไรบางอย่าง นอกจากการพ่นเพื่อความสนุกเพียงอย่างเดียวบ้าง

“เราทำให้คนอื่นไม่แฮปปี้ เราก็เกิดกระบวนการคิดอะไรไปเรื่อย ๆ จากการที่เราแค่ชอบพ่นเพราะแก้เบื่อ หลัง ๆ เริ่มมีเทคนิคกับไอเดียเข้ามาใช้ด้วยกัน เพราะเราอยากใช้พื้นที่ตรงนี้ให้คุ้มค่ามากกว่าการวาดหน้าคนสนุก ๆ แต่อยากให้คนที่เห็นได้อะไรกลับไปด้วย

เส้นทาง 20 ปีของ Alex Face คนทำงานศิลปะที่ไม่มีใครเอา สู่ศิลปินดันวงการสตรีทอาร์ต

“เมื่อก่อนเราชอบพ่นอะไรที่เป็นคู่ เป็น 2 ขั้วนะ อย่างเช่น หน้าหนึ่งเป็นหน้าธรรมชาติ อีกหน้าหนึ่งเป็นเครื่องจักร กำลังหันเข้าหากัน เราใส่เนื้อหาอะไรแบบนั้นเข้าไป หรือเป็นเรื่องของทางการเมือง ณ ตอนนั้น อย่างเช่นเสื้อเหลือง-เสื้อแดง เราทำหน้าเหลือง-หน้าแดงกำลังคุยกัน มันก็เริ่มมีเรื่องราวอะไรบางอย่างเข้าไปในหน้าเหล่านั้น”

อย่างไรก็ดี มีฝีมือ มีผลงาน แต่ไม่มีที่โชว์ เพราะประจวบเหมาะอยู่ในช่วงเรียนจบใหม่ ไร้ซึ่งคอนเนกชัน และสตรีทอาร์ตช่วงนั้นยังไม่เป็นที่นิยมในวงกว้างเท่าที่ควร ศิลปินสตรีทอาร์ตก็เหมือนหลุดออกจากกระแสหลักของวงการศิลปะไทย บางคนมองสตรีทอาร์ตเป็นงาน Underground บางคนมองเป็นสายฮิปฮอป บ้างก็มองเป็นสายแฟชั่น แต่น้อยคนที่จะมองเป็นงานศิลป์เทียบเท่ากับศิลปะในด้านอื่น ๆ 

“เมื่อก่อนมันไม่ได้บูมมากนะ มันถูกมองว่าเป็นอีกพวกหนึ่งในกลุ่มคนทำงานศิลปะ จะเอาเข้าแกลเลอรี่ก็ยากกว่าเดิม”

เขาจึงใช้พื้นที่ข้างถนนแสดงงานแทนหอศิลป์ และใช้สตรีทอาร์ตเป็นเครื่องมือสื่อสาร

แต่หลังจากนั้นไม่นาน วงการสตรีทอาร์ตเริ่มเคลื่อนไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลาของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ไม่เพียงแค่ประเทศไทยเริ่มจับตามอง แต่เคลื่อนไปทั่วทั้งโลก จากกระแสกราฟฟิตี้ของ Banksy ในอังกฤษ เมื่อปี 2008 ที่ได้รับการพูดถึง

งานสตรีทอาร์ตจึงได้ถูกนำไปพูดร่วมด้วย และได้ไปอยู่ในตลาดศิลปะโลก เกิดผลพวงของการซื้อขายงานศิลปะในเชิงการค้าหรือเชิงศิลปวัฒนธรรม

“การไปพ่นตามกำแพงเพื่อเป็นพื้นที่ให้คนมาถ่ายรูปอะไรแบบนี้มันก็ค่อย ๆ บูม จากที่คนไม่ได้สนใจมองว่ามันเป็นกระแส ก็ถูกเอามาใช้ในงานเทศกาล สตรีทอาร์ตทำให้คนเข้ามาในพื้นที่บริเวณนั้น
บางทีก็ทำให้เมืองกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ยกตัวอย่างปีนัง เมื่อก่อนก็เป็นเมืองที่ค่อนข้างซบเซา แต่พอมีสตรีทอาร์ตก็ค่อย ๆ กลับมา

“เหมือนสตรีทอาร์ตเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์คนกับเมือง”

จากกำแพงบ้าน สู่กำแพงเพื่อน

จากนักพ่นกำแพงตามท้องถนนต่าง ๆ ในประเทศไทย เริ่มขยับไปพ่นไกลกว่าเดิม เริ่มจากกำแพงของประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ในปี 2012 ซึ่งการไปพ่นที่พม่าครั้งนี้ก็ไม่ใช่การได้รับคำเชิญชวน แต่เกิดจากความอยากลองไปเองของเจ้าตัว!

“เพื่อนที่พม่าจัดเชิญศิลปินสตรีทอาร์ตจากเอเชียไปทำโปรเจกต์ที่ย่างกุ้ง พม่า ซึ่งตอนนั้นเขาเชิญเพื่อนเราไปคนหนึ่ง เราก็เลยตามกันไป 3 คน! (หัวเราะ)” 

ด้วยความอยากลอง ไม่รีรอเลยรีบเก็บกระเป๋าพร้อมออกเดินทางและออกค่าใช้จ่ายเองทุกอย่าง ขอเพียงแค่ให้ได้ไปด้วย

“เขาก็ไม่ได้ติดอะไรหรอก เพราะเขาอยากให้ศิลปินไปกันเยอะ ๆ อยู่แล้วแหละ แต่ว่ามันมีเรื่องงบประมาณที่จ่ายค่าตั๋วให้ได้แค่ศิลปินคนเดียว เขาบอกว่า เออ มาได้เลย แต่เราก็ต้องจ่ายตั๋วไปกันเองนะ แล้วก็ไปร่วมทำโปรเจกต์กับเขา เราได้รู้จักเพื่อนที่มาจากสตรีทอาร์ตเอเชีย นอนรวมกันเป็นเข้าค่ายเลย สนุกดี โคตรมันอะตอนนั้น” เขาพูดด้วยความชอบใจ

เส้นทาง 20 ปีของ Alex Face คนทำงานศิลปะที่ไม่มีใครเอา สู่ศิลปินดันวงการสตรีทอาร์ต

ในตอนนั้นมีผู้คนมากมาย ทำให้ได้พบความหลากหลายจุดประสงค์ของคนพ่นสี บางคนพ่นงานกราฟฟิตี้ บางคนพ่นแค่ตัวหนังสือ บางคนก็พ่นคาแรกเตอร์อย่างเดียว บางคนก็พ่นเป็นสตรีทอาร์ตเชิงแนวความคิด หรือบางคนเอาเทปไปพันต้นไม้ก็มี และสิ่งนี้คือเสน่ห์ของความหลากหลายที่ได้มาเจอ

“เราว่าความสนุกอย่างหนึ่ง คือการได้คอลแลบกันและกัน จะพ่นแบบไหนก็ได้ แต่ทำงานด้วยกันแล้วต้องทำยังไงก็ได้ให้งานออกมาดูเป็นชิ้นเดียวกัน ให้มันเกิดการทำงานร่วม”

สิ่งที่ได้กลับมาจากงานนี้ไม่ใช่แค่การออกไปพ่นกำแพง แต่เกิดคอมมูนิตี้ ได้มิตรภาพกลับมาเป็นของแถม 

แผนของการออกเดินทางไปพ่นกำแพงตามเมืองประเทศต่าง ๆ เริ่มขึ้นอีกครั้ง

“เราเริ่มเดินทางไปอังกฤษ ไปยุโรป ช่วงปี 2013 – 2014 เหมือนไปหาประสบการณ์ เหมือนเราอยากดูว่าไปพ่นเมืองนอกมันจะเป็นยังไงวะ มันจะเจอคนยังไง จะมีความต่างกันยังไง

“ซึ่งมันต่างกันหมดเลย พ่นในอากาศร้อน พ่นในอากาศหนาว 0 องศาเซลเซียส สเปรย์ก็พ่นไม่ออก เจออะไรมากมายที่ไม่เหมือนบ้านเรา สนุกดี แล้วก็ได้เจอเพื่อน”

และเพิ่มความมันมากขึ้นกว่าเดิมด้วยการออกไปพ่นตามเมืองต่าง ๆ ไม่ได้หยุดอยู่ในที่เดียว ยิ่งออกไปพ่น ยิ่งทำให้พบเจอความสนุก ความหลากหลาย ได้เจอศิลปินในพื้นที่ และได้ร่วมทำงานกับคนไม่ซ้ำหน้า ได้เห็นความต่างของงานแต่ละประเทศด้วยสไตล์งานที่ไม่เหมือนกัน ผู้ชมมองออกได้ทันทีว่าใครเป็นคนนอก ใครเป็นคนท้องถิ่น มันฟ้องจากตัวงานที่วาด

เส้นทาง 20 ปีของ Alex Face คนทำงานศิลปะที่ไม่มีใครเอา สู่ศิลปินดันวงการสตรีทอาร์ต

ถึงจะไปมาหลายประเทศ แต่ถ้าจะให้เลือกว่าชอบประเทศไหนที่สุดก็คงตอบยาก เพราะแต่ละเมืองมีเสน่ห์ต่างกันไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเมืองที่เงียบสงบในญี่ปุ่น เมืองวุ่นวายอย่างกรุงเทพฯ หรือเมืองแห่งความรวมมิตรในอเมริกา ทุกที่ล้วนมีความพิเศษเฉพาะตัว

ต่างจังหวัดของนอร์เวย์ก็ดี เขาไปพ่นอยู่ที่โรงจอดเรือคนเดียว ไม่มีคน อยู่ท่ามกลางหุบเขา โอบล้อมไปด้วยทะเลสาบที่หน้าตาเหมือนในปฏิทินวัยเด็ก

“มันให้ความรู้สึกต่างไป เพราะปกติเวลาพ่นจะต้องมีคนเดินไปเดินมาเต็มไปหมด แต่อันนี้อยู่คนเดียวมันก็อีกอารมณ์หนึ่ง… แล้วก็คิด กูมาทำอะไรที่นี่วะ เออ กูก็มาไกลเหมือนกันนะ” เขาพูดไปขำไป

ไม่ทันไร เรื่องราวความชอบของประเทศต่าง ๆ ก็เริ่มพรั่งพรู

“ตอนนั้นที่อเมริกา เพื่อนก็เดินไปหมดเลย เหลือเราอยู่คนเดียว แล้วก็มีคนดำเดินถือโทรศัพท์มาแรปใส่ Hey you! What’s up! ทำไรอะ! เออมันก็แปลก ๆ สนุกดีนะ

“หรือยกตัวอย่าง เบอร์ลิน คนก็มีความคิดไม่เหมือนกัน ได้เห็นว่าแต่ละคนมีความต่าง เหมือนเป็นเมืองที่รวมเอาคนที่มีความคิดของตัวเองมาไว้ที่นี่”

หากมองทางกายภาพ เบอร์ลินไม่ต่างจากกรุงเทพฯ นัก แต่พอได้ออกไปพ่นสี ได้พบปะกับผู้คน เขาก็รู้ได้ทันทีว่าเสน่ห์ของเมืองนี้คือผู้คน วิถีชีวิต ความคิด ทัศนคติ การพูดคุย และเป็นเมืองที่รวบรวมศิลปินไว้เยอะด้วยเช่นกัน

เส้นทาง 20 ปีของ Alex Face คนทำงานศิลปะที่ไม่มีใครเอา สู่ศิลปินดันวงการสตรีทอาร์ต

ถึงการได้ออกไปพ่นต่างประเทศดูสนุกและสวยงามแค่ไหน แต่การพบกับความอันตรายยังคงมีอยู่ เป็นเรื่องธรรมดาของการทำงานข้างถนนที่ต้องคอยระแวดระวังอยู่เสมอ และเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น

อย่างประเทศนอร์เวย์ที่มองว่าปลอดภัย เขายังได้เจอขโมย

“เห็นคนเดินมา เราก็นึกว่าเพื่อน สักพักมันก็หยิบของ เดินออกไปเลย แล้วเราอยู่บนเครนไง แต่สุดท้ายก็วิ่งตามไปเอาคืน

“แถมยังมาสอนเราอีกนะว่า ทีหลังอย่าวางของไว้แบบนี้ มันไม่ดี ขโมยแล้วยังมาสอนกูอีก (หัวเราะ) งง!”

ความอันตรายมักเกิดขึ้นได้เสมอ มันเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่แล้วในแต่ละประเทศ ทางที่ดีที่สุดคือต้องคอยระวังตัวตลอด

“ปีสองปีที่แล้วเราไปอเมริกา ไปอยู่ LA ประมาณ 2 เดือนครึ่ง ก็ไปพ่นแถว Venice Beach พ่นกันจน 4 – 5 ทุ่ม แล้วตำรวจก็มาบอกว่า You should go home. มันเริ่มอันตรายแล้วนะ เราก็โอเค เก็บของเหอะ กลับ”

ศิลปะ สังคม การเมือง

เส้นทาง 20 ปีของ Alex Face คนทำงานศิลปะที่ไม่มีใครเอา สู่ศิลปินดันวงการสตรีทอาร์ต

เขาเป็นหนึ่งในคนที่พาสตรีทอาร์ตไทยไปท่องโลกไกลถึงประเทศต่าง ๆ จะกำแพงที่ไหนเขาก็พาคาแรกเตอร์ Alex Face ไปพ่นด้วยทุกที่ ซึ่งแต่ละสถานที่ล้วนแตกต่างกันทั้งในเรื่องคอนเซ็ปต์ ไอเดีย บ้างมาจากสิ่งที่กระทบตัวศิลปินเอง บ้างเกิดจากองค์ประกอบของพื้นที่นั้น ๆ ว่าควรมีภาพอะไรอยู่บนกำแพง ไม่ว่าจะเป็นกำแพงเก่า กำแพงที่มีสายไฟ หรือหากบริเวณนั้นมีอะไรโดดเด่น เขาก็ทำงานศิลปะให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกับพื้นที่ได้เสมอ เพราะความสนุกของการทำงานข้างถนน คือการได้ใช้พื้นที่มาเป็นส่วนหนึ่งของงาน

เนื้อหางานที่เขาพ่นมีหลากหลายแนวคิด ไม่ได้เฉพาะเจาะจงไปทางไหนทีเดียว แต่ส่วนใหญ่มาจากประเด็นสังคม

“ศิลปะเป็นเสียงสะท้อนความคิดคน ยิ่งทำงานข้างถนนก็จะเห็นชัด เพราะมันอยู่สองข้างทาง อยู่ตามกำแพง เรามองว่าศิลปินก็เป็นเหมือนคนคนหนึ่งในสังคม อยู่ในโครงสร้างสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกัน บอกไม่ได้ว่าเราไม่เกี่ยวกับการเมือง ในขณะที่เรายังต้องอยู่ในสังคมนี้ มันก็เกี่ยวหมดในทุกมิติ

“เราเอาการเมืองมาเป็นวัตถุดิบหนึ่งในการทำงานศิลปะ เพราะเราก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในสังคม เราจ่ายภาษี เราจ่ายโน่นจ่ายนี่ มันเกี่ยวกับเราหมดเลย เพราะฉะนั้น บางทีเราก็อยากเรียกร้องเพื่อให้ได้อะไรบางอย่างมา ในฐานะที่เรามีเครื่องมือแบบนี้ เครื่องมือของเราก็คืองานที่พ่นตามกำแพงได้ แล้วสะท้อนออกไปในมุมมองของเรา”

เส้นทาง 20 ปีของ Alex Face คนทำงานศิลปะที่ไม่มีใครเอา สู่ศิลปินดันวงการสตรีทอาร์ต

“แต่ส่วนใหญ่งานเราไม่ได้พูดประเด็นการเมืองตรงไปตรงมาขนาดนั้นนะ เหมือนเป็นคาแรกเตอร์หนึ่งที่พูดประเด็นอะไรบางอย่าง แล้วก็ตีความได้หลากหลาย”

ในช่วงนี้เขากำลังอินเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม เพราะอยากให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการจะทำอะไรก็ได้ที่ไม่เดือดร้อนคนอื่น พูดในสิ่งที่ตัวเองอยากพูด หรือแสดงออกในสิ่งที่ตัวเองอยากแสดงออกได้

“ตอนนี้เหมือนหลาย ๆ อย่างเริ่มดีขึ้น เด็กรุ่นใหม่ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยแล้ว เหมือนสังคมกำลังค่อย ๆ เคลื่อนไปในทิศทางที่ดี”

ดวงตาแห่งคำถาม

เส้นทาง 20 ปีของ Alex Face คนทำงานศิลปะที่ไม่มีใครเอา สู่ศิลปินดันวงการสตรีทอาร์ต

คาแรกเตอร์สามตาพัฒนามาจากคาแรกเตอร์เด็ก เริ่มแรกของไอเดียเป็นดวงตาที่เอาไว้มองสิ่งที่มองไม่เห็น ความเชื่อเรื่องวิญญาณ หรือความเชื่อของคนเอเชีย แต่เมื่อเวลาผ่านไป คำถามเริ่มเข้ามาว่าทำไมต้องตาที่สาม ตาที่สามคืออะไร จึงเป็นจุดเริ่มต้นของดวงตาแห่งคำถาม

นอกจากนี้ เบื้องหลังของสัญลักษณ์ตาที่สามก็มีความเชื่อที่ขัดแย้งของสองวัฒนธรรมซ่อนอยู่ 

บางวัฒนธรรมมองว่าสัญลักษณ์ตาที่สามเป็นแง่ลบ แต่บางวัฒนธรรมมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของแง่บวก กลายเป็นตาแห่งคำถามที่เอาไว้แชร์ความเห็นต่างรวมถึงมุมมองของกันและกัน

“ในเมื่อวัฒนธรรมหนึ่งบอกว่าไม่ดี แต่อีกวัฒนธรรมหนึ่งบอกว่าดี แสดงว่ามันมีความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน พอเราถูกแบ่งเป็นพวกเขา พวกเรา มันก็จะเป็นปัญหาทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่านั้น นอกจากความเชื่อที่ต่างกัน”

จากความเชื่อและความแตกต่าง จึงเกิดข้อจำกัดในการพ่นคาแรกเตอร์สามตา แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้อเล็กซ์ถอดใจกับการพ่นกำแพงอยู่ดี หากทำแบบนี้ไม่ได้ เขาก็พร้อมที่จะหาทางออกอีกทางเสมอ

“พ่นสามตาไม่ได้ ก็พ่นสี่ตาไปเลย!” เขาพูดติดตลก 

ตรงจุดนี้ทำให้เขาต้องหาวิธีพลิกแพลง และศึกษาว่าพื้นที่ตรงไหนพ่นตาที่สามได้หรือไม่ได้ เพื่อความสบายใจของคนในพื้นที่ และนำคาแรกเตอร์เด็กสวมชุดกระต่ายไปพ่นแทนในสถานที่เหล่านั้น

เด็กสวมชุดสัตว์มาจากนิทานที่เขาเล่าให้ลูกฟัง สัตว์เป็นตัวแทนความหมายของพื้นที่ ตัวแทนของความเชื่อ หรือตัวแทนของวัฒนธรรมหลาย ๆ อย่างได้ดี เพราะสัตว์อยู่ในวิถีชีวิตคนเรา มีความผูกพันกันมานาน อย่างเช่นชาวนากับควาย แต่ชุดสัตว์ก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศในพื้นที่นั้น

“ถ้าเราไปในประเทศที่มีกวางมูส วิถีชีวิตของเขามีกวางมูสเดินไปเดินมา เราก็จะปรับคาแรกเตอร์ไปตามพื้นที่ด้วย สัตว์มันนำมาเล่าเรื่องได้เยอะ 

“ส่วนกระต่ายเป็นคาแรกเตอร์ที่เราใช้บ่อย เพราะมันดูเหมือนเหยื่อ เราใช้สัญลักษณ์แทนสัตว์ที่ถูกล่า เหมือนเด็กที่เป็นเหยื่อความรุนแรง อย่างที่เห็นตามข่าวว่าเด็กถูกทำร้าย แล้วสัตว์อะไรที่เป็นเหยื่อได้บ้างวะ ก็เลยกลายเป็นกระต่าย”

เขาจึงหยิบองค์ประกอบของกระต่ายมาใช้ในงาน เช่น หูกระต่ายที่เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงอารมณ์ ความรู้สึก ส่วนชุดที่อาจดูขาด ๆ สื่อถึงความซุกซนและการผ่านประสบการณ์มามาก

เส้นทาง 20 ปีของ Alex Face คนทำงานศิลปะที่ไม่มีใครเอา สู่ศิลปินดันวงการสตรีทอาร์ต
เส้นทาง 20 ปีของ Alex Face คนทำงานศิลปะที่ไม่มีใครเอา สู่ศิลปินดันวงการสตรีทอาร์ต

แล้วคาแรกเตอร์ Alex Face อันนี้เป็นเด็กหรือเปล่า หรือว่าแค่เอาเด็กมาเล่าเฉย ๆ – เราสานสนทนาต่อ

“ส่วนใหญ่คอนเซ็ปต์ที่เล่าก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมหรือในโลกเราแหละ แต่ใช้คาแรกเตอร์เด็กเป็นตัวนำเสนอเพราะมันเป็นเรื่องของอนาคต เด็กมีอนาคตไปอีกไกลมากกว่าคนโต เราเลยใช้คาแรกเตอร์ให้เป็นเด็ก

“เรามองว่าบ้านเราไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับเด็กเท่าไหร่ ถ้าเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วอย่างสแกนดิเนเวีย เราจะเห็นได้จากถนนหนทางหรือฟังก์ชันต่าง ๆ ในเมืองมันเอื้อต่อเด็กหมดเลย ถนน สนามเด็กเล่น หรือแหล่งการเรียนรู้ ที่จริงการพัฒนาคนก็ต้องพัฒนาตั้งแต่เด็ก แต่บ้านเราไม่ใช่ บ้านเราฟังก์ชันต่าง ๆ อาจไม่ได้ออกแบบมาสำหรับเด็ก

“และที่คาแรกเตอร์นี้มันทำหน้าครุ่นคิดแบบนั้น ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากลูก ตอนที่มีลูกแล้วลูกทำหน้าสงสัย เราเลยได้ไอเดียว่า เขาอาจจะกังวลอนาคตอยู่หรือเปล่า เด็กมันเป็นคาแรกเตอร์ที่มาเล่าเรื่องแบบนี้ได้ เพราะมันเชื่อมโยงกับอนาคต เรื่องของเจนเนอเรชัน มันเล่าอะไรได้เยอะมากสำหรับความเป็นเด็ก”

บทบาทพ่อ

คุยกับ Alex Face ถึงการเดินทางสู่ศิลปินสตรีทอาร์ต ในวันที่หวนย้อนอดีตอีกครั้งจัดนิทรรศการ 20TH YEAR ALEX FACE

เมื่อแรงบันดาลใจคาแรกเตอร์เด็กทำหน้าครุ่นคิดมาจากลูกสาวที่ชื่อว่าน้องมาร์ดี เราจึงรู้ได้ทันทีว่าเขาใส่ใจและสนใจอนาคตของลูกแค่ไหน นอกจากบทบาทของการเป็นศิลปิน เขายังมีพาร์ตแฟมิลี่แมนอีกด้วย อเล็กซ์เล่าถึงความเป็นห่วงลูก อยากให้ลูกโตมาในสังคมที่ปลอดภัย และมีสิทธิเสรีภาพอย่างที่ควรจะเป็น มีโอกาสในชีวิตตามหลักสากลเหมือนนานาประเทศ

บทบาทของคุณพ่อคนนี้ เน้นการสอนลูกให้ดูแลตัวเอง จัดการชีวิตให้ได้ รับผิดชอบตัวเองให้เป็น และเรื่องจิตสาธารณะก็ไม่เว้น ไม่มองข้าม เพราะเขามองว่าเป็นสิ่งที่ต้องควบคู่กันไประหว่างจัดการตัวเองกับเรื่องส่วนรวม

“มาร์ดีเขาก็ทำงานศิลปะด้วยนะ” เป็นคำตอบที่มาก่อนคำถาม พร้อมภูมิใจนำเสนอผลงานมาร์ดีอย่างเต็มเปี่ยม

คุยกับ Alex Face ถึงการเดินทางสู่ศิลปินสตรีทอาร์ต ในวันที่หวนย้อนอดีตอีกครั้งจัดนิทรรศการ 20TH YEAR ALEX FACE
คุยกับ Alex Face ถึงการเดินทางสู่ศิลปินสตรีทอาร์ต ในวันที่หวนย้อนอดีตอีกครั้งจัดนิทรรศการ 20TH YEAR ALEX FACE

หนึ่งในกิจกรรมที่ทำร่วมกันคือการวาดรูป แชร์ไอเดีย แชร์มุมมอง แชร์ความสนุกผ่านทางปลายพู่กัน และเฟรมผ้าใบ ทั้งคู่มักจะแลกเปลี่ยนมุมมองกันอยู่เสมอ บางงานที่โชว์ก็มีความคิดเห็นของมาร์ดีอยู่ในนั้นด้วย

“น้องเขาจะชอบตอบว่า ดีค่ะ หรืออันนี้ไม่โอเคค่ะ (หัวเราะ) ก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย”

มีงานชิ้นหนึ่งที่เป็นการคอลแลบกันแบบเห็นได้ชัด เป็นผลงานที่พ่อลูกวาดหุ่นนิ่งกับดอกไม้ด้วยกันในช่วงโควิด โดยน้องมาร์ดีวาดดอกไม้ ส่วนคุณพ่อวาดคาแรกเตอร์

คุยกับ Alex Face ถึงการเดินทางสู่ศิลปินสตรีทอาร์ต ในวันที่หวนย้อนอดีตอีกครั้งจัดนิทรรศการ 20TH YEAR ALEX FACE
คุยกับ Alex Face ถึงการเดินทางสู่ศิลปินสตรีทอาร์ต ในวันที่หวนย้อนอดีตอีกครั้งจัดนิทรรศการ 20TH YEAR ALEX FACE

ถึงแม้ว่ามาร์ดีจะเติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นศิลปิน ได้เห็นการทำงานศิลปะมาตลอด 13 ปี ทำให้ได้ซึมซับสิ่งนี้มาตั้งแต่เด็ก ทั้งขีดเขียน เล่นสี วาดรูป และอีกมากมาย แต่สไตล์ของเธอก็ชัดแจ๋ว มีความเป็นตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย

“วาดรูปเหมือนกัน แต่เขาก็มีความคิดของเขา ความชอบหรือแรงบันดาลใจอะไรของเขามันก็ไม่เหมือนเรา เขาอาจได้แรงบันดาลใจมาจากดนตรี หรืออะไรก็ได้

“เวลาเขาเบื่อเขาก็นั่งวาด นั่งสเก็ตช์รูปเล่น แต่เราไม่ได้บอกว่าเขาจะต้องเป็นอะไร ให้เขาเป็นคนเลือกเองตามความชอบของเขา เด็กวัยรุ่นช่วงนี้เขาก็ชอบหลายอย่าง ชอบดนตรี ชอบตีกลองก็ไปตีกลอง เราก็พยายามทำวงดนตรีกัน ให้เขาได้ไปลองทำอะไรหลาย ๆ อย่าง เอาความชอบเขาเป็นหลัก”

คุยกับ Alex Face ถึงการเดินทางสู่ศิลปินสตรีทอาร์ต ในวันที่หวนย้อนอดีตอีกครั้งจัดนิทรรศการ 20TH YEAR ALEX FACE

“พาร์ตอื่นนอกจากการทำงานศิลปะ ก็พาร์ตครอบครัวเนี่ยแหละ”

หนึ่งในพาร์ตที่เขาให้ความสำคัญไม่แพ้กัน หรืออาจจะมากกว่าทุกพาร์ตก็ว่าได้ คือเขาพยายามแบ่งเวลามาใช้กับครอบครัวให้มากที่สุด อยู่กับลูก เล่นกับลูก ว่ายน้ำกับลูก ทำอะไรกับลูก 

“เพราะเด็กสมัยนี้โตไว” เขาทำหน้าครุ่นคิดเหมือนคาแรกเตอร์มาร์ดีอีกคน

“เราชอบคิดตลอดว่าเราใช้เวลากับเขาไม่พอ ในขณะที่เราก็อยู่บ้านเยอะนะ แต่ยังไงก็เหมือนไม่พอ เราน่าจะอยู่กับเขาให้มากกว่านี้ อายุ 13 แล้ว เดี๋ยวก็โต เดี๋ยวเขาก็จะมีเวลาของเขา ไปทำอะไรของเขาเอง เลยพยายามเก็บช่วงเวลานี้ให้มาก ๆ “

คุยกับ Alex Face ถึงการเดินทางสู่ศิลปินสตรีทอาร์ต ในวันที่หวนย้อนอดีตอีกครั้งจัดนิทรรศการ 20TH YEAR ALEX FACE

อเล็กซ์ยังเล่าด้วยว่า พาร์ตอื่นนอกจากทำงานศิลปะ อยู่กับลูก ก็มีพาร์ตของการทำกิจกรรมที่เขาให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เพื่อ Work-Life Balance เขาทำกิจกรรมเยอะมาก ชอบทำอะไรที่ผจญภัย ตั้งแต่ปั่นจักรยาน เล่นเซิร์ฟ ออกไปหาอะไรใหม่ ๆ และไม่วายกลับมานั่งวาดรูปเหมือนเดิม เพราะความชอบมันเรียกร้อง

คุยกับ Alex Face ถึงการเดินทางสู่ศิลปินสตรีทอาร์ต ในวันที่หวนย้อนอดีตอีกครั้งจัดนิทรรศการ 20TH YEAR ALEX FACE

จุดแข็งเราคือ Painter

ตำราไหนบอกว่าอย่าเอาความชอบมาทำเป็นอาชีพ ต้องพักก่อน เพราะอเล็กซ์ฉีกทุกกฎของวงการเช่นเคย เขามองว่าอาชีพ ความชอบ งานอดิเรก ไปด้วยกันได้ แถมยังช่วยส่งเสริมกันและกันให้ทำงานออกมาได้ดีกว่าเดิม

“เอาจริงตอนนี้ที่เรานั่งวาดรูปมันเกินโหมดวาดเล่นไปแล้วนะ คือวาดทุกวัน วาดจนมือด้านหมดแล้ว แต่เราก็ยังรู้สึกสนุกกับมัน ยังตื่นเต้น อยากจะวาดรูปนี้ให้เสร็จเร็ว ๆ เพราะอยากวาดรูปใหม่”

แปลว่ามันยังมีความท้าทายอะไรไหม – เราถาม

“มันก็มีความท้าทายอะไรตัวเองไปเรื่อย ๆ อะไรที่เรายังไม่เคยทำก็อยากทำ อย่างงาน Painting เราก็มีความคิดว่าอยากทำมันซะก่อน ก่อนที่จะทำไม่ไหว เราก็เลยทำเลย ทำก่อนที่ตาเราจะมองไม่ชัด ทำก่อนที่ร่างกายเราจะแก่แล้วทำไม่ได้”

คุยกับ Alex Face ถึงการเดินทางสู่ศิลปินสตรีทอาร์ต ในวันที่หวนย้อนอดีตอีกครั้งจัดนิทรรศการ 20TH YEAR ALEX FACE
คุยกับ Alex Face ถึงการเดินทางสู่ศิลปินสตรีทอาร์ต ในวันที่หวนย้อนอดีตอีกครั้งจัดนิทรรศการ 20TH YEAR ALEX FACE

รูปหลาย ๆ รูปเหมือนเป็นรูปที่ทำให้ได้ย้อนกลับไปตอนสมัยเรียนอีกครั้ง เพราะใช้เทคนิคการวาดรูปเหมือนเทคนิคของงาน Impressionism โดยวาดรูปจากภาพถ่าย

“เราว่าทุกคนมีจุดแข็งของตัวเอง การทำงานศิลปะของศิลปินแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไอ้นั่นดีกว่า ไอ้นี่ดีกว่า มันไม่มีหรอก ความจริงคือแค่ต้องหาจุดแข็งตัวเองให้เจอเท่านั้นเอง

“ส่วนเราก็มองว่าจุดแข็งของเราคือเป็น Painter เราเขียนรูปมาตั้งแต่เด็ก เราก็อยากเขียนออกมาให้เต็มที่ไปเลย” 

ไม่หยุดพ่นสี

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจเห็นว่าเส้นทางการเป็นศิลปินทำงานศิลปะของ Alex Face เหมือนจะสวยมาตลอดทาง ได้ทำตามความต้องการ นำความชอบมาเป็นอาชีพ หรือเอาอาชีพมาทำเป็นงานอดิเรก แต่ใช่ว่าเขาจะไม่เคยผ่านช่วงเวลายากลำบาก เขาเป็นหนึ่งในคนที่เคยขายงานไม่ออกเช่นกัน

ถ้าย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของอเล็กซ์คงไม่ต่างจากใครหลายคน จุดของการยังไม่เป็นที่รู้จัก งานไม่เป็นที่ยอมรับ ขายงานไม่ออกจนต้องไปหาจ๊อบเสริมเพราะไม่มีตังค์ เขารับทำตั้งแต่จ๊อบวาดรูป วาดดอกไม้ใบหญ้า วาด Portrait วาดทุกอย่างที่วาดได้ จ๊อบโฆษณา จ๊อบกราฟฟิตี้ ไปพ่นตามร้านต่าง ๆ ก็ไม่เว้น แต่เขากลับคิดว่าการที่ทำงานพวกนี้ทำให้ได้ฝึกทักษะ 

“อย่างเช่นเราไปออกกอง ทุกอย่างมันต้องเร็ว ต้องแข่งกับเวลา ต้องแก้ปัญหา พอเรามาพ่นสีเราก็พ่นแบบนั้นแข่งกับเวลา แก้ปัญหา ทำงานเหมือนมีไทม์ไลน์ให้เราต้องแอคทีฟ มันก็เหมือนติดนิสัยจากการทำงานออกกอง ทุกอย่างเอามาใช้ได้หมดเลย

“หรืองานที่เราไปรับจ้างวาดต่าง ๆ ที่เรารู้สึกว่ายากมาก ไม่ใช่สไตล์เรา แต่กลับว่าสิ่งเหล่านั้นเพิ่มทักษะให้เรา และก็วนกลับมาใช้ในงานส่วนตัวของเราเอง ถ้าเป็นไปได้ ให้ทำจ๊อบที่อยู่ในลูปของศิลปะดีกว่าที่ไปทำงานแบบอื่น คือถ้ามันอยู่ในลูปเดียวกัน มันยังได้ฝึก อารมณ์ในการทำงานมันไม่ได้หายไปไหน”

คุยกับ Alex Face ถึงการเดินทางสู่ศิลปินสตรีทอาร์ต ในวันที่หวนย้อนอดีตอีกครั้งจัดนิทรรศการ 20TH YEAR ALEX FACE

เขามองว่าศิลปินล้วนต้องมีจุดเริ่มต้น ช่วงเวลาของการขายงานไม่ได้ เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ต้องเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ต่างจากตัวเขาเองที่ขายงานไม่ได้สักชิ้นในครั้งก่อน

“แต่ในตอนนั้นเราไม่ได้รู้สึกท้อหรืออะไรเลยนะ เราแค่อยากทำให้มันเกิดนิทรรศการขึ้นมา เราแฮปปี้ที่ได้เห็นงานแขวน มีไฟส่อง นั่นคือสิ่งที่เราต้องการ เราไม่ได้คิดว่าต้องขายได้อะไรหรอก

“แต่แน่นอนว่าช่วงไหนไม่มีตังค์ก็หาจ๊อบทำอย่างที่บอก พอได้เงินมาเราก็เอามาทำงานศิลปะที่อยากทำ มันก็แค่นั้น

“ถ้าช่วงไหนที่ท้อแท้สิ้นหวัง มันก็ยิ่งต้องวาดรูป การวาดรูปเหมือนเป็นการระบาย เยียวยาตัวเอง มันทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า เลยกลายเป็นว่าพอได้ทำงานศิลปะแล้วรู้สึกดีขึ้น ไม่ได้ทำเพราะเราคาดหวังอะไรกับมันขนาดนั้น”

เขาคิดว่าการทำงานเป็นสิ่งที่ต้องให้เวลา แต่ก็ต้องมีขอบเขตและเป้าหมายที่ชัดไปพร้อมกัน

แก่นแท้การทำศิลปะ

คุยกับ Alex Face ถึงการเดินทางสู่ศิลปินสตรีทอาร์ต ในวันที่หวนย้อนอดีตอีกครั้งจัดนิทรรศการ 20TH YEAR ALEX FACE

จากคนที่ขายงานไม่ออกสักชิ้น ไม่ได้เป็นที่รู้จักในช่วงแรก ผ่านมา 20 ปี กลายเป็นศิลปินสตรีทอาร์ตที่ทุกคนแย่งกันซื้อผลงานหมดเกลี้ยงภายในไม่กี่นาที Alex Face มีการเปลี่ยนผ่านแต่ละช่วงวัย ทำให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ และมาพร้อมกับมุมมองที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอด 

ทุกวันนี้เขาเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองในเรื่องสภาพความเป็นอยู่ ประสบการณ์ชีวิตที่โตมา หรือความเชื่อต่าง ๆ

“เราว่าเราตั้งคำถามกับตัวเองมาเรื่อย ๆ แหละว่าสิ่งที่เราเชื่อมันจริงปะวะ ในตอนนี้ที่เราได้ข้อมูลมาใหม่แล้วเนี่ย มันเอาไปหักล้างของเดิมที่เราเคยเชื่อ กลายเป็นว่าเราก็เลยมีความคิดที่มันเปลี่ยนไปในหลาย ๆ มิติ หลาย ๆ ด้าน

“ส่วนในเรื่องผลงานมันเปลี่ยนไปอยู่แล้ว ด้วยประสบการณ์ ความเชื่อ มุมมองที่เปลี่ยนไป ถ้ามองจากงานในปี 2002 จนถึงทุกวันนี้ แน่นอนว่ามันจะเห็นความแตกต่าง”

ถึงแม้มุมมองและทักษะการทำงานของเขาจะเปลี่ยนไป แต่เขากลับไม่เคยรู้สึกไม่เห็นด้วยกับผลงานที่ตัวเองเคยทำ ยังคงชื่นชอบงานทุกชิ้นตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่มีชิ้นไหนเลยที่เขาคิดว่า “โอ้โห กูไม่น่าทำเลยแบบนี้” เขาเล่าไปยิ้มไป 

“ยิ่งมองงานเก่า ๆ เรายิ่งรู้สึกหวงแหนด้วยซ้ำ เรากลับไปในช่วงเวลานั้นไม่ได้แล้ว และก็ไปทำแบบนั้นได้อีก มันกลายเป็นว่ายิ่งงานเก่ายิ่งรู้สึกพิเศษกับมันมากขึ้น แม้กระทั่งบางชิ้นที่เละ แต่เรากลับรู้สึกดีเพราะเรากลับไปทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว”

เรื่องราวหลาย ๆ อย่างเปลี่ยนไป แต่ความทรงจำยังคงอยู่ บรรยากาศ อารมณ์ในช่วงวัยเยาว์ไม่ได้หายไปไหน พร้อมหวนขึ้นมาเสมอ เพียงแค่ได้มาอยู่กับศิลปะ

คุยกับ Alex Face ถึงการเดินทางสู่ศิลปินสตรีทอาร์ต ในวันที่หวนย้อนอดีตอีกครั้งจัดนิทรรศการ 20TH YEAR ALEX FACE

รูปนี้เป็นงานที่ไปพ่นกำแพง และถ่ายรูปกำแพงนี้ไปโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย และนำรูปนี้กลับมาเพนต์อีกที ด้วยเทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ได้กลิ่นอายของความเป็นจิตรกรรมดั้งเดิม พร้อมคืนวันเก่า ๆ ที่หวนกลับมา

“ตอนนั่งทำก็รู้สึกนึกถึงบรรยากาศในวันนั้น วันที่เราพ่นกำแพงนี้เราได้เจอใครบ้าง เราไปนั่งคุยกับโจโจ้เจ้าของบ้านข้างบนนั้น แล้วตำรวจก็มา เออ ความทรงจำมันย้อนกลับมา”

“แล้วมันก็ได้เจออะไรบางอย่างตอนวาดรูปนี้ เช่น เราเป็นเจ้าของภาพ เราก็จะมองออกใช่ไหม ว่าวัตถุไหนคือของจริง อันไหนคือพ่นสเปรย์ อย่างกระต่ายเป็นสเปรย์ที่เราพ่น แต่ต้นไม้ ตึก ต่าง ๆ เป็นของจริง

“เมื่อถ่ายรูปออกมา สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงเห็นชัดอยู่ ยังดูออกว่าอันไหนเป็นของจริงบ้าง แต่ถ้าเราเปลี่ยนทุกอย่างมาเป็น Painting ก็จะดูยากกว่าเดิม

“กระต่ายก็เพนต์ พื้นหลังก็เพนต์ ต้นไม้ก็เพนต์ มันเบลนด์ทุกอย่างเข้าหากันเป็นสิ่งเดียว”

คาแรกเตอร์กระต่ายตัวนี้ดูมีชีวิตขึ้นมากกว่าเดิม เพราะบรรยากาศทุกอย่างถูกนำมาเพนต์ทั้งหมด เหมือนเป็นการเพิ่มมิติให้รูปนี้ มากกว่าเป็นงานโฟโต้กราฟอย่างเดียว

“เราก็เจอมันตอนที่เรานั่งทำ เราพบว่า เออ ทุกอย่างมันกลายเป็น Painting หมดเลยนี่นา”

ความทรงจำหวนคืน

เราย้อนอดีต พูดถึงเรื่องความทรงจำกันขนาดนี้แล้ว งั้นมีอะไรอยากบอกกับตัวเองในปีแรกไหม สมมติว่าคุณได้เจอ Alex Face เมื่อปี 2002 อีกครั้งหนึ่ง – เราถาม

“ก็คงบอกว่า Be Good, Bro”

“ไม่รู้จะบอกอะไร เพราะเราก็คิดว่าไม่ได้มีอะไรที่จะต้องกลับไปเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข มันก็คงอย่างที่บอกแหละว่า เออ ดี ๆ แล้วกันมึง” 

“คงไม่ได้มีอะไรไปบอกมันหรอก เพราะเราไม่ได้คิดอะไรมากเลยตั้งแต่ตอนแรกจนตอนนี้ บางทีมันก็เหมือนเดิมเลยนะ ตอนที่พ่นครั้งแรกมีความรู้สึกเป็นยังไง มันสนุก ตอนนี้ไปพ่นก็ยังรู้สึกเหมือนเดิม”

คุยกับ Alex Face ถึงการเดินทางสู่ศิลปินสตรีทอาร์ต ในวันที่หวนย้อนอดีตอีกครั้งจัดนิทรรศการ 20TH YEAR ALEX FACE

เด็กในวันนั้นที่ชอบศิลปะวาดรูปเล่นกลางทุ่งนา หรือคนที่พ่นกราฟฟิตี้บนกำแพง หรือศิลปินสตรีทอาร์ตชื่อว่า Alex Face ทุกอย่างล้วนเป็นเขาคนเดิม

ไม่ต่างจากนิทรรศการ 20TH YEAR ALEX FACE ที่จัดขึ้นล่าสุด เป็นนิทรรศการที่จะพาทุกคนย้อนเวลา หวนสู่ความทรงจำไปกับเขาอีกครั้งหนึ่ง เส้นทางของการเป็นศิลปินสตรีทอาร์ตตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมาว่าเขาได้ผ่านประสบการณ์และความร่วมมือ คอลแลบงานกับใครมาบ้างในวงการกราฟิตี้ ที่นี่จะรวมผลงานตั้งแต่ปี 2002 – 2022 

โดยภายในงานจัดแสดงโชว์ 4 โซนใหญ่ ๆ โซนงานเก่าของ Alex Face ตั้งแต่ปี 2002 โซนของงานเพนต์คาแรกเตอร์บนแคนวาส โซนของภาพเพนต์สีน้ำมันเลียนแบบภาพถ่าย และสุดท้ายโซน Collaboration

นิทรรศการจากศิลปินสตรีทอาร์ตผู้ถูกตั้งคำถามอยู่เสมอ ว่าการทำงานบนถนนกับการทำงานในสตูดิโอแตกต่างกันอย่างไร พื้นที่ในการแสดงงานข้างถนน กับพื้นที่แสดงงานในแกลเลอรี่ต่างกันไหม ในนิทรรศการนี้ก็มีคำตอบให้ทุกคนเช่นกัน

นิทรรศการ 20 TH YEAR ALEX FACE 

จัดแสดงวันที่ 5 พฤศจิกายน – 18 ธันวาคม 2022 

ที่ตั้ง : 127 ณ ระนอง คลองเตย กรุงเทพฯ

ซื้อบัตรชมงานได้ ที่นี่ ราคาบัตรเข้าชมงาน 350 บาท

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ [email protected]

Writers

Avatar

ณัฐกฤตา เจริญสุข

อดีตนักเรียนวิชาออกแบบ ผู้ชื่นชอบการสาดสีสันลงบนงานศิลปะ สาดจินตนาการลงบนงานเขียน อยากส่งต่อเรื่องราวดี ๆ ผ่านทางการสื่อสารทุกรูปแบบ

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล