กรุงเทพฯ พระมหานครของเราจนปัจจุบันมีอายุ 237 ปีแล้ว (ในปี 2562) แต่ใช่ว่าชุมชนโบสถ์คอนเซ็ปชัญแห่งนี้มีอายุแค่นี้เสียเมื่อไร

บางกอกของเราเป็นเมืองท่านานาชาติมานมนานเหลือเกิน อย่างน้อยการฉลอง 345 ปีของโบสถ์คอนเซ็ปชัญในปีนี้ก็เป็นประจักษ์พยานความเก่าแก่และการเป็นเมืองท่านานาชาติ ที่มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติศาสนาอาศัยอยู่ร่วมกันใน ‘หม้อหลอมใบใหญ่’ ทางวัฒนธรรมของบางกอกได้ชัดเจน

โบสถ์คอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้า (Immaculate Conception Church) เป็นโบสถ์คาทอลิกที่อยู่มานานที่สุดในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ผืนดินแห่งนี้ยังใช้ชื่อว่าบางกอก

ลัดเลาะเข้าตรอกไป โบสถ์คอนเซ็ปชัญ วิหารในชุมชนโบราณที่อายุเก่าแก่กว่ากรุงเทพมหานคร

ใน พ.ศ. 2217 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชพระราชทานที่ดินอันเป็นที่เลี้ยงช้างส่วนพระองค์ให้แก่ พระสังฆราช หลุยส์ ลาโน (Bishop Louis Laneau) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งท่านได้สร้างโบสถ์เล็กๆ และโรงพยาบาลในชื่อ ‘แม่พระปฏิสนธินิรมล’ เพื่อเทิดพระเกียรติพระนางมารีย์ พระมารดาของพระเยซู สำหรับใช้แพร่ธรรมให้แก่บรรดาชาวส่วย ซึ่งเป็นคนเลี้ยงช้างของพระเจ้าอยู่หัว

ลัดเลาะเข้าตรอกไป โบสถ์คอนเซ็ปชัญ วิหารในชุมชนโบราณที่อายุเก่าแก่กว่ากรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม ที่ดินที่ท่านได้รับพระราชทานออกจะห่างจากตัวเมืองสักหน่อย เพราะขณะนั้นศูนย์กลางเมืองบางกอกอยู่แถววัดอรุณฯ (วัดแจ้ง) และวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังฯ) โบสถ์คอนเซ็ปชัญจึงเหมือนอยู่หัวไร่ปลายนา แต่ก็มีวัดพุทธเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียง อย่างวัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) วัดสมอแครง (วัดเทวราชกุญชร) ซึ่งต่อมาในยุคกรุงเทพฯ ทั้งสองวัดก็ได้สถาปนาเป็นพระอารามหลวง

ในสมัยอยุธยา โบสถ์คอนเซ็ปชัญไม่ค่อยถูกกล่าวถึงมากนัก เพราะอยู่นอกเมือง ห่างพระนครกรุงศรีอยุธยา และมีบาทหลวงไม่มาก จึงไม่ค่อยมีบรรดามิชชันนารีมาดูแล ชาวบ้านต้องอยู่ในความดูแลของครูคำสอน จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 และย้ายราชธานีใหม่มาอยู่เมืองบางกอก ชาวโปรตุเกสดั้งเดิมจากอยุธยาจึงย้ายมาสร้างโบสถ์ใหม่ในพื้นที่กุฎีจีน หรือซางตาครู้ส บริเวณฝั่งธนบุรีใกล้วัดอรุณฯ ในปัจจุบัน แม้ว่าโบสถ์คอนเซ็ปชัญจะไม่ถูกรบกวนจากสงคราม แต่ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ

ลัดเลาะเข้าตรอกไปโบสถ์คอนเซ็ปชัญ วิหารในชุมชนโบราณที่อายุเก่าแก่กว่ากรุงเทพมหานคร

ในราชธานีใหม่ โบสถ์คอนเซ็ปชัญเริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จากการที่รัชกาลที่ 1 ทรงตีกรุงกัมพูชาได้ พระองค์ทรงเกณฑ์เชลยศึกชาวโปรตุเกสและชาวเขมรคาทอลิกเข้ามามากมาย สันนิษฐานว่าคงจะทรงเห็นว่ามีชุมชนคาทอลิกชาวส่วยที่พูดภาษาคล้ายคลึงชาวเขมรอยู่แล้วในบางกอก จึงโปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในแถบโบสถ์คอนเซ็ปชัญร่วมกับชุมชนเดิม หมู่บ้านจึงขยายตัวออก และกลายเป็นหมู่บ้านโปรตุเกสผสมเขมรในที่สุด

ดังนั้น ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีหมู่บ้านโปรตุเกสในบางกอก 3 แห่ง คือกุฎีจีน (โบสถ์ซางตาครู้ส) ตลาดน้อย (โบสถ์กาลหว่าร์) และบ้านเขมร (โบสถ์คอนเซ็ปชัญ) ซึ่ง 2 แห่งแรกอพยพลงมาจากอยุธยา แต่ต่อมาได้แยกชุมชนออกจากกัน ในขณะที่บ้านเขมรอยู่ที่บางกอกตั้งแต่สมัยอยุธยา และภายหลังมีชาวเขมรอพยพมาสมทบ

ตัวโบสถ์แต่เดิมเป็นอาคารไม้ทรงโรงขนาดใหญ่ สร้างแบบตามมีตามเกิดด้วยวัสดุไม่ค่อยคงทนนัก เพราะชาวคริสต์โบราณฐานะไม่ดี ต่อมาเมื่อสถานการณ์ต่างๆ เข้าสู่ภาวะปกติในสมัยรัชกาลที่ 3 สังฆราชฌ็อง บัพติสท์ ปาลเลอกัวซ์ (Bishop Jean-Baptiste Pallegoix) จึงริเริ่มสร้างโบสถ์ก่ออิฐถือปูนที่มั่นคงขึ้น

ลัดเลาะเข้าตรอกไป โบสถ์คอนเซ็ปชัญ วิหารในชุมชนโบราณที่อายุเก่าแก่กว่ากรุงเทพมหานคร

ท่านเลือกใช้อาคารแบบไทยๆ ปนจีนปนฝรั่ง ด้วยขาดแคลนสถาปนิกและช่างฝีมือ โบสถ์จึงออกมาหน้าตาเป็นอาคารแบบ ‘วิลันดา’ (มาจากคำว่า ฮอลันดา ทั้งที่จริงๆ แล้วผู้สร้างโบสถ์ไม่ได้เป็นชาวฮอลันดา แต่เป็นชาวโปรตุเกส) หรืออาคารผสมผสานลูกครึ่งไทย-ฝรั่ง ซึ่งอาคารแบบนี้มีทั่วไปในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น โบสถ์ซางตาครู้สหลังเดิม โบสถ์อัสสัมชัญหลังเดิม เพราะต้นทุนการสร้างไม่แพงมากนักและคงทน แต่เท่าที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันมีเพียง 2 หลังเท่านั้น และถูกปฏิสังขรณ์จนสังเกตได้ยากแล้ว ได้แก่ โบสถ์คอนเซ็ปชัญ และโบสถ์เซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ สามเสน ซึ่งเป็นชุมชนชาวเวียดนามอพยพสมัยรัชกาลที่ 3 อยู่ใกล้ชิดกันกับโบสถ์เขมร

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีการพยายามสร้างหอระฆังก่ออิฐถือปูนไว้ด้านหน้าโบสถ์ แทนที่หอระฆังเดิมที่เป็นไม้ หอระฆังก่ออิฐนี้ออกแบบโดยบาทหลวงซึ่งมิได้เป็นสถาปนิก แต่อยู่ได้ไม่นานก็ถล่มลงมา โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ดังนั้น จึงมีการคิดกันว่าควรจะจ้างสถาปนิกฝรั่งแท้ๆ มาออกแบบเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

โยอาคิม กราซี (Joachim Grassi) เป็นชื่อของสถาปนิกผู้นั้น ถ้าใครติดตามงานช่างฝรั่งในกรุงสยามจะรู้จักเขาดี ด้วยเป็นผู้ออกแบบวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร วังเจ้านาย และอาคารสถานที่ราชการมากมายในกรุงเทพฯ เช่น พระที่นั่งวโรภาษพิมาน อาคารกระทรวงกลาโหม รวมทั้งเป็นผู้รับเหมานำเข้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ทางเรือด้วย

ลัดเลาะเข้าตรอกไป โบสถ์คอนเซ็ปชัญ วิหารในชุมชนโบราณที่อายุเก่าแก่กว่ากรุงเทพมหานคร

กราซีออกแบบหอระฆังอย่างดีให้เข้ากับโบสถ์ทรงอ้วนเตี้ยเดิม เขาเลือกรูปทรง ‘สถาปัตยกรรมฟื้นฟูโรมาเนสก์’ (Neo-Romanesque) มาใช้ ซึ่งได้ผลอย่างงดงาม หลังจากนั้นมีการต่อเติมมุขทางเดินเชื่อมระหว่างหอระฆังกับโบสถ์ อาคารแบบไทยสมัยรัชกาลที่ 3 จึงกลายเป็นอาคารทรงฝรั่งในที่สุด

แต่หากพิจารณาให้ถ่องแท้ ระบบลวดบัวแบบไทยๆ เช่น บัวคว่ำบัวหงาย ฐานสิงห์ ยังคงเหลืออยู่ แสดงให้เห็นผลงานเก่าแก่ของท่านปาลเลอกัวซ์ ปราชญ์ผู้เป็นพระสหายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เข้าใจเมืองไทยและวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้ง ท่านคงจะประทับใจศิลปะไทยด้วย จึงเลือกรายละเอียดองค์ประกอบแบบไทยมาพลิกแพลงประยุกต์ใช้กับโบสถ์ใหม่

ทุกวันนี้ โบสถ์คอนเซ็ปชัญเป็นหนึ่งในอาคารประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงนัก เพราะตัวชุมชนโบราณที่เข้าถึงได้ยาก เต็มไปด้วยตรอกซอกซอยซับซ้อน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมยังไม่เข้าไปอย่างเต็มที่ 

ลัดเลาะเข้าตรอกไป โบสถ์คอนเซ็ปชัญ วิหารในชุมชนโบราณที่อายุเก่าแก่กว่ากรุงเทพมหานคร

และด้วยความเป็นชุมชนคาทอลิกอาจทำให้พี่น้องต่างศาสนาเกิดความลังเล แม้ว่าจะให้เข้ามาเยี่ยมชมได้ทุกวัน ช่วงเวลาแนะนำคือวันฉลองสำคัญๆ ที่ชุมชนมีงานใหญ่ ซึ่งมีหลายครั้งในรอบปี เราจะมีโอกาสได้สัมผัสความศรัทธาของชาวคริสต์ และร่วมรับประทานอาหารลูกผสมไทย-โปรตุเกสที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่กี่แห่งในกรุงเทพฯ 

เช่นวันฉลองแม่พระไถ่ทาส หรือแห่แม่พระขนมจีน ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กันยายน เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านนำรูปแม่พระเก่าแก่ที่อัญเชิญมาจากเมืองเขมรในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นออกแห่ และจะเลี้ยงอาหารประจำหมู่บ้าน คือขนมจีนแกงคั่วไก่ และอาหารพื้นบ้านต่างๆ มากมาย

วันพระตาย หรือวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ อยู่ในช่วงเดือนเมษายนใกล้เทศกาลอีสเตอร์ จะมีพิธี ‘ถอดพระ’ หรือละครศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูบนไม้กางเขน พิธีนี้จะคล้ายคลึงกับพิธีในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งในไทยเหลือเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือในชุมชนบ้านเขมรแห่งนี้ และชุมชนวัดซางตาครู้ส

วันฉลองแม่พระปฏิสนธินิรมล วันที่ 8 ธันวาคม เป็นงานฉลองประจำปีของโบสถ์และวันคริสต์มาส โดยในวันคริสต์มาสอีฟ 24 ธันวาคม จะมีประเพณีทำขนมฝรั่งโปรตุเกสออกจำหน่ายทั่วไป และยังมีขนมอีกหลายชนิดที่หากินที่อื่นไม่ได้ เช่น ขนมกุสรัง (หรือปุสรัง) ขนมปัสแตง ขนมฝรั่งที่คล้ายคลึงขนมฝรั่งกุฎีจีน แต่นิยมทำขนาดใหญ่เหมือนเค้ก รสชาติต่างกันเพราะคนละสูตร แต่จะอร่อยแค่ไหน ขอแนะนำให้มาลองชิมด้วยตัวเอง

Writer & Photographer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช