คุณ (ใช่ คุณนั่นแหละครับ ผู้เปิดเข้ามาที่หน้าเว็บไซต์ของ The Cloud เพื่อที่จะอ่านบทสัมภาษณ์กึ่งเรื่องสั้นในคอลัมน์ ‘พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง’ คุณอาจเปิดอ่านจากหน้าคอมพิวเตอร์ที่บ้านหรือที่ทำงาน หรือเปิดจากมือถือ ไอแพด หรืออาจจะกำลังชะโงกหน้าอ่านร่วมกับเพื่อนของคุณ หรือคนในครอบครัว หรือแม้แต่ชำเลืองมองอ่านจากคนแปลกหน้าที่กำลังเปิดหน้านี้

คุณอ่านมาถึงย่อหน้านี้แล้ว เพราะชักสงสัยว่า ปราบดา หยุ่น จะพูดอะไรบ้าง

การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ ปราบดา หยุ่น กับความเชื่อที่ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่เริ่มต้นเขียนหนังสือ

คุณบางคนอาจจะรู้จักเขาดีแล้ว เพราะเคยติดตามอ่านงานของเขามามากมาย ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย ความเรียง สารคดี บทภาพยนตร์ หรือแม้แต่อาจเคยดูภาพยนตร์ที่เขาเป็นผู้กำกับ

คุณบางคนอาจจะพอรู้จักเขามาบ้าง เพราะเขาเป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์ รางวัลศิลปาธร หรือแม้แต่เป็นลูกชายของนักข่าวชื่อดัง

หรือคุณบางคนก็อาจจะไม่รู้จักเขาเลย

ปราบดา หยุ่น เป็นใคร – คำถามนี้ ปราบดา หยุ่น เองก็อยากจะรู้เช่นกัน

“ช่วงหลังๆ มาเราเลือกที่จะให้สัมภาษณ์น้อยลง เพราะเราได้พูดเยอะแล้ว คนที่สนใจในสิ่งที่เราจะพูด เขาก็ได้อ่านไปหมดแล้วล่ะ เราจึงไม่แน่ใจว่าจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องพูดอีก แล้วอีกอย่างหนึ่งคือ โดยพื้นฐานแล้วเราเป็นคนชอบเขียนหนังสือ ที่ชอบเขียนก็เพราะว่าจะได้ไม่ต้องพูด อันนี้คือเหตุผลหลักๆ ที่ชอบเขียน ตั้งแต่เด็กเลยเราเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยชอบสื่อสารกับคนอื่นด้วยการพูด เพราะฉะนั้น เราสื่อสารได้ตรงและรัดกุมที่สุดด้วยการเขียน”

แม้ว่าเขาจะให้สัมภาษณ์น้อยลง แต่เราได้โอกาสอันดีนี้ที่ได้สนทนากับเขา

คุณพอจะรู้ขึ้นมาบ้างแล้วว่า เขาเป็นนักเขียน

ส่วนคุณที่ยังไม่รู้จักเขาอาจเกิดคำถามว่า เขาเป็นนักเขียนได้ยังไง

“เราเริ่มเขียนหนังสือโดยที่ไม่ได้มีความคาดหวังใดๆ เลย เขียนเพราะความชอบและความว่าง เช่นการเขียนเรื่องสั้นเป็นกิจกรรมที่ชอบทำมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็ทำไปโดยไม่คิดด้วยว่าจะต้องได้ตีพิมพ์ เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง ตอนที่เราเริ่มเขียนใหม่ๆ ตอนเรียนจบหลังกลับจากอเมริกา ก็ไปฝึกทหาร หลังจากฝึกเสร็จมันยังไม่ได้มีทิศทางของชีวิตที่ชัดเจน

“ทุกครั้งที่มีช่วงว่างเราจะทำงานศิลปะ อาจจะวาดรูปหรือเขียนหนังสือ เพราะมันเป็นความชอบส่วนตัว คนอื่นเขาอาจไปเล่นกีฬา แต่เราเขียน ก็เลยมีความสดแบบไม่มีความคาดหวัง ไม่มีความเข้าใจว่าคนอ่านคือใคร หรือคนอ่านจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสิ่งที่เราเขียน ไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย เป็นเหมือนกับการทดลองของตัวเองล้วนๆ

“สาเหตุที่เขียนหนังสือก็เพราะชอบอ่านบางอย่าง ชอบอ่านงานวรรณกรรมของนักเขียนบางคน ก็เลยเป็นพื้นฐานจากความสนใจของเรานั่นแหละ โดยเฉพาะวรรณกรรมที่มีความแปลก มีความหม่นมืดเล็กน้อย เราจึงคิดว่าตั้งแต่เริ่มเขียนอาจจะไม่ใช่ไม่มีกรอบเสียทีเดียว มันก็มีอยู่บ้าง”

คุณคนหนึ่ง (คนที่นั่งอ่านคอลัมน์นี้อยู่บนรถไฟฟ้า) กระซิบกับผมว่า ช่วงแรกปราบดา หยุ่น เขียนงานมากมาย แต่ละปีมีงานไม่น้อยกว่า 2 ถึง 3 เล่ม คุณจึงอยากให้ผมถามเขาว่าเขียนออกมาได้ยังไงกัน

การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ คุ่น กับความเชื่อที่ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่เริ่มต้นเขียนหนังสือ
การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ ปราบดา หยุ่น กับความเชื่อที่ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่เริ่มต้นเขียนหนังสือ

“ช่วงต้นของการเขียนหนังสือ เหมือนปลดปล่อยสิ่งที่อัดอั้นเอาไว้มานาน ช่วงแรกจึงเขียนแบบไม่ตันเลย ไม่มีความรู้สึกว่าไม่รู้จะเขียนอะไร ไม่เคยมีเลย ก็เขียนออกได้เรื่อยๆ แต่ถึงจุดหนึ่ง น่าจะสักประมาณห้าปีหลังจากเริ่มต้นเขียนจริงจัง ก็มีความรู้สึกตั้งคำถามกับตัวเอง แต่ไม่ถึงกับเบื่อหรือตัน แค่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ที่เราเขียนออกมามากมายเนี่ย เราแค่ใช้แรงบันดาลใจหรือความสนใจเดิมๆ แล้วเราก็รีไซเคิลไปเรื่อยๆ ซึ่งมันไม่ได้หมายความโดยอัตโนมัติว่ามันไม่ดี หรือว่ามันไม่มีคุณภาพ หรือว่ามันไม่สนุกแล้ว แต่ว่าโดยนิสัยตัวเองเป็นคนชอบทำอะไรใหม่ๆ มากกว่า ก็เลยเกิดความรู้สึกว่า เราใช้วัตถุดิบเดิมๆ มากเกินไปแล้วหรือเปล่า ก็เลยเกิดการตั้งคำถาม

“ตอนนั้นเขียนคอลัมน์ตามนิตยสารเยอะมากด้วย บางคอลัมน์เป็นแบบรายปักษ์ คือสองครั้งต่อเดือน เรารู้สึกว่านี่ไม่ใช่ตัวตนของเรา ถึงแม้ว่าจะมีคนชอบอ่าน เรารู้สึกว่าการเขียนคอลัมน์ประจำมันไม่ใช่ตัวตนของเรา เพราะเรามีเวลาทบทวนน้อยเกินไป เราไม่ชอบมีความเห็นทันทีเกี่ยวกับเรื่องอะไรบางอย่าง เราชอบมีเวลาที่จะกลั่นกรอง หรือไปหาข้อมูลเพิ่มก่อน”

คุณ (คนเดิม) กระซิบกับผมอีกว่า แล้วเขาเอาวัตถุดิบจากไหนมาเขียนได้มากมาย แถมเขียนยังไงคนถึงได้ทั้งชมและด่าจนกลายเป็นปรากฏการณ์ดังในแบบคุ่นๆ (คุ่น คือชื่อเล่นของเขา)

“สำหรับเรา เป็นปรากฏการณ์ที่แปลกหรือไม่คาดฝันกับตัวเอง เพราะว่าช่วงที่เราไปเรียนอยู่ที่อเมริกา ชีวิตเราค่อนข้างตัดขาดจากสังคมไทย ช่วงแรกจะมีบ้างที่ตามอ่านหนังสือใหม่จากเมืองไทย หรือฟังเพลงใหม่ๆ แต่พอผ่านไปสักสองสามปี เราก็จำเป็นต้องใช้เวลากับการเรียน แล้วก็เป็นช่วงวัยรุ่น มีเพื่อน เราเรียนรู้และเริ่มค้นหาตัวเองเจอในช่วงนั้น ดังนั้น หลายๆ อย่างที่เกี่ยวกับเมืองไทยเราจึงไม่รู้เลย คือไม่รู้จักใครเลย ไม่เคยอ่านอะไรใหม่ๆ ที่มาจากไทย

“พอกลับมาเขียนหนังสือก็กลับมาโดยที่ไม่ได้รู้จักอะไรใหม่ที่ไทยเลย ไม่รู้จักนักเขียน ไม่รู้จักนิตยสาร และเขียนโดยไม่ได้คาดหวัง เวลามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กลับมาเราจึงรู้สึกแปลกๆ หนึ่งคือ ไม่ได้อ่านบทวิจารณ์ที่เกี่ยวกับตัวเราเอง เพราะเราไม่เข้าใจว่าเขาพูดถึงอะไร เขาอาจจะมีการเชื่อมโยงถึงนักเขียนไทยคนอื่น หรือพูดถึงความเคลื่อนไหวในวงการวรรณกรรมไทยซึ่งเราไม่รู้ สำหรับเรา เราไม่เข้าใจว่าเขาพูดถึงอะไร

“อีกอย่าง การได้รับรางวัลซีไรต์ก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดหวังเหมือนกัน แล้วก็ไม่เข้าใจความสำคัญของมันสำหรับแวดวงวรรณกรรมไทย พอถูกวิจารณ์หนักๆ และได้ซีไรต์ด้วย มันเป็นความงงมากกว่าว่าเขาพูดถึงอะไร และรางวัลนี้สำคัญขนาดนั้นเลยเหรอ

“แต่พอวันนี้กลับไปมองสิ่งที่เขาวิจารณ์แล้วก็เข้าใจนะว่าทำไมเขาถึงพูดแบบนั้น แล้วก็หลายๆ อย่าง ณ เวลานั้น ตามธรรมดาของคนที่ถูกด่า เราก็รู้สึกไม่ดี แต่ความรู้สึกไม่ดีมันสร้างกรอบที่จะต่อต้านเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เราก็ทำความเข้าใจได้มากขึ้นว่าทำไมเขาถึงวิจารณ์แบบนั้น บางอย่างเราเห็นด้วย ว่างานของเราในช่วงนั้นมันค่อนข้างเป็นการเขียนเอามันมากกว่าที่จะมีเนื้อหาชัดเจน เพราะเราคิดเสมอว่าการเขียนของเรามันมีพื้นฐานจากการทำงานศิลปะ

“งานศิลปะสำหรับเราบางอย่างมันเป็นงานร่าง เหมือนการสเกตช์ภาพ เราก็ร่างเฉยๆ ไม่ได้สนใจว่าภาพนั้นคืออะไร มันทำด้วยความสนุกมือ อยากทดลองเล่น มันอาจง่ายเกินไปที่เอาสิ่งที่เราทดลองเล่นมานำเสนอกับคนอื่น

“แล้วโดยส่วนตัวเป็นคนชอบอารมณ์ขัน รู้สึกว่างานเขียนที่มันเป็นหัสคดี มีลูกเล่น มีการทดลอง มีการพูดถึงประเด็นที่มันยาก แต่ทำให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วยอารมณ์ขัน หรือว่าทำให้การเสียดสีไม่รุนแรงจนเกินไป จึงทำให้เป็นคนที่ชอบงานที่มีอารมณ์ขันมาตลอด แม้แต่ทุกวันนี้สิ่งที่เราเสพบ่อยๆ ก็คือรายการตลกหรือ Stand-up Comedy แต่เมื่อมีคนให้โอกาสเราทำตอนนั้น เราก็ทำ ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองหรือคิดอะไรมาก”

คุณ (คนที่นอนอ่านคอลัมน์นี้อยู่) อาจคุ้นเคยกับเขา จึงเสนอความเห็นว่างานแบบปราบดา หยุ่น เป็นรูปแบบเฉพาะไปแล้ว

การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ ปราบดา หยุ่น กับความเชื่อที่ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่เริ่มต้นเขียนหนังสือ

“เราไม่แน่ใจว่างานเรามันเป็นแนวทางใหม่หรือเฉพาะทาง โดยเฉพาะในยุคนี้ ดูเหมือนงานเราจะเป็นงานใต้ดิน (หัวเราะ) คือมันไม่ได้หาง่าย แล้วก็ไม่ได้มีคนอ่านเยอะขนาดนั้น ไม่ได้อยู่ในกระแสที่คนจะเดินไปหยิบซื้อหรือหามาอ่านได้ง่ายๆ เด็กบางคนยังคิดว่าเราเป็นนักเขียนที่ตายไปแล้วด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เพราะเวลาเราไปงานหนังสือ เด็กบางคนเดินผ่านบูธเราแล้วตกใจว่า ปราบดา หยุ่น ยังมีชีวิตอยู่อีกเหรอ”

สำหรับคุณ (คนเดิม) ที่ติดตามงานเขียนของปราบดา หยุ่น มาอย่างต่อเนื่อง จะเข้าใจดีว่าเขายังไม่ตาย แต่อาจมีช่วงเวลาหนึ่งที่หยุดเขียนไปสักพัก หลังจากปล่อยให้พายุตัวอักษรโหมกระหน่ำ

“ความเปลี่ยนแปลงในการเขียนของเราเกิดจากปัจจัยหลายอย่างในชีวิต อย่างเช่นช่วงที่หยุดเขียนไปสักพัก ก็เป็นช่วงที่เลิกทำนิตยสาร open พอดี ทำให้เราต้องคิดถึงอนาคตของตัวเองว่า เมื่อไม่มีงานประจำแล้ว เราจะทำอะไร ก็เป็นช่วงที่เริ่มคิดถึงการทำสำนักพิมพ์ ก็เลยหยุดทำอะไรหลายอย่างในช่วงนั้น เช่น หยุดเขียนคอลัมน์ หยุดกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสื่อและการเขียนทุกอย่างที่เราเคยทำมาตลอดก่อนหน้านั้น เหมือนหันมาวางรากฐานสิ่งใหม่กับสิ่งที่เราจะทำ”

คุณ (คนนั้น) อยากรู้เพิ่มเติมอีกใช่ไหมล่ะครับว่า ก่อนที่เขาจะวางรากฐานสิ่งใหม่ เขามีรากฐานแบบไหนมาก่อน

คุณอีกคน (คนไหนก็ได้) ถามให้ชัดขึ้นว่าพื้นฐานเกี่ยวกับการเขียนของเขาเป็นอย่างไร

“เราเขียนทั้งงานแบบ Fiction หรือเรื่องสั้น นวนิยาย กับงานแบบ Non-fiction หรือพวกสารคดี ความเรียง ถ้ามองงาน Fiction มันไม่จำเป็นต้องไปค้นหาอะไรมาก อ่านแล้วรู้สึกอะไรกับมันหรือเปล่า อันนี้เป็นพื้นฐานที่เราใช้ในการทำงานศิลปะหรือเสพงานศิลปะอื่นๆ ด้วย ถ้าเราเริ่มจากการตั้งใจหรือเข้าใจไปก่อนว่า งานชิ้นนี้มันมีความซับซ้อน ล้ำลึกที่ต้องค้นหา เราคิดว่าไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่ดีของการเสพงานศิลปะ เพราะว่าเราจะมีตัวกรองไว้ล่วงหน้าว่า เราต้องการอะไรจากงานนี้ ทั้งที่เขาไม่ได้มีอะไรจะให้เรา

“ดังนั้น เบื้องต้นเราก็เสพแบบไม่ต้องคิด ต้องรู้สึกว่ามันสนุกไหม เราได้อะไรจากมันในแง่ความรู้สึกหรือเปล่า แล้วถ้ามันมีความน่าสนใจมากพอ หรือมีอะไรค้างคาใจอยู่ เราค่อยไปวิเคราะห์อีกทีหนึ่ง เราไม่ค่อยซีเรียสกับการค้นหาความหมายในงานเขียนแบบ Fiction แต่ทีนี้ในงานแบบ Non-fiction ความเรียงหรือสารคดี อันนี้เราต้องมีจุดมุ่งหมาย ถ้าอ่านงานความเรียงแล้วเกิดไม่รู้อีกว่าเราจะเสนออะไรหรือพูดอะไรก็คงจะมีปัญหา”

คุณเกิดอาการคันในใจว่า แล้วระหว่างเรื่องสั้นกับนวนิยาย ปราบดา หยุ่น ชอบงานเขียนประเภทใด

“เริ่มต้นเราชอบเขียนงานประเภทเรื่องสั้นมากกว่านวนิยาย เราจะไม่กังวลมากกับการเขียน เพราะเราคิดว่าทุกอย่างเขียนเป็นเรื่องสั้นได้หมด แล้วก็เป็นคนชอบเรื่องสั้นที่พูดถึงจังหวะสั้นๆ จังหวะเล็กๆ มุมเล็กๆ ของชีวิต ก็เลยไม่ยากที่จะหามุมบางอย่างในชีวิตที่จะมาเขียนให้เป็นเรื่องสั้นได้

“อย่างที่บอก เรื่องสั้นสำหรับเรามันคือไอเดีย คือสเกตช์ แต่งานสเกตช์บางอย่างมันก็สวยงามได้ด้วยตัวมันเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพฝาผนังขนาดใหญ่ อาจเป็นแค่จุดเล็กๆ ลายสั้นๆ ที่เรารู้สึกว่ามันปะทะกับจิตใจหรือความรู้สึกของเราได้

“แต่พอเป็นงานนวนิยายมันต้องมีการวางโครงสร้างมากกว่า เพราะเวลาเราอ่านนวนิยายที่ไม่มีโครงสร้างเราจะรู้สึกเบื่อ มันมีงานประเภทนั้น คือคนที่เขียนด้นไปเรื่อยๆ เอาความสนุกเป็นหลัก ซึ่งเมื่ออ่านงานมูราคามิจะเป็นแบบนั้น แบบ อืมๆ ดูซิ ว่ามันจะไปไหน (หัวเราะ) แต่ว่าเขาเขียนสนุกไง ก็พาให้คนสนใจต่อไปด้วยกันได้ แต่สำหรับเรา งานแบบนั้นจะทำให้รู้สึกเหมือนอ่านเรื่องสั้นยาวๆ บางทีมันเหนื่อย เวลาเราเขียนนวนิยายถึงได้ชอบวางโครงสร้างมากขึ้น ให้มันมีประเด็นบางอย่างที่รัดกุม”

นอกจากพื้นฐานการเขียน แล้วพื้นฐานการอ่านล่ะ คุณถามเขา

“เราอ่านงาน Fiction น้อย เราอ่านประเภท Non-fiction มากกว่า อาจเป็นเพราะว่ามันเป็นวัตถุดิบสำหรับงานเรา เราอ่าน Fiction เพื่อหาแรงบันดาลใจในแง่สำบัดสำนวนการเขียน เราชอบอ่านบทกวี หรือว่านักเขียนที่ใช้สำนวนแปลกๆ สดๆ ใหม่ๆ เรายังชอบ แต่โดยเนื้อหาไม่ค่อยได้อะไร เราคิดว่านี่เป็นอาการเดียวกันกับคนอ่านหนังสือเยอะๆ อยู่แล้ว เพราะเรื่องแต่งไม่ค่อยมีอะไรใหม่หรอก มันยากที่จะหาอะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่า โอ้โห ไม่เคยมีใครเขียนมาก่อน มันไม่มี เราเลยไม่ได้แสวงหาเนื้อเรื่องใหม่ๆ อีกแล้ว”

คุณคนนั้น (คนที่กำลังอ่านมาถึงบรรทัดนี้) เกิดอยากถามขึ้นมาบ้างว่า แล้วมีงานเขียนที่ทำให้ปราบดา หยุ่น ได้ความคิดใหม่ๆ เพื่อมาเขียนหนังสือบ้างไหม

“ช่วงแรกๆ เราสนใจเซน เราหมกมุ่นมาก คืออ่านเยอะมาก อะไรๆ ก็ต้องเป็นเรื่องเซนไปหมด เห็นวงกลมก็ดีใจแล้ว (หัวเราะ) แต่ชีวิตมันก็ต้องดำเนินต่อไป ชีวิตก็มีเรื่องอื่นเข้ามา มีเรื่องใหม่ที่เราสนใจ แต่โดยพื้นฐานแล้วเซนก็ช่วยเราไว้เยอะในทางจิตใจ ช่วยเปิดความคิดในแง่ต่างๆ ไว้เยอะ ดังนั้น มันก็ไม่หายไปไหนหรอก”

คุณยังไม่ได้คำตอบที่สาแก่ใจ จึงถามว่า แล้วต่อมามีเหตุการณ์ไหนอีกบ้างที่ให้สายตาใหม่

“ตอนเขียน ตื่นบนเตียงอื่น ซึ่งมาจากงานวิจัยที่เราได้ทุนวิจัยจาก Nippon Foundation สิ่งที่เราเสนอไปว่าเราจะวิจัยคือ การมีทัศนคติแบบใหม่ที่เรามีเกี่ยวกับธรรมชาติ เพื่อให้เชื่อมโยงกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม เราต้องการจะบอกว่า ความเชื่อและวิถีชีวิตแบบหนึ่ง โดยเฉพาะของพวกชนเผ่าหรือพวกที่นับถือวิญญาณในป่า ในต้นไม้ หรือในสัตว์ เชื่อมโยงกับการช่วยเหลือเรื่องสิ่งแวดล้อมได้

“ตอนนั้นเป็นความสนใจนั้น แล้วคิดว่าเราจะศึกษาผ่านคนที่ทำงานศิลปะในลักษณะนี้ ก็คือคนที่ทำงานศิลปะที่หยิบเอาเรื่องวิถีชีวิตของชนเผ่ามาพูด ทำให้เราได้เดินทางไปฟิลิปปินส์ เพราะฟิลิปปินส์มีเกาะเยอะ แล้วในเกาะต่างๆ ก็จะมีชนเผ่า อันนี้คือสิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นในตอนแรก พอได้เดินทางไปจริงๆ แล้ว ความคิดเรามันก็เปลี่ยน

“หนังสือ ตื่นบนเตียงอื่น จึงเป็นบันทึกการเปลี่ยนแปลงทางความคิดมากกว่าการเสนอสิ่งที่เราไปวิจัย เพราะในโลกความเป็นจริง หลายๆ อย่างมันเป็นมายาภาพที่เราเห็น เช่นชนเผ่าหลายๆ ชนเผ่าเป็นสิ่งที่เขาอนุรักษ์เอาไว้เพื่อนักท่องเที่ยวด้วยซ้ำ เอาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เห็นว่าชนเผ่าเป็นแบบนี้

“แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาจริงๆ ก็เหมือนเราปกติ แล้วก็ไม่ได้รักษาแนวทางอะไรที่เกี่ยวกับธรรมชาติของเขาไว้ก็เลยตั้งคำถามกับเรื่องพวกนี้ว่า หลายอย่างเป็นเรื่องของการเมือง การรักษาอำนาจ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องธรรมชาติ เรื่องจิตวิญญาณ มันเป็นเรื่องทางสังคมมากกว่า

“อย่างกลุ่มทางสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับชนเผ่าที่ตั้งขึ้นมา ส่วนหนึ่งเพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตของชนเผ่าจริงๆ แต่เป็นส่วนน้อยมากที่ทำให้เขาดำเนินการอยู่ได้ หลักๆ แล้วมันคือการหาเงินอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นอีกอาชีพหนึ่ง การทำงานของเขาก็ช่วยเลี้ยงชีพเขาไว้ได้เหมือนกัน

“นี่เลยทำให้เรามีทัศนคติใหม่เกี่ยวกับหลายมิติในสังคม สุดท้ายมันเป็นเรื่องการเอาตัวรอดของชุมชนและของปัจเจกบุคคล มากกว่าการรักษาความดั้งเดิมเอาไว้จริงๆ ซึ่งความดั้งเดิมที่จริงแล้วมันไม่มีอยู่จริง

การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ ปราบดา หยุ่น กับความเชื่อที่ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่เริ่มต้นเขียนหนังสือ

“แต่บางคนไปลงพื้นที่เขาอาจจะได้ข้อมูลที่อยากได้ก็ได้ เพราะเป็นข้อมูลที่เขาอยากจะเห็น แต่สำหรับเรา ข้อมูลแบบนั้นมันไม่ค่อยซื่อสัตย์กับชีวิต พอไปเผชิญกับอะไรที่ต่างไปจากที่เราเข้าใจ เราก็ควรจะต้องฟัง หรือรายงานไปตามนั้นด้วย ไม่ใช่มุ่งแต่จะเอาสิ่งที่เราต้องการอย่างเดียว”

คุณ (อีกคนเป็นแฟนนักอ่านตัวยง) เกิดตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า งานเขียนของปราบดา หยุ่น ว่าจึงมักให้ความสำคัญกับเรื่องของความคิด จิตสำนึก และตัวตน

คุณ (อีกคน) พยักหน้าตามหงึกหงัก รอฟังคำตอบ

“เราสนใจในเชิงวิทยาศาสตร์ เพราะว่าเราสนใจการทำงานของสมอง การทำงานของร่างกาย แล้วก็ความเชื่อมโยงระหว่างการทำงานของสมองกับความรู้สึกถึงการมีตัวตนของคน มันเป็นสิ่งที่เราตั้งคำถามอยู่ตลอดว่า เรารู้สึกว่าเรามีตัวตน แต่เพราะความรู้ถึงการมีตัวตนนี้ มันเป็นการทำงานของสมอง

“เรามีสมองที่ทำงานให้เรามีความรู้สึกนี้หรือว่าเรามีตัวตนจริงๆ ซึ่งคิดไปคิดมาก็ไม่มีคำตอบหรอก เพราะว่ามันไม่มีทางที่เราจะรู้จากภายนอกได้ว่า ทำไมเราเป็นแบบนี้ แต่เราก็สนุกที่จะคิด เราไม่ได้มีความสนใจในทางจิตวิญญาณอย่างเรื่องถอดจิต ออกจากร่างลอยไป แต่สนใจในเชิงวิทยาศาสตร์

“อีกอย่าง เราว่าคนเรามีส่วนที่ใช้ระบบอัตโนมัติ ความคิดที่มันเป็นอัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องคิด แล้วความอัตโนมัติของมันก็มีทั้งผลดีและผลเสีย ผลดีก็คือเราไม่ต้องเรียนรู้ทุกอย่างใหม่ในทุกวันที่ตื่นมา เราไม่ต้องคิดว่าเดินยังไง ทุกอย่างมันถูกจำเอาไว้ แล้วเกิดการทำซ้ำ

“แต่ว่าขณะเดียวกัน ถ้าเราปล่อยให้อยู่ในระบบอัตโนมัติตลอดเวลา เราก็เรียนรู้หรือเข้าใจอะไรใหม่ๆ ไม่ได้เลย ทุกวันนี้ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเรามีฟองอากาศมากขึ้น เรามีกลุ่มไลน์ เรามีเพจเฟซบุ๊ก ที่เป็นอัตโนมัติในแต่ละแบบ ทำให้เราไม่อยากเข้าใจคนอื่น เพราะมันไม่จำเป็น แต่ถ้าเรารู้ตัวว่าร่างกายเรามีแนวโน้มเข้าสู่ระบบอัตโนมัติตลอดเวลา เราก็อาจจะบังคับให้เรียนรู้อย่างอื่นได้บ้าง

“แล้วเราถูกแทรกแซงอยู่ตลอดเวลา มีหลายอย่างมากๆ ที่เราควบคุมไม่ได้ ตั้งแต่ถนนที่เราเลือกเดินก็ถูกปูมาให้เราเดิน มันจะยากกว่าถ้าเราไม่เดินไปบนถนน เราก็เดินไป บางทีเราไม่จำเป็นต้องคิดว่าชีวิตจะอิสระเสรี เลือกเองตามเจตจำนงเสรีของเราทุกอย่าง เพราะมันเป็นไปไม่ได้ แต่ก็มีบางเรื่องที่เราต้องถามตัวเองว่า เราโอเคไหมกับการถูกชี้นำขนาดนี้”

คุณ (คนนั้น) ซักไซ้อีกว่า เราจะมีเสรีในการเลือกได้อย่างไร

คุณ (อีกคน) ย้อนถามคุณ (บรรทัดบน) ว่า ถามอย่างนี้จะเข้าสู่ประเด็นเรื่องเสรีนิยม ที่ปราบดา หยุ่น สนใจอยู่ในเวลานี้ใช่หรือไม่

คุณ (บรรทัดบน) ยอมรับว่า ใช่ เขาอยากรู้การเปลี่ยนแปลงของปราบดา หยุ่น จากความคิดเชิงปรัชญา เล่นกับจิตและปัญญาผ่านเล่ห์กลของภาษา มาสู่ความคิดทางสังคมและการเมือง

“เราไม่อยากจะเคลมว่าความสนใจสังคมของเราเป็นแบบนักเคลื่อนไหว หรือว่านักกิจกรรมที่เขาสนใจสังคมจริงๆ หมายถึงคนที่เขาอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมจริงๆ ความสนใจของเรามันเกิดจากความสนใจเชิงปัจเจกที่มีความเป็นปรัชญาเป็นพื้นฐาน ก็คือความคิด และแน่นอนว่าความคิดมาจากสังคม

การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ ปราบดา หยุ่น กับความเชื่อที่ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่เริ่มต้นเขียนหนังสือ

“แต่ว่าก็เป็นความสนใจส่วนตัว อีกอย่างหนึ่งคือ แม้ว่าเราจะเขียนถึงสังคม เขียนถึงการเมือง ก็ไม่ได้หมายความเราอยากจะไปมีบทบาทอะไรมากกว่าที่เขียนหรืออ่าน เป็นความสนใจในแง่การแสดงความคิดเห็น ไม่ได้ไกลไปกว่าการอยากทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเป็นรูปธรรม

“เราอาจจะยังไม่ถูกกดดันขนาดนั้น ถ้าในวันหนึ่งมันเกิดเหตุการณ์ที่กดดันให้รู้สึก จำเป็นต้องลงถนน มันก็อาจจะทำได้ แต่ว่าที่ผ่านมา หรือ ณ ปัจจุบัน เรายังมีความสนใจเชิงวัฒนธรรมหรือศิลปะมากกว่า ทุกอย่างที่เสพก็เป็นศิลปะทั้งนั้น ที่จริงในงานเขียนแต่ก่อนเราก็มีการเมืองอยู่ แต่เราไปแตะแบบกวนตีนไง (หัวเราะ)

“คงเป็นเพราะเมื่อก่อนเรากวนไปหมด ไม่แคร์ด้วยว่าจะกวนใคร ด้วยความที่เราไม่มีธีม หรือชื่นชอบอะไรเป็นพิเศษจนไม่อยากจะไปแตะสิ่งนั้น เราเลยอิสระในการกวน

“แต่ว่าตอนนี้อาจจะคิดมากขึ้น เพราะเรารู้สึกว่าบางอย่างมันไม่แฟร์กับคนที่เราไปกวน เพราะว่ามันมีที่มาที่ไป เราควรจะวิเคราะห์มากขึ้นว่าทำไมสถานการณ์เป็นแบบนี้ทำให้เกิดคนแบบนี้ ไม่ใช่ว่ากวนกราดไปหมด ไอ้การกวนมันไม่ได้ผิดอะไรนะ เราก็ชอบเวลาอ่านคนกวนตีน ก็สนุก ตลกดี แต่บางทีเราควรต้องดูบริบทว่าสถานการณ์แบบนี้เป็นเพราะอะไร สนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น คือสนใจความเป็นมา”

คุณ (ที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้) ถามต่อว่า แล้วประเด็นเรื่องเสรีนิยมเกิดขึ้นได้อย่างไร

“เป็นความรู้สึกที่สะสมตั้งแต่กลับมาเมืองไทยใหม่ๆ ซึ่งก็ยี่สิบกว่าปีแล้ว จากการปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคมไทย จากข่าว จากเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้เราเริ่มค่อยๆ ตั้งคำถามมากขึ้นว่าเราอยู่ในแวดวงชนชั้นกลางถึงชนชั้นกลางสูงที่มีวิถีชีวิตค่อนข้างเสรีนิยม พูดง่ายๆ คือรอบตัวมันดูจะเป็นเสรีนิยม แล้วก็มีอิทธิพลจากต่างประเทศสูง เวลาคุยกัน เวลาเข้าสังคม หรือสังสรรค์กัน มันดูมีความเป็นสากล มีความเป็นเสรีนิยมสากล อันนี้พูดในเชิงวัฒนธรรมนะ ไม่ใช่ในเชิงระบอบการปกครอง

“แต่พอมีเหตุการณ์ทางการเมือง การแบ่งฝ่าย การวิพากษ์วิจารณ์กันและกัน ในแง่การเมืองหรือในแง่วัฒนธรรมเอง กลายเป็นว่าความคิดที่ดูจะเปิดกว้างในแง่อื่นๆ มันผิวเผินมากในความรู้สึกเรา หมายถึงว่าเอาเข้าจริงแล้ว ความเสรีนิยมที่เราเห็นในแวดวงของเรา ไม่ได้เสรีนิยมจริงๆ ลึกๆ แล้วมันไม่ใช่

“มีหลายอย่างที่คนไทยหรือสังคมไทยยอมรับไม่ได้ หรือว่าไม่เปิดใจให้กับความหลากหลาย หรือแบ่งฟองอากาศว่า ถ้าคุณอยู่ฟองนี้คุณทำได้ แต่อยู่อีกฟองคุณทำไม่ได้ คือถ้าคุณเป็นชนชั้นเดียวกับเรา คุณเป็นเสรีนิยมได้ แต่ถ้าต่ำกว่าหรือสูงกว่าคุณเป็นไม่ได้ ก็แปลกดี

“พอเราเจอกับตัวเองในแง่การทำงาน หรือพบเจอผู้คนในชีวิตประจำวัน ก็ยิ่งทำให้เราไม่ค่อยสบายใจกับความเป็นเสรีนิยมของเรา ที่จะอยู่ในสังคมนี้ มันก็เป็นการตั้งคำถามต่อมาเรื่อยๆ

“เราสะสมจากการอ่านทั้งประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์ต่างประเทศ ประจวบกับว่า ช่วงปีที่แล้วถึงปีนี้สถานการณ์ของโลกมีความคล้ายคลึงกันในแง่ของการปะทะกันระหว่างอุดมการณ์ มีหลายๆ ประเทศที่ผู้นำถูกมองว่าเป็นพวกขวาจัด หรือว่าฝ่ายขวาเริ่มมามีบทบาทในสังคม

“หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ก็มีการพูดถึงมากขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจที่จะเขียนถึง เพราะว่าในไทยเองก็เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเหมือนกัน แต่จะพูดจริงๆ แล้วก็ยังไม่ได้เปลี่ยนผ่านไปไหน ยังอยู่ในวังวนเดิมๆ ของปัญหา ที่เราก็เจอกันมานานหลายปีแล้ว”

คุณ (คนที่ยืนขึ้น-ชื่อเสรีหรือเปล่านะ) สงสัยว่า ปัญหาอะไรเป็นปัญหาของสังคมไทย

“เรารู้สึกว่าถ้าคนในสังคมมีความกลัวที่จะพูดหรือแสดงออกบางอย่าง ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ควรจะกลัวเพราะไม่ได้ผิดกฎหมาย หรือไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร มันก็เป็นปัญหาใหญ่ เพราะมันจะสร้างบรรทัดฐานที่ทำให้คนกลัวจะทำหรือพูดในสิ่งที่ไม่ควรกลัว หรือต้องมาปิดบังหลบหนี

“สำหรับเรา ประเด็นนี้มีความจำเป็นต้องพูดถึงในปัจจุบัน บางอย่างมันเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ควรจะถกเถียงกันได้ด้วยซ้ำไป และควรจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่พอมันมีกรอบของคำว่า ความเป็นไทย นี่คือจารีตแบบไทยที่ควรต้องรักษาไว้ ทำให้ความเปลี่ยนแปลงมันเกิดยาก แล้วก็ไม่มีใครอยากพูด เพราะว่าไม่มีใครอยากเจอปัญหา ก็เงียบๆ ไว้ดีกว่า ซึ่งคำว่า เงียบๆ ไว้ดีกว่า เราว่ามันเป็นปัญหาในสังคม

“เช่นการถกเถียงกันว่า นักเรียนต้องแต่งชุดนักเรียนไหม มันเป็นเรื่องที่ควรจะคุยกันได้ ไม่ควรจะถูกด่า ถูกดักตีหัว มันดูไร้สาระที่จะไปถึงระดับนั้น แต่พอความเป็นจารีตนิยมมันเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ บังคับคนให้เป็นไปตามจารีตมากขึ้น ก็เลยบีบบังคับให้คนไม่อยากมีปัญหา ไม่อยากจะหาเรื่องใส่ตัว ก็เงียบๆ กันไป ปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ และนี่ก็ทำให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ยาก

การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ ปราบดา หยุ่น กับความเชื่อที่ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่เริ่มต้นเขียนหนังสือ

“นี่คือเหตุผลที่เราเขียน เสรีนิยมยืนขึ้น เหมือนกัน ด้วยความรู้สึกว่าประเด็นต่างๆ ในชีวิต จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญ เพราะมันคือสิ่งที่เราต้องเผชิญทุกวัน ต่อให้เรามองว่าชีวิตเป็นเรื่องมายา แต่เวลาเราหิวมันก็ไม่มายา เวลาเราลำบากมันก็ไม่มายา (หัวเราะ) ดังนั้น อะไรก็ตามที่เราจะต้องสัมผัสและรู้สึกกับมันอยู่ ก็เป็นเรื่องสำคัญกว่าเรื่องที่เป็นนามธรรมมากๆ

“ทำให้เรามองภาพรวมและการเชื่อมโยงมากขึ้นว่า สมมติว่าเรากินกาแฟแก้วนี้ มันเชื่อมอะไรกับสังคมบ้าง อาจมีความสนใจสังคมในแง่สิ่งใกล้ตัวมากขึ้น แต่ความสนใจเดิมเรามันก็ยังมีอยู่นะ เรายังสนใจปรัชญาที่ไม่เชื่อมโยงอะไรกับสังคมไทยเลย ก็ยังชอบอ่านชอบฟังอยู่ แต่ขณะเดียวกัน เราก็รู้สึกว่าจำเป็นและสนุกไปอีกแบบที่จะทำความเข้าใจโครงสร้างของสังคม หรืออิทธิพลของอำนาจที่ควบคุมชีวิตเราอยู่ในชนชั้นต่างๆ ”

คุณ (ที่อยู่เงียบๆ มานาน) ตั้งข้อสังเกตบ้างว่า ความคิดที่เปลี่ยนไป ข้อมูลที่สั่งสมมา การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ได้ส่งผลถึงการเปลี่ยนรูปแบบการเขียนของปราบดา หยุ่น จากเรื่องสั้น นวนิยาย ความเรียง สารคดี ไปสู่รูปแบบงานเขียนกึ่งวิชาการ โดยเฉพาะในเล่ม เสรีนิยมยืนขึ้น

“เล่มนี้มีการอ้างอิงเยอะ มีหนังสือที่อ่านประกอบเยอะ ตรงไหนที่รู้สึกว่ามันไม่ควรจะพูดขึ้นมาลอยๆ ก็ควรจะใส่ที่มาว่าเราเอามาจากไหน ซึ่งจะดูวิชาการนิดหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วก็ไม่อยากให้มันเป็นวิชาการมาก เพราะว่าเราอยากจะสื่อสารกับกลุ่มคนที่ไม่ได้ไปในทางที่วิชาการเท่าไหร่

“กลุ่มคนที่อาจจะอยู่ในกระแสนิยมหรือ Pop Culture มากกว่า เพราะนี่คือกลุ่มคนที่ค่อนข้างมีอิทธิพลในวัฒนธรรม แต่ว่าไม่ค่อยอ่านอะไร (หัวเราะ) ไม่ค่อยสนใจที่จะลงลึก เป็นกลุ่มตามกระแส แต่เป็นกลุ่มคนที่มีพลัง เป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงสังคม”

คุณคนเดิม (คนไหนก็ไม่รู้) สงสัยขึ้นว่า ทำไมปราบดา หยุ่น ยังเชื่อในกระแสวัฒนธรรมนิยมอยู่

“ป๊อปคัลเจอร์มีพลังสูง เพราะมันเสพง่าย มีรูปแบบที่ทำให้เรารู้สึกดีที่จะได้เสพมัน เช่นเพลงป๊อป ก็รู้สึกดีที่จะร้องซ้ำๆ ในท่อนที่เราชอบ แล้วการที่เราได้ฟังสิ่งนี้ซ้ำไปมา มันช่วยอะไรบางอย่างในทางความรู้สึกของเรา มันมีอิทธิพลในระดับนี้

“เราก็รู้ว่าอิทธิพลพวกนี้มันผิวเผิน หมายความว่ามันจะมีอิทธิพลแค่ช่วงเดียว แล้วพอเทรนด์เปลี่ยน อิทธิพลก็จะเปลี่ยนอีกแล้ว แต่เรายังเชื่อในความสำคัญของการสื่อสารกับป๊อปคัลเจอร์ ในวัยที่เราอายุสิบสองสิบสามปี หรือเป็นวัยรุ่น มันก็ป๊อปทั้งนั้น แต่ถ้าเราเสพป๊อปที่นำเราไปสู่อย่างอื่นที่มันน่าสนใจขึ้น หรือลงลึกขึ้น ก็เป็นการชี้นำที่ดีได้ ซึ่งก็นำเราไปทางนั้นจริงๆ

“แม้ว่าส่วนใหญ่จะมาแล้วก็หายไป แต่บางอย่างที่คาอยู่กับเรา จะทำให้เราไปลงลึกกับเรื่องนั้นมากขึ้น หรือไปสนใจในสิ่งที่เราได้ยินมาเพียงผิวเผิน พอศึกษาให้ลึกลงไปแล้วมันเกิดความสนใจมากขึ้น เราจึงไม่เคยคิดตัดขาดจากความเป็นป๊อป คัลเจอร์ แต่ว่าบางอย่างเราก็เชื่อมโยงได้ยากจริงๆ เช่นเราโตในป๊อปคัลเจอร์ยุค 80 – 90 พอมาช่วงหลังๆ ที่เป็น K-Pop เราไม่เชื่อมโยงเลย ก็เลยคิดว่าบางอย่างเราไม่ต้องพยายามขนาดนั้นก็ได้”

นี่คงเป็นสาเหตุที่ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่างานเขียนของเขามักมีรูปแบบที่หวือหวา สะดุดตา บางครั้งก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับศิลปะแขนงอื่นๆ ที่ดึงดูดใจคนอ่านรุ่นใหม่ๆ เสมอ-รวมทั้งคุณ (คุณ) ด้วย

“เราสนใจสื่อหลายประเภทพอๆ กับ ชอบฟังเพลงพอๆ กับที่ชอบอ่านหนังสือ ชอบดูหนังพอๆ กับที่ชอบฟังเพลง เราไม่เคยแยกมันอยู่แล้วตั้งแต่แรก ก็เป็นคำถามที่มีมาตั้งแต่เด็กว่าทำไมคนในแวดวงเหล่านี้ถึงไม่ทำอะไรด้วยกันมากขึ้น อย่างเช่น มันแปลกที่คนทำเพลงไม่ค่อยอ่านหนังสือ เพราะว่าเราชอบฟังเพลงเราก็ชอบอ่านหนังสือ สำหรับเรามันเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่เริ่มทำงานก็เลยคิดว่าควรจะรวมสื่อเหล่านี้ให้เข้ากันด้วยวิธีอะไรบางอย่าง แต่บางทีในความเป็นจริงแล้วมันก็ยาก เพราะว่าแต่ละวงการเขาก็มีวิธีทำงานไม่เหมือนกัน มีทัศนคติไม่เหมือนกัน”

คุณ (หลายคน) สงสัยว่า นี่หรือเปล่าที่ทำให้งานของปราบดา หยุ่น มีลักษณะของการตัดข้าม ทั้งในมิติของการข้ามสื่อศิลปะและข้ามวัฒนธรรม ดังจะเห็นว่างานเขียนของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา

คุณ (อีกคน) จึงแสดงความเห็นว่า สักวันงานเขียนของไทยอีกมากจะต้องไปไกลระดับโลก

“แต่ว่าความสนใจต่อวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศมันกระจิริดมากๆ เลยนะ โดยส่วนใหญ่มันน้อยมาก ไม่ค่อยมีใครสนใจหรอก มันต้องถูกที่ถูกคนของที่นั่น เช่นถ้าหนังสือถูกตีพิมพ์ในสำนักพิมพ์ที่คนที่นั่นเขาสนใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ช่วยให้งานของเราเป็นที่สนใจมากขึ้น เหมือนกับต้องไปถูกทาง ในพื้นที่ที่เหมาะกับเราด้วย 

“อย่างญี่ปุ่นมันค่อนข้างจะถูกที่ อย่าง ทาดาโนบุ อาซาโน ที่มาเป็นพระเอกในภาพยนตร์ Last Life in the Universe เขาเติบโตมาในแวดวงหนังอินดี้ เพราะฉะนั้น คนที่สนใจเขาก็จะเป็นกลุ่มหรือชุมชนที่สนใจแนวศิลปวัฒนธรรมทางเลือกหรือต่างชาติ ก็เลยทำให้มีคนสนใจงานเราไปด้วย

“หรือว่างานที่ได้ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษก็เป็นเรื่องบังเอิญมาก สำนักพิมพ์ที่อังกฤษที่พิมพ์งานเราก็เป็นสำนักพิมพ์ใหม่ที่ให้ความสนใจกับงานเอเชียโดยเฉพาะ คนที่ก่อตั้งสำนักพิมพ์นี้เป็นคนพิมพ์งานเรื่อง The Vegetarian ของเกาหลีซึ่งได้รางวัลในปีถัดมาพอดี ก็เลยเป็นจังหวะที่คนหันมาสนใจสำนักพิมพ์นี้ ส่งผลให้เขามาสนใจงานเราเป็นพิเศษด้วย

“การถ่ายเททางวัฒนธรรมไม่ใช่แค่คุณแปลงานเขียนเป็นภาษานั้นแล้วมันจะเกิด ไม่ง่ายขนาดนั้น มันต้องมีช่องทางที่ถูกต้อง ต้องมีเครือข่ายที่เหมาะสม และตรงกับกลุ่มเป้าหมายงานเขียนของเราด้วย ความยากในการไปสู่สากลเลยไม่ได้เกี่ยวกับความสามารถของคนเขียน หนึ่ง มันเกี่ยวกับกระแสนิยม สองก็คือเรื่องความสนใจที่มีต่อวัฒนธรรมไทยในชาตินั้นๆ ด้วย”

ปราบดา หยุ่น จึงมองปรากฏการณ์ ‘โกอินเตอร์’ เป็นเรื่องของเงื่อนไขเวลาและคน ซึ่งเป็นปัจจัยที่เหนือการควบคุม ดังนั้น เราจึงเห็นว่าเขาสนใจในประเด็นที่ ‘โกอินไซด์’ มากกว่า

และจากที่คุณ ผม และเรา ชวนปราบดา หยุ่น คุยมาจนถึงบรรทัดนี้ ก็ล้วนแต่เป็นประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงข้างในของเขา ตั้งแต่เริ่มต้นเขียนหนังสือมาจนถึงวันนี้

แต่ถ้าหากผม (คนเขียนบทสัมภาษณ์นี้) จะ ‘โกอินเขา’ ต่อไปอีกสักนิดว่า ในวันนี้ ปราบดา หยุ่น ยังเชื่ออะไรอยู่ไม่เปลี่ยนบ้าง

“เรามีความเชื่อในความรู้สึก สุดท้ายแล้วยากที่เราจะปฏิเสธความรู้สึกที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันใกล้ๆ ตัว เราอาจจะอ่านปรัชญาได้ต่างๆ นานา เราอาจจะอ่านวิทยาศาสตร์ไปถึงควอนตัม ฟิสิกส์ หรือหลุมดำอันไกลโพ้นที่เราไม่อาจสัมผัสหรือเห็นได้จริง สุดท้ายสิ่งที่มันสำคัญในแต่ละวัน ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญต้นๆ ในชีวิตของเรา”

การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ คุ่น กับความเชื่อที่ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่เริ่มต้นเขียนหนังสือ

คุณครับ (คุณนั่นแหละครับ) คุณหายสงสัยในตัวเขาหรือยัง

อาจจะยังไม่ต้องตอบผมก็ได้ แต่ผมอยากชวนให้คุณสงสัยต่อไปอีกสักหน่อยว่า

คุณ (คนที่กำลังอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้และร่วมสนทนากับเราในครั้งนี้) คือใคร

คุณรู้สึกกับตัวเองมามากน้อยแค่ไหน และคิดกับตัวเองอย่างไร

ลอง ‘โกอินไซด์’ เข้าไปข้างในตัวคุณเองดูนะครับ

ส่วนผมน่ะเหรอ ผมก็น่าจะเป็นคุณ-คนที่อยู่นอกวงเล็บตั้งแต่บรรทัดแรก)

Writer

Avatar

จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร

หลงใหลโลกวรรณกรรมในหลากหลายมิติ ศึกษามาทางด้านวรรณคดีเปรียบเทียบ มีผลงานเขียนทั้งเรื่องสั้น (นามปากกา สมุด ทีทรรศน์) ความเรียง บทวิจารณ์วรรณกรรม บทความวิชาการ และบทสัมภาษณ์ นอกจากงานเขียนยังเป็นบรรณาธิการแปลอิสระและนักเดินทาง (ไม่อิสระ) ด้วย

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan