ใน Episode แรกของเรียลิตี้โชว์กระแสแรงอย่าง This Is Me Vatanika แพรวทานิกา ปัทมสิงห์ อยุธยา นักออกแบบสาว ฟิวส์ขาดเมื่อมีคนพยายามจะแตะต้องเรือนผมของเธอ (แม้นั่นจะเป็นเพียงแค่วิกก็ตาม) เป็นที่มาของวลี “Don’t touch my hair!” ที่ชาวเน็ตเอามาแชร์แล้วแชร์อีก ขยี้แล้วขยี้อีกกันมาเป็นเดือนๆ

หากลองนึกถึงสาเหตุที่คุณแพร (หรือใครก็ตาม) ไม่ชอบให้คนอื่นมายุ่มย่ามกับผมของตนเอง นอกเหนือไปจากเหตุผลเรื่องมารยาทหรือความเป็นส่วนตั๊วส่วนตัวแล้ว อาจจะมีส่วนประกอบของค่านิยมและความเชื่อไทยๆ ที่ให้เราสงวนศีรษะและเส้นผมของเราไว้เป็นพื้นที่พิเศษ ด้วยเป็นจุดสูงสุดของร่างกาย คนไทยจึงเชื่อว่า ที่นั้นเป็นศูนย์รวมของขวัญและสิ่งศักดิ์สิทธิ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า ‘ขวัญ’ ไว้ว่าสิ่งที่ไม่มีตัวตน เชื่อกันว่ามีอยู่ประจำชีวิตของคนตั้งแต่เกิดมา ถ้าขวัญอยู่กับตัวก็เป็นสิริมงคล เป็นสุขสบายจิตใจมั่นคงเราจึงไม่ควรให้ใครมาแตะต้องศีรษะหรือเส้นผม เพื่อให้ขวัญสถิตกับที่ ไม่กระจัดกระจายหายไปไหน

มิใช่เพียงในวัฒนธรรมไทย ในเกือบทุกๆ วัฒนธรรมมักให้ความหมายและความสำคัญกับผมเป็นพิเศษ ในชมพูทวีป คุณสมบัติข้อแรกของเบญจกัลยาณี นางผู้มีความงามพร้อมได้แก่ เกสกลฺยาณํ หรือเรือนผมที่แผ่งามเสมือนหางนกยูง เมื่อสยายออกแล้วทิ้งตัวลงมาถึงชายผ้า

ในวัฒนธรรมอเมริกันพื้นเมือง ทั้งชายและหญิงต่างไว้ผมยาว เพราะพวกเขาเชื่อว่าผมที่ยิ่งยาวยิ่งแสดงถึงความงอกงามทางจิตวิญญาณ เส้นผมไม่เพียงเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับกับธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับระบบประสาทและสัญชาติญาณ เล่ากันว่าสมัยสงครามเวียดนาม ชายหนุ่มอเมริกันพื้นเมืองที่มีทักษะในการรบถูกเกณฑ์ให้ไปออกรบด้วย เมื่อต้องเข้ากองทัพสหรัฐฯ พวกเขาต้องตัดผมสั้นเกรียนแบบทหาร เมื่อไร้ผมยาวฉันใด ชายหนุ่มเหล่านั้นก็กลายเป็นแมวที่ไร้หนวดฉันนั้น ทั้งหมดสูญสิ้นเสียกำลังใจและพลังในการต่อสู้และล้มเหลวในการปฎิบัติภารกิจโดยสิ้นเชิง

เจ้าดารารัศมี, อินเดียนแดง

เจ้าดารารัศมี, เจ้าหญิงเลอา

ภาพ: www.lazerhorse.org/2015/04/02/frank-rineharts-intimate-portraits-native-americans-1890s
ผมที่ยาวจนสามารถทำเป็นทรงผมอันแปลกตาของหญิงสาวอเมริกันพื้นเมืองเป็นแรงบันดาลใจให้กับทรงผมของเจ้าหญิง Leia ในมหากาพย์ภาพยนตร์ Star Wars
ภาพ: www.vivala.com/hair/princess-leia-original-hair-buns

 

ชนพื้นเมืองอเมริกันพื้นเมืองหลายเผ่าจะตัดผมเมื่อคนในครอบครัวเสียชีวิต เส้นผมที่ถูกตัดเป็นสัญลักษณ์ของวันเวลาที่พวกเขากับผู้วายชนม์มีร่วมกัน ผมที่จะยาวต่อจากนั้นเปรียบเสมือนชีวิตหลังการสูญเสียที่ต้องดำเนินต่อไป ในหลายๆ ส่วนของโลกก็มีวัฒนธรรมไว้ทุกข์รูปแบบนี้ ชาวตองกาจะตัดผมเมื่อบิดาหรือปู่เสียชีวิต เช่นเดียวกับธรรมเนียมของชาวชมพูทวีปที่แผ่อิทธิพลมาถึงสยาม ในอดีตหากพระเจ้าแผ่นดินหรือพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เสด็จสวรรคต ราษฎรทั้งชายหญิงต้องโกนศีรษะถวายอาลัยทั้งแผ่นดิน  

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่า “…หม่อมฉันได้อ่านเรื่อง ราชประวัติของพระเจ้าอัคบาร์มหาราชพบแห่งหนึ่งว่า เมื่อพระชนนีพันปีหลวงสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอัคบาร์ถึงถือศาสนาอิสลามก็โกนพระเกศาไว้ทุกข์ตามธรรมเนียมอินเดียด้วยความเคารพ ประเทศไทยเราโกนหัวไว้ทุกข์ หม่อมฉันไม่เคยทราบว่าได้มาจากไหน พึ่งมาปรากฏแก่ใจว่าได้มาจากอินเดีย

ในนิทานคำกลอนเรื่อง ลักษณวงศ์ ที่สุนทรภู่แต่งในสมัยรัชกาลที่ 3 กล่าวถึงธรรมเนียมนี้และสอดแทรกทรรศนะของกวีไว้ในตอนที่นางเอกของเรื่อง ผู้ดำรงตำแหน่งพระมเหสีสวรรคต ปรากฏเป็นกลอนสุภาพบทนี้

แล้วแจกหมายต่อต่อเป็นข้อขัน
ประกาศกันโกนเกล้าทั้งกรุงศรี
แสนสงสารสาวสาวเมื่อคราวนี้
จะเศร้าศรีเสียผมให้ตรมใจ

นอกจากนี้ยังบรรยายความรู้สึกของราษฎรที่ถูกโกนผมไว้ว่า ซังตายว่าข้าวิตกอกจะแตก เขาโกนแกรกใจหายเสียดายผม

อนึ่ง เมื่อปี 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงออกประกาศว่า ตามโบราณราชประเพณีในเวลาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งหลายต้องโกนผมแทนการไว้ทุกข์ทั่วทั้งราชอาณาจักร แต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงมีพระราชดำรัสรับสั่งไว้ว่า การไว้ทุกข์เช่นที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมเป็นเครื่องเดือดร้อนอยู่เป็นอันมาก ให้ยกเลิกเสียทีเดียว

เจ้าดารารัศมี, ประเพณีโกนผม

ข้าราชสำนักกัมพูชาโกนศีรษะไว้ทุกข์ในงานพระศพพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ เมื่อปี 2471
ภาพ: lofficielthailand.com/2016/10/ธรรมเนียมในงานพระบรมศพ

 

ตรงกันข้ามกับธรรมเนียมจีน เมื่อคนในครอบครัวจากไป การไว้ทุกข์จะทำโดยไม่ตัดผมและหนวดเคราจนถึงเวลาออกทุกข์ ธรรมเนียมนี้อาจจะจำลองภาพผมเผ้าที่รุงรัง แสดงภาพความทุกข์ทนเมื่อบุคคลอันเป็นที่รักจากไป จนคนในครอบครัวละเลยมิได้ใส่ใจรักษาความเรียบร้อยและความสวยงามของตนเอง

เช่นเดียวกับ ‘นาลิวัน’ ชื่อเรียกพราหมณ์ที่อยู่ในริ้วกระบวนแห่พระศพหรือพระบรมศพตามราชประเพณีกรุงสยาม โดยปกติแล้วพราหมณ์จะรวบผมเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ เว้นแต่เมื่อผู้เป็นที่รักหรือบุคคลสำคัญสิ้นชีวิต พราหมณ์จะปล่อยผมยาวสยายแสดงความเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้ง ธรรมเนียมนี้ยังคงสืบทอดต่อมาดังที่เราเห็นในริ้วกระบวนพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปีที่ผ่านมา

เจ้าดารารัศมี, พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ

พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) ประธานพระครูพราหมณ์ในริ้วขบวนพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ภาพ:     www.komchadluek.net/news/edu-health/300108

 

ย้อนกลับไปที่งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อีกครั้ง ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเทียร บันทึกเหตุการณ์ที่น่าสนใจในครั้งนั้นไว้ว่าที่ตำหนักสมเด็จพระพันวัสสาอยู่ใกล้พระที่นั่งดุสิตจึงเป็นทางผ่านที่จะไปเฝ้าที่พระมหาปราสาท พวกเราเด็กๆ ไม่มีอะไรทำมากนัก จึงหาเวลาดูคนผ่านไปมา มีสิ่งที่ติดตาอยู่จนบัดนี้คือเห็นพระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงเปลือยพระเกศาตามประเพณีของชาวเหนือคือปล่อยพระเกศายาวมาจนถึงปลายผ้าซิ่นที่ทรงอยู่ การปล่อยผมลักษณะดังกล่าวเป็นการแสดงความทุกข์โศกอันใหญ่หลวงตามประเพณีล้านนาด้วย

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เป็นพระธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่เมื่อครั้งยังเป็นเมืองขึ้นของสยาม ในยุคที่อิทธิพลอาณานิคมยังคุกรุ่น ขณะที่มหาอำนาจตะวันตกมุ่งจะผนวกดินแดนตะวันออกไว้เป็นของตน สยามก็มุ่งมั่นที่จะผนวกดินแดนอื่นๆ เข้ารวมเพื่อเป็นรัฐชาติหนึ่งเดียวด้วย (นักวิชาการเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าการล่าอาณานิคมภายใน-Internal Colonialism) เพื่อเป็นการการันตีความสวามิภักดิ์ของนครเชียงใหม่และการผูกพันผลประโยชน์ระหว่างสองดินแดน เจ้าหญิงน้อยพระชนมายุ 13 ปีจึงต้องเสด็จฯ จากบ้านเกิดเมืองนอนมาถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพฯ

เจ้าดารารัศมี

ภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

เจ้าดารารัศมีมิใช่เจ้าหญิงต่างชาติพระองค์แรกที่เข้ามารับราชการในราชสำนักฝ่ายในที่กรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 4 กษัตริย์กัมพูชาถวายพระราชธิดาให้เข้ารับราชการเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏพระนามว่าเจ้าจอมพระองค์เจ้ากำโพชราชสุดาดวง อีกท่านหนึ่งคือเจ้าจอมตนกูสุเบีย เจ้าหญิงอิสลามจากรัฐสุลต่านเรียวลิงกา

เจ้าดารารัศมี

เจ้าจอมตนกูสุเบีย
ภาพ: นิทรรศการ Unseen Siam: Early Photography 1860 – 1910

 

ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของเจ้าดารารัศมีคือภรรยาของพระมหากษัตริย์สยาม ส่วนตำแหน่งไม่เป็นทางการของพระองค์คือนักการทูตผู้ประคับประคองความสัมพันธ์ของสองอาณาจักร เล่ากันว่าในช่วงเวลาที่พม่าถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ เจ้าดารารัศมีถูกแนะนำแกมบังคับให้มีลายพระหัตถ์ไปถึงพระบิดา ความว่า ถ้าหากพระเจ้านครเชียงใหม่จะทรงยอมให้เชียงใหม่ไปรวมอยู่ในเมืองขึ้นของอังกฤษแล้ว ก็ขอให้เตรียมพระองค์มารับพระศพของเจ้าดารารัศมีที่กรุงเทพฯ เถิดเรื่องเล่าดังกล่าวทำให้เห็นถึงบทบาทของพระราชชายาในฐานะตัวประกัน

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศสมัย ดิศกุล บันทึกถึงสถานะที่แตกต่างของเจ้าดารารัศมีไว้ว่าทุกคนที่เคยได้เฝ้าพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ที่ในพระบรมมหาราชวังในเวลาที่ประทับอยู่ในหมู่เจ้าจอมมารดาผู้ใหญ่ด้วยกันก็ดี ได้เฝ้าในเวลาเสด็จประทับเป็นประธานอยู่ในหมู่ข้าราชการทั้งใต้และเหนือในเมืองเชียงใหม่ก็ดี ถ้าไม่ดูให้ดี ก็จะรู้ไม่ได้เลยว่า พระราชชายาฯ ในที่สองแห่งนั้นพระองค์เดียวกัน ทั้งนี้เพราะทรงสามารถแยกกาลเทศะได้เป็นยอดเยี่ยม

“พระราชชาชายาฯ ในพระบรมมหาราชวังไม่ทรงมียศมีศักดิ์ ไม่มีความสำคัญอันใด สมกับคำที่พวกเจ้าจอมเรียกกันว่าเจ้าน้อย เจ้าน้อยไม่มีความรู้อะไร เจ้าน้อยนั่งนิ่งๆ อมยิ้มในสิ่งที่ไม่มีสาระรอบตัวเองได้อย่างสบาย ทุกคนในนั้นก็ไม่มีใครรู้จักพระองค์ท่านนอกจากคำว่า เจ้าน้อย แต่ถ้าผู้ใดไปเฝ้าที่เมืองเชียงใหม่ ผู้นั้นจะได้เฝ้าเจ้าหญิงผู้เป็นหลักของบ้านเมือง ประทับอยู่ในระหว่างข้าราชการทั้งฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือ

ในนวนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าถึงตำหนักของเจ้าดารารัศมีไว้ว่า นับว่าแปลกกว่าที่อื่นทั้งสิ้น เพราะข้าหลวงนุ่งซิ่นไว้ผมมวย แต่งกายอย่างชาวเชียงใหม่ พูดภาษาเมืองเหนือทั้งตำหนัก และเป็นที่เดียวที่มีเมี่ยงแจกกันกินเป็นประจำ

เนื่องจากอาณาจักรล้านนามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีวัฒนธรรมประเพณีร่วมกับอาณาจักรล้านช้างหรืออาณาจักรลาวมายาวนาน มายาคติที่ว่าลาวมีความศิวิไลซ์ในระดับต่ำกว่าสยามทำให้เจ้าดารารัศมีและเหล่าข้าหลวงถูกดูแคลนจากข้าราชสำนักว่าเป็นพวกลาว

เจ้าดารารัศมี

เจ้าดารารัศมีฉายพระรูปพร้อมเหล่าข้าหลวงล้านนาและข้าราชสำนักกรุงเทพฯ
ภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

จากความเป็นอื่นดังกล่าว ทำให้มีเรื่องเล่ามากมายที่เล่าถึงความริษยาและการกลั่นแกล้งในราชสำนักฝ่ายใน ปราณี ศิริธร พัทลุง เล่าไว้ในหนังสือ เพ็ชรล้านนา ว่ามีคนมาตะโกนหน้าพระตำหนักว่าเหม็นปลาร้าหรือห้องสรงของพระองค์ถูกโรยด้วยหมามุ่ย เหตุการณ์ต่างๆ ทำให้พระราชชายาฯ ทรงปรารภว่าใคร่ปิ๊กบ้านวันละร้อยเตื้อ (อยากกลับบ้านวันละร้อยหน) หรือใคร่จะเสวยลำโพง (มะเขือบ้า) ให้กลายเป็นคนวิกลจริต จะได้ถูกส่งตัวกลับเชียงใหม่ให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย

แม้จะถูกดูแคลนสักเพียงใด เจ้าดารารัศมีก็ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ลาวของพระองค์ไว้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เห็นได้จากภาพถ่ายของพระองค์กับเหล่าข้าหลวงล้านนาที่ไว้ผมยาวตามประเพณี แตกต่างจากพระราชวงศ์และข้าราชสำนักตำหนักอื่นๆ ถึงแม้ในช่วงรัชกาลที่ 5 จะมีความนิยมไว้ผมยาวอย่างตะวันตกแล้วแต่ทรงผมสั้นแล้วหวีเสยไปข้างหลังที่เรียกว่าทรงดอกกระทุ่มก็ยังเป็นที่นิยมในราชสำนักฝ่ายในมากกว่า

เจ้าดารารัศมี

ภาพ: quod.lib.umich.edu

ในพระฉายาลักษณ์นี้พระเกศายาวของพระราชชายาฯ เกล้าขึ้นโดยใช้หมอนรอง โคนผมด้านหน้ายกสูงขึ้น เรียกว่าทรงอี่ปุ่นด้วยได้รับแบบแผนมาจากแดนอาทิตย์อุทัย ต่อมาผมทรงนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายในแวดวงสังคมชั้นสูงยุค Edwardian และแผ่อิทธิพลมาถึงราชสำนักไทยด้วย น่าเศร้าที่  Victoria Sherrow กล่าวไว้ในหนังสือ สารานุกรมเส้นผม (Encyclopedia Of Hair) ของเธอไว้ว่า ทรงผมอลังการและการประดับประดาศีรษะให้ยิ่งใหญ่และมีน้ำหนักมากเข้าไว้ของชาวญี่ปุ่นยุคโบราณเกิดขึ้นด้วยความคิดที่ว่าเมื่อมีอะไรมากดทับบนหัว ผู้หญิงจะได้ไม่ต้องคิดอะไรมากเกินไป แต่อย่างไรก็ตามผู้สันทัดกรณีก็โต้แย้งว่าเหตุผลดังกล่าวไม่มีบันทึกไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรใดๆ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นการบอกเล่ากันปากต่อปากในสมัยโบราณเท่านั้น

เจ้าดารารัศมี

ภาพ: www.bestweb-link.net/PD-Museum-of-Art/ukiyoe

ในขณะที่เจ้านายและข้าหลวงตำหนักอื่นนุ่งโจงกระเบน เจ้าดารารัศมีและสาวๆ ในตำหนักต่างนุ่งผ้าซิ่น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ผ้าซิ่นสามัญธรรมดา แต่เป็นผ้าลุนตยาอะเซะ ผ้ามีค่าของราชสำนักพม่า ชื่อของผ้ามีความหมายว่า ผ้าลายเกลียวคลื่นที่ใช้กระสวยในการทอมากถึง 100 กระสวย

เจ้าดารารัศมีเป็นผู้คิดประดิษฐ์นำผ้ารูปแบบนี้มาต่อด้วยตีนจกของล้านนา เห็นได้ว่าทั้งเสื้อผ้าหน้าผมหรือร่างกายและจิตใจของพระราชชายาฯ กับทั้งเหล่าข้าหลวง แทบจะไม่ได้มีส่วนไหนแสดงถึงความเป็นไทยกลางแบบชาวกรุงเทพฯ เลย การดำรงไว้ซึ่งความแตกต่างในลักษณะนี้อาจตีความได้หลายมุมมอง ทั้งเป็นความภาคภูมิในอัตลักษณ์ของตน (แม้ถูกมองว่าเป็นอื่นและต่ำต้อยกว่า) หรือในอีกนัยหนึ่งก็คือการปฏิเสธอำนาจของส่วนกลางอย่างกลายๆ โดยการไม่ทำตามแบบแผนที่ผู้อื่นกำหนด หรือไม่ทำตามอย่างที่ผู้อื่นกระทำโดยทั่วไป

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชธิดาประสูติแต่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี 1 พระองค์ พระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี มีความหมายว่าผู้ประเสริฐไม่มีมลทินของเมืองเชียงใหม่’ ลาวัณย์ โชตามระ เล่าไว้ในหนังสือ พระมเหสีเทวี ว่าเมื่อครั้งที่พระราชชายาฯ ทรงพระครรภ์ มีพระประสงค์จะเสวยของแปลกๆ สิ่งที่มีพระประสงค์จะเสวยคือ งวงช้าง ความทราบถึงพระบิดาผู้เป็นกษัตริย์เชียงใหม่ทางโทรเลข พระเจ้าอินทวิชยานนท์ทรงส่งงวงช้างย่างจากเชียงใหม่ โดยส่งลงเรือมาถึงพิษณุโลกและต่อรถไฟมายังกรุงเทพฯ เพื่อให้เจ้าดารารัศมีเสวยสมพระทัย

เจ้าดารารัศมี

พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสีทรงนุ่งซิ่นตามประเพณีล้านนา
ภาพ: www.reurnthai.com

 

น่าสังเกตว่าในพระนามพระธิดาวิมลนาคนพีสี’ (อ่านว่า วิมนนากนะพีสี) คำว่า นาค นอกจากจะหมายความว่า งู หรือ ผู้ประเสริฐ แล้ว นาคยังมีอีกหนึ่งความหมายคือ ช้าง เหตุที่พระนามพระธิดามีคำว่านาคอาจสัมพันธ์กับเหตุการณ์ครั้งทรงพระครรภ์ นอกจากนี้ช้างยังเป็นสัญลักษณ์ของความสวามิภักดิ์ของเชียงใหม่ที่มีต่อกรุงเทพฯ มาช้านาน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 กษัตริย์เชียงใหม่นำทูลเกล้าฯ ถวายช้างเผือกแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ช้างนั้นได้ขึ้นระวางเป็นช้างเผือกเอกในรัชกาลของพระองค์ ช้างเผือกจึงถูกเลือกให้เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด ปรากฏในตราประจำจังหวัดเชียงใหม่มาจนถึงปัจจุบัน

ในงานพระราชพิธีสมโภชเดือนพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี สมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ พระมเหสีอันดับหนึ่ง ทรงจัดละครเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน พระราชทานให้ ก็เป็นเรื่องน่าคิดอยู่ไม่น้อย เพราะละครเรื่องดังกล่าวมีตัวละครหญิงชาวเหนืออยู่ 2 คน คนแรกคือ นางลาวทอง อนุภรรยาที่ขุนแผนได้รับมาเมื่อไปตีเมืองเชียงใหม่ ลาวทองเป็นศัตรูคู่แค้นกับนางวันทองผู้เป็นภรรยาเอกของขุนแผน อีกตัวละครหนึ่งคือ นางสร้อยฟ้า ธิดาเจ้าเมืองเหนือ ภรรยาของพลายงาม

ถึงจะมีเชื้อมีสาย แต่นางสร้อยฟ้ามีกิริยามารยาทไม่งดงาม อีกทั้งเปี่ยมไปด้วยไฟริษยาราคะถึงขั้นทำเสน่ห์ใส่สามี ต่างกันราวฟ้ากับเหวกับนางศรีมาลา ภรรยาของพลายงามที่งามเรียบพร้อมตามฉบับนางเอ๊กนางเอก ตัวละครสาวเจ้าทั้งสองอาจสะท้อนให้เห็นอคติที่ชาวภาคกลางในอดีตมีต่อชาวเมืองเหนือ

เจ้าดารารัศมี เจ้าดารารัศมี

ภาพ: จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ภาพชุดพระราชชายาฯ ปล่อยพระเกศายาวจรดพระบาทเป็นที่ติดตาตรึงใจผู้คนทุกยุคสมัย Leslie Woodhouse วิเคราะห์ไว้ในบทความ Concubines with Cameras: Royal Siamese Consorts Picturing Femininity and Ethnic Difference in Early 2th Century Siam ไว้ว่าผู้คนร่วมยุคสมัยกับพระองค์ก็อาจจะมองเห็นพระองค์ในแง่ของความเป็นอื่นหรือความแปลกประหลาดแบบ Exotic

ที่น่าสนใจคือผู้ที่ถ่ายภาพเซ็ตดังกล่าวคือช่างภาพหญิง และเป็นหนึ่งในพระสนมคนโปรดในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือเจ้าจอมเอิบ ผู้มาจากสกุลบุนนาค เจ้าจอมเอิบเป็นผู้สนใจวิทยาการและศิลปะการถ่ายภาพ จึงได้รับพระราชทานกล้องรุ่นใหม่ล่าสุดจากยุโรปจากในหลวงรัชกาลที่ 5 บานกระจกในภาพเหล่านี้ส่องสะท้อนมุมมองการพินิจพิเคราะห์อัตลักษณ์ของตนและผู้อื่นของสตรีทั้งสอง

เจ้าดารารัศมี

บานกระจกด้านซ้ายสะท้อนพระพักตร์เจ้าดารารัศมี นางแบบของภาพนี้ ส่วนกระจกด้านขวาสะท้อนภาพเจ้าจอมเอิบ ผู้ถ่ายภาพ
ภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

เจ้าดารารัศมี

เบื้องหลังการถ่ายภาพเซ็ตนี้
ภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

เจ้าดารารัศมี

จ้าจอมเอิบ
ภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

..2451 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี กราบบังคมทูลลากลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนเป็นการชั่วคราว สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จไปส่งที่สถานีรถไฟสามเสน พระราชชายาฯ ถวายบังคมลาตามประเพณีล้านนาด้วยการสยายพระเกศาออกเช็ดพระบาทของพระราชสวามี

ตามความเชื่ออเมริกันพื้นเมืองที่ว่าเส้นผมคือบันทึกของความทรงจำ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าปกติคนเราจะมีเส้นผมบนศีรษะประมาณ 100,000 เส้น ไม่แน่ใจว่าเรื่องราว 1 แสนเรื่องจะถูกบันทึกไว้ในเส้นผมของเราหรือไม่ แต่อย่างน้อยผมก็บันทึกเรื่องราวของมนุษยชาติไว้มากมายเหมือนกัน

Writer

Avatar

นักรบ มูลมานัส

นักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านการสร้างภาพ (ประกอบ) ที่อยากจะลองเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรดูบ้าง