ไกลบ้าน พระราชนิพนธ์ลายพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ไม่ปรากฏชื่อประเทศสเปน

คนไทยส่วนมากจึงไม่รู้ว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเคยเสด็จฯ เยือนดินแดนมาทาดอร์เมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก และไม่รู้ว่าเรื่องราวมากมายของกษัตริย์สยามซ่อนตัวอย่างนิ่งสงบอยู่ในหอสมุดสเปน

“บันทึกของสเปนละเอียดมาก เขาชื่นชมสยามมาก ตีพิมพ์เรื่องรัชกาลที่ 5 ลงหนังสือพิมพ์ทุกวัน ก่อนพระองค์เสด็จมา 2 วัน หนังสือพิมพ์ประจำกรุงมาดริดก็เกริ่นเล่าเรื่องประเทศสยามและราชวงศ์เป็นอย่างดี”

ศาสตราจารย์ ดร.สถาพร ทิพยศักดิ์ เล่าข้อมูลที่น้อยคนจะเคยได้ยิน ในวาระโครงการรำลึก 100 ปี วันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญภาษาสเปนแห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงตัดสินใจเผยแพร่เกร็ดประวัติศาสตร์นี้ให้คนไทย โดยค้นคว้าข้อมูลสเปนโบราณจากหนังสือพิมพ์ เอกสาร จดหมาย บันทึกต่างๆ เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว จากนั้นจึงแปลบทความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 5 จากหนังสือพิมพ์รายวันของสเปน 11 ฉบับ เป็นหนังสือรวมข่าวการเสด็จประพาสราชอาณาจักรสเปนโดยเฉพาะ

“พระองค์เสด็จฯ ไปยุโรปด้วยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เรือล่องผ่านอินเดีย เข้าคลองสุเอซ ผ่านเมดิเตอร์เรเนียน เข้าอิตาลี จากนั้นจึงเสด็จประพาสทั่วยุโรปโดยรถไฟ” อาจารย์สถาพรอธิบายแผนการก่อนยุคเครื่องบินจะมาถึง “การเดินทางใช้เวลานานหลายเดือนมาก รถไฟก็ยังช้า รางเล็กนิดเดียว พระองค์เสด็จฯ โดยทางรถไฟจากฝรั่งเศสเข้าสเปน เป็นประเทศเกือบสุดท้ายที่เสด็จฯ เยือน”

16 – 19 ตุลาคม ฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) เป็นช่วงเวลาแห่งความทรงจำระหว่างราชสำนักสเปนและสยาม เส้นทางการท่องเที่ยว 4 วัน 3 คืนและการเฝ้าฯ รับเสด็จแสนอบอุ่นที่ทางราชการสเปนถวายแด่พระองค์คือประวัติศาสตร์ล้ำค่า และยังเป็นตัวอย่างแผนเที่ยวดินแดนกว้างใหญ่ทางตอนใต้ของยุโรปที่ยังปรับใช้ได้ในปัจจุบัน

เริ่มต้นจากการมุ่งหน้าลงใต้สู่กรุงมาดริด รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ทอดพระเนตรพระราชฐานซานโลเรนโซเดเอลเอสโกเรียล (Real Sitio de San Lorenzo de El Escorial) หรือที่เรียกย่อๆ ว่า El Escorial (เอล เอสโกเรียล) ที่ประทับโบราณนอกกรุงมาดริดสร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าเฟลีเปที่ 2 กษัตริย์ที่ทำให้สเปนได้สมญานามว่า ‘ดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน’ เพราะมีอาณานิคมอยู่ทั่วโลก

เอลเอสโกเรียลเป็นอาณาจักรย่อมๆ ที่ประกอบด้วยพระราชวังโบราณ มหาวิหาร สุสานหลวง โดยส่วนใต้ดินเป็นที่เก็บพระศพของกษัตริย์โบราณ มีถ้ำเจาะเป็นช่องเก็บพระศพ นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัย ห้องสมุด และโรงพยาบาล อยู่ข้างใน ปัจจุบัน ที่นี่กลายเป็นสำนักงานใหญ่ของคณะสงฆ์แห่งนักบุญออกัสตินและเป็นอนุสรณ์สถานที่น่าไปเยี่ยมชม

“ในเช้าวันเสาร์ เมื่อเสด็จฯ ถึงสถานีรถไฟสายเหนือในกรุงมาดริด มีการเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ มีขุนนางและประชาชนจำนวนมาก มีวงดนตรีมาเล่นรับเสด็จ ปัจจุบันสถานีรถไฟนั้นชื่อว่า Príncipe Pío ยังเปิดบริการสำหรับรถไฟในย่านชานเมือง รถใต้ดิน ส่วนหนึ่งปรับเป็นศูนย์บันเทิง ร้านค้า ช้อปปิ้งมอลล์ และร้านอาหาร ไปแล้ว โชคดีที่ตอนผมไปยังเหลือร่องรอยอาคารเดิมอยู่ ผมเลยถ่ายด้านหน้าของสถานีรถไฟกลับมา”

ผู้เชี่ยวชาญภาษาสเปนเล่าต่อว่า สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จฯ ไปประทับที่ Palacio Real de Madrid หรือพระบรมมหาราชวังกรุงมาดริดร่วมกับราชวงศ์สเปน ขณะนั้นกษัตริย์สเปนคือพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 ยังทรงพระเยาว์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงเป็นพระนางมาเรีย คริสติน่า ซึ่งเป็นพระบรมราชชนนี

“รัชกาลที่ 5 ทรงเอ็นดูพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 มาก เพราะกษัตริย์สเปนทรงมีพระชนมพรรษาไล่เลี่ยกับรัชกาลที่ 6 ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ และเสด็จฯ ไปด้วย ส่วนทางราชสำนักสเปนก็ถวายการต้อนรับดีมาก จัดงานเลี้ยงถวายทุกคืน ไม่ที่พระบรมมหาราชวังก็ที่โรงละคร มีการตั้งโต๊ะเสวยพระกระยาหารค่ำแบบฝรั่งเศสตามแฟชั่นสมัยนั้น และมีการแสดงหน้าพระที่นั่งด้วย”

ตามธรรมเนียมสเปน เมื่อมีแขกมาจะต้องต้อนรับเต็มที่ โดยจัดงานเลี้ยงถึงดึกมากและเริ่มวันสาย ตารางการเสด็จฯ ของพระพุทธเจ้าหลวงจึงต้องปรับตามวัฒนธรรม คือตื่นพระบรรทมราว 10 โมง ช่วง 11 โมงจึงเสด็จฯ ออกไปที่ต่างๆ เช่น Museo del Prado หรือพิพิธภัณฑ์ปราโด พิพิธภัณฑ์ศิลปะยุโรปที่เก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป มีภาพวาดใหญ่ที่สุดในโลก มีงานชิ้นเอกของ Goya และศิลปินอื่นๆ อีกมากมาย และพระองค์ยังเสด็จไป Buen Retiro Park สวนสาธารณะใหญ่ประจำกรุงมาดริดที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์ปราโด ส่วนสถานที่อื่นๆ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อ ถูกทุบทิ้ง หรือเปลี่ยนการใช้งานอาคาร ไปเกือบหมดแล้ว เช่น พิพิธภัณฑ์กองทัพ หรือโรงงานทอพรมหลวง

“ส่วนใหญ่พระองค์ประทับที่กรุงมาดริด ทางสเปนอยากให้พระองค์เสด็จฯ ไปเมือง Toledo (โตเลโด) เมืองหลวงโบราณของอาณาจักรสเปนสักวันหนึ่ง แต่ต้องเปลี่ยนหมายกำหนดการกะทันหันเพราะพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยจะทอดพระเนตรการสู้วัวกระทิงสักครั้ง มีเกร็ดเล่าว่า ระหว่างที่เสด็จฯ โดยรถไฟพระที่นั่งจากเอสโกเรียลเข้ากรุงมาดริด มีนักสู้วัวกระทิงขึ้นรถไฟมาระหว่างทาง ไม่ว่าจริงหรือไม่ พระองค์ก็เสด็จฯ ไปสนามสู้วัวจริงๆ

“การสู้วัวกระทิงรอบหนึ่งจะใช้กระทิงทั้งหมด 6 ตัว แต่พระองค์ไม่ได้ทอดพระเนตรจนจบการแข่งขัน เมื่อกระทิงตัวที่ 4 ออกมา พระองค์จำเป็นต้องเสด็จฯ ตามกำหนดการต่อไป และข้าราชบริพารที่ตามเสด็จบางคนก็หน้าซีดเซียว เป็นลมเป็นแล้งกันด้วย เพราะไม่เคยเห็นการต่อสู้แบบนี้มาก่อน”

อย่างไรก็ดีพระองค์ได้เสด็จฯ ออกนอกกรุงมาดริด บ่ายวันหนึ่งราชวงศ์สเปนและราชวงศ์สยามเสด็จฯ ไป Palacio Real de El Pardo หรือพระราชวังเอลปาร์โด เพื่อไปเสวยพระสุธารสชาร่วมกันที่ตำหนักเล็กๆ โดยเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (รัชกาลที่ 6) ทรงม้าอย่างสง่างาม เป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็นมาก

ตำหนักดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตพระราชวังเอลปาร์โด มีชื่อเสียงมาก เพราะเคยเป็นสถานที่พำนักของนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก จอมพลและผู้นำเผด็จการชาวสเปน ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และเป็นที่รับรองประมุขประเทศต่างๆ ที่มาเยี่ยมชมกรุงมาดริด

หลังจากประทับอยู่มาดริด 3 วัน ในวันสุดท้ายที่พระองค์ต้องเสด็จฯ ไปประเทศโปรตุเกสตามลำดับต่อไป รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ โดยรถไฟไปเมือง Sevilla (เซบียา) ศูนย์กลางวัฒนธรรมทางตอนใต้ของสเปนในตอนเช้า เพื่อทรงเยี่ยมชม Real Alcázar de Sevilla หรือพระราชวังอัลคาซาร์ซึ่งเป็นพระราชวังแขกมัวร์โบราณ มีสวนที่มีน้ำพุและต้นไม้เมืองร้อน เช่น ปาล์ม อินทผลัม ชาวสเปนได้ถวายผลอินทผลัมให้พระองค์เสวยเป็นครั้งแรก จากนั้นเสด็จทอดพระเนตรบ้านเรือนริมแม่น้ำ Guadalquivir (กวาดัลกีวีร์) ซึ่งปลูกต้นไม้ร่มรื่นสวยงามมาก

การเสด็จประพาสสเปนยังไม่จบลงเท่านี้ เนื่องจากรัชกาลที่ 5 จำเป็นต้องเสด็จฯ ย้อนกลับไปลงเรือพระที่นั่งมหาจักรีที่อิตาลี พระองค์จึงเสด็จฯ ผ่านชายแดนสเปนเมื่อเดินทางขึ้นเหนืออีกครั้ง

“ขากลับจากโปรตุเกส พระองค์เสด็จฯ กลับในเส้นทางใหม่ โดยเสด็จฯ ผ่านกรุงมาดริดในช่วงกลางดึก ทรงไม่มีพระราชประสงค์ให้มีการเฝ้าฯ รับเสด็จวุ่นวาย จึงเสด็จฯ เงียบๆ ผ่านเข้าเมือง Cáceres (กาเซเรส) เมืองท่องเที่ยวเล็กๆ ที่มีของโบราณ มีรูปปั้น มากมาย แล้วเสด็จฯ ผ่านนครบาร์เซโลน่า ทรงเสียดายมากที่ไม่ได้เสด็จฯ เยี่ยมนครแห่งนี้เพราะทรงมีเวลาจำกัด แต่พระองค์ทรงรู้จักนครนี้จากหนังสือตั้งแต่ก่อนเสด็จประพาส รัชกาลที่ 5 ประทับยืนสูบพระโอสถมวนเพื่อเปลี่ยนพระอิริยาบถที่ชานชาลา และมีรับสั่งว่าอยากกลับมาเยือนที่นี่อีก”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งพระราชหฤทัยว่าจะเสด็จฯ มาสเปนอีกครั้ง และทางการสเปนก็มีหลักฐานเรื่องเอกสารเตรียมการต้อนรับเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 แต่ด้วยตารางเวลาอันจำกัดทำให้หมายกำหนดการนี้ต้องยกเลิกไป

แม้จะไม่ได้เสด็จฯ กลับไปอีก แต่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและสเปนก็ได้หยั่งรากลึกลงใน 2 ประเทศ และยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

“คนไทยสมัยก่อนไม่ค่อยได้อ่านเรื่องสเปนมากนัก จึงไม่รู้จักสเปนหรือเห็นภาพชัดเท่าประเทศอื่นๆ เช่น อิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส แต่จริงๆ แล้วที่นี่เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณที่น่าสนใจมาก ทุกวันนี้ยังมีร่องรอยความรุ่งเรืองของอาณาจักรโบราณให้เราเห็น สถานที่ที่รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ไปในสเปนยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าไปจริงๆ”

อาจารย์สถาพรผู้เคยใช้ชีวิตในกรุงมาดริดหลายปียืนยัน คงไม่มีอะไรพิสูจน์เรื่องนี้ได้ นอกจากไปเยือนสเปนให้เห็นกับตาด้วยตนเอง

 

ภาพ: สถาพร ทิพยศักดิ์, ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข, Unsplash

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง