ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง สร้างบ้านหลังนี้ที่เชียงใหม่มาแล้ว 8 ปี 

เป็นบ้านกลางทุ่ง ค่อนข้างไกลเมือง

มาอยู่คืนแรก นอนไม่หลับ

ไม่ใช่เพราะปลาบปลื้มใจจนถึงขั้นต้องอดหลับอดนอน

แต่เพราะ

“ตอนแรกมา กลัวฉิบ…เลย เงียบมาก เงียบและมืด กริบเลย

“นอนไม่หลับกันเลย มีแต่เสียงความเงียบ เสียงความเงียบมันดังมาก”

แต่พอถึงวันนี้ เขากลับพูดว่า “อยากย้ายมาอยู่นาน ๆ เลย”

ทั้ง ๆ ที่บ้านก็หลังเดิมในพื้นที่เดิม และไม่ใช่บ้านที่ได้ดั่งใจไปทุกอย่าง แถมยังต้องขับรถขึ้น-ลง เพื่อทำหนัง-ซีรีส์ที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก ทั้งงานของเขาและงานในวงการโฆษณาของ แป้น-ฤดีวรรณ โต๊ะทอง แฟนสาว แล้วอะไรล่ะที่ทำให้บ้านเป็นเอก เป็นบ้านที่มาอยู่แล้วเขาไม่อยากไปไหน จนแป้นถึงกับเอ่ยปากบอกเราว่า

“พี่ต้อมไม่ค่อยยอมออกไปไหนเลย เพราะว่ามีความสุขมากกับการอยู่บ้าน”

ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง และ เปบเป้

 บ้านที่ไม่เคยมาดูตอนสร้าง

ต้อมเล่าว่า 9 ปีที่แล้ว เขาขายบ้านที่สุขุมวิท ซอย 31 ซึ่งเป็นบ้านของครอบครัวที่อยู่มาถึง 50 ปี 

“ตอนนั้นแม่เสีย เราอยู่กับพี่สาวคนรอง ตอนนั้นพี่สาวคนโตมีครอบครัวอยู่เยอรมนี ก็คุยกัน ไม่รู้จะอยู่กันยังไง 2 คน เพราะบ้านใหญ่โตเกินจะจัดการ พี่เลยบอกว่าอยากไปอยู่เชียงใหม่ แต่ตอนนั้นเราไม่อยากนะ บอกแล้วไงว่าเราคนเมือง 1,000 เปอร์เซ็นต์เลย แต่พี่สาวอยากมาซื้อร่วมกับเพื่อน ๆ เลยมาดูกัน หญ้ารกมาก พอลองถางที่ปั๊บ พี่สาวไม่รู้คิดยังไงว่าอีกสัก 4 ปีเขาน่าจะรีไทร์แล้ว เลยตัดสินใจจะมาสร้างบ้าน เขาบอกว่าให้เรามาสร้างด้วย เพราะถึงเราจะไม่มาอยู่แต่ก็อุ่นใจ เพราะอย่างน้อยเราก็เป็นผู้ชาย 

“ตอนนั้นพี่สาวบอกว่า ปีหนึ่งเธอจะไปแค่อาทิตย์เดียวก็เรื่องของเธอ เราเลยมาสร้างและให้สถาปนิกของ พี่ตั้ม (พวัสส์ สวัสดิ์ชัยเมธ) คนทำ Production Design ให้เราชื่อ เจี๊ยบ มาช่วยออกแบบ ออกแบบทีเดียว 3 หลังเลย เพราะปรากฏว่าพอจะขึ้นมาจริง ๆ พี่คนโตเขากลับมาอยู่เมืองไทย เลยมาขออยู่ด้วยกัน 

“ตอนนั้นเราบอกไปว่าอยากได้บ้านที่ดูแลง่าย ๆ ทรงกล่อง ๆ ทีแรกที่มาอยู่ไม่มีต้นไม้เลยนะ น่าเกลียดเลยล่ะ โล้น ๆ แต่ก็นึกภาพออกว่าวันหนึ่งจะเป็นแบบนี้ เลยเริ่มปลูกตั้งแต่ยังต้นเล็ก ๆ”

หลังจากบ้านออกแบบเสร็จและเริ่มก่อสร้าง ช่วงนั้นงานของเขายุ่งมากจนไม่มีเวลาแม้แต่จะขึ้นมาดูบ้านสักครั้ง

“ความจริงนะ ตอนทำบ้านนี้ไม่ได้มีจิตใจคิดว่าเป็นบ้านที่จะมาอยู่จริง ๆ คิดดูสิ สร้างบ้านทั้งหลัง ตลอดการสร้างเป็นปี ช่วงนั้นเรายุ่งมาก ไม่เคยมาดูเลย เขาก็สร้างกันไป ผู้รับเหมาคอยถ่ายรูปส่ง เอาจริง ๆ สร้างบ้านทำอย่างนี้ไม่ได้หรอก ถ้าออกมาดีถือว่าเป็นความฟลุก”

แล้วออกมาดีไหม

“เราแฮปปี้นะ แต่ถ้าวางแผนสักหน่อย คิดมากกว่านั้น จะสร้างบ้านต้องพิจารณาเรื่องการหันทิศทางอะไรด้วย คือบ้านนี้ลมไม่ค่อยดีด้วยนะ ถ้าวางแบบบ้านถูก ลมจะดีกว่านี้ เป็นต้น

“และเราว่าบ้านอาจใหญ่ไปนิดหนึ่ง ความโอ่อ่า ความสูง เหมือนเป็นโรงยิมไปหน่อย จริง ๆ พอใส่ข้าวของไปก็ดูพอดีนะ แต่พอมาอยู่จริง ๆ แล้วคิดว่า เฮ้ย กูอาจจะอยากได้อะไรที่ Human กว่านี้ สเกลที่ Intimated กว่านี้หน่อย หรือไม่ต้องสร้างเป็นกล่องแบบนี้ก็ได้ คือกล่องอาจย่นย่อกว่านี้ แล้วมีอีกกล่องมาทางนี้

“มีความรู้สึกว่า ถ้า ชูป (ทำมือประกอบเหมือนหดภาพให้เล็กลง) ลงไปนิดหนึ่งก็อาจดีกว่านี้ แต่ตอนนั้นไม่มีเวลา เอาที่ว่าเบสิกมาก ๆ ไปเลย”

บ้านอาจดูไม่ลงตัว แต่ด้วยความเป็น ต้อม เป็นเอก เขาบอกว่าเมื่อมาอยู่แล้วก็ทำให้ดีที่สุด เหมือนกับตอนทำหนังนั่นแหละ

“เมื่อมาอยู่แล้ว เราก็ Make the best of it. ทำให้แฮปปี้ที่สุดที่เราจะอยู่ได้ เหมือนเราทำหนัง คือเตรียมงานแทบตายก็ไม่ได้ออกมาอย่างที่คิดหรอก อย่างนักแสดงที่เราอยากได้ อ้าว ไปเมืองนอกแล้วพี่ คนที่ชอบเบอร์ 2 เป็นใคร คนนี้ไม่ได้พี่ ค่าตัวไม่ไหว งั้นคนที่ 3 เป็นใคร ในที่สุดก็ได้คนที่ 3 มา ไหนจะโลเคชันอีก งบประมาณอีกใช่ไหม

“เวลาสร้างหนังก็คล้ายสร้างบ้าน เพราะเราไม่ได้ทุกอย่าง แต่เราต้อง Make the best of it.” 

Make the best of it.

อย่างที่ต้อมบอกว่าทำบ้านก็เหมือนทำหนัง ทำภาพพิมพ์ (งานอดิเรกใหม่ที่เขาหลงรัก) เพราะไม่ได้ดั่งใจไปทั้งหมด ถามว่าแล้วทำยังไงให้ดีที่สุด เขาตอบง่าย ๆ ว่า

“ปรับเอา ได้แบบนี้มาก็ทำให้ดีที่สุด แก้ด้วยเฟอร์นิเจอร์ แต่ตอนนี้ไม่ต้องเติมแล้ว เชื่อไหม เฟอร์นิเจอร์ที่บ้านนี้นับชิ้นได้นะที่ซื้อ เพราะหลายชิ้นมาจากบ้านเก่า บางชิ้นก็เพื่อนให้ อย่างตั่งอันนี้เพิ่งยกมาตั้ง มาจากเพื่อนซึ่งเป็นเจ้านาย (พงศ์ไพบูลย์ สิทธิคู) ให้มา เกิดจากการที่ออฟฟิศปิด ทุกคนเป็นฟรีแลนซ์ ไม่รับเงินเดือนแล้ว แล้วตั่งตัวนี้เคยอยู่ตรงรีเซปชัน เจ้านายเรามานอนที่บ้านแล้วบอกว่า ผมว่าเหมาะกับบ้านต้อมที่เชียงใหม่ ส่วนตั่งตัวนี้มาจากฮ่องกง เพื่อนผู้กำกับส่งมาให้ออฟฟิศที่กรุงเทพฯ”

ไม่เฉพาะตั่งเท่านั้นที่มาจากออฟฟิศ Film Factory แต่บ้านหลังย่อม ๆ ใกล้บ้านทรงกล่องของเขาก็ได้มาจากออฟฟิศด้วย 

“บ้านนั้นสำหรับแขกที่มาพัก คือที่ดินของเรากับพี่สาวคนละ 200 ตารางวา มีบ้าน 3 หลังใช่ไหม ส่วนนี้คือเราซื้อที่เพิ่มออกไป และบ้านนั้นดีตรงที่ว่าเป็นออฟฟิศที่เรานั่งทำงานมาในกรุงเทพฯ 20 กว่าปี ถอดเป็นชิ้นมาประกอบ มีความ Sentimental เนอะ เรานั่งทำงานมาแบบ… หนัง 8 – 9 เรื่องเกิดขึ้นในออฟฟิศนั้น ซึ่งตอนนี้มาตั้งอยู่ตรงนั้น ตัวบ้านก๊อบปี้มาจากศาลาวัดญี่ปุ่น” 

“แล้วทำไมรู้มั้ย พอโควิดผ่านพ้น ออฟฟิศไม่ได้ปิดนะ แต่เลย์ออฟพนักงานหมดเลย กลายเป็นทุกคนเป็นฟรีแลนซ์หมด ไม่มีใครรับเงินเดือนแล้ว เหลือพนักงานอยู่ 4 คน คือแม่บ้าน บัญชี 2 คน เจ้าของ ทีนี้พื้นที่ที่ออฟฟิศตั้งอยู่กลายเป็นพื้นที่เช่า คือออฟฟิศใหญ่มีที่ของเขา มีบ้านหลังใหญ่ ออฟฟิศเรากระเด็นไปอยู่ตรงที่เช่างอก พอไม่มีพนักงานแล้วจะคืนที่งอกนี้ เจ้านายเลยบอก มึงเอาบ้านมั้ย โห เอาดิ! ก็ถอดเอามา แต่เปลี่ยนหลังคา มาซื้อที่นี่แล้วประกอบใหม่ นี่ใช้รับแขกมาปีกว่า 2 ปีแล้ว คุ้มค่ามาก” 

เป็นบ้านพักผ่อนที่ตอนนี้อยากอยู่ทุกวัน

“คิดทีแรกว่าจะเป็นบ้านพักผ่อน เราก็เอาแบบ Low Maintenance สีไม่ต้องทา แต่โดยรสนิยมก็เป็นคนชอบอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ไม่ได้ชอบบ้านแบ่งเป็นห้อง ๆ ชอบโล่ง ๆ นี่แบ่งแค่ห้องเดียวคือห้องนอน แล้วตอนหลังก็เติมมู่ลี่เพื่อกั้นสัดส่วนนิดหน่อยแค่นั้น อ้อ มีเติมห้องทำงานงอกออกมาตรงส่วนนี้ (ต้อมชี้ห้องทำงานบนระเบียง) ได้ไม้มาจากบ้านหลังโน้นที่เป็นออฟฟิศเก่า เพราะเราหดสเกลให้เล็กลงนิดหนึ่ง เลยได้ไม้มาเพิ่ม แล้วเอามาต่อเติมเป็นห้องทำงาน”

เป็นเอกเล่าย้อนไปปีแรกที่มาอยู่บ้านหลังนี้ เขาทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนปลายปีในบ้านของตัวเอง ช่วงนั้นอากาศเชียงใหม่หนาวเย็น แม้จะกลัวในหนแรกที่ต้องนอนบ้านตัวเอง แต่พออยู่ ๆ ไปก็เริ่มติดใจ ปลายปีถัดไปจึงวางแผนขับรถขึ้นมากับแป้นและ ‘เปบเป้’ – ลาบราดอร์ ที่ต้อมอธิบายตลอดว่านี่แหละคือเหตุผลที่ต้องขับรถขึ้น-ลง “เวลาไปไหนก็ไปด้วยกัน เปบเป้ต้องไปด้วย อยู่กัน 3 คนครับ อยู่กัน 24 ชั่วโมง” 

“มาใหม่ ๆ ก็มาอยู่แบบปีละ 1 – 2 อาทิตย์ แล้วก็ลงกรุงเทพฯ ไปทำงาน ทำโฆษณา ทำงานหนักปีต่อไป เฮ้ย ปลายปีต้องมาเชียงใหม่โว้ย มีบ้านแล้ว พออยู่ 2 อาทิตย์ เฮ้ย ต้องกลับแล้วเพราะมีงาน ตอนขับรถกลับมันแบบ ไม่อยากกลับแล้วว่ะ (เงียบไป) ไม่อยากกลับ เพราะอายุก็คงมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกับ ไม่รู้! จิตใจคงเริ่มเปลี่ยนแล้ว

“ตอนแรกเป็นเหมือนบ้านพักตากอากาศมากกว่า เพราะปีหนึ่ง ๆ เราก็มาแค่ 2 อาทิตย์ 1 เดือน แล้วก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุด ตอนนี้คิดว่ากรุงเทพฯ น่าจะเป็นบ้านตากอากาศมากกว่า”

ภายในบ้านตากอากาศที่ว่าวางโต๊ะตัวใหญ่ ซึ่งใช้ทั้งทานอาหารและทำงานได้ อยู่ใกล้กับครัวเปิดโล่งที่ดูน่าใช้งาน มุมนี้เป็นมุมพิเศษของผู้กำกับเป็นเอก มีกิจกรรมการตระเตรียมอาหารเช้าด้วยการต้มกาแฟ ปิ้งขนมปัง และทานเป็นประจำพร้อมกับอ่านหนังสือ แป้นบอกว่า “คนทำมื้อเช้าจะเป็นพี่ต้อม เขาต้องชงกาแฟ ปิ้งขนมปัง แล้วก็กินซ้ำ ๆ เหมือนเป็นพิธีกรรมของเขาเลย” 

ใกล้ ๆ ห้องทำงานที่เพิ่มเติมตรงมุมระเบียง มีชิงช้าไม้ที่เขาตั้งใจหามาวางตรงมุมนี้

“สั่งทำขึ้นมา ชอบ อยากมีภาพนี้ โห แล้วหลับสบายฉิบ มันดูดวิญญาณ อย่าลงไปนอนเชียวนะ บางทีนั่งทำงานอยู่กับคอมเยอะ ๆ มันเจ็บตรงนี้ใช่ปะ (ชี้ไปที่ข้างหลัง) ก็ลงไปนอนแป๊บหนึ่ง ไม่ได้กะหลับ ลงไปนอนทีหนึ่ง ยาวเลย” 

ถามเขาว่าบ้านทั้งหลังดูมีข้าวของสะสมไม่มากเลย เขาบอกว่าบริจาคหนังสือ วิดีโอเทป VHS และแผ่นหนังไปหลายร้อยหลายพันเล่มและแผ่นเลยทีเดียว ส่วนที่เห็นในบ้านคือหนังสือและแผ่นหนังที่ดูซ้ำ อ่านซ้ำได้ตลอด (เขามีนิสัยชอบดูซ้ำ ๆ ด้วย) กับของใหม่ที่ซื้อมาเติมบ้าง

และอย่างที่รู้กันว่าช่วงหลังเขาทำงานศิลปะมากขึ้น บนผนังของบ้านจึงมีงานแขวนรวมกับงานศิลปะชิ้นอื่นที่ชอบ “อันนั้นงานเรา ชิ้นที่อยู่เหนือลำโพง เขียนบนไอแพดแล้วเอาไปพรินต์ อันขวามือสุด (เหนือโต๊ะคอม) เป็นภาพพิมพ์ อันนั้น คุ่น-ปราบดา หยุ่น ให้ ตอนนั้นไปเกียวโตด้วยกัน ไปโปรโมตหนัง หรือเขียนบทด้วยกัน ไปอยู่ญี่ปุ่นเป็นเดือน วันหนึ่งคุ่นออกไปข้างนอกแล้วซื้อกลับมาฝาก

“ส่วนอันกลางซื้อมาจากเพื่อนของแป้น พวกข้างบนเป็นงานพวกคนญี่ปุ่น เหมือนเป็น Lithograph พวกนั้นซื้อมา อันที่พิงอยู่ใกล้ ๆ คอมเป็นงานของ อาจารย์ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ ซื้อตอนแกแสดงงานที่ Gallery Seescape เป็นศิลปินที่ทำเก้าอี้เอียง ๆ เราชอบงานแกมาก”

ที่บ้านรับรองแขกอีกหลัง บนผนังก็ติดตั้งภาพวาดฝีมือของเขาหลากหลายรูป และงานศิลปินงานผ้า ศศิ (Zazie) “นี่รูปเราทั้งหมด อันนี้ศศิ อันนี้ทำกับ ก้อง (กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย C.A.P Studio) มี 12 รูป ทำซีนจากหนังเป็นภาพพิมพ์แล้ววางคิวอาร์โค้ด ถ้าสแกนเข้าไปดูจะเป็นซีนหนังที่เราซ้อมกับนักแสดง ส่วนพวกนี้เป็นแบบ Character Study” ต้อมเล่าอย่างมีสีสันและฟังสนุกมาก

ถามว่าสำหรับ ต้อม เป็นเอก แล้ว อะไรที่ทำให้บ้านเป็นบ้าน

“ความรู้สึกสบายใจมั้ง หมายถึงว่าสบายใจในที่นี้ คือเราใส่กางเกงลิงตัวเดียวเดินไปเดินมาได้ กูทำอะไรก็ได้ นี่คือบ้านกู นั่นคือความสุข

“อย่างปัจจุบันเราลงไปกรุงเทพฯ ไปอยู่บ้านครอบครัวแป้น คนเต็มไปหมดเลยไง ยังไงเราก็ต้องอยู่ใช่ไหม สมมติตื่นมาเจอกันก็ต้องทัก ต้องคุย แต่เราเป็นคนแบบ ตื่นมาตอนเช้า ไม่ชอบพูดกับคน เราต้องการความเงียบไปเป็นชั่วโมง กว่าจะซึมเข้ามาในโลกความจริงได้ ต้องนั่งกินข้าว ต้องลวกไข่ ปิ้งขนมปัง อ่านหนังสือ กินไปช้า ๆ ชั่วโมง ชั่วโมงครึ่ง 2 ชั่วโมงนะ กินข้าวเช้าที ให้เราตื่นมาปุ๊บ อาบน้ำปุ๊บปั๊บไปทำงาน เราทำไม่ได้

“ทีนี้พออยู่บ้านครอบครัวเขา คนเต็มไปหมด เขาก็ต้องชวนคุย เจอแม่เขาจะไม่คุยกับแม่เขาเหรอ ถามว่ามีความสุข สะดวกสบายไหม โห สะดวกสบายมาก สะดวกสบายกว่าบ้านนี้เยอะ มีแม่บ้าน ไม่ต้องล้างจาน ไม่ต้องทำอะไรเลย พื้นที่เขา 3 ไร่ 4 ไร่ ร่มเย็นเป็นสุข แต่มันเหมือนไม่ใช่บ้านเรา เพราะอยู่ที่บ้านนี้เราไม่ต้องพยายามอะไรเลย”

ส่วนแป้นก็แชร์มุมมองเรื่องบ้านให้ฟังว่า “พี่ต้อมเขามินิมอลมาก พอขายที่กรุงเทพฯ ปรากฏว่ามีที่เหลือที่ไหน ก็คือมีที่นี่ที่เดียวในชีวิตที่ไม่เคยเห็นด้วยว่าหน้าตาเป็นยังไง แล้วยังเป็นทุ่งอยู่เลย เราเอาที่นี่แหละ แล้วเดี๋ยวเราก็จะปรับตัวให้ได้ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ถ้าทีแรกเห็นที่นี่ก็คงไม่อยู่หรอก มันเป็นทุ่ง ไม่มีใครเลย

“แต่จริง ๆ พอเซตอยู่ตรงนี้มันก็ง่ายดีนะ เราใช้ชีวิตให้อยู่ได้ ไป ๆ มา ๆ ก็เพลิน แต่ต้องอยู่ด้วยกันนะแป้นว่า พออยู่ด้วยกัน วัน ๆ หนึ่งไม่ต้องไปไหน อยู่แค่ในบ้าน สบายมาก

“แป้นกับพี่ต้อมทำงานกันทั้งวัน วันเสาร์-อาทิตย์ก็ทำ เลยไม่เบื่อไง แค่ต้องทำความสะอาดบ้าน ทำกันเอง แล้วก็ต้องทำงาน กว่าจะได้ทำงานก็สายแล้ว บ่ายแล้ว อยู่ที่นี่กับข้าวก็ต้องทำ ส่วนพี่ต้อมก็ต้องล้างจาน 3 เวลาเลยจนปวดหลัง ทีแรกก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร พอสังเกตไป อ้อ ที่ล้างจานเตี้ยไป เลยตัดสินใจซื้อเครื่องล้างจาน” 

เป็นบ้านเปลี่ยนนิสัย

“พอมาอยู่ตรงนี้ เหมือนใจมันเปลี่ยนไป 

“พอเรากลับกรุงเทพฯ ถ้าเกินเดือนปุ๊บ ใจเรามันก็เป็นแบบคนกรุงเทพฯ อีกนะ ไม่รู้สิ เหมือนสิ่งแวดล้อมมันกำหนดเรา แต่พอมันปีแล้วปีเล่าเริ่มไม่ได้แล้ว ปีหน้าอยู่สักเดือน เราเป็นฟรีแลนซ์อยู่แล้วไง กำกับโฆษณา ถ้าไม่ใช่หนังใหญ่ บอกโปรดิวเซอร์ไปเลยว่าเมื่อก่อนจะหยุดครึ่งเดือนธันวาคม ปิดร้านแล้วเราจะอยู่นี่จนถึงหลังปีใหม่ค่อยกลับไปทำต่อ ตอนหลังก็บอกโปรดิวเซอร์ว่าให้บอกเอเจนซี่โฆษณาเลยว่า ถ้าใช้บริการเรา ขอเป็นกุมภาพันธ์เป็นต้นไป เริ่มยืดอีกหน่อยเป็น 2 เดือน (หัวเราะ)

“พอปีต่อไป ผมเริ่มงานมีนาคมนะครับ และที่แย่คือเริ่มงานมีนาคม และปลายปีกูก็หดสั้นขึ้นด้วย จากธันวาคม ทีนี้พฤศจิกายนกูก็หยุดแล้ว ปิดร้านแล้ว คือปีหนึ่งทำงานน้อยลงเรื่อย ๆ โปรดิวเซอร์ตีนก่ายหน้าผากเลย

“ก็นั่นแหละ พอตอนนี้ต้นไม้ทุกอย่างขึ้น บ้านช่องก็ลงตัวแล้วไง เนี่ย! ไม่อยากกลับเลย

“ไม่เคยคิดว่าจะมาอยู่อย่างนี้เลย เราคิดว่าเราเป็นคนเมือง 1,000 เปอร์เซ็นต์ ไปเที่ยวต่างประเทศก็จะไปปารีส นิวยอร์ก ลอนดอน บาร์เซโลน่า เชื่อมั้ย ตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว ตอนหลังนี้ ถ้าไปนะ ไม่เคยไปเหยียบเมืองหลวงเลย กูไปบ้านนอกอย่างเดียว เช่ารถขับเลาะ ๆ ไป เปลี่ยนไปเลย

“พอไปเมืองใหญ่ ๆ ก็รำคาญคน มันดูดัดจริตไปหมดเลย คนจะมีเป้าหมาย ฉึบฉับ ไวไปหมด”

ต้อมอธิบายว่าอยู่ที่นี่แล้วรู้สึกว่า “ตัวเบา” เพราะเวลาอยู่เชียงใหม่ อะไรที่ไม่ใช่จะโดนตัดไปหมดเลย

“เรารู้สึกว่าทุกอย่างในชีวิตโดนตัด ๆๆๆ ไปหมด จนเหลือแค่สิ่งที่เราอยากรู้ อยากเห็น อยากทำ แค่นั้น เลยเหมือนกระตือรือร้นที่จะทำพวกนี้ พออยู่เชียงใหม่ ใครให้ช่วยทำอะไรนะ อยากทำไปหมดเลย เหมือนตัวเราเบามั้ง เวลาอยู่กรุงเทพฯ เหมือนมีอะไรบังไปหมดเลย เวลาตัวเบา ก็จะมีกะจิตกะใจอยากไปช่วยอะไรเยอะไปหมด” 

เดินชมร่มเงาไม้รอบบ้าน ไล่เรื่อยไปถึงที่ดิน หินกรวดในพื้นที่ตั้งบ้านรับแขก ต้นสนเกรวิลเลีย ไม้ออสเตรเลียกำลังให้ดอกเหลืองสวย

“เกรวิลเลียสวย อันนี้เพิ่งตัดแต่งมันแล้วเอาไม้ยัน เพราะพอไม่อยู่นานมันลามไปทั่วเป็นพุ่ม ทรงมันเลื้อยออก โตเร็วมาก ปลูก ๆ ไปไม่ต้องสนใจมาก และมันชอบแดดมาก” 

ถ้าย้อนไปสัก 10 ปี คงไม่มีใครเชื่อว่าจะได้ยินเป็นเอกกำลังพูดถึงต้นไม้ราวกับผู้เชี่ยวชาญ เราเลยถามต่อว่าใครเป็นคนเลือกต้นไม้ใหญ่มาปลูกในพื้นที่บ้าน

“มีรุ่นพี่ชื่อ พี่จิ๋ม (ภรณี เจตสมมา) เป็นโปรดิวเซอร์หนังโฆษณาที่เก่งมากในอดีต แกมาอยู่สันทราย บ้านแกซูเปอร์สวย มหัศจรรย์ อาร์ตมาก แกชอบต้นไม้มาก พูดถึงต้นไม้จะเรียกว่า เขา ๆ

“วันที่จะปลูกต้นไม้ เราไปรับพี่จิ๋มที่บ้านเลย ผู้รับเหมาก็ชอบต้นไม้เหมือนกัน มาพล็อตวันหนึ่งก่อนคร่าว ๆ ว่าอยากได้อะไร ตรงไหน คุณแม่แป้นก็ชอบปลูกต้นไม้ด้วย แกบอกว่าปลูกอันนี้หน้าบ้าน หลังบ้าน ของแกเป็นกึ่งความเชื่อนิด ๆ ด้วย 

“เป็นผู้ใหญ่ 2 คนช่วยกัน เราก็ทำตามเขา พล็อต ๆ แล้วก็ไปซื้อ ผู้รับเหมาพาไปซื้อที่ไหนนะ ที่มันถูก ๆ หน่อย ต้นไม้เยอะเลย (ห้วยแก้ว แถวแม่ออนค่ะ – เราตอบ) แล้วก็มาลง นั่นเป็นต้นไม้หลัก ๆ แล้วก็มีคนโน้นให้มา คนนี้ให้มา อย่างกุหลาบต้นสูงหน้าบ้านที่ดอกเพิ่งร่วงไป ป้าติ๋ม เมียคุณ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ให้มา” 

“เลมอนนี่ก็ทีมงานที่เคยทำด้วยกันให้มา เขาไปทำสวนเลมอนที่เขาใหญ่ ประสบความสำเร็จด้วยนะ ตอนนี้เลมอนออกเต็มไปหมด เราก็เก็บไปให้เพื่อน ๆ”​

 (กลาย) เป็นคนบ้านนอกเต็มตัว

ยังรู้สึกเป็นคนเมืองอยู่ไหม – เราถามเขาในวันที่ฟังเรื่องเล่าต่าง ๆ ของการได้อยู่ในบ้านหลังนี้แล้วอยากรู้คำตอบ ต้อมหยุดคิดนานมาก ก่อนจะพูดขึ้นว่า

“ไม่ว่ะ เราพูดกับแป้นว่าเราเริ่มเป็นคนบ้านนอกขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว เพราะตอนนี้เวลาไปกรุงเทพฯ มันจะเหนื่อยฉิบ บางวันไม่ได้ทำอะไรมากนะ Vibe ของมันทำให้เราเหนื่อย กับอีกอย่างรู้สึกว่าสกิลล์ในการเข้าสังคมก็ต่ำลงเรื่อย ๆ นะ อันนั้นเป็นสัญญาณหนึ่งว่าเป็นคนบ้านนอกขึ้นเรื่อย ๆ กับสัญญาณอีกอันคือเวลาไปห้างในกรุงเทพฯ ไปเซ็นทรัลฯ ไปเอ็มโพเรียม โห! ตาแหก ตาแตก เหมือนเวลาไปต่างประเทศเลย ช้อปปิ้งแหลก อะไรมันช่างสวยไปหมด ชีวิตกูขาดไปหมดเลยโว้ย แล้วซื้อมาก็มานั่งกอง รองเท้าผ้าใบงี้ เพราะอยู่นี่ใส่แต่แตะ เฮ้ย ซื้อมาทำไม

“แต่เราก็ไม่ได้คิดหรอกนะว่าเราเป็นคนเมืองหรือว่าอะไร เอาแบบนี้ดีกว่า แค่รู้สึกว่าอยู่ที่นี่ไปได้เรื่อย ๆ เลย แฮปปี้มาก ยิ่งอยู่นาน ยิ่งอยู่ไปได้เรื่อย ๆ อยู่กรุงเทพฯ ก็จะนับวันกลับมานี่” 

ทำไมถึงนับวันกลับ

“เราคิดถึงไลฟ์สไตล์นี้ พอมาอยู่ตรงนี้เหมือนทุกอย่างถูกตัดเหลือน้อย ๆๆๆ จนเราแฮปปี้ คนก็น้อย เอาจริง ๆ ถ้าอยู่เชียงใหม่แล้วอยู่ในเมือง ชีวิตก็คงไม่เป็นแบบนี้ เพราะไปมาหาสู่เพื่อนได้ง่าย แต่ตรงนี้ยากหน่อย วันไหนเข้าเมืองสักทีต้องเก็บให้หมดนะ ต้องซื้ออาหารด้วย ตัดผมด้วย อะ วันอาทิตย์ ไปตลาดจริงใจตอนเช้า ซื้อผัก ซื้อไข่ ไปไหนต่อ ไปกินข้าวกลางวัน แล้วไปตัดผม ต้องอยู่จนเสร็จทุกอย่าง 

“วันก่อนมีอาจารย์ชวนไปสงขลา พัทลุง คือแกทำเรื่องท่องเที่ยว เห็นเราทำงานเกี่ยวกับสื่อ ให้เราไปออกความเห็น ระหว่างนั่งรถตู้นั่งคุยกัน พี่ต้อม ๆ พี่อยู่เชียงใหม่แล้วทำอะไร เราตอบว่าไม่ทำอะไร ไม่ทำอะไรแล้วอยู่ได้เหรอ โอเค ก็มีงานทำ เพราะเรายังไม่ได้รีไทร์ เรายังแอคทีฟ 1,000 เปอร์เซ็นต์ อยู่นี่ก็ต้องเขียนบท ทำหนัง เตรียมการ อย่างเมื่อกี้ก็เพิ่ง Zoom มันยังมีอะไรทำ แล้วก็รดน้ำต้นไม้ ซึ่ง 2 ชั่วโมงแล้วนะ แต่ไม่รู้ดิ ความรู้สึกเหมือนมาอยู่ตรงนี้แล้วทุกอย่างถูกตัดไปจากชีวิตเยอะมากจนมีความสุข เราไม่รู้ว่าเรียกว่าอะไร”

แล้วอยู่กรุงเทพฯ ไม่มีความสุขเหรอ

“ไม่ได้ทุกข์นะ แต่ชอบอยู่ตรงนี้มากกว่า ไม่รู้ ตลก”

“อีกอย่างคือมันอาจไม่ใช่เชียงใหม่หรือป่าเขาหรืออะไรหรอก แต่เราอยู่ตรงนี้ ทุกอย่างมัน…. จาน ชาม ถ้วย ช้อน เป็นของที่เรารัก ที่เราชอบหมด เรารายล้อมตัวเองด้วยของที่เราบอกว่าสวย ชอบ มันก็อยากอยู่กับตรงนั้น ใช่มั้ย”

Writer

Avatar

สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

จบเกษตร แล้วต่อด้านสิ่งแวดล้อม แต่เติบโตด้านการงานด้วยการเขียนหนังสือมาตลอด ชอบพูดคุยกับผู้คน ชอบต้นไม้ ชอบสวน ชอบอ่าน ชอบงานศิลปะและชอบหนังสือภาพ ทุกวันนี้จึงพาตัวเองคลุกคลีอยู่กับสิ่งที่ชอบที่ชอบ ด้วยการเขียนหนังสือ ทำงานศิลปะ เดินทาง และเปิดร้านหนังสือ(ภาพ)ออนไลน์ Of Books and Bar

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ