แสงอาทิตย์ยามเช้าสาดกระทบยอดหอระฆังสูงของวัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้า ฉายเงากางเขนสีดำรำไรลงบนลานกว้างหน้าวัดคาทอลิกเก่าแก่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ซึ่งชาวบ้านนับสิบคนกำลังกุลีกุจอกับการตระเตรียมงานฉลองครบรอบ 349 ปีแห่งการสถาปนาวัด

แลดูเป็นตัวเลขที่น่าเหลือเชื่อ ขนาดกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองหลวงยังมีอายุน้อยกว่าตั้ง 108 ปี

ดร.ตั้ว-ดร.ปติสร เพ็ญสุต เหมือนจะเดาใจเราออก จึงสลายข้อข้องใจนี้ด้วยการอธิบายว่าบาทหลวงชาวฝรั่งเศสเป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อครั้งบางกอกเป็นเพียงเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่อีก 100 กว่าปีให้หลัง ชุมชนนี้จะขยายตัวเมื่อมีการโยกย้ายชาวคาทอลิกจากเขมรเข้ามาอยู่ เป็นที่มาของชื่อ ‘บ้านเขมร’ ซึ่งเรียกสืบมานับแต่นั้น

ปติสร เพ็ญสุต นักโบราณคดีที่เกือบเป็นจะบาทหลวง ผู้เริ่มศึกษาคริสตศิลป์-กระจกสีในไทย

ที่นี่เป็นบ้านเกิดของ ดร.ตั้ว เช่นเดียวกับบรรพชนสืบขึ้นไปกว่า 10 ชั่วอายุคน นับแต่ต้นตระกูลชาวโปรตุเกสของเขาเริ่มลงหลักปักฐานในย่านนี้ตั้งแต่แผ่นดินที่ 1 แห่งรัตนโกสินทร์

ด้วยพื้นเพที่มาจากย่านเก่า กลิ่นอายของบ้านเก่า วัดเก่า หล่อหลอมให้เขากลายเป็นนักโบราณคดีที่ช่ำชองด้านการรื้อค้นจดหมายเหตุและหลักฐานตกค้างจากอดีตสารพัดชนิด โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ที่ตัวเขาศรัทธา จนเป็นที่มาของบทบาทนักเขียนคอลัมน์ ครุ่นคริสต์ ที่เขาสรรหาเกร็ดน่ารู้ทั้งศิลปะ ประวัติศาสตร์ ประเพณี พิธีกรรม ฯลฯ ของชาวคริสต์มาเล่าบนหน้าเว็บ The Cloud ได้สั้นกระชับ อ่านง่าย ได้ความรู้ ชนิดที่คนไม่ได้มีพระเยซูเป็นที่พึ่งก็เพลิดเพลินไปกับงานเขียนของเขาได้

เนื่องในเดือนสมภพแห่งพระคริสตเจ้า คอลัมน์ The Columnist ธันวาคมนี้ ขอชวนคุณผู้อ่านมาคิดครุ่นแบบครุ่นคริสต์ กับเรื่องราวชีวิตของ ดร.ตั้ว นักวิชาการอิสระและกูรูด้านคริสตศิลป์เบอร์ต้น ๆ ของเมืองไทย

ปติสร เพ็ญสุต นักโบราณคดีที่เกือบเป็นจะบาทหลวง ผู้เริ่มศึกษาคริสตศิลป์-กระจกสีในไทย
ปติสร เพ็ญสุต นักโบราณคดีที่เกือบเป็นจะบาทหลวง ผู้เริ่มศึกษาคริสตศิลป์-กระจกสีในไทย

คนคริสต์

ความทรงจำแรกที่คุณมีต่อคริสต์ศาสนาคืออะไร

ผมเกิดมาในครอบครัวคริสตชน โตมาก็รู้จักโบสถ์ที่คนคาทอลิกเรียกว่า ‘วัด’ เหมือนศาสนาพุทธ รู้จักชุมชนอยู่แล้ว เรียกว่าเห็นทุกอย่างมาตั้งแต่เกิดเลยก็ว่าได้

บรรพบุรุษของคุณเป็นใคร มาอาศัยอยู่ที่ชุมชนวัดคอนเซ็ปชัญได้อย่างไร

บ้านผมอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว บรรพบุรุษเป็นคนโปรตุเกสที่อพยพมาจากเขมร เขาก็เลยเรียกที่นี่ว่า ‘วัดเขมร’ เรียกชุมชนว่า ‘บ้านเขมร’ ณ ตอนนี้ก็อยู่กันมา 12 ชั่วอายุคนแล้วครับ

มีคนโปรตุเกสมาจากเขมรด้วยหรือ

เดิมคนพวกนี้เขาอยู่ที่อินโดนีเซียก่อน ปลายทางของพวกเขาคือติมอร์-เลสเต เพราะตรงนั้นมีไม้จันทน์ และตั้งเมืองท่าอยู่รอบ ๆ อินโดนีเซีย ต่อมาก็อย่างที่เรารู้กันดี อินโดนีเซียตกเป็นเมืองขึ้นดัตช์ โปรตุเกสก็โดนไล่ออกมา พวกนี้ไม่รู้จะไปอยู่ไหน ก็ไปอยู่เขมร เพราะกษัตริย์เขมรในอยุธยาตอนปลายไม่มีอำนาจ เป็นเมืองขึ้นสยาม บังคับโปรตุเกสที่มาใหม่ให้อยู่ใต้อำนาจไม่ได้อย่างแท้จริง

แต่พอ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกขึ้นมาเป็นกษัตริย์แล้ว พระองค์ทรงอยากจัดระเบียบกลุ่มเมืองต่าง ๆ ใหม่ จึงมีการทำศึกกับเขมร กวาดต้อนคนเขมรเข้ามา และมีกลุ่มคริสตชนเขมรเชื้อสายโปรตุเกสด้วย เป็นพวกลูกครึ่งลูกผสมที่เรียกว่า ครีโอล (Creole)

ปติสร เพ็ญสุต นักโบราณคดีที่เกือบเป็นจะบาทหลวง ผู้เริ่มศึกษาคริสตศิลป์-กระจกสีในไทย

นอกจากเรื่องเชื้อชาติของคนที่นี่แล้ว คุณคิดว่า ‘บ้านเขมร’ มีความเฉพาะตัวอย่างไร เมื่อเทียบกับชุมชนชาวคริสต์อื่น ๆ ในบ้านเรา

วัดนี้ไม่เหมือนที่อื่นตรงที่เป็นวัดของกลุ่มขุนนาง คนโปรตุเกสที่นี่มารับราชการเป็นกรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่ พวกโปรตุเกสอาสา วัดคาทอลิกจะมี 2 วัดที่เป็นกลุ่มขุนนางในราชสำนัก ก็คือกลุ่มซางตาครู้สกับคอนเซ็ปชัญ เลยต้องแสดงอัตลักษณ์ที่อิงกับราชสำนัก

จะว่าไป ร้อยละ 90 ของวัดคาทอลิกในไทย ถ้าไม่เป็นจีนก็เป็นญวน เขาจะใช้ภาษาจีน ภาษาญวน แต่ที่นี่เราใช้แต่ภาษาไทยกับภาษาละตินในพิธีกรรมทางศาสนา อาจจะใช้ภาษาโปรตุเกสบ้างที่บ้าน จะเห็นว่าเรามีการแห่พระแม่มารีย์ ก็ใช้บุษบกหน้าพระที่เป็นทรงไทย แสดงออกถึงความเป็นไทย

การเป็นชาวคริสต์ที่อยู่ท่ามกลางสังคมชาวพุทธอย่างประเทศไทยก่อให้เกิดปัญหาบ้างไหม

คริสตชนไทยมีอยู่ประมาณ 3 แสนคน ก็ 3 แสนคนมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ได้เพิ่มจำนวนเลยนะครับ ปัญหาอยู่ที่จำนวนซึ่งมีน้อยมาก การดำรงอยู่ของชุมชนก็มีปัญหา ชุมชนมันแคบ บางทีลูกหลานแต่งงานกับศาสนาอื่นบ้าง ชุมชนก็ไม่ขยายตัว

สำหรับวัดนี้ก็เป็นวัดที่โดน Siamization โดนกลืนง่ายกับกลุ่มคนไทยทั่วไป จะต่างกับกลุ่มคริสตชนจีนหรือญวนที่เขามีความเป็นกลุ่มก้อนมากกว่า แล้วมาภายหลัง ชุมชนเขาขยับขยายได้ง่ายกว่า อย่างวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน ซึ่งอยู่ข้าง ๆ ที่นี่ เขาเป็นวัดญวน ขยายไปสร้าง ‘วัดลูก’ 18 วัด แต่ว่าวัดเขมรไม่มีแบบนั้น ไม่มีวัดลูกเลยแม้แต่แห่งเดียว แม้จะอยู่มาร่วม 350 ปีแล้ว

เรื่องใดที่คนรอบข้างมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับศาสนาของคุณ เมื่อพวกเขาทราบว่าคุณนับถือคริสต์

ส่วนมากจะเข้าใจผิดเรื่องของการสารภาพบาป หรือการอภัยบาป เพราะเรื่องนี้แตกต่างกับศาสนาพุทธแบบไทยโดยสิ้นเชิง จริง ๆ ในพุทธศาสนาก็มีแนวคิดเรื่องการอโหสิกรรม แต่เนื่องจากศาสนาพุทธไม่มีพระเจ้า ดังนั้นอำนาจในการยกบาปจึงถูกตั้งคำถามเสมอ ๆ ว่าทำได้จริงไหม มีจริงหรือ จริง ๆ เราอาจจะเปรียบเทียบกับการที่พ่อแม่ที่รักเรามากให้อภัยลูก ๆ ก็ได้

ปติสร เพ็ญสุต นักโบราณคดีที่เกือบเป็นจะบาทหลวง ผู้เริ่มศึกษาคริสตศิลป์-กระจกสีในไทย

ความคิด(-คริสต์)

การที่คุณเป็นชาวคริสต์ มีผลต่อการเลือกเส้นทางชีวิตและอาชีพของคุณมั้ย

นิกายคาทอลิกทำให้ผมกลายเป็นคนอนุรักษนิยม อีกส่วนหนึ่งคือเราอยู่กับวัดเก่า ของเก่า และชุมชนดั้งเดิม เห็นของเก่ามาก ๆ ก็เลือกเรียนโบราณคดีแล้วกัน ฮ่า ๆ มองไปทางไหนก็เห็นมีแต่ชุมชนเก่าแถว ๆ นี้ ผมก็เพิ่งรู้เนอะว่าบางคนเรียกแถวนี้ว่าเมืองเก่า แล้วผมก็ถามว่าตรงไหนล่ะเมืองใหม่ เขาก็ตอบว่าบางนานู่น เวลามาที่คอนเซ็ปชัญ คนก็จะถามว่ามาเมืองเก่าเหรอ

คุณเรียนจบจากสถาบันใด

ผมจบมหาวิทยาลัยศิลปากร ทำเรื่องศิลปะอยุธยา โดยเฉพาะธรรมาสน์ในสมัยอยุธยาครับ

เพื่อนบ้านในชุมชนบ้านเขมรมีใครที่ชอบเมืองเก่าหรือเป็นนักโบราณคดีเหมือนคุณมั้ย

ไม่ค่อยมีนะครับ

ปติสร เพ็ญสุต นักโบราณคดีที่เกือบเป็นจะบาทหลวง ผู้เริ่มศึกษาคริสตศิลป์-กระจกสีในไทย

ทำไมคุณถึงนิยามตัวเองว่าเป็นคนชอบรื้อค้นจดหมายเหตุ อย่างที่เขียนเอาไว้ในไบโอกราฟีของเว็บไซต์ The Cloud

จดหมายเหตุเป็นเอกสารชั้นต้นที่ผ่านจากมือคนนั้นมาสู่มือเราโดยตรง เพราะฉะนั้น เหมือนกับเราขุดฟอสซิลขึ้นมาจากดิน เจอมันทันที มันไม่โกหกเรา เพียงแต่จะตีความผิดรึเปล่า มันอาจจะโกหกตัวเอง เช่น ศิลาจารึกที่ชมเชยตัวเองว่างามอย่างกามเทพ เราก็สรุปได้ว่าคนโบราณเขาคิดว่าตัวเองงามอย่างกามเทพ ถ้าโกหกมากกว่านี้คือไม่ใช่

เวลาเรียนประวัติศาสตร์ มีคำพูดหนึ่งว่า อดีตคือมนุษย์ต่างดาว ไม่ต้องย้อนไปไกลครับ แค่เราเป็นเด็กแล้วทะเลาะกับผู้ใหญ่ โลกของเขาก็เป็นอีกโลกหนึ่งแล้ว โลกที่คิดไม่เหมือนกับเรา เราจึงแทบจะไม่มีทางเข้าใจอดีตได้อย่าง 100% เลย แม้ว่าเราจะพยายามทำความเข้าใจกับมันก็ตาม

ยกตัวอย่างจดหมายเหตุหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าความเป็นมาของตระกูลเพ็ญสุตให้ฟังหน่อย

อันนี้ต้องคุยกันยาว จริง ๆ ต้นตระกูลเป็นชาวพุทธจากสิงห์บุรี คือ คุณพระสีหเขตบริบาล แต่ท่านมาแต่งงานกับคุณทวดผู้หญิงที่บ้านเขมรนี้ เราจึงใช้นามสกุลเพ็ญสุตด้วย อย่างไรก็ตาม หากนับตามสายสตรีก็อาจสืบถึงต้นตระกูลชาวโปรตุเกส นามสกุลรีเบยโร (Ribeiro)

ปติสร เพ็ญสุต นักโบราณคดีที่เกือบเป็นจะบาทหลวง ผู้เริ่มศึกษาคริสตศิลป์-กระจกสีในไทย

คนจะเป็นนักโบราณคดีควรมีคุณสมบัติอย่างไร

หนึ่ง ต้องเป็นคนช่างสงสัย ตั้งคำถามเสมอ

สอง ต้องไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่พูดตามกันมาโดยไร้การตรวจสอบ

สาม ต้องไม่ฟันธง แต่ใช้การสันนิษฐานจนกว่าจะตรวจสอบได้แน่ชัดจริง ๆ หากไม่ได้ อาจเสนอคำตอบที่มีมากกว่าหนึ่ง

สี่ ต้องมีความอดทน เพราะหลักฐานใหม่ที่พบอาจพบห่างกันหลายสิบปี

ห้า มีใจกว้างขวาง เพราะในช่วงชีวิตเราอาจไม่ได้รับคำตอบ จึงควรแบ่งปันข้อมูลให้เพื่อนร่วมอาชีพอย่างกว้างขวาง

หก มีมุมมองที่กว้างและลึกไปพร้อม ๆ กัน ถอยออกมาเมื่อต้องการมุมมองที่กว้าง และก้าวไปเมื่อต้องการมุมมองที่ลึก

เจ็ด ทดลองใช้แว่นตาหรือทฤษฎีหลาย ๆ อย่างไปพร้อม ๆ กันด้วยการสังเกตและทดลอง สหวิทยาการจำเป็นมากพอ ๆ กับความเชี่ยวชาญในเชิงลึก

ปติสร เพ็ญสุต นักโบราณคดีที่เกือบเป็นจะบาทหลวง ผู้เริ่มศึกษาคริสตศิลป์-กระจกสีในไทย

คิดอย่างไรกับการศึกษาโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนาในประเทศไทยยุคปัจจุบัน

โบราณคดีที่เกี่ยวกับคริสต์ศาสนาในไทยมีค่อนข้างน้อย หลังจากการขุดค้นบ้านโปรตุเกสเมื่อ 40 กว่าปีมาแล้วโดยกรมศิลปากร ก็ไม่ค่อยมีคนสนใจมากนัก อาจจะเพราะเป็นเรื่องเฉพาะด้าน อย่างไรก็ตาม ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือในเอเชียทั่วไป นักบวชคริสต์เป็นผู้เล่นที่สำคัญคนหนึ่งในการดำเนินไปของประวัติศาสตร์

ในชีวิตนักโบราณคดี ผลงานใดที่คุณภูมิใจมากที่สุดและคงลืมไม่ได้เลยตลอดชีวิตนี้

ทำมาหลายอย่างนะ แต่ที่ชอบที่สุดคือเรื่องกระจกสี เป็นส่วนหนึ่งของคริสตศิลป์ ศิลปะในศาสนาคริสต์ เพราะเมืองไทยไม่มีคนทำ เราเรียนโบราณคดี แม้จะบอกว่ามันนอกกรอบ นอกตำราแค่ไหน แต่คนก็ยังทำธีสิสเรื่องที่อาจารย์ถนัดอยู่ดี เลือกเรื่องที่อาจารย์ไม่รู้ไม่ได้ เพราะเขาจะบอกว่าเขาไม่มีที่ปรึกษาให้ เรื่องพวกนี้ผมเลยไม่ได้ทำในคณะโบราณคดี ผมมาทำเองด้วยความชอบ

ท่องโลกคริสตศิลป์กับ ดร.ตั้ว-ปติสร เพ็ญสุต เจ้าของคอลัมน์ ‘ครุ่นคริสต์’ ผู้ละทิ้งชีวิตในอารามมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีคริสต์

เหตุใดโบสถ์คริสต์ถึงได้ชอบทำกระจกสีเป็นลวดลาย ส่วนใหญ่มันทำเป็นรูปอะไร

กระจกสีในวัดคริสต์อาจจะมีความหมายทางเทววิทยาหลายอย่าง เช่น การสร้าง Lux Nova แสงใหม่ที่ไม่ใช่แสงธรรมชาติ คือแสงสีที่ย้อมภายในอาคาร เปรียบเสมือนการรับเอากายของพระเยซูเจ้า จากพระเจ้าสู่ธรรมชาติมนุษย์

กระจกสียังเป็นเหมือนพระคัมภีร์ ที่ยอมให้แสงเข้ามาในใจคน แล้วเปลี่ยนแปลงเป็นแสงใหม่ เสมือนคนบาปที่กลับใจ

ในทวีปยุโรปที่อากาศหนาว กระจกสีช่วยกันหิมะและฝนไว้ข้างนอก แต่ยอมให้แสงและความอบอุ่นเข้ามา ดุจดั่งพระคัมภีร์และพระศาสนจักรที่ดูแลคริสตชนในทุก ๆ วัน

ยิ่งไปกว่านั้น กระจกสียังเปรียบเหมือนครรภ์ของแม่พระที่เปิดทางแสงสว่างลอดเข้ามาโดยกระจกไม่แตก เป็นอุปมาของพรหมจารีย์ตลอดกาลของพระนางหลังตั้งครรภ์พระบุตรของพระเจ้า

นี่จึงเป็นที่มาของหนังสือ คริสตศิลป์กระจกสี โบสถ์คริสต์ในไทย ที่คุณเขียนใช่ไหม

ส่วนหนึ่งก็ใช่ จริง ๆ ที่มาของเล่มนี้คือผมไปหอจดหมายเหตุอัสสัมชัญ ได้เจอข้อมูลมากมายมหาศาล ต้องเข้าใจก่อนว่าศาสนจักรคาทอลิกมีบันทึกที่อายุเกือบเท่าประวัติศาสตร์ไทย เราอาจท่องกันมาว่าคริสต์เข้ามาในไทยพร้อมชาวโปรตุเกสสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แต่ที่จริงเข้ามาในดินแดนไทยตั้งแต่ยุคทวารวดี อย่างที่บางบทความผมเขียนไปว่า ศาสนาคริสต์ไม่ใช่แขกแปลกหน้าของเอเชีย 

ข้อมูลในหอจดหมายเหตุอัสสัมชัญมีล้นเหลือ และมีปฏิสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ไทยอยู่ตลอดเวลา คาทอลิกอาจเป็นเจ้าแรกหรือเจ้าที่ 2 ที่รู้จักสิ่งพิมพ์ รู้จักจดบันทึก เป็นคนที่จดบันทึกเยอะสุดในสังคมไทยแล้ว เพียงแต่เราไม่ได้หยิบข้อมูลตรงนี้มาใช้เลย ประวัติศาสตร์คริสต์อาจมีคนสนใจบ้าง แต่คริสตศิลป์ยิ่งไม่มีคนสนใจ

ข้อมูลจากหอจดหมายเหตุอัสสัมชัญมีเยอะมาก แล้วอะไรดลใจให้คุณเลือกทำเรื่องกระจกสีล่ะ

นั่นเพราะผมชอบกระจกสีมาตั้งแต่เด็ก ๆ รู้สึกว่ามันเป็นของอัศจรรย์มากเลยนะ มันเปลี่ยนสีได้ เป็นวัตถุที่มีการเปลี่ยนสีในตัวเอง เวลาแสงส่องมามันจับอกจับใจเรา ฉูดฉาดและเปลี่ยนสีไปได้เรื่อย ๆ แสงบ่ายก็สีหนึ่ง แสงเย็นก็อีกสี เป็นงานศิลปะที่แปลก ไม่เหมือนภาพวาดที่คงเดิมตลอดเวลา

ท่องโลกคริสตศิลป์กับ ดร.ตั้ว-ปติสร เพ็ญสุต เจ้าของคอลัมน์ ‘ครุ่นคริสต์’ ผู้ละทิ้งชีวิตในอารามมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีคริสต์

หลังจากออกหนังสือกระจกสี คุณยังเขียนหนังสือ โบสถ์คริสต์ในประเทศไทย อีกด้วย

เล่มนี้จริง ๆ ผมทำได้ไม่ลึกเท่าเล่มแรก เพราะว่าข้อมูลมันแห้ง และเป็นการจัดลำดับโบสถ์ตามศิลปะ ต้องมีเรอเนสซองส์ โรมาเนสก์ โกธิก โบสถ์ในไทยไม่ได้จับใจเรามากนัก พูดง่าย ๆ คืออาจไม่ได้สวยเท่าเมืองนอก แต่ในฐานะที่เป็นชุมชน เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เราจึงละเลยไม่ได้ เราต้องทำ ไม่งั้นก็จะหายไป พอเราไม่ให้ค่า คนอื่นก็ไม่ให้ค่าเหมือนกัน

ระหว่าง 2 เล่มนี้ คุณชอบเล่มไหนมากกว่ากัน

ผมชอบเล่มกระจกสีมากกว่า เพราะเป็นเล่มแรกด้วย เขียนอยู่ 7 วันเอง (หัวเราะ)

ท่องโลกคริสตศิลป์กับ ดร.ตั้ว-ปติสร เพ็ญสุต เจ้าของคอลัมน์ ‘ครุ่นคริสต์’ ผู้ละทิ้งชีวิตในอารามมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีคริสต์

ครุ่นคริสต์

เล่าให้ฟังหน่อยได้มั้ยว่าคุณมาเป็นนักเขียนคอลัมน์ครุ่นคริสต์ได้อย่างไร

คอลัมน์นี้เริ่มจาก อภิชาติ กิตติเมธาวีนันท์ น้องเป็นสถาปนิกแล้วเขาไปเรียนต่อ ผมก็เลยเข้ามาทำต่อ เขามีมุมมองที่น่าสนใจ เพราะมุมมองสถาปนิกกับนักโบราณคดีต่างกัน

บทความเรื่องแรกที่คุณเขียนลงคอลัมน์คือ

ผมคิดว่าน่าจะเขียนเรื่องวัดคอนเซ็ปชัญนี่แหละครับ แต่มันแห้งมากเลย เพราะตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่าแนวทางของเว็บไซต์เป็นยังไง เลยเล่าเรื่องทั่วไป ทั่วไปมาก ๆ

ท่องโลกคริสตศิลป์กับ ดร.ตั้ว-ปติสร เพ็ญสุต เจ้าของคอลัมน์ ‘ครุ่นคริสต์’ ผู้ละทิ้งชีวิตในอารามมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีคริสต์

ความสนุกของการเขียนครุ่นคริสต์อยู่ที่ตรงไหนบ้าง

ส่วนใหญ่เขียนไม่นานครับ เพราะบทความแบบ The Cloud มีข้อดีคือไม่ใช่วารสาร ไม่ได้เป็นงานเชิงวิชาการ ผมไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องของการทำ Reference ซึ่งบางคนเขาก็ใส่นะ ผมว่าในเมื่อไม่ใช่วารสารวิชาการอยู่แล้ว เราจึงบรรเลงความคิดเห็นส่วนตัวลงไปได้ ใส่จินตนาการหรืออะไรที่โอเวอร์ได้มากกว่างานวิชาการ

ผมชอบทำงานกับคนที่ไม่ใช่นักวิชาการนะ หลาย ๆ ครั้งอย่างเวลาไปเป็นที่ปรึกษาของบางบริษัท เขาก็ถามในเรื่องที่นักวิชาการไม่ถามกัน เช่นถามว่า สมัยอยุธยาเขาได้ยินเสียงอะไรบ้าง หรือ ได้กลิ่นอะไรบ้าง ถ้าเป็นนักวิชาการคงถามแต่ว่า ลวดบัวเป็นยังไง ปูนปั้นเป็นยังไง ทำให้เราตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมนักวิชาการเราไม่ถามกันแบบนี้บ้าง เป็นการฝึกสติปัญญาดีนะครับ

ถ้าจะต้องแนะนำให้คนอื่นลองมาอ่านคอลัมน์ของคุณดูสักเรื่อง คุณจะเลือกเรื่องไหนเป็นอันดับแรกสุด เพราะอะไร

บทความที่ผมตั้งใจเขียนมากที่สุดคือเรื่อง เพลงคริสต์มาส ตอนนั้นเขียนเพื่อส่งท้าย บ.ก. คนเก่า ก็เขียนไปเลย 20 หน้า ตู้ม! ดีใจเพราะบทความนั้นมีชาวคริสต์ไปอ้างอิงเยอะเหมือนกัน มีคนไปวิจารณ์มากด้วย เพราะเป็นเรื่อง ‘คริสตนิทาน’ คือเป็นเกร็ดที่ไม่ได้อยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิล แต่อยู่ในศิลปะ

ทุกวันนี้ศาสนาคริสต์ในไทยโดน Modify โดนสังคายนา ปรับปรุงให้ทันสมัย แต่เราอาจลืมไปว่าเกิดขึ้นมา 2,000 ปีแล้ว อดีตคือมนุษย์ต่างดาว ทุกคนมียุคสมัยของตัวเองทั้งนั้น คริสต์ในปัจจุบันก็ไม่เหมือนคริสต์เมื่อ 2,000 ปีก่อน ทุกคนควรมีวัฒนธรรมของตัวเองในยุคของตัวเอง เราไปว่าคนโบราณงมงายก็ไม่ได้ เราต้องเคารพเขาด้วย เหมือนที่ผมจบท้ายบทความว่า ในไบเบิลพูดถึง ‘ดวงดาวแห่งเบธเลเฮม’ มีดาวแค่ดวงเดียว ก็พาไปหาพระเป็นเจ้าได้ แต่วันนี้เรามีไบเบิลเป็นตู้ ๆ แต่ไม่พาเราไปหาอะไรเลย แล้วเราก็ไปว่าคนโบราณที่เขามีดาวแค่ดวงเดียวแต่พาเขาไปพบพระเจ้าได้ เราก็ต้องให้ความชอบธรรมกับเขา ไม่ใช่เอาตาของเราไปตัดสินเขาว่าเขางมงาย

ท่องโลกคริสตศิลป์กับ ดร.ตั้ว-ปติสร เพ็ญสุต เจ้าของคอลัมน์ ‘ครุ่นคริสต์’ ผู้ละทิ้งชีวิตในอารามมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีคริสต์

ครุ่นคริสต์อยากจะสื่อสารอะไรให้กับผู้อ่าน

ในฐานะนักโบราณคดี ผมรู้สึกว่าศาสนาคริสต์ในปัจจุบันถูกทำให้ทันสมัยจนเราลืมราก เราลืมประเพณี เรามาเป็นคริสต์แบบแห้ง ๆ เป็นคริสต์ตามตำรา ตามเอกสาร โดยลืมไปแล้วว่าศาสนาประกอบสร้างขึ้นมา ไม่ได้จบแค่พระเยซู แต่เป็นการรวบรวมความคิด ความหวัง ความเชื่อ และพลังใจของคนตลอด 2,000 ปีที่ผ่านมา ยิ่งมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เราจะพูดถึงแต่พระเยซูไม่ได้ งานของบรรดานักปราชญ์นักบุญทั้งหลายที่เขียนขึ้นมา เราจะไม่นับว่ามันเป็นคริสต์หรือ มันประกอบขึ้นมาจากคนเป็นพัน ๆ ล้าน แต่หลายคนมองแค่พระเยซูองค์เดียว

ผมคิดว่าพระเยซูตรัสสั่งสอนแค่นิดเดียว แต่ขยายเป็นหนังสือที่ใหญ่จนเผยแพร่ไปทั่วโลกได้ ในฐานะคนคริสต์สมัยใหม่ คุณอาจสนใจแค่พระเยซูก็ได้ แต่ในฐานะนักโบราณคดีของผม เราละเลยพวกเอกสารชั้นต้นแม้ว่าจะไม่ได้มาจากยุคคริสตกาลไม่ได้ มันเป็นตัวแทนของยุคสมัย อาจไม่ได้เป็นตัวแทนของพระเยซู แต่เป็นตัวแทนของชาวคริสต์ยุค 500 ปี 1,000 ปี หรือ 1,500 ปีแรกก็ได้

มีอะไรอยากฝากถึงผู้ที่ติดตามบทความของคุณมาจนถึงตอนนี้มั้ย

ขอบคุณที่อ่านนะครับ อยากจะบอกว่า ถ้าได้อ่านแล้วตระหนักว่า ‘ศาสนาคริสต์ไม่ใช่แขกแปลกหน้า’ ผมก็ดีใจแล้ว ดีใจที่เห็นว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมนี้ ของสังคมนี้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี จะในเอเชียหรือประเทศไทยเอง ชาวคริสต์ก็มีส่วนในการเสริมสร้างประเทศนี้ขึ้นมาครับ

ท่องโลกคริสตศิลป์กับ ดร.ตั้ว-ปติสร เพ็ญสุต เจ้าของคอลัมน์ ‘ครุ่นคริสต์’ ผู้ละทิ้งชีวิตในอารามมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีคริสต์

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์