ริมฝั่งเจ้าพระยาเยื้องกับปากคลองฉะไกรใหญ่หรือคลองท่อ เส้นทางสายหลักที่ใช้เข้าสู่พระบรมมหาราชวังในกรุงศรีอยุธยา บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนคาทอลิกเล็ก ๆ ซึ่งมี ‘วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา’ เป็นศูนย์รวมศรัทธามาช้านาน อาจกล่าวได้ว่าวัด (โบสถ์) แห่งนี้เป็น ‘บ้านแรก’ ของนิกายโรมันคาทอลิกในสยาม
แม้วัดหลังแรกจะสร้างขึ้นมากว่า 350 ปี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ตัววัดและอาคารโรงเรียนหลังเดิมถูกกองทัพพม่าเผาจนหมดสิ้นเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 เหลือเพียงซากและสุสานของเหล่ามิชชันนารี
จนสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการก่อสร้างโบสถ์ใหม่อย่างมั่นคงในสมณสมัยของพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ โดยสถาปนิกฝรั่งชื่อก้องในขณะนั้น คือ โยอาคิม กรัสซี (Joachim Grassi) ครั้งนี้ได้มีการสั่งกระจกสีเข้ามาจากฝรั่งเศสด้วย ซึ่งถ้าผ่านไปทางนั้นก็เข้าไปแวะเยี่ยมชมเงาสะท้อนจากสีสันกันได้ เราจะได้เรียนรู้ว่า ‘บ้านแรกของคาทอลิกไทย’ มีอะไรที่เป็นเชื้อไฟของความเชื่อบ้าง
กระจกสีบอกเล่าประวัติศาสตร์
พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ สั่งกระจกสีเข้ามาติดตั้งยังวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา ส่วนหนึ่งเพื่อเล่าเรื่องราวคริสต์ประวัติ ส่วนหนึ่งเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งวัดขึ้นอีกครั้ง หลังจากพังไปจากผลของสงคราม โดยมีถึง 2 บานที่แสดงภาพเหมือนของตัวท่านเอง คือ
1. ภาพท่านสังฆราชหลุยส์ เวย์ คุกเข่าถือประกาศการจัดตั้งวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา ในปี 1883 โดยมีฉากหลังเป็นทิวทัศน์แบบเมืองร้อน มีต้นปาล์มและต้นกล้วย และสถาปัตยกรรมยอดแหลมแบบตะวันออกในจินตนาการของชาวตะวันตกยุคนั้น
2. ภาพท่านสังฆราชหลุยส์ เวย์ คุกเข่าถือแบบจำลองสถาปัตยกรรมวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา หลังที่กำลังจะสร้าง กระจกบานนี้ติดตั้งไว้ทางด้านซ้ายของประตูทางเข้าสู่พระแท่นบูชา เสมือนท่านกำลังถวายโบสถ์หลังใหม่นี้แด่พระเป็นเจ้า ท่าทางการถือโมเดลหรือแบบจำลองโบสถ์นั้น เป็นสัญลักษณ์เก่าแก่หมายถึงผู้อุปถัมภ์ในการสร้างโบสถ์นั่นเอง
3. ภาพ พระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 ประกาศให้ นักบุญยอแซฟ เป็นองค์อุปถัมภ์ของพระศาสนจักรคาทอลิกในปี 1870 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ร่วมสมัยกับการสร้างวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา พอดี ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของการรื้อฟื้นโบสถ์แห่งนี้ขึ้นอีกครั้ง หลังจากถูกกองทัพพม่าเผาทำลายไปในสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา
กระจกเล่าคริสต์ประวัติ
กระจกสีและจิตรกรรมยังทำหน้าที่เหมือนผู้เทศน์ ในสมัยอยุธยา สังฆราชเดอ ลาม็อต ก็ยังยอมรับว่า ภาพวาดจิตรกรรมเทศน์ได้ดีกว่าผู้เทศน์สักร้อยคน มีการถวายหนังสือคริสต์ประวัติประกอบภาพแด่ สมเด็จพระนารายณ์ พระองค์ทอดพระเนตรแล้วรับสั่งให้เขียนคำบรรยายประกอบเพื่อพระองค์จะได้เข้าพระทัยได้ ศิลปกรรมจึงทำหน้าที่ถ่ายทอดและช่วยเหลืองานทางศาสนาไปโดยปริยาย
กระจกก็เช่นกัน จิตรกรรมบนกระจกเคยได้ชื่อว่าเป็น ‘พระคัมภีร์ของคนยากจน’ ที่อ่านหนังสือไม่ออกและไม่มีสตางค์พอจะซื้อหนังสือภาพ ที่วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา กระจกที่สั่งจากฝรั่งเศสเล่าเรื่องคริสต์ประวัติมากมาย โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักบุญยอแซฟ องค์อุปถัมภ์ของวัด
1. ภาพแม่พระแต่งงานกับนักบุญยอแซฟ โดยท่านนักบุญถือไม้เท้าที่มีดอกลิลลี่งอกออกมา อันเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของท่าน
2. ภาพทูตสวรรค์มาเข้าฝันนักบุญยอแซฟ ในไบเบิล มีเหตุการณ์นี้ 2 ครั้ง คือตอนที่พระนางมารีย์ตั้งครรภ์พระเยซูแล้วนักบุญยอแซฟต้องการจะถอนหมั้นอย่างลับ ๆ แต่ทูตสวรรค์มาเข้าฝันบอกท่านให้รับมารีย์เป็นภรรยา และรับบุตรในครรภ์พระนางเป็นบุตรบุญธรรม อีกเหตุการณ์หนึ่งคือตอนที่กษัตริย์เฮโรดต้องการฆ่าพระกุมารเยซู เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดมาท้าทายอำนาจของพระองค์ ทูตสวรรค์จึงมาเข้าฝันยอแซฟเพื่อให้พาพระกุมารเยซูหนีไปยังประเทศอียิปต์
3. ภาพฉากประสูติของพระเยซูคริสต์ พระกุมารประทับในรางหญ้า มีเทวดาถือแผ่นป้าย มีข้อความว่า Gloria in excelsis deo et pax homi หมายถึงพระสิริรุ่งโรจน์จงมีแด่พระเป็นเจ้าในที่สูงสุด
4. ภาพนักบุญยอแซฟพาพระกุมารเยซูหนีการตามฆ่าของกษัตริย์เฮโรดไปยังอียิปต์
5. ภาพนักบุญยอแซฟและพระมารดาถวายพระกุมารเยซูในพระวิหาร ตามธรรมเนียมชาวยิวว่าทารกแรกเกิดจะต้องได้รับการตั้งชื่อและเข้าสุหนัต มีผู้เฒ่าสิเมโอนมาทำนายอนาคตของพระกุมารเยซู
6. ภาพนักบุญยอแซฟและพระมารดามาพบพระกุมารในวัยเยาว์กำลังสนทนาธรรมกับบรรดาอาจารย์ในพระวิหาร เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อพระเยซูอายุ 12 ปี พระองค์พลัดหลงกับบิดามารดา ทั้งคู่ตามหาถึง 3 วันจึงพบพระองค์กำลังสนทนาไต่ถามความรู้ด้านศาสนาในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม
7. ภาพครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ แสดงภาพพระเยซูในวัยเยาว์กำลังช่วยเหลือนักบุญยอแซฟทำงานช่างไม้ เพราะท่านมีอาชีพเป็นช่างไม้
8. ภาพนักบุญยอแซฟสิ้นใจ เหตุการณ์นี้ไม่มีในพระคัมภีร์ แต่อยู่ในธรรมประเพณีของชาวคาทอลิก ว่านักบุญยอแซฟสิ้นใจในอ้อมกอดพระเยซูในเวลาก่อนที่พระองค์จะออกไปเทศนาสั่งสอน ท่านจึงเป็นองค์อุปถัมภ์ของผู้ที่กำลังจะสิ้นใจด้วย
9. นักบุญยอแซฟรับมงกุฎในสวรรค์ ถึงแม้จะไม่มีตำนานเล่าว่านักบุญยอแซฟได้รับยกขึ้นสวรรค์ทั้งร่างกายเหมือนพระนางมารีย์ พระมารดา แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีพระธาตุหรือกระดูกของท่านหลงเหลืออยู่ พระศาสนจักรไม่ประกาศข้อความเชื่อเรื่องนี้และไม่ได้กล่าวพาดพิง เพราะไม่มีหลักฐานใด ๆ แต่ชาวคริสต์เชื่อว่าท่านต้องได้รับรางวัลในสวรรค์แน่นอน
กระจกภาพนักบุญอื่น ๆ
ภายในวัดนักบุญยอแซฟ ยังมีภาพกระจกสีนักบุญบางองค์ที่เล่าเรื่องชีวประวัติอันเป็นแรงบันดาลใจให้คริสตชนในสมัยนั้น เราเห็นได้ชัดว่ากระจกเหล่านี้สั่งมาอย่างดี บางบานก็สร้างขึ้นตามนักบุญองค์อุปถัมภ์ของผู้บริจาคเงิน เช่น
นักบุญนิโคลัส สังฆราชแห่งไมรา
กระจกภาพนักบุญนิโคลัสนี้ เข้าใจว่าสร้างขึ้นตามนักบุญองค์อุปถัมภ์ของเจ้าอาวาสวัดนี้ คือ คุณพ่อนิโคไล แปร์โรซ์ ท่านอาจจะมีความศรัทธาต่อนักบุญท่านนี้เป็นพิเศษ ประกอบด้วยเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
1. ภาพนิโคลัสห้ามพายุ นักบุญนิโคลัสถือว่าเป็นนักบุญในยุคต้นของศาสนาคริสต์ ในชีวิตของท่านเกิดอัศจรรย์หลายครั้ง เช่น ครั้งหนึ่งท่านช่วยชาวเรือโดยการห้ามพายุเมื่อพวกเขาร้องขอความช่วยเหลือจากท่าน
2. ภาพนิโคลัสช่วยเด็ก ๆ มีเจ้าของร้านเหล้าที่จับเด็กไปฆ่าเพื่อทำอาหาร ท่านจึงไปทำอัศจรรย์ช่วยให้เด็ก ๆ ฟื้นคืนชีพ เรื่องนี้ทำให้ท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ของเด็ก ๆ และเป็นต้นเค้าของนิทานเรื่อง ซานตาคลอส ในเวลาต่อมา
3. ภาพนิโคลัสรับเครื่องยศสังฆราชคืน ท่านประณามนักบวชชื่อ อาริอุส ในการสังคายนาที่เมืองไนเซีย และได้ตบเขา จึงถูกจักรพรรดิสั่งริบเครื่องยศสังฆราชและขังไว้ ในตอนกลางคืน พระเยซูเสด็จจากสวรรค์มาหาท่าน และประทานเครื่องยศคืนให้ ทุกคนเห็นอัศจรรย์จึงเข้าใจว่าสิ่งที่ท่านประณามอาริอุสนั้นถูกต้องแล้ว
4. ภาพการเคลื่อนศพของนิโคลัส ศพของท่านอยู่ในเมืองไมรา ประเทศตุรกี และมีอัศจรรย์เกิดน้ำมันไหลออกมาซึ่งรักษาโรคได้ ต่อมาเมื่อชาวมุสลิมนำทัพเข้าโจมตีไมรา จึงมีการย้ายศพของท่านออกจากเมืองไปไว้ที่อิตาลีแทน
นักบุญเทเรซาแห่งอาวีลา
ถ้าใครเคยดูหนัง เทวากับซาตาน จะมีภาพเทวดาถือลูกศรปักอกแม่ชีท่านหนึ่ง คือ นักบุญเทเรซาแห่งอาวีลา นั่นเอง ท่านเกิดในสเปนในศตวรรษที่ 16 และได้มีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่น่าทึ่งมาก
1. ภาพการเข้าอารามของท่าน ท่านเกิดในตระกูลขุนนาง บิดาจึงไม่อยากให้บวช แต่ท่านก็ยืนยันเด็ดเดี่ยว ในภาพมีบรรดาญาติพี่น้องมาส่งที่หน้าประตูอารามคาร์เมไลท์
2. ภาพการเพ่งญาณของท่าน เมื่อท่านทำสมาธิ ท่านได้รับนิมิตว่าพระเป็นเจ้าให้เทวดาเอาลูกศรทองคำมาปักที่หัวใจของท่าน ซึ่งทำให้ท่านมีความสุขเต็มเปี่ยมด้วยความรักของพระเจ้า
พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า
ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พระเยซูเจ้าเสด็จมาพบแม่ชีชื่อ มากาเร็ต มารี อาลาก็อก ในสภาพที่ดวงพระทัยของพระองค์ลุกเป็นไฟ ทรงตรัสว่าเป็นเพราะความรักที่พระองค์มีต่อมนุษย์ ดังนั้นชาวคาทอลิกโดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศส จึงนิยมสร้างรูปพระหฤทัยจำนวนมาก ซึ่งอาจถือว่าเป็นลักษณะทางชาตินิยมประการหนึ่งก็ได้ ที่วัดนักบุญยอแซฟเองก็มีการก่อตั้งในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยบรรดาบาทหลวงจากฝรั่งเศสเช่นกัน จึงปรากฏความศรัทธาต่อรูปพระหฤทัยถ่ายทอดลงในกระจกสีด้วย
ตอนนี้วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้ทุกวัน พร้อมห้องนิทรรศการพิเศษ 350 ปีคาทอลิกไทยที่หน้าวัด บอกเล่าประวัติความเป็นมาของสังคมคาทอลิกไทย ถ้าเดินทางไปจากกรุงเทพฯ เข้าทางแยกวรเชษฐ์ เลี้ยวไปทางวัดไชยวัฒนาราม แล้วเลยไปหน่อย จะสังเกตเห็นหอคอยสีเหลือง ๆ เลี้ยวเข้าไปได้เลย ชาวบ้านวัดนี้เขาใจดี ขอคำแนะนำหรือนำชมได้เลยครับ